Monday, 29 April 2024
แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตร.ไซเบอร์รวบเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างบริษัทไปรษณีย์ไทยหลอกโอนเงินกว่า 40 ล้าน

สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่ามีบุคคลแอบอ้างเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทย โทรศัพท์มาหลอกผู้เสียหายว่ามีพัสดุผิดกฎหมายซึ่งตรวจพบเป็นกัญชาได้ถูกส่งไปที่ประเทศจีน ซึ่งผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด จากนั้นได้โอนสายไปยังบุคคลที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าผู้เสียหายยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการการฟอกเงิน ต้องโอนเงินไปให้ตรวจสอบทุกบัญชี ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปทุกบัญชีรวมจำนวน 40 ล้านบาท

เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ร่วมกระทำผิด กระทั่งวันที่ 9 พ.ค. 2566 เวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 ได้ร่วมจับกุมตัวนายอานนท์ อายุ 23 ปี ชาวอ่างทอง ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน” โดยควบคุมตัวได้บริเวณ ถนนอ่างทอง-ป่าโมก ต.บ้านแห อ.เมือง จ.อ่างทอง

เบื้องต้น นายอานนท์ยังคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจากการสืบสวนทราบว่าผู้ต้องหาทำหน้าที่รับจ้างเปิดบัญชีให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้ามา ก่อนที่กลุ่มมิจฉาชีพจะโอนเงินไปยังบัญชีอื่นต่อไป นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า นายอานนท์ ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับอีกจำนวน 3 หมายในความผิดลักษณะเดียวกันที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
 
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และ พ.ต.อ.ศุภรฐโชติ จำหงษ์ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 สั่งการให้ พ.ต.ท.ศักดิ์สิทธิ์ ชูบุญเรือง, พ.ต.ต.รังสรรค์ แสงรูจี และ พ.ต.ต.วัฒนชัย ธนกวินวงศ์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันดำเนินการจับกุม

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้โทรได้ ไม่ต้องลงทะเบียน

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.2 บก.สอท.3 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งมีการโพสต์ขายซิมการ์ดมือหนึ่งพร้อมใช้งานโดยไม่ต้องลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนพร้อมรวบรวมพยานหลักฐานจนทราบตัวเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวและมั่นใจว่าได้กระทำความผิดจริง จึงได้วางแผนเข้าล่อซื้อซิมผีและนัดรับสินค้าดังกล่าว

ต่อมา วันที่ 15 พ.ค.66 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์จึงได้ปลอมตัวเข้ารับซิมดังกล่าวที่ได้สั่งซื้อไว้ จากนั้นได้แสดงตัวพร้อมจับกุมนายปัฐวิกรณ์ อายุ ๒๙ ปี ชาวอุบลราชธานี ในข้อหา “เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566" โดยควบคุมตัวได้บริเวณ ริมถนนสาธารณะธรรมวิถี ๔ ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี พร้อมด้วยของกลางเป็นซิมการ์ดที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วจำนวน 4 ชุด โดยเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาไปตรวจค้นบริเวณบ้านพักในพื้นที่ หมู่ที่ ๒๐ ต.ขามใหญ่ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี พบซองใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์พร้อมหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ของเครือขายดีแทค จำนวน 33 ซอง ซึ่งผู้ต้องหารับว่าเป็นซองใส่ซิมการ์ดที่ผู้ต้องหาได้ลงทะเบียนไว้และจำหน่ายให้กับลูกค้ารายอื่นไปแล้วก่อนหน้านี้

ผลการปฏิบัติภายใต้การอำนวยการของพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ,พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผกก.2 บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนดำเนินการ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตุ๋นเงิน ‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ อ้างพัวพัน ยาเสพติด ฟอกเงิน พร้อมโชว์บัตรตำรวจให้ดู

“ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” วัฒนา ภู่โอบอ้อม ยอดนักสนุกเกอร์ไทย ที่เพิ่งคว้าเหรียญทองสนุกเกอร์ 6 แเดง ชายคู่ ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวว่า ก่อนไปแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชา ตนซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้าน วงเงินบัตรเครดิต 1 แสนบาท ใช้ไป 5-6 หมื่นบาท จากนั้นจะใช้อีก ปรากฏว่า เต็มวงเงิน ก็แปลกใจ แต่คิดว่าไปแข่งซีเกมส์ก่อน กลับมาไทยค่อยมาจัดการ ซึ่งหลังจากได้เหรียญทองกลับมาแล้ว

เหตุเกิดวันที่ 16 พ.ค. ตั้งแต่ราว 11.00 น. มีผู้หญิงโทรมา ถามว่าใช่ วัฒนา ภู่โอบอ้อม หรือไม่ แล้วบอกว่าตนติดหนี้ 8.9 หมื่นบาท ตนยืนยันไม่เคยติดหนี้ แล้วก็ถามว่า เคยไป จ.นครสวรรค์ หรือไม่ ตนบอกว่า ไม่ได้ไป 5-6 ปี แล้ว ทางนั้นก็ให้ติดต่อ สภ.เมืองนครสวรรค์ ตนบอกไปไม่ได้ ติดแข่ง จึงให้ต่อสายไป สภ.เมืองนครสวรรค์ ผู้แอบอ้างเป็นตำรวจ มารับช่วงคุย แล้วให้รอ 10 นาที

ต๋อง กล่าวต่อไปว่า ต่อมา ทางผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นตำรวจ บอกว่าตนเองพัวพัน ยาเสพติด ฟอกเงิน ตนสงสัยว่าตำรวจจริงหรือไม่ บุคคลดังกล่าวก็ส่งบัตรประจำตัวให้ดู เป็นยศ พันตำรวจเอก แล้วก็ให้เปลี่ยนมาคุยวิดีโอคอลล์ ทางนั้นถามว่า เปิดบัญชีที่จันทบุรีหรือไม่ แล้วบอกว่า 2 สัปดาห์ก่อน จับพ่อค้ายาเสพติด ชื่อ สัญญา แซ่ลี้ อ้างว่าซื้อบุ๊คแบงค์จากตน 5 หมื่นบาท แล้ว ต๋อง ได้เงินเปอร์เซ็นต์จากการลำเลียงยาเสพติด 10 เปอร์เซ็นต์ 8.5 แสนบาท ตนบอกไม่รู้จัก
.
จากนั้นทางผู้ที่แอบอ้างเป็นตำรวจ บอกว่า ถ้าอย่างนั้น ต้องแสดงความบริสุทธิ์ เช็คเส้นทางการเงิน ถามว่ามีเงินฝากกี่แห่ง ตนก็บอก 5 แห่ง แล้วก็เริ่มให้โอนเงิน เพื่อเช็คเส้นทาง พร้อมขู่ว่า ตอนนี้ชื่อไปอยู่ชั้นศาลแล้ว ถ้าไม่ให้ความร่วมมือ อาจถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือน จนก็จิตตก กลัว โอนไปเรื่อยๆ คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะเห็นบัตรว่าเป็นตำรวจจริง โอนไปจนเรื่อย ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ยืมแม่มาอีก 2 แสนบาท ตอนนั้นอยู่โต๊ะสนุกเกอร์ทีบีซี สนุกเกอร์ เตรียมซ้อม จนเพื่อนนักสนุกเกอร์ เอะใจ มาแย่งโทรศัพท์ไป แล้วด่าใส่โทรศัพท์ ก่อนวางสายไป สรุปแล้ว โอนไป 10 รายการ โอนจนแบตเตอร์รี่โทรศัพท์แทบหมด หมดไป 3.2 ล้านบาท เงินสดทั้งตัวเหลือ 8 พันบาทเศษๆ เท่านั้น เพราะเงินที่ได้มา ส่วนใหญ่แปรทรัพย์สินไปซื้อที่ดิน

“เขารู้ข้อมูลหมดทุกอย่าง มาถามว่ามีที่ดินที่ไหน ที่จันทบุรีมีเท่าไหร่ บ้านเมืองนอกมีไหม ผมระวังตัวมาตลอด ไม่คิดเลยว่าจะเจอ อยากเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ อยากเตือนให้ทุกคนรู้ว่ามันอันตรายจริงๆ ผมไม่อาย ที่เปิดเรื่องนี้ขึ้นมา” ต๋อง กล่าว

นอกจากนี้เจ้าตัวยังเปิดเผยอีกว่าจนได้ไปแจ้งความที่ สน.วังทองหลางไว้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะทันหรือไม่ทัน แล้วแต่บุญแต่กรรม ไปสถานีตำรวจ 3 รอบแล้ว เหนื่อยมาก วันที่ 19 พ.ค.ก็มีแข่ง ก็ไม่มีแก่ใจ ตอนนี้ไม่กล้ารับสายใครแล้ว

‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ลวงนักศึกษาจีน เดินทางข้ามประเทศ จากสิงคโปร์มาเขมร เพื่อจับตัวไปเรียกค่าไถ่ 3 ล้านหยวน!!

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นับวันยิ่งมีกลยุทธเหนือเมฆขึ้นทุกวัน ล่าสุดสามารถหลอกเหยื่อให้เดินทางข้ามประเทศมาให้จับตัวเรียกค่าไถ่กันเลยทีเดียว

เมื่อไม่นานนี้ หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในหลายประเทศ และสถานทูตจีนในสิงคโปร์ ได้รับแจ้งเหตุการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ของนักศึกษาจีนคนหนึ่ง ที่กำลังเรียนในสิงคโปร์ ว่าเขาถูกจับตัวเรียกค่าไถ่เป็นเงินสูงถึง 3 ล้านหยวน (ประมาณ 14.4 ล้านบาท) โดยกลุ่มมิจฉาชีพในกัมพูชา

เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา นักศึกษาจีนรายนี้ได้รับโทรศัพท์ปริศนา อ้างว่าเขากำลังถูกตามจับโดยรัฐบาลจีน และควรหลบหนีออกจากสิงคโปร์เพื่อซ่อนตัว

ด้วยความกลัว นักศึกษาจีนขอความช่วยเหลือจากปลายสาย และได้รับคำแนะนำให้เดินทางมายังสีหนุวิลล์ เมืองชายฝั่งชื่อดังของกัมพูชา โดยจะมีคนช่วยหาที่หลบซ่อนตัวให้

นักศึกษาจีนหลงเชื่อ รีบจับเครื่องบินจากสิงคโปร์ ไปลงที่สีหนุวิลล์ทันที และถูกแก๊งมิจฉาชีพจับตัวไปขัง พร้อมถ่ายคลิปวิดีโอเรียกค่าไถ่จำนวน 3 ล้านหยวน ส่งไปให้พ่อแม่ของเขาที่ประเทศจีน

แต่เมื่อครอบครัวของนักศึกษาจีนผู้เคราะห์ร้ายได้รับคลิปวิดีโอข้อความเรียกค่าไถ่ พวกเขารีบแจ้งตำรวจทันที ซึ่งทางการจีนก็ประสานงานไปยังสถานทูตจีนในกรุงพนมเปญ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการตามล่าจับตัวคนร้าย และสามารถช่วยเหลือนักศึกษาจีนที่ถูกลักพาตัวได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีการจ่ายเงินค่าไถ่

ปฏิบัติการครั้งนี้ ต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนทั้ง จีน กัมพูชา และสิงคโปร์ กว่าจะจับกุมแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ และช่วยเหลือเหยื่อออกมาได้ ต่อมา สถานทูตจีนในสิงคโปร์ได้ออกประกาศเตือนนักศึกษา และ ชาวจีนในสิงคโปร์ ให้ระวังอย่าหลงเชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามประเทศ

ทางการสิงคโปร์ย้ำว่า เจ้าหน้าสิงคโปร์ไม่เคยขอข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ และไม่ควรเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ สถานะครอบครัว หรือเลขบัญชีธนาคารกับคนที่เราไม่รู้จักทางโทรศัพท์โดยเด็ดขาด

ในปัจจุบันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานด้านคดีค้ามนุษย์และลักลอบเข้าเมืองของตำรวจสากล พบว่ากลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้เริ่มมองหาเหยื่อที่เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี จบระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้าน IT หรือสนใจเรื่องเทคโนโลยี ที่มักถูกหลอกไปลงทุนในธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี แชร์ลูกโซ่ หรือเล่นพนันออนไลน์

ในปี 2022 ที่ผ่านมา มีคดีที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในสิงคโปร์มากถึง 771 เคส ที่รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 97.6  ล้านเหรียญสิงคโปร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมักพบว่าแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในกัมพูชา ลาว และ พม่า

มาคราวนี้ หลอกลักพาตัวข้ามชาติกันไปเลย แต่ยังโชคดีที่สามารถติดตามตัวช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะหลายครั้ง เหยื่อที่ถูกลักพาตัวมักถูก กักขัง ทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดทางเพศ 

ดังนั้น เราจึงไม่ควรหลงเชื่อปลายสายที่เราไม่รู้จัก หรือติดต่อเข้ามาด้วยหมายเลขแปลกๆ หากสงสัย หรือรู้ตัวว่าอาจถูกหลอก ควรรีบแจ้งตำรวจก่อนจะทรัพย์จะหายจนสายเกินแก้
 

‘ประเสริฐ’ เผย ‘ดีอีเอส’ เดินหน้าทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมกำราบพวกหมิ่นสถาบันฯ ลั่น!! ปราบเข้มทุกเรื่อง

(13 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นปัญหา ว่า ในวันที่ 15 ก.ย. นี้ เรามีการประชุมแนวทางการทำงาน ไม่ใช่เป็นการรื้อระบบใหม่ เพราะของเก่าก็ทำดีอยู่แล้ว แต่ดูว่าเราจะทำอะไรเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ เพราะมีขั้นตอนในการดำเนินการอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าจะมีการประสานความร่วมมือกับทางประเทศเพื่อนบ้าน หรือตำรวจไซเบอร์หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เดิมก็มีการประสานอยู่แล้ว แต่จะดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ หรือไม่ ที่สามารถเข้าไปตัดวงจร ปิดเว็บไซต์อะไรต่างๆ ที่สามารถทำได้ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ บัญชีม้า เส้นทางการเงิน เฟคนิวส์ ถือเป็นภารกิจแรกที่เราจะเริ่มดำเนินการ

นายประเสริฐ กล่าวว่า ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ ส่วนประเด็นการหมิ่นสถาบันฯ เป็นเรื่องที่เราต้องทำอยู่แล้ว ทำเข้มทุกเรื่องปราบให้หมด ส่วนการแต่งตั้งบุคลากรในกระทรวงฯ นั้นได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษา รมว.ดีอีเอส และเลขานุการ รมว.ดีอีเอส ถึงบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขแล้วเช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของกระทรวงอื่นนั้นยังไม่ครบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคลากรที่จะดำรงตำแหน่งในส่วนของกระทรวงดีอีเอส ได้แก่ นายวัลลภ รุจิรากร เป็นเลขานุการ รมว.ดีอีเอส นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษา รมว.ดีอีเอส

กสทช. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนแม่สอด

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านป้องกันและปราบปราม, พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช. สอท., นายสุธีระ พึ่งธรรม ผอ.สำนักกิจการภูมิภาค, นายจาตุรนต์ โชคสวัสดิ์ ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม, นายภาณุพงษ์ ชัยศรีทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 31, พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. และ สอท. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมและเสาสัญญาณผิดกฎหมายตามแนวชายแดน อ.แม่สอด จว.ตาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบส่งสัญญาณโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอาชญากรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย และจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อสกัดไม่ให้มีการเผยแพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการย้ายฐานปฎิบัติการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังสามารถอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยได้ และปลอดภัยจากการกวาดล้างจับกุม โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จว.ตาก ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและบางส่วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการร่วมตำรวจและ กสทช. ได้มีการลงพื้นที่หาข่าวจนนำมาสู่การปฎิบัติการในครั้งนี้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

​กรณีที่ 1 เข้าจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน ๒ สถานี และในพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จำนวน 4 สถานี เป็นความผิดฐาน “มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต” ตามมาตรา 6 และ 11 แห่ง พรบ.วิทยุคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และความผิดฐาน “ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่งโดยไม่ได้อนุญาต” ตามมาตรา 67 (1) แห่งพรบ.ว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 3 ราย ในการนี้ ได้ทำการรื้อถอนสถานีวิทยุคมนาคมผิดกฏหมายดังกล่าวทั้งหมด และทำการยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  

​กรณีที่ 2 พบการตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศ เพื่อนบ้าน ฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทำให้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเหตุให้พื้นที่การให้บริการผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเกินกว่าอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย และล่วงล้ำไปยังอาณาเขตประเทศข้างเคียง โดยตรวจสอบพบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าลักษณะดังกล่าวจำนวนหลายสถานี ในกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด เร่งแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้ถอนการติดตั้งสายอากาศบางจุด หรือ ปรับทิศทางสายอากาศ หรือ ดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด มิให้แพร่สัญญาณคลื่นความถี่ออกนอกเขตพื้นที่ประเทศไทย เพื่อให้พื้นที่การให้บริการ อยู่ภายในอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย ​นอกจากนี้ ตั้งแต่ พ.ค.66 - ปัจจุบัน ได้ตรวจพบการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนการใช้งานโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ใช้งานที่แท้จริงเพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลอื่น จำนวน 7,668 ซิมการ์ด จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 20 คน แบ่งเป็นคนไทย 12 คน และต่างชาติ 8 คน ดำเนินคดีตาม  พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

​สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฏหมาย ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบเสาสัญณาณไม่ให้แพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กวดขันจับกุมผู้ขายและผู้เป็นธุระจัดหา ซิมผี บัญชีม้า เพื่อตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ไม่ให้ทำงานได้สะดวกเหมือนเคย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผู้รับใบอนุญาตเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีการหารือในการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตีกรอบการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน

​ทั้งนี้ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ให้มีความระมัดระวังการใช้การใช้งานเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา มีการออกอุบายใหม่ๆ ที่เน้นสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อตกใจตื่นตระหนก ตกหลุมพรางของแก๊งมิจฉาชีพ ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่าตกใจ ไม่เชื่อ ไม่โอน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังพบว่า แก๊งมิจฉาชีพได้มีการจ่ายเงินซื้อโฆษณา เพื่อให้ลิงค์หรือเว็บไซด์ปลอมมาแสดงอยู่ในลำดับต้นๆ หรือสามารถเข้าถึงผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก มีการปลอมยอดติดตามหรือยอดไลท์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เมื่อประชาชนที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ต้องการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ กดเข้าไปในลิงค์หรือเว็บไซต์ปลอม ถูกหลอกซ้ำซ้อนสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเกิดข้อสงสัยหรือต้องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ขอให้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

‘ธนกร’ แนะ!! ตำรวจควรใช้โอกาสนี้ ถอนรากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังรวบเครือข่ายรายย่อยออกจากเล้าก์ก่าย เพื่อหาตัวการใหญ่

(19 พ.ย.66) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศให้การช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่เล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โอกาสการช่วยเหลือคนไทย ที่มีข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่าอาจถูกหลอกเป็นเหยื่อของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสาวถึงตัวการรายใหญ่ที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยพบว่ามีการว่าจ้างคนไทย หลอกคนไทยด้วยกันเองให้ไปทำงานกับขบวนการนี้และไม่เพียงเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น ยังมีเหยื่อที่ถูกบังคับค้าประเวณี ค้ามนุษย์ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย

เมื่อถามว่า แต่ตัวการรายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังส่วนมากจะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน นายธนกร กล่าวว่า ขบวนการนี้ทำเป็นเครือข่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนสอบสวนมีข้อมูลว่าผู้ต้องหามีทั้งคนไทยที่สมรู้ร่วมคิดหลอกคนในประเทศออกไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน หากติดตามสืบสวนสอบสวนแล้วจะสามารถสาวไปถึงตัวการที่อยู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเมียนมา กัมพูชา ไทยได้ประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้ประสานกัมพูชา เพื่อดำเนินการเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหามาแล้วหลายราย

“ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้โอกาสที่ช่วยเหลือคนไทยในเมียนมาออกมาได้ สืบสวนสอบสวนสาวให้ถึงต้นตอผู้บงการรายใหญ่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังจากที่ใช้เครือข่ายโทรหลอกลวงประชาชนทำสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก บางคนถึงกับหมดเนื้อหมดตัวคิดสั้นก็มี ซึ่งเชื่อว่ามีคนไทยรู้เห็นสมคบคิดในขบวนการนี้ด้วย ทั้งนี้ หากตัวบงการรายใหญ่อยู่ต่างประเทศทั้งในเมียนมาและกัมพูชา ก็สามารถประสานความร่วมมือเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ ถอนรากถอนโคน ใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการเร่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน” นายธนกร ระบุ

‘ทรู-ดีแทค’ ขานรับ ‘กสทช.’ ผนึกกำลังสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพิ่มมาตรการระงับเบอร์โทรต้องสงสัย เสริมเกราะป้องกันให้ลูกค้า

(13 ธ.ค. 66) จากกรณีภัยคอลเซ็นเตอร์และกลโกงทางไซเบอร์ ทำความเสียหายให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ มีความห่วงใยและพร้อมเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ กับทุกภาคส่วน โดยร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ‘กสทช.’ สนับสนุนมาตรการขจัดภัยไซเบอร์ของรัฐบาล โดยมุ่งไปที่เบอร์โทรต้องสงสัยที่โทรออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดปกติ โดยจะดำเนินการส่ง SMS ไปยังหมายเลขต้องสงสัยทั้ง ‘ทรูมูฟ เอช’ และ ‘ดีแทค’ พร้อมระงับการใช้เบอร์ทันที เพื่อให้ติดต่อกลับยืนยันตัวตน ว่าเป็นผู้ใช้งานจริงและดูแลไม่ให้ได้รับผลกระทบในการใช้บริการ โดยสามารถติดต่อกลับที่คอลเซ็นเตอร์ทรู 1242 ดีแทค 1678 หรือทรูชอป และศูนย์บริการดีแทค

นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยภัยคุกคามจากมิจฉาชีพที่มาในหลากหลายรูปแบบ สร้างความเดือดร้อนในวงกว้าง จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันขจัดภัยอย่างจริงจัง ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการดูแลลูกค้าทุกคนให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามที่มาจากยุคดิจิทัล และต้องการร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนกับทุกภาคส่วน จึงพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐฯ ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กสทช. สนับสนุนมาตรการขจัดภัยไซเบอร์ของของภาครัฐ ที่กำหนดให้ระงับการใช้เบอร์โทรต้องสงสัยที่มีการใช้งานโทรออกมากผิดปกติ ซึ่งทั้งดีแทค และทรูมูฟ เอช มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ จะดำเนินการส่ง SMS และระงับการใช้งานเบอร์ที่ต้องสงสัยทันที ซึ่งเป็นเลขหมายแบบเติมเงินเท่านั้น ไม่รวมถึงเลขหมายแบบรายเดือน หรือเบอร์ที่ลงทะเบียนภายใต้หน่วยงานหรือองค์กร

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้บริการ พร้อมดูแลลูกค้าคนสำคัญเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว โดยกรณีที่เป็นผู้ใช้งานจริงและใช้งานอย่างถูกต้อง สามารถติดต่อกลับที่คอลเซ็นเตอร์ดีแทค 1678 หรือทรู 1242 และ ทรูชอป หรือศูนย์บริการดีแทค เพื่อยืนยันตัวตน ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของทรู คอร์ปอเรชั่น ที่จะเดินหน้ายกระดับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อยับยั้งความเสียหายได้อย่างทันท่วงที เสริมเกราะป้องกันลูกค้าและคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”

‘ดีอี’ ร่วมกับตำรวจไซเบอร์ แถลงปฏิบัติการณ์ทลาย ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ รายใหญ่ ยึดทรัพย์สินนับพันล้าน

วันที่ 12 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พลตำรวจเอก รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวปฏิบัติการยึดทรัพย์เครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอรร์ายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 13 จุด ยึดทรัพย์สินได้มูลค่ารวมกว่า 281.5 ล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้จัดตั้งศูนย์ AOC 1441 ขึ้นมาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อรับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากภัยอออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามอาญชากรรมออนไลน์และขยายผลการจับกุม เพื่อเร่งรัดติดตามทรัพย์สินประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหาย ไปจนถึงการดำเนินการปกป้องความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน นำมาซึ่งปฏิบัติการจับกุมคดีสำคัญในครั้งนี้ คือ คดีของนางสาวธารารัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง มีพฤติการณ์แบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการ ในรูปแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างกลโกงหลอกลวงประชาชนผู้เสียหายหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมหาศาล   

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นผลจาก การบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน ปปง. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์รายคดี นางสาวธารารัตน์  กับพวก ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการพนัน โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสืบสวนดำเนินคดีในรายคดีดังกล่าว

อีกทั้งจากข้อมูลของ บก.ปอศ. พบว่า นางสาวธารารัตน์ กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดในลักษณะ ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำและหลอกลวงผู้เสียหายหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สุ่มเข้ามาหลอกลวงประชาชนทั่วไป แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์หลอกลวงผู้เสียหายด้วยการโพสต์ข้อความผ่าน แอปพลิเคชั่น Facebook ในลักษณะเป็นการโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาแลกเปลี่ยนเงินสกุลบาทเป็นเงินสกุลหยวนในอัตราที่ถูกกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของสถาบันการเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดไม่โอนเงินสกุลหยวนหรือไม่สามารถได้ผลตอบแทนตามกำหนด โดยมีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจานวนมาก 

จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า กลุ่มของนางสาวธารารัตน์ กับพวก มีการโอนเงิน มากกว่า 3 พันล้านบาท ไม่สอดคล้องกับอาชีพรายได้ รวมทั้งกลุ่มผู้กระทำความผิดดังกล่าวมีการโอนเงิน ไปยังบัญชีเงินฝากของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ และทำธุรกรรมเพื่อปกปิดอำพราง ซ่อนเร้น หรือยักย้ายถ่ายเทเงินและแปลงสภาพเป็นทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ด้วย 

โดยในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ณ สำนักงาน ปปง. คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 238 รายการ (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่ดิน ห้องชุด สลากออมสินและเงินในบัญชีเงินฝาก) พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 924 ล้านบาท 

สำหรับปฏิบัติการเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ได้มอบหมายให้คณะพนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับคณะพนักงานสืบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีในการลงพื้นที่ตรวจค้นและยึดทรัพย์เครือข่ายของผู้กระทำความผิดในรายคดีดังกล่าว เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จำนวน 4 จุด นนทบุรี จำนวน 2 จุด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด รวม 13 จุด ผลจากการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินผลการเข้าตรวจค้นพบทรัพย์สินเพิ่มเติมจำนวน หลายรายการ เช่น ธนบัตร ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ นาฬิกาแบรนด์เนม รถยนต์ และ รถจักรยานยนต์รวมมูลค่าประมาณ 161.5 ล้านบาท และตรวจพบบ้านพักหรู จำนวน 2 หลัง รวมมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งจะได้ยึดไว้และดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป 

เลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายคดีโดยมุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน และตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด ในขณะเดียวกันถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหาย ในความผิดมูลฐาน สำนักงาน ปปง. ก็จะพิจารณาดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายด้วย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิภายใน 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด

ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา สนธิกำลังกับตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ รวบเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) , พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6 นำกำลัง ตม.จว.สงขลา ผนึกกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเดา , เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) บช.ก , เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. คลองแงะ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) บช.ก. เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 เวลาประมาณ 14.50 น. ได้ร่วมกันจับกุม MR.CHEONG KOK WAI  อายุ 43 ปี สัญชาติ มาเลเซีย  

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ได้รับการประสานว่ามีบุคคลต้องสงสัยตามหมายจับ ผ่านพรมแดนเข้ามายังประเทศไทย จึงขอให้ตำรวจ สภ.สะเดา ตั้งจุดสกัด ต่อมาได้พบรถเก๋งยี่ห้อ Mercedes-benz  ติดแผ่นป้ายทะเบียน WA868W จึงตามไปถึงบริเวณแยกไฟแดงควนสะตอ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้หยุดรถและแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ พบ MR.CHEONG KOK WAI สัญชาติมาเลเซีย ได้เชิญตัวมายัง สภ.สะเดา ตรวจสอบพบหมายจับดังกล่าว สอบถาม MR.CHEONG KOK WAI ผู้ถูกจับกุมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ขอให้การในชั้นจับกุม

พ.ต.อ.ชินวุฒิ ตั้งวงษ์เลิศ ผกก.ตม.จว.สงขลา กล่าวว่า การจับกุมในครั้งนี้ ผบช.สตม.มีนโยบายให้เข้มงวดคัดกรองตรวจสอบประวัติบุคคล ไม่ให้มีผู้กระทำความผิดกฎหมายเข้ามาสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยได้ จึงขอฝากข้อมูลถึงประชาชน หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1178


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top