Monday, 20 May 2024
45ปี6ตุลา

'ปิยบุตร' ถามหากองหนุน วอนอย่าให้เด็กสู้ลำพัง หวั่นซ้ำรอย 45 ปีก่อน ที่นักศึกษาถูกบดขยี้จนหายวับ

6 ต.ค. 64 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงการร่วมเสวนาหัวข้อ “45 ปี มาตรา 112” ส่วนหนึ่งของกิจกรรมครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ ทาง Clubhouse เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่กล่าวตอนหนึ่งว่ามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา แต่คือภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลายคนที่เที่ยวไปแจ้งความคนอื่นทั้งที่ตนเองไม่ได้โดนดูหมิ่น ไม่ได้เสียหายเอง นั่นเพราะสำหรับพวกเขามองว่าคือการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดูหมิ่นความเชื่อถือ (Blasphemy)

ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ การแก้ และการเพิ่มโทษที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง คือปฏิกิริยาสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ เสมอ ยกตังอย่างเช่น การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 ให้เพิ่มขึ้นจนมากกว่าสมัยการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังการรัฐประหารของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ช่วงต่อมาคือการใช้มาตรา 112 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มาถึงหลังการรัฐประหาร 2549 และล่าสุดถูกนำมาใช้ใหม่อย่างกว้างขวางอีกครั้งหลังการชุมนุมปี 2563 

ดังนั้นมาตรา 112 จึงไม่ใช่เรื่องของกฎหมายอย่างเดียว แต่มีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมืองและกลุ่มคนที่ตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ย้อนไปถึงการรณรงค์ของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ในตอนนั้น เคยมีคนเป็นรอยัลลิสต์มาเสนอว่าหากต้องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ให้มานั่งคุยกันปิดลับ โดยไม่ต้องเข้าชื่อเสนอกฎหมายในทางสาธารณะ ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไม่อยากให้มีการเข้าชื่อ เมื่อมาวิเคราะห์ดูก็พบว่านี่คือวิธีคิดของรอยัลลิสต์และพวกอนุรักษ์นิยม คือคิดว่าถ้ายอมโอนอ่อนให้ข้อนึง ความต้องการจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปถึงเรื่องอื่นเรื่อยๆ จนไปถึงสุดทางเลย เขาไม่คิดว่าถ้ายอมปฏิรูปข้อนึง แล้วคนจะหยุด วิธีคิดของรัฐไทยขีดเส้นชัดเจน ไม่ขยับถอยเลย ต้องรอให้เกิดความสูญเสีย ถึงจะมายอมถอยเหมือนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในอดีต” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top