Tuesday, 1 July 2025
Columnist

ปืนลูกซอง...อาวุธระยะประชิด ที่ดีที่สุดในการพิฆาตโดรนสังหาร

ในสงครามสมัยใหม่ อากาศยานควบคุมระยะไกลหรือโดรน จัดว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงอานุภาพ ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้การรบทุกสมรภูมิ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2025 ยูเครนได้ใช้โดรนติดอาวุธโจมตีฐานทัพอากาศรัสเซียเสียหายไป 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินรบของรัสเซียเสียหายไปหลายลำ เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความตระหนักแก่กองทัพของชาติต่าง ๆ ในการคิดค้นออกแบบยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรับมือจากการโจมตีของ “โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”

“โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”หมายถึง อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทางทหารที่ออกแบบมาเพื่อการรบ โดยเฉพาะโดรนประเภทนี้สามารถบรรทุกอาวุธ เช่น ขีปนาวุธ ระเบิด หรือแม้แต่อุปกรณ์ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) เพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยถูกควบคุมจากระยะไกล แต่จะมีระดับการทำงานอัตโนมัติที่มีระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกัน

“โดรนสังหาร” มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิรบสมัยใหม่ จากการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายในยูเครนสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ และแม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีศักยภาพในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” แต่โดรนสังหารขนาดเล็กจำนวนมากสามารถหลบเลี่ยงแนวป้องกันที่ดีที่สุดได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านขีดความสามารถของ “โดรนสังหาร”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ “ปืนต่อต้านโดรน (Anti-drone gun)” ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปร่างคล้ายปืนยาวใช้ในการปล่อยสัญญาณรบกวนการทำงานของโดรน โดยเฉพาะ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง ปืนเหล่านี้จะรบกวนความถี่ที่ใช้ในการควบคุมโดรน ทำให้โดรนลงจอด ลอยนิ่ง หรือกลับสู่จุดเริ่มต้น นอกจาก นี้บางรุ่นยังรบกวนสัญญาณ GPS ซึ่งทำให้โดรนทำงานช้าลงอีกด้วย

แต่พัฒนาการของ “โดรนสังหาร” นั้นก้าวไปไกลมากจนกระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” ลดลงจนอาจไม่ได้ผลเลย เมื่อมีการนำ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง แบบพิเศษมาใช้ใน “โดรนพิสังหาร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” กอปรกับบทเรียนจากสงครามยูเครน-รัสเซียได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับวิธีการที่ “โดรนสังหาร” กำหนดรูปแบบของสนามรบสมัยใหม่ โดยเฉพาะความสามารถของ “โดรนสังหาร” ในการโจมตีหน่วยทหารราบ ยานพาหนะ ตลอดจนยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้ และเสบียงต่าง ๆ ตลอดจนทรัพยากรสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวรบของทั้งสองฝ่าย

“โดรนสังหาร” สามารถซุ่มโจมตีเหนือพื้นที่ปฏิบัติการและโจมตีอย่างแม่นยำ โดยสามารถส่งวัตถุระเบิดพร้อมกับถ่ายทอดข้อมูลสำคัญ หรือ “โดรนสังหาร” สามารถโอบล้อมพื้นที่เพื่อให้กำลังทหารเข้าใกล้เป้าหมายโดยไม่ถูกตรวจพบ กองกำลังทั้งยูเครนและรัสเซียต่างใช้ “โดรนสังหาร” ในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของศัตรู ลดขีดความสามารถของยานเกราะ และสร้างอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีการหยิบเอาอาวุธที่มีอยู่มาใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ซึ่ง “ปืนลูกซอง” จัดว่าเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “โดรนสังหาร” ขนาดเล็ก ทหารของยูเครนได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการต่อต้านภัยคุกคามจาก “โดรนสังหาร” ด้วยปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการขัดขวางการปฏิบัติการของ “โดรนสังหาร” รัสเซีย แม้ว่า “ปืนลูกซอง” อาจไม่ใช่อาวุธหลักในการป้องกัน “โดรนสังหาร” แต่ก็สามารถใช้เพื่อเป็นแนวป้องกันสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะปืนลูกซองมีความทนทาน สามารถปรับใช้งานได้ง่าย และกลุ่มกระสุนกระจายเป็นวงกว้าง จึงทำให้แม้แต่ทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสยิง “โดรนสังหาร” ถูกได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนในการใช้ “ปืนลูกซอง” จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศพันธมิตรของยูเครน เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม ต่างทราบดีถึงบทเรียนของทหารยูเครน และได้เริ่มนำปืนลูกซองมาใช้ในยุทธวิธีในการป้องกัน “โดรนสังหาร” โดยทั้งกองทัพทั้ง 3 ชาติต่างเลือกใช้ปืนลูกซองยี่ห้อเบเนลลี่หลายแบบที่ใช้ทั้งกระสุนลูกซองแบบดั้งเดิมและแบบพิเศษ ในระหว่างการทดสอบภาคสนาม อาวุธเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการยิง “โดรนสังหาร” ในระยะ 80–120 เมตร ทำให้สามารถนำไปใช้ในการป้องกันกองกำลังในขณะปฏิบัติการได้ กองทัพสหรัฐฯ เองจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอย่างเต็มที่ในการใช้ปืนลูกซองเพื่อยิง “โดรนสังหาร” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางอากาศในระยะประชิด

“ปืนลูกซอง” จึงเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับ “โดรนสังหาร” ในระยะประชิด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิ การยิง “โดรนสังหาร” ที่กำลังบินมาหานั้น ผู้ที่ทำการยิงต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว “โดรนสังหาร” เหล่านี้ยังสังเกตได้ยากมากอีกด้วย ถึงแม้ “โดรนสังหาร” แบบ Quadrocopter มักจะส่งเสียงดังตลอดเวลา แต่ในสนามรบซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเสียงดังมากและมีความวุ่นวายตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องปกติที่ทหารที่เคยเจอโดรนเหล่านี้เล่าว่า เราจะไม่ทันสังเกตเห็น “โดรนสังหาร” จนกว่ามันจะบินอยู่เหนือเรา ซึ่งมีหลักฐานวิดีโอที่สนับสนุนในเรื่องนี้

ข้อดี:
- ความสะดวกในการใช้งานและความพร้อมใช้งานของปืนลูกซอง: สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ค่อนข้างง่าย
- กลุ่มกระสุนครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง: กระสุนปืนลูกซองที่กระจายตัวจะเพิ่มโอกาสในการยิงถูกเป้าหมายขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น “โดรนสังหาร” ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะที่บินต่ำหรือลอยตัวนิ่ง
- ความคุ้มค่า: โดยทั่วไป “ปืนลูกซอง” จะราคาไม่แพงไปกว่าเทคโนโลยีต่อต้านโดรนขั้นสูงอย่าง “ปืนต่อต้านโดรน” จึงทำให้ปืนลูกซองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ข้อจำกัด:
- ปืนลูกซองมีระยะยิงที่จำกัด ราว 80-100 เมตร และอาจไม่มีประสิทธิภาพในการยิง “โดรนสังหาร” ที่บินในระดับความสูงที่พ้นระยะหรือในระยะไกลมาก

กระสุน:
- กระสุนปืนลูกซองมีมากมายหลายแบบ สามารถเลือกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านโดรนได้ รวมไปถึงกระสุนพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อจับหรือทำลายใบพัดของโดรน เช่น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทดสอบกระสุนปืนลูกซองแบบ SkyNet Mi-5 ซึ่งสามารถปล่อยตาข่ายออกกลางอากาศเพื่อให้พันรอบใบพัดของโดรน
ทางเลือกสุดท้าย:
- แม้ “ปืนลูกซอง” จะไม่ใช่อาวุธสำหรับการป้องกันหลัก แต่ “ปืนลูกซอง” ก็สามารถใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อระบบป้องกัน “โดรนสังหาร” อื่น ๆ ไม่สามารถใช้การได้

สำหรับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพัฒนาการใช้โดรนสำหรับภารกิจต่าง ๆ แต่การต่อต้านโดรนนั้น กองทัพบกได้พัฒนาปืนเล็กยาว M-16 ประกอบฐานยิง เพื่อใช้ในการต่อต้านโดรน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้อจัดหา “ปืนต่อต้านโดรน” มาใช้ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ควรได้ทำการศึกษาแนวทางในการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ทั้งวิธีการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรน โดยเฉพาะการพัฒนากระสุนปืนลูกซองที่เหมาะสมต่อการทำลานโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและให้ประสิทธิผลมากที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์ต่อต้านโดรนอื่น ๆ อาทิ ปืนเล็กกลสำหรับยิงโดรนขนาด .22 ซึ่งราคากระสุนจะถูกกว่ากระสุนขนาดมาตรฐานของกองทัพ และยิงได้ไกลกว่าปืนลูกซอง ฯลฯ โดยผู้เขียนยินดีให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยงานทุกหน่วยที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติต่อไป

แฮ็กเกอร์เขมร อ้างความรับผิดชอบ!! โจมตีเว็บไซต์ ราชการไทย ทีมไอที เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โชว์เจ๋ง!! กู้คืนได้ ภายในไม่กี่นาที

กลุ่มแฮ็กเกอร์ชื่อ 'NXBBSEC' ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้นำกลุ่ม AnonSecKh จากประเทศกัมพูชา ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ระบุว่า …

ได้ทำการโจมตีระบบเว็บไซต์ราชการของไทย โดยอ้างว่าเว็บไซต์ 'buriramcity.go.th' หรือเว็บไซต์ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ได้ถูกทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว ข้อความในโพสต์ระบุว่า …

> “We are NXBBSEC Hacker Group Leaders of AnonSecKh. We Not Surrender. We Fighting OpThailand. We From Cambodia”

พร้อมแสดงภาพหน้าเว็บไซต์ที่ปรากฏข้อความ 'Bad Gateway' ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเซิร์ฟเวอร์ขัดข้อง

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ดังกล่าวสามารถกู้คืนและกลับมาออนไลน์ได้ตามปกติภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากนั้น แสดงถึงความพร้อมของทีมไอทีในพื้นที่ในการรับมือเหตุการณ์ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของ 'สงครามไซเบอร์' ที่กำลังก่อตัวขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไทย–กัมพูชาในช่วงนี้

‘อิหร่าน’ ยิงเครื่องบินขับไล่ F-35 ของ ‘อิสราเอล’ ตกอีกลำ ระหว่างการปะทะกัน!! อย่างต่อเนื่อง ‘เตหะราน-เทลอาวีฟ’

(15 มิ.ย. 68) หน่วยประชาสัมพันธ์กองทัพอิหร่านระบุในแถลงการณ์ว่า กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของตนประสบความสำเร็จในการโจมตีและทำลายเครื่องบินขับไล่ F-35 ของอิสราเอลอีกลำหนึ่งในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ โดยชะตากรรมของนักบินยังคงไม่ทราบแน่ชัด และอยู่ระหว่างการสอบสวน จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านประสบความสำเร็จในการยิงเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยโดรนหลายลำของอิสราเอลตก อิสราเอลได้ส่งเครื่องบินล้ำสมัยเหล่านี้มาใช้ในการรุกรานสาธารณรัฐอิสลามในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ และพลเรือนรวมทั้งผู้หญิงและเด็กถูกสังหาร

เครื่องบินรบ F-35 ที่ของอิสราเอลถือเป็นเครื่องบินรบที่ล้ำหน้าที่สุดในรุ่นเดียวกัน อิสราเอลซื้อเครื่องบินรบเหล่านี้จากสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบิน F-35 Lightning II ผลิตโดย Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้ใช้งานเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 ล้ำสมัยนี้ 

F-35 เครื่องบินขับไล่ล่องหนของอิสราเอลเป็นรุ่นปรับปรุงพิเศษ ได้รับการออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ช่วยให้นักบินอิสราเอลสามารถปฏิบัติภารกิจเจาะลึกในดินแดนศัตรู โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นหรือติดตามน้อยลง กองทัพอิหร่านจึงเป็นหน่วยรบแรกของโลกที่สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-35 ตก (รวม 3 ลำ) โดยกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่าน ซึ่งมีกำลังพลราว 15,000 นาย และเป็นเหล่าทัพหนึ่งในสี่เหล่าทัพของกองทัพอิหร่าน อันประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ

‘เครือข่ายทุนผิดกฎหมาย’ อาวุธใหม่!! ของอำนาจในอินโดจีน รัฐคู่ขนานทางไซเบอร์และการเงิน ที่ไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐดั้งเดิม

(15 มิ.ย. 68) หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพว่า “เครือข่ายทุนผิดกฎหมาย” ที่เชื่อมกัมพูชา เวียดนาม และไทยนั้นร้ายแรงเพียงใด แต่หากเรามองให้ทะลุ เราจะพบว่า มันไม่ใช่แค่เรื่อง "บ่อนพนัน" หรือ "คอลเซ็นเตอร์" อีกต่อไป — มันคือ การสร้างรัฐคู่ขนานทางไซเบอร์และการเงิน ที่ไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐดั้งเดิม

เครือข่ายนี้มีสามหัวใจใหญ่

1. ตระกูลฮุนและ LYP Group ที่ควบรวมอำนาจรัฐกับทุนท้องถิ่น
2. Huione Group ซึ่งทำหน้าที่คล้าย “ธนาคารของโจร” ให้ฟอกเงินทั่วเอเชีย
3. ตลาด Guarantee บน Telegram ที่เป็นเหมือน “ตลาดมืดอีคอมเมิร์ซ” ขนาดยักษ์
วันนี้พวกเขาไม่ได้แค่โกงคนไทยจากคอลเซ็นเตอร์ แต่เขากำลังสร้างระบบการเงินใต้ดินคู่ขนาน ที่รัฐบาลจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน และที่สำคัญ—มีคนใน "ภาครัฐและการเมือง" บางส่วนในแต่ละประเทศร่วมมือกับพวกเขาอย่างลับ ๆ

แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร?
หากไม่มีการตอบโต้จริงจังจากรัฐไทยและภูมิภาค อินโดจีนจะกลายเป็น “Safe Haven” สำหรับทุนผิดกฎหมาย
1. ประชาชนไทย จะถูกดูดเงินจากกลโกงออนไลน์มากขึ้น เงินออมถูกเปลี่ยนมือให้กลุ่มทุนมืด
2. สถาบันการเงินไทย จะถูกมองว่า “ฟอกเงินให้กลุ่มแฮกเกอร์เกาหลีเหนือ” และอาจโดนมาตรการกดดันจากสหรัฐหรือ FATF
3. ความมั่นคงไซเบอร์ไทย จะอ่อนแอลงทุกวัน หากรัฐยังนิ่งเฉยกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่เริ่มปฏิบัติการแบบ IO
4. ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน จะตึงเครียด ไทยต้องคุมด่านเข้ม ทำให้เศรษฐกิจชายแดนทรุด
และในท้ายที่สุด หากไทยยังไม่ลงมือจัดการจริงจังกับผู้มีอิทธิพลที่สมรู้ร่วมคิดในประเทศ — ไทยจะกลายเป็น "จุดอ่อนของภูมิภาค" ที่แก๊งอาชญากรรมใช้เป็นทางผ่านและแหล่งพักเงิน

ข้อเสนอแนะเบื้องต้น
ไทยต้องเลิกอายที่จะ “พูดความจริงกับกัมพูชา” ว่ากำลังปล่อยให้แก๊งหลอกลวงทำลายคนในภูมิภาค
ต้องใช้ “ปฏิบัติการแบบ 2 ด้าน” คือทั้งเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ และ ปราบปรามผู้สมรู้ร่วมคิดในไทยเอง
ต้องกล้ายื่นมือร่วมมือกับชาติใหญ่ในเรื่องข่าวกรองไซเบอร์และเส้นทางเงิน — อย่าปล่อยให้ฮุน โต หรือ Huione ลอยนวล นี่ไม่ใช่แค่เรื่องอาชญากรรม แต่มันคือ “การสู้รบทางเศรษฐกิจและข้อมูลข่าวสาร” ที่กำลังเกิดขึ้นในเงามืดของอินโดจีน

หากท่านผู้อ่านยังคิดว่าเรื่องนี้ไกลตัว ลองย้อนดูในมือถือของท่าน มีใครเคยแชตมาหลอกให้ลงทุนไหม?
ถ้าเคย — แสดงว่าศึกนี้…เข้าบ้านท่านแล้ว
“ปราชญ์ สามสี”
เพื่อความเข้าใจของประชาชน...ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป

‘สงครามไซเบอร์ไทย – กัมพูชา’ ปะทุเงียบ!! เจาะกลุ่ม NDTSEC 2.0: IO เขมรถล่มไทย

(16 มิ.ย. 68) ปราชญ์ สามสี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า.. “สงครามไซเบอร์ไทย–เขมร” ปะทุเงียบ! รู้จัก NDTSEC 2.0: แฮกเกอร์กัมพูชาที่จ้องถล่มโครงสร้างไทยจากหลังคีย์บอร์ด

ไม่ต้องใช้รถถัง ไม่ต้องปะทะหน้าด่าน แต่ใช้บอท–ไวรัส–ดาร์กเว็บเป็นอาวุธ “NDTSEC 2.0” คือชื่อที่กำลังถูกจับตาในวงการความมั่นคงไซเบอร์ของไทย

เพราะนี่ไม่ใช่แค่กลุ่มแฮกเกอร์ธรรมดา…แต่มันคือ “หน่วยรบ IO” ที่แฝงเจตนาโจมตีไทยอย่างเป็นระบบ

ใครคือ NDTSEC 2.0?

NDTSEC 2.0 คือกลุ่มแฮกติวิสต์สัญชาติกัมพูชาที่ปรากฏตัวตั้งแต่ปี 2023 โดยอ้างตัวว่าเป็น “ทีมไซเบอร์ของชาวเขมร” มีเป้าหมายตรงไปตรงมาคือ “โจมตีประเทศไทย” ในนามแคมเปญ #OpThailand กลุ่มนี้ไม่ใช่แค่เล่นแฮ็กเอาสนุก แต่พวกเขาทำอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มีเป้าหมาย และ “ประกาศศึกอย่างเป็นทางการ” ผ่าน Telegram ทุกครั้งที่โจมตีสำเร็จ

เป้าหมายของการโจมตี
กลุ่มนี้มี แนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง ใช้ประเด็นขัดแย้งวัฒนธรรม เช่น การสร้างวัดไทยที่มีลักษณะคล้าย “ปราสาทนครวัด” เป็นจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่ตามมาคือการโจมตีหน่วยงานไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะ…

เว็บไซต์ราชการไทย (กระทรวงการคลัง, กรมบัญชีกลาง, การบินไทย, ท่าอากาศยานอู่ตะเภา)  ธนาคารพาณิชย์ (ถูกระบุ 9 แห่งว่าเป็น “เป้าหมายทางยุทธศาสตร์” บนดาร์กเว็บ)

บริษัทเอกชน เช่น Delta Electronics, Mega Planet (ซึ่งกลุ่มอ้างว่าได้ข้อมูลผู้ใช้กว่า 1GB ไปเผยแพร่แล้ว)

วิธีการรบ: มากกว่าแค่ DDoS

กลุ่มนี้ไม่ได้ยิงทราฟฟิกจนเว็บล่มแล้วจบ แต่มีการใช้เทคนิคขั้นสูง เช่น SQL Injection: เจาะฐานข้อมูลดึงข้อมูลภายใน Doxing: เปิดเผยข้อมูลบัญชี–รหัสผ่าน–ข้อมูลลูกค้า Defacement: เปลี่ยนหน้าเว็บเพื่อประกาศชัยชนะ IO (Information Operations): ใช้ Telegram เป็นสื่อประกาศผลงาน แสดงภาพการแฮ็ก สร้างความหวาดกลัว

“ปืนไม่ได้ยิง แต่ใจไทยสะเทือน”
แม้หลายการโจมตีของ NDTSEC 2.0 จะส่งผลให้เว็บไซต์ไทยล่มเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ผลกระทบเชิง จิตวิทยา–ความเชื่อมั่น–ภาพลักษณ์ กลับรุนแรงกว่าที่คิด เพราะ... ทำให้ประชาชนเริ่ม “หวั่นไหว” กับความปลอดภัยไซเบอร์ไทย

ถูกบางสื่อไทยขยายความ จนเกิด “กระแสเกลียดเขมร” บนโซเชียล (เป็น IO ซ้อน IO) บีบให้หน่วยงานไทยต้องลงทุนกับระบบป้องกันไซเบอร์ในเวลาอันรวดเร็ว

เชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น?

NDTSEC 2.0 ไม่ได้ทำงานคนเดียว พวกเขา ร่วมมือกับ: Anonymous Cambodia: กลุ่มเก่าที่เคยโจมตีรัฐบาลกัมพูชาเอง แต่ตอนนี้หันมาเล่นบท “ชาตินิยมเขมร”

Cyber Skeleton: กลุ่มเงียบๆ ที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนด้านเทคนิค ทั้งหมดใช้ #OpThailand เป็นชื่อปฏิบัติการ พร้อมกันกับการโพสต์ผลงานใน Telegram แบบ “ปูพรมข่าวรบ”

วิชาการเบื้องหลัง: นี่คือ “สงครามข่าวสารสมัยใหม่”

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การแฮ็กเพื่อเงิน ไม่ใช่การขู่เรียกค่าไถ่ แต่คือการใช้ไซเบอร์เป็นเครื่องมือในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เพื่อ…บ่อนทำลายความเชื่อมั่น ของรัฐไทย สร้างกระแสชาตินิยม ให้คนเขมรเห็นว่ามีคน "ลุกขึ้นสู้" ปลุกปั่นสังคมไทย ให้เกิดความแตกแยกในเรื่องวัฒนธรรม–เชื้อชาติ
นี่คือ “ไซเบอร์นารเรทีฟ” ที่ใช้เรื่องเล่าและการโจมตีเป็นเครื่องมือปลุกกระแส ทั้งในโลกออนไลน์และในหัวประชาชน

แล้วไทยจะรับมือยังไง?

ไทยมีการแจ้งเตือนจากศูนย์ TTC-CERT อย่างทันท่วงที และหน่วยงานด้านความมั่นคงไซเบอร์กำลังเสริมเกราะให้กับระบบของรัฐและเอกชน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักเพิ่มคือ…

อย่าแชร์ข่าวแบบไร้แหล่ง เพราะอาจเป็นการช่วยขยาย IO ให้กลุ่มแฮกเกอร์เอง อย่าเหมารวมชาวกัมพูชา ทั้งประเทศว่าคือผู้ร้าย เพราะ NDTSEC มีสมาชิกเพียงหยิบมือ รัฐต้องสร้างความรู้เท่าทันไซเบอร์ ให้ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัว

สรุป: สงครามครั้งนี้อยู่ในมือถือคุณ

ถ้าเมื่อก่อนสงครามอยู่ในสนามรบ วันนี้ “สงครามอยู่ในแอป Telegram” กลุ่มแฮกเกอร์ไม่ได้มาด้วยปืน แต่มาด้วยโปรแกรม เป้าหมายไม่ใช่เพื่อยึดพื้นที่ แต่เพื่อ “ยึดพื้นที่ในใจคุณ”

ประเทศไทยต้อง ตื่นรู้และตื่นตัว เพราะภัยไซเบอร์ในวันนี้คืออาวุธแห่งอนาคต และมันเริ่มต้นแล้ว…จากชายแดนจรดโลกดิจิทัล

เรียกร้องประชาคมโลก จัดการรัฐบาล-ตระกูลผู้นำกัมพูชา หลังรายงานชี้ชัดมีเอี่ยวฟอกเงิน - อาชญากรรมข้ามชาติ

แถลงการณ์ในนามประชาชนไทย
ถึงประชาคมโลก

(17 มิ.ย. 68) เรื่อง การเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการต่อรัฐบาลกัมพูชาและตระกูลผู้นำที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ

ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนไทยผู้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ ความยุติธรรม และความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอใช้โอกาสนี้ในการส่งสารไปยังสหประชาชาติ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาคมโลก เพื่อแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของรัฐบาลกัมพูชาและเครือข่ายอำนาจที่ปกครองประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของตระกูลฮุน เซน และผู้ใกล้ชิด ได้สร้างเครือข่ายผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับอาชญากรรมระดับโลก ทั้งในรูปของการฟอกเงินและสนับสนุนธุรกรรมผิดกฎหมายผ่านบริษัทอย่าง Huione Group ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นศูนย์กลางเครือข่ายฟอกเงินระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามรายงานของสื่อสหรัฐฯ และบริษัท Elliptic ที่วิเคราะห์บล็อกเชน พบว่า Huione Group และแอปพลิเคชัน Huione Pay ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการโอนเงินผิดกฎหมายจากขบวนการ แฮกเกอร์, กลุ่มสแกมเมอร์ รวมถึง การค้ามนุษย์ โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ใน Telegram ซึ่งเป็นแหล่งหลักของการโฆษณาและติดต่อของเครือข่าย Huione มีการพบกลุ่มนายหน้าหลายร้อยกลุ่มที่เสนอ “บริการจัดหาแรงงาน” ซึ่งแท้จริงแล้วคือการบังคับคนจากจีน เวียดนาม มาเลเซีย ให้ทำงานเป็น สแกมเมอร์ในสภาพบังคับ และยังมีผู้หญิงจำนวนมากถูกนำไป Human Trafficking  เช่น ค้าประเวณี หรือ บังคับถ่ายทำภาพยนตร์ลามก

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากกลุ่มทุน(จีนเทาโพ้นทะเล) ที่หนีการปราบปรามในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะภายใต้นโยบายเข้มงวดของสี จิ้นผิง พวกเขาเลือกย้ายฐานมายังประเทศกัมพูชา ที่เปิดรับการลงทุนจีนโดยแทบไม่มีเงื่อนไข เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จึงกลายเป็นแหล่งตั้งรกรากใหม่ของกิจกรรมผิดกฎหมาย ทั้งสแกม ฟอกเงิน และค้ามนุษย์ โดยรัฐบาลกัมพูชาแห่งยอมผ่อนปรนเพื่อแลกกับรายได้ เหมือนภาพซ้ำของจีนโพ้นทะเลในอดีตที่ตั้งอั๊งยี่และค้าฝิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยุคนี้ซับซ้อนและอันตรายกว่าหลายเท่า

จากสถิติของ United Nations Inter-Agency Project on Human Trafficking (UNIAP) พบว่า การค้ามนุษย์จากต่างประเทศในกัมพูชา เพิ่มขึ้นในอัตรากว่าร้อยละ 400 เลยทีเดียว

งานวิจัย Behind Closed Doors: Debt-Bonded Sex Workers in Sihanoukville, Cambodia โดย ลาริสซา แซนดี (Larissa Sandy) ระบุว่า อาชญากรรมด้าน "กามารมณ์" คือรูปแบบการค้ามนุษย์อันดับ 1 ที่เกิดขึ้นใน เมืองสีหนุวิลล์

หญิงขายบริการจำนวนมากเป็น “โสเภณีขัดดอก” ที่ต้องใช้ร่างกายชดใช้หนี้แทนตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว โดยไม่มีเสรีภาพหรือทางเลือกใดในการหลีกหนี

ระบบดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้สายตาของรัฐ ด้วยการเอื้อพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เครือข่ายนายทุนและอิทธิพลดำเนินการโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง

นอกจากนี้ บุคคลที่อยู่ในเครือบริษัทดังกล่าว เช่น ฮุน โต ลูกพี่ลูกน้องของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ระดับภูมิภาค

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกัมพูชากลับไม่เพียงละเลย แต่ยังมีพฤติกรรมส่อว่าให้ ความคุ้มครองทางอ้อม แก่เครือข่ายเหล่านี้ โดยเฉพาะการที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเพิกถอนใบอนุญาตของ Huione Group ในลักษณะที่เป็นการ “ปลดเปลื้องภาระทางกฎหมาย” มากกว่าการเอาผิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเพียงการเตรียมการ “ควบรวมบริษัท” มากกว่าการยุติกิจกรรมอาชญากรรม

ความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกัมพูชาไม่เพียงจำกัดอยู่ในระดับภายในประเทศ หากแต่ได้ขยายตัวเป็นพฤติกรรมของรัฐที่เอื้ออำนวยต่อการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในกรณี การลอบสังหารนายลิม กิมยา อดีต ส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชาที่ลี้ภัยทางการเมืองและถือสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศส ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตกลางกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 กรณีนี้ชี้ชัดถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม แม้จะอยู่ในต่างแดน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ คนร้ายได้หลบหนีเข้ากัมพูชา แต่รัฐบาลกัมพูชากลับไม่ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างจริงจัง สะท้อนท่าทีที่ไม่เพียงละเลยต่อหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ แต่ยังเป็นการสนับสนุนมือปืนและการก่อการร้ายทางการเมืองข้ามชาติอย่างชัดเจน

ล่าสุด รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลก (ICJ) เพื่อกล่าวโทษไทยในข้อพิพาทชายแดน โดยพยายามแสดงตนว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งที่ความจริงคือ ไทยไม่มีท่าทีคุกคามใด ๆ ตรงกันข้าม กลับเป็นฝ่ายกัมพูชาที่เริ่มยั่วยุ เช่น การขุดแนวรบในพื้นที่พิพาทซึ่งเป็นต้นเหตุของการปะทะ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงน่ากังวลว่าเป็นแผนยั่วยุเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของโลกจากความเป็น “รัฐอาชญากรรม” ที่กัมพูชากำลังถูกมองว่าเป็นอยู่

ข้าพเจ้าขอตั้งคำถามต่อประชาคมโลกว่า แท้จริงแล้ว กัมพูชาควรอยู่ในฐานะ “โจทก์” หรือ “จำเลย” กันแน่
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้:

ประชาคมโลกตรวจสอบ และพิจารณาดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ กับผู้นำและเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติจากกัมพูชา โดยเฉพาะในระดับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติพิจารณามาตรการทางการทูตและการเงิน ต่อหน่วยงานและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และการค้าประเวณี

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้ามาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานกับภาคประชาสังคมในภูมิภาคเพื่อปกป้องผู้ลี้ภัย นักกิจกรรม และประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า หากละเลยพฤติกรรมเหล่านี้ให้ดำรงอยู่โดยไม่ถูกตรวจสอบและลงโทษ ย่อมเป็นการเปิดทางให้ ความชั่วร้ายแฝงเร้นในคราบของรัฐเผด็จการดำรงอยู่ต่อไป และอาจลุกลามกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลกในที่สุด ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์
ประชาชนไทยผู้รักสันติภาพและยืนหยัดต่อความยุติธรรม

รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งพระนโรดมเป็น ’กษัตริย์เขมร’ พร้อมตั้งชื่อให้เลือก - ให้อยู่ในกรอบของสยามไม่ใช่เอกราช

รู้หรือไม่? 'กรุงเทพฯ' เป็นคนตั้ง 'กษัตริย์เขมร'
เรื่องนี้ไม่ใช่เล่าเล่น ๆ นะครับ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนจากสมัย รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงสยาม ที่พระองค์ทรง ตั้งองค์พระนโรดม ให้เป็น 'เจ้ากรุงกัมพูชา' แต่ต้องเป็นกษัตริย์ที่ อยู่ในบังคับบัญชา ของกรุงเทพฯ เท่านั้น ในเอกสารราชการเขียนไว้ชัดว่า...

> “ให้มีอำนาจอิศริยศ เป็นอธิบดีบ้านเมืองฝ่ายเขมรทั้งปวง บรรดาที่องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีผู้พระบิดา ได้ครอบครองเป็นใหญ่ใต้บังคับบัญชา…”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ พระนโรดมได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรแทนพ่อ แต่จะทำอะไรก็ต้องอยู่ใต้คำสั่งหรืออนุญาตจากกรุงเทพฯ จะตั้งขุนนาง จะตั้งข้าราชการในเมืองไหนก็ได้ แต่ต้องรักษาน้ำใจและแสดงความนอบน้อมต่อพระมหากษัตริย์ไทยและเพื่อให้เป็นทางการ พระเจ้าแผ่นดินไทยยังเขียนพระนามเต็ม ๆ มาให้พระนโรดมเลือกเอง 2 แบบ (ชื่อยาวมาก ขนาดพระยังเลือกได้เองว่าอยากใช้ชื่อไหน!) หนึ่งในชื่อที่ส่งไปให้เลือกมีความว่า:

> “องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวดารคุณ สารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี... พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี พระปรีชาวิเศษ”

แล้วก็มีบทสอนคุณอีกยาวเหยียดให้ปกครองคนเขมรให้ดี อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน รู้จักแยกแยะเรื่องของบ้านเมืองให้อยู่รอด อย่าให้เสียการปกครอง แล้วก็ให้ซื่อสัตย์กับกรุงเทพฯ เหมือนที่พ่อเขาทำมาก่อน

ที่สำคัญ ตอนท้ายของเอกสารยังมีคำอวยพรว่า ขอให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเทวดาทั้งหลายคุ้มครองพระนโรดมให้มีความสุขด้วย

สรุปสั้น ๆ แบบชาวบ้าน กษัตริย์เขมรไม่ได้ขึ้นมาเองนะ กรุงเทพฯ ตั้งให้เขมรเคยเป็นเมืองในบังคับของสยาม มีเจ้าเมืองก็ต้องขอกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระนโรดมขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พร้อมตั้งชื่อให้เลือก และ ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบของสยาม ไม่ใช่เอกราช

บทความนี้ไม่ได้จะไปดูถูกใครนะครับ แต่เขียนเพื่อให้เข้าใจตาม หลักฐานราชการโบราณ ที่มีอยู่จริง เราไม่ได้ใส่สีตีไข่ แค่เล่าให้เข้าใจง่ายว่าในอดีตใครเป็นใคร ใครตั้งใคร และใครอยู่ใต้อำนาจใคร

ส่องขีดความสามารถกำลังรบ – ยุทโธปกรณ์อิหร่าน ในวันที่ต้องเปิดแนวรบเต็มรูปแบบกับ ‘อิสราเอล’

ปัจจุบันทุกวันนี้ กรณีพิพาทระหว่างประเทศได้ขยายตัวยกระดับกลายเป็นสงครามในหลายภูมิภาคบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซียกับยูเครน อิหร่านกับอิสราเอล กรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน หรือ กระทั่งกรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมร ซึ่งมีการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหารตลอดแนวชายแดนของสองประเทศ

สงครามคือ การต่อสู้ของคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งด้วยกองกำลังติดอาวุธ ในสภาวะที่ปกติแล้วมีการสู้รบด้วยอาวุธอย่างเปิดเผยและประกาศระหว่างรัฐหรือประเทศต่าง ๆ โดยการทำสงครามนั้น คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องมีกำลังอำนาจทางทหาร ซึ่งประกอบด้วย (1) กำลังรบ กำลังทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธ (ที่จัดเตรียมไว้แล้ว) และ (2) ศักย์สงคราม

ศักย์สงคราม (War potential) ได้แก่ ขีดความสามารถที่จะผลิตกำลังรบเพิ่ม ผลิตอำนาจการรบเพิ่ม โดยองค์ประกอบของศักย์สงครามอาจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจ 2) กำลังอำนาจทางการเมือง 3) ขวัญและกำลังใจเมื่อเกิดการสู้รบขึ้น และ 4) การสนับสนุนจากพันธมิตร

นอกจากองค์ประกอบ 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว ยังรายละเอียดตามเงื่อนไขปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ (1) ขนาด ที่ตั้ง และลักษณะของประเทศ (2) จำนวน อายุ ลักษณะประชากร ขีดความสามารถทางแรงงานและขวัญของพลเมือง (3) จำนวนและชนิดของอาหารและวัตถุดิบ ตลอดจนจำนวนสำรองของวัตถุดิบรวมทั้งขีดความสามารถที่จะนำเข้ามาทั้งยามสงบและยามสงคราม (4) ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม (5) ขีดความสามารถในด้าน Logistics (6) ทรัพยากรด้านวัตถุและกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (7) คุณภาพของผู้นำและผู้บริหารของชาติ รวมทั้งขีดความสามารถในการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ด้วย

ศักย์สงครามของอิหร่าน ในขณะนี้ โลกกำลังจับตาดูความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านว่า จะพัฒนาไปอย่างไร จะกลายเป็นสงครามที่มีการขยายพื้นที่เป็นสงครามขนาดใหญ่ หรือสงครามจำกัดขอบเขตพื้นที่เช่นที่เป็นมา บทความนี้จะขอพูดถึงศักย์สงครามของอิหร่านในสองมิติ โดยจัดเรื่องของอำนาจกำลังรบของอิหร่านไว้ในมิติแรก และมิติที่ 2 คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

(1) อำนาจกำลังรบของอิหร่าน กำลังทหารอิหร่านประกอบด้วยสามหน่วยหลักได้แก่ (1.1) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps (Sepah)) และ (1.2) กองทัพ(บก)สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) และ (1.3) กองกำลังบังคับใช้กฎหมาย (ตำรวจ) โดยสองหน่วยแรกมีกำลังพลราว 530,000 นาย ส่วนตำรวจมีกำลังพลราว 500,000 นาย และตำรวจอาสาสมัครอีก 35,000 นาย กองกำลังทุกหน่วยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะเสนาธิการแห่งกองทัพฯ ภายใต้สำนักงานผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน โดยกระทรวงกลาโหม และหน่วยส่งกำลังบำรุงของกองทัพรับผิดชอบในการวางแผนส่งกำลังบำรุง และการจัดการงบประมาณของกองทัพ และไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับบัญชาสั่งการตลอดจนปฏิบัติการทางทหารในสนามรบ

กองทัพของอิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่มีความแข็งแกร่งลำดับที่ 16 ของโลก จากการจัดอันดับของ Global Firepower ในปี 2025 ประกอบด้วย (1.) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วย (1.1) กองกำลังภาคพื้นดิน เป็นกองกำลังปฏิวัติอิสลาม(IRGC) ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานกับกองทัพบกอิหร่าน นอกเหนือจากบทบาททางการทหารของพวกเขาแล้ว ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยภายใน มีกำลังพลประมาณ 100,000 นาย (1.2) กองกำลัง Basij (องค์การเพื่อการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่) เป็นกองทหารอาสาสมัครที่จัดตั้งขึ้นปี 1979 ตามคำสั่งของ Ayatollah Khomeini เดิมประกอบด้วยอาสาสมัครพลเรือนเข้าร่วมสู้รบในสงครามอิหร่าน-อิรัก และถูกระบุว่า เป็นองค์กรก่อการร้ายโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา, บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย มีกำลังพลประมาณ 90,000 นาย อาสาสมัครอีก 11.2ล้านนาย รวมอาสาสมัครพร้อมปฏิบัติการ 600,000 นาย (1.3) กองกำลัง Quds เป็นหน่วยหนึ่งในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในการทำสงครามนอกแบบ และปฏิบัติการทางการข่าวทางทหาร รับผิดชอบการปฏิบัติการนอกประเทศ กองกำลัง Quds ได้ให้การสนับสนุนกองกำลังในหลายประเทศรวมถึง Hezbollah, Hamas ในเลบานอน และญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์, Houthis ในเยเมน และ Shia militias ในอิรัก ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน มีการประเมินว่า Quds มีกำลังพลราว 10,000-20,000 คน ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Khamenei (1.4) กองกำลังทางอากาศ (การบินและอวกาศ) แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (AFAGIR) 

ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานไปกับกองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารร่วมกับ กองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) และ (1.5) กองกำลังทางเรือแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วยกำลังพลประมาณ 20,000 นาย เรือรบ 1,500 ลำ มีการพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการรบทางน้ำนอกแบบ และคุ้มครองผลประโยชน์นอกชายฝั่ง แนวชายฝั่ง และเกาะต่าง ๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นของอิหร่าน

(2) กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) ประกอบด้วย (2.1) กองกำลังภาคพื้นดิน หรือ กองทัพบก เป็นกองกำลังภาคพื้นดินของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กองทัพ ในภาษาฟาร์ซีเรียกว่า อาร์เทช (Artesh : ارتش) ซึ่งแปลว่า "กองทัพบก" ในปี 2007 ประมาณว่า กองทัพบกอิหร่าน มีบุคลากรราว 350,000 นาย (ทหารเกณฑ์ 220,000 นาย และทหารประจำการ 130,000 นาย) และทหารกองหนุนอีกประมาณ 350,000 นาย รวม 700,000 นาย ทหารเกณฑ์เป็นเวลา 21 เดือนและมีการฝึกฝนเพื่อเป็นทหารอาชีพ อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย รถถัง 3,000 คัน รถหุ้มเกราะ 1,550 คัน ปืนใหญ่ลากจูง 2,118 ระบบ ปืนใหญ่อัตตาจร 365 ระบบ เครื่องยิงจรวด 1,500+ ระบบ เฮลิคอปเตอร์ 260 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 80+ ลำ และ UAV 400 ลำ (2.2) กองกำลังป้องกันทางอากาศ แยกออกมาจาก IRIAF ทำหน้าที่ควบคุมและปฏิบัติการในการป้องกันทางอากาศ (ภาคพื้น) ของอิหร่าน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2008 มีกำลังพลราว 15,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย ปืนและจรวดต่อสู้อากาศยานหลายแบบจำนวนมาก (2.3) กองทัพอากาศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) มีกำลังพลราว 37,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วยเครื่องบินรบ 348 ลำ  และเครื่องบิน/เฮลิคอปเตอร์แบบต่าง ๆ รวมทั้งหมด 741 ลำ และ (2.4)กองทัพเรือของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน มีกำลังพลราว 18,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย เรือผิวน้ำ 86 ลำ เรือดำน้ำ 19 ลำ และอากาศยานอีก 54 ลำ

ศักย์สงครามของอิหร่านในมิติของ "อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" ท่านอายุน้อยกว่าห้าสิบอาจจะยังไม่ทราบว่า สี่สิบปีก่อนอิหร่านรบกับอิรักนานเกือบแปดปี ในตอนนั้นสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนอิรักอย่างเต็มที่ ทหารของทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บตายฝ่ายละหลายแสนนาย (ตัวเลขจากหลายแหล่งไม่ปรากกฏตรงกันเลย) กองทัพอิหร่านหลังสงครามอ่อนแอลงมาก สูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล แต่ก็สามารถยันอิรักไว้ได้ ก่อนการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน กองทัพอิหร่านแข็งแกร่งด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลที่กษัตริย์ชาห์ปาเลวีสั่งซื้ออย่างมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สุดล้ำในยุคนั้น อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcat ซึ่งนอกจากกองทัพเรือสหรัฐฯ แล้ว มีเพียงกองทัพอากาศอิหร่านเท่านั้นที่มีใช้

ความอ่อนแอของกองทัพอิหร่านเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ปี 1979 เพราะแม่ทัพนายกองของกองทัพอิหร่านส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ภักดีต่อกษัตริย์ชาห์ปาเลวี ดังนั้นเมื่ออยาตอลาห์โคไมนีได้อำนาจการปกครองประเทศ จึงมีการกวาดล้างผู้ภักดีต่อราชวงศ์ปาเลวี รวมทั้งอดีตข้าราชการและแม่ทัพนายกองถูกสังหารร่วม 8,000 คน หลังจากสงครามอิหร่านกับอิรัก อิหร่านได้การพัฒนากิจการทหารอย่างมากมายทั้งบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วย อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของกษัตริย์ชาห์โมฮัมหมัดเรซาปาห์ลาวี ในปี 1973 โดยบริษัทอิหร่านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (IEI) ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมและซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่านส่วนใหญ่ก่อนการปฏิวัติอิสลามนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรประหว่างปี 1971 และ 1975 กษัตริย์ชาห์ได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์เฉพาะจากสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เพิ่มความเข้มงวดกับกฎหมายว่าด้วยการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ในปี 1968 และเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบัญญัติควบคุมการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ถึงกระนั้นก็ตามสหรัฐอเมริกายังคงขายอาวุธจำนวนมากให้แก่อิหร่านจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามใน ปี 1979

1977 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านได้ร่วมมือกับอิสราเอลในการผลิตขีปนาวุธตามโครงการ Flower และขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่วมกับสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธ ในปี 1979 อิหร่านเริ่มก้าวแรกสู่การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองโดยเริ่มจากการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse engineering) กับจรวดแบบต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียต อาทิ RPG-7, BM21 และ SA-7 หลังจากการปฏิวัติอิสลาม และเริ่มสงครามอิหร่าน – อิรัก การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรทางอาวุธระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารมากขึ้น ทำให้อิหร่านต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศ เพื่อซ่อมแซมและผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามได้รับหน้าที่ให้ทำการจัดระเบียบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และกระทรวงกลาโหมได้สนับสนุนงบประมาณมหาศาลเน้นไปที่อุตสาหกรรมขีปนาวุธ ในไม่นานนักอิหร่านก็กลายเป็นชาติที่มีขีปนาวุธมากมาย

ปี 1992 อิหร่านสามารถผลิตรถถังเอง รวมทั้งรถหุ้มเกราะ ขีปนาวุธ เรือดำน้ำ และเครื่องบินรบ 2006 เหตุการณ์ต่าง ๆ จากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรอิหร่านโดยห้ามไม่ให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกรูปแบบ แม้จะมีบทลงโทษเหล่านี้อิหร่านก็ขายอุปกรณ์ทางทหารให้กับประเทศต่าง ๆ เช่น ซูดาน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ อิหร่านก็ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ทางทหาร เช่น S-300 จากรัสเซีย แต่ก็ออกแบบและสร้างเองแทน เช่น Bavar- 373 และส่งออกอาวุธไปยังกว่า 50 ประเทศ

เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2012 กองทัพอิหร่านได้แถลงว่า ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ทางทหารและความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านนี้ "ต่างจากประเทศตะวันตกที่ซ่อนอาวุธและยุทโธปกรณ์ใหม่ แต่กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านไม่กลัวที่จะแสดงความสำเร็จทางทหารล่าสุดและทุกประเทศจะต้องตระหนักถึงความก้าวหน้าของอิหร่านในการผลิตอาวุธ" ตั้งแต่ปี 2016 กระทรวงกลาโหมอิหร่านได้ร่วมมือกับบริษัทระดับชาติมากกว่า 3,150 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 92 แห่ง อีกทั้งความสามารถในการทำวิศวกรรมย้อนกลับทำให้อิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ยึดได้จากอิรัก กระทั่งในปัจจุบันอิหร่านสามารถยิงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของสหรัฐฯ ได้หลายแบบ และใช้เทคนิควิศวกรรมย้อนกลับในการผลิต UAV หรือโดรนเพื่อทำการรบที่มีประสิทธิภาพได้มากมายหลายแบบ

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “ศักย์สงครามของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน” ที่มีอยู่จะทำให้ “อิหร่าน” สามารถรับมือ หรือเอา “อิสราเอล” อยู่หรือไม่ เพราะ “อิสราเอล” นั้น ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

‘กัมพูชา’ เผชิญ 3 วิกฤตหลังปิดด่านประชดไทย โรคระบาด – พลังงาน - เสื่อมศรัทธาทางการทูต

(23 มิ.ย. 68) กัมพูชากำลังเข้าสู่ “สามวิกฤต” ซ้อน - สุขภาพ พลังงาน และศรัทธาระหว่างประเทศ หลังปิดด่านประชดไทย

ณ เวลานี้ กัมพูชากำลังเผชิญกับวิกฤตหลายด้านพร้อมกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ “สามวิกฤตรุมเร้า” ซึ่งประกอบด้วยภัยสาธารณสุข ภัยเศรษฐกิจ และภัยทางการทูตอย่างรุนแรง

1. ไข้หวัดนกระบาดหนัก – ชายแดนไทย–กัมพูชาส่อปิดยาว
สถานการณ์ไข้หวัดนกในกัมพูชากำลังทวีความรุนแรง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ติดต่อสู่คนได้ ทำให้อัตราการตายสูงเกิน 50% ในหลายกรณี (เช่น H5N1)มีความเป็นไปได้สูงครับว่า ภาครัฐของไทยมีแนวโน้มจะพิจารณาปิดด่านชายแดนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ถ้าเกิดขึ้นไม่เพียงแต่กระทบแรงงานข้ามชาติ แต่ยังทำให้เศรษฐกิจชายแดนของกัมพูชาแทบหยุดชะงักไปยาวๆอีกสักพักนึงเลยครับ

2. วิกฤตน้ำมัน – ราคาพุ่งจากการปิดช่องแคบฮอร์มุซ
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงแบบฉับพลัน กัมพูชาในฐานะประเทศที่พึ่งพาน้ำมันนำเข้าเกือบทั้งหมดต้องรับผลเต็ม ๆ โดยเฉพาะเมื่อชายแดนไทยที่เคยเป็นเส้นทางลำเลียงพลังงานทางบกกลับมีแนวโน้มจะปิดตามมาตรการสาธารณสุข วิกฤตพลังงานจึงกลายเป็นวิกฤตต้นทุนชีวิตของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เนี่ยมือถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดโดยกัมพูชาโดยตรงเพราะว่าคนที่ออกนโยบายสกัดกั้นน้ำเป็นน้ำมันจากไทยนั้นก็ไม่ออกเลยรัฐบาลกัมพูชาซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวานนี้เอง

3. เสียหน้าในเวทีระหว่างประเทศ – พฤติกรรมทางการทูตสะท้อนความไม่เป็นมืออาชีพ
แม้รัฐบาลกัมพูชาจะพยายามใช้การเปิดคลิปเสียงโจมตีผู้นำไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง แต่ผลที่ตามมากลับกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ตกต่ำในสายตานานาชาติ การนำข้อมูลลับทางการทูตออกมาเปิดเผยเพื่อหวังผลทางการเมืองภายใน ถือเป็นการทำลายความเชื่อถือของระบบการทูตระหว่างประเทศโดยตรง ประเทศใดที่ไม่เคารพหลักการพื้นฐานของการทูต ย่อมถูกมองว่า “ไม่สามารถไว้วางใจได้”

เรื่องนี้อย่าทำให้เห็นภาพชัดว่าฮุนเซนกำลังเผชิญกับการสูญเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะการทำลายมิตรภาพที่ยาวนานกว่าหลาย 10 ปีเพียงเพื่อการเอาชนะในสรภูมิการเมืองเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้นเอง

บทสรุป
ในขณะที่ประชาคมโลกเผชิญกับความผันผวนจากภูมิรัฐศาสตร์ กัมพูชากลับเผชิญ “ไฟสามด้าน” พร้อมกัน ทั้งโรคระบาด วิกฤตพลังงาน และความเสื่อมศรัทธาทางการทูต

คำถามสำคัญคือ—ผู้นำกัมพูชาจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร โดยไม่ยิ่งซ้ำเติมประชาชน และไม่พาประเทศให้ถลำลึกสู่ความโดดเดี่ยวทางการเมืองมากไปกว่านี้?

ร.7 กับข้อกล่าวหาอยู่เบื้องหลัง ‘กบฏบวรเดช’ ความเข้าใจผิดและเกมการเมืองหลังปี 2475

(24 มิ.ย. 68) ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือรอยต่อสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางแรงสั่นสะเทือนจากทั้งสองฝั่งของอำนาจ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ผู้ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกลุ่มปฏิรูปใหม่อย่างคณะราษฎร

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น หนึ่งในบุคคลสำคัญที่เคยมีบทบาทในกองทัพและแสดงออกถึงความใฝ่ฝันในการปฏิรูปประเทศมาตั้งแต่ก่อน 2475 คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบบเก่าและเคยเป็นที่จับตาของราชสำนักเองในฐานะ “ผู้ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ด้วยซ้ำ

จนถึงขั้นที่ว่า ในวันที่คณะราษฎรทำการยึดอำนาจในรุ่งเช้า 24 มิถุนายน 2475 ราชสำนักยังเข้าใจผิดว่าหัวหน้าคณะราษฎรคือพระองค์เจ้าบวรเดช ไม่ใช่พระยาพหลพลพยุหเสนา หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

จากผู้ใฝ่ปฏิรูป สู่ผู้นำกบฏ: ความพลิกผันของบวรเดช
พระองค์เจ้าบวรเดช ในฐานะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการใกล้ชิดราชสำนักและเป็นบุคคลมีอิทธิพลในกองทัพสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เคยมีแนวคิดที่ต้องการปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้ามาก่อนใครในหมู่ขุนนางร่วมสมัย จนเคยถูกกล่าวขานว่าเป็น “เสรีนิยมในเครื่องแบบ” คนหนึ่ง

ทว่าเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง กลับเป็นพระองค์เจ้าบวรเดชเสียเองที่ไม่อาจยอมรับความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรได้ เพราะทรงเห็นว่ารัฐบาลหลัง 2475 นั้นกำลังพาประเทศเข้าสู่ความโกลาหล ขาดความเคารพต่อสถาบัน และใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากความรับผิดชอบ จึงนำไปสู่การตัดสินใจของพระองค์ในปี 2476 ที่จะนำกองทัพบางส่วนออกทำการ "กบฏบวรเดช" โดยมีข้ออ้างว่าเพื่อกอบกู้ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

ข้อกล่าวหาต่อรัชกาลที่ 7: เกมโต้กลับของการเมืองใหม่
ท่ามกลางความรุนแรงและความวุ่นวายที่ตามมา รัฐบาลของคณะราษฎรนำโดยพระยาพหลฯได้กล่าวหาว่า รัชกาลที่ 7 ทรงอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนบวรเดช ข้อกล่าวหานี้มีน้ำหนักอยู่ช่วงหนึ่งโดยเฉพาะในระดับสื่อและวงการทหารที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎร โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาทให้แก่กองกำลังบวรเดช”

แต่เมื่อพิจารณาในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลับพบว่าข้อกล่าวหานี้ ไม่สามารถยืนยันได้ด้วยเอกสารที่เชื่อถือได้ และนักวิชาการจำนวนมาก รวมถึงเอกสารจากสำนักพระราชวังและราชเลขาธิการในเวลานั้น ต่างยืนยันว่าพระองค์ “ไม่ทรงเกี่ยวข้องโดยตรง” กับการกบฏแต่อย่างใด

รัชกาลที่ 7: ความเป็นกลางอันน่าชื่นชม
ในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพำนักอยู่ที่หัวหิน ไม่ได้เสด็จไปยังพื้นที่ความขัดแย้ง และทรงมีพระราชดำรัสหลายครั้งผ่านราชเลขาธิการแสดงจุดยืนว่า ไม่ทรงเลือกข้าง และขอให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงและหาทางเจรจา

พระองค์ไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนการใช้กำลัง แต่ยังทรง เสนอพระองค์เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย หากคู่ขัดแย้งยินดีเปิดใจ

แนวทางของพระองค์จึงชัดเจนว่า ทรงวางพระองค์ไว้เหนือความขัดแย้ง และยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นชอบด้วยตั้งแต่แรก

บทสรุป: การป้ายสีที่ไม่อาจลบพระบารมี

เหตุการณ์กบฏบวรเดชและข้อกล่าวหาที่ตามมานั้น เป็นผลพวงของเกมการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านที่ตึงเครียด ฝ่ายรัฐพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบัน เพื่อรักษาอำนาจของตน และใช้อารมณ์ชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมประชาชน

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประวัติศาสตร์ได้ชำระข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกบฏบวรเดช และทรงปฏิบัติพระองค์อย่างมีเกียรติ ในฐานะประมุขของชาติที่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน

พระองค์จึงมิใช่เพียง “กษัตริย์ผู้สละราชบัลลังก์”

แต่คือ “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” ผู้วางรากฐานแห่งความคิดให้ประเทศไทยเดินหน้าไปด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง

วันที่ 24 มิถุนายน 2568 เป็นวันครบรอบ 93 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย  ทีมงาน 2475 รุ่งอรุณเหตุการณ์ปฏิวัติ ได้จัดทำหนังสือการ์ตูนปกใหม่(jacket) เพื่อ เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ผู้เป็นศูนย์รวมใจคนไทยในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองและเป็นผู้บุกเบิกประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผู้ใดสนใจหนังสือการ์ตูน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ปกหุ้มเพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 7 สามารถติดตามข้อมูลและสั่งซื้อได้ที่ https://www.facebook.com/share/1AnBbfHkaE/


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top