Wednesday, 8 May 2024
แคนาดา

‘WeWork’ ยื่นล้มละลายแล้ว หลังเผชิญวิกฤติขาดทุนมหาศาล มีผลเฉพาะสหรัฐฯ-แคนาดา ส่วนประเทศอื่นยังดำเนินการปกติ

(7 พ.ย.66) วีเวิร์ก (WeWork) บริษัทให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน ได้ยื่นล้มละลายแล้ว หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า วีเวิร์ก ได้เตรียมยื่นล้มละลาย หลังจากเผชิญกับหนี้สินก้อนโต และการขาดทุนมหาศาล 

ข่าวระบุว่า วีเวิร์ก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวีเวิร์กระบุว่า การยื่นเรื่องล้มละลายดังกล่าว จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่ธุรกิจทั่วโลกคาดว่าจะยังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

โดยโฆษกของวีเวิร์กกล่าวว่า ราว 92 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ของบริษัท ตกลงที่จะแปลงหนี้ที่มีหลักประกัน ให้เป็นหุ้นทุน ภายใต้ข้อตกลงการสนับสนุนการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยล้างหนี้ได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ครั้งหนึ่ง วีเวิร์ก เคยเป็นสตาร์ตอัปที่เป็นดาวรุ่งอย่างมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ด้วยการให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน และให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปลี่ยนรูปแบบของสำนักงานทั่วโลก และได้เริ่มดำเนินธุรกิจกระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อปี 2019 วีเวิร์กเคยเป็นบริษัทสตาร์ตอัปของสหรัฐ ที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานกลายเป็นการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของวีเวิร์ก ประสบปัญหาและขาดทุนเรื่อยมา

โดยข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วีเวิร์กมีพื้นที่สำนักงานแบ่งปันอยู่ทั้งสิ้น 777 แห่งทั่วโลก และในเอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายนิวเจอร์ซีย์ ระบุว่า วีเวิร์กมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 15,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินอยู่ 18,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

‘นายกฯ แคนาดา’ ถูกนักเคลื่อนไหวบุกปิดล้อมร้านอาหาร ประท้วงเรียกร้องให้หยุดยิงในกาซา ก่อนรุดหนีอย่างรวดเร็ว

มีผู้ถูกจับ 2 คน หลังพวกผู้ประท้วงฝักใฝ่ปาเลสไตน์ราว 250 คน ปิดล้อมร้านอาหารแห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์ ที่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กำลังรับประทานอาหารค่ำในเย็นวันอังคาร (14 พ.ย.) พร้อมตะโกนเรียกร้องให้หยุดยิงในฉนวนกาซา

(16 พ.ย.66) โดย สตีฟ แอดดินสัน โฆษกตำรวจแวนคูเวอร์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ 100 นายถูกส่งเข้าไปสลายการชุมนุม ขณะเดียวกัน เข้าอารักขาพาตัว ทรูโด ออกจากร้านอาหารซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ในย่านไชน่าทาวน์

เจ้าหน้าที่หญิงรายหนึ่งถูกพาตัวส่งโรงพยาบาล หลังโดนผู้ประท้วงรายหนึ่งชกต่อยและเล็บมือขีดข่วนบริเวณดวงตา จากการเปิดเผยของโฆษกตำรวจแวนคูเวอร์ พร้อมเผยว่าตำรวจใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าสยบผู้ต้องสงสัยวัย 27 ปีรายหนึ่ง ฐานพยายามก่อความวุ่นวาย ส่วนชายอีกคนถูกจับกรณีขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยเวลานี้ชายคนแรกยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจ แต่คนหลังได้รับการปล่อยตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (14 พ.ย.) ทรูโด ถูกพวกผู้ประท้วงบุกเข้าหาที่ร้านอาหารอินเดียแห่งหนึ่ง ในอีกฟากหนึ่งของเมือง ขณะที่วิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพพวกนักเคลื่อนไหวบุกไปเผชิญหน้ากับ ทรูโด ระหว่างที่เขานั่งอยู่ตรงโต๊ะ พวกเขาส่งเสียงเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ ‘ฮามาส’ ในฉนวนกาซา พร้อมตะโกน "คุณมันน่าอดสู" และ "จัสติน ทรูโด คุณให้เงินสนับสนุนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแคนาดา รุดออกจากร้านอาหารอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ตอบโต้พวกนักเคลื่อนไหวใดแต่อย่างใด

ชาร์ลอตต์ เคท ซึ่งเป็นแกนนำร่วมกับกลุ่ม Samidoun Palestinian Prisoner Solidarity Network ที่เข้าร่วมกับการชุมนุมทั้ง 2 แห่ง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แคนาดา ‘แสดงจุดยืนอย่างจริงจัง’ ต่อปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา

ทรูโด กล่าวในวันอังคาร (14 พ.ย.) เรียกร้อง เบนจามิน เนทันยาฮู แสดงออกถึงความอดทนอดกลั้นขั้นสูงสุดในปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มกาซา ซึ่งคร่าชีวิตปาเลสไตน์แล้วมากกว่า 11,000 คน หลังอิสราเอลประกาศสงครามกับฮามาส ในวันที่ 7 ตุลาคม แก้แค้นกรณีที่นักรบกลุ่มนี้บุกจู่โจมอย่างไม่คาดคิดเล่นงานอิสราเอล สังหารผู้คนไป 1,200 ราย และจับเป็นตัวประกันราว 240 คน

เนทันยาฮู ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทรูโด ยืนยันว่ากองทัพอิสราเอลไม่ได้ตั้งใจเล็งเป้าหมายเล่นงานพลเรือน และยืนกรานว่า ฮามาสต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุเสียชีวิตทั้งหมดในกาซา

‘สาวพลัสไซส์’ ซื้อตั๋วเครื่องบิน 2 ที่ เจอแม่ลูกอ่อนขอนั่ง แต่ไม่ยกให้ กลับโดนด่าไม่มีน้ำใจ ด้านชาวเน็ตเสียงแตก ความจริงใครกันแน่ที่ใจร้าย?!

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 เรียกว่ากลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตต่างถกเถียงกัน เมื่อล่าสุดวันที่ 23 มกราคม 2567 เว็บไซต์นิวยอร์กโพสต์ ได้เผยเรื่องของ ‘แจลินน์ ชานีย์’ อินฟลูเอนเซอร์วัย 34 ปี จากเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์การนั่งเครื่องบินเมื่อไม่นานมานี้ โดยเธอได้จองตั๋วเที่ยวบินในประเทศจำนวน 2 ที่นั่ง สำหรับตนเอง เนื่องจากเธอเป็นสาวพลัสไซส์ หากจองที่นั่งเดียวจะลำบากทั้งตัวเธอเองและผู้โดยสารรอบข้าง เธอจึงจัดการปัญหาด้วยการจองที่นั่งเพิ่ม เพื่อให้ทุกคนได้สบายใจมากขึ้น

โดยที่ผ่านมาการเดินทางของชานีย์ก็ราบรื่นไม่เคยมีปัญหา จนกระทั่งครั้งล่าสุดนี้ มีผู้โดยสารหญิงรายหนึ่งซึ่งมาพร้อมลูกชายวัย 1 ขวบครึ่ง มาบอกให้ชานีย์นั่งเพียงเบาะเดียว เพื่อให้ลูกชายของเธอได้นั่งอีกเบาะหนึ่ง ซึ่งชานีย์ได้ย้ำว่า “เธอบอกให้ฉันทำ ไม่ได้ขอร้อง ฉันจึงบอกเธอว่าไม่ เพราะฉันจ่ายค่าที่นั่งนี้เพื่อที่จะได้พื้นที่เพิ่ม”

ซึ่งหลังจากที่คุณแม่รายนี้โดนปฏิเสธ ก็ไม่พอใจโวยวายเป็นเรื่องใหญ่ จนแอร์โฮสเตสคนหนึ่งเข้ามา แต่แอร์โฮสเตสรายนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเข้าข้างผู้โดยสารที่เป็นแม่ ขอให้ชานีย์พยายามนั่งเบียดนิดหน่อย เพื่อที่เด็กจะได้นั่งได้ด้วย แต่ชานีย์ก็ยังยืนยันว่าไม่ เพราะเธอต้องการจะใช้สิทธิ์ในที่นั่งที่เธอจ่ายเงินเอง

อย่างไรก็ตาม ทางแอร์โฮสเตสจึงขอให้ทางผู้โดยสารที่เป็นแม่ อุ้มลูกน้อยนั่งตักของเธอต่อไป ซึ่งผู้เป็นแม่จึงต้องจำใจทำเช่นนั้น แต่ตลอดเที่ยวบิน ชานีย์จะถูกมองค้อนและบ่นว่าด้วยคำพูดไม่ดีสารพัด อีกทั้งเด็กคนดังกล่าวก็ไม่อยู่นิ่งด้วย ทำให้เธอรู้สึกแย่มาก จึงตั้งคำถามทางโซเชียลว่า “ฉันผิดเหรอ? ถ้าคุณอ้วนมากจนต้องทำสิ่งนี้ แสดงว่าคุณเห็นแก่ตัวอย่างนั้นเหรอ?”

หลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งกล่าวตำหนิพฤติกรรมของแม่เด็ก รวมไปถึงพนักงานบนเครื่องบิน อาทิ

- “คุณจ่ายเงินซื้อที่นั่งพิเศษ คุณก็มีสิทธิ์โดยชอบ ส่วนแม่ของเด็กไม่วางแผนล่วงหน้าเอง ซื้อเพียงที่นั่งเดียว แล้วอาศัยผลประโยชน์ของเด็กไปรุกรานสิทธิ์ของคนอื่น เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็ยังไปต่อว่าคนอื่น แบบนี้ใครใจร้ายกว่ากัน ส่วนพนักงานบนเครื่องบินก็ดูเหมือนว่าจะมีปัญหา ทำไมถึงบอกให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วมา 2 ที่ ไปนั่งเบียดตัวเองในที่เดียว”

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจสาวพลัสไซซ์ เข้าไปแสดงความเห็นตำหนิชานีย์ด้วยเช่นกัน เช่น

- “ถ้าคุณอ้วนมากจนต้องนั่งหลายที่นั่งบนเครื่อง ก็เรียกว่าเห็นแก่ตัวเกินไป”
- “เด็กจะใช้พื้นที่สักเท่าไรกัน จริงอยู่ที่แม่ควรซื้อที่นั่งให้ลูก แต่คุณจะไม่จำเป็นต้องใจแคบขนาดนั้น เห็นแก่ตัวมากเกินไปจนทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สบายใจ”
- “สายการบินขายตั๋วเกินจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินอยู่ตลอด คุณเอาอะไรมาตัดสินว่า 2 ที่นั่งนั้นเป็นของคุณคนเดียว” เป็นต้น

15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ‘แคนาดา’ ประกาศใช้ ‘ธงเมเปิลสีแดง’ เป็นธงชาติอย่างเป็นทางการ

แคนาดา มีประวัติศาสตร์หลังการมาถึงของชาวตะวันตกยาวนานราว 400 ปี เบื้องแรกในฐานะดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ก่อนตกมาอยู่ในความครอบครองของอังกฤษในเวลาถัดมา

การใช้ธงชาติของรัฐก่อนที่จะมาเป็นแคนาดาในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยมีสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นรัฐภายใต้อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมอยู่เสมอ

เมื่อเข้าถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสถานการณ์ที่ช่วยส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ และความเป็นชาติของแคนาดา การสนับสนุนอังกฤษในสงครามยังมีส่วนที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง เมื่อประชาชนจำนวนมากพากันต่อต้านการเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะกลุ่มชาวแคนาดาในควิเบกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 แคนาดาเดินหน้าสู่ความเป็นรัฐเอกเทศมากขึ้น และพยายามหาธงชาติใหม่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ใหม่ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2507 ที่รัฐสภาได้ประกาศคัดเลือกธงชาติขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 รัฐสภาได้มีมติเลือกธงชาติพื้นแดงขาว ที่มีใบเมเปิลสีแดง ปลายใบ 11 แฉก อยู่ตรงกลาง ให้เป็นธงชาติของแคนาดา โดยสีแดงบนธงซ้ายและขวา หมายถึง มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนสีขาว หมายถึง ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่และหิมะ ใบเมเปิลคือสัญลักษณ์ของแคนาดา ซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

ทั้งนี้ พิธีสถาปนาธงชาติแคนาดาอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 ณ รัฐสภาแคนาดา

'หนุ่มนักศึกษามหาลัยในแคนาดา' เลือกขึ้นเครื่องบินมาเรียนแทนการเช่าหออยู่ เจ้าตัวเผย!! ประหยัดกว่าหลายหมื่น ฟากโซเชียลแชร์จนเป็นไวรัลไปทั่วโลก

(23 ก.พ. 67) กลายเป็นเรื่องฮือฮาขึ้นมาทันที เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวแคนาดาเลือกที่จะขึ้นเครื่องบินมาเรียนแทนการเช่าหออยู่ เพราะประหยัดกว่า โดยล่าสุดเรื่องราวของเขาได้ออกข่าวในช่องทีวีระดับประเทศไปแล้ว

นักศึกษาคนนี้มีชื่อว่า 'ทิม เฉิน' บ้านเขาอยู่ที่เมือง Calgary ส่วนสถานที่ที่เขากำลังเรียนอยู่นั้นคือที่ The University of British Columbia ซึ่งอยู่ในเมือง Vancouver

โดยทั้งสองเมืองนี้ หากเดินทางด้วยรถจะใช้เวลาราว 11 ชั่วโมง ส่วนเครื่องบินก็ 1.30 ชั่วโมง (หากเทียบเป็นไทยก็น่าจะประมาณเชียงราย-กรุงเทพ)

ด้วยการที่ปัจจุบัน ทิม มีคลาสเรียนแค่ 2 วันต่อสัปดาห์ เขาเลยตัดสินใจกลับไปอยู่บ้าน แล้วเลือกที่จะขึ้นเครื่องบินมาเรียนแทน เรียนเสร็จก็กลับไปนอนบ้านพ่อแม่ที่ไม่ต้องเสียค่าเช่า

ส่วนที่ ทิม ตัดสินใจทำแบบนี้ เพราะอพาร์ทเมนต์ 1 ห้องนอนที่ถูกสุดค่าเช่าจะอยู่ที่ 2,100$/เดือน (ราว 76,000 บาท/เดือน)

ขณะที่ซื้อตั๋วเครื่องบินมาเรียน 8 ครั้ง/เดือน จะตกอยู่ที่ 1,200$/เดือน (ราว 43,000 บาท)

หมายความว่าเขาประหยัดเงินไปถึง 23,000 บาท (แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการตื่นเช้ามาขึ้นเครื่อง)

การที่ ทิม เลือกทำแบบนี้ ก็ทำให้ล่าสุด CTV News ช่องข่าวระดับประเทศของแคนาดามาเลือกทำข่าวเขา แล้วก็กำลังไวรัลไปทั่วโลกเลยตอนนี้ ทำให้เกิดคอมเมนต์ฮาๆ ขึ้นมาเลย เช่น...

"หนุ่มคนนี้ถูกสร้างมาให้แตกต่าง และผมรู้สึกชื่นชมในตัวเขา"

"ประเทศนี้มันแปลกๆ นะเนี่ย"

"จะแปลกใจว่าถ้าสายการบินไม่เคยดีเลย์ แล้วไอ้หนุ่มนี่ก็ไม่เคยเข้าคลาสสายเลยสักครั้ง"

"นี่น่าจะเป็นพรีเซนเตอร์ของสายการบิน Air Canada ที่ดีที่สุดในตอนนี้ ในการโปรโมตว่า ไฟลต์ของเราถูกกว่าค่าเช่าของคุณ"

ชายแคนาดา 2 คน ถูกสลับตัวกัน ตั้งแต่เกิดในโรงพยาบาล ผู้ว่าการรัฐฯ ขอโทษ แต่ทั้งคู่ไม่ยอม เตรียมตั้งทนาย ฟ้องค่าเสียหายแล้ว

(24 มี.ค.67) TNN World รายงานว่า มีชายชาวแคนาดา 2 คน ได้ลองตรวจดีเอ็นเอ จากชุดตรวจดีเอ็นเอแบบง่าย ที่ตรวจได้เองที่บ้าน แต่ความจริงจากชุดตรวจดีเอ็นเอ ได้เปลี่ยนชีวิตของชายวัย 70 ปีทั้งสองคนไปตลอดกาล เพราะพวกเขาเพิ่งรู้ว่า เขาไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดกับครอบครัวที่เลี้ยงดูพวกเขามาเลย

ริชาร์ด โบเวส์ จากเซเชลท์ เมืองชายฝั่งทะเลในรัฐบริติชโคลัมเบีย เติบโตขึ้นมาทั้งชีวิตโดยเชื่อว่า ตัวเขาเป็นชนพื้นเมือง แต่การตรวจดีเอ็นเอแสดงให้เห็นว่าเขามีเชื้อสายยูเครน ยิวอัซเกนัซ และโปแลนด์ผสมกัน

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ห่างออกไป 2,400 กิโลเมตร น้องสาวของเอ็ดดี แอมโบรส จากเมืองวินนิเพก รัฐแมนิโตบา เติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายยูเครน ได้ตรวจดีเอ็นเอและพบว่า เธอไม่มีความเกี่ยวข้องกับเอ็ดดีเลย และโบเวส์คือพี่ชายที่แท้จริงของเธอ

ต้นเหตุของเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับตั้งแต่วันที่พวกเขาลืมตาดูโลก ริชาร์ด โบเวส์ และเอ็ดดี แอมโบรส เกิดในวันเดียวกัน โรงพยาบาลเดียวกัน ในอาร์บอร์ก เมืองเล็ก ๆ ในรัฐแมนิโตบา เมื่อปี 1955 แต่ถูกสลับตัวกันและสลับครอบครัวผู้ให้กำเนิดตั้งแต่วันนั้น

โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค.67 ซึ่งผ่านไปเกือบ 70 ปี ทั้งคู่ได้รับการขอโทษอย่างเป็นทางการแบบพบหน้า จากวาบ คินิว ผู้ว่าการรัฐแมนิโตบา เนื่องจากเขาทั้งคู่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากการที่ถูกสลับตัวกันตั้งแต่เกิด

คินิวกล่าวว่า วันนี้ผมมาเพื่อขอโทษเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว จากการกระทำที่ทำร้ายเด็กสองคน พ่อแม่ 2 คู่ และครอบครัว 2 ครอบครัวในหลายรุ่น บางครั้งเราถูกสอนให้เรียนรู้เรื่องความเห็นอกเห็นใจ จากการลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นคนอื่นจะเป็นอย่างไร ถ้าคำสอนนี้เป็นความจริง แขกผู้มีเกียรติของเราในวันนี้คงจะเข้าใจเรื่องความเห็นอกเห็นใจสูงมากในระดับที่น้อยคนจะได้สัมผัส

ในสมัยเด็กแอมโบรสเคยชักชวนเด็กหญิงจากเมืองใกล้เคียง 2-3 เมืองให้เข้าร่วมทีมเบสบอลใสช่วงปิดเทอม โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า นั่นคือพี่สาวแท้ ๆ ของเขา

ส่วนโบเวส์ ในสมัยวัยรุ่น เขาชอบตกปลา มีครั้งหนึ่งที่พี่สาวแท้ ๆ ของเขา ตกปลาอยู่ข้าง ๆ กัน ซึ่งทั้งสองคนไม่รู้เลยว่าแท้จริงพวกเขาเป็นพี่น้องกัน

ปัจจุบันแอมโบรสได้ติดต่อญาติและครอบครัวทางสายเลือดแล้ว และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์แมนิโตบาเมทิสของชนพื้นเมือง

ส่วนโบเวส์ก็วางแผนที่จะติดต่อกับครอบครัวทางสายเลือดของเขาเช่นกัน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลูกสาวทั้งสองคนของเขาก็ได้สักคำว่า "แอมโบรส" บนแขนของพวกเขา เพื่อระลึกถึงนามสกุลที่แท้จริงของพ่อ

บิล แกนช์ ทนายของทั้งคู่ มีแผนที่จะฟ้องรัฐแมนิโทบา เนื่องจากต้องการคำขอโทษและเงินชดเชย ในเบื้องต้นจังหวัดไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความบอบช้ำทางจิตใจที่เกิดขึ้นกับชายทั้งสอง และอ้างว่าโรงพยาบาลที่เกิดเหตุเป็นของเทศบาล ดังนั้นจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบของจังหวัด

กรณีสลับตัวในลักษณะนี้ถูกพบเป็นครั้งที่ 3 แล้วในแคนาดา และในอนาคตอาจพบอีกเนื่องจากชุดตรวจดีเอ็นเอเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ที่มา : https://www.facebook.com/share/p/YhbACNCaPCJCLZ52/?mibextid=oFDknk
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top