Wednesday, 15 May 2024
20บาทตลอดสาย

‘พท.’ จัดแคมเปญยกระดับชีวิตคนกรุงฯ ‘แล่นสไลด์ ไปเปลี่ยนชีวิตคนเมือง’  ชวนผู้สมัครส.ส. ใช้รถสาธารณะเดินทาง ตอกย้ำนโยบาย 20 บาทตลอดสาย

เพื่อไทยจัดใหญ่ ‘แล่นสไลด์ ไปเปลี่ยนชีวิตคนเมือง’ 5 พ.ค. ชวนผู้สมัคร ส.ส.กทม.เดินทางจากบ้านถึงพารากอนด้วยขนส่งสาธารณะ ตอกย้ำนโยบาย 20 บาท ตลอดสาย

(2 พ.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค และผอ. ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งส.ส.พรรคพท. และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 20  ลาดกระบัง (ยกเว้นแขวงลำปลาทิว) พรรคพท.แถลงการจัดงาน “แล่นสไลด์ ไปเปลี่ยนชีวิตคนเมือง : จากการเดินทาง สู่การสร้างมหานครเพื่อคนไทย” ในวันที่ 5 พ.ค.ตั้งแต่เวลา 15.30 น. ณ ลานพาร์คพารากอน เขตปทุมวัน

นายประเสริฐ กล่าวว่า เพื่อปักธงนโยบายคมนาคมของพรรคพท. ซึ่งจะเป็นนโยบายยกระดับชีวิตคนเมือง จากกรุงเทพฯ พื้นที่ปริมณฑล สู่การกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ พรรคพท.จึงจัดงานดังกล่าวขึ้นโดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน คือภารกิจและงานเสวนา กิจกรรมนี้เป็นการจัดงานครั้งใหญ่อีกหนึ่งครั้งก่อนปราศรัยใหญ่โค้งสุดท้ายของพรรค พท.ที่จะจัดขึ้น เพื่อสื่อสารกับคนเมือง คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของพรรคพท.ที่มีนโยบายคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ผ่านการเข้าใจ และเข้าถึงพื้นที่จริงของผู้สมัครส.ส. ทุกเขต

‘สุริยะ’ เร่งผลักดันนโยบาย 'รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ทุกเส้นทาง ภายใน 3 เดือน ขอนำร่อง ‘สายสีม่วง-แดง’ ก่อน ส่วนที่เหลือขอเวลา 2 ปี

(12 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงกรณีรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 2 ว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้แน่นอน ส่วนระยะเวลาที่เห็นผลเป็นรูปธรรมนั้น เนื่องจากแต่ละเส้นทางมีระบบแตกต่างกัน ทั้งเรื่องการให้สัมปทานเอกชน บางเส้นทางรัฐดำเนินการเอง หรือบางเส้นทางให้ กทม.ทำ ดังนั้น การให้เก็บ 20 บาทตลอดสาย เท่ากันทุกเส้นทาง ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องใช้เวลาเจรจาและวางระบบเทคนิคการทำตั๋วร่วมเป็นระบบเดียวกัน ต้องวางระบบคอมพิวเตอร์ให้เทคนิคเหมือนกัน ทั้งนี้ เส้นทางที่รัฐจะดำเนินการได้เองคือ สายสีแดงกับสายสีม่วง จะดำเนินการทันที เพราะกระทรวงคมนาคมทำเอง ภายใน 3 เดือน ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้า 2 เส้นทางนี้ 20 บาทตลอดสาย

"ภายใน 2 ปี ประชาชนจะได้ใช้รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง 20 บาทตลอดสาย การที่ไม่สามารถเห็นผลได้ทันที เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเจรจา และวางระบบตั๋วร่วม นโยบายนี้จะทำเพื่อคนทุกกลุ่ม นอกจากช่วยคนรายได้น้อย ยังช่วยให้คนใช้รถยนต์มาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ลดปัญหามลพิษ" นายสุริยะ กล่าว

รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการคำนวณราคาค่าโดยสารนั้น ขอยกตัวอย่าง หากอยู่รังสิตจะมากรุงเทพฯ ชั้นใน ที่สยาม ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงมาลงที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ มาต่อสายสีน้ำเงินที่จตุจักร และต่อสายสีเขียวไปที่สยาม จากปัจจุบันค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 108 บาท แต่ถ้านโยบายสำเร็จ จะจ่ายค่าโดยสารแค่ 20 บาทตลอดสาย

เปิดตัวเลขรัฐสูญรายได้ 136 ล้านบาทต่อปี หากหนุน 'แดง-ม่วง' 20 บาท แต่ช่วยดึงคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 10% รายได้หวนคืนใน 2.8 ปี

(18 ก.ย.66) รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทรถไฟฟ้ารฟท. จำกัด และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามสายสีแดงกับสายสีม่วง รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

เบื้องต้นในที่ประชุมได้มีการหารือถึงข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ..., พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฯลฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีข้อสั่งการให้รฟท.เตรียมเสนอการแบ่งค่าโดยสารกรณีเดินทางข้ามรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในวันที่ 21 ก.ย.66 ขณะที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ภายในวันที่ 28 ก.ย.66 หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในเดือน ต.ค.66 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ปี 67 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนการแบ่งค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ มีเงื่อนไขว่า ระหว่างการเดินทาง หากประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าสายใดเป็นสายแรก ผู้เป็นเจ้าของโครงการจะเป็นผู้เก็บค่าแรกเข้าค่าโดยสาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสถานีของผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย โดยจะเก็บค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย เช่น กรณีที่ประชาชนเดินทางขึ้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนเพื่อไปรถไฟสายสีแดงที่สถานีบางซื่อ จะถูกเก็บค่าแรกเข้าเพียง 16 บาท ซึ่งมีส่วนต่างอยู่ที่ 4 บาท ต่ำกว่าราคาค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าโดยสารจากการเดินทางได้ 

ทั้งนี้จากผลศึกษานโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่าจะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนรวม 136 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง 80 ล้านบาทต่อปี และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 56 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 10% คาดการณ์ว่าเมื่อดำเนินนโยบายถึง 2.8 ปี จะทำให้รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายมีรายได้กลับมาเท่าเดิม โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย   

นอกจากนี้การชดเชยรายได้ให้แก่รฟท.และรฟม.จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-ตลิ่งชันและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ นั้น พบว่า ปัจจุบันรฟท.มีหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรฟท.จะต้องขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) จำนวน 80 ล้านบาทต่อปี ขณะที่รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาชดเชยเงินที่ขาดหายจากนโยบายดังกล่าว จำนวน 56 ล้านบาทต่อปี 

‘รฟท.’ ไฟเขียว!! รถไฟฟ้าสายสีแดง 20 บาทตลอดสาย หวังช่วยลดค่าใช้จ่าย - จูงใจประชาชนใช้บริการมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (21 ก.ย. 66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด รฟท.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติดำเนินการตามนโยบาย 20 บาทตลอดสายของรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต เบื้องต้นจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามขั้นตอน ในการขอปรับค่าโดยสารจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตามมาตรา 27 ที่ระบุว่าหากหน่วยงานมีมาตรการหรือโครงการใด ๆ ที่กระทบต่อรายได้ขององค์กรสามารถดำเนินการได้ซึ่งจะต้องกำหนดแผนหรืองบประมาณที่ใช้จ่าย รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับด้วย หากกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษานโยบายดังกล่าว พบว่า รฟท.จะสูญเสียรายได้ และรัฐต้องสนับสนุนเงินชดเชยประมาณ 80 ล้านบาทต่อปี แต่การลดค่าโดยสารนั้น จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5-20% ต่อปี ซึ่งจะมีผลทำให้รายได้ของ รฟท. เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน

‘บอร์ด รฟม.’ เคาะ!! ‘รถไฟฟ้าสายสีม่วง’ 20 บาทตลอดสาย เริ่มวันแรก 1 ธ.ค.นี้ เบื้องต้นรองรับเฉพาะผู้ถือบัตร EMV

เมื่อวันที่ 28 ก.ย.66 ที่สำนักงานใหญ่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 กระทรวงคมนาคมยังมีแผนผลักดันรถไฟฟ้า 2 สาย ที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ทั้งนี้ รฟม.เตรียมนำมติบอร์ดฯ ที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม วันที่ 29 กันยายน เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จทันใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดงนั้น จะคิดอัตราค่าโดยสารที่ 20 บาทเช่นกัน

“นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสารฯ ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าว จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจากเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดง ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน” นายภคพงศ์กล่าว

นายภคพงศ์กล่าวว่า การแบ่งรายได้จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง ผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.จะรับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟท.จะได้รายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน ทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือ การใช้บริการผ่านบัตรเครดิต และบัตรเดบิต เท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน

ส่วนในกรณีจะใช้เงินชดเชยไปอีกกี่ปีนั้น รฟม.ขอพิจารณาก่อน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 17% ต่อปี คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี รฟม.จึงจะคืนทุน ที่ผ่านมา รฟม.นำรายได้ส่งกระทรวงการคลัง ประมาณ 20-25% ต่อปี ของกำไรสุทธิ ดังนี้ ปี 2563 มีรายได้ส่งคลัง 300 ล้านบาท ปี 2564 ส่งคลัง 467 ล้านบาท ปี 2565 ส่งคลัง 311 ล้านบาท ส่วนช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ส่งคลัง 223 ล้านบาท

“นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเบื้องต้น รฟม.ได้หารือร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน” นายภคพงศ์กล่าว

ข้อควรรู้!! ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง - สีม่วง’ อ่วม!! ขาดทุนหนัก 7 ล้าน / วัน

รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะเปิดให้บริการ 2 สายก่อน คือสายสีแดงและสายสีม่วง มาดูกันว่าในปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ขนผู้โดยสารวันละเท่าไหร่ มีรายได้มากน้อยเพียงใด สายสีแดงหรือสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า?

1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท 

จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า

(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 19,611 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 0.59 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 1.31 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 0.72 ล้านบาท

2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท 

จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า

(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 56,255 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1.41 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 7.39 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 5.98 ล้านบาท

3. ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนรวมกันวันละเกือบ 7 ล้านบาท! รถไฟฟ้าสายสีแดงขาดทุนวันละ 0.72 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า โดยขาดทุนถึงวันละ 5.98 ล้านบาท รวมทั้งสองสายขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท

4. ถ้าเก็บ 20 บาท ตลอดสาย จะขาดทุนหนักขึ้น!!
รมว.คมนาคม บอกว่าจะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้น ๆ 

การเก็บ 20 บาท ตลอดสาย แต่ไม่สามารถใช้ข้ามสายได้ จะไม่ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก และจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารที่ในปัจจุบันจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจ่ายเริ่มต้นเพียง 12 บาท เท่านั้น

เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก รายได้จากค่าโดยสารก็จะต่ำกว่าเดิม เป็นผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายขาดทุนหนักขึ้น

5. สรุป
เห็นด้วยกับการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ก่อนเริ่มใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย รมว.คมนาคม จะต้องรู้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่? คุ้มหรือไม่กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น? และที่สำคัญจะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่คน?

'เพื่อไทย' ตอกย้ำ!! ทำทันทีเพื่อประชาชน รถไฟฟ้า 'สีม่วง-แดง' 20 บาทตลอดสาย

(16 ต.ค. 66) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่ถึงสถานีเตาปูน และสายสีแดง สถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิต สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 

...และทันทีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สส. และ สก.ของพรรคเพื่อไทย ได้มาร่วมทดลองใช้บริการและตรวจสอบความพร้อมการให้บริการรถไฟฟ้าในราคาค่าโดยสารใหม่ 20 บาท ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือสถานีกลางบางซื่อด้วย...

1. นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากเดิมประชาชนต้องจ่าย 14-42 บาท และสายสีแดง 12-42 บาท มาเป็นราคาเดียว 20 บาท ช่วยลดภาระค่าครองชีพ ทำให้พี่น้องประชาชนตอบรับในการเดินหน้านโยบายของพรรคเพื่อไทยตามที่ได้หาเสียงไว้ และติดตามเฝ้ารอนโยบายอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมากมายที่จะทยอยตามมา

2. นางสาวชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ต่างมีเสียงสะท้อนให้ สก. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในราคาไม่แพง ทุกคนมีสิทธิ์ใช้บริการของรัฐอย่างเท่าเทียม จึงเห็นด้วยและสนับสนุนนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขอขอบคุณรัฐบาลที่ผลักดันให้เป็นจริงในเวลาไม่นาน และขอให้ลดค่าบริการของรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ เช่นกัน

3. คณะของพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ตรวจความพร้อมให้บริการรถไฟฟ้าที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ประกอบด้วย สก.พรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร, นางสาวชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร, นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.ลาดกระบัง, นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก, นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม, นางสาวมธุรส เบนท์ เขตสะพานสูง, นางสาวนภัสสร พละระวีพงษ์ ส.ก.เขตบางกะปิ นายรัฐพงศ์ ระหงษ์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม., นายภัทร ภมรมนตรี อดีตผู้สมัคร สส.กทม., นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย

‘สุริยะ’ ปลื้มใจ!! ประชาชนชื่นชอบ 20 บาทตลอดสาย ยัน!! ไม่สุดแค่ 30 พ.ย.67 เตรียมเสนอต่ออายุมาตรการปีหน้า

(18 ต.ค. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อ 16 ต.ค. 66 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น ล่าสุดทาง รฟม. และ รฟท.ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นขอยืนยันว่า การที่ ครม.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ที่ระบุจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567 นั้น เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าว จะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย ‘Transport Future for All : คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน’

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พ.ย.2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม. นั้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี

‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ทุบสถิติ!! ยอดผู้โดยสารพุ่งสูงสุด ตั้งแต่เปิดให้บริการนโยบาย 20 บาทตลอดสายมา

(28 ต.ค.66) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ต.ค.66 ซึ่งเป็นวันศุกร์สิ้นเดือนแรก หลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อ 16 ต.ค.66 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายสีแดงสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา โดยมีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,675,588 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 81,539 คน-เที่ยว แบ่งเป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 29,583 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 51,956 คน-เที่ยว 
2. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,594,049 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

- รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 224 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 742,752 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 34,161 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 143 คน-เที่ยว) สูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)
- รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 319 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 3 เที่ยววิ่ง) จำนวน 74,208 คน-เที่ยว  
- รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 490 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 27 เที่ยววิ่ง) จำนวน 494,335 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,264 เที่ยววิ่ง จำนวน 869,736 คน-เที่ยว
- รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 219 เที่ยววิ่ง จำนวน 6,911 คน-เที่ยว 
- รถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 276 เที่ยววิ่ง จำนวน 41,946 คน-เที่ยว

จากข้อมูลข้างต้น พบว่า ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายสีม่วงสูงสุด 20 บาทแบบตลอดทั้งวัน โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 มีประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 34,161 คน-เที่ยว มากที่สุดตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง (นิวไฮ)  เพิ่มมากขึ้นจำนวน 2,704 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.60 เมื่อเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค.66 (วันที่ 20 ต.ค.66 ผู้ใช้บริการสายสีแดงนิวไฮก่อนหน้านี้ทั้งหมด 31,457 คน-เที่ยว (รวมทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 139 คน-เที่ยว) และเพิ่มขึ้น 7,887 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.02% เมื่อเทียบกับวันศุกร์สิ้นเดือน ก.ย.66 ก่อนมีนโยบายฯ (ศุกร์ 29 ก.ย.66 สายสีแดงมีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 26,274 คน-เที่ยว (รวมรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 150 คน-เที่ยว)) เนื่องจากเมื่อวานเป็นศุกร์สิ้นเดือน ประกอบกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจัดงานเปิดบ้านธรรมศาสตร์ Open house 2023 ระหว่างวันที่ 27-28 ต.ค.66

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.66) กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมหน่วยที่เกี่ยวข้องในการทำแผนจัดทำระบบฟีดเดอร์ (feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางป้อนผู้โดยสารให้กับระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ภายหลังจากได้มีการปรับค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแล้วพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวทางเพิ่มศักยภาพจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้อำนวยความสะดวก อาทิ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศิริราช ตลอดจนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อไป

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางยังได้มีการติดตามปริมาณผู้โดยสารระบบรางประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินผลหลังปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม ครบ 1 เดือนและรอบ 3 เดือนต่อไป

'สุริยะ' ปลื้ม!! มาตรการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เดินหน้าทะลุเป้า 5 เดือน 'สีแดง-สีม่วง' ทุบสถิตินิวไฮ ยอดผู้โดยสารเพิ่มต่อคน-เที่ยว 18%

(20 มี.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการในการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ในโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามนโยบาย Quick Win ของรัฐบาลนั้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 - 14 มีนาคม 2567 พบว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 27.97% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน-เที่ยว สูงกว่าประมาณการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10 - 20% ขณะที่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการฯ 14.39% ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน-เที่ยว 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ภายหลังมีมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารใช้บริการรวมสองสายเฉลี่ยวันละ 92,714 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากเดิมก่อนมีมาตรการฯ ทั้งสองสายรวมกัน มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 78,611 คน-เที่ยว ซึ่งมากกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ และยังพบว่า ทั้งสองเส้นทาง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และมีผู้โดยสารใช้บริการมากสุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา (Newhigh) อย่างต่อเนื่อง 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลนั้น จากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พบว่า มาตรการดังกล่าว มีมูลค่าสูงถึงวันละ 2,640,000 บาท และคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นโครงการดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และลดการใช้พลังงานภายในประเทศได้อีกด้วย

ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคจากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายใน และภายนอกสถานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง เช่น ถนนสายหลัก ถนนสายรอง ทางเดิน ทางรถจักรยาน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานีที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับ ย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder System) สามารถนำผู้โดยสารจากที่พักอาศัยเข้าสู่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง เช่น รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้างโดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางเบา หรือขนส่งมวลชนอื่นที่จะเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่พื้นที่รอบนอก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ ลดภาระการชดเชยจากภาครัฐได้ต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top