Thursday, 16 May 2024
เตือนภัยออนไลน์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ 'ระวังคนร้ายอ้าง ThaID โหลดแอปดูดเงิน'

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนว่าได้รับข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างแอปพลิเคชัน ThaID หลอกให้กดลิงก์ควบคุมโทรศัพท์ เพื่อโอนเงินออกไป 

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ให้ระวังกลุ่มคนร้ายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากแอป ThaID (ไทยดี) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของกรมการปกครองในการแสดงบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านออนไลน์  โดยคนร้ายจะติดต่อผู้เสียหายหลายทาง มีทั้งการแอบอ้างทางโทรศัพท์เข้ามา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaiD ปลอม หรือส่ง SMS เข้าโทรศัพท์ผู้เสียหายในชื่อ ThaiD เพื่อให้ผู้เสียหายทำการอัพเดทให้ยืนยันตัวตน หรือ อ้างเหตุผลอื่นๆ  ผ่านลิงก์ wsc.fit/62 ซึ่งเป็น LINE Account  ชื่อ Thai ID ปลอม เมื่อพูดคุยผ่าน Line แล้วจะหลอกล่อให้ดาวน์โหลดแอพดูดเงิน ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว และคนร้ายจะทำการดูดเงินออกจากโทรศัพท์ผู้เสียหายไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการปกครองจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทราบ มิให้หลงเชื่อโดยเด็ดขาด

หากได้รับการติดต่อทางทางโทรศัพท์หรือ SMS ดังกล่าว อย่าดาวน์โหลด หรือมีข้อสงสัย ให้โทรแจ้งสายด่วน 1441 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ 1548 กรมการปกครอง และหากเผลอติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถอดซิมโทรศัพท์มือถือออก และแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

นอกจากนั้น นายชลอ อินทพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐ สำนักบริหารการทะเบียน ผู้แทนกรมการปกครองได้ชี้แจงว่ากรมการปกครอง ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ (LINE Official Account) ในการติดต่อกับประชาชน และไม่มีนโยบายในการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังประชาชนแต่อย่างใด หากประชาชนต้องการดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน “ThaID” (ไทยดี)  สามารถดาวน์โหลดหรือติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น และสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่  ณ สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ 

ทั้งนี้ประชาชน สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ www.เตือนภัยออนไลน์.com หรือโทรสายด่วน 1441 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ แก็งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษาถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้ มีคดีนักเรียนนักศึกษาถูกคนร้ายหลอกให้เรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคดีจึงขอเตือนภัยพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังดูแลบุตรหลานของตนเอง และขอให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา มิให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11   ส.ค.2566  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./ หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี ได้แถลงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวน 20,000 กว่าเคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จำต้องโอนเงินให้ไป ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว บุตรหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้น พ่อแม่คาดว่า เป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆ พบว่า เป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่บุตรหลานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และบังคับให้ถ่ายคลิป หรือ ภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มคนร้ายนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานของตนเองหรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป

สำหรับแผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่จะอ้างเพื่อข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน โดยทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป หากนักศึกษาหรือเหยื่อไม่มีเงินกลุ่มคนร้ายก็แนะนำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อไปย้ายหรือออกจากห้องพักหรือที่พักปัจจุบันที่พักอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และคนร้ายให้เหยื่อหรือผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกมัด ผ้าเทปกาวจากร้านค้าเพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับคนร้าย อีกทั้งคนร้ายยังสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อทำทีปิดโทรศัพท์ และสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง และถ่ายคลิปวีดิโอโดยใช้เครื่องของผู้เสียหายหรือเหยื่อเองเก็บเอาไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้ายทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์ จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย 2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย
ข้อสังเกตุ และข้อควรระวัง  
1. คนร้ายอาจจะหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกเหยื่อเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือที่พักใกล้สถานศึกษาโดยเหยื่อเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
2. คนร้ายได้วางแผน และมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้เหยื่อตกใจกลัว (เช่น โทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน) ขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ และคล้อยตามคำสั่งของคนร้าย
3. คนร้ายใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตุได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศหรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของคนร้าย จะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นการที่คนร้ายสร้างหมายเลขโทรศัพท์หรือปลอมเบอร์ (Fake)
4. คนร้ายได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
5. คนร้ายเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการหัดเริ่มลงทุนมีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย

แนวทางการป้องกัน
สำหรับนักศึกษา
1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์
2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่(คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
3. หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ วางสายทันที แจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.
4. หากคนร้ายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ  ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
5. โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที      
​6. หากคนร้ายส่งเอกสารมาข่มขู่  ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-8663000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง 
​สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากต้องรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวสำหรับศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม มีดังนี้

1. หากคนร้ายข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู  ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือ โทรสายด่วน  191 ,1441 และเบอร์ 081-8663000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็คลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
ผศ.ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ช่วยราชการสำนักงาน รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับทราบว่ามีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้นักศึกษาจับตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินให้คนร้าย จึงมีความห่วงใยนักศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครอง และได้มอบหมายให้มาร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องแผนประทุษกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลโกง จุดสังเกต และวิธีป้องกัน เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบนี้ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว

พล.ต.อ.สมพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้คนร้ายจะเลือกเหยื่อที่เป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทันคนร้าย อีกทั้งเป็นจุดอ่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรักความห่วงใยบุตร - ธิดาของตนเองเป็นทุนเดิม โดยมีแผนประทุษกรรม ดังนี้ 

1. หลอกให้เหยื่อย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกเหยื่อว่ามี
ตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่
2. หลอกให้เหยื่อ ลบแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น
เพื่อไม่ให้เหยื่อติดต่อกับคนอื่น
3. หลอกให้เหยื่อปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ในการติดต่อกับคนร้าย  

รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อ ผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลโกงของแก็งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบนี้ ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ  และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com  Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ แก็งคอลเซ็นเตอร์ทำตัวเป็นปลิง หลอกดูดเลือดนักข่าว สูญเงิน 1.2 ล้าน

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.  และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ  พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร  ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้ มีคดีแก็งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักข่าวติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน สุดท้ายนักข่าวสูญเงินไป 1.2 ล้าน  จึงได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ  เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด  ผบก.ตอท.  กล่าวว่า  กรณีนี้ได้มีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หาเหยื่อแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน หลอกให้อัพเดทข้อมูลการชำระภาษีที่ดิน  จากนั้นคนร้ายได้ให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนไลน์  และให้กดลิงก์เข้าเว็บไซต์กรมที่ดินปลอม  ต่อมาให้กดดาวน์โหลดที่ข้อความโฆษณา(Banner) ตรากรมที่ดิน  เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อ คนร้ายได้ให้เหยื่อดำเนินการตามขั้นตอน  โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยและปกป้องข้อมูลของเหยื่อ และให้เหยื่อยืนยันตัวตน โดยให้เหยื่อกรอกข้อมูลรหัสส่วนตัวที่ตั้งขึ้นสำหรับเข้าแอปพลิเคชัน เป็นตัวเลข จำนวน 6 ตัว จำนวน 2 ครั้ง เพราะจะใช้รหัสนี้ทุกครั้งในการเข้าแอปพลิเคชัน (ทำให้เหยื่อหลงไปตั้งรหัสซ้ำกับแอปพลิเคชันธนาคารจริงหรือตั้งรหัสแอปพลิเคชันธนาคารตรงกับ วันเดือนปีเกิด หรือเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประชาชน) แล้วให้กดยินยอมที่หน้าจอ 3 จุด จากนั้นหน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อปรากฏการทำงานเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยคนร้ายได้ชวนเหยื่อคุยและบอกให้รอจนครบ 100% ระหว่างชวนคุยนั้น คนร้ายจะนำรหัสที่ได้ หรือหมายเลขโทรศัพท์ หรือวันเดือนปีเกิดกดเข้าแอปธนาคาร หรือหลอกให้เหยื่อกดเข้าแอปธนาคารด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อจะได้เห็นเลขรหัส จากนั้นคนร้ายได้หลอกให้เหยื่อสแกนใบหน้าโดยอ้างว่ายืนยันข้อมูลบุคคลและอัพเดทข้อมูลในกรมที่ดิน แต่ความจริงเป็นการปรับยอดการโอนในแอปให้สูงขึ้นหรือโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง แล้วคนร้ายก็จะโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อออกไป  รวมทั้งได้ทำรายการถอนเงินสดจากบัตรเครดิตมาใส่ในบัญชีธนาคาร แล้วถอนเงินออกไปจนหมด

จุดสังเกต
1. ของปลอม
1.1 ไลน์เป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคล และจะไม่ขอเพิ่มเพื่อนโดยเจ้าหน้าที่
1.2 นามสกุลของโดเมนของเว็บไซต์ มักลงท้ายด้วย .cc และไม่ได้ให้โหลดผ่าน Google Play (ให้กด 3 จุดด้านล่างขวา และบอกให้กดโหลด “ช่องทางอื่น” หรือ “chrome”)
1.3 ไม่สามารถกดเมนูปุ่มใดๆได้ ยกเว้นปุ่มเมนูที่คนร้ายบอก
2. ของจริง
2.1 ไลน์เป็นชื่อ Smart Lands ซึ่งเป็นบัญชีทางการ (Official) ไม่สามารถโทรคุยกับคนทั่วไปได้
2.2 แอปพลิเคชันของจริงจะโหลดได้จาก Google Play หรือ App store เท่านั้น
2.3 สามารถกดเมนูเพื่อเข้าไปยังหน้าจอต่างๆได้ตามปกติ

วิธีป้องกัน
1. หาช่องทางตัดสาย แล้ว “เช็ค ก่อน เชื่อ” คือโทรหาเบอร์ call center หน่วยงานที่คนร้ายแอบอ้างก่อนว่า “จริงหรือไม่” กรมที่ดินเบอร์ สายด่วนกรมที่ดิน หมายเลข 02-141-5555 หรือ กรมพัฒนาธุรกิจ เบอร์  1570, 02 528 7600 หรือ หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เบอร์ 1129 และ การไฟฟ้านครหลวง เบอร์ 1130 ซึ่งเป็น ซึ่งเป็น 3 แอป ยอดนิยมในการหลอก เพื่อสอบถามว่ามีจริงหรือไม่  หรือโทรมาที่ 1441 ก่อนดำเนินการใดๆ  
2. ไม่กดลิงก์ใน SMS หรือไลน์แปลกปลอม ที่เราไม่รู้จักตัวจริงหรือไลน์ทางการของหน่วยงานนั้นมาก่อน และที่สำคัญ อย่าติดตั้งแอปพลิเคชัน ใดๆ ตามคำแนะนำเป็นอันขาด หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ      ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play หรือ Apple Store  โดยเข้าไปค้นหา “ชื่อ” ด้วยตนเอง ห้ามบันทึกลิงก์(Copy) จากคนที่เราไม่รู้จักให้มาแล้วนำไปวางในช่องเว็บเบราว์เซอร์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชัน

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 กล่าวว่า สำหรับคดีคุณประวีณมัย บ่ายคล้อย นักข่าวช่อง 3 ที่โดนคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกไปนั้น ถือได้ว่าคุณประวีณมัยฯ รู้ตัวว่าถูกหลอกและสามารถโทรศัพท์ไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินของธนาคาร(สายด่วนธนาคาร)  เพื่อระงับบัญชีม้าไว้ได้อย่างรวดเร็ว (ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566) จากนั้นได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.ภาษีเจริญ ภายในเวลา 72 ชม.  และพนักงานสอบสวนได้มีหนังสือภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน สั่งให้ธนาคารอายัดเงินไว้  ทำให้สามารถอายัดบัญชีได้ทันบางส่วน จากนั้นได้มีการส่งเรื่องมาจาก บก.สอท.1 เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อ ซึ่งขณะนี้ บก.สอท.1 ได้ดำเนินการอายัดบัญชีม้าทั้ง 6 แถว รวม 24 บัญชี ไว้ และได้เรียกเจ้าของบัญชีทุกบัญชีให้มาชี้แจง เพื่อพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายอาญาต่อไป
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน   จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันยังมีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างกรมที่ดิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.2566 ถึงปัจจุบัน มีกว่า 800 เคส โดยเฉพาะเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา มีการหลอกหลวงโดยวิธีการดังกล่าวมากถึง 190 เคส เพื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์เพื่อโอนเงินออกไป และยังมีภัยออนไลน์ที่คนร้ายได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com    Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์  หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ คนร้ายออนไลน์โหดร้ายมาก หลอกซ้ำสอง ซ้ำเติมเหยื่อ

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้มีคนร้ายแอบอ้างทำเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม หลอกผู้เสียหายซ้ำซ้อน อันเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับความเสียหายเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และยังมีคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนาวิธีการหลอกรูปแบบใหม่โดยอ้างว่าโทรมาจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล จึงได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 20 สิงหาคม 2566  ถึง 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น รับแจ้งทั้งหมด 3,671 เคส  ความเสียหายกว่า 466 ล้านบาท โดยคดีที่มีอัตราเกิดมากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับที่ 1 ก็ยังคงเป็น คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ อยู่ที่ 1,781 เคส ยอดความเสียหาย 21,243,102.05 บาท ตามมาด้วย คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 378 เคส ยอดความเสียหาย 53,691,234.94 บาท คดีหลอกลวงให้ลงทุน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 342 เคส ยอดความเสียหาย 175,573,367.60 บาท คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 304 เคส ยอดความเสียหาย 13,324,870.00 บาท คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ 270 เคส ยอดความเสียหาย 44,105,474.53 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมานี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มได้รับแจ้งพฤติการณ์ใหม่ที่คนร้ายนำมาใช้ ในการหลอกลวงพี่น้องประชาชน อันได้แก่ คนร้ายปลอมเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์แล้วหลอกเหยื่อให้โอนเงินเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายและพบมุขใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างว่าโทรติดต่อมาจากห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล เพื่อเป็นการป้องกันและให้ประชาชนได้รับรู้เท่าทันกลโกงของคนร้าย จะให้ พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด ผบก.ตอท. เป็นผู้แถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดในลำดับถัดไป
 
 พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด  ผบก.ตอท. กล่าวว่า  ในช่วงนี้มีเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจ facebook ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์  เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจาก facebook ทำให้เพจขึ้นมาในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google Bing safari เป็นต้น  เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจ facebook ก็จะคุยกับระบบ AI และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็นทนายความเพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วจะอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน  จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้  จากนั้นส่งต่อให้หัวหน้าของคนร้ายที่เป็นเจ้าหน้าที่ IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เว็บพนันออนไลน์ แต่จะช่วยโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าวให้  โดยให้เหยื่อสมัครและเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนันแต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์ โดยจะทำการโจมตีให้เหยื่อ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเองยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว และ ทำได้แต่บางช่วงเวลาของวันเท่านั้น ไม่งั้นเซิร์ฟเวอร์จะตรวจพบ และ ขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี  เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน  สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม

ข้อแนะนำ
1. ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดให้ประชาชนโอนเงินเพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม
เพื่อให้ได้เงินคืน
2. หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com  หรือแจ้งความสถานี
ตำรวจท้องที่ได้ทั่วประเทศ  
3. หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191
 
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้มีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้เบอร์มือถือซิมม้าโทรหาเหยื่อ แจ้งว่ามีคนไข้ถูกส่งมาที่ห้องฉุกเฉิน และมีค่าใช้จ่ายต้องชำระสำหรับการผ่าตัดด่วน เหยื่อปฏิเสธว่าไม่รู้จักบุคคลที่ถูกส่งมาห้องฉุกเฉินดังกล่าว แต่ทางคนร้ายยังคงยืนยันว่าคนไข้คนดังกล่าวระบุชื่อเหยื่อเป็นเบอร์ติดต่อ หากคนไข้เป็นอะไรไปเหยื่อต้องรับผิดชอบ เหยื่อขอคุยสายกับนายแพทย์เจ้าของคนไข้ แต่คนร้ายไม่ยอมจึงได้วางสายไป เหยื่อพยายามโทรกลับไปติดต่อแต่โทรกลับไปไม่ได้ มีเสียงแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อเลขหมายดังกล่าวได้ ภายหลังเหยื่อได้นำเบอร์มือถือดังกล่าวมาตรวจสอบกับ Application Whoscall พบว่าเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้ว่าเป็นเบอร์คนร้าย

​จุดสังเกต
1. คนร้ายใช้ซิมม้าโทรตามแนวชายแดนที่มีสัญญาณผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่า
เป็นการโทรศัพท์จากโรงพยาบาลจริง
2. หมายเลขโทรศัพท์ที่คนร้ายโทรหา  ไม่สามารถโทรติดต่อกลับไปได้
 
วิธีป้องกัน
1. ให้สังเกตความผิดปกติของปลายสาย  เช่น  ถามชื่อ-นามสกุล จริง การใช้ข้อความอัตโนมัติ  การโอนสายให้เจ้าหน้าที่  หากมีการ VIDEO CALL ให้สังเกตความผิดปกติของเสียงและท่าทาง (คนร้ายใช้โปรแกรมปลอมใบหน้า)
​2. หากคนร้ายอ้างเหตุต่างๆ  หรือข่มขู่ให้โอนเงิน  ให้โทรศัพท์ตรวจสอบหรือโทรสายด่วนหน่วยงานที่มีการแอบอ้าง ก่อนดำเนินการใดๆ
​3. หากมีหมายเลขโทรศัพท์ ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเครื่องโทรหา ไม่ควรรับสายในทันที  และให้ตรวจสอบผ่าน
แอปพลิเคชัน Whoscall ว่าเป็นเบอร์คนร้ายหรือเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้หรือไม่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com  

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์และบมจ.ซีพี ออลล์ เตือนภัยออนไลน์

วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.) พล.ต.ท.ธิติ  แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) พล.ต.ต.ธวัชเกียรติ จินดาควรสนอง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (ผบก.น.5) และ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 

(ผบก.ตอท.บช.สอท.) พร้อมด้วย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร นายวิชัย จันทร์จริยากุล  กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์ นายสุชาติ วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ นายศุภชัย ศรีทับทิม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ ร่วมเปิดโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์ ณ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) ชั้น 1 อาคารซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม

พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำระบบรับแจ้งความ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เปิดดำเนินการรับแจ้งความออนไลน์และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหามาตรการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ได้จัดทีมวิทยากรของคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และครูไซเบอร์ทั้งครู ก. และครู ข. ออกบรรยายให้ความรู้ รวมทั้งได้มีการนำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ มาประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ ขณะเดียวกันได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในช่องทางออนไลน์ (Online) และออนไซต์ (Onsite) อีกทั้งได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบและมีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ในหลายวิธี หลายช่องทาง  ถึงแม้การรับแจ้งความออนไลน์มีสถิติลดลง แต่ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนร้ายอยู่ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในช่องทางอื่นเพิ่มเติม และได้เล็งเห็นว่าร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) มีการเปิดให้บริการอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการในแต่ละวันจำนวนมาก 

จึงได้มีการประสานงานไปยัง บมจ.ซีพี ออลล์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์บริเวณที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้ง่าย  เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และวันนี้ได้รับความร่วมมือจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบมจ.ซีพี ออลล์ ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง เชื่อว่าการประสานความร่วมมือในครั้งนี้จะขยายการรับรู้ถึงข้อมูลและข่าวสารของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาใช้บริการร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น (7-11) ทั่วประเทศเป็นอย่างดี  

พล.ต.อ.สมพงษ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ โดยเริ่มทำแบบทดสอบได้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 หากทำแบบทดสอบครบ 40 ข้อแล้ว จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการ Whoscall Premium Feature ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี หากทำแบบทดสอบได้ถูกต้องตั้งแต่ 35 ข้อ ขึ้นไป จะมีสิทธิ์ลุ้นรางวัล iPhone 14 เดือนละ 20 รางวัล เป็นเวลา 3 เดือน รวม 60 รางวัล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จับรางวัลผู้โชคดีประจำเดือน กรกฎาคม และ สิงหาคม 2566 เดือนละ 20 รางวัล รวม 40 รางวัลไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้โชคดีสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และขอให้พี่น้องประชาชนได้ช่วยกันประชาชนสัมพันธ์ ช่วยกันแชร์แบบทดสอบเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบและรู้เท่าทันกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์ และไม่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งขอประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งความ แจ้งเบาะแส  และให้คำปรึกษา ได้ที่ www.thaipoliceonline.com หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรผ่านสายด่วน 1441 สำหรับช่องทางประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์ ประชาชนสามารถศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์รูปแบบต่างๆ  ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และ Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์” (QR CODE ข้อสอบ 40 ข้อ สำหรับประชาชน)

ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เรื่องของอาชญากรรมทางไซเบอร์ นอกจากบทบาทของภาครัฐแล้ว ในส่วนของภาคเอกชนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งในตอนนี้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดช่องให้มิจฉาชีพใช้รูปแบบใหม่ๆ มาหลอกลวงประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้เลยคือ การแบ่งเงินที่จะใช้จ่ายมาไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงป้องกันการถูกหลอกจากมิจฉาชีพ เพราะวงเงินที่ถูกหลอกไปจะเป็นวงเงินที่จำกัดอยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลเท่านั้น นอกจากนี้้ในแง่ของเทคโนโลยีควรจะใช้เทคโนโลยีที่มีการยืนยันตัวตนในหลายขั้นตอน เช่น การให้สแกนใบหน้า การยืนยันตัวตนผ่าน OTP ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ โดยการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ป้องกันภัยอาชญากรรมไซเบอร์ และขอขอบคุณทาง บมจ.ซีพี ออลล์ บริษัทในเครือซีพีที่ให้ความร่วมมือในครั้งนี้
 
นายวิชัย จันทร์จริยากุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.ซีพี ออลล์  ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่นเดลิเวอรี่ กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันว่า ในปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ   อาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน  ส่งผลให้จำนวนของผู้ที่ถูกหลอกลวงและรับผลกระทบจากอาชญากรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกันป้องกันและชี้ให้เห็นอันตรายของภัยไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และตระหนักถึงกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงได้ดำเนินโครงการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำสื่อโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566  และ บัญชีม้า เผยแพร่ภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น กว่า 14,000 สาขาทั่วประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการฯนี้จะช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้เข้าใจ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง และตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ได้มากขึ้น”
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเครือซีพี ได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  หรือ โครงการ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเครือข่าย สร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจในเครือ อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (แม็คโคร และ โลตัส) สถานีข่าว TNN รวมถึงมีการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการเตือนภัยออนไลน์ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์

พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,  พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ. ศปอส.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์อีกทั้งในช่วงนี้คนร้ายยังสร้าง Page Facebook ตำรวจปลอมขึ้นมาแอบอ้างรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ หรือเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินเหยื่อซ้ำเติม

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนถึงข้อสังเกตการแยกแยะ Page Facebook ของตำรวจปลอมและพฤติการณ์ของ Page Facebook ปลอมของตำรวจ ดังนี้

คนร้ายปลอม Page Facebook ตำรวจแอบอ้างรับแจ้งความ คนร้ายสร้าง Page Facebook ปลอมขึ้นมาโดยตั้งชื่อเพจเป็นหน่วยงานตำรวจหรือศูนย์ช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี และยังได้เผยแพร่โฆษณาผ่านทาง Facebook เพื่อเพิ่มโอกาสให้เหยื่อมองเห็น Page มากขึ้น โดยนำคลิปวิดีโอและเนื้อหาจากเพจตำรวจจริงมาใส่ในโฆษณาเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เมื่อเหยื่อซึ่งมีประสงค์ที่จะแจ้งความดำเนินคดีกับคนร้ายพบเห็น Page หรือโฆษณาดังกล่าวเข้า เหยื่อได้ติดต่อ Page ปลอมของคนร้ายไปเพื่อจะแจ้งความ คนร้ายจะให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว ส่งหลักฐาน แล้วแอบอ้างว่าจะนำเงินที่เหยื่อถูกโกงไปมาคืนเหยื่อ แต่ต้องโอนเงินเป็นค่าดำเนินการ/ค่าล่อซื้อ/ค่าทนาย ฯลฯ ให้แก่คนร้ายที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุดท้ายเหยื่อไม่ได้เงินที่ถูกหลอกไปคืน แถมยังเสียเงินเพิ่มจากการถูก Page Facebook ปลอมหลอกซ้ำอีก

ตัวอย่าง Page Facebook ปลอมแอบอ้างเป็นตำรวจรับแจ้งความ

จุดสังเกต
1. ชื่อเพจมักเป็นชื่อหน่วยงานที่ไม่มีอยู่จริง หรือชื่อผิด
2. เพจปลอมไม่มีเครื่องหมายยืนยันตัวตนท้ายชื่อเพจ
3. เพจเหล่านี้มักสร้างมาไม่นาน หรืออาจเป็นเพจที่มีการซื้อต่อมาและเปลี่ยนชื่อในภายหลัง
4. คนร้ายพยายามปลอมยอดผู้ติดตามโดยพิมพ์เลขยอดคนกดถูกใจ/ติดตาม ไว้ที่รายละเอียดของเพจ
5. เพจแท้มีเครื่องหมาย blue tick ( ) จะอยู่หลังชื่อเพจ แต่เพจคนร้ายจะนำ blue tick ( )  มาใส่ไว้ที่หน้าภาพหน่วยงาน

วิธีป้องกัน
1. เพจจริงของทางตำรวจมีเครื่องหมายยืนยันตัวตนท้ายชื่อเพจและมีข้อมูลความโปร่งใสเพจครบถ้วน
2. เพจของทางตำรวจไม่มีการรับเรื่องร้องทุกข์/แจ้งความ/ส่งหลักฐานในการดำเนินคดีผ่านทางเพจ
3. แจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.go.th เท่านั้น
4. หากมีข้อสงสัย/สอบถาม โทรปรึกษาศูนย์ AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับช่องทางรับรู้ข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.go.th

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,  พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. และ 
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ. ศปอส.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์อีกทั้งในช่วงนี้คนร้ายยังเริ่มกลับมาแอบอ้างการไฟฟ้าในการหลอกลวงประชาชนผ่านทางออนไลน์

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงขอแจ้งเตือนถึงพฤติการณ์ของคนร้าย ดังนี้
คนร้ายแอบอ้าง การไฟฟ้าลงแอพดูดเงิน
คนร้ายโทรติดต่อหาเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์อ้างว่า เหยื่อได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าหรือคืนค่าประกันมิเตอร์โดยเหยื่อต้องดำเนินการในแอพของ PEA คนร้ายได้ให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนผ่านทางไลน์และส่งลิ้งก์ให้ดาวน์โหลด Application PEA ซึ่งเป็น Application ปลอมที่คนร้ายได้สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมเครื่องมือถือของเหยื่อ เมื่อเหยื่อได้ดาวน์โหลด Application ดังกล่าวลงเครื่อง คนร้ายได้ให้เหยื่อทำตามขั้นตอนตามคำสั่งในแอปฯ

ทั้งการยืนยันใบหน้าให้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรหัสผ่านธนาคาร จากนั้นโทรศัพท์ของเหยื่อเกิดค้าง เพราะคนร้ายกำลังทำการควบคุมเครื่องเหยื่อจากระยะไกล เมื่อมีข้อความเด้งว่าเงินถูกโอนออกไปจากบัญชี เหยื่อจึงรู้ตัวว่าถูกหลอก
ตัวอย่างข้อความ SMS ที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงเหยื่อ

PEA ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่แจ้งข้อมูลหรือส่งลิงก์กับผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของ PEA ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม หากผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับข้อความดังกล่าวอย่าหลงเชื่อ ทั้งนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถสังเกตช่องทางที่ถูกต้องของ PEA ดังนี้

1. LINE Official Account ของ PEA คือ @PEAThailand และมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว ที่ผ่านการรับรองจาก LINE 
2. Website ต้อง www.pea.co.th
3. แอปพลิเคชัน PEA Smart Plus ต้องดาวน์โหลดผ่านทาง App Store และ Play Store เท่านั้น

สำหรับช่องทางรับรู้ข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.go.th

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตือนภัยออนไลน์มีคนร้ายปลอมเลขหมาย 191 โทรข่มขู่เรียกเงิน

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ. ศปอส.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์อีกทั้งในตอนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับทราบมาว่ามีคนร้ายปลอมแปลงเบอร์หมายเลข 191 ที่ใช้ในการรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายของทางตำรวจ เพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของเหยื่อโดยคดีนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงพฤติการณ์ของคนร้ายและจุดสังเกตของคนร้ายเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงและไม่ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย ดังนี้

คนร้ายปลอมเบอร์เป็น 191 โทรหาเหยื่อหลอกว่ามีคดีติดตัว
คนร้ายโทรหาเหยื่อโดยตอนที่โทรเข้ามาเบอร์ที่แสดงบนเครื่องโทรศัพท์ของเหยื่อจะแสดงหมายเลข 191 หรือแสดงเป็นเบอร์ที่ใกล้เคียงกับ 191 เช่น +191, 1-9-1, 0191 และ .191 เป็นต้น คนร้ายจะแจ้งเหยื่อว่าเหยื่อตกเป็นผู้ต้องสงสัยและมีความเกี่ยวข้องในคดีที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นคนร้ายจะให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนในไลน์ โดย Account ที่สร้างขึ้นมาจะใช้รูป Profile และชื่อตำรวจ เพื่อที่จะส่งเอกสารทางราชการและหลักฐานปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นมาไว้สำหรับหลอกลวง พร้อมกับแต่งกายเครื่องแบบตำรวจในระหว่างที่ Video Call หาเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ คนร้ายจะสั่งให้เหยื่อโอนเงินไปที่บัญชีของคนร้ายอ้างว่าเพื่อทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเหยื่อ และกล่อมเหยื่อว่าถ้าหากเหยื่อยืนยันว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่คนร้ายอ้าง ให้ดำเนินการตามที่คนร้ายสั่งเพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ สุดท้ายเมื่อเหยื่อโอนเงินไป เหยื่อก็ไม่ได้รับเงินคืนอีกเลย

จุดสังเกต
-ทางศูนย์ 191 ขอยืนยันว่าไม่มีการติดต่อประชาชนไปเพื่อแจ้งหมายจับ
-ทางศูนย์ 191 จะโทรหาประชาชนในกรณีดังนี้
oสายถูกตัดไปในระหว่างที่สนทนากับเจ้าหน้าที่ 191
oติดตามสถานการณ์กับผู้แจ้งว่าสายตรวจได้เข้าถึงพื้นที่ตามแจ้งแล้วหรือไม่
oสอบถามรายละเอียดจุดเกิดเหตุที่ได้แจ้งเข้ามาเพิ่มเติม
-เบอร์ที่ 191 ใช้โทรออกไป จะแสดงเป็น 191 เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่อื่นๆจะแสดงเป็นเบอร์โทรศัพท์ 7 หลัก
-ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีนโยบายให้ประชาชนโอนเงินเข้ามาเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน

เนื่องจากเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวมักจะถูกปลอมแปลงและโทรเข้ามาจากต่างประเทศ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแนะนำว่าหากพี่น้องประชาชนท่านใดไม่มีความจำเป็นที่ต้องติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ต่างประเทศ ให้กดหมายเลข *138*1# เพื่อบล็อคการโทรเข้าจากต่างประเทศในเครื่องโทรศัพท์ของท่านเพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพจากต่างประเทศโทรเข้ามาหลอกลวงท่านได้ หากต้องการยกเลิกการบล็อก ให้กดหมายเลข *138*2#

สำหรับช่องทางรับรู้ข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.go.th

ตร. เตือนภัยข้าราชการบำนาญ อย่าหลงเชื่อ มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นกรมบัญชีกลาง

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ. ศปอส.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตรวจสอบพบว่ามีเหตุคนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางโทรหาข้าราชการผู้รับบำนาญเพื่อแจ้งให้อัปเดตข้อมูลบัญชีธนาคารแล้วหลอกให้กดลิงก์กรอกข้อมูลส่วนตัว เพื่อขโมยเงินในบัญชีธนาคารทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอแจ้งเตือนภัยดังนี้

คนร้ายแอบอ้างเป็นกรมบัญชีกลางหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวเพื่อดูดเงิน
คนร้ายโทรศัพท์หาเหยื่อแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางและยังแจ้งเหยื่อว่าทางกรมบัญชีกลางจะมีการปรับเงินเดือนข้าราชการบำนาญเพิ่มอีกร้อยละ 5%  โดยคนร้ายทราบข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อที่เกี่ยวข้องกับกรมบัญชีกลางทั้งหมดเหยื่อจึงหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางจริงๆ  คนร้ายจึงให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนไลน์ ส่งลิงก์ให้เหยื่อกรอกข้อมูล พร้อมให้ดาวน์โหลดติดตั้ง Application ควบคุมโทรศัพท์มือถือและเร่งเหยื่อให้ดำเนินรายการให้เร็วที่สุด เหยื่อจึงได้ดำเนินการตามคนร้ายทุกขั้นตอนจนเสร็จสิ้น จนเหยื่อมารู้ตัวทีหลังว่ามีการโอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อไป

จุดสังเกต
•คนร้ายรู้ข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดจึงทำให้เหยื่อหลงเชื่อได้ง่าย
•คนร้ายให้เพิ่มเพื่อนผ่านไลน์ โดยไลน์ของคนร้ายปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน
•คนร้ายส่งหน้า Website จริงของกรมบัญชีกลางให้น่าเชื่อถือ
•เมื่อเหยื่อเริ่มเชื่อคนร้ายจึงส่งลิงก์ให้เหยื่อกดติดตั้ง Application
วิธีป้องกัน
•กรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรติดต่อข้าราชการหรือผู้รับบำนาญ
•หากมีสายติดต่อเข้ามาจากหน่วยงานต่างๆให้วางสายก่อนแล้วโทรกลับไปใหม่ ปกติสายของคนร้ายจะไม่สามารถโทรกลับได้
•หน่วยงานราชการไม่มีการโทรติดต่อไปก่อน และไม่มีการให้ติดต่อผ่านทางไลน์หากไม่มั่นใจให้โทรสอบถามหน่วยงานนั้นๆก่อน
•ตรวจสอบลิงก์ก่อนกดทุกครั้ง ในกรณีนี้เป็นหน่วยงานราชการลิงก์ควรเป็น Domain ลงท้ายด้วย .go.th ถ้าไม่ถูกต้องไม่ควรกดลิงก์ใดๆที่มีคนส่งมาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือติดตั้ง Application ที่ไม่ผ่านจาก Play Store หรือ App Store

สำหรับช่องทางรับรู้ข่าวสารเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน AOC 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบกรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.go.th
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top