Monday, 29 April 2024
อภิสิทธิ์

'โฆษก ปชป.' ซัด 'ธาริต' บิดเบือนคดี 99 ศพ ทั้งที่ 'ศาล-ป.ป.ช.' ตัดสิน 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ไร้ความผิด

(8 ก.ค.66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวพาดพิงบิดเบือนก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนยุติธรรม และเสียหายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ว่า...

หลักการสำคัญในเรื่องนี้ ขอย้ำว่าสิ่งที่นายธาริต ออกมาพูดกล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้น ได้มีการพิสูจน์ความจริงจนสิ้นกระแสความแล้วจากกระบวนการยุติธรรม จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรมนั้น เนื่องจากมีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญา ในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่าง ๆ สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรง แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน

นายราเมศ กล่าวว่า อำนาจการพิจารณาคดีจึงตกไปอยู่กับ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง โดยผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. รับฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผล “อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553” และศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 “ว่าการกระทำของ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน ยุติด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม

นายราเมศ กล่าวต่อว่า การที่นายธาริตแถลงมาทั้งหมดทำไมไม่เอาไปสู้คดีในชั้นศาล ทำไมไม่เอาข้อเท็จจริงไปเข้าสู่กระบวนการของศาลในคดีที่เคยสั่งให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ส่วนที่นายธาริต กล่าวว่า "จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีตน เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289" 

ในประเด็นนี้ เคยย้ำมาตลอดเวลาว่า ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช ว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย นายธาริตถูกฟ้องกลับในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสืบเนื่องมาจากการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ขณะนี้รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนายธาริตเลื่อนฟังคำพิพากษามาหลายครั้ง ทำไมไม่เอาสิ่งที่แถลงเข้าสู่สำนวนคดีที่นายธาริตถูกฟ้อง แล้วต่อมาทำไมถึงต้องให้การรับสารภาพ แสดงว่านายธาริตยอมรับว่าได้ดำเนินกระบวนการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนานสุเทพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถ้ายืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะรับสารภาพทำไม กลับมากล่าวหาบุคคลอื่น แสดงว่าที่ให้การรับสารภาพต่อศาลคือคำให้การเท็จใช่หรือไม่

"ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ไม่เคยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ต่อสู้คดีจากข้อกล่าวหา จนผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา การที่นายธาริต ออกมาแถลง คำแถลงเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม บิดเบือนให้สังคมสับสน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี นายธาริตอย่าพยายามยกเรื่องนี้มาลบล้างการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบในการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ คนจริงเขาไปสู้ในศาล ไม่ใช่มาพูดนอกศาลให้ตนเองดูดี ควรเคารพกระบวนการ ยืนกรานต่อสู้ตามหลักกฎหมาย และอย่าอายต่อความจริง ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะไม่มีข้อยุติและจะนำเหตุการณ์นี้มาบิดเบือนเพื่อทำลายผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา" นายราเมศ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top