Tuesday, 25 June 2024
โลกร้อน

‘งานวิจัยใหม่’ ชี้ ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ ที่ขั้วโลกใต้ละลายเร็วขึ้น โลกอาจเห็นน้ำทะเลสูงขึ้นระดับ 3 เมตร กระทบผู้คนริมชายฝั่ง

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยผลวิจัยตัวใหม่ที่มีการเผยแพร่ไปเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ค.67) โดยพบหลักฐานว่า ‘ธารน้ำแข็งทเวตส์’ หรือที่ถูกตั้งฉายาว่า ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ (Doomsday Glacier) ที่ขั้วโลกใต้ (Antarctica) กำลังละลายรวดเร็วขึ้น จนอาจทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นถึง 2 ฟุต

แน่นอนว่า การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือ แทบไม่มีส่วนโดยตรงแทบไม่มีส่วนโดยตรงกับน้ำทะเล เพราะปริมาณไม่มากนัก …แต่กลับกันที่ขั้วโลกใต้ จะแตกต่างจากขั้วโลกเหนือ เพราะมีชั้นน้ำแข็งที่หนามากทับถมกันอยู่บนพื้นดิน ซึ่งถ้าละลายจนหมด จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 

สำหรับ ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ เป็นธารน้ำแข็งที่มีความเสี่ยงต่อการละลายมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะลักษณะที่ลาดเอียงสู่ทะเล ทำให้ถูกน้ำอุ่นกัดเซาะ และละลายได้มากกว่าธารน้ำแข็งอื่น ๆ โดยปัจจุบัน ธารน้ำแข็งทเวตส์นี้ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นแล้วถึง 4% และด้วยปริมาณทั้งหมดของก้อนน้ำแข็งนี้ ก็จะสามารถทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นได้ถึง 60 เซนติเมตรเลยทีเดียว และนั่นหมายความว่า จะกระทบกับชีวิตผู้คนมากกว่า 100 ล้านคนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทั่วโลก

แต่ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่ธารน้ำแข็งทเวตส์นี้ ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนฝายธรรมชาติที่กั้นน้ำแข็งโดยรอบด้วย ซึ่งหากแผ่นน้ำแข็งนี้ละลายไปทั้งหมด ก็อาจทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลเข้าไปตรงช่องว่าง และไปกระทบกับธารน้ำแข็งอื่น ๆ และหากธารน้ำแข็งอื่นละลายไปด้วย ก็อาจนำไปสู่การสูงขึ้นของน้ำทะเลที่มากถึง 3 เมตร

ไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัย ที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้ข้อมูลเรดาห์จากอวกาศในการเอ็กซเรย์ธารน้ำแข็ง โดยบ่งชี้ว่า “แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกนั้น มีความเสี่ยง ต่ออุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น มากกว่าที่เราเคยคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้เสียอีก” และที่ทีมวิจัยกังวลอีกเรื่องคือ ตอนนี้มีน้ำทะเลที่ดันอยู่ใต้ธารน้ำแข็งเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร และเคลื่อนตัวออกตามกระแสน้ำ ตามจังหวะของกระแสน้ำในแต่ละวัน

แล้วจะวิธีไหนบ้าง ที่จะช่วยแก้ปัญหา และปกป้องไม่ให้ธารน้ำแข็งนี้ละลายไปมากกว่านี้ หรือเร็วกว่านี้?

ก่อนหน้านี้ จอห์น มัวร์ นักธรณีวิทยาและนักวิจัยวิศวกรรมธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยแลปแลนด์ และทีมงาน เสนอแนวคิดในการสร้าง ‘ม่านใต้ทะเล’ เพื่อหวังช่วยในการปกป้องธารน้ำแข็งนี้จากกระแสน้ำอุ่น

แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกไม่น้อยกลับไม่เห็นด้วยและมองว่ามีเพียงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น ที่จะช่วยชะลอการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกได้

'อ.วีระศักดิ์' ชี้!! 'โลกร้อน' อีกสาเหตุสำคัญทำเครื่องบินตกหลุมอากาศ พร้อมแนะทางออกภาคการท่องเที่ยวไทยในสภาวะโลกกำลังเดือด

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้พูดคุยกับ อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในประเด็น 'เครื่องบินตกหลุมอากาศ กับ ภาวะโลกร้อน และการปรับตัวของภาคท่องเที่ยวไทย?' 

อ.วีระศักดิ์ เริ่มต้นด้วยกับประเด็นที่ว่าการตกหลุมอากาศลึกกว่า 2 กิโลเมตร ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มีสาเหตุจากอะไร? โดยกล่าวว่า เรารู้แล้วว่าทำไมโลกถึงร้อน เพราะว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบโลก มันสะท้อนกลับไปในอวกาศได้ไม่หมด เพราะมันมีก๊าซเรือนกระจกขวางอยู่ ตอนที่แสงส่องลงมามันเป็นคลื่นความถี่สูงทะลุทะลวงได้ดี เมื่อกระทบพื้นดินหรือพื้นน้ำ มันกลายเป็นคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้สะท้อนอยู่ภายในโลกของเรา อุณหภูมิของโลกจึงอุ่นขึ้น โดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีการรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์โดยตรง น้ำจะระเหยเยอะ

ดังนั้น พอน้ำระเหย พวกมันจะเจอความร้อนตามขึ้นมาเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ทำให้ลอยตัวสูงมากถึงชั้นที่เครื่องบินกำลังลอยตัวกันอยู่ เรียกว่า ลมพายกลอยตัว 

ตอนลอยตัวขึ้นไปเจอกับความเย็น บางช่วงอากาศมันก็จะกดตัวลงเมื่อเจอกับความเย็น เหมือนเป็นท่อลำเลียงให้อากาศและไอน้ำลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งมันก็จะเทลง เครื่องบินที่บินมาอาจเจออากาศพายกขึ้น และถ้าเจออากาศที่มันกดลงพอดี เรียกว่า 'แรงเฉือนของลม'

ในโลกใบนี้ยังมีลมหมุนจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก หรือเรียกว่า Jet Stream (กระแสลมกรด) ส่วนใหญ่การตกหลุมอากาศมักเกิดขึ้นตอนกลางวัน และช่วงเย็น ๆ ทางแก้ไขในเรื่องนี้คือ เวลาโดยสารเครื่องบินต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตามประกาศของนักบิน หรือถ้าบินในระยะทางสั้น ๆ บินเที่ยวเช้าก็น่าจะพอช่วยได้

ทั้งนี้เมื่อถามถึงผลกระทบจากโลกร้อน จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยด้วยแค่ไหน และควรรับมืออย่างไร? อ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องสนใจ ทำความเข้าใจ และต้องตั้งใจช่วยลดโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว

เราต้องทำให้การท่องเที่ยวมีความสุข สบาย สะดวก ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวในโลกนี้ต่อไปจากนี้ จะเป็นกลุ่มครอบครัวและผู้สูงอายุมากขึ้น ฉะนั้นสภาวะโลกร้อนปัจจุบัน ที่เรากำลังเจอในลักษณะ ร้อน-แห้ง และร้อน-เปียก ต้องถูกวางแผนให้กับภาคการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้น 

ยกตัวอย่าง เช่น ภาวะร้อน-แห้ง ควรจัดแผนการท่องเที่ยวอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในที่ร่มได้ ไม่เที่ยวกลางแจ้งมากนัก ส่วนภาวะร้อน-เปียก ควรจัดแผนการท่องเที่ยวตั้งแต่การเลือกเส้นทางมีน้ำท่วมหรือไม่ ต้องวางแผนล่วงหน้า เป็นต้น 

ส่วนเรื่องการเดินทางควรสนับสนุนให้มีการซื้อประกันการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งระบบประกันของไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ทำให้มีความรู้สึกว่ามีมืออาชีพดูแลสร้างความสบายใจได้ตลอดทริป 

สรุปแล้วภาครัฐและผู้ประกอบการต้องปรับตัวและอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจ ทำให้ตลาดท่องเที่ยวของประเทศไทยมีโอกาสเติบโตไปกับภาวะโลกร้อนต่อไป

ส่อง 'เศรษฐกิจไทย' ในวันที่ขยายตัวช้า-ความเชื่อถือ (ข้าวไทย) ตกต่ำ วาทกรรม 'คนไทยจะมีกินมีใช้' จะเป็นจริงได้ใต้ทีม ศก.ยุคนี้จริงหรือ?

คลังฯ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.4% ต่ำลงจากประมาณการเดิม 2.8% ณ เดือนมกราคม 2567  

ภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจ ของรัฐบาล หากประเมินคงต้องบอกว่า 'ไม่ผ่าน' ทั้งที่ช่วงปลายปี 2566 ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 จะขยายตัวสูงถึง 3.2% หลังภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ทุบเศรษฐกิจทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย ยาวถึงเกือบ 3 ปี ดังนั้น เศรษฐกิจปี 2567 น่าจะต้องดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเลขประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปรับลด ต่ำลงเรื่อย ๆ 

ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ นำโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น่าจะสร้างความหวัง ให้กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ปรับขึ้นสูง เช่น พริกขี้หนูสวน ที่ราคาทะลุ กิโลกรัม ละ 800 บาท แพงสุดในประวัติศาสตร์...

ตามด้วยข่าวร้อน การแถลงข่าวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเปิดประมูล ข้าวโครงการรับจำนำ ที่เก็บมา 10 ปี พร้อมนำออกมาจำหน่าย 

ภาพแรก คือ การส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา สื่อของประเทศไนจีเรียออกข่าว กังวลการสั่งซื้อข้าวจากไทยทันที กลายเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือต่อคุณภาพข้าวไทยที่จะส่งออก ถึงแม้ต่อมา จะมีการส่งพิสูจน์ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รับรองคุณภาพข้าว ก็ตาม 

บางสื่อได้พยายามเสนอข่าว นำข้าว 10 ปี ไปหุงรับประทาน แต่หากถามผู้บริโภคทั่วไป ใครอยากกินข้าวค้าง 10 ปี บ้าง ? เอกชนบางราย จึงออกมาประกาศ ว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลซื้อข้าว 10 ปี เมื่อฝ่ายค้านไม่ทำงาน ก็คงต้องพึ่งพ่อค้า มาทำหน้าที่แทน 

และแน่นอนว่า ราคาข้าวที่กำลังปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี เกษตรกรเริ่มยิ้มได้ กลับมาโดนข่าวนี้ ทุบราคาข้าว การส่งออกข้าว ก็คงโดนกระทบตามไปด้วย ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เป็นอันดับ 1 ในการส่งออกข้าวแล้ว แทนที่จะเร่งชูคุณภาพข้าว ยกระดับราคาข้าว กระตุ้นการส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สรุปว่า จะนำข้าว 10 ปี จำนวน 1.5 หมื่นตัน ในโครงการจำนำข้าวออกมา ‘ขาย’ งานนี้เพื่อใคร? 

การบริโภคภาครัฐ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิม การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงจากประมาณการเดิมตามการส่งออกที่ฟื้นช้าลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูง มูลค่าการส่งออกสินค้า การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 3.7%     

แรงส่งด้านอุปสงค์ส่วนใหญ่ที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาด้านอุปทานที่อ่อนแอ ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงมาก 

อินฟลูเอนเซอร์สำนักต่าง ๆ ที่ทำ Content ในช่วง 2-3 ปีก่อน ว่า ‘ประชาชนจะอดตายกันแล้ว’ ปัจจุบันยังติดตามข่าวสารบ้านเมือง เหมือนเดิมไหม ? ‘ประชาชน จะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้’ วลี ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คงจะติดตราตรึง ไปอีกนาน

‘หมู่เกาะพีพี’ อ่วม!! ดอกไม้ทะเล ‘ปะการังฟอกขาว’ กว่า 70% ปลานีโม่เสี่ยงตาย-ไร้บ้าน หวั่นอนาคตสถานการณ์รุนแรงขึ้น

(31 พ.ค. 67) มีการสำรวจสภาพของดอกไม้ทะเล บริเวณหมู่เกาะท้องถิ่น อยู่ในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ซึ่งมีสภาพเปลี่ยนสีจากสีเหลืองทองกลายเป็นสีขาวซีด ดอกไม้ทะเลเหล่านี้เป็นเสมือนบ้านของปลาการ์ตูน หรือปลานีโม่ ภาพใต้น้ำนี้ถูกบันทึกไว้โดยทีมนักดำน้ำของ SCUBA Expert Krabi

โดย น.ส.ปรัญญา พันธุ์ตาจิต หรือ ครูอุ๋ม ครูสอนการดำน้ำของทีม SCUBA Expert Krabi กล่าวว่า จากภาพดอกไม้ทะเล ซึ่งกลายสภาพเป็นปะการังสีขาวเกือบทั้งหมด เรียกว่าเจอภาวะฟอกขาวมากกว่า 70% ของพื้นที่ จนกลายเป็นวิกฤตที่น่าเป็นห่วง ซึ่งจุดที่เธอลงไปดำน้ำสำรวจอยู่ที่ความลึกตั้งแต่ 3 - 14 เมตร พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลสูง 32-34 องศา อุณหภูมิปกติจะอยู่ที่ 28 - 30 องศาเท่านั้น จึงเป็นห่วงว่าอนาคตสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น

ตอนนี้ทางอุทยานฯ สั่งให้งดกิจกรรมท่องเที่ยว ดำน้ำ ในพื้นที่พวกนี้ไว้ก่อนแล้ว หากในอีก 1 เดือนข้างหน้า ยังไม่มีฝนตกลงมาจนทำให้อุณหภูมิน้ำลดลง จะยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น ผู้ประกอบการเองก็กังวล ว่าแนวโน้มอนาคตเราอาจไม่ได้เห็นสีสันสวยงามของปะการังอีกก็เป็นได้

ทั้งนี้ ดอกไม้ทะเล ซึ่งเป็นบ้านของปลานีโม่ ก็ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ปีก่อนนี้ที่เกิดการฟอกขาว ดอกไม้ทะเลยังปกติดี แต่ปีนี้ถือว่าหนัก หากดอกไม้ทะเลเจอผลกระทบจนตายลง ปลานีโม่ที่อาศัยอยู่ก็จะตายไปด้วย เพราะพวกมันจะไปอาศัยที่อื่นไม่ได้ และจะไม่มีที่หลบภัย จึงภาวนาให้วิกฤตนี้หมดไปโดยเร็ว สิ่งที่ทุกคนจะช่วยกันได้ ก็คือการลดก๊าซคาร์บอน ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top