Monday, 7 July 2025
ในหลวงรัชกาลที่9

25 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ในหลวงร.9 เสด็จฯเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ พร้อมพระราชทานเหรียญที่ระลึกแทนบัตรประชาชน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ ณ หมู่บ้านผาหมี หมู่ที่ 15 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

การเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทรงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชต่าง ๆ เช่น กาแฟ ลิ้นจี่ แมคคาเดเมีย รวมถึงพระราชทานวัวให้ชาวเขาเลี้ยง พร้อมกับหาจุดรับซื้อผลิตผล เพื่อให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่ต้องปลูกฝิ่นหรือทำไร่เลื่อนลอย และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ยังทรงยืนยันว่า ชาวเขาเผ่ามูเซอทุกคนคือคนไทย ไม่ใช่คนเร่ร่อนไร้สัญชาติ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระราชทาน ‘เหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา’ ซึ่งมีตัวย่อ ‘ชร’ (หมายถึงจังหวัดเชียงราย) และหมายเลขโค้ด 6 หลักที่ใช้แทนหมายเลขบัตรประชาชน ให้แก่ชาวเขาบ้านผาหมี โดยทรงพระราชทานเหรียญที่ระลึกนี้แก่ชาวเขาในหลายจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 20 จังหวัดในปี พ.ศ. 2506 รวมกว่า 200,000 เหรียญ ทุกเหรียญจะมีอักษรย่อของจังหวัดและหมายเลขประจำเหรียญ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการสำรวจสำมะโนประชากรและการพิสูจน์สัญชาติในการทำบัตรประชาชนให้แก่ชาวเขา

19 มกราคม 2545 รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากพระราชทานชื่อ 'สุวรรณภูมิ' ซึ่งหมายถึง 'แผ่นดินทอง' เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิมว่า 'หนองงูเห่า'

อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิเป็นอาคารเดี่ยวที่มีความกว้างใหญ่ ไม่มีเสากลางอาคาร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 563,000 ตารางเมตร และประกอบด้วย 9 ชั้น รวมทั้งชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยมีสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถโดยสาร ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก รวมถึงสำนักงานของสายการบินต่างๆ

สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มเปิดให้บริการทดลองใช้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549 โดยมีงบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 เพื่อใช้แทนชื่อเดิม 'หนองงูเห่า' ท่าอากาศยานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเทพรัตนและทางพิเศษบูรพาวิถี ในเขตตำบลหนองปรือและตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร

อาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน 'เฮลมุต ยาห์น' โดยใช้เหล็กและแก้วเป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งยาห์นกล่าวว่าเป็น "สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21" ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 28 กันยายน 2549 และเป็นสนามบินหลักของประเทศไทยแทนท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินในทวีปเอเชีย

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีหอควบคุมที่สูงที่สุดในโลก (132.2 เมตร) และอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก (563,000 ตารางเมตร) โดยสามารถรองรับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารถึง 45 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศที่สามารถรองรับสินค้าได้มากกว่า 3 ล้านตันต่อปี

25 มกราคม 2502 ในหลวงร.9 เสด็จฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อพุทธศักราช 2456 ได้มีการค้นพบพระเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น ณ ดอนพระเจดีย์ แขวงเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทรงชนะในยุทธหัตถี และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระเจดีย์แห่งนี้ เพื่อทรงนมัสการและโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่ ทว่าการก่อสร้างประสบปัญหาขัดข้องเรื่องงบประมาณ

จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช การบูรณะฟื้นฟูพระเจดีย์ได้สำเร็จลุล่วง ต่อมาในวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2502 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ตำบลดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามหมายกำหนดการที่ 1/2502

เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จเข้าสู่พิธีมณฑล ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธปฏิมาประจำรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงศีลและทรงฟังคำกราบบังคมทูลรายงาน ก่อนที่จะมีพระราชดำรัส จากนั้นพระองค์ทรงเปิดพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระสงฆ์ 10 รูป เจริญชัยมงคลคาถา ขณะเดียวกันชาวพนักงานได้ประโคมฆ้องชัย สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก แตร และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเสด็จไปทรงพระสุหร่ายสรงพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะ ก่อนจะประทับพระราชอาสน์ในพิธีมณฑล พระสงฆ์ถวายอดิเรก และเสด็จพระราชดำเนินกลับ

28 กุมภาพันธ์ 2501 ในหลวง ร.9 - พระราชินี เสด็จบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวร และสมโภชพระพุทธชินราช ณ พิษณุโลก

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังศาลเทพารักษ์ พระราชวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อทรงบวงสรวงสักการะเทพารักษ์และพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยในโอกาสนี้ได้พระราชทานผ้าแพรสีชมพูสำหรับผูกที่หน้าศาลเทพารักษ์เป็นเครื่องสักการะ  

จากนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธชินราช ในพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายถวายพัดรัตนาภรณ์ พร้อมด้วยต้นไม้ทองและต้นไม้เงิน ทั้งยังทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชภรณ์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปลื้องผ้าสะพักถวายแด่พระพุทธชินราช  

ในโอกาสเดียวกัน พระองค์ทรงพระราชทานผ้าไตรแก่พระสงฆ์จำนวน 20 รูป เพื่อประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นได้ทรงประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และทรงร่วมพิธีถวายดอกไม้เพลิงเป็นพุทธบูชา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้จุดดอกไม้เพลิง หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธี เจ้าพนักงานได้เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระพุทธชินราช ก่อนที่ทั้งสองพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ  

พระราชพิธีครั้งนี้สะท้อนถึงพระราชศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา และเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 วันแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การสถาปนากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เนื่องจากเป็นวันที่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ตามโบราณราชประเพณีของราชวงศ์จักรี

พระราชพิธีครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2494 หลังสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การบรมราชาภิเษกถือเป็นการประกาศพระราชอำนาจในการครองราชย์อย่างเป็นทางการต่อประชาชนและนานาประเทศ

ในพระราชพิธี พระองค์ได้มีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งกลายเป็นหลักการสำคัญในการทรงงานตลอดรัชสมัยที่ยาวนานกว่า 70 ปี และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพสกนิกรไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนั้นยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระองค์ทรงริเริ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ทั้งในด้านเกษตรกรรม น้ำ การศึกษา และเศรษฐกิจพอเพียง

'ทราย สก็อต' ยกพระราชดำรัส ร.9 เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคม

ยึดมั่นในคำสอนของในหลวง รัชกาลที่ 9 ‘ทราย สก๊อต’ หนุ่มนักอนุรักษ์!! ผู้รักท้องทะเลยิ่งชีพ ได้ให้สัมภาษณ์ช่อง News 1 เกี่ยวกับแนวทาง คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9

11 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ในหลวง ร. 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระธาตุเชิงชุมฯ

วันนี้ เมื่อ 57 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 

วัดพระธาตุเชิงชุมฯ ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญในจังหวัดสกลนคร เป็นพระอารามหลวงที่พระบรมวงศานุวงศ์ แทบทุกพระองค์เคยเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯมาทรงงานยังพื้นที่จังหวัดสกลนคร 

โดยครั้งที่มีความสำคัญครั้งหนึ่ง คือเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ในขณะทรงผนวชและดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายสักการะองค์พระธาตุเชิงชุมและหลวงพ่อพระองค์แสน ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2521

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ถนนบรอดเวย์ โดยมีประชาชนกว่า 7 แสนคน รับเสด็จ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 1960 (พ.ศ. 2503) ประชาชนกว่า 7.5 แสนคน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับ โรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ สวนหาดทรายใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์

วันนี้ เมื่อ 34 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และมีพระราชกระแสว่า “...ขอให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วย เพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย ช่วยรักษาหน้าดินโดยเฉพาะที่โครงการฯ นี้ มีที่ลาดชันหลายแห่ง นอกจากนี้ หญ้าแฝกยังช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุไว้ในดิน ใบอ่อนของหญ้าแฝกยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย...”

สำหรับหาดทรายใหญ่ เป็นผืนดินที่มีความเป็นมายาวนานสืบเนื่องมาจาก “อ่างเก็บน้ำเขาเต่า”ซึ่งเป็นโครงการชลประทานตามพระราชดำริแห่งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 สร้างด้วยพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ในปี พ.ศ.2506 เพื่อทรงช่วยราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงได้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพราะที่บริเวณนี้ไม่มี แหล่งน้ำจืด จากนั้น พ.ศ.2508 ได้ทรงใช้พื้นที่ของหาดทรายใหญ่ ทำเป็นฟาร์มส่วนพระองค์เลี้ยงโค สุกร และไก่พันธุ์ไข่ เพื่อขยายพันธุ์แจกจ่ายให้กับราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอาหารและเพิ่มรายได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top