Monday, 13 May 2024
หลอกลงทุน

สืบนครบาลรวบยุทธ ท่าเรือ หลอกลงทุนอ้างให้ผลตอบแทนคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดทุกรูปแบบซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก โดยชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาลร่วมกับชุด PCT5 ได้รับแจ้งเบาะแสพฤติกรรมของยุทธ ท่าเรือ หลอกให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนระดมทุน โดยอ้างให้ผลตอบแทนคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือนเป็นอย่างน้อย โดยใช้วิธีการให้นักลงทุนหรือลูกค้ามาทำสัญญาคู่ค้าร่วมหรือกิจการร่วมค้า และให้ค้ำประกันเป็นสลากออมสิน แต่มิได้บอกว่าสลากออมสินนั้นเปิดเป็นประเภทบุคคลธรรมดา โดยมีชื่อเป็นผู้ทรงตั๋วร่วมกับเจ้าของเงินด้วย ซึ่งถ้าเจ้าของเงินที่หลงเชื่อร่วมลงทุนไม่เข้าใจระบบการเงินจะตกเป็นเหยื่อทันที โดยผู้ก่อเหตุไม่แจ้งข้อมูลนี้ให้ผู้ที่หลงเชื่อร่วมลงทุนทราบ รวมทั้งมีพฤติการณ์หลอกให้ผู้เสียหายโอนค่าดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าทนาย ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย กว่า 2 ล้านบาท

จากการตรวจสอบประวัติของบุคคลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนพบข้อมูลว่ามีหมายจับที่ต้องการตัวเพื่อดำเนินคดีอยู่ 2 หมายจับ คือ 

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. / ผอ.ศปอส.ตร. (PCT) ได้เร่งรัดให้ดำเนินการสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็วเนื่องจากมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อประชาชนในสังคม

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566  พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./  หน.PCT ชุดที่ 5  พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง  , พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ , พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.สมพงษ์ เกตุระติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พร้อมชุด PCT5  ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัว 

นายศักย์ศรณ์ หรือศรณ์ หรือยุทธ ท่าเรือ  สิทธิศักดิ์ อายุ 47 ปี อยู่ที่ 828 ถนนเทศบาล 5 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามหมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ จ.1826/2565 ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกง และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ”  

โดยสามารถติดตามจับกุมตัวได้ที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารจอดรถภายในห้างสรรพสินค้าเดอะ สตรีท รัชดา ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ให้ความร่วมมือที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม 

จากการตรวจสอบข้อมูลผู้เสียหายที่ได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้พบมูลค่าความเสียหายของผู้เสียหายแต่ละราย รายละกว่า 900,000 บาท มูลค่าความเสียหายร่วมกว่า 2,000,000 บาท ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากพฤติการณ์ก่อเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียหายที่เคยถูกก่อเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก ตลอดจนเชื่อว่ามีผู้ที่อยู่ระหว่างถูกก่อเหตุ หรือเริ่มสงสัยในพฤติกรรมของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมรายอีก 

รู้ทันกลโกงหลอกลงทุน!!

ระวังถูกชักชวนลงทุนได้ผลตอบแทนสูงผ่านสื่อออนไลน์ ใช้คนมีชื่อเสียงในวงการธุรกิจ หรืออ้างหน่วยงานรัฐ สร้างความน่าเชื่อถือ ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนตกเป็นเหยื่อขบวนการมิจฉาชีพ

 

‘ตร.’ บุกจับ คู่ผัวเมียสอนเทรด ตุ๋นลูกศิษย์ลงทุน-เก็งกำไร อ้างไม่ได้ตั้งใจโกง แต่ตรวจพบมีประวัติเคยฉ้อโกงติดตัว

วันที่ (29 มิ.ย. 66) พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./ หัวหน้าชุด PCT 5, พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง, พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี รอง ผบก สส.บช.น., พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าว/ บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์, พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าว/ บก.สส.บช.น., พ.ต.ท.สมพงษ์ เกตุระติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าว/ บก.สส.บช.น. ร่วมกับ พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ได้ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุม น.ส.ธรรยชนก อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดเชียงราย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ที่ จ.300/2565 ลงวันที่ 26 ส.ค. 65 และนายกนก หรือ ‘นายเก้าทัพ’ อายุ 36 ปี ชาวจังหวัดเชียงราย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดนครปฐม ที่ จ.209/2565 ลงวันที่ 17 มี.ค. 66 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” จับกุมตัวได้ที่บ้านหลังหนึ่ง หมู่ 12 ตำบลท่าสาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สืบเนื่องจากช่วงเดือน ส.ค. 62 กลุ่ม K1FX Trader Club ได้มีการประชาสัมพันธ์ในช่องทางออนไลน์ว่า ได้มีการจัดตั้งบริษัทกองทุนชื่อ ‘Ascension Wealth’ มีระบบการลงทุนที่ปลอดภัย รับผลกำไรที่ยั่งยืน ด้วย Copy Trade Investment โดยมีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำเดือนละ 5 % ของเงินต้น และมีการประกันเงินทุน 100% พร้อมด้วยกรมธรรม์คุ้มครองการลงทุน ทำให้กลุ่มผู้เสียหายหลงเชื่อมั่นว่า บริษัทกองทุนดังกล่าวมีการแบ่งปันผลกำไรได้จริง จึงได้มีการลงทุนรวมเป็นเงินกว่า 24 ล้านบาท

ต่อมาโบรกเกอร์ FTG ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ที่นายกนก ใช้ได้ปิดตัวลง ผู้เสียหายได้สอบถามขอดูข้อมูลจากนายกนก แต่นายกนกก็ไม่ให้ข้อมูลใดๆ แก่ผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายก็ติดต่อกับนายกนกฯยากขึ้น และไม่ได้รับผลตอบแทน ซึ่งต่อมาผู้เสียหายได้พยายามติดต่อกับนายกนก เรื่อยมาเพื่อขอทุนคืน แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงเชื่อว่าถูกฉ้อโกงเงิน จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐม เพื่อดำเนินคดี

กระทั่งศาลจังหวัดนครปฐมได้พิจารณาออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งคู่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ สืบนครบาล ร่วมกับชุด PCT5 จึงรีบทำการสืบสวนหาเบาะแส จนสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายดังกล่าวมาดำเนินคดีได้

จากการสอบสวน น.ส.ธรรยชนก หรือโดนัท ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยอ้างว่า นายกนก หรือเคน หรือนายเก้าทัพ สามีเป็นคนเอาบัญชีธนาคารตนไปรองรับเงินที่ผู้เสียหายลงทุนเทรดเก็งกำไรค่าเงิน (Forex) ส่วนนายกนก หรือเคน ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้ข้อมูลว่าเดิมทีตนเองรับราชการ มีความรู้และสนใจเรื่องการลงทุนเทรดเก็งกำไรค่าเงิน (Forex) จึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อมาทำธุรกิจเรื่องการลงทุนเทรดเก็งกำไรค่าเงิน (Forex) อย่างเต็มตัว

นายกนก หรือเคน หรือนายเก้าทัพ ให้การอ้างว่า ความจริงแล้วตนไม่ได้มีเจตนาที่จะฉ้อโกงผู้เสียหาย แต่เนื่องจากประสบปัญหานำเงินที่ได้จากผู้เสียหายไปลงทุนนั้นขาดทุนซึ่งตนพยายามที่จะชดใช้คืนผู้เสียหายแต่ละรายอยู่ และไม่ได้หลบหนีไปไหน พร้อมที่จะเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

จากการตรวจสอบประวัติคดีของ น.ส.ธรรยชนก ในฐานข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าปัจจุบัน ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 502/2564 ลงวันที่ 17 ส.ค.2564 กระทำความผิดฐาน ‘ฉ้อโกง’ ท้องที่ สภ.คูคต อีก 1 หมายจับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานแจ้งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการอายัดตัวผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐม เพื่อดำเนินคดีต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่าในสังคมปัจจุบัน มิจฉาชีพมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงมากมายหลายรูปแบบ ตลอดจนการลงทุนต่างๆ มีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนทำการลงทุน ตลอดจนขอให้ประชาชนได้โปรดใช้สติในการใช้ชีวิตในสังคม อย่างหลงเชื่อกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพซึ่งมีอยู่มากมาย ควรมีสติวิเคราะห์ถึงพฤติกรรม กลโกง

หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าบุคคลที่เข้ามาเสนอผลประโยชน์ นั้นจะเป็นมิจฉาชีพ หรือไม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มายังเพจ ‘สืบสวนนครบาล IDMB’ ได้ตลอด 24 ชม. แม้จะเป็นคดีที่มีความเสียหายไม่มาก แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนเดือดร้อน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.
 

ตำรวจไซเบอร์จับเจ้าของบัญชีหลอกลงทุน exchange อ้างแค่ให้เพื่อนยืม ทำเหยื่อสูญกว่า 1.2 ล้าน

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้มีตรวจสอบการกระทำความผิดตามสื่อสังคมออนไลน์ ระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1  เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.1 ภายใต้การอำนวยการของ  พ.ต.อ.ศุภรฐโชติ จำหงส์  ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1  ชุดจับกุมนำโดย  พ.ต.ท.สุรพล เห็มไธสง  สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 ได้ร่วมกันจับกุม น.ส.สมฤทัย อายุ 26 ปี  ผู้ต้องหา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ตามหมายจับ ศาลอาญาธนบุรี

สืบเนื่องจากพฤติกรรมของคนร้ายรายนี้จะใช้บัญชีเฟสบุ๊ก สร้างโปรไฟล์ให้มีความน่าเชื่อถือ ติดต่อเข้าคุยกับผู้เสียหาย โดยจะชักชวนให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน เทรดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผ่านทางแพลตฟอร์มชื่อ C.P.GROUP (https://www.cp-group.cc) อ้างว่าได้กำไรดี และเพื่อที่จะติดต่อส่งข้อมูลกันได้สะดวกขึ้น และต่อมาคนร้ายได้เปลี่ยนช่องทางการสื่อสารไปผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งผู้เสียหายเห็นว่ามีความน่าสนใจ จึงหลงเชื่อและร่วมลงทุนเทรดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยโอนเงินไปร่วมลงทุน เข้าบัญชีคนร้าย จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งหมด จำนวน 1,196,999 บาท แต่ภายหลังไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลองทำให้ได้รับความเสียหาย จึงเข้าพบพนักงานสอบสวนร้องทุกข์ดำเนินคดีคนร้ายให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

ต่อมาตำรวจไซเบอร์ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.1 สืบสวนทราบว่าคนร้าย คือ  น.ส.สมฤทัย ได้หลบหนีไปพักอาศัยอยู่ อพาร์ทเม้นท์ ในเขตพื้นที่บางบอน กรุงเทพมหานคร จึงสั่งการให้  พ.ต.ท.สุรพล เห็มไธสง  สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน ติดตามไปจับกุมตัว โดยชุดสืบสวนได้ประสานให้บิดาของ น.ส.สมฤทัยฯ นำ น.ส.สมฤทัยฯ เข้ามามอบตัวที่ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.1 ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ (อาคารบี) แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 เวลาประมาณ 10.00 น. และนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.1 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน  พ.ต.อ.ศุภรฐโชติ จำหงส์  ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1  เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า น.ส.สมฤทัย มีหมายจับติดตัวค้างเก่า ที่ยังมีผลบังคับใช้อีกจำนวน ๒ หมายจับ คือ หมายจับ  ศาลจังหวัดระนอง ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “สนับสนุนผู้อื่นให้ฉ้อโกงประชาชน และสนับสนุนผู้อื่นให้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” และ หมายจับ ศาลจังหวัดระนอง ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “เป็นผู้สนับสนุนฉ้อโกง” รวมทั้งหมดเป็น 3 หมายจับ และเมื่อนำชื่อ น.ส.สมฤทัย บุคคลตามหมายจับ มาตรวจสอบในระบบ Blacklistseller.com (https://www.blacklistseller.com/) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตรวจสอบคนโกง เช็คบัญชีมิจฉาชีพ รู้ทันกลโกง พบว่า น.ส.สมฤทัย มีชื่อเป็นบุคคลเฝ้าระวัง เป็นมิจฉาชีพ เป็นผู้ที่หลอกขายสินค้า หลอกให้โอนเงิน โกงเงิน โกงการส่งสินค้า หลายรายการ และได้ตรวจสอบในระบบแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (https://thaipoliceonline.com/) ยังพบอีกว่า มีความเชื่อมโยงในระบบแจ้งความออนไลน์ 9 CaseID จากการตรวจสอบพบมีผู้เสียหายจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.ศุภรฐโชติฯ กล่าวว่า ขอฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพลักษณะดังกล่าว ขอความร่วมมือผู้พบเห็นข้อความชักชวนลงทุนต่าง ๆ ไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ พร้อมเตือนบุคคลที่สนใจการลงทุน ให้รู้เท่าทันกลลวงในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการอ้างผลการลงทุนได้ค่าตอบแทนที่สูงเกินจริง และข้อสำคัญเพื่อป้องการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ ต้องไม่เร่งรีบตัดสินใจเชื่อเมื่อพบเห็นข้อมูลเชิญชวนต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดีย ขอให้ตรวจสอบตัวตนผู้มาเชิญชวนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง และต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังในการโอนเงิน ตามหลักการ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” ของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ทุกรูปแบบ

ภาคตลาดทุนไทย ผสานมือทลายแก๊งต้มตุ๋นตลาดทุน หลังพบเพจอ้างคนดังหลอกลงทุนระบาดหนัก 

ภาคตลาดทุนไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ รณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลังพบคดีหลอกลงทุนออนไลน์ระบาดหนักในนี้ ประเมินความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพ ผู้บริหารของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีความเสียหายสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะแพลตฟอร์มการลงทุนของประเทศ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน จัดทำโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในระยะแรก จะร่วมกันสื่อสารข้อเท็จจริง พร้อมชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และในระยะถัดไป จะทำงานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการในการจับปลอมหลอกลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เรื่องนี้ เป็นเรื่องสําคัญที่ทุกคนจะต้องตระหนัก ก่อนการตัดสินใจลงทุนกับใครก็ตาม จะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี ว่าบริษัทดังกล่าวมีจริงหรือไม่ ถ้ามีจริง ก็ต้องดูต่อไปว่า กลต. ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้กํากับดูแลได้อนุญาตให้มีการชักชวนแบบนี้หรือเปล่า? และหากพบว่าเป็นข่าวปลอม ขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที เพื่อจะรวบรวมข้อมูลนำไปเปิดเผยให้กับประชาชนได้ทราบต่อไป”

นายภากร ย้ำว่า ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฟสแรกสิ่งที่องค์กรพันธมิตรจะร่วมกันทําคือ การสื่อสารการตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จควบคู่ไปกับการเตือน เพื่อตอกย้ำให้ความรู้และ สร้างภูมิคุ้มครองให้กับนักลงทุน ส่วนในในเฟสที่สอง จะบูรณาการทํางานร่วมกันทั้งภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนากระบวนการจับปลอมหล่อลงทุนให้ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การรับแจ้งเบาะแส การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การติดตามการตรวจสอบ การประกาศแจ้งเตือนและการดําเนินการทางกฎหมาย ซึ่งการทํางานในวิธีการป้องกันแบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นทั้งการป้องกัน และเป็นการแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะทําให้ประชาชนปลอดภัยจากการหลอกลวงประเภทนี้ได้มากขึ้นในอนาคต

ด้านดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 ถึงปัจจุบัน มีคดีเกี่ยวกับการหลอกลงทุนสูงถึง 20,667 คิดเป็นเม็ดเงินกว่าสองหมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจับกุมคนกระทำผิดมาแล้วหลายราย ล่าสุดอย่างกรณีของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ เคยจับไปแล้วก่อนหน้านี้ห้าสิบกว่าคน ครั้งเนี้ยก็จับอีกเกือบสิบคน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนคนที่เป็นมาสเตอร์มายด์ หรือหัวโจก ที่เป็นเจ้าของไอเดีย เจ้าของแก๊งตัวจริง ยังหลุดรอดอยู่ เพราะโดยมากจะเป็นชาวต่างชาติ และไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สามารถจับตัวการใหญ่ได้ แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น โดยหลักการ คือ เน้นเล่นงานบัญชีม้า ใครไปเปิดบัญชีม้าให้คนร้ายะมีโทษหนักขึ้น อาจจะติดคุกถึงห้าปีได้ ส่วนใครที่เป็นนายหน้าโทษก็จะหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจัดการปิดบัญชีม้าได้หมด ชาวต่างชาติจะมาโกง ก็ไม่สามารถจะมาทําได้ง่าย ๆ อีกต่อไป การโอนเงินต่างจะทําได้ยาก สุดท้ายเชื่อว่าจะลดอาชญากรรมได้อย่างแน่นอน

ขณะที่ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและถูกมิจฉาชีพแอบอ้างมากที่สุดท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวนี้ ว่า จากการติดตามข้อมูลคิดว่าน่าจะมีคนเสียหายหลายร้อยล้านบาท เพราะฉะนั้นอยากจะขอย้ำเตือนให้นักลงทุนทุกท่านทราบว่า ทางบริษัทอมตะ และตัวผมเองไม่มีนโยบายชวนใครมาลงทุน ทั้งในด้านส่วนตัวหรือบริษัท ส่วนการลงทุนของอมตะฯ มีแค่แหล่งเดียวคือตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น อย่าไปซื้อผ่านที่อื่น

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ ‘ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน’ โดยช่วยกันตรวจสอบ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาอันสั้น หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และควรตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ให้สอบถามไปยังองค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่าได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล

‘ตร.’ เตือนประชาชนระวังแก๊งหลอกลงทุนออนไลน์ ตุ๋นหมดตัว แฉกลโกง ใช้รูปผู้บริหาร-โลโก้บริษัทใหญ่มาล่อเหยื่อให้ติดกับ

(23 ส.ค. 66) สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้มีคนร้ายแอบอ้างชื่อหรือใช้โลโก้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ต่างๆ แล้วหลอกให้ลงทุน เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 กรกฎาคม 2566 รับแจ้ง 300,000 กว่าเคส ความเสียหายกว่า 41,000 ล้านบาท สถิติการรับแจ้งความหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ในห้วงเวลาเดียวกัน รับแจ้ง 24,000 กว่าเคส คิดเป็น 8.14 % ของสถิติการรับแจ้งทั้งหมด ความเสียหายกว่า 12,000 ล้านบาท คิดเป็น 35 % ของความเสียหายทั้งหมด สำหรับสถิติการหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ในห้วงสัปดาห์ที่แล้วอยู่อันดับ 6 สัปดาห์นี้พุ่งมาอยู่อันดับ 4 โดยรับแจ้ง 274 เคส ความเสียหาย 188 กว่าล้านบาท

จึงได้เชิญ นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และ ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ ประเทศไทย บ.อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด มหาชน มาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. กล่าวว่า การหลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นมากในช่วงเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2566 คนร้ายใช้วิธีการหลอกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 5 อันดับ ดังนี้

1.) Facebook 145 เคส 107,593,333.39 บาท
2.) Website 34 เคส 8,604,561.4 บาท
3.) Line 7 เคส  815,7381.30 บาท
4.) Twitter 1 เคส 7,000 บาท
5.) TikTok 1 เคส 60,6000 บาท

โดยนำรูปผู้บริหารและใช้โลโก้บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น CP AMATA คาราบาวแดง และเครื่องหมายและมีโลโก้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือ ช่วงแรกหลอกให้ลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท ได้ผลตอบแทน 30-70% เมื่อเหยื่อหลงเชื่อทักไปสอบถาม จะเป็นการสนทนาทาง Messenger (ส่วนใหญ่เป็นระบบอัตโนมัติ) จากนั้นจะแนะนำอาจารย์ หรือโค้ด หรือโบรกเกอร์ เพื่อให้คุยทาง Line หรือเข้ากลุ่ม Open Chat พูดคุยกับสมาชิก แล้วให้เริ่มลงทุน โดยมีหน้าม้าอ้างว่าลงทุนตามที่ได้มีการแนะนำสามารถสร้างกำไรได้ โพสต์ภาพสลิปรับโอนเงินผลตอบแทนให้เหยื่อหลงเชื่อ

ในช่วงแรกเมื่อเหยื่อโอนเงินเพื่อลงทุน คนร้ายจะโอนเงินทุนพร้อมกำไรคืนให้เหยื่อ จากนั้นจะชวนเข้ากลุ่ม VIP มีสมาชิก 5-6 คน เพื่อร่วมกันลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนมากขึ้น โดยมีผู้แนะนำการลงทุน 1 คน ที่เหลือก็จะเป็นหน้าม้า ร่วมกันหลอกเหยื่อให้โอนเงินลงทุน หากเหยื่ออยากยกเลิกการลงทุน หน้าม้าจะอ้างว่าหากยกเลิกหรือถอนการลงทุน จะทำให้คนอื่นไม่สามารถถอนเงินได้ และผลประโยชน์ที่ลงทุนไปพร้อมผลตอบแทนที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ (ปลอม) ก็จะไม่ได้รับคืน จึงต้องลงทุนเพิ่ม สุดท้ายเสียเงินไปจำนวนมาก

โดยมีจุดสังเกต ดังนี้
1.) มี Blue Badge หรือเครื่องหมายบัญชีทางการ สีน้ำเงินหรือสีเขียวหลังชื่อเพจ ที่ส่วนใหญ่บริษัทที่มีตัวตนจริงจะยืนยันข้อมูลไว้กับทาง facebook

2.) การโอนเงินลงทุนใดๆ ที่ใช้เงินน้อย รายได้ดี มีผลตอบแทนสูง ไม่มีอยู่จริง หากผลตอบแทนสูงมากขนาดนี้ คนร้ายคงลงทุนด้วยตนเอง

3.) ในการลงทุน คนร้ายให้เหยื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่คนร้ายสร้างขึ้นมาให้เหมือนของจริง (เหมือนเฉพาะรูปภาพ แต่ URL จะต่างจากของจริง) และเมื่อเหยื่อโอนเงินลงทุน ในระบบจะขึ้นยอดเงินแสดงให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นยอดเงินจริง ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงตัวเลขในอากาศที่คนร้ายนำมาหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อเท่านั้น

วิธีการในการป้องกัน คือ

1.) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์โฆษณาแปลกปลอม หรือกดเพิ่มเพื่อนไลน์ในรูปแบบสแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ

2.) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น

3.) ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  https://www.set.or.th

4.) ทำการ copy URL จากเว็บไซต์ลงทุนที่คนร้ายให้มาในใส่ในเว็บไซต์ https://whois.domaintools.com จะเห็นอายุ (Dates) ของเว็บไซต์ว่าเปิดมานานเท่าไรแล้ว  หากเพิ่งเปิดมาร 2-3 เดือน ก็ไม่น่าเชื่อถือ

ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่มีเพจปลอมยังระบาดต่อเนื่อง สร้างผลกระทบให้กับประชาชน ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง อมตะ มีความไม่สบายใจ และไม่เคยนิ่งนอนใจ อมตะได้มีการติดตามและดำเนินการทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่มาโดยตลอด จนสามารถมีความคืบหน้าในการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง และทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะให้สังเกตเพจของกลุ่มมิจฉาชีพจะมีการตั้งขึ้นมาใหม่ มีอายุไม่นาน ในขณะที่เว็บไซต์ และเพจของกลุ่มอมตะ มีการจดทะเบียนและก่อตั้ง ในปี 2012 ซึ่งมีอายุการดำเนินงานมากกว่า 10 ปี เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของอมตะ และขอให้สังเกตจากเครื่องหมาย Blue Badge หรือเครื่องหมายถูกสีฟ้า ที่แสดงบัญชีทางการว่าเป็น Page หลักของอมตะ

ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เน้นย้ำการเชิญชวนเพื่อลงทุนใด ๆ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์อย่างเคร่งครัด และผ่านตัวแทนโบรกเกอร์ หรือที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการเสนอ หรือเชิญชวนให้ประชาชน มาลงทุนผ่าน Facebook หรือติดต่อผ่านระบบ Line ที่ใช้วิธีการจูงใจให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่สูงผิดปกติจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะใช้ชื่อเพจว่าอะไรก็ตาม

ดังนั้น ขอให้ประชาชนมีการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน หากมีข้อสงสัย ให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่ของบริษัท ที่จะสามารถตอบข้อเท็จจริงและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการลงทุนที่ต้องเสียเงินและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ ประชาชน และนักลงทุน สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 061-035-0007 และ 02-792-0000

นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับปัญหาของภัยหลอกลงทุนซึ่งมีหลากหลายรูปแบบและแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในหลายมิติ ทั้งการแจ้งเตือนผู้ลงทุนผ่านช่องทางเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ ‘Investor Alert’ การดำเนินคดีตามกฎหมายกรณีแอบอ้างชื่อหรือโลโก้ของ ก.ล.ต. การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมถึงช่องทางของเครือข่ายหน่วยงานในตลาดทุนเพื่อกระจายข่าวสารแจ้งเตือนภัยหลอกลงทุนให้ขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้รับรองหรือรับประกันผลิตภัณฑ์ ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ หรือผลตอบแทนในการลงทุน ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถเช็กรายชื่อผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตได้ที่ แอปพลิเคชัน SEC Check First หรือ

หรือ สอบถามหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ โทร 1207

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า  ปัจจุบันมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลาย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)  หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อสาธารณะชน โดยกำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นธุรกิจบริการที่ต้องแจ้งให้ทราบ รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชกฤษฎีกานี้ได้เริ่มบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงนี้มีเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจ facebook ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์ เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจาก facebook ทำให้เพจขึ้นมาในในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google Bing safari เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจ facebook ก็จะคุยกับระบบ AI  และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็นทนายความเพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วจะอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้ จากนั้นส่งต่อให้หัวหน้าของคนร้ายที่เป็นเจ้าหน้าที่  IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เว็บพนันออนไลน์ แต่จะช่วยโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าวให้ โดยให้เหยื่อสมัครและเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนันแต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์ โดยจะทำการโจมตีให้เหยื่อ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเองยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว ทำได้แต่บางช่วงเวลาของวันเท่านั้น ไม่งั้นเซิร์ฟเวอร์จะตรวจพบ และ ขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม

โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

1.) ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดให้ประชาชนโอนเงิน เพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม 
เพื่อให้ได้เงินคืน

2.) หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com หรือแจ้งความสถานีตำรวจท้องที่ได้ทั่วประเทศ

3.) หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

สืบนครบาลรวบใบเฟิร์นเน็ตไอดอลชื่อดังหลอกลงทุนร้านทำเล็บ จนมุมกลางห้างดัง

“ใบเฟิร์นเน็ตไอดอลดังถ่ายแบบเป็นอินฟลูเอนเซอร์ โปรไฟล์ IG ของเธอจึงมีผู้ติดตามกว่า 120,000 คน โพสภาพคู่กับรถหรูและดาราผู้มีชื่อเสียงอีกหลายๆคน สร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนตุ๋นเหยื่อหลอกลงทุน “ร้านตัดผมและร้านทำเล็บ” โดยมีเหยื่อหลงเชื่อร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ราย ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ก่อนหายเข้ากลีบเมฆ ผู้เสียหายและทีมงานทนายความชื่อดังประสสนขอความช่วยเหลือกับ น .1 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. โดย เกรงว่าจะมีประชาชนเดือดร้อนเพิ่ม จึงสั่งการให้สืบนครบาลเร่งรัดสืบสวนหาตัว จนกระทั่งทราบเบาะแสว่าหนีมาเข้าถ้ำเสือนครบาล อยู่ใน กรุงเทพ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. / หัวหน้าชุด PCT5 ส่งชุด PCT5 และ สืบนครบาล ตระเวนปลอมตัวเป็นเอเจนซี่แฝงตัวตามคอนโดหรูย่านทองหล่อ กระทั่งสามารถจับกุมตัวได้ โดยเธอเผยกับชุดจับกุมว่า “ตอนนี้ตนพยายามหา ซื้อของแบบซื้อมาขายไป หวังว่าถ้ามีเงินก็จะนำไปทยอยคืนให้กับผู้เสียหาย”

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.สส.4 บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.มาโนชย์ ทองแก้ว , พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ , ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สืบนครบาล ,ตำรวจ PCT5 และ พ.ต.ท.เกียรติศักดิ์ ผัดก๋า รอง ผกก.สส.สภ.สันกำแพง  จว. เชียงใหม่ กับพวกได้ร่วมจับกุม

น.ส.มณฑิรา อินทร์สุวรรณ หรือ “ใบเฟริน” อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 85/2 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน ผู้ต้องหาตามหมายจับ 2 หมายจับ ดังนี้

1.หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ จ.997/2566 ลงวันที่ 5 ต.ค. 66 ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” (สภ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่)
2.หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ จ.1073/2566 ลงวันที่ 26 ต.ค. 66 ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” (สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่)

โดยกล่าวหาว่า ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

พฤติการณ์กล่าวคือ ตำรวจชุด PCT5 และชุดสืบนครบาล ติดตามไล่ล่า “เน็ตไอดอลดัง อักษรย่อ บ.” หลังเธอได้ตระเวนก่อเหตุ หลอกลวงให้ลงทุน “ร้านตัดผมและร้านทำเล็บ” โดยมีเหยื่อหลงเชื่อร่วมลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ราย ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ด้วยเธอเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างหน้าตาดีและยังเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ออกรายการทีวีต่างๆ ถ่ายแบบ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ โปรไฟล์ IG ของเธอจึงมีผู้ติดตามกว่า 120,000 คน และในเฟสบุ๊คของเธอยังมีการโพสภาพคู่กับรถหรูและดาราผู้มีเชื่อเสียงอีกหลายๆคน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้มาสอดส่องโปรไฟล์เธอเป็นอย่างดี กระทั่งช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมาเธอได้เริ่มโพสเชิญชวนให้ร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนการทำร้านตัดผมและทำเล็บ โดยเสนอเป็นแพ็กเกจต่างๆ ยอดปันผลขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ลงทุน และเมื่อถึงกำหนดก็จะได้เงินปันผล ซึ่งเมื่อเหยื่อหลงเชื่อและตัดสินใจโอนเงินไปร่วมลงทุนกับเธอแล้ว เธอก็ไม่ค่อยตอบข้อความ อ้างว่างานเยอะ ติดงานต่างๆ ส่วนสัญญาที่พิมพ์มาให้เซ็นก็ผิดๆ ถูกๆ หลายครั้ง และเมื่อถึงกำหนดจ่ายเงินปันผลเธอก็จะบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายเงิน จนถึงช่วงปลายเดือน มิ.ย. 66 เธออ้างกับเหยื่อว่า บริษัทถูกยักยอกเงิน ทำให้ไม่มีเงินมาคืนให้กับผู้ร่วมลงทุน และหนีหายเข้ากลีบเมฆไป กระทั่งบรรดาเหยื่อที่ร่วมลงทุนกับเธอได้ทยอยเข้าแจ้งความ กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับ  จำนวน  2 หมายจับ ซึ่งล่าสุดเหยื่อได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่าเจ้าตัวได้หลบหนีมากบดาลในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าหนีมาเข้าถ้ำเสือนครบาล พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. / หัวหน้าชุด PCT5 ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมตัว โดยมีเพียงเบาะแสว่าเธอ “กินหรูอยู่สบายละแวกทองหล่อ” ชุดสืบสวนตระเวนตรวจสอบแต่ยังคงไร้ร่องรอย กระทั่ง พล.ต.ต.ธีรเดชฯ ได้เบาะแสจากสายลับว่าเธอควงหนุ่มอยู่ตามห้างดังในพื้นที่ จ.กรุงเทพ จึงตระเวนกระจายกำลังตามห้างดังทั่วกรุงเทพกว่า 5 วัน กระทั่งวันที่ 8 พ.ย. 66 ชุดสืบสวนที่แฝงตัวอยู่ตามห้างได้พบตัวขณะกำลังเดินหาซื้อชุดว่ายน้ำกับหนุ่มชาวต่างชาติ จึงเข้าแสดงตัวและจับกุมตัวเธอได้ โดยจับกุมตัวได้ที่ ห้างยูเนียนมอลล์ แขวงจอมพล เขตจตุจักร จ.กรุงเทพฯ

ในชั้นจับกุม น.ส.มณฑิราฯ หรือใบเฟริน ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า “ตนเองจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยภาคเหนือ เปิดร้านทำเล็บอยู่ จ.เชียงใหม่ ล่าสุดเข้ากรุงเทพมาได้เป็นเวลา 3 สัปดาห์แล้วแต่ไม่ได้เป็นการหลบหนี ในทางคดีตนเองเปิดร้านทำปมและเล็บอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่ามีรายได้ดี จึงได้มาร่วมลงทุนร่วมกัน ร้านกู๊ดคัด โดยร่วมลงทุนรายละ 50,000-1,000,000 บาท และเปิดรับลงทุนร่วมรับจำนำของ จากนั้นนำไปขายเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน  แต่ช่วงหลังกำไรน้อยมาก และซื้อสินค้ามาขายไม่ค่อยได้ ทำไห้ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ร่วมลงทุน  ส่วนร้านทำผมเนื่องจากหาช่างไม่ได้ และลูกค้าน้อย ทำให้ไม่มีเงินจ่ายไห้กับผู้ร่วมลงทุน ตอนนี้ตนพยายามหา ซื้อของแบบซื้อมาขายไป หวังว่าถ้ามีเงินก็จะนำไปทยอยคืนให้กับผู้เสีย” หลังจับกุมตัว ได้นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า “เรายังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของผู้ต้องหา และจะมีการขยายผลการจับกุมโดยละเอียด ซึ่งจากข้อมูลที่ได้วิธีการที่ผู้ต้องหารายนี้ใช้หลอกลวง นั้นเริ่มจากการสร้างโปรไฟล์ให้มีความน่าเชื่อถือ ถ่ายภาพคู่รถหรู หรือดาราผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆ จากนั้นการหลอกลวงจึงทำได้ไม่ยากนัก จึงขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชนยุคใหม่ว่า การร่วมลงทุนในโลกออนไลน์นั้นมีความเสี่ยง เพราะในปัจจุบันเหล่ามิจฉาชีพจะแฝงตัวอยู่ในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก การตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากโปรไฟล์ในโลกออนไลน์นั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องศึกษาหรือปรึกษาผู้มีความรู้ทางด้านการลงทุนให้ดีก่อน เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ และขอเตือนไปยังเหล่ามิจฉาชีพทางออนไลน์ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการระดมปราบปรามผู้กระทำผิดทางออนไลน์อยู่ตลอด ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ฉะนั้นผู้ที่ยังทำหรือคิดจะทำขอเตือนว่า มันไม่คุ้มได้คุ้มเสีย เมื่อได้ลงมือก่อเหตุแล้วและมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้วยังไงก็ต้องถูกจับกุม เพียงแต่จะช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง”

สตม.รวบหนุ่มอินโด หนีคดีหลอกลงทุน Forex ซุกไทย Overstay นานกว่า 2 ปี

ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในช่วงวันคริสต์มาส และเทศกาล ปีใหม่ 2567 โดยสั่งการให้ สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือ กลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ศุภโชค หยงสตาร์ รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.เฉลิมชนม์ แหลมทอง รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม., พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงค์ชัย ผกก.สส.บก.ตม.3, พ.ต.อ.พูลศักดิ์ แก้วศรีขาว ผกก.ตม.จว.นราธิวาส, พ.ต.อ.เด่นชาย เจริญยุทธ ผกก.สส.บก.ตม.6, พ.ต.อ.เกรียงไกร อาริยะยิ่ง ผกก.ตม.จว.ภูเก็ต, พ.ต.ต.กรัณฑ์วาริษฐ์ สมจันทร์ สว.ตม.จว.นราธิวาส ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา รายสำคัญ ดังนี้

1. สตม.รวบหนุ่มอินโด หนีคดีหลอกลงทุน Forex ซุกไทย Overstay นานกว่า 2 ปี บก.สส.สตม. จับกุมนายพอล (นามสมมติ) อายุ 39 ปี สัญชาติอินโดนีเซีย โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดี ตามกฎหมาย 

พฤติการณ์จับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.สตม. ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. พบว่า นายพอล (นามสมมติ) อายุ 39 ปี สัญชาติอินโดนีเซีย การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด (Overstay)  นานกว่า 2 ปี  และเป็นบุคคลที่องค์การตำรวจสากลได้ออกประกาศสีแดง (INTERPOL RED NOTICE) จึงได้ประสานงาน ไปยังเจ้าหน้าที่ กงสุลฝ่ายตำรวจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย รับแจ้งว่า 

นายพอล เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กระทำความผิดในข้อหา ฉ้อโกง โดยการหลอกให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน Forex มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินไทยประมาณ 320 ล้านบาท และปัจจุบันยังหลบหนีคดีเป็นที่ต้องการตัวของทางการอินโดนีเซีย พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม. จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการจัดกำลังสืบสวนติดตามจับกุม จนกระทั่งต่อมาสืบทราบว่า นายพอล ได้ไปซื้อบ้านหรูราคากว่า 8 ล้านบาท อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางใหญ่ จว.นนทบุรี โดยใช้ชื่อภรรยาซึ่งเป็นคนไทยเป็นผู้ซื้อและเป็นเจ้าบ้าน 

จึงได้ทำการขออนุมัติศาลแขวงนนทบุรีออกหมายค้นบ้านพักหลังดังกล่าว จากการตรวจค้นพบนายพอล และพบเงินสดสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่า ประมาณ 2 ล้านบาท อยู่ในตู้เซฟภายในห้องนอน สอบถามนายพอล ให้การว่าตนเองถูกทางอินโดนีเซียออกหมายจับ ในข้อหาหลอกให้ร่วมลงทุน Forex มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 320 ล้านบาท จริง และได้หลบหนีหมายจับของทางการอินโดนีเซียมากบดานอยู่ในประเทศไทย โดยไม่คิดว่าจะถูกตามตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อหาและจับกุมนายพอล ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย

'กวี ชูกิจเกษม' เตือนแฟนคลับ!! เพจหลักตนมีแค่เพจเดียว หลังมิจฉาชีพออนไลน์ สร้างเพจปลอมหลอกคนพุ่ง

(24 ม.ค.67) จากเฟซบุ๊กหลัก 'กวี ชูกิจเกษม' โดยคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Research and Content. บล.Pi ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชน หลังจากมีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อตนไปปั้นเพจปลอม เพื่อหลอกลวงให้คนมาลงทุน ว่า...

ว่าด้วยเรื่อง ขณะนี้ เพจปลอมกลับมาแอบอ้างสวมรอยระบาดจำนวนมาก (อีกแล้ว) ซึ่งเป็นเรื่องเหนือการควบคุมได้ทั้งของทางทีมงานเอง และ Admin นะคะ ไม่สามารถยับยั้งหรือยุติให้หมดไปได้เลยจริงๆ 🥲

ตามที่ได้เรียนแจ้งเสมอๆ ให้รับทราบโดยทั่วกันทุกครั้ง ว่าพี่กวี 'คุณกวี ชูกิจเกษม' มีช่องทางการติดตามบน Facebook fanpage แค่ที่เพจนี้ (กวี ชูกิจเกษม) เท่านั้น และช่องสำหรับเรียนรู้เรื่องการลงทุน ที่ Vee Investment Academy บน Youtube Channel 

ทั้งนี้ หากมีการเอ่ยหรือแอบอ้างสวมรอยเป็น 'คุณกวี ชูกิจเกษม' ไม่ว่าจะเป็นการลงภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพโฆษณาคอร์สเรียนใดๆ ที่มีความผิดปกติ หรือไม่น่าไว้วางใจ รวมถึงการสื่อความไปในทิศทางเชื้อเชิญ ชักชวน ให้เข้ากลุ่มลับ กลุ่มส่วนตัว หรือทำธุรกรรมลงทุนใดๆ ขอเรียนแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน ณ ตรงนี้นะคะ ว่าไม่เป็นข้อเท็จจริงประการใดๆ จึงอยากให้ทุกท่านมีวิจารณญาณตรวจสอบให้ดีและศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำลงทุนที่ใดๆ กับใคร 

⚠️เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้วนั้น โอกาสได้รับคืนน้อยมากๆ แทบจะเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้ ฉะนั้นจงอย่าตัดสินใจผลีผลามเพียงแค่คำโปรยสั้นๆไม่กี่ประโยคที่มิจฉาชีพแต่งขึ้นมาเพียงเพื่อหวังให้ท่านนักลงทุนเชื่อสนิทใจ โดยมักใช้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมาเป็นตัวหลอกล่อให้เหยื่อตกหลุมพราง 

✅หากท่านไหนพบเจอรบกวนช่วยกันกด report ให้ด้วยนะคะ เพื่อเป็นเสียงส่วนหนึ่งในการช่วยกันยับยั้งกันผู้ถูกหลอก

เพจจริงที่แค่เพจนี้ >> https://www.facebook.com/Kavee.Chukitkasem?mibextid=ZbWKwL


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top