Sunday, 5 May 2024
BEM

BEM แจงปม รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไร้ทุจริต ยัน!! เข้าร่วมประมูลถูกต้องตามกฎหมาย

(26 ก.พ.66) จากกรณีมีการให้ข้อมูลปรากฏเป็นข่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่อว่ามีการทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) นั้น บริษัทขอชี้แจงว่า BEM เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจโดยสุจริต โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

และในการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งบริษัทเป็นผู้ชนะการคัดเลือกและอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

‘รถไฟฟ้าสายสีเหลือง’ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายแรกของไทย ลดต้นทุนด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ เปิดให้บริการฟรี 1 เดือน!!

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 66 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ ในหัวข้อ “ว้าววว...รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โมโนเรลสายแรกของไทย” ระบุว่า…

น่าดีใจที่วันนี้ (3 มิ.ย. 66) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีเป็นเวลา 1 เดือน หลายคนสงสัยว่าทำไมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองต้องเป็นโมโนเรล ?

1.) ทำไมต้องเป็นโมโนเรล ?
โมโนเรล (Monorail) คือรถไฟฟ้า แต่เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งคร่อมรางโดยใช้รางเดี่ยว หรืออาจจะแขวนห้อยอยู่ใต้รางก็ได้ แต่ที่นิยมใช้กันมากก็คือ แบบคร่อมราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้กำหนดว่า โครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางใด ควรใช้รถไฟฟ้าประเภทไหน โดยพิจารณาจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร หากเส้นทางใดคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาก สนข. ก็จะใช้รถไฟฟ้าขนาดหนัก ซึ่งมีความจุมากกว่า ดังเช่น รถไฟฟ้า BTS หรือ รถไฟฟ้า MRT เป็นต้น

สำหรับสายสีเหลือง สนข. คาดว่าจะมีผู้โดยสารไม่มากจึงเลือกใช้โมโนเรล ซึ่งมีความจุน้อยกว่า หากเลือกใช้รถไฟฟ้าขนาดหนักก็จะเป็นการลงทุนเกินความจำเป็น สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ โดยทั่วไปวงเงินลงทุนโมโนเรลจะถูกกว่ารถไฟฟ้าขนาดหนักประมาณ 40%

2.) ถึงวันนี้รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีกี่ประเภท?
มี 3 ประเภท ได้แก่

(1) รถไฟฟ้าขนาดหนัก มี 5 สาย ประกอบด้วย สายสีเขียว สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตลิงก์ สีม่วง และสีแดง

(2) รถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) มี 1 สาย คือ สายสีทอง APM เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนพื้นคอนกรีตโดยมีรางเหล็กวางอยู่ตรงกลางระหว่างล้อซ้ายขวาเพื่อช่วยนำทาง เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก APM เป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มาก โดยเฉพาะในสนามบินเพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินไปมาระหว่างเทอร์มินัลกับเทอร์มินัล หรือระหว่างเทอร์มินัลกับอาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารรอขึ้นเครื่องบิน) ดังเช่นที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อขนผู้โดยสารเครื่องบินระหว่างเทอร์มินัล 1 กับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

(3) โมโนเรล มี 2 สาย ประกอบด้วยสายสีเหลือง และสายสีชมพู (ยังไม่เปิดให้บริการ) เป็นรถไฟฟ้าไม่ใช้คนขับเช่นเดียวกับ APM ใช้ล้อยางวิ่งบนรางคอนกรีต (หรือรางเหล็ก) เพียงรางเดียว เลี้ยววงแคบและไต่ทางลาดชันได้ดี กินพื้นที่น้อยเนื่องจากใช้โครงสร้างขนาดเล็ก โมโนเรลเป็นที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่มีผู้โดยสารไม่มากเช่นเดียวกัน แต่มักนิยมใช้ขนผู้โดยสารไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าขนาดหนักที่สามารถขนผู้โดยสารได้มากกว่า พูดได้ว่าใช้โมโนเรลสำหรับรถไฟฟ้าสายรองเพื่อขนผู้โดยสารไปป้อนให้รถไฟฟ้าสายหลัก ดังเช่นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองซึ่งเป็นโมโนเรลที่ขนผู้โดยสารริมถนนลาดพร้าวไปป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT) ที่สถานีลาดพร้าว

3.) ใครเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง?
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร่วมกับพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล โดยชนะ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เนื่องจาก BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. (เงินสนับสนุนจาก รฟม. ลบด้วย เงินตอบแทนให้ รฟม.) โดย BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 22,087.06 ล้านบาท ในขณะที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 157,721.81 ล้านบาท หรือ BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. ต่ำกว่า BEM มากถึง 135,634.75 ล้านบาท BTSC จึงคว้าชัยชนะไป โดย BTSC ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเดินรถเป็นเวลา 30 ปี

4.) ถ้าโมโนเรลเสีย ผู้โดยสารต้องทำอย่างไร?
ในกรณีฉุกเฉิน ผู้โดยสารจะต้องลงจากโมโนเรลไปที่ทางเดินระหว่างรางทั้งสอง (รางขาไปและขากลับ) ทางเดินเป็นตะแกรงเหล็กกัลวาไนซ์เพื่อให้ผู้โดยสารเดินไปสู่สถานีที่ใกล้ที่สุด ความสูงจากพื้นโมโนเรลถึงทางเดินเกือบ 2 เมตร ดังนั้น จะต้องลงทางบันไดที่พาดจากประตูโมโนเรลไปที่ทางเดิน บันไดดังกล่าวจะถูกเก็บไว้บนรถและบนทางเดินตลอดทาง ส่วนผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์จะต้องช่วยกันอุ้มลงมาที่ทางเดินแล้วเข็นไปที่สถานี

5.) สรุปและข้อเสนอแนะ
(1) โมโนเรลไม่ใช้คนขับ แต่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาด หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ (Human Error) ได้ ทำให้มีความปลอดภัยสูง แต่การไม่ใช้คนขับทำให้ต้องลงทุนงานระบบควบคุมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการประกอบการเดินรถถูกลง

(2) โมโนเรลใช้ล้อยาง ไม่ใช่ล้อเหล็ก เพื่อลดเสียงดังและการสั่นสะเทือนที่สร้างความรำคาญต่อผู้อยู่อาศัยริมทาง มีความนุ่มนวลในการขับขี่ดีกว่า และช่วยให้สามารถเร่งความเร็วหรือเบรกได้อย่างรวดเร็วในระยะทางสั้นๆ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าสามารถวิ่งต่อเนื่องใกล้ๆ กันได้

(3) เพื่ออำนวยความสะดวก ประหยัดเวลา และลดค่าเดินทางให้ผู้โดยสาร รฟม. ควรพิจารณาต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากสถานีลาดพร้าว บริเวณทางแยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งบนถนนรัชดาภิเษกไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวได้แบบไร้รอยต่อ เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็วขึ้น

‘สสส.’ ผนึกกำลัง ’BEM-BMN’ ชวนผู้โดยสาร MRT สำรวจ 'อุโมงค์ปอด' หวังกระตุ้นสังคม ‘หยุดสูบ-ลดเสี่ยง’ จากต้นเหตุมะเร็งปอด ที่คร่าชีวิตคนไทย

(19 ก.ย. 66) ณ สถานีรถไฟฟ้า MRT ลุมพินี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วง บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาและพื้นที่จัดกิจกรรมในระบบรถไฟฟ้า สื่อสารสุขต่อยอดโครงการ ’MRT Healthy Station’ ความร่วมมือนี้เป็นจุดที่ 5 ของความร่วมมือในการสร้างสังคมสุขภาวะ ด้วยการเปิดตัว ’อุโมงค์ปอด’ Lung Tunnel เพื่อกระตุ้นสังคมให้รับรู้ว่า แค่คุณหยุดสูบ ปอดฟื้นฟูได้ ลดเสี่ยงการเสียชีวิต ชวนผู้โดยสารทีใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เดินเข้าสู่สถานีลุมพินี เสมือนการเดินสู่อวัยวะปอด ผ่านระยะทางความยาวของอุโมงค์และพื้นที่สื่อ กว่า 100 เมตร ทั้งลายเส้นกราฟิกภาพภายในปอด พร้อมกับเทคโนโลยี AR ที่จะพาคุณไปรู้จักผลกระทบและตัวช่วยเลิกบุหรี่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่ลดลง จากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี สสส. สนับสนุนทั้งการผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบ พัฒนาองค์ความรู้วิชาการ และรณรงค์สื่อสารสังคม มองถึงแนวทางการสื่อสารที่สกัดกั้นไม่ให้คนไทย ก้าวเข้าสู่วงจรการทำร้ายสุขภาพ ได้ต่อยอดโครงการ ’MRT Healthy Station’ สร้างพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาวะสำหรับคนเมือง กระตุ้นให้สังคมตระหนักรู้ ถึงประโยชน์การดูแลสุขภาพ จุดประกายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปอด การสัมผัส หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม ยังเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน เพราะปอดเป็นด่านแรกที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น ๆ สสส.จึงเชิญชวนสำรวจ อุโมงค์ปอด Lung Tunnel หยุดสูบ ลดเสี่ยง เพลิดเพลินไปกับลายเส้นกราฟิกบนทางเดินและสื่อโดยรอบ กว่า 100 เมตร  ให้ทีละก้าว เป็นก้าวแห่งการตื่นรู้ ปอดคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณเลิกสูบบุหรี่ เพียงแค่ 20 นาที ที่คุณเลิกสูบ ความดันโลหิตลดลง  2-12 สัปดาห์ เหนื่อยน้อยลง เพราะสมรรถภาพปอดเริ่มฟื้นตัว หากเดินถึงปลายอุโมงค์ จะค้นพบว่าแท้จริงแล้วร่างกาย และปอดสามารถฟื้นฟู แค่เลิกสูบบุหรี่ เท่ากับลดเสี่ยง” ดร.สุปรีดา กล่าว

นางวัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า ภายใต้ธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการด้านการคมนาคมของ BEM  ยังมีการเปิดพื้นที่สาธารณะภายในสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างสูงสุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านคุณภาพชีวิตที่ดี และการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง BEM สสส. และ BMN ในโครงการนี้ จึงเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นขององค์กรอย่างแท้จริง พร้อมร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกคน ได้ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันด้วยความรับผิดชอบ เพื่อให้สังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

นาย วิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ BMN  กล่าวว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมของตัวเราที่คอยทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว ความร่วมมือระหว่าง BEM BMN และ สสส. ในครั้งนี้ จะสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบน่าประทับใจ ด้วยเส้นทางแห่งความสุขที่จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ตระหนักรู้ถึงผลเสีย และเข้าใจถึงผลดีของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สู่การมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม การสื่อสารโครงการนี้ ได้ใช้พื้นที่สื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า MRT ลุมพินี ทางออกที่ 2-3 ซึ่งเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น เป็นพื้นที่หลักในการสื่อสารโครงการ สำหรับ สถานีลุมพินีถือเป็นแหล่งรวมของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ และเป็นตำแหน่งที่มีผู้คนสัญจรผ่านเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าใครที่ได้เดินทาง และสำรวจอุโมงค์ปอดจนถึงทางออกปลายอุโมงค์ จะได้พบกับแรงบันดาลใจนำไปสู่การตัดสินใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่กับสุขภาพที่ดีกว่าเดิม เพียงแค่เลิกบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า สื่อในพื้นที่สาธารณะเป็นสื่อที่คนเข้าถึงได้ทุกวัน มีมูลค่าทางการตลาดสูง สร้างการรับรู้กับสังคมได้เป็นอย่างดี สสส. BMN และ BEM มีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ การทำสื่อเพื่อสังคม เป็นหัวใจสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สื่อสาธารณะ สามารถส่งสาร ข้อมูล ให้ประชาชนที่สัญจรไปมา หันมาดูแลสุขภาพได้ สสส. จึงได้รับการสนับสนุนพื้นที่ภายในอุโมงค์ และพื้นที่สื่อโดยรอบความยาวกว่า 100 เมตร ถูกออกแบบผ่านการเล่าเรื่องของปอด จากปอดปกติเมื่อสูบบุหรี่แล้ว จะค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  สสส. ได้เปลี่ยนข้อมูลวิชาการสู่เรื่องราวสนุก ๆ ให้ทุกคนได้รับสื่อ และประสบการณ์ร่วม ที่จะทำให้ฉุกคิด เตือนสติ โดยร่วมกันพัฒนาชิ้นงานอุโมงค์ปอดกว่า 9 เดือน  นอกจากนี้ได้รับความร่วมมือสร้างสรรค์ไอเดียการออกแบบ และวาดลายเส้นอุโมงค์ปอดยักษ์จากภาคเอกชนอีกด้วย  เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า การดูแลสุขภาพร่างกายเริ่มต้นได้ทันที ไม่ต้องรอ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top