Friday, 17 May 2024
สภากาชาดไทย

ทร. สวธ. และ สภากาชาดไทย เชิญชวนประชาชนร่วมชมการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 49  พ.ศ 2566  แสงทิพย์แห่งอาภากร เสียงทิพย์จากราชนาวี” เทิดพระเกียรติองค์บิดาของทหารเรือไทย รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่าย โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย ช่วยเหลือการพยาบาลผู้ป่วย 

(เมื่อ 14 มิถุนายน 66 ) เวลา 10.10 น. ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ) กองทัพเรือ (ทร.) จัดการแถลงข่าว การจัดการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 49 ปี พ.ศ.2566 เพื่อเทิดพระเกียรติ องค์บิดาของทหารเรือไทย  “แสงทิพย์แห่งอาภากร เสียงทิพย์จากราชนาวี” โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการจากการแสดงกาชาดคอนเสิร์ต นายโกวิท  ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ นาวาเอก พฤทธิธร สุมิตร ผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ พร้อมผู้แทนองค์และหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน บริจาคเงินสบทุนสภากาชาดไทย 

“กาชาดคอนเสิร์ต” นี้ กองทัพเรือได้จัดให้มีขึ้นตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงมีพระราชปรารภกับผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น ให้กองทัพเรือจัดแสดงดนตรีโดย วงดุริยางค์ราชนาวี เพื่อเป็นการเผยแพร่ดนตรีแนวคลาสสิกให้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทย และจัดหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย โดยไม่หักค่าใช้จ่าย  ในการช่วยเหลือรักษาพยาบาลเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วยทั้งมวลให้ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งกองทัพเรือก็ได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ ตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา และได้จัดแสดงเป็นประจำทุกปี  จะมีเว้นบ้างตามสถานการณ์ ที่ไม่เอื้ออำนวย โดยวงดุริยางค์ราชนาวี นับได้ว่าเป็นวงซิมโฟนีออเคสตร้าแนวคลาสสิคชั้นนำวงหนึ่งของประเทศไทยที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้มีโอกาสบรรเลงในงานพระราชพิธี  รัฐพิธี ตลอดจนงานสำคัญต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ 
 
ในปี 2566 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  กองทัพเรือ ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์  โดยพระองค์ทรงริเริ่มวางรากฐานกิจการทหารเรือไทยให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง สามารถทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติทางทะเลได้อย่างดีตลอดมา

ส่งผลให้กองทัพเรือไทย มีความทันสมัย มีมาตรฐานทัดเทียมนานาอารยประเทศตราบจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ในด้านการดนตรี พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์เพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจให้มีความรักชาติ กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ โดยเพลงปลุกใจของพระองค์ นับว่าเป็นเพลงอมตะของทหารเรือ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงเป็นอมตะอยู่ในจิตใจของทหารเรือทุกนาย และต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมิรู้ลืม โดยพร้อมใจกันถวายสมัญญานามพระองค์ท่านว่า "องค์บิดาของทหารเรือไทย" 
 
โดยในส่วน การแสดงกาชาดคอนเสิร์ต ในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 49  ใช้ชื่อการแสดงว่า “แสงทิพย์แห่งอาภากร เสียงทิพย์จากราชนาวี” เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ที่ทรงเป็นองค์บิดาของทหารเรือไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินรายได้จากการบริจาคโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ภานายิกาสภากาชาดไทย  โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย  ทั้งนี้ สภากาชาดไทย จะนำเงินดังกล่าวไปช่วยเหลือประชาชนในโครงการและกิจการต่าง ๆ อาทิ โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและสาธารณภัย  โครงการศูนย์มะเร็งเต้านม กิจการอาสายุวกาชาดเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ศูนย์รับบริจาคอวัยวะต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์  และโครงการมอบชีวิตใหม่แด่เพื่อนมนุษย์ด้วยการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดโลหิต  เป็นต้น   

สำหรับรายการแสดง กาชาดคอนเสิร์ตครั้งที่ 49 ในครั้งนี้ วง Symphony orchestra ดุริยางค์ราชนาวี กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ จะบรรเลงเพลงคลาสสิค และเพลงร่วมสมัย ขับรองโดยนักร้องรับเชิญ อาทิ  ธงไชย แมคอินไตย์  สหรัถ  สังคปรีชา   ปิยนุช เสือจงพรู (จิ๋ว  เดอะสตาร์/ จิ๋ว  นิวจิ๋ว) กิตตินันท์  ชินสำราญ (กิต The voice )  กรกันต์  สุทธิโกเศศ   สรวีย์  ธนพูนหิรัญ (ผิงผิง  Golden song season 2 ) และ วศิน  พรพงศา  (วิน   Golden song  season 3 )  ร่วมด้วย นักร้องประสานเสียงดุริยางค์ราชนาวี  ในวันอังคารที่ 27 และวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 19.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  

ในการนี้ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย  โดยไม่หักค่าใช้จ่าย  สามารถร่วมบริจาคเงินโอนเงินผ่านบัญชี ธนาคารไทยธนชาติ บัญชีเลขที่  115 - 1 - 07541 -1 และ บัญชีธนาคารกรุงไทย หมายเลขบัญชี  662 - 3 - 43960 - 9  ชื่อบัญชี “กาชาดคอนเสิร์ต ครั้งที่ 49”  และ ส่งสำเนาใบโอนเงิน ไปที่ กรมการเงินทหารเรือ หมายเลขโทรสาร 024755557 หรือ LINE ID : FINN97531

ทั้งนี้ ผู้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ จากสภากาชาดไทย และกองทัพเรือ  นอกจากนั้น ใบเสร็จรับเงิน ยังสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า (ดูรายละเอียดได้ที่ facebook fanpage  กองทัพเรือ royal thai navy และ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมการเงินทหารเรือ โทร.  024755683

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

'กาชาด' โต้ กสม. ยันไม่เคยเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ กรณีการจำกัดสิทธิบริจาคโลหิตในผู้ที่มีความหลากหลาย

(11 ก.ค.66) 'กาชาด' แจงข้อเท็จจริง เหตุ ‘กสม.’ แถลงคลาดเคลื่อน หวั่นเกิดความเข้าใจผิด ยันไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตระหนักถึงหลักการ #ความเท่าเทียม

จากกรณี ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)’ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชน (6 ก.ค. 2566) ถึงประเด็นเรื่อง 'การจำกัดสิทธิการบริจาคโลหิตในผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ' อันเป็นข้อมูลคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งทำให้ผู้บริจาคโลหิตและประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

‘ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย’ ยังคงตระหนักถึงหลักการความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และมาตรฐานสากลในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต ที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริจาคและผู้ป่วยผู้รับโลหิตเป็นสำคัญ รวมถึงมีการทบทวนเกณฑ์การรับบริจาคโลหิตมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับคำถามในการคัดกรองและประชาสัมพันธ์มาอย่างสม่ำเสมอ โดยขณะนี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเกณฑ์การรับบริจาคโลหิตของประเทศ ร่วมกับ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

โอกาสนี้ ‘ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย’ ขอยืนยันข้อเท็จจริงว่า มิได้มีการเลือกปฏิบัติหรือตีตราผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด หากแต่มุ่งมั่นในการให้บริการโลหิตที่ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ และขอให้ ‘สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ ทบทวนประเด็นดังกล่าวและแถลงข้อเท็จจริงต่อไป

ดิสนีย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พลิกโฉมห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – 4 กันยายน 2566 – บริษัท เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พลิกโฉมปรับปรุงสภาพแวดล้อมห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างรอบด้านของผู้ป่วยเด็กทุกช่วงวัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังได้รับการปรับปรุงฝาผนัง ,ประตู กระจกตลอดจนพื้นที่เล่นและโซนอ่านหนังสือ ด้วยภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังของตัวละครดิสนีย์, พิกซาร์ แอนิเมชัน สตูดิโอส์ และมาร์เวลที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ และมอบ iPad อุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของเด็กเมื่อเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล  ความร่วมมือนี้มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา สร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ให้ความรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายให้กับผู้ป่วยเด็กทุกช่วงวัย ซึ่งสามารถช่วยลดความวิตกกังวลของการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจและสนุกสนาน

ความพยายามในครั้งนี้ ได้สืบสานพระราชปณิธานตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาเด็กป่วยในโรงพยาบาล เราหวังว่าห้องเรียนนี้จะช่วยส่งเสริมความคิดเชิงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และปลูกฝังประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจและสนุกสนานให้เด็กป่วยในโรงพยาบาล” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

“เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลในประเทศไทยแห่งแรกสำหรับโครงการโรงพยาบาลเด็กของเรา ดิสนีย์มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการพลิกโฉมปรับปรุงสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลผ่านเรื่องราวและตัวละครที่เป็นขวัญใจของเด็ก สร้างพื้นที่จะมอบความรู้สึกสุข ความสนุก ความสบายใจให้กับเด็ก ๆ และครอบครัวในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการมากที่สุด” Vineet Puri รองประธานและผู้จัดการทั่วไปบริษัท เดอะ วอลท์ ดิสนีย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

เพื่อเป็นเกียรติและขอขอบคุณอย่างยิ่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้จัดพิธีส่งมอบห้องเรียนโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังฯ ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยรศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายสนับสนุนบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ณ ตึก สก. ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลส่งต่อระดับตติยภูมิที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นรากฐานของความเป็นเลิศด้านการดูแลสุขภาพและวิชาการ ดำเนินการภายใต้สภากาชาดไทยอันทรงเกียรติและเป็นโรงพยาบาลจัดการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองตำแหน่งที่โดดเด่นในภูมิทัศน์การแพทย์ของประเทศ

ด้วยจำนวนเตียงผู้ป่วยใน 1,435 เตียง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นหนึ่งในสถาบันการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย บทบาทที่สำคัญในฐานะโรงพยาบาลผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอัตลักษณ์ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และเอื้ออาทร ที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงพยาบาลและคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา วิจัย และการดูแลผู้ป่วยทางการแพทย์สูงสุด มีการให้บริการผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยด้วยการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงและครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ทีมแพทย์และพยาบาลที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญจะทำงานร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อมอบประสบการณ์การดูแลที่อบอุ่นและเอาใจใส่ และยังเป็นศูนย์วิจัยทางการแพทย์ชั้นนำที่มุ่งมั่นในการค้นหาวิธีรักษาและป้องกันโรคใหม่ๆ ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับโลก
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และยังคงเป็นผู้นำในการดูแลสุขภาพและการศึกษาทางการแพทย์ต่อไป

'วปอ. - สถาบันพระปกเกล้า' มอบเงินฟุตบอลประเพณี 'รักเมืองไทย' เพื่อสนับสนุนในการขับเคลื่อนภารกิจสภากาชาดไทย

วันที่ 15 กันยายน ที่อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สภากาชาดไทย นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รับมอบเงินจำนวน 150,000 บาท จาก พลโท อภิชาติ ไชยะดา ประธานนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 65 , พล.อ.ราชรักษ์ เรียนพืชน์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 , ดร.ดํารง ประทีป ณ ถลาง ผู้แทนหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสําหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่น 26 เเละนายสมชาย จรรยา ผู้แทนหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4 ส.) สถาบันพระปกเกล้า จากการจัดกิจกรรมแข่งขันฟุตบอลประเพณี “รักเมืองไทย” ระหว่างศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรฯ และสถาบันพระปกเกล้า เพื่อใช้ในการดำเนินภารกิจของสภากาชาดไทย ด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย การบริการโลหิต และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่มุ่งหวังให้ประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีนายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย เเละ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ร่วมพิธีรับมอบในครั้งนี้ 

นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันงบประมาณด้านการบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัยยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีพัฒการทางด้านเทคโนโลยีซึ่งมีราคาสูง หากจัดซื้อมาได้จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข

จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสนับสนุนในโครงการต่างๆ ตามภารกิจของสภากาชาดไทย

ด้าน ดร.ดำรง ประทีป ณ ถลาง กล่าวว่า เงินที่นำมามอบผ่านสภากาชาดไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือคนในชาติด้านสาธารณสุข นั้น เป็นการระดมทุนรับบริจาคจากศิษย์เก่าและปัจจุบัน ของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณี “รักเมืองไทย” สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นำมาซึ่งประเพณีที่ดีงาม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ความรัก ความสามัคคีในทุกภาคส่วน

ร้อยเอ็ด…จังหวัดร้อยเอ็ดมอบถุงยังชีพพระราชทาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด

วันนี้(4 ตุลาคม 2566) เวลา 13.30 น. ณ วัดโพธิ์ศรีวนาราม ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีมอบถุงยังชีพพระราชทาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด 

โดยมี นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด, พลตรีประเสริฐ ข่าทิพย์พาที ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27, พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม 

โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราช ทรงห่วงใยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมอบถุงยังชีพพระราชทาน จำนวน 1,138 ถุง และถุงยังชีพสำหรับพระภิกษุ จำนวน 56 ถุง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรในพื้นที่ สำหรับการให้ความช่วยเหลือ สืบเนื่องมาจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา 

โดยส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ ประสบอุทกภัย ทั้งหมด 11 อำเภอ และได้รับผลกระทบหนักสุดคือ อำเภอเสลภูมิ มีจำนวน 13 ตำบล 118 หมู่บ้าน 2,300 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตร กว่า 18,800 ไร่ 

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด 

ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจัดวันพยาบาลแห่งชาติ ปี 66 สภากาชาดไทย เทิดไท้สมเด็จย่าเสริมสร้างดูแลสุขภาพปวงประชาห่างไกลไร้โรคา มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 เวลา 8.00-10.00  น.นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดงานวันพยาบาลแห่งชาติ ปี 66 ณ.ระเบียงรมณีย์ ชั้นที่ 14 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

วันพยาบาลแห่งชาติ ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ชึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การศึกษา การศาสนา  การสงเคราะห์ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

เพื่อน้อมรำลึกและเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระศรีนครืนทราบรมราชชนนี ฝ่ ายการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ได้ตระหนักเห็นความสำคัญ ดังกล่าว จึงได้จัดงานวันพยาบาลแห่งชาตื ประจำปี 2566 เหมือนเช่นทุกปี สำหรับปีนี้จัดงานวันที่ 20  ตุลาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 8.00-15.00 น. กืจกรรมภายในงานที่น่าสนใจประกอบด้วยนิทรรศการการดูแลสุขภาพ เละเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพจากหน่วยงานต่างๆ ของสภากาชาดไทย รับการประเมินสุขภาพด้วยการทดสอบความจำและความคิด ทดสอบแรงบีบมือ ประเมินภาวะความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ภาวะอารมณ์และพฤติกรรม สุขภาพ กิจกรรมเกมส์ฝึกสายตาและสมอง การตรวจวิเคราะห์กล้ามเนื้อและมวลไขมันด้วยเครื่อง ,BIA และรับคำแนะนำฟรี นอกจากนี้รับฟังการเสวนาเรื่อง 'ก้าวเข้าสู่ทศวรรษการดูแลสุขภาวะผู้สูงวัย"และเพลิดเพลินกับการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อผู้สูงวัยด้วยไลน์แเดนซ์ ร้องเพลงเล่นดนตรีอูคูเลเล่

ปทุมธานี มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เชิญถุงยังชีพพระราชทานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566  เวลา 9.00 น. ณ ศาลาการเปรียญวัดพืชอุดม ตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ดำรงตำแหน่ง นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เชิญถุงยังชีพพระราชทานมอบให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จำนวน 1,199 ถุง โดยมี นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางปาริชาติ ธีระศิลป์ รองผู้จัดการมูลนิธิฯ นางบุษบา บุญญลักษม์  ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปทุมธานี นางสาวกันตรัตน์ เริ่มสูงเนิน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายสมชาย ตรีณาวงษ์ นายอำเภอลำลูกกา นางสาวสุพีพร โมรา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมพิธี ถวายถุงยังชีพพระราชทานแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 58 รูป และมอบถุงยังชีพพระราชทานให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอลำลูกกา 7 ตำบล 

ประกอบด้วย ตำบลลาดสวาย ตำบลบึงคำพร้อย ตำบลลำลูกกา ตำบลบึงทองหลาง ตำบลลำไทร ตำบลพืชอุดม ตำบลบึงคอไห จำนวน 1,141 ถุง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ได้ประสบกับสภาวะฝนตกหนักติดต่อกันในพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำสะสมในแม่น้ำ ลำคลองต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สิ่งสาธารณประโยชน์ เส้นทางสัญจร และพื้นที่ทางการเกษตร ได้รับผลกระทบ จำนวน 8 ตำบล 87 หมู่บ้าน 8 ชุมชน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,020 ครัวเรือน 2,984 คน พื้นที่ทางการเกษตร 3,870 ไร่ ได้รับความเสียหาย โดยจังหวัดปทุมธานีได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ทั้งนี้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลาย แต่ยังคงมีพื้นที่บางส่วนของตำบลบึงคอไหและตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา ที่ยังมีน้ำท่วมขัง การได้รับถุงยังชีพพระราชทานจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในครั้งนี้ ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

‘สว.วีระศักดิ์’ ร่วมพิธีเปิดงาน ‘พึ่งพา RUN’ มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

เมื่อวานนี้ (5 ธ.ค. 66) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัดกิจกรรม ‘พึ่งพา RUN’ ครั้งที่ 1 ภายใต้งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประจำปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติองค์ประธาน และนายกกิตติมศักดิ์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไป หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพสร้างกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ ให้กับตนเองและครอบครัว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของมูลนิธิฯ และเฉลิมฉลองการดำเนินงานตลอด 28 ปี ที่ผ่านมาของมูลนิธิ ฯ เพื่อนำรายได้สมทบทุนและใช้สำหรับกิจกรรมของมูลนิธิฯ

สำหรับงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมการมูลนิธิฯ และรองประธานกรรมการอำนวยการจัดงานฯ กล่าวเปิดงาน ระบุว่า…กิจกรรมวิ่งการกุศล ‘พึ่งพา RUN’ ในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในโอกาสครบรอบ 28 ปี จัดตั้งมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ภายใต้แนวคิด “น้ำพระทัยสองพระมิ่งขวัญเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปี่ยมล้นพระเมตตาผู้ประสบอุทกภัย" เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการทรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอดระยะเวลากว่า 28 ปี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพทรงพระกรุณาประทานถ้วยรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันจำนวน 2 ถ้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมกิจกรรม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ แก่คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ปี 2566 

ภายหลังมีผู้เข้าแข่งขันวิ่งเข้าเส้นชัย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขันวิ่งการกุศล ‘พึ่งพา RUN’ ชิงถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ณ สวนเบญจกิติ

สำหรับกิจกรรมพึ่งพา RUN แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ Mini Marathon 10 กิโลเมตร ประเภทบุคคลหญิงและชาย และ Fun Run (เดิน/วิ่ง) 3 กิโลเมตร บรรยากาศภายในงานคึกคัก มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งแบบวิ่งในงาน และ Virtual Run รวมกว่า 300 คน ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้รับเสื้อวิ่ง และเหรียญวิ่งผลิตจากเส้นใยขวดพลาสติกรีไซเคิล สอดคล้องกับรูปแบบการจัดงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) 2566 คือ Sustainability เพื่อรณรงค์ให้ทุกหน่วยงานได้เห็นถึงความสำคัญของการนำกลับมาใช้ใหม่ สนับสนุนอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรกับโลก 

นอกจากนี้ภายในงานผู้ร่วมงานยังได้รับประทานอาหารเช้าเมนูข้าวเหนียวไก่ทอดสูตรประทานฯ และไอศกรีมจากมูลนิธิ ณภาฯ อีกด้วย

ขอนแก่น -"สภากาชาดไทย" จัดโครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่

สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จัดโครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม  เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่วัดท่าประชุม ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ดร.อภิชาติ ชินวรรโณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดโครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรมเคลื่อนที่ สภากาชาดไทย ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนางกรรณิกา กองฉลาด นายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น และหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน ให้การต้อนรับ

ดร.อภิชาติ ชินวรรโณ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่าสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จัดโครงการรถคลินิกจักษุศัลยกรรม สภากาชาดไทยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการในเขตพื้นที่อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจรักษาและผ่าตัดตาให้กับพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ให้ได้รับการตรวจและรักษาโรคทางตาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ 

โดยจังหวัดขอนแก่น มีวัด/สำนักสงฆ์ จำนวน 1,583 แห่ง พระสงฆ์จำนวน 8,376 รูป ล้วนแต่เป็นพระสงฆ์ที่สูงอายุจำนวนมาก มีมัสยิด 8 แห่ง โบสถ์ 52 แห่ง สำหรับการดำเนินโครงการในวันนี้ มีพระสงฆ์เข้ารับบริการตรวจทั้งสิ้น 298 รูป ส่วนผู้นำในศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาซิกข์ และศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ยังไม่พบผู้มีปัญหาทางด้านสายตา และภายหลังการตรวจเสร็จสิ้นจะดำเนินการรักษาด้วยการผ่าตัด ต่อไป.

ปลุกพลังผู้ให้ทั่วประเทศ ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำทุก 3 เดือนตลอดปี 2567

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ปลุกพลังผู้ให้ทั่วประเทศ ชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยกับโครงการ “ให้โลหิต   ให้ชีวิต ให้ประจำ” ตลอดปี 2567  โดยเพิ่มจำนวนครั้งการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีโลหิตสำรองเพียงพอสม่ำเสมอสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า  ตลอดปี 2567 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้จัดโครงการ “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ Give Blood ,Give lives, Give forever” เป็นโครงการหลักประจำปี 2567 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการบริจาคโลหิตให้แก่ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ และเหล่ากาชาดจังหวัดต่างๆในการรณรงค์ส่งเสริมให้ผู้บริจาคโลหิตมีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้ง เพิ่มมากขึ้น หรืออย่างน้อยบริจาคโลหิตเพิ่มปีละ 2 – 3 ครั้ง รวมถึง การเพิ่มจำนวนผู้บริจาคโลหิตรายใหม่ให้มีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการบริจาคโลหิตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

จากสถิติความถี่การบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ปี พ.ศ. 2566 จากจำนวนผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด  1,606,743 คน พบว่ามีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง มีปริมาณมากถึง 1,057,894 คน คิดเป็นร้อยละ 65.84  ในขณะที่ ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง มีจำนวนเพียง 73,770 คน คิดเป็นร้อยละ 4.59 และยังมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 2 ครั้ง จำนวน 313,029 คน คิดเป็นร้อยละ 19.48 บริจาคโลหิตปีละ 3 ครั้ง จำนวน 156,052 คน คิดเป็นร้อยละ 9.71 ส่วนผู้บริจาคโลหิตมากกว่า 4 ครั้ง (รวมกับบริจาคส่วนประกอบโลหิตอื่นๆ) จำนวน 5,998 คิดเป็นร้อยละ 0.37 หากมี     ผู้บริจาคโลหิตบริจาคทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้งเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอตลอดปี  

ทั้งนี้ โลหิตยังคงเป็นยารักษาโรคที่ยังไม่มีนวัตกรรมใดๆ มาทดแทนได้ จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคโลหิตจากเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตสำหรับใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคร้อยละ 23 นำไปใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด อาทิ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ในรายที่เป็นชนิดรุนแรงต้องได้รับโลหิตในการรักษาเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ยูนิต หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน   อีกร้อยละ 77 นำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น  ต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2 - 3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5 - 10 ยูนิต  ถ้าโลหิตไม่เพียงพอต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้  จึงต้องมีการรณรงค์ให้ผู้บริจาคโลหิต เพิ่มความถี่ในการบริจาคโลหิต จากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง จากปีละ 2 ครั้ง เพิ่มเป็นปีละ 3 ครั้ง จากปีละ 3 ครั้ง เพิ่มเป็น 4 ครั้งต่อปี ก็จะทำให้โลหิตมีปริมาณเพียงพอสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยได้   สามารถบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ได้ที่

•    ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ 
•    หน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Station) ได้แก่  สถานีกาชาด 11 วิเศษนิยม (บางแค)   เดอะมอลล์  สาขาบางแค สาขาบางกะปิ สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม และบ้านทรงไทย (ย่านวงศ์สว่าง)
•    ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช (ทุ่งสง) สงขลา และภูเก็ต
•    โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2256 4300, 0 2263 9600-99 ต่อ 1101, 1760, 1761
*********************

ขอบคุณที่ท่านได้กรุณาเผยแพร่ข่าวนี้  
ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตและสื่อสารองค์กร  
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย 
โทรศัพท์ 0 2256 4300, 0 2263 9600-99 ต่อ 1760, 1761 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top