Monday, 20 May 2024
หมิ่นสถาบัน

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' ซัด!! สส.ค้านศาล คดี 'อานนท์' จำคุก ม.112 แก้ผ้าล่อนจ้อนเปลือยตัวตนชัดเจน เพื่อปกป้องคนทำผิด

(27 ก.ย. 66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nantiwat Samart’ ระบุว่า…

ไม่ใช่สิทธิ

คดีทนายอานนท์ถูกตัดสินจำคุก ม.112 ไม่แปลกใจที่พรรคและบรรดา สส.ของพรรค ดาหน้ากันออกมาคัดค้านการตัดสินของศาลว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นความเห็นต่าง ทำให้สงสัยว่า พวกคุณคิดอย่างไรกับสถาบันฯ

ต้องพูดความจริงกัน การกล่าวโทษ ให้ร้าย ขู่อาฆาตคนทั่วไป ก็เป็นสิ่งทำไม่ได้ เพราะมีกฎหมายหมิ่นประมาท รักษาสิทธิของคนที่ถูกคุกคาม

แม้แต่พวกคุณยังใช้สิทธิตามกฎหมาย ฟ้องหมิ่นประมาทคนที่กล่าวพาดพิง ทีอย่างนี้ไม่ใช่การเห็นต่างหรือ

พวกคุณได้แก้ผ้าล่อนจ้อนเปลือยตัวตน แสดงตัวตนชัดเจนว่าปกป้องคนทำผิด จะไม่ให้บ้านเมืองนี้มีกฎหมายหรือไร ทำอะไรตามใจเป็นไทยแท้ ไม่ผิด ให้มันเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เปลี่ยนไทยเป็นอนาธิปไตย

พระมหากษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวข้องการเมือง ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง แต่ถูกคนที่ สส.ให้ท้ายจาบจ้วงกล่าวร้าย อย่าให้ความเกลียดชังบดบังความจริง

คนที่เห็นต่างจากพวกคุณ พร้อมออกมาปกป้องพระมหากษัตริย์

'ผศ.ดร.อานนท์' โพสต์!! เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดี กรณี 'อานนท์ นำภา' ถูกจำคุก 112 ไม่รอลงอาญา 4 ปี

(27 ก.ย. 66) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Arnond Sakworawich' ระบุว่า...

คดีที่อานนท์ นำภา ถูกศาลพิพากษาจำคุกมาตรา 112 ป.อาญา ไม่รอลงอาญา 4 ปีนั้น อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีนี้เองครับ และทนายอานนท์ นำภา เป็นทนายความว่าความให้ตัวเองด้วยตัวเองด้วยครับ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อานนท์ ยังได้ยกข้อความปราศรัยช่วงหนึ่งของนายอานนท์ นำภา อีกด้วย ระบุว่า…

นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่าอานนท์ปราศรัยเข้าข่ายความ ผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวคำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ชุมนุมว่า "ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้ จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อย ๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อย ๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือ ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด"

"อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจาก…"

“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ…ให้รู้ไว้เช่นนั้น"

ข้อความข้างต้น อัยการเห็นว่าไม่ใช่การกระทำหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต เป็นการใส่ร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความที่จำเลยได้พูดออกไป ทำให้ไม่เป็นที่เคารพสักการะต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ศาลฯ พิพากษา ‘เบนจา อะปัญ’ ผิด ‘ม.112 - พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ร่วมปราศรัย 10 ส.ค.64 สั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8 พันบาท

(30 ต.ค. 66) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดี น.ส.เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีที่ น.ส.เบนจาปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 หน้าบริษัทซิโน-ไทย ระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2564

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก ข้อหา ม.112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับ น.ส.เบนจา กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.64

ศาลชี้จำเลยปราศรัยกล่าวถึงสถาบันโดยตรง ชัดว่าเป็นการหมิ่นประมาทล่วงเกิน การเบิกความของจำเลยไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีเจตนากล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาลอย่างไร

พิพากษาผิด ม.112 จำคุก 3 ปี ส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ให้ลดโทษหนึ่งในสาม เพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุกรวมทั้งสิ้น 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท

ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และยังอยู่ระหว่างเรียนปริญญาตรี ขณะกระทำผิดมีอายุเพียง 21 ปีเศษ ถือเป็นการกระทำผิดโดยขาดวุฒิภาวะ อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

‘เทพมนตรี’ เผย คดี ‘ปิยบุตร’ หมิ่นสถาบันฯ อัยการให้ ตร.สอบเพิ่ม ด้าน ‘หมอวรงค์’ ชี้!! มีขบวนการปั่น-ล้มล้างฯ เร่งปลุกคนไทยต้าน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thepmontri Limpaphayorm’ ถึงคดีของ ‘นายปิยบุตร แสงกนกกุล’ เลขาธิการคณะก้าวหน้า กรณีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่า…

“วันนี้ต้องมาสถานีตำรวจนครบาลดุสิตอีกรอบ

อาจารย์ปิยบุตรเป็นบุคคลสาธารณะ อันที่จริงไม่ได้มีความบาดหมางส่วนตัวอะไรกันเลย ผิดแผกตรงที่ผมไม่เห็นด้วยในการพูดและเขียนของเขา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้เด็กเยาวชนน้อมนำไปปฏิบัติคล้ายๆ ได้รับแรงบันดาลใจ

ตำรวจใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะสรุปสำนวน อัยการก็ใช้เวลาพิจารณาจะครบปีแล้ว วันนี้ก็ต้องมาสถานีตำรวจนครบาลดุสิต เพราะท่านอัยการมีข้อคำถามกลับมาให้สอบต่อ เพื่อยืนยันข้อความ 3 โพสต์ว่าเป็นจริงตามที่เสนอไป

สงสัยคดีอาจารย์ปิยบุตรจะครบ 3 ปีแน่ๆ และคงต้องสู้คดีกันต่อไปอีกหลายปี

อคติ ความไม่ชอบ ความไม่ลงรอยระหว่างตัวบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งๆที่ถ้ามองแบบวิชาการมันก็คิดอีกอย่าง

พอดีมันเป็นเรื่องกฎหมาย และผมก็มาร้องอยู่คนเดียวมันก็เลยทำให้นางไม่พอใจผมเป็นแน่ ผมไม่ใช่นักร้องน้องรัก ไม่เคยเรียกรับเงินใครสักบาท ไม่รับบริจาคหรืออามิสสินจ้างอะไร ที่ทำไปก็ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ที่อยากเห็นบ้านเมืองนี้มีความยุติธรรมให้เท่าเทียมกันทุกๆคน ทั้งที่เป็นเรื่องยากมาก

อยากบอกอาจารย์ปิยบุตรให้นางได้รับทราบและเตรียมตัวเอาไว้ ถ้าได้เจอกันก็ทักทายกันครับ แต่เรื่องเจ้าเรื่องสถาบันเพลาๆลงบ้างก็จะดี”

ขณะเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ ‘ขบวนการล้มล้างการปกครอง’ โดยระบุว่า…

“หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลากหลาย มีความพยายามที่จะบิดเบือนคำวินิจฉัยของศาล เพื่อสร้างความรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม บางคนถึงขนาดที่ต้องตอบโต้หาว่าศาลรัฐธรรมนูญล้ำแดน ต้องใช้อำนาจโต้กลับ และมีการใช้คำพูดถากถางในโซเชียล

สิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สรุปว่า มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

แต่เคยเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2564 ที่มีการชุมนุมในปี 2563 ประกาศ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ แต่แฝงเร้นคำพูดให้เยาวชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า ต้องการให้สถาบันฯ อยู่เคียงคู่กับประชาชนได้อย่างสงบสุข และการชุมนุมครั้งนั้น ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ เช่นกัน

การถูกชี้ว่าล้มล้างการปกครองในครั้งนั้น จะขายคำว่า ‘ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง’ แต่ครั้งล่าสุดที่เสนอแก้ไขมาตรา112 แต่จริงๆ แล้วก็คือซ่อนเร้นการยกเลิกมาตรา 112 และไปเขียนกฎหมายใหม่ เพราะประชาชนอาจรู้ไม่เท่าทัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อคือ วันนี้แผนการล้มล้างการปกครองระบอบนี้ฯ ได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า มีการวางแผนทำกันเป็นขบวนการหรือไม่? จะจริงหรือที่การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มนั้นต่างฝ่ายต่างทำ บนความเชื่อของตนเอง

เพราะการล้มล้างทั้งสองเหตุการณ์นั้น มีการขับเคลื่อนของผู้แสดงที่หนุนซึ่งกันและกัน กลุ่มเยาวชนหนุนพรรค และพรรคก็หนุนเยาวชน มี NGO ที่รับเงินต่างชาติมาขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน

ขานรับกับสื่อที่เขามีอยู่ในมือจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นี่ยังไม่นับรวมรัฐบาลต่างประเทศ หรือวงการทูตที่แสดงออก ในการแทรกแซงการเมืองไทย แบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจรัฐบาลไทย

อยากบอกพี่น้องประชาชนว่า เรากำลังเผชิญกับขบวนการการล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ต้องใช้เรือปืนมาปิดปากอ่าวไทย เพียงแค่ใช้คำว่าประชาธิปไตย มาปั่นให้กับคนกลุ่มหนึ่ง และอาศัยสื่อสมัยใหม่ แค่นี้ก็สั่นคลอนประเทศได้

ถึงเวลาที่พี่น้องไทย ต้องร่วมใจเป็นหนึ่งเดียว ถ้าเขาทำลายศรัทธาสถาบันฯ ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวประเทศได้ เท่ากับเขาล้มระบบนี้ได้ และอาจจะสถาปนาระบบใหม่ที่เลวร้ายกว่าเดิม ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดินิยม แต่มีคำสวยหรูคือประชาธิปไตย

ขอเตือนเหล่าขบวนการนี้ว่า พวกคุณคิดจะตัดรากแก้วต้นไม้ ถ้าอายุต้นไม้ไม่มากคุณตัดได้และไปล้อมปลูกได้ แต่ไม้ใหญ่ที่อายุร่วม 700 – 800 ปี ที่ให้ความสงบร่มเย็นแก่ผู้อาศัย ขอบอกไว้เลยว่ายาก แต่ถ้าไปเอาคนต่างถิ่นมาช่วยตัด ถ้าตัดได้ ทุกอย่างก็ต้องล่มสลายตามกันไป รวมทั้งพวกคุณด้วย”

‘ธนกร’ หนุน กมธ.นิรโทษกรรม แต่ย้ำ ไม่ยกโทษให้พวกคนผิด ม.112 เพราะไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงของคนไทย

(9 มี.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้ข้อยุติเริ่มนับเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยจะเชิญทุกฝ่ายการเมืองที่มีคดีความจากการชุมนุม มาแสดงความคิดเห็น ว่า ตนเห็นด้วย หากจะเริ่มนับ 1 ในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยเฉพาะความเห็นต่างทางการเมือง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ ซึ่งอาจจะต้องดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับแต่ละคดีประกอบอย่างละเอียด เพราะหลายเหตุการณ์ที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้น ยอมรับว่า ไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ มีการใช้อาวุธทำลายสิ่งของและสถานที่ราชการด้วย จึงต้องดูให้ละเอียดรอบคอบเพราะเป็นคดีอาญา การเชิญตัวแทนกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ มาร่วมประชุมแสดงความเห็นถือเป็นนิมิตหมายที่ดีทางการเมือง

นายธนกร ย้ำว่า ขอสนับสนุน กมธ.นิรโทษกรรมฯ ที่ยังไม่พิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีหมิ่นประมาทอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ ไม่ควรเหมารวมกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ รวมกับความเห็นต่างทางการเมือง และเชื่อว่า หากมีการรวมคนที่ทำผิดมาตรา 112 ให้รับการนิรโทษกรรม ตนเองและคนไทยทั้งชาติไม่มีใครยอมได้แน่นอน

“ขอให้กมธ.นิรโทษกรรมพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ ไม่ควรหยิบเอาคดีทำผิดหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ มาพิจารณารวมกับคดีการเมือง เพราะไม่เกี่ยวกัน แม้ว่าจะมีบางพรรค พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นความเห็นต่างทางการเมืองก็ตาม ซึ่งความจริงแล้ว สถาบันฯอยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นการสร้างชุดข้อมูล สร้างความเข้าใจที่ผิดๆให้กับบางกลุ่มและประชาชน จึงจำเป็นที่ กมธ.นิรโทษกรรม จะต้องมีจุดยืนทางกฎหมาย หากมีการเหมารวมและยกโทษให้กับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศ ไม่มีใครยอมได้” นายธนกร ระบุ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top