Sunday, 19 May 2024
สิ่งแวดล้อม

‘สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.’ แนะ!! ลดใช้แคดเมียม พัฒนาวัสดุทดแทน ชี้!! แม้มีประโยชน์มาก แต่โทษมหันต์ต่อมนุษย์ ถ้าคุมได้ไม่ดี

(11 เม.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ปัจจุบันแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยแร่แคดเมียมเป็นโลหะหนัก ได้มาจากการถลุงแร่สังกะสี ตะกั่วและทองแดง แคดเมียมสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ อาทิ การชุบโลหะ เพื่อเพิ่มความทนทานต่อการกัดกร่อน การสึกหรอ ป้องกันสนิม เป็นสารเคลือบ ใช้ในชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ทางทะเล เม็ดสี ทำแบตเตอรี่ ปุ๋ยและอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนแคเมียมจะมีประโยชน์ต่อการผลิตสิ่งต่างๆที่พวกเราต้องใช้งานกันชีวิตประจำวันของทุกคน

แต่เมื่อมีประโยชน์มาก โทษก็เยอะตามมาด้วย หากการบริหารจัดการแร่หรือกากแคดเมียมไม่ดีพอ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในปัจจุบันมักใช้วิธีฝังกลบกากลงดินในการทำลาย ก็เป็นเหตุให้สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศในบริเวณโดยรอบได้อย่างง่ายดาย มิหนำซ้ำยังเกิดกรณีการลักลอบขุดกากขึ้นมาขายต่ออีกที่กำลังเป็นข่าว และเกิดขึ้นในหลายจังหวัดรวมถึงเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศูนย์กลางของประเทศ การลักลอบดังกล่าว ก็กระทำโดยผิดกฎหมาย ขาดองค์ความรู้และหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ตลอดจนการเก็บในโกดังหรือคลังสินค้าก็ไม่ได้มาตรการ จึงเป็นความอันตรายและเป็นภัยต่อสังคมโดยองค์รวม

ในส่วนของความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากแคดเมียมนั้น มีหลายผลกระทบมาก ไม่ว่าจะเป็น การปนเปื้อนในดินและน้ำ หากยิ่งใกล้แหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นห้วย หนอง คลอง แม่น้ำ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ลดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดความหลากหลายทางชีวภาพ ปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของสัตว์และสุขภาพของประชาชนในบริเวณโดยรอบ มลพิษทางอากาศ ที่อาจเกิดขึ้นจากการขนย้ายกากอย่างไม่ได้มาตรฐานอาจปล่อยฝุ่นละออง เกิดการฟุ้งกระจาย ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนได้ การสัมผัสหากมีปริมาณเกินไป ร่างกายจะสะสมพิษได้นานหลายปี มีผลร้ายต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น มีปฏิกิริยากับระบบไต ปอด กระดูกพรุน ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบสืบพันธุ์รวมถึงโรคอิไต อิไตด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ควรมีการลดใช้แคดเมียม ด้วยการเร่งพัฒนาวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาทดแทน ภาครัฐควรออกมาตรการควบคุมให้ธุรกิจรับซื้อของเก่า เศษเหล็ก, เศษพลาสติก, พอลิเมอร์ เพื่อนำไปรีไซเคิลหรือผ่านกระบวนการเพื่อนำกับมาใช้ซ้ำใช้ใหม่ รวมถึงโรงงานหลอมโลหะในทุกที่ทั่วราชอาณาจักร มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย มีกฎหมายออกมาบังคับเฉพาะ เพื่อเป็นการป้องปรามผู้กระทำความผิดในอนาคต ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยสู่สาธารณะ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลความเป็นไปในพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือให้ความรู้แก่ประชาชน ทางสาธารณสุข สุขอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัส การอยู่ใกล้ หากมีความจำเป็นต้องเข้าใกล้ ควรใส่หน้ากากป้องกันสารพิษ หลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากแหล่งที่มาไม่ชัดเจน เพราะแคดเมียมเป็นโลหะหนักที่ขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที อาจปนเปื้อนในอาหารที่เรากำลังรับประทาน ในน้ำที่เรากำลังดื่มหรือในอากาศที่เรากำลังหายใจอยู่ก็เป็นได้

‘สนพ.’ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น ‘5 แผนพลังงานชาติ’ คาด!! แล้วเสร็จ-พร้อมยื่น ครม.พิจารณาภายใน ก.ย.นี้

‘แผนพลังงานแห่งชาติ’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะกำหนดทิศทางว่า ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการพัฒนา และวางนโยบายด้านพลังงานไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเมื่อโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘พลังงานสะอาด’ เป็นกุญแจสำคัญที่พาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่กับการเสริมศักยภาพเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จึงเป็นที่จับตามองว่า แผนพลังงานที่จะออกมาในเดือนกันยายนนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

>> 1 แผนหลัก 5 แผนรอง

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ‘แผนพลังงานชาติ’ (National Energy Plan 2024) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แผน ดังนี้ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan)

และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งประเมินว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนเมษายน จากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในกันยายน 2567

>> PDP 2024 เพิ่มพลังงานสะอาด

สำหรับแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึง 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ความมั่นคงของระบบ 2.ราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้ และ 3.สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงได้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 50% ของกำลังการผลิตไฟทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากสัดส่วนเดิมของแผน PDP 2018 เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศไทย

โดยพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานโซลาร์จะมีสัดส่วนเยอะที่สุด ตามด้วยพลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล รวมถึงจะบรรจุเรื่องการใช้เทคโนโลยี อย่างการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage)

ด้าน นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับทางสมาคมพลังงานลมบ้าง ถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานลมในแผน PDP 2024 จากเดิมที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ที่มีประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันก็จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 1,500 เมกะวัตต์ และกำลังรอเปิดเพิ่มอีกที่เหลือจนครบ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะความปลอดภัยที่ต้องหารือกัน

นอกจากนี้ แผน PDP ฉบับล่าสุดยังเพิ่มพลังงานทางเลือกใหม่อีก 5% อาทิ พลังงานไฮโดรเจนที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่า หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่หายไปจากแผน PDP 2018 ก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งตั้งกำลังผลิตไว้ประมาณ 70 เมกะวัตต์ พร้อมบรรจุเป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ในแผนฉบับใหม่นี้ด้วย

>> รักษาระดับไฟฟ้า Base Load

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ณ วันที่ 8 เมษายน 2567 พบว่า ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ไฟพีก) ของปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2567 เวลา 20.54 น. มีค่าเท่ากับ 34,656.4 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับไฟพีกระบบที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน มีค่าเท่ากับ 34,826.5 เมกะวัตต์ แต่ทาง สนพ.คาดว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 35,000-36,000 เมกะวัตต์

ดังนั้นกำลังผลิตของพลังงานฟอสซิลที่เป็นโรงไฟฟ้า Base Load ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงของระบบ รวมถึงรองรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากในช่วงกลางวันเป็นช่วงกลางคืนมากขึ้น โดยปรับลดสัดส่วนกำลังผลิตลงเหลือประมาณ 30%

“เรายังไม่สามารถระบุกำลังผลิตทั้งหมดของพลังงานหมุนเวียน เพราะไฟฟ้าที่อยู่ในระบบกับไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริงต่างกัน ประเมินว่า สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริง 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่อยู่ในระบบ ซึ่งเราต้องผลิตให้พอดีกับความต้องการใช้ไฟให้ได้ ถ้าสมมุติว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องทำไฟฟ้าในระบบให้ได้ 30,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย

เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะพลังงานโซลาร์ที่ไม่สามารถผลิตไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงต้องอาศัยปัจจัยดินฟ้าอากาศ ทำให้เราต้องมาประเมินว่า ไฟฟ้าที่เราสามารถพึ่งพาได้จากพลังงานหมุนเวียนมีเท่าไหร่” นายวีรพัฒน์ กล่าว

>> จ่อเพิ่มสัดส่วน RE อีก 40%

รายงานสถิติพลังงานประเทศไทย 2566 ระบุสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ปี 2565 ว่า เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ได้แก่ 1.ก๊าซธรรมชาติ 114,637 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 53% 2.ลิกไนต์/ถ่านหิน 35,523 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 17% 3.การนำเข้า 35,472 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือคิดเป็น 16%

4.พลังงานหมุนเวียน 21,876 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 10% 5.พลังงานน้ำ 6,599 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งคิดเป็น 3% และ 6.น้ำมัน 1,731 จิกะวัตต์ต่อชั่วโมง หรือ 0.8% โดยประมาณ

โดยสามารถแยกแหล่งที่มาพลังงานหมุนเวียนในระบบของการไฟฟ้าปี 2565 ดังนี้ ไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 338.73 เมกะวัตต์

ขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 2,077.71 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าพลังงานน้ำจากในประเทศอยู่ที่ 123.80 เมกะวัตต์ โดยมีแผนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 กำลังผลิตอยู่ที่ 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบันติดตั้งสำเร็จแล้วที่เขื่อนสิรินธร กำลังผลิตรวม 45 เมกะวัตต์ ส่วนการนำเข้าพลังงานน้ำอยู่ที่ 4,461.903 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีไฟฟ้าจากพลังงานลมมีกำลังผลิตรวม 1,502.31 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์อยู่ที่ 2,917.33 เมกะวัตต์

>> ส่องพลังงานหมุนเวียนรายภาค

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พบว่า สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 รายภูมิภาค มีความแตกต่างกันตามศักยภาพการผลิตและวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิต

โดยสามารถแยกได้ดังนี้ ภาคเหนือมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 1,101.80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานโซลาร์ 48% พลังงานชีวมวล 41% พลังงานลม 5% พลังงานน้ำ 5% และพลังงานก๊าซ 1%

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันตก มีกำลังผลิตรวม 2,614.87 เมกะวัตต์ ซึ่ง 72% ของกำลังผลิตรวมมาจากพลังงานโซลาร์ ส่วนพลังงานชีวมวลอยู่ที่ 23% ตามด้วยพลังงานก๊าซ 3% และพลังงานน้ำ 2%

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกำลังผลิตรวม 2,575.68 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานลมคิดเป็นสัดส่วน 50% ตามมาด้วยพลังงานชีวมวล 27% พลังงานโซลาร์ 18% พลังงานก๊าซ 4% และพลังงานน้ำ 1%

และสุดท้ายภาคใต้ มีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 661.53 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 48% พลังงานลม 22% พลังงานก๊าซ 22% พลังงานโซลาร์ 6% และพลังงานน้ำ 2%

ดังนั้น หากแผน PDP 2024 ต้องการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2580 นั่นหมายความว่า ต้องเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 40% นับเป็นความท้าทายของภาคพลังงานไทยครั้งใหญ่ที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียนในแต่ละภูมิภาคด้วย

'สุกฤษฏิ์ชัย' จี้รัฐบังคับใช้กฎหมายคุมวิกฤตอุตสาหกรรม ยกเหตุ 'กากแคดเมียม-ไฟไหม้โกดังหลายจังหวัด' ไม่ควรเกิดอีก

ไม่นานมานี้ นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กล่าวว่า...

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ต้องขอแสดงความห่วงใยและรู้สึกกังวลใจต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ทั้งการได้ลงพื้นที่เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ เพื่อสังเกตการณ์ ตั้งแต่มีข่าวเรื่องพบโกดังเก็บกากแคดเมียม ก็ติดตามการแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิด มาจนถึงการจัดการขนย้ายกลับไปยังจังหวัดตาก ก็พบว่าในหลายขั้นตอนของการขนย้าย อาจไม่ปลอดภัยถูกต้องเพียงพอ แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจต่อปัญหานี้เท่าที่ควร ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ รวมถึงเกิดเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพื้นที่โกดังเก็บกากอุตสาหกรรม กระดาษรีไซเคิลและสารเคมีในหลายพื้นที่ ทั้งชลบุรี, ระยอง, สมุทรสาคร รวมถึงล่าสุดที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งใกล้ชุมชนและโรงพยาบาล

เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นภัยต่อพี่น้องประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน กระทบต่อระบบนิเวศและธรรมชาติของพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฝุ่นพิษ ฟุ้งกระจายไปในอากาศเป็นจำนวนมาก เป็นการเร่งปฏิกิริยาต่อสภาวะโลกร้อน ทวีความรุนแรงอย่างที่เรากำลังเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนกว่าปกติ ซึ่งจะเป็นวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่พวกเราจะหลีกหนีไม่ได้อย่างถาวรในที่สุด

ภาครัฐควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ออกมาตรการจัดการกับผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ มีแผนเผชิญเหตุที่ทันสมัยและรวดเร็ว ผู้ทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบาย ระดับบริหาร และระดับปฏิบัติการ ต้องเอาจริงเอาจัง หากปล่อยปละละเลย ควรได้รับบทลงโทษทั้งทางวินัยและทางกฎหมาย อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการขอใบอนุญาต ตรวจสอบจำนวน การขนย้าย การนำเข้าหรือส่งออก การนำไปใช้ที่ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ ต้องอยู่ในกำกับของภาครัฐทั้งหมด เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ควรส่งเสริมให้ภาคธุรกิจลดการใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมต่อธรรมชาติมากขึ้น 

"ในตอนนี้ เรากำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตอุตสาหกรรม หรือวิกฤตการบังคับใช้กฎหมาย” นายสุกฤษฏิ์ชัย ทิ้งท้าย

สำรวจ!! มลพิษจากพลาสติกครึ่งหนึ่งของโลกราว 1.8 ล้านชิ้น มาจากผลิตภัณฑ์ของ 56 บริษัท ที่แปรสภาพเป็นขยะสิ่งแวดล้อม

(13 พ.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

การศึกษาใหม่ได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์หลัก ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยมลพิษจากพลาสติก หลังจากที่นักวิจัยติดตามขยะจำนวนมากและพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งมาจากบริษัทเกือบ 60 แห่ง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เปิดเผยว่ามี 56 บริษัทที่ก่อให้เกิดขยะ พลาสติกมากกว่า 50% ใน 84 ประเทศ

เพื่อให้ได้ข้อมูลนี้ อาสาสมัครหลายพันคนทั่วโลกได้ดำเนินการ ‘ตรวจสอบ’ พลาสติก โดยพวกเขาจะสำรวจชายหาด สวนสาธารณะ แม่น้ำ และสถานที่อื่น ๆ เพื่อหาขยะพลาสติก อาสาสมัครตรวจสอบขยะแต่ละชิ้นและบันทึกแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าที่มองเห็นได้ โดยกลุ่ม Break Free From Plastic ได้มีการรวบรวมการตรวจสอบ 1,576 ชุด ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565

จากการสำรวจพลาสติกมากกว่า 1.8 ล้านชิ้น มีเกือบ 910,000 ชิ้นที่มีแบรนด์ที่มองเห็นได้

ในบรรดาพลาสติกหลายแสนชิ้นนั้น บริษัทชั้นนำ 5 อันดับแรกทั่วโลกที่พบว่ามีผลิตภัณฑ์แปรสภาพเป็นขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ The Coca-Cola Company (11%), PepsiCo (5%), Nestlé (3%), Danone (3%) และ Altria (2%) คิดเป็น 24% ของจำนวนแบรนด์ทั้งหมด ขณะที่ Unilever รั้งอันดับ 8, Moderlez International (เจ้าของแบรนด์ขนมหวาน ช็อกโกแลต และหมากฝรั่งชื่อด้่งอย่าง Oreo, Ritz,Toblerone, Cadbury,Trident, Dentyne, Chiclets และ Halls เป็นต้น) ตามมาในอันดับ 11 และ Mars, Incorporated (เจ้าของแบรนด์ขนมหวานระดับโลกอย่าง M&M’s, Snickers, Mars และ Twix เป็นต้น) อยู่ในอันดับ 12 ซึ่งสามบริษัทหลังนี้มีสัดส่วนไม่ถึงบริษัทละ 2% ขณะเดียวกันการศึกษานี้ยังพบว่าบริษัท 56 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของขยะพลาสติกที่สำรวจพบ

ขณะที่พลาสติกที่หลงเหลืออีก 50% ไม่มีตราสินค้าที่มองเห็นได้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในการรายงานความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ

ขยะพลาสติกที่ไม่มีแบรนด์ประกอบด้วย 52% ของขยะพลาสติกที่ทำการสำรวจในครั้งนี้ทั้งหมด แต่การระบุความเป็นเจ้าของของบริษัทให้กับขยะพลาสติกที่ไม่มีตราสินค้าเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ด้วยเทคนิคในปัจจุบัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับของพลาสติกที่ไม่มียี่ห้อ ได้แก่ การผุกร่อนด้วยน้ำ แสงแดด และอากาศ รวมถึงระยะเวลาที่วัสดุอยู่ในสภาพแวดล้อม คุณภาพของหมึกที่ใช้ และประเภทของวัสดุหรือสัณฐานวิทยา เมื่อไม่มีหลักฐานระบุตัวตนของผู้ผลิตพลาสติกที่ไม่มีแบรนด์ การศึกษานี้จึงมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบพลาสติกที่มีตราสินค้า

“สินค้าพลาสติกมากกว่า 50% ที่เราพบ เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีความโปร่งใสที่มากขึ้นเกี่ยวกับการผลิตและการติดฉลากผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับและความรับผิดชอบ เราขอแนะนำให้สร้างฐานข้อมูลสากลที่เข้าถึงได้แบบเปิดซึ่งบริษัทต่าง ๆ มีหน้าที่ติดตามและรายงานผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ แบรนด์ และการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณ นอกจากนี้ เราขอแนะนำให้พัฒนามาตรฐานสากลเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ของบรรจุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการระบุตัวตน” รายงานการศึกษานี้ระบุ

จากบริษัทที่อยู่เหนือเส้นแนวโน้ม (Trend line) โดยทั่วไปแล้วเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม (เส้นสีม่วง) ในขณะที่บริษัทที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแนวโน้มส่วนใหญ่เป็นบริษัทในครัวเรือนและการค้าปลีก (เส้นสีเขียวนกเป็ดน้ำ) แม้ว่าบริษัททั้งสองประเภทจะผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมักจะมีระยะเวลาการใช้งานที่สั้นกว่าก่อนที่จะนำไปกำจัด รวมถึงมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าของสินค้าแบบใช้ครั้งเดียว (รวมถึงสินค้าที่มีอายุสั้น) ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มสูงในการบริโภคระหว่างเดินทาง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและร้านค้าปลีกมีแนวโน้มสูงกว่าในการบริโภคภายในอาคาร ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยที่จะหลบหนีจากโครงสร้างพื้นฐานการจัดการวัสดุและรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม

กระนั้นสิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าเปอร์เซ็นต์นั้นอิงจากการนับจำนวน เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์นี้จะแตกต่างออกไปหากเปอร์เซ็นต์เป็นมวล เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทค้าปลีกและในครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะมีมวลโดยเฉลี่ยมากกว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม การประมาณมวลเฉลี่ยของพลาสติกที่ผลิตโดยแต่ละบริษัทจะต้องแปลงระหว่างจำนวนและมวล

“อุตสาหกรรมมักที่จะโยนความรับผิดชอบให้กับผู้บริโภค แต่เราอยากจะชี้ให้เห็นว่าควรเป็นความรับผิดชอบของแบรนด์ต่าง ๆ ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ยั่งยืน สินค้าแบบใช้แล้วทิ้ง และรูปแบบการจัดส่งที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล” Marcus Eriksen ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษจากพลาสติกของสถาบัน 5 Gyres Institute ผู้เขียนการศึกษานี้กล่าวกับ The Guardian สื่อชื่อดังของอังกฤษ

พลาสติกส่วนใหญ่ทำจากเชื้อเพลิงสกปรก เช่น น้ำมันและน้ำมันเบนซิน ดังนั้นการผลิตวัสดุดังกล่าวจึงก่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพและความร้อนสูงเกินไปที่เป็นอันตรายต่อโลกของเรา

เนื่องจากพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะสลายตัวในระยะเวลาหลายสิบปีถึงหลายร้อยปี จึงก่อให้เกิดอันตรายเพิ่มเติมโดยกลายเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อพวกมันแตกออกเป็นอนุภาคขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ไมโครพลาสติก’

การศึกษาล่าสุดชิ้นหนึ่งในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์เชื่อมโยงอนุภาคเหล่านี้กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวายในผู้ป่วยโรคหัวใจ ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งที่จัดทำโดยหอสมุดแห่งชาติด้านการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจอยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของกรณีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี และเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้

>> บริษัทขนาดใหญ่และความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหามลพิษ

ในการต่อสู้กับมลพิษจากพลาสติกทั่วโลก มีศัตรูเพียงไม่กี่คนที่มีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าของบริษัทขนาดใหญ่ ด้วยประสบการณ์กว่าสามทศวรรษในการรายงานประเด็นด้านความยั่งยืน ฉันได้เห็นโดยตรงถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ และความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับความรับผิดชอบ ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ไปจนถึงการผลิต การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างแพร่หลายได้ทิ้งร่องรอยที่ลบไม่ออกบนโลกของเรา พร้อมกับส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ ชุมชน และคนรุ่นอนาคต

การแพร่หลายของพลาสติกในชีวิตประจำวันของเรานั้นไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ความสะดวกสบายกลับปฏิเสธต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมอันมหาศาล บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตรากำไรและความต้องการของตลาด มีบทบาทสำคัญในการยืดเยื้อวิกฤตนี้ โดยเลิกใช้บรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนมหาศาลโดยไม่สนใจผลกระทบเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน จากกลุ่มบริษัทข้ามชาติไปจนถึงแบรนด์ในครัวเรือน มลพิษจากพลาสติกที่หลอกหลอนอยู่ทุกมุมของโลกธุรกิจ

หัวใจของปัญหานี้อยู่ที่ความไม่สมดุลขั้นพื้นฐานระหว่างการบริโภคและความรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้บริโภคต้องแบกรับความรู้สึกผิดและการตรวจสอบการใช้พลาสติกอย่างถี่ถ้วน ความรับผิดชอบในท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ผลิตและทำกำไรจากวัสดุเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทใหญ่ ๆ จะต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่น่าอึดอัดใจ: พวกเขามีความสมรู้ร่วมคิดในการสานต่อวิกฤตการณ์ระดับโลกที่คุกคามโครงสร้างของโลกของเรา

แล้วบริษัทขนาดใหญ่ควรรับผิดชอบบทบาทของตนในการสร้างมลพิษจากพลาสติกอย่างไร?
ประการแรก พวกเขาจะต้องรับผิดชอบห่วงโซ่อุปทานของตน ปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เข้มงวดเพื่อลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลพลาสติกตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งรวมถึงการลงทุนในทางเลือกที่ยั่งยืน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้มากที่สุด และลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุดในทุก ๆ กระบวนการที่เป็นไปได้

นอกจากนี้ ความโปร่งใสและความรับผิดชอบจะต้องเป็นเสาหลักของการกำกับดูแลกิจการที่ไม่สามารถต่อรองได้ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในอุตสาหกรรม

บริษัทขนาดใหญ่ต้องเปิดเผยการใช้พลาสติกและการปล่อยมลพิษ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถรับผิดชอบต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งรวมถึงการติดตามและรายงานเกี่ยวกับการสร้างขยะพลาสติก วิธีการกำจัด และความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการลดการลดการใช้พลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ไม่เพียงเท่านี้ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับความท้าทายเชิงระบบที่เกิดจากมลพิษจากพลาสติก บริษัทขนาดใหญ่ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ แบบไม่ตกหล่น เพื่อพัฒนาวิธีแก้ปัญหาแบบองค์รวมที่จัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการปฏิรูปนโยบาย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดการขยะและการรีไซเคิล และการสนับสนุนความคิดริเริ่มที่ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

รวมถึงสนับสนุนและบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืนให้กับชุมชนเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้

บริษัทข้ามชาติ เช่น ผู้ผลิตมลพิษจากพลาสติกชั้นนำอย่าง Nestle, Coca-Cola และ Pepsi ควรควบคุมตนเองในเชิงรุก พวกเขาสามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมด้วยการออกแบบของตนเอง เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากมลพิษจากพลาสติกในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันได้

The Washington Post รายงานว่า โฆษก Coca-Cola บอกถึงกลยุทธ์โลกไร้ขยะของบริษัท โดยตั้งเป้าที่จะ “ทำให้บรรจุภัณฑ์ของเราสามารถรีไซเคิลได้ 100% ทั่วโลกภายในปี 2568 และจะใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 50% ในบรรจุภัณฑ์ของเราภายในปี 2568 เรารู้ว่าต้องทำมากกว่านี้ และเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโดยลำพังได้”

ด้าน Nestlé แจกแจงว่าบริษัทตั้งเป้าที่จะลดการใช้พลาสติกใหม่ลง 1 ใน 3 และนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ให้มากขึ้น

ขณะที่ในแถลงการณ์ทางอีเมลของ PepsiCo ระบุว่าบริษัทสนับสนุนกรอบนโยบายระดับโลกเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก และกำลังทำงานเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่พลาสติกถูกนำมาใช้ซ้ำ

ส่วน Altria ได้ตรวจสอบการศึกษานี้และเชื่อว่าไม่ถูกต้อง เพราะการศึกษานี้รวมข้อมูลจากกว่า 80 ประเทศ แต่ Philip Morris USA บริษัทบุหรี่ของ Altria ดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Win Cowger ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Moore Institute for Plastic Pollution Research และผู้เขียนหลักของการศึกษากล่าวในการตอบสนองต่อคำแถลงของ Altria ว่า “แนวคิดที่ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทในประเทศใดประเทศหนึ่งจะอยู่ในประเทศที่สร้างผลิตภัณฑ์นั้นเท่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุน”

ส่วน Danone ไม่ตอบสนองต่อการร้องขอความคิดเห็นจาก The Washington Post

กล่าวโดยสรุป ปัญหาเรื้อรังของมลพิษจากพลาสติกจำเป็นต้องได้รับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนจากบริษัทขนาดใหญ่ ถึงเวลาแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จะต้องแบกรับความรับผิดชอบและดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่ออนาคตที่ปราศจากมลภาวะนี้ ด้วยความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างแข็งขัน เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่โลกที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

ถึงเวลาดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว อย่าเสียเวลาอีกต่อไปเลย

‘บริษัทจีน’ เปลี่ยน ‘ฟางพืช’ เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 6-7 แสนตันต่อปี

(16 พ.ค. 67) จีนกำลังเดินหน้าผลักดันการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานชีวมวล เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายคาร์บอนคู่ขนาน (dual carbon) ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งในนครจี่หนาน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนก็ได้ทำตามแผนการนี้ ด้วยการเปลี่ยนฟางพืชประเภทต่าง ๆ สู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เกาเส้าเฟิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชีวมวลของเซิ่งเฉวียน กรุ๊ป (Shengquan Group) กล่าวว่าส่วนประกอบหลักในฟาง ได้แก่ เฮมิเซลลูโลส (hemicellulose) ลิกนิน (lignin) และเซลลูโลส (cellulose) ส่วนประกอบเหล่านี้สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลายแบบ อาทิ สารทดแทนปิโตรเลียมและถ่านหิน เมทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอทานอลจากเซลลูโลส น้ำมันก๊าดสำหรับการบิน น้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดชีวภาพ และอื่น ๆ

บริษัทเซิ่งเฉวียน ดำเนินโครงการกลั่นชีวมวลระดับล้านตันแบบบูรณาการระยะแรกมาตั้งแต่ปี 2023 จนขณะนี้สามารถแปรรูปฟางพืชได้ 500,000 ตันต่อปี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 600,000-700,000 ตันต่อปี

ด้านถังเจิงหยวน กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของเซิ่งเฉวียน กรุ๊ป กล่าวว่าปัจจุบัน สินค้าส่งออกหลักคือฟีนอลิกเรซิน (phenolic resin) และเรซินสำหรับหล่อ โดยมีประเทศปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกา พร้อมเสริมว่าเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่กว่าร้อยละ 20 ต่อปี และมีอัตราการเติบโตสูงสุดราวร้อยละ 30 เมื่อปีก่อน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top