Tuesday, 7 May 2024
เศรษฐกิจโลก

‘ดร.กิตติ’ สะท้อน!! ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ แรงสั่นสะเทือนมนุษยชาติ ต้องมุ่ง ‘พัฒนา-แก้ไข’ ด้วย BCG ประคอง ‘สังคมเศรษฐกิจโลกและไทย’

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ‘ดร.กิตติ ลิ่มสกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมปัญหาของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่อาจจะดูเล็กไปเลย หากเทียบกับอีกปัญหาใหญ่ทางธรรมชาติ ที่สะเทือนสังคมมนุษย์ทั้งโลกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

ภาวะเศรษฐกิจโลก ตอนนี้หลายประเทศยังต้องเผชิญปัญหาที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปนั้น ก็เผชิญภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จนต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งทำให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต้องขึ้นตาม รวมถึงปัญหาสงครามยูเครน ที่กระทบมาถึงยุโรปที่ต้องเผชิญวิกฤติด้านพลังงาน จากการพึ่งพิงรัสเซีย

ขณะที่จีนก็เจอแรงสะดุดด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเช่นกัน 

ส่วนไทยเอง แม้จะได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวในช่วงนี้ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านการส่งออก (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ) การใช้จ่ายของรัฐบาล (การเมือง) ภาวะการหนี้ครัวเรือนสูง (ประชาชน) เกินครึ่งเป็นหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน อีกส่วนเป็นหนี้รถยนต์ ส่วนหนี้ไม่ดีเช่น หนี้บัตรเครดิต ต้องส่งเสริมให้คนไทยหันมาออมกันมากขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะให้กับตัวเองเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากปล่อยนานเข้าก็คงส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่า ปัญหาที่ว่ามาทั้งหมด อาจจะดูเล็กไปเลยเมื่อสังคมโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากธรรมชาติ ซึ่งนาทีนี้ก็คือ ‘เอลนีโญ’ และ ‘ลานีญา’

เอลนีโญ คือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ 

ส่วนลานีญาจะตรงข้ามกับของเอลนีโญ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น เกิดความไม่สมดุล เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ จะเกิดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ทั้งสองส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับที่ประมาณ 2 องศา

ประเด็น คือ ภายใต้ความพยายามควบคุมให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศา เช่น การใช้พลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน ให้ลดลง ซึ่งสาเหตุเกิดจากมนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม มันมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เชื่อมเข้ามาให้จับด้วย

แล้ว เศรษฐกิจ กับ ‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ไปเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ปัจจุบันมีการนำ BCG เข้ามาเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ที่ภาครัฐและเอกชนเริ่มให้ความสำคัญ เพราะมันจะสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับผู้ที่เข้าใจและผลักดันอย่างรวดเร็ว โดย...

B = Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ เราต้องสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำทรัพยากรชีวภาพ มาผลิตให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าสูง

C = Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น มันสำปะหลัง เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ฟางข้าวต้องเผาไหม สามารถนำกลับมาหมุนเวียนได้ไหม ถ้านำกลับมาได้จะเกิดมูลค่า

และ G = Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช การฟอกกระดาษด้วยเอนไซม์จากจุลินทรีย์เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องเร่งให้ความรู้ หากเราไม่ใส่ใจ จะส่งผลต่อเกษตรกร ไม่ได้ผลลัพธ์การปลูกเต็มที่ เกิดความแห้งแล้ง และความยากจนมากขึ้น ส่งผลกระทบความเสียหายเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ในภาคประชาชน ก็ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาการใช้รถสาธารณะ รถไฟฟ้ามากขึ้น หรือการแยกขยะ ก็จะมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมาก

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเป็นทั้งโอกาสที่ซ่อนอยู่ในเชิงเศรษฐกิจ ถ้าทำได้ดี อีกทั้งยังเป็นความหวังต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่ควรต้องเร่งกันผลักดันกันทั้งโลกและในเมืองไทย

‘แบงก์ชาติ’ ชี้!! ‘เศรษฐกิจโลก’ ยังมีความเสี่ยงสูง แนะคลังสร้างกันชนรับมือ หลังหนี้สาธารณะ-ครัวเรือนพุ่ง

(30 ต.ค. 66) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีความเสี่ยงต่อการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ระบุว่า จะเป็นการฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ในระยะปานกลางขยายตัวได้ในระดับ 3% เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นระดับที่ไม่สวยหรูนัก

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ เช่น ห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน จึงเป็นความเสี่ยงที่ประเมินผลต่อเศรษฐกิจที่มีความยากกว่าในอดีต เพราะมองผลข้างเคียงไม่ออก และคาดเดาไม่ได้

ดังนั้น ในเวทีโลกจึงห่วงเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ที่แนะนำว่าแต่ละประเทศ ควรมุ่งเน้นทำนโยบาย ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ เพราะผลจากสงคราม อาจทำให้เกิด Inflation Shock ที่เคยดูแลเงินเฟ้อ ก็อาจจะกลับพุ่งขึ้นมาอีก รวมทั้งสร้างกันชนทางภาคการคลัง จากช่วงที่ผ่านมาในแต่ละประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคการคลังกันมาก จึงควรมุ่งเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เร่งปรับหนี้สาธารณะให้ลดลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับดูแลเสถียรภาพด้านการเงินไปด้วย และมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล และ ธุรกิจสีเขียว

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของไทย แม้เสถียรภาพโดยรวมจะโอเค แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางประเด็นที่โอเค และบางเรื่องที่โอเคน้อยหน่อย เช่น เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับดี ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ต่างประเทศไม่สูง ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ฐานะธนาคารพาณิชย์แข็งแกร่ง ส่วนที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อจีดีพี แม้จะลดจากช่วงที่สูงที่สุดคือ 94% แต่ก็ยังสูง และอยากให้กลับลดลงมาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่สากล 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะในระดับ 61.7% ต่อจีดีพี ที่ถือว่าสูง

ขณะที่เสถียรภาพตลาดทุนที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกตั้งแต่ต้นปี -8.4% หรือมีเงินทุนไหลออกกว่า 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร สวนทางกับประเทศอื่น สูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงเป็นที่ 2 รองจากที่เคยไหลออกสูงสุด 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็มีความผันผวน 8-9% สูงกว่าอดีตและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นรองแค่ประเทศเกาหลีใต้ที่ผันผวน 12%

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า มีความเสี่ยงที่ Credit Rating Agency’s จี้จุดประเทศไทย มีโอกาสปรับมุมมองจากเสถียรภาพ เป็นมุมมองเชิงลบ (Negative) หากนโยบายภาคการคลังมีความเสื่อม ดังนั้นควรมุ่งลดรายจ่าย ทยอยปรับลดการขาดดุล ปรับลดหนี้สาธารณะ มีมาตรการเพิ่มรายได้ ซึ่งล่าสุดมีบางบริษัทให้ความกังวลภาระหนี้ต่องบประมาณ ไม่เกิน 12% ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ในระดับ 10% กว่า

“หนี้สาธารณะยอมรับว่าวิ่งไปเยอะจากช่วงก่อนโควิดในระดับ 40% ต่อจีดีพี ทุกประเทศก็มุ่งดูเรื่องเสถียรภาพ จะบอกว่าเราไม่แคร์เลยก็คงไม่เหมาะ หากมองว่าความเสี่ยงเยอะ ก็ควรต้องเก็บลูกกระสุนไว้หรือเปล่า ซึ่งพื้นที่ในการทำนโยบาย (Policy Space) เราจะไม่เห็นความสำคัญของมัน จนกว่าจะหมด หรือมันไม่มี” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

‘ดร.สุวินัย’ ชี้!! โลกการเงินกำลังจะถูกรื้อแบบ ‘Global Reset’ ภายใต้เงื่อนไขตะวันตกมีแต่หนี้ ส่วนที่รุ่งเรืองมีแค่ตะวันออก

ไม่นานมานี้ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ระบุว่า...

โลกการเงินกำลังจะถูกรื้อแบบถอนรากถอนโคน กับ ‘Global Reset’ ครั้งที่ 2

สองเรื่องใหญ่ขณะนี้ในระบบการเงินของสหรัฐฯ

1.) เรื่องของปริมาณ Money Supply ที่หมุนเวียนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงมากมาประมาณ 18 เดือนติดต่อกันแล้ว

2.) พันธบัตร 10y ที่ดันดอกเบี้ยขึ้นไปถึง 5%... การดันจาก 0.6% ขึ้นไปถึง 5% นี่ แสดงว่าจะต้องมีการเทขายพันธบัตรกันมากขนาดไหน

ระบบการเงินทั้งระบบขึ้นอยู่กับการใช้เครดิต เมื่อมีการสะดุดของเครดิตจุดใดจุดหนึ่ง… ระบบทั้งหมดจะเกมโอเวอร์

เมื่อตลาดหนึ่งพังลง อีกตลาดก็ต้องพังลงเป็นโดมิโน และภายในสามวันก็จะไม่มีตลาดเหลืออีก… การแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีการสต็อกไว้ก็จะสะดุด ถึงแม้ตอนนั้นคิดขึ้นได้ว่าจะต้องซื้อทองคำ ก็จะไม่มีตลาดทองคำเหลืออีกต่อไป

สามวันหรือ 72 ชั่วโมงนี่แหละ เป็นเวลาที่ร่างกายมนุษย์จะทนขาดอาหารอยู่ได้ในเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ

น้อยคนที่จะเก็บอาหารไว้นานกว่าสามวัน ทุกคนฝากชีวิตอยู่กับซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งก็ต้องหมุนเวียนสินค้าด้วยเครดิต ซึ่งเก็บสต็อกสินค้าแบบ 3-days inventory เหมือนกันทั้งหมด

แม้แต่ธุรกิจใหญ่ ๆ ก็ไม่สามารถ Rollover ตั๋วเงินของตนต่อไปได้… นี่คือการระเบิดของฟองสบู่หนี้ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่เกิดจากดอกเบี้ยสูง

Timing ของเรื่องสถานการณ์ในตะวันออกกลางตอนนี้กับเรื่องการยกระดับของสงคราม มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องที่ระบบการเงินกำลังจะล่ม และต้องการให้มีอะไรสักอย่างมาเป็นสาเหตุของการล่มครั้งนี้ของระบบ

การใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐฯ ตอนนี้คุมไม่อยู่แล้ว แค่สามเดือน Fed ต้องสร้างเงินถึง $1 trillion… นั่นเป็นจำนวนหนี้ที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาในช่วง 200 ปีแรกหลังจากก่อตั้งประเทศ 

หนี้ที่เพิ่มขึ้น $1 trillion เทียบได้เท่ากับ 4% ของ GDP จำนวน $25 trillion ของสหรัฐฯ… เท่ากับว่าเป็นหนี้ 4% เพียงเพื่อจะเติบโต 2% เท่านั้น!!

เพราะสหรัฐฯ จะหยุดการสร้างหนี้ไม่ได้ 

ประเทศต้องเติบโต ถึงแม้จะสร้างหนี้ $4-$5 เพื่อการเติบโตแค่ $1 ก็เถอะ

การสร้างเงินเพิ่มมากขึ้นจะเป็นการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เสื่อมค่า 

นี่เรากำลังพูดถึงค่าที่เสื่อมไป 50% หรือ100% โดยอาจจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่มาในปริมาณเดียวกัน…

ถ้าเราต้องพบกับดอกเบี้ย 20% หรือ 40% ยังจะมีธุรกิจอะไรเหลืออยู่อีกหรือในสหรัฐฯ?

‘Global Reset’ เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครเตือนเลย 

จะต้องมีการรีเซ็ต แต่ไม่ใช่ครั้งเดียวหรอก 

รีเซ็ตครั้งแรกเป็น Man-Made โดยผู้มีอำนาจในสหรัฐฯ เป็นคนริเริ่มเองแต่ไม่สำเร็จ

รีเซ็ตครั้งที่สองเป็นเรื่องระหว่างสองซีกโลกซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ 

มันเป็นการงัดกันระหว่างฝ่ายตะวันตกที่มีแต่หนี้… มีแต่ความเสื่อมโทรมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีทรัพย์สิน กับฝ่ายตะวันออกที่มีความรุ่งเรืองของโครงสร้างพื้นฐาน เห็นได้ชัดทั้งในเมือง… นอกเมือง… และสนามบิน 

ไม่ต้องบอกเลยว่าใครจะเป็นผู้รีเซ็ตในครั้งที่สองนี้ได้สำเร็จ

‘ททท.’ เผย ยอดต่างชาติเที่ยวไทย ปี 66 ทะลุเป้า 27 ล้านคน สวนทางรายได้ วืดเป้า 4 แสนล้าน เหตุเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 66 นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.คาดว่าตลอดปี 2566 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 27 ล้านคน สร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ ททท. ตั้งไว้ตลอดปีนี้ ซึ่งตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-28 ล้านคน สร้างรายได้ 1.6 ล้านล้านบาท

หลังจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 3 ธ.ค. 2566 รวม 25,081,212 คน สร้างรายได้ 1,067,513 ล้านบาท และเมื่อประเมินเฉพาะเดือน ธ.ค. ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

“ด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาจำนวนเที่ยวบินยังไม่กลับมาเป็นปกติ ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นความหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัว 4-4.04 ล้านคน น่าจะได้จริงเพียง 3.4-3.5 ล้านคน ห่างจากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยกว่า 11 ล้านคน เนื่องจากในตอนนี้เศรษฐกิจจีนเองกำลังมีปัญหา และรัฐบาลจีนเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เห็นได้จากค่าตั๋วเครื่องบินภายในประเทศจีน เดือน ธ.ค. เฉลี่ย 590 หยวน ลดลง 19% จากเดือน พ.ย. ที่มีราคา 728 หยวน ส่วนราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศในเดือน ธ.ค. ราคาเท่ากับเดือน พ.ย. ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1,980 หยวน ทำให้คนจีนออกท่องเที่ยวภายในประเทศกันเป็นจำนวนมาก” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

ด้านกระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย จากสถิติช่วง 11 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 30 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (รวมนักท่องเที่ยวและนักทัศนาจร) เดินทางสะสมแล้ว 228 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ตลอดปี 2566 ที่ 200 ล้านคน-ครั้ง และคาดว่าทั้งปีนี้จะไปถึง 240 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท เนื่องจากคนไทยใช้จ่ายน้อยลง แต่มีความถี่ในการเดินทางมากขึ้นจากการกระตุ้นของรัฐบาล

“แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจะเป็นไปตามเป้าหมาย แต่เมื่อรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.2 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวไทยอีก 8 แสนล้านบาท ทำให้ในปี 2566 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้ารายได้ที่ตั้งไว้ 2.4 ล้านล้านบาท หรือขาดไป 4 แสนล้านบาท” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

เหตุผลหลักมาจากรายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปซึ่งพักค้างคืนในไทยนานขึ้น ยังมีสัดส่วนน้อยกว่านักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีคนเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่พักค้างระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีจำนวนเดินทางเข้าไทย 4.59 ล้านคน แต่มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่ 26,000 บาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด

ส่วนนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ในปีนี้ คาดใช้จ่ายเฉลี่ย 50,000 บาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยรายงานจาก ‘อาลีเพย์’ (Alipay) ระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนมียอดใช้จ่ายเฉพาะการชอปปิงและทานอาหารในไทย (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก) เพิ่มขึ้น 100% จาก 10,000 บาทต่อทริป เป็น 20,000 บาทต่อทริป

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐบาลออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ ‘ฟรีวีซ่า’ เป็นการชั่วคราวให้แก่นักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน พร้อมขยายระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นสูงสุดไม่เกิน 90 วันนั้น ได้ช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก และถือว่ามาตรการนี้ได้ผล เห็นได้จากประเทศคู่แข่งได้ออกมาตรการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าเพื่อกระตุ้นตลาดเป้าหมาย โดยล่าสุดประเทศมาเลเซียเพิ่งประกาศมาตรการฟรีวีซ่าแก่ชาวจีนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ไปจนถึงสิ้นปี 2567

“ททท.เตรียมเสนอรัฐบาลต่ออายุมาตรการฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน ที่จะหมดลงในวันที่ 29 ก.พ. 2567 รวมทั้งให้พิจารณาเพิ่มวันพำนักแก่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่ได้รับฟรีวีซ่าอยู่แล้ว จาก 30 วัน ให้เพิ่มเป็น 90 วัน รวมทั้งเตรียมหารือกระทรวงการต่างประเทศ ให้ชาวต่างชาติที่ทำวีซ่านักท่องเที่ยวสามารถเข้าออกประเทศไทยได้หลายครั้ง (Multiple Visa) เพื่อรองรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ที่สนใจเดินทางจากไทยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ดึงดูดให้เขากลับมาเที่ยวประเทศไทยอีก” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว

ส่อง 40 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ปี 2023

ผลรายงานจาก IMF ระบุว่า สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประจำปี 2023 ตามด้วยจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี 

สำหรับประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 27 เป็นชาติที่ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ที่อยู่ในลำดับที่ 16 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top