Sunday, 19 May 2024
อากาศร้อน

'โตเกียว' ทุบสถิติ อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แตะ 25 องศา ยาวนานมากถึง 141 วันในปี 2023

(5 พ.ย.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเข้าสู่วันที่ 141 ของปีนี้ที่มีอุณหภูมิแตะ 25 องศาเซลเซียสหรือสูงกว่านั้น ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงเป็นประวัติการณ์

รายงานระบุว่าเมื่อ 12.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น (4 พ.ย.) อุณหภูมิในโตเกียวพุ่งแตะ 26.3 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่สอดคล้องกับฤดูกาล เนื่องจากระบบความกดอากาศสูงส่งผลให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกไปสู่ทางตะวันตกของประเทศ

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่ใจกลางโตเกียวมีอุณหภูมิสูงแตะ 25 องศาเซลเซียสในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์อุณหภูมิที่กำหนดให้เป็น ‘วันในช่วงฤดูร้อน’ ในญี่ปุ่น

อนึ่ง รายงานในปี 2022 ระบุว่าสถิติสูงสุดของจำนวนวันในช่วงฤดูร้อนในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ของโตเกียวคือ 140 วัน

‘อ.เสรี’ เผย!! เดือนธ.ค. ไม่หนาว แถมอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบ 2 องศา เตือน!! แม่ค้าอย่าตุนเสื้อกันหนาวเยอะ ส่วนเม.ย. 67 ร้อนแล้งสุดๆ

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 66 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศของไทยในช่วงปลายปีว่าจะไม่หนาว และปีหน้าจะร้อนแล้งที่สุด โดยให้คำอธิบายว่า…

“#ปลายปีจะไม่หนาวแต่ปีหน้าร้อนแล้งสุดสุด

>>ปลายฝน ฝนก็ตกโดยเฉพาะภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สำหรับน้ำท่วมรอการระบายเป็นเรื่องปกติครับ การคาดการณ์ปริมาณฝนในปีไม่ปกติ (เช่น ปีเอญนิญโญ) มีความคลาดเคลื่อนสูง เช่นปีนี้ การพยากรณ์รายฤดูกาล แบบจำลองโดยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศฝนน้อย แต่ในข้อเท็จจริงปริมาณฝนเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม มีมากกว่าปกติประมาณ 30% และ 19% ตามลำดับโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน (อย่างไรก็ตามปริมาณฝนสะสมยังคงน้อยกว่าปกติน่ะครับ ยกเว้นภาคอีสาน) ดังนั้นการพยากรณ์ฝนปีนี้จึงพึ่งได้เฉพาะการคาดการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 เดือนเท่านั้น เกษตรกร และชาวนาจึงต้องติดตามสถานการณ์ทุกเดือนน่ะครับ

>>แม้ว่าเดือนกันยายน และตุลาคมจะเกิดฝนตกหนัก และน้ำท่วมในบางพื้นที่เช่นภาคเหนือตอนบน และภาคอีสาน แต่เมื่อวิเคราะห์จากดรรชนีฝน SPEI พบว่าช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังคงมีสถานฝนแล้ง ยกเว้นบริเวณชายขอบฝั่งตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือริมแม่น้ำโขง

>>และเมื่อวิเคราะห์การกระจายของอุณหภูมิช่วงเดือนธันวาคม และเดือนเมษายนตั้งแต่ปี 2563-2567 พบว่าในเดือนธันวาคมจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกปี (ความหนาวเย็น) ยกเว้นปี 2566 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นเกือบ 2oC นั่นหมายความว่าปีนี้เราจะไม่หนาว ในขณะเดียวกันอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายนปี 2567 ก็จะสูงกว่าปกติ 1.5oC เราก็จะร้อนสุด ๆ เหมือนกัน จากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และสภาพอากาศแปรปรวน (เอ็นนิญโญ) ดังนั้นปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้าเสื้อหนาวอาจจะขายไม่ค่อยดีน่ะครับ พ่อค้า แม่ค้า อย่าสั่งมาตุนเยอะน่ะครับ

>>ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ฤดูการทำนาปรัง ฝนก็ตกได้น้ำ ราคาข้าวดีจูงใจให้ชาวนาทำนากันในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำต้นทุน (เฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา) ประมาณ 62% (11,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) น้อยกว่าปี 2565 (78%, 14,000 ล้านลูกบาศ์กเมตร) โดยปีที่แล้วมีการจัดสรรน้ำกว่า 5,800 ล้านลูกบาศ์กเมตรทำนาปรังกว่า 7 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา แต่ปีนี้ ดูจากข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ จะมีการจัดสรรน้ำให้ชาวนาเพียง 2,300 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งจะมีพื้นที่ทำนาได้เพียงไม่เกิน 2 ล้านไร่ จาก 8 ล้านไร่ อะไรจะเกิดขึ้น ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% โดยเฉพาะในภาคอีสาน ถ้าไม่มีน้ำต้นทุนของตัวเอง (บ่อ สระ ฝายขนาดเล็ก ระบบสูบน้ำเข้าแปลงนา) ประกอบกับอากาศร้อน และแล้งจัดปีหน้า อัตราการระเหยจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ปัญหาเรื่องไฟป่าในภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 และ คลื่นความร้อนในเมืองจะตามมา

>>แม้ว่าการพยากรณ์ฝนรายฤดูกาลอาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็มีความจำเป็นต่อชาวนาในการเตรียมปัจจัยการผลิต เพราะต้นทุนการทำนาจะสูงหากไม่มีการวางแผน ข้อมูลล่าสุดจากแบบจำลองหลายชุดบ่งชี้ปริมาณฝนต้นฝนปี 2567 อาจจะน้อยกว่าปกติ ส่งนัยถึงการเข้าสู่ฤดูฝนที่ล่าช้าออกไป ปริมาณน้ำต้นทุนที่ต้องเตรียมไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน ? พื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% จะต้องเตรียมการรับมือด้วยครับ และที่สำคัญเกษตรกร และชาวนาต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดน่ะครับ เพราะสภาพอากาศ คือชีวิตความเป็นอยู่ของทุกท่าน

Forecast Research Advisor, Climate Change and Disaster Futuretales LAB, MQDC”

‘สเปน’ เผชิญ ‘ฤดูหนาวอบอุ่น’ ผลพวงจากอากาศแปรปรวน หลังอุณหภูมิพุ่งสูง 30 องศาฯ แดดแรงระอุเหมือนหน้าร้อน!!

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานถึงสถานการณ์สภาพอากาศแปรปรวนใน ประเทศสเปน หลังอุณหภูมิในช่วงฤดูหนาว อบอุ่นขึ้น จนหลายพื้นที่ระอุเกือบ 30 องศาเซลเซียส และสถานีอุตุนิยมวิทยาราว 400 แห่ง หรือเกือบครึ่งของทั้งประเทศวัดอุณหภูมิได้เกิน 20 องศาเซลเซียส

โฆษกสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติระบุว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นถือเป็นความผิดปกติเพราะเป็นอุณหภูมิช่วงเริ่มต้นฤดูร้อนในเดือน มิ.ย. พร้อมเปิดเผยว่า อุณหภูมิสูงสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา วัดได้ 29.5 องศาเซลเซียสในแคว้นบาเลนเซีย ทางตะวันออก

ขณะที่แคว้นมูร์เซีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ วัดได้ 28.5 องศาเซลเซียส และใกล้ๆ เมืองมาลากาในแคว้นอันดาลูซิอา ทางตอนใต้ วัดได้ 27.8 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ตอนกลางคืนก็อุ่นกว่าปกติ รวมถึงพื้นที่สกีรีสอร์ทใกล้กรุงมาดริดซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,900 เมตร และปกติจะมีหิมะปกคลุมในช่วงเวลานี้ของปี แต่เมื่อค่ำวันพุธที่ 24 ม.ค. กลับวัดอุณหภูมิได้ 10 องศาเซลเซียส

อากาศร้อนในช่วงฤดูหนาวมีสาเหตุมาจาก แอนติไซโคลน เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นายเดวิด คอเรลล์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบาเลนเซีย กล่าวว่า “ยังไม่มีการศึกษาที่ประเมินแนวโน้มระยะยาวของเหตุการณ์ประเภทนี้ แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ผิดปกติประเภทนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ”

ก่อนหน้านี้ สเปนเพิ่งเผชิญหน้ากับอุณหภูมิในเดือน ธ.ค. ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 29.9 องศาเซลเซียสในเมืองมาลากา ความร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางภัยแล้งที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะแคว้นคาตาโลเนีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และแคว้นอันดาลูเซีย ทางตะวันตกเฉียงใต้

ในเมืองบาร์เซโลนา เมืองหลวงของคาตาโลเนีย มีระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงเมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และเหลือประมาณร้อยละ 17 ของความจุ หากลดลงต่ำกว่าร้อยละ 16 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แคว้นคาตาโลเนียจะเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน

‘สธ.’ เตือน!! ใช้ชีวิตบน ‘รถติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง’ อันตรายถึงชีวิต เพิ่มความเสี่ยง ‘รับก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกาย-โรคฮีทสโตรก’

(28 ก.พ.67) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โรคลมแดด หรือ Heat Stroke เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศา ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคลมแดดสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน กลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดด ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ผู้ที่ออกกำลังกายหรือใช้กำลังมากเป็นเวลานาน รวมถึงประชาชนทั่วไป และผู้ป่วยระยะพักฟื้น สำหรับการป้องกันสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

“การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาท จึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมอง และอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย” นพ.ธนินทร์ กล่าว

‘หนุ่ม’ แชร์อุทาหรณ์ ‘จอดรถตากแดด’ ไฟลุกพรึ่บ หวิดไหม้ทั้งคัน ชี้จุดฉนวนต้นเพลิง ‘ทิชชู-กล่องไม้จิ้มฟัน’ เตือน!! ถ้ามีในรถรีบเคลียร์ออก

(2 เม.ย. 67) จากกรณีหนุ่มรายหนึ่ง ได้โพสต์คลิปลงบนติ๊กต็อกช่อง @tawan_pick เป็นสภาพรถยนต์ไฟไหม้เบาะคนนั่งข้างหลัง ประกอบกับแดดร้อนจัด ทำให้กล่องพลาสติกไม้จิ้มฟันละลายไปกับเบาะ ซึ่งเป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 เม.ย.67 เจ้าของโพสต์ ได้เผยว่า หลังจากจอดรถเอาไว้กลางแดด แต่รถไหม้เกือบทั้งคัน เพียงเพราะว่ามีทิชชูแห้งและไม้จิ้มฟัน โชคดีเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยดับไฟสำเร็จ

โดยเจ้าของโพสต์ กล่าวว่า จอดรถไว้ในซอยบ้าน ซึ่งจอดเอาไว้ตั้งแต่เช้าและก็ขับรถจักรยานยนต์ไปทำงาน ซึ่งบริเวณดังกล่าวจอดไว้มานานมากแล้ว จากนั้นตนเลิกงานตอนเที่ยงตรง แม่ก็โทรมาบอกว่า “ให้รีบกลับบ้านเพราะไฟไหม้”

ตอนนั้นตกใจมาก จึงรีบขับรถกลับบ้านโดยด่วน เมื่อมาถึงก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของราษฎร์บูรณะ ได้ดับเพลิงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อเปิดรถเข้าไปดูปรากฏว่า จุดที่เกิดไฟมันคือด้านเบาะหลัง เป็นที่ที่วางกระดาษทิชชูและไม้จิ้มฟันเอาไว้ จึงคิดว่าเกิดจากความร้อน

เนื่องจากเมื่อวานอากาศร้อนมาก ประกอบกับเป็นตอนเที่ยง และแสงมันลงมากระทบกับกระจกรถด้านหลังตรงคนนั่งฝั่งซ้าย มันก็อาจจะทำให้อากาศแห้งแล้วเกิดไฟไหม้ โชคดีที่จอดรถใกล้กับสถานีดับเพลิง พี่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงรีบช่วยกันดับเอาไว้ก่อน ทำให้ไฟไหม้ไม่บานปลาย เชื่อว่าถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่มาเห็น รถคงไม่ทั้งคันไปแล้ว

ตอนนี้จะต้องนำรถไปตรวจสภาพและเปลี่ยนเบาะทั้งหมด ทำความสะอาดรถใหม่ด้วย ซึ่งมูลค่าความเสียหายน่าจะ 20,000 บาท ทั้งนี้ อยากเตือนภัยสำหรับทุกคน ที่จำเป็นต้องจอดรถกลางแดด ให้เคลียร์ของในรถ พวกของแห้งที่เป็นทิชชู ไม้จิ้มฟัน หรืออะไรที่มันไวต่อไฟ ก็ให้หลีกเลี่ยงจะดีที่สุด

เปิดยอดพีคไฟฟ้าปี 2567 รอบ 3 ทะลุ 33,340 เมกะวัตต์ คาดอากาศร้อนระอุ ดันสถิติใช้ไฟรอบ 4 พุ่งเป็นประวัติการณ์

ประเทศไทยร้อนจัด หลังก้าวเข้าสู่เดือน เม.ย. 2567 ประชาชนใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดรอบที่ 3 ของปี 2567 เกิดพีคไฟฟ้าขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ช่วงกลางคืนเวลา 21.00 น. ยอดใช้ไฟฟ้าแตะ 33,340 เมกะวัตต์ จ่อทุบสถิติพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกิดในปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์ ตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้พีคไฟฟ้าปี 2567 อาจทะลุ 35,000 เมกะวัตต์ได้หากไม่มีฝนมาช่วยคลายร้อน

(2 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center - ENC) รายงานว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนเดือน เม.ย. 2567 ประเทศไทยก็เกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2567 ขึ้นทันที โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ได้เกิดพีคไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 ขึ้น มียอดการใช้ไฟฟ้าถึง 33,340 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนสะสมมาหลายวันอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 35-43 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประชาชนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าคลายความร้อนมากขึ้น

โดยพีคไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เฉพาะปี 2567 ซึ่งในแต่ละครั้งเกิดพีคไฟฟ้าดังนี้…

- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989 เมกะวัตต์
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. มียอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
- ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพีคไฟฟ้าโดยภาพรวมจะพบว่า ยอดพีคไฟฟ้าในปี 2567 ดังกล่าว เริ่มใกล้เคียงกับยอดพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41 น. ที่มียอดพีคไฟฟ้าสูงสุดที่ 34,827 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนเช่นเดียวกับพีคไฟฟ้าของปี 2567 เช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้คาดการณ์พีคไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนของปี 2567 ว่า อาจเกิดยอดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติสูงสุดมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ หากมีสภาพอากาศร้อนสะสมยาวนาน และไม่มีฝนมาช่วย ทั้งนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการใช้ไฟฟ้าที่ทำลายสถิติพีคของประเทศในปี 2566 ที่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 34,827 เมกะวัตต์ และจะเป็นยอดพีคไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 15-16% จากพีคปี 2566 ด้ว

นอกจากนี้ ช่วงเวลาการเกิดพีคไฟฟ้าเริ่มไปเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงกลางวันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นและมาช่วยตัดยอดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันได้ แต่ตอนกลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ทำให้ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่น ๆ เต็มที่ ดังนั้น สนพ.คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะต้องบริหารจัดการกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับพีคไฟฟ้าใหม่ โดยต้องพิจารณาว่าในช่วงกลางคืนจะมีพลังงานทดแทนชนิดใดที่พึ่งพาได้มาช่วยเสริมระบบ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลม และไฟฟ้าส่วนเกิน เป็นต้น

สำหรับสถิติยอดใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน นับตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้…

- เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051 เมกะวัตต์
- เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989 เมกะวัตต์
- เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
- เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์

ส่วนการใช้ไฟฟ้าล่าสุด วันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 14.22 น. มียอดการใช้ไฟฟ้าแตะ 31,476 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสภาพอากาศยังคงร้อนสะสมต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2567 รอบที่ 4 ขึ้นได้ และอาจทำลายสถิติพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศได้เช่นกัน

‘ดร.เสรี’ เฉลย!! 8 เม.ย.นี้ ‘ร้อนสุด’ ก่อนเล่นสงกรานต์ พร้อมชี้เป้า ‘สุโขทัย’ จะเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดในประเทศ

(3 เม.ย.67) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานฯ ที่มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ระหว่างวันที่ 2-9 เมษายนนี้ อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ และคาดว่า วันที่ 8 เมษายนนี้ จะเป็นวันที่ร้อนที่สุดก่อนสงกรานต์ปีนี้ อุณหภูมิช่วงสงกรานต์จะลดลงมาเล็กน้อย และอาจจะเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป จะเห็นว่าพื้นที่จังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในปัจจุบัน คือ จ.สุโขทัย และจะเป็นจังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุดในอนาคตด้วย (ร้อนสุดขีดทั้งจังหวัด 49.01 องศาเซลเซียส อีก 60 ปีข้างหน้า) จากข้อมูลกรมอุตุฯ ในอดีต จ.สุโขทัย เคยมีอุณหภูมิสูงที่สุด (44.5 องศาเซลเซียส) เป็นลำดับที่ 3 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 และเป็นลำดับที่ 6 (44 องศาเซลเซียส) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559

สำหรับจังหวัดที่จะมีอุณหภูมิสูงสุดในอนาคตรองลงมาตามลำดับในภาคกลาง คือ จ.พิจิตร (48.74 องศาเซลเซียส) จ.ชัยนาท (48.48 องศาเซลเซียส) จ.นครสวรรค์ (48.08 องศาเซลเซียส)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จ.มหาสารคาม (47.85 องศาเซลเซียส) จ.ขอนแก่น (47.58 องศาเซลเซียส) จ.ร้อยเอ็ด (47.56 องศาเซลเซียส) จ.นครราชสีมา (46.19 องศาเซลเซียส)

และในภาคเหนือ คือ จ.ลำปาง (47.19 องศาเซลเซียส) จ.ลำพูน (47.13 องศาเซลเซียส)

ส่วนพื้นที่ กรุงเทพมหานคร จะมีอุณหภูมิสูงสุดประมาณ 44.90 องศาเซลเซียส ผลกระทบที่จะตามมาคือภัยคุกคามที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับได้ คลื่นความร้อน-ภัยแล้ง-ฝนตกหนัก-น้ำท่วม-น้ำทะเลหนุนสูง ทุกภาคส่วนธุรกิจ สังคมเมือง และชนบทจะได้รับผลกระทบมากน้อย ในช่วงเวลาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเตรียมความพร้อมโดยไม่ประมาท 

'นักเขียนซีไรต์' แชร์ประสบการณ์ความหนาวเข้ากระดูกในนิวยอร์ก ชวนให้นึกถึงเมษายนเมืองไทย เจอร้อนจัดๆ คงดีเหลือประมาณ

เมื่อวานนี้ (22 เม.ย.67) นายวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

วันนี้ออกไปทำธุระนอกบ้านหลายชั่วโมง ตั้งแต่ก่อนเที่ยงจนบ่าย รับพลังงานแสงอาทิตย์มาหลายกิโลวัตต์ มองดูตัวเอง คล้าย ๆ เนื้อแดดเดียว ถ้ามีข้าวเหนียวด้วยก็ลงตัว

ผมไม่ได้ฟังพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงไม่รู้ว่าเราผ่านจุดร้อนสุดมาแล้วยัง แต่ไอร้อนตอนนี้มันคล้ายอยู่บนดาวซานถี่ ตอนดวงอาทิตย์ขึ้นสามดวงพร้อมกัน

คนไทยที่เจอไอร้อนระดับนี้อาจบ่นอู้ แต่หากเคยผ่านความหนาวของเมืองนอกระดับติดลบ และฮีตเตอร์ไม่ทำงาน จะต้องเปลี่ยนความคิด เห็นว่าร้อนดีกว่า

สมัยผมเรียนและทำงานที่นิวยอร์ก ผมเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่กับเพื่อนคนไทยและฝรั่งอีกคน เจ้าของตึกเป็นยิว และประพฤติตนเหมือนตัวละครไชล็อกที่เราเรียนในเรื่อง เวนิสวาณิช ทุกประการ 

ยิวแสบคนนี้ปิดฮีตเตอร์ตึกเป็นประจำ โดยเฉพาะตอนที่ทุกคนนอนหลับไปแล้ว เรื่องนี้ผิดกฎหมาย แต่ไชล็อกโนสนโนแคร์ เพราะรู้ว่ารายงานไป ทางการนิวยอร์กก็ไม่ทำอะไร เพราะแต่ละวันมีคนหลายร้อยหลายพันคนโดนแบบนี้

ในเมืองร้อน หากเราไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ มันก็ร้อนเท่านั้น แต่ในเมืองหนาว ตึกที่ไม่เปิดฮีตเตอร์ก็คือ การอยู่ในช่องฟรีซเซอร์ตู้เย็น เราต้องสวมเสื้อกันหนาวเต็มยศนอน คล้ายพวกปีนเขาเอเวอเรสต์ มันหนาวเข้าในกระดูก หนาวจนป่วย

ตอนหนาวจัด ๆ แต่ทำอะไรไม่ได้นั้นเอง ผมนึกถึงเดือนเมษายนในเมืองไทย ผมจินตนาการว่าถ้าได้อยู่ในเมืองไทยตอนร้อนจัด ๆ คงดีเหลือประมาณ

ดังนั้นทุกครั้งที่เจออากาศร้อนจัดในเมืองไทย ผมมักนึกถึงคืนที่สวมชุดกันหนาวนอนบนเตียงตัวเอง ในอพาร์ตเมนต์ของไอ้เวรไชล็อก

แล้วความร้อนในเมืองไทยก็คือสวรรค์ดี ๆ นี่เอง

'กฟภ.' เตือน!! อย่าเปิดๆ ปิดๆ เครื่องปรับอากาศ เพราะช่วงที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่แอร์สตาร์ตมอเตอร์

(24 เม.ย.67) หลายคนคงคาใจกับคำถาม ที่ผู้ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือ แอร์ ว่าระหว่างปิด ๆ เปิด ๆ แอร์ กับ เปิดแอร์ต่อเนื่องยาว ๆ โดยสิ่งหนึ่งที่เรามักจะเข้าใจผิด คือคิดว่าการเปิดแอร์ต่อเนื่องนาน ๆ จะทำให้กินไฟมาก เพราะเครื่องปรับอากาศทำงานนาน

ล่าสุดเฟซบุ๊ก 'การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA' ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า...

ร้อนระอุแบบนี้ ขาดแอร์ก็แทบขาดใจ แต่จะเปิดแอร์ยังไงให้เราไม่ช็อตฟิลกับบิลค่าไฟตอนสิ้นเดือน เซฟไทยขอแนะนำทริกดี ๆ ในการเปิดแอร์ช่วงหน้าร้อน ที่ยังเย็นฉ่ำ ๆ แต่ไม่ทำให้ค่าไฟไม่พุ่งกระหน่ำตาม ลองไปทำตามกันนะ….

1. เลือกขนาด BTU แอร์ให้เหมาะกับพื้นที่ห้อง เพื่อให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแอร์ขนาด 9,000-21,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดเล็กถึงปานกลางอย่างคอนโด แอร์ขนาด 21,000-30,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องโถง ส่วนแอร์ขนาดใหญ่ 30,000-36,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดใหญ่ เช่น โฮมออฟฟิศ ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น

2. เปิดแอร์ 26-27 องศาฯ ควบคู่กับเปิดพัดลม การเปิดพัดลมช่วยอีกทางจะเป็นการระบายความร้อน เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศภายในห้อง และทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าไฟลงได้ 10%

3. ล้างแอร์เป็นประจำทุก 6 เดือน หมั่นล้างแผ่นกรองแอร์เป็นประจำทุก 1 เดือน และล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อกำจัดฝุ่นที่เกาะกรังอยู่ภายใน ซึ่งจะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มกำลัง

4. ปิดแอร์เมื่อไม่ใช้งาน และไม่ควรปิด ๆ เปิด ๆ แอร์บ่อย ๆ การปล่อยให้แอร์ทำงานยาวนานต่อเนื่อง ย่อมดีกว่าการเปิด ๆ ปิด ๆ แอร์เพราะช่วงการทำงานของแอร์ที่กินไฟที่สุดคือ ช่วงที่เราเริ่มเปิดแอร์ และสตาร์ตมอเตอร์ เพราะฉะนั้นยิ่งเปิดแอร์บ่อย ก็ยิ่งกินไฟมากยิ่งขึ้น

5. ตั้งเวลาปิดแอร์ ช่วยเซฟค่าไฟ การตั้งเวลาปิดแอร์เป็นการควบคุมชั่วโมงการใช้แอร์ที่เหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่อากาศไม่ได้ร้อนมากจนเกินไป อาจหันไปใช้พัดลมแทน

6. ปิดประตู หน้าต่างในห้องให้สนิท ยิ่งภายในห้องมีช่องให้ลมแอร์เล็ดลอดผ่านไปหรือลมร้อนจากภายนอกผ่านเข้ามามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แอร์ต้องทำงานหนักเพื่อรักษาอุณหภูมิความเย็นให้คงที่

‘บังกลาเทศ’ ร้อนจัด!! อุณหภูมิสูงกว่า 42 องศาเซลเซียส ตัดสินใจปิดโรงเรียนทั่วประเทศ เด็ก 33 ล้านคนต้องหยุดเรียน

(26 เม.ย. 67) บีบีซี รายงานว่า นักเรียนในบังกลาเทศ กว่า 33 ล้านคน ต้องหยุดอยู่บ้าน หลังทางการสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศเป็นการชั่วคราวอย่างน้อยจนถึงวันที่ 27 เม.ย. ภายหลังสภาพอากาศร้อนจัด หลายพื้นที่มีอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 42 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ถือเป็นการปิดโรงเรียนระดับประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยก่อนหน้านี้อินเดียและฟิลิปปินส์สั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศเช่นกันหลังจากคลื่นความร้อนแผ่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย และตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. หน่วยงานด้านสภาพอากาศของบังกลาเทศออกแถลงการณ์เตือนภัยร้อนเป็นครั้งที่ 4

ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าจะเผชิญกับอากาศแปรปรวนสาหัส เนื่องจากบังกลาเทศมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบต่ำและเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด

ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอซีพีพี) ระบุว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น 30-45 เซนติเมตร อาจส่งผลให้ประชาชนมากกว่า 35 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ที่อาศัยอยู่ในแถบชายฝั่งทะเลต้องพลัดถิ่น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top