Tuesday, 30 April 2024
ClickonClever

ปริศนา กัมพูสิริ (โบว์ลิ่ง) | Click on Clever EP.16

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.16
ปริศนา กัมพูสิริ (โบว์ลิ่ง) อาจารย์ นักแสดง พิธีกร นางสาวไทยประจำปี 2555
เปิดเคล็ดลับ สาวเก่งดีกรีนางสาวไทย เรียนดี กิจกรรมเด่น เป้าหมายต้องชัดเจน!!


Q: บทบาทในวงการบันเทิงหลากหลาย ทั้งพิธีกร นักแสดง วันนี้ผันตัวมาเป็นอาจารย์ อะไรคือจุดตัดสินใจให้มาเอาจริงเอาจังในฐานะ “ครู”

A: ตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่พ่อแม่บอกให้เรียนอะไรแล้วเราก็จะเรียนตามที่พ่อแม่ชอบ แล้วก็ไม่เคยคิดเลยว่าอนาคตโตขึ้นไปฉันจะเป็นอะไร จนเราอยู่ ม.6 ตอนนั้นน่ะเป็นครั้งแรกที่เราได้เป็นกรรมการนักเรียนแล้วก็เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ พูดหน้าเสาธงที่โรงเรียนครั้งแรกเลย แล้วก็คือช่วงเวลาแรกในชีวิตที่เรารู้สึกว่าเราเจอสิ่งทำได้ดี คือการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ แล้วเราก็รู้สึกมีความสุขมากที่สิ่งที่เราพูดออกไปมันมีประโยชน์ มีคนฟัง มันก็เลยทำให้ตอนนั้นเราคุยกับตัวเองว่าจบไปอยากเป็นอะไร 


 

ซึ่งเราก็มองความฝันไว้ 3 อย่าง คือ 1. ฉันจะต้องเป็นพิธีกร หรือ 2. ฉันต้องเป็นอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นอินภาษาญี่ปุ่นมาก 3. ทำงานเกี่ยวกับในวงการ ที่เป็นการนำเสนออะไรบางอย่าง คือตอนนั้นเรายังไม่รู้หรอกว่ามันจะไปทางไหน แต่เรารู้ว่าเราชอบที่จะสื่อสาร เราก็เลยมองสามอาชีพนี้ ซึ่งเราก็ไม่รู้นะว่าในวันนี้เราจะได้ทำครบทุกอย่างที่เราเคยคิดเอาไว้ว่าเราอยากทำ

ความเป็นอาจารย์มันหายไปจากชีวิตช่วงนึง พอเรียนจบ ม.6 สอบติด มศว เอกการแสดงและกำกับการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ ตอนนั้นเราก็จอยมากกับการเรียนการแสดง พร้อมๆ กับเริ่มงานพิธีกรในวงการบันเทิง เพราะฉะนั้นความฝันที่มองไว้เราก็ปักธงว่าต้องเป็นนักแสดงกับพิธีกร โชคดีมากที่ตอนนั้นได้เริ่มงานในวงการตั้งแต่อยู่ปี 2 ก็คือเริ่มทำพิธีกร ก็เลยเหมือนเห็นความจริงในอาชีพว่าเราสามารถทำงานตรงนี้ได้ สามารถเติบโตได้ สามารถรับผิดชอบตัวเองได้จากอาชีพพวกนี้ ก็เลยทำให้เริ่มต้นการเป็นพิธีกรมาตลอด จนได้เป็นนางสาวไทยก็เลยได้เป็นนักแสดงด้วย 

แล้วถามว่าอาชีพอาจารย์กลับมาได้เมื่อไหร่ เราเป็นคนชอบการแสดงมาก พอเราได้ทำงานในวงการบันเทิงมันถึงจุดหนึ่งที่เราอิ่มตัว เรายังคงสนุกกับการแสดงมากนะคะ แต่มันไม่เหมือนฟิลลิ่งตอนสมัยเรียน เหตุผลเพราะตอนเรียน เราเรียน Pure Art หมายความว่าคุณสามารถที่จะคิด คุณสามารถที่จะสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ในความเป็นคุณ มันคือศิลปะการแสดงแท้ๆ 

แต่วันนี้พอมาอยู่ในโทรทัศน์ เราว่ามันคือ commercial art มันจะไม่ได้มีกระบวนการขยี้ ค้นหาตัวละคร workshop เยอะๆ เหมือนสมัยเรียน เราก็สนุก มันมีความสนุกของมันอยู่ แต่ถึงวันนึงเราก็รู้สึกโหยหา Pure Art เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็สนุกดีนะแต่เราได้เล่นบทกับช่อง 8 กี่เรื่องก็ต้องเรียบร้อย เราอยากเล่นแบบอื่น แต่ตรงเนี้ยมันไม่มีพื้นที่ให้เราทำ ด้วยภาพลักษณ์นางสาวไทยของเราด้วย เราก็รู้สึกว่าชีวิตมันเหี่ยวจังเลย มันมีอะไรที่ท้าทายที่เราอยากทำมากกว่านั้น เราก็เลยคิดว่าฉันก็โตแล้ว จบป.โท แล้ว ถ้าฉันทำไม่ได้ฉันไปสอนเด็กดีไหม มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามองหาอาชีพอาจารย์ 

Q: พอได้ไปสอนจริงมันตอบคำถาม หรือเติมเต็มเราไหม?

A: ดีมาก มีความสุขมาก พอได้มาสอนมันเหมือนเรามีมิชชั่นใหม่ในชีวิต ทุกปีเราก็จะเจอเด็กที่ต่างกันออกไป แล้วก็จะมีกิจกรรมให้เขาทำ ทำโปรเจคละครเวที ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือผลักดันเด็กลงประกวดให้เยอะที่สุด มันสนุกมาก ทำให้เรากลับมามีชีวิตชีวาและมีแรง 

Q: เป็นเลิศทางวิชาการ และยังโดดเด่นเรื่องกิจกรรม เคล็ดลับสมัยเรียน ทั้งเรียนดี กิจกรรมเด่นคืออะไร?

A: จริงๆ แล้วเราไม่ได้มองว่าเราเป็นเลิศ แต่เรามองว่าเราเป็นบ้า เรามีความบ้าอะไรบางอย่างอยู่ ที่แบบฉันจะทำและฉันต้องทำให้ได้ อาจจะโชคดีที่เราได้เจอสิ่งที่รัก เราก็เลยรู้สึกไม่เหนื่อยเวลาที่เราทำมัน แล้วก็เลยสนุกกับมันแบบมากๆ เราก็เลยทำมันได้ค่อนข้าง…อาจจะไม่ได้ดีที่สุดหรอก แต่มันดีในระดับที่เราพอใจ

อยากตอบในสองประเด็น ประเด็นแรกคือประเด็นว่าตัวเราเวลาทำงาน เราคิดยังไง กับประเด็นที่สองคือเวลาเด็กเราทำงาน เราคิดกับเด็กยังไง มันไม่เหมือนกัน ถ้าสมมุติเวลาเราทำงาน ทำไมเราทำงานแล้วสำเร็จ อย่างที่บอกว่าเราโชคดี มันเป็นงานที่เราชอบ มันเป็นงานที่เรารัก เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่คนเก่ง แต่เราคือคนขยัน ซึ่งคนอื่นจะบอก ไม่จริงอ่ะ เก่ง แต่ความจริงเรารู้ตัวว่ากว่างานมันจะออกมา 1 ชิ้น เราใช้เวลากับมันเยอะมาก คนเห็นมันแค่ปลายทางที่สำเร็จ คนก็เลยตัดสินว่าเราเก่ง ทั้งที่ความจริงเขาไม่มาเห็นกระบวนการว่าเราทำเยอะแค่ไหน 

มันเป็นสิ่งที่คนอื่นตัดสินเรา แต่ความจริงเรารู้ตัวว่าเราแค่ทุ่มเทกับมัน อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนบ้า เวลาเราบ้าอะไรสักอย่างเราจะอินมันมาก เพราะฉะนั้นเรามองว่างานมันไม่มีคำว่าดีที่สุดหรอก มันมีแค่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ เวลานั้น เราเลยไม่ตัดสินว่าดีที่สุดคืออะไร แต่เราแค่คิดว่าดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ เวลานั้น มันก็คือคอมพลีทในความรู้สึกเราแล้ว เราก็เลยไม่อยากให้ทุกคนคาดหวังกับคำว่าดีที่สุด เริ่ดที่สุด เรารู้สึกว่าถ้าคุณเต็มที่แล้วมันดีที่สุดเท่าที่ทำได้ มันคือจบ

แต่กลับกันพอพูดถึงเรื่องเด็ก มันมีประเด็นหนึ่งที่เราคุยกับเด็กบ่อยมาก แล้วเราอยากแชร์ เด็กหลายๆ คนจะบอกว่า อาจารย์โชคดี ได้ทำสิ่งที่รัก อาจารย์เจอว่าชอบอะไร แต่หนูไม่มี แล้วถ้าหนูไม่ชอบจะทำดีที่สุดได้ยังไง เราก็เลยมานั่งคิด สิ่งที่เราพูดกับเด็กเสมอคือ คนทุกคนนะอุดมคติมันจะบอกว่า เฮ้ย เราต้องเรียนสิ่งที่เราอยากจะเป็น เราต้องเรียนจบไปแล้วได้ทำในสิ่งที่ฝันเอาไว้ เราต้องประสบความสำเร็จ นั่นคืออุดมคติ แต่ในความเป็นจริงชีวิตมนุษย์ทุกคนไม่ได้เป็นแบบนั้น 

เราก็เลยรู้สึกว่าอุดมคติคือให้หาความฝันให้เจอ ถ้าคุณเจอแล้วคุณได้ทำ คุณคือคนโชคดี แต่ถ้าเกิดคุณไม่เจอล่ะ เราก็จะบอกเด็กกลุ่มนั้นว่า ไม่ผิด เพราะในชีวิตความเป็นจริงมันไม่ใช่อุดมคติแบบนั้น ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณชอบอะไร ไม่รู้ว่าจบไปแล้วจะสำเร็จไหม คุณคือคนส่วนมากค่ะ

เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากความฝันคือ เป้าหมาย ในชีวิตคนเราควรจะมีเป้าหมายบางอย่าง เพราะถ้าเกิดคุณไม่มีเป้าหมายเลยคุณจะใช้ชีวิตลอยไปเรื่อยๆ แต่กลับกันเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มตั้งเป้าหมาย มันจะทำให้คุณรู้ว่าคุณต้องเดินไปที่ไหน แล้วจะเดินไปยังไง เราก็เลยบอกเด็กว่า ถ้าจบไปแล้วตอนนี้คุณไม่รู้ว่าคุณอยากเป็นอะไร ไม่ผิดเลยค่ะ แต่คุณต้องตั้งเป้าหมาย 

Q: ทำงานมาเยอะ และกำลังศึกษาปริญญาเอก เป็นว่าที่ ดร. คิดว่าดีกรี มีความสำคัญมากน้อยขนาดไหนในการหางาน? 

A: สาบานเลยนะไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเรียน ป.เอก เป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำ แต่เรารู้ว่าถ้าอยากเป็นอาจารย์ สิ่งนี้จำเป็น เราจึงต้องทำ ถึงแม้เบื้องต้นเราจะไม่อยากทำ แต่เราก็ทำมันอย่างเต็มที่นะคะ แล้วก็ตั้งใจทำมันมากๆ ด้วย เพราะมันคือเป้าหมาย คือความจำเป็นในชีวิตของหน้าที่การงานทางสายวิชาชีพครู 

การศึกษาที่เป็นวุฒิมันไม่ได้สำคัญเท่ากับประสบการณ์ชีวิต เรามองว่าความฉลาด ความเก่งของเด็กมันมีหลายทาง เพียงแต่ประเทศไทยของเราหรือวงการการศึกษามันอาจจะยังมีกรอบของเรื่องวุฒิ แต่จริงๆ เรามองว่า คุณค่าความฉลาดของคนมันไม่ได้วัดกับการศึกษาอย่างเดียว เด็กบางคนเรียนไม่เก่ง แต่ว่าเขาอาจจะมีความพิเศษบางอย่างซึ่งเก่งมากก็ได้ การศึกษามันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน ไม่มีประโยชน์เลยถ้าคุณเรียนเก่งมาก แต่ใช้งานมันไม่เป็น เราเป็นสายปฏิบัติ เลยไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนป.เอก แต่อย่างที่บอกว่ามันคือความจำเป็นในสายวิชาชีพ เราก็เลยต้องเรียนแล้วเราก็ต้องตั้งใจทำ

Q: ตอนนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ไหนคะ?

A: ตอนนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซาค่ะ สาขาวิชาสื่อดิจิตอล เป็นสาขาเปิดใหม่ก็เลยยังรู้สึกสนุกกับการทำหลักสูตรและท้าทายมาก

Q: ทำงานทั้งในวงการบันเทิงและวงการการศึกษา ในยุค Digital Disruption และถูกเร่งด้วยโควิด-19 ทำงานยากขึ้นมากไหม?

A: เราว่าทั้ง 2 วงการถูก Disruption ทั้งคู่ เพียงแต่ช่วงเวลาของการ Disrupt อาจจะแตกต่างกัน จริงๆ มันมีบทความวิจัยเกี่ยวกับ Digital Disruption ของต่างประเทศอยู่ เขาบอกว่าอย่างแวดวงสื่อสารมวลชนมันจะอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า short fuse big bang หมายความว่า พอเกิด Digital ขึ้นเนี่ย ชนวนมันสั้นมาก ติดแปบเดียว ผลกระทบระเบิดรุนแรงมาก สื่อสารมวลชนถูก Disruption เร็วและแรงมาก ก่อนโควิดจะมาแล้วด้วยซ้ำ ถามว่า Covid มามันกระทบมากไหม มันกระทบแหละ กองถ่ายละครอะไรก็หยุดหมด มันรุนแรงแต่ว่ามันเกิดมาพักใหญ่ๆ แล้ว และมันก็มีหลายคนที่เขาเริ่มปรับตัวได้ เพราะฉะนั้นเรามองว่ามันแรงมันเร็ว แต่มันก็มีกลุ่มคนที่ปรับตัวได้ คนที่ปรับตัวช้าหน่อยอาจจะลำบาก

แต่กลับกันวงการการศึกษา จากงานวิจัยเขาบอกว่า วงการการศึกษาเป็น long fuse big bang หมายความว่า หลังเกิด Digital Disruption ขึ้นมาเนี่ยกินเวลาเป็น 10 ปี นานกว่าเราจะได้รับผลกระทบ แต่เขาบอกว่า เมื่อได้รับผลกระทบแล้ว อนาคตการศึกษาจะเป็นยังไง เด็กจะไม่ต้องมาเรียนที่มหาลัย เด็กจะเรียนออนไลน์ อยากเรียนอะไรก็เรียน ไม่ต้องจบปริญญา พอโควิดมามันเหมือนบังคับมาเขย่าวงการการศึกษาว่าทุกคนต้องโดดลงไปในแพลตฟอร์มเดี๋ยวนี้ มันกระทบทุกวงการ แต่การศึกษากระทบหนักมาก 

Q: คำแนะนำเพื่อการปรับตัวของคนทั้งในวงการบันเทิงและวงการการศึกษา 

A: มันก็กลับไปที่เรื่องเดิม อะไรที่เราต้องทำ ในฐานะที่เราเป็นนักแสดงในวงการ เรามองว่าเราอาจจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ไม่ใช่คนที่จะสามารถขับเคลื่อนทั้งหมดได้ แต่เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือ หมายความว่าถ้ากองถ่ายขอความร่วมมืออะไร เรายินดีที่จะให้ความร่วมมือแล้วก็เดินไปกับเขา แต่เราไม่ใช่ตัวเฮด เพราะฉะนั้นเราอาจจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ในการที่จะขับเคลื่อนมัน เราอาจจะมีบทบาทในส่วนนี้ไม่มากเท่าไหร่ 

แต่กลับกันในวงการการศึกษา ในฐานะที่เป็นอาจารย์ เราเป็นเหมือนหัวเรือที่จะต้องวางแผน คิด ทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เด็กเดินตามไปกับเรา ตอนนี้เราค่อนข้างจะโฟกัสกับเรื่องกระบวนการศึกษามากกว่า 

Q: เป้าหมายในการทำงานในวงการการศึกษาคืออะไร?

A: ณ วันนี้ด้วยความที่สาขาเราใหม่ เด็กยังไม่เยอะ เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์เราอาจจะไม่มีเท่ากับมหาลัยที่เขาเปิดมานานแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กที่จบไปของเรา เขารู้สึกว่าเขาสู้สถาบันใหญ่ๆ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่า อาจารย์ที่สาขาเราเจ๋งนะ อย่างคนที่เป็นหัวหน้าสาขาก็เป็นผู้กำกับจริง ที่ตอนนี้ก็ยังทำงานกำกับอยู่ในแวดวงโฆษณา เพราะฉะนั้นคนที่มาสอนคุณน่ะคือคนที่มีประสบการณ์ทำงานจริง เป็นผู้กำกับจริง ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในวงการจริง ก็เลยวางเป้าหมายปีนี้เอาไว้เลยว่า จะส่งเด็กทุกคนประกวด ถ้าเราผลักดันให้เขาประกวด แล้วเขาได้รางวัลกลับไป อันนี้คือสิ่งที่อาจจะสร้างความมั่นใจให้เขามากขึ้น 

Q: อะไรที่เป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้นในทุกๆ ย่างก้าว? 

A: จากใจเลย ไม่เคยคิดว่าฉันจะใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่เคยคิดเลยว่าฉันจะต้องประสบความสำเร็จ แค่ตอนนี้เราทำอะไรอยู่ และอยากทำให้มันดีที่สุด อาจจะเพราะมีความ perfectionist นิดนึง เราจะรู้สึกมีความสุขเวลาเราทำอะไรบางอย่างสำเร็จ แล้วมันดี มีคนชมหรือเห็นคุณค่า เราจะรู้สึกว่านี่แหละ! 

ด้วยความที่ธรรมชาติเราอาจจะเป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่มันเข้ามาในชีวิต แล้วทำให้รู้สึกว่าเราอยากทำ แล้วด้วยความที่เราไฮเปอร์ อะเลิทด้วย เราก็เหมือนมีแรงที่จะทำอะไรตลอดเวลา

.

.

.

.

กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ (เอส) | Click on Clever EP.17

บทสัมภาษณ์ รายการ Click on Clever EP.17
กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ (เอส) นักแสดง และนักธุรกิจ  
เปิดความสำเร็จของผู้ชายชื่อ เอส กันตพงศ์ ค้นหา Mindset  มากกว่า 'นักเรียน' คือ 'นักเรียนรู้'


Q: ผลงานตอนนี้มีอะไรบ้าง?

A: ตอนนี้ที่ออนแอร์อยู่ก็มีเรื่องแม่เบี้ยครับ ซึ่งน่าจะได้ชมกันไป เป็นเรื่องที่ขัดกับบุคลิก ขัดกับความเป็นตัวตน ขัดกับหลายๆ เรื่องที่เราเคยเล่นมา แต่ก็เป็นความท้าทายที่สนุกดีครับ 

Q: การเป็นนักแสดงในบทบาทที่ไม่ได้เป็นตัวเรา ขัดกับภาพลักษณ์ มีการปรับความรู้สึกยังไง?

A: ยากมาก พี่ทะเลาะกับบทจริงๆ เพราะอ่านไปด่าไป ทำไมมันทำแบบนี้ ตรรกะบิดเบี้ยวมากเลย คือมันเห็นผิดเป็นถูกได้ขนาดนี้ ทำไมมันทำตามใจขนาดนี้ แต่ในฐานะนักแสดง เราออกไปหน้าจอไม่ใช่เอส กันตพงศ์แล้ว พอเข้าไปตรงนั้นมันคือชนะชล เพราะฉะนั้นต้องเอาความเป็นเอสออกไป แล้วตอนนี้เรากำลังจะสื่อสารให้คุณผู้ชมเข้าใจว่าวิธีคิดของชนะชลมันเป็นแบบนี้ เขาเกิดจากความบิดเบี้ยวของสังคมมา ทำให้ตรรกะและวิธีคิดของเขามันผิดแปลกไปจากคนอื่น แต่ว่าเราจะทำยังไงให้สื่อสารความเป็นชนะชลให้ได้มากที่สุด อันนี้ครับที่ยากมากๆ 

Q: เสน่ห์ของบทบาทอาชีพนักแสดง

A: ตอนที่เข้ามาในวงการจริงๆ เลย ตอนแรกเราทำอยู่ด้านอื่น ไม่ได้เกี่ยวกับด้านนี้เลย แต่มันมีความฝันในวัยเด็ก คือพี่ชอบดูหนังมาก แล้วเรารู้สึกว่าทำไมหนังในบ้านเรา หนังที่ทำเงิน หรือหนังที่มันดังๆ ก็แล้วแต่ มันไม่ค่อยมีหนังที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือเป็นหนังหรือละครที่ดูแล้วคนดูกลับมาฉุกคิด หรือกลับมามองตัวเองแล้วกลับมารู้สึกว่าสังคมเป็นแบบนี้หรอ หรือตัวเราเป็นแบบนั้นหรอ เราก็รู้สึกว่ามันมีโอกาสมาแล้วนะ แทนที่จะเป็นคนข้างนอกแล้วก็บ่นกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เนี่ยโอกาสที่จะลองเอาตัวเองเข้าไปศึกษาดู ถ้าวันนึงจังหวะจะโคนทุกอย่างมันเหมาะสม เราก็อาจจะมีโอกาสช่วยเปลี่ยนแปลงวงการนี้ได้มากกว่าแค่ในฐานะนักแสดง

ตอนนี้ในฐานะนักแสดง โชคดีอีกอย่างที่ว่า เราอยู่มานาน ก็จะสามารถเลือกบทที่เราจะเล่นได้ประมาณนึง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเลือก หลักๆ เราจะเลือกที่สิ่งที่ทำไปแล้วมันต้องสะท้อนอะไรให้คุณผู้ชม


 

Q: สมัยเป็นนักเรียน ภาพลักษณ์เป็นเด็กเรียน แต่จริงๆ เป็นเด็กยังไง? 

A: เป็นเด็ก...เขาเรียกว่า เรียนเพื่อให้ผ่าน แต่โชคดีที่เกรดมันออกมาโอเค เรียกว่าเรียนให้ผ่าน เพื่อนๆ จะชอบมีความเข้าใจว่าพี่เป็นเด็กเรียน เพราะพี่นั่งหน้าห้อง อย่างตอนเอแบค ทุกคนที่เรียนด้วยกันจะบอกว่า เอสเป็นเด็กเรียน นั่งหน้าห้องตลอด ถามตอบกับอาจารย์ตลอด

ความจริงเอแบคมีกฎว่า ถ้าคุณมาสาย 15 นาที 2-3 ครั้งต้องดรอปเลย ทุกคนจะรีบเข้าห้อง เพราะไม่มีใครอยากนั่งหน้าห้อง ทุกคนก็จะไปนั่งหลังห้องเพื่อไม่ให้อาจารย์เรียก แต่พี่ด้วยความไม่ใช่เด็กเรียน เราชอบขอคุณพ่อไปทำงาน ไปฝึกงานช่วงซัมเมอร์ เราก็จะลงวิชาเรียนของเรา อาทิตย์นึงจะเรียนแค่ 3-4 วัน ก็จะอัดเต็มในวันนึงเลย ทำให้ไปเรียนวิชาต่อไปช้า 5-10 นาที เป็นเหตุให้ต้องนั่งหน้าห้อง อาจารย์ก็จะคุยกับคนที่นั่งหน้าห้องนี่แหละ เราก็โอเคได้ ถามตอบกับอาจารย์ เราขี้สงสัยอยู่แล้ว ความจริงไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่งหรือว่าหัวดีอะไรหรอกครับ แต่ด้วยความที่ได้ถามตอบกับอาจารย์ทุกคาบ มันเลยทำให้ไม่ต้องกลับไปอ่านหนังสือที่บ้าน อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยได้เยอะเลย

Q: อะไรทำให้เป็นคนกล้าตั้งคำถาม?

A: อันนี้ต้องขอขอบคุณตอนประถมและมัธยม พี่เป็นเด็กขี้อาย ซึ่งคุณพ่อรู้ดี คุณพ่อเขาจะเอาพี่ไปอยู่ในสถานการณ์ที่พี่ต้องใช้ความกล้าในการคุยกับคน อย่างเช่นคุณพ่อให้เรียนพิเศษภาษาอังกฤษตอนประถม เรียนได้ไม่กี่ครั้งเจอฝรั่งนั่งทานข้าวอยู่ คุณพ่อบอกไหนลองเดินไปสวัสดีเขา แนะนำตัวกับเขาสิลูก แล้วก็ไม่รู้จัก เราก็ทำ

โชคดีอีกอย่างคือ ตอนอยู่ในโรงเรียนเนี่ย อันนี้เป็นอารมณ์คล้ายๆ ตอนอยู่มหาลัยเลย เวลาอาจารย์ฝรั่งเข้ามาในห้อง อาจารย์ก็จะถามว่า มีใครอยากจะมาตอบคำถามข้อนี้บ้าง มีใครอยากจะพูดหน้าห้องบ้าง อย่างที่รู้เด็กไทยก็จะไม่มีใครยกมือ พี่เป็นหัวหน้าห้อง ในเมื่อไม่มีใครออก อ่ะหัวหน้าห้องออกมา โดนแบบนี้ทุกคาบ ทุกชั้นปี ออกไปพูดผิดๆ ถูกๆ โดนเพื่อนหัวเราะ โดนเพื่อนล้อ โดนเพื่อนแซว 

แต่อยากจะบอกว่าไอ้ความรู้สึกที่โดนเพื่อนหัวเราะ โดนเพื่อนล้อ โดนเพื่อนแซว ณ ตอนนี้มันจำความรู้สึกอายตอนนั้นไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่มันหลงเหลือที่มันตกผลึกในตัวเราอ่ะ มันคือการกล้าคุยกล้าถามกล้าตอบกล้าซัก พี่เลยว่ามันเป็นความโชคดีของพี่ ที่เพื่อนตอนประถมไม่มีใครกล้า เพื่อนมัธยมไม่มีใครกล้า เพื่อนมหาลัยไม่มีใครกล้า แล้วเราดันไปอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องกล้า มันเลยเป็นสิ่งที่เราได้มาโดยโชคดี

Q: ฝากข้อคิดให้เด็กยุคนี้กล้าออกจาก Comfort Zone กล้าที่จะตั้งคำถาม

A: หน้าแตกให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ยังเด็ก ล้มเหลวให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ยังเด็ก เป็นบทเรียนที่มีคุณค่าที่สุดที่พี่ได้เรียนรู้มา สมมติถ้าให้ย้อนกลับไปแล้วคุยกับตัวเองตอนเด็กๆ จะบอกว่า เอสหน้าแตกให้เยอะที่สุดเลย เพราะว่าสถานการณ์ที่ทำให้เราหน้าแตกหมายความว่าสถานการณ์ที่เราไม่เก่งในสิ่งใดๆ ก็ตาม หรือสถานการณ์ที่เราทำสิ่งนั้นไม่ดี แล้วมันเกิดอาการหน้าแตก แต่ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ล้มเหลวไปเรื่อยๆ แต่ต้องเรียนรู้กับมันนะครับ รอบนี้ล้มเหลวเพราะอะไร เกิดจากอะไร แก้ใหม่ ไม่เป็นไร ทำมันไปเรื่อยๆ ถูกหัวเราะเยาะให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง จุดนั้นจะใช้เวลาเท่าไหร่แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เมื่อถึงจุดนั้นแล้วเราจะขอบคุณตัวเองครับ

Q: ยกตัวอย่างความล้มเหลว ประสบการณ์ที่เคยเจอ ผ่านมาได้ยังไง?

A: พี่เป็นไมเกรนตั้งแต่ตอน 10 ขวบ แล้วก็เป็น Hyperventilation Syndrome ตอนเป็นไมเกรนเนี่ยคุณหมองงมากว่าทำไมเด็ก 10 ขวบเป็นไมเกรน เพิ่งมารู้ตอนเริ่มโตนะครับว่าเราเป็นคนที่อยากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ถูกใจ อยากจะทำให้เขารัก คุณพ่อคุณแม่วางแพลนอะไรมาให้ก็อยากจะทำให้มันได้ ให้มันได้ดีกว่านั้นอีก เราก็เครียดโดยไม่รู้ตัว 

จนอายุ 15 เป็น Hyperventilation คนไทยเรียกโรคมือจีบ ตัวชาทั้งตัว ขยับได้แค่ลูกตา แล้วก็มือจีบอยู่แบบนี้ เป็นตอนวันเกิดเลย 8 เดือน 8 ตอนอายุ 15 ปี ตอนนั้นไปหาหมอ หมอครอบเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดบาลานซ์กัน เพื่อให้กล้ามเนื้อมันคลาย ให้มันหายชา ลองทานยาทุกอย่างครับ ยาแก้ไมเกรนทุกอย่าง ทานจนดื้อยา เลยรู้สึกว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอายุ 25 เส้นเลือดในสมองแตกตายชัวร์ 

ก็เลยเริ่มเข้าหาธรรมะตอนอายุ 15 แต่ก็ยังไม่ใช่ธรรมะที่ถูกทางสักทีเดียว จนมาเจอธรรมะที่ถูกที่ควรจริงๆ ตอนอายุประมาณ 18 ธรรมะของท่านพุทธทาส จากความล้มเหลวตอนนั้นนะครับ ตอนอายุ 10 ขวบ 15 ขวบ แล้วก็ยังมีไมเกรนมาเรื่อยๆ จนมาหายไปโดยไม่รู้ตัวประมาณอายุ 21 จากการที่เราปฏิบัติธรรม เลยมองย้อนกลับไป พี่รู้สึกว่าตรงนั้นมันเป็นจุดดำจุดบอดของชีวิต ช่วงอายุ 10-18 ปีเนี่ย แปดปีนี้โคตรทรมานเลย เป็นหลุมดำของชีวิตที่มันโหดร้ายจริงๆ 

แต่พอเราโตขึ้นมาเข้าใจชีวิตมากขึ้น พี่ดู๋ สัญญาเคยสัมภาษณ์พี่ในรายการที่นี่หมอชิต ถามว่าถ้าให้ย้อนกลับไปในวัยเด็กแก้ได้อย่างหนึ่งในชีวิต อยากจะแก้อะไร พี่จำได้เลยพี่ตอบพี่ดู๋ไปว่า ผมขอเป็นไมเกรนเร็วกว่านั้นครับ ขอเป็นมันสัก 5-6 ขวบเลย เพื่อมันจะได้เจอทุกข์ ให้มันเป็นหลุมดำ ณ ตอนนั้นแล้วมันจะได้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น เราจะได้เป็นคนที่ดีขึ้นในอายุที่มันใช้เวลาน้อยลง อย่างที่บอกถ้ามันเจอความล้มเหลวแล้วเราเรียนรู้กับมัน ไม่ยอมแพ้ พยายามศึกษาและก้าวข้ามมันไป จะทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้น ซึ่งชีวิตพี่เจอเหตุการณ์แบบนั้นมาเยอะ ก็เป็นช่วงที่เป็นหลุมดำแต่ว่าสุดท้ายก็เป็นหลุมดำที่ดี รู้สึกว่ามันให้อะไรเราเช่นกัน

Q: ไม่ใช่เด็กเรียน แต่เป็นนักเรียนรู้ ไม่เชื่อในระบบ Schooling แต่เชื่อใน Education ขยายความหน่อยค่ะ

A: ขอยกคำของ อีลอน มัสก์ ที่บอกว่า Don't confuse schooling with education อย่าสับสนระหว่างการเรียนกับการเรียนรู้ สองสิ่งนี้มันต่างกันลิบเลยนะครับ การเรียนในที่นี้หมายถึงการเรียนในระบบ การเรียนในโรงเรียนในระบบการศึกษาที่เรามีอยู่ ต้องพูดว่ามันไม่ได้สอนให้เราออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมีภูมิคุ้มกันในด้านใดๆ เลย นอกจากสอนให้เราเป็นเป็นพนักงานที่ดีเท่านั้นเลย แต่ว่าการเรียนรู้เนี่ยมันเป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่างเลยในชีวิตเรา 

อย่างที่เราเห็นที่เราทราบกัน คนที่ประสบความสำเร็จในโลกนี้ ในประเทศนี้หลายๆ คนไม่ได้สำเร็จการศึกษาที่สูงเลยในระบอบการศึกษาปกติ แต่เขาเรียนรู้กับชีวิตของเขา เรียนรู้จากความผิดพลาดทางธุรกิจ เรียนรู้จากความยากลำบากในชีวิต  และสิ่งเหล่านี้มันมีค่ามากๆ ที่จะทำให้คนคนนึงสามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตได้ 

พี่อยากเน้นย้ำคำว่าความสุข มากกว่าคำว่าประสบความสำเร็จ การที่เราจะมีความสุขได้เราต้องเป็นคนที่เรียนรู้ชีวิตเป็น การเรียนไม่ได้ทำให้เรามีความสุขได้ คนเราติดกับดักความทุกข์ตรงนี้แหละครับ  เราคิดว่าเรียนสูงๆ ไป จบมามีงานทำ มีเงิน มีบ้าน มีครอบครัว มีลูก มีรถ และมีความสุข โจทย์วันนี้มันตั้งผิดหมดเลย เราควรต้องตั้งความสุขก่อน แล้วระหว่างทางเราค่อยทำสิ่งเหล่านั้น อย่างที่บอกไปโจทย์ที่ถูกตั้งมาแล้วนั้นมีสักกี่คนที่ทำตามโจทย์นั้นได้ ไม่อย่างนั้นประชากรความยากจนประเทศไทยคงไม่สูงขนาดนี้ 

แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย ทุกประเทศในโลก อเมริกาเองก็ดีครับ ซึ่งคนที่คิดค้นระบบการศึกษาเนี่ยคือ ร็อคกี้ เฟลเลอร์ ถ้าทุกวันนี้ยังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะรวยที่สุดในโลก เขาเป็นคนที่คิดค้นระบบการศึกษาขึ้นมา ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ต้องบอกว่าตอนนั้นที่เขาคิดขึ้นมาเนี่ย จะบอกว่าเขาผิดก็ไม่ใช่ ซึ่งเขาเป็นคนพูดเองนะว่าเขาคิดค้นมาเพื่อต้องการพนักงานที่ดี เขาไม่ได้ต้องการนักคิด เขาไม่ต้องการ thinker เขาต้องการ worker เขาต้องการคนมาทำงานในโรงงานของเขา เขาก็เลยตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อสอนคนให้มาเป็นพนักงานในโรงงานเขา สอนคนให้มันเป็นพนักงานบริษัทเขา นี่คือจุดประสงค์ของระบบของการเรียนในโรงเรียน ซึ่งเราใช้กันมาเป็นหลายร้อยปีแล้วไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลงเลย มันเลยทำให้พี่ไม่เชื่อในระบอบการศึกษาในระบบเลยครับ

Q: วันนี้มีลูกแล้ว วางแผนโรงเรียนแบบไหนให้ลูก มองเห็นปัญหาระบบการศึกษาไทยเป็นอย่างไร?

A: ก่อนลูกคลอดคุยกับภรรยาว่าอยากให้คุณลูกสาวเรียนที่เยอรมัน เพราะที่นั่นระบบการศึกษาเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกอิสระมากๆ เลยครับ ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนถึงการศึกษาระดับ ม.ปลายเลย เราก็อยากให้เขาเรียนที่นั่น แต่คุณภรรยาบอกว่าอยากอยู่เมืองไทย เพราะถ้าลูกเรียนที่นู่นมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เขาต้องไปอยู่กับลูก เขาอยากใช้ชีวิตที่เมืองไทย พี่ก็โอเค ถ้าอย่างนั้นก็มาเมืองไทยแล้วลองมาดูซิว่าในเมืองไทยเรามีช้อยส์ มี option อะไรบ้าง ณ ตอนนี้ก็ต้องเรียนตามตรงว่าก็ยังไม่เจอ option ที่ชอบเลย 

สรุปง่ายๆ คือต้องเป็นโรงเรียนที่สอนให้เด็กมีต้นทุนความรู้ คุณครูต้องมีหน้าที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ปัญหาของระบบการศึกษาเรา School สอนเด็กว่า What to think แต่ Education หรือการเรียนรู้เนี่ยสอนว่า How to think ต่างกันลิบ ซึ่งสำคัญมาก โรงเรียนทุกวันนี้ยัดเยียดกรอบความคิดให้เด็ก สอนว่าต้องคิดยังไง แต่ว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องสอนเด็กว่าคิดอย่างไร เราทำอย่างไรถึงจะมีความคิดนี้ออกมาได้ เราจะเห็นว่าทำไมประเทศในโซนตะวันตกถึงมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำไมถึงมีสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะเขาสอนให้เด็กคิดแก้ปัญหา เขาไม่ยัดเยียดความคิด แต่ระบบการศึกษาเราสอนว่า What to think ต้องคิดอย่างนี้ มันคือแบบนี้ หนังสือสอนแบบนี้ แต่สิ่งที่เราต้องสอนคือ How to think และสร้างแรงบันดาลใจให้เขาไปคิดเองครับ

Q: มองเรื่องการศึกษาในโลกอนาคตอย่างไร?

A: ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะดูริบหรี่ แต่พี่เชื่อว่าโลกในอนาคตอันใกล้นี้ การศึกษาจะต้องเป็นการสอนให้เด็กมีเป้าหมาย สอนเพื่อไปถึงเป้าหมายของเด็กเลย การศึกษาต้องเป็นเฉพาะทาง 

แล้วพี่เชื่อว่าอันนี้สำคัญมาก ไม่ว่าลูกของพี่ หรือเด็กเยาวชนในอนาคตจะเลือกเรียนสายไหนหรืออยากเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่เขาต้องเรียนและมีความรู้คือ ความรู้ทางด้านการเงิน สำคัญมากๆ financial knowledge สำคัญมาก เพราะไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร เป็นผู้ประกอบการหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่มีความรู้ด้านการเงิน คุณจะจัดการกับเงินที่คุณหามาไม่ได้ แล้วคุณก็จะไม่สามารถรักษาเงินของคุณเพื่อสร้างความมั่งคั่งเพื่อไปส่งต่อให้อีก Generation หนึ่ง เพราะแค่รักษาไว้ใน Generation แค่คุณคนเดียว คุณยังทำยากเลย 

ในระบบการเรียนของเราไม่ได้สอนเรื่องนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทย แทบทุกประเทศไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องเริ่มมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นสิ่งควบคู่กันไป สอนให้เด็กถึงเป้าหมายบวกกับความรู้ทางด้านการเงินครับ

Q: วางแผนชีวิตต่อจากนี้เป็นอย่างไรต่อไป?

A: ยังสนุกกับการทำงานในวงการบันเทิง แต่ว่าจะไปในสเต็ปไหนต่อ จะในฐานะนักแสดง หรือในฐานะไหนเนี่ยก็ต้องดูกันต่อไป แต่ในวงการบันเทิงยังไงก็ยังไม่ทิ้งแน่นอนครับ

Q: ฝากข้อคิดสำหรับน้องๆ หรือใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นเป็นนักเรียนรู้แบบเอส กันตพงศ์

A: ก็อยากจะฝากกับทุกๆ คนเลยนะครับว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่การเรียน แต่คือการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเลยนะครับ แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอยู่ในระบบการศึกษา เราถึงจะเรียนรู้ได้ วันนี้เรามีโอกาสหรือไม่มีโอกาสในการเรียนในระดับการศึกษาก็แล้วแต่ ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้สำคัญเลย แต่เราต้องห้ามหยุดเรียนครับ เรียนในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงการอ่านหนังสือ หรือทางวิชาการ เรียนรู้จากความผิดพลาดในชีวิตก็เป็นครูที่สำคัญมากๆ 

เรียนรู้จากเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น การอกหัก การถูกปฏิเสธ เราลองมาเรียนรู้ว่าอารมณ์ตรงนั้นที่มันเกิดขึ้นกับเราเวลาเราถูกปฏิเสธ เวลาอกหัก เรามีวิธีจัดการกับอารมณ์ตรงนี้ยังไง แล้วเราชอบไหมในสิ่งที่เราจัดการมันอยู่ ถ้ารู้สึกว่าเราทำมันได้ไม่ดีพอ ทำยังไงมันถึงจะดีขึ้น แล้วถ้าเราทำแบบนี้ ถามตัวเองแบบนี้เรื่อยๆ ตลอดเวลา เราก็จะเป็นคนที่พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ 

ที่สำคัญอย่ากลัวที่จะล้มเหลว อย่ากลัวที่จะถูกหัวเราะเยาะ ผมอยากจะสนับสนุนให้ทุกคนล้มเหลวให้ได้มากที่สุด ให้ได้เยอะที่สุด ตั้งแต่อายุน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าคุณล้มเหลวแล้ว และคุณเรียนรู้กับมัน เราจะเป็นคนที่เก่งขึ้น และเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วันแน่นอนครับ
.

.

.

.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top