Monday, 20 May 2024
AOT

‘แรงงาน’ เนื้อเต้น ‘รมว.เฮ้ง’ จับมือ AOT เปิดพื้นที่หางาน จัดตลาดนัดแรงงานที่สุวรรณภูมิ ร่วม 1,500 อัตรา

(8 พ.ย. 65) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 คลี่คลาย แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ประชาชนมีงานทำมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างทยอยเพิ่มการจ้างงานให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ผลักดันนโยบายรักษาการจ้างงานตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในส่วนกระทรวงแรงงานขานรับข้อสั่งการเดินหน้าส่งเสริมการมีงานทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นการให้บริการจัดหางานออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม 'ไทยมีงานทำ' เพื่อคนหางานยุคใหม่เข้าถึงได้ทุกเวลา ควบคู่กับการลงพื้นที่บูรณาการร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงตำแหน่งงานแก่ประชาชนทุกพื้นที่ ล่าสุดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (AOT) มีกำหนดจัดงาน 'ตลาดนัดแรงงาน' ณ ศูนย์การขนส่งสาธารณะ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระหว่างวันที่ 9 -11 พฤศจิกายน 2565 กรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ จึงได้เตรียมกิจกรรมตามภารกิจเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่มาร่วมงานด้วย

“การจัดตลาดนัดแรงงาน ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสมัครงาน คนหางานได้คัดเลือกตำแหน่งงานว่างที่ตรงกับความรู้ความสามารถ โดยสามารถสมัครงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการจำนวนมากในคราวเดียว ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดี ที่นายจ้าง/สถานประกอบการและผู้สมัครงานจะได้พบและพิจารณาคัดเลือกกันโดยตรง ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเชื่อว่ากิจกรรมของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์แก่คนที่กำลังมองหางาน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

'ชาวสนามบินเชียงใหม่' ร่วมใจ เพื่อจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว

บุคลากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมใจฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว” ระดมบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ทุกภาคส่วน เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว

วันที่ 24 มกราคม 2566 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการ “ชาวสนามบินเชียงใหม่ร่วมใจ เพื่อจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว” ในกิจกรรมรณรงค์ “จังหวัดเชียงใหม่ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น บุคลากรภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป” โดยมีนายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ และมีนายนิมิตร อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวรายงาน ณ อาคารอเนกประสงค์ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 

โดยหน่วยฉีดวัคซีนโควิด-19 เคลื่อนที่ โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ตั้งหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2566  เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว  ซึ่งบุคลากรของท่าอากาศยานเชียงใหม่ นับเป็นด่านหน้าในการรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ ต่างพร้อมใจกันทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกันอย่างต่อเนื่อง 

โครงการ “ชาวสนามบินเชียงใหม่ร่วมใจ เพื่อจังหวัดเชียงใหม่ เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยว” เป็นโครงการที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ริเริ่มดำเนินการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ “จังหวัดเชียงใหม่ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น บุคลากรภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป” โดยได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกจ้าง บริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการ ส่วนราชการ พนักงานจัดจ้างภายนอก พนักงานขับรถ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ปฏิบัติงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้โดยสาร ให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยได้รับการสนับสนุนวัคซีนเข็มกระตุ้นจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลนครพิงค์มาให้บริการฉีดวัคซีน ณ อาคารอเนกประสงค์ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 24-25 มกราคม 2566  

AOT เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมี พลอากาศเอก ภานุพงศ์ เสยยงคะ กรรมการ AOT เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ พร้อมด้วยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT รวมถึงผู้บริหาร AOT ผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้พันธมิตรเครือข่ายทางการบิน และการท่องเที่ยวจากทั่วโลกร่วมงานประชุมฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่) จังหวัดเชียงใหม่

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จํานวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ลดลงจาก 142 ล้านคนในปี 2561 เหลือเพียง 72 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วระหว่างปี 2563 - 2565 ปริมาณผู้โดยสารลดลงในอัตราร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารรวมในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 การเดินทางของผู้โดยสารมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากการที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ รวมถึงปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลอดจนสายการบินกลับมาทำการบินในเส้นทางบินเดิม และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการบินและธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถฟื้นตัวและดำเนินกิจการได้ดีขึ้น ดังนั้น การจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ซึ่งเป็นงานประชุมเจรจาธุรกิจด้านการบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จะเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างท่าอากาศยาน สายการบิน หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในธุรกิจการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จำนวนกว่า 800 ราย ได้มีโอกาสพบปะ เจรจา แลกเปลี่ยนมุมมอง และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) อันจะนำไปสู่การปรับปรุงเครือข่ายทางการบินและการดำเนินธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาการบริการในอนาคตที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ งานประชุมฯ ยังเป็นการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางการบิน (Route Networks) และการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ซึ่งจะส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน การแสดงความเชื่อมโยงของระบบขนส่ง การแสดงความพร้อมในการรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า AOT ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นประตูสู่ประเทศไทย มีความยินดีที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเจรจาธุรกิจ The Route Development Forum for Asia 2023 ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศไทยสู่ระดับสากลให้แก่นานาประเทศ โดยมุ่งหวังสร้างเครือข่ายทางการบิน และการท่องเที่ยว ตลอดจนการทำการตลาดเชิงรุกด้วยการเจรจาธุรกิจให้สายการบินสนใจเปิดเส้นทางการบินใหม่ หรือ
 
เพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่ทำการบินอยู่เดิม ณ สนามบินทั้ง 6 แห่งของ AOT รวมทั้งเจรจาธุรกิจร่วมกับสนามบินเป้าหมาย (City Pair) โดยมุ่งเน้นสนามบินที่มีศักยภาพในการรองรับสายการบินใหม่ และเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เพื่อส่งเสริมตลาดด้านการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งสร้างและกระตุ้นรายได้ให้ AOT ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19

'บิ๊กตู่' ปลื้ม!! ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวเร็ว หลังยอดเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 105%

(24 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่เปิดเผยถึงปริมาณการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ AOT มีจำนวนเที่ยวบินรวม 150,378 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 105.04%

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 66,829 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 83,549 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมด 23.01 ล้านคน เพิ่มขึ้น 232.93% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 10.98 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 12.03 ล้านคน

AOT จ่อใช้ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง ยกระดับการบิน ไม่ต้องโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรปชช.’

AOT เตรียมใช้การสแกนใบหน้า แทนโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรประชาชน’ ยกระดับด้านบริการ นำร่องเปิดใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง ภายในปี 2567

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า AOT อยู่ในระหว่างผลักดันและพัฒนาระบบ Biomatic เข้ามาใช้ในท่าอากาศยาน โดยจะมีระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร หลังผู้โดยสารเช็กอินผ่านเคาน์เตอร์, ผ่านระบบมือถือ หรือเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ 

หลังจากนั้นระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารมาสร้างเป็นข้อมูล One ID เก็บไว้ ส่งผลให้ผู้โดยสารสามารถเข้าใช้บริการจุดต่าง ๆ ภายในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น จุดตรวจค้นสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนคู่กับ boarding passอีกต่อไป

ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID

เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน

โดยระบบ biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567

‘นายกฯ เศรษฐา’ หนุนสร้าง ‘สนามบินเชียงใหม่’ 7 หมื่นล้าน เล็งเพิ่มเที่ยวบินรอบดึก รองรับ นทท.-ลดความแออัดสนามบิน

(17 ก.ย. 66) ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะผู้บริหารการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เพื่อร่วมพูดคุยประเด็นการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี รับฟังการดำเนินการเตรียมการรองรับการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยานเชียงใหม่ เช่น การพัฒนาปรับอาคารผู้โดยสารเดิม การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ (แต่อยู่ในพื้นที่เดิม) รวมถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ในการแก้ปัญหา capacity หรือความแออัดของผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่ปัจจุบันที่แม้จะมีการพัฒนาปรับปรุงสนามบินเพื่อรองรับผู้โดยสารแล้ว แต่เพื่อให้มีประสิทธิภาพรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นตามเป้าหมายคือ 20 ล้านคนต่อปี จึงต้องมีการก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ขึ้น ส่วนการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนนั้น ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า  AOT นอกจากดูแลเรื่อง EIA และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แล้วก็ให้ดูแลเยียวยาประชาชน ลดผลกระทบด้านเสียงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงเยียวยาจิตใจด้วย พร้อมสอบถามถึงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี จะเกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับสนามบินปัจจุบันที่ผลกำไรอยู่ที่ 2 พันล้านบาทต่อปี ซึ่ง AOT รายงานว่าเมื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่แล้วเสร็จจะสามารถมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 ล้านคนต่อปี ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ ในส่วนของระยะเวลาดำเนินการ 7 ปีนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และขอเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อรองรับผู้โดยสารได้ตามเป้าหมาย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น ขอให้ AOT และ ตม. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเกิดความประทับใจและมีความปลอดภัย ขณะเดียวกันหากมีประเด็นการนำเสนอข้อที่เป็นไปในทิศทางอ่อนไหวและไม่ถูกต้อง ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจง ทำความเข้าใจกับสังคมผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย หรือการใช้ Influencer ต่าง ๆ เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่งก็ได้ ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น

'กรมพัฒนาธุรกิจฯ' เปิดโพย 10 สินค้าสุดปัง ที่ นทท.แห่ซื้อ 'มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด-ผ้าห่มผ้าฝ้าย' มาแรง!!

(18 ก.ย. 66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2565 กรมได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนจำนวน 2,375 รายการ จากผู้ประกอบการสินค้าชุมชน 112 ราย เข้าไปวางจำหน่าย ณ สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ภูเก็ต และดอนเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อกลับไปเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือใช้เอง

โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนพื้นที่ และบริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด ผู้บริหารจัดการร้านค้าในสนามบิน สามารถสร้างยอดขายรวมมากกว่า 630 ล้านบาท แบ่งเป็น สุวรรณภูมิ 490 ล้านบาท ภูเก็ต 119 ล้านบาท และดอนเมือง 21 ล้านบาท และนอกจากช่องทางการขายในสนามบินแล้ว ยังคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.kingpower.com ได้รวมกว่า 4 ล้านบาทด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มะขามหวานอบแห้งแกะเมล็ด ผ้าห่มผ้าฝ้าย น้ำมันเหลือง กรอบรูปไม้สัก กระโปรงปักเลื่อม น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ยาหม่องเขียว ผ้าไหมคลุมไหล่ แชมพูสมุนไพร (มะกรูด) และก้านไม้หอมระเหย ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมผลิตภัณฑ์ไทยที่ไม่เพียงแค่งดงาม แต่แสดงถึงอัตลักษณ์โดดเด่นที่มีคุณภาพและรสนิยม

“กรมพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนให้มีโอกาสด้านการตลาดที่หลากหลาย โดยช่องทางการจำหน่ายในท่าอากาศยานเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กรมและหน่วยงานพันธมิตรได้ร่วมกันคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นตามหลักการ DBD SMART Local ให้มีโอกาสขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการชุมชนก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศให้มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นายทศพลกล่าว

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีเป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนตามแนวทาง DBD SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า นำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีจุดเด่นและความแตกต่าง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชน DBD SMART Local ที่มีภาพลักษณ์ที่ดี และความพร้อมทางการตลาดให้มีโอกาสได้จำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ สนามบินนานาชาติ และช่องทางออนไลน์

‘สุวรรณภูมิ’ แจง หลังผู้โดยสารชาวต่างชาติแอบนำสัตว์ขึ้นเครื่องบิน เผย จนท.ละเลยหน้าที่-สั่งพักงานทันที ยัน!! ระบบตรวจค้นได้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 66 ‘ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ชี้แจง กรณีมีผู้โดยสารลักลอบนำสัตว์ขึ้นเครื่องบินไปยังไต้หวัน โดยระบุว่า…

“ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีมีผู้โดยสารลักลอบนำสัตว์ขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ท ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 เวลา 15.32 น. ปลายทางท่าอากาศยานไต้หวันเถาหยวนนั้น

ทสภ. ได้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานตรวจค้น บริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด (บรท.) ซึ่งเป็นบริษัทจัดจ้างของ ทสภ. ตามสัญญางานจ้างบริการรักษาความปลอดภัย ผ่านระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ย้อนหลัง พบว่าผู้โดยสารที่นำสัตว์ขึ้นเครื่องดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย ซึ่งได้มีการนำกระเป๋าผ่านเครื่อง X-Ray บริเวณจุดตรวจค้นในเวลาประมาณ 13.45 น. โดยพนักงานวิเคราะห์ภาพเกิดข้อสงสัยจึงส่งกระเป๋าให้พนักงานอีกคนหนึ่งทำการเปิดกระเป๋า เพื่อพิสูจน์ทราบว่าสิ่งที่สงสัยนั้นเป็นวัตถุอันตราย หรือวัตถุต้องห้ามหรือไม่ แต่พนักงานคนดังกล่าวมิได้ทำการเปิดตรวจกระเป๋า และอนุญาตให้ผู้โดยสารผ่านจุดตรวจค้นเดินทางขึ้นเครื่องบินต่อไป

ทสภ. ขอเน้นย้ำว่า ระบบเทคโนโลยีที่นำมาใช้ภายในจุดตรวจค้นของ ทสภ. สามารถทำงานได้ตามมาตรฐาน และขั้นตอนการตรวจสอบวัตถุต้องห้ามที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่กรณีนี้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของพนักงานเปิดตรวจสอบกระเป๋า ที่ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ โดย ทสภ. มีคำสั่งให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหยุดปฏิบัติงานทันที และหากผลการสอบสวนพบว่า เป็นการละเลยขั้นตอนการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน จะต้องถูกดำเนินการลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ทสภ. ขอย้ำเตือนผู้เดินทางทั้งชาวไทยและต่างชาติทุกท่าน ไม่กระทำผิดกฎหมายโดยการลักลอบนำสัตว์ หรือ ซากสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตขึ้นเครื่องเข้า-ออกนอกประเทศ หากประสงค์จะนำสัตว์เลี้ยงเดินทาง ขอให้ทำการขออนุญาตให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายทั้งกฎหมายไทยและต่างประเทศ ที่ต้องรับโทษทั้งปรับและจำคุก”

‘AOT’ เปิดงบรวมปี 66 โชว์ผลกำไร 8,790 ล้านบาท โต 179% อานิสงส์ธุรกิจการบิน-ฟรีวีซ่าช่วยหนุนแรง

(21 พ.ย. 66) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เผย งบรวมปี 2566 พลิกทำกำไรสุทธิ 8,790 ล้านบาท เติบโต 179.28% จากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 11,088 ล้านบาท แรงหนุนจากธุรกิจการบินที่ทำรายได้ 22,266 ล้านบาท โตทะลุ 205%

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และบริษัทย่อย รายงานงบการเงินรวมงวดปี 2566 (สิ้นสุด 30 ก.ย.66) มีกำไรสุทธิ 8,790.87ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.28% กำไรต่อหุ้น 0.62 บาทต่อหุ้น  เทียบกับงวดปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ -11,087.86 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.78 บาท

โดยงบรวมงวดปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการอยู่ที่ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,580.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 190.71% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 16,560.02 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

- รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่ม 14,975.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205.43%เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร
- รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่ม 16,605.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 179.13%
- รายได้อื่น 304.58 ล้านบาท ลดลง 1,027.26 ล้านบาท หรือลดลง 77.13%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 5,422.70 ล้านบาท หรือเพิ่ม 18.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นลดลง รวมทั้งต้นทุนทางการเงินลดลง 39.31 ล้านบาทหรือลดลง 1.34% สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5,122.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.40% สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

‘AOT’ นำร่อง ‘TAXI EV’ พร้อมสถานีชาร์จ ให้บริการผู้โดยสาร ขานรับนโยบายคมนาคม มุ่งสู่ Green Airport แห่งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ 1 คันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ตันต่อปี ซึ่งในประเทศไทยมีรถยนต์มากกว่า 10 ล้านคัน ในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มุ่งสนองนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

AOT จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งขับเคลื่อน ทสภ.สู่การเป็นต้นแบบ ‘Green Airport’ หรือ ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการ ณ ทสภ.ให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ได้ จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ (EV Taxi) นั้น ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงแรก AOT ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายโดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ทสภ. สำหรับรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มีความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมุ่งสู่การเป็น ‘ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘Green Airport’ เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างมั่นคง และยั่งยืน

สำหรับบริษัทพันธมิตรที่นำแท็กซี่อีวีมาให้บริการ คือ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด ส่วนสถานีชาร์จเป็นของค่าย EAANYWHERE ในเครือ EA


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top