Saturday, 5 July 2025
สงครามรัสเซียยูเครน

สหประชาชาติ (UN) ลงมติอย่างท่วมท้น เรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันที

สหประชาชาติลงมติอย่างท่วมท้นในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ในนั้นมีไทยด้วย เรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีและไม่มีเงื่อนไข ท่ามกลางเสียงเรียกร้องสำหรับสันติภาพที่ยั่งยืน ในวาระครบรอบ 1 ปีของสงคราม

ยูเครนได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในการลงมติแบบไม่มีข้อผูกพัน ที่พบเห็นสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 141 ชาติ จากทั้งหมด 193 ชาติ ยกมือเห็นชอบ ส่วนที่คัดค้านมี 7 ประเทศ และงดออกเสียง 32 ชาติ ในนั้นรวมถึงจีน และอินเดีย

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงวาระครบรอบ 1 ปีของสงครามอันโหดร้ายป่าเถื่อน แรงสนับสนุนที่มีต่อเคียฟแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการลงมติหนสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน โดยคราวนั้นมี 143 ชาติที่ร่วมลงมติประณามความเคลื่อนไหวของรัสเซีย ที่ผนวก 4 แคว้นของยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

"วันนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติส่งเสียงชัดเจนมาก" โจเซฟ บอร์เรล ประธานนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าว "ผลโหวตนี้แสดงให้เห็นว่าประชาคมนานาชาติยืนหยัดเคียงข้างยูเครน"

การลงมติครั้งนี้มีขึ้นตามหลังการอภิปรายเป็นเวลา 2 วัน ซึ่ง ดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เรียกร้องประชาคมนานาชาติเลือกระหว่างความดีกับปีศาจ นอกจากนี้ เขายังปฏิเสธความคิดที่ว่าเคียฟได้รับแรงสนับสนุนจากตะวันตก สหภาพยุโรป สหรัฐฯและพันธมิตรหลักๆ เท่านั้น

"ผลของการลงมติเป็นสิ่งที่โต้แย้งคำกล่าวอ้างที่ว่าบรรดาประเทศซีกโลกใต้ไม่ได้ยืนหยัดอยู่ฝ่ายยูเครน เพราะว่าในวันนี้ ตัวแทนของหลายประเทศจากละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียยกมือเห็นชอบ" คูเลบากล่าว "แรงสนับสนุนกว้างขวางขึ้น และมันจะมีแต่ความเป็นหนึ่งเดียวกันและความเป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น"

อันเดรีย์ เยอร์มัค หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน แสดงความขอบคุณทุกประเทศที่ยืนหยัดเพื่อยูเครน ในวาระครบรอบ 1 ปีของการรุกรานโดยปราศจากการยั่วยุของรัสเซีย

มตินี้เป็นการเน้นย้ำการสนับสนุนอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ปฏิเสธคำกล่าวอ้างใดๆ ของรัสเซียที่อ้างว่าดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา

นอกจากนี้ มันยังเรียกร้องให้สหพันธรัฐรัสเซียถอนทหารทันที โดยสิ้นเชิงและอย่างไม่มีเงื่อนไข ออกจากดินแดนของยูเครน ที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ และเรียกร้องขอให้หยุดความเป็นปรปักษ์

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าผลการโหวตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่ามอสโกกำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีโลก หลังสงครามลากยาวมานาน 12 เดือน โดยพวกเขาได้รับแรงสนับสนุนจากเพียงแค่ 6 ชาติสมาชิกเท่านั้น อันประกอบด้วย เบลารุส ซีเรีย เกาหลีเหนือ มาลี นิการากัว และเอริเทรีย

แม้ได้รับแรงสนับสนุนอย่างจำกัด แต่ที่ผ่านๆ มา รัสเซียใช้อำนาจสิทธิในการวีโต้ของพวกเขา ขัดขวางมติที่มีผลผูกพันใดๆ กับพวกเขา ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ด้วยเหตุนี้ทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนยูเครนอย่างแข็งขัน ในการลงมติไปแล้วหลายรอบนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อ 1 ปีก่อน

เช่นเดียวกับทุกครั้ง รัสเซียปฏิเสธมติล่าสุด โดย วาซิลีย์ เนเบนซยา ผู้แทนมอสโกประจำสหประชาชาติ เรียกยูเครนว่าเป็น "นีโอนาซี" พร้อมกล่าวหาตะวันตกบูชายัญเคียฟและโลกกำลังพัฒนา เพื่อความปรารถนาเอาชนะรัสเซีย "พวกเขาพร้อมฉุดทั่วทั้งโลกเข้าสู่ขุมนรกแห่งสงคราม เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเจ้าโลกของตนเอง"

ผลโหวตยังแสดงให้เห็นว่า อินเดียและจีน ยังคงหนักแน่นไม่ประณามการรุกรานของมอสโก ด้วยการงดออกเสียง แม้ว่าทั้ง 2 ชาติ เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์มอสโก ต่อกรณีขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้ง

ก่อนหน้าการโหวต รองผู้แทนจีนประจำสหประชาชาติ แสดงจุดยืนเป็นกลาง เรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย หยุดการสู้รบและเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ "เราสนับสนุนให้รัสเซียและยูเครน เคลื่อนเข้าหากัน คืนสู่การเจรจาโดยตรงเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

อย่างไรก็ตาม รองผู้แทนของจีนได้ส่งเสียงเห็นใจหนึ่งในความกล่าวอ้างของรัสเซียต่อการรุกรานยูเครน นั่นคือความมั่นคงของมอสโกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม สืบเนื่องจากการที่ยูเครน โน้มเอียงเข้าหายุโรปตะวันตกและนาโต้ "ทางออกใดๆ ควรคำนึงถึงความกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสมกับความปรารถนาด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมของพวกเขา"

สำหรับประเทศไทย ในการลงมติล่าสุด ยกมือสนับสนุนข้อเรียกร้องรัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนทันทีและไม่มีเงื่อนไข หลังจากก่อนหน้าเมื่อเดือนตุลาคม ได้ใช้จุดยืนงดออกเสียงในมติที่ประชุมสมัชาชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามรัสเซียต่อกรณีผนวกแคว้นต่างๆ ของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดน

ในตอนนั้น ในเวลาต่อมา เฟซบุ๊กของกระทรวงการต่างประเทศไทยเผยแพร่ถ้อยแถลงของ สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการลงมติงดออกเสียงต่อกรณียูเครนว่า ประเทศไทยเลือกงดออกเสียง เนื่องจากว่า มติดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงบรรยากาศที่มีความอ่อนไหวและกำลังมีสถานการณ์ที่ผันผวนและปะทุขึ้นมาได้

เซเลนสกี้ วอน สหรัฐฯ ส่งทหารหนุ่มสาวมาช่วยรบ หลังยูเครนขาดนักรบ ถึงขั้นเกณฑ์คนพิการเข้ากองทัพ

สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2 ยังคงตึงเครียดที่ต่างฝ่าย ต่างไม่มีใครหยุดยิง แถมปัดโอกาสในการหันหน้าเข้าสู่วงเจรจา จึงเชื่อว่าในใจลึก ๆ ของชาวโลกจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกท้อแล้วกับความขัดแย้งนี้ คือถ้าอยากจะรบกันไปเรื่อย ๆ ก็อย่าให้เดือดร้อนคนอื่นมากก็แล้วกัน 

ชาวโลกประเทศอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง อาจจะคิดแบบนี้ได้ แต่กับชาวอเมริกันที่จ่ายภาษีทุกวัน แล้วต้องมาเห็นรัฐบาลเซ็นเช็คเหมือนเทน้ำ เพื่อส่งไปสนับสนุนกองทัพยูเครนคงทำใจให้ปล่อยวางในเรื่องนี้ได้ยากหน่อย 

แต่วันนี้ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ มีคำตอบให้ชาวอเมริกัน เมื่อสื่ออเมริกันขอสัมภาษณ์ผู้นำยูเครนในวันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเขาได้พูดถึงการสนับสนุนของรัฐบาลอเมริกันในสงครามครั้งนี้ว่า สิ่งที่ชาวอเมริกันเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับจำนวนเงิน และความคุ้มค่าที่รัฐบาลสหรัฐจะได้จากการส่งทรัพยากรมหาศาลมาช่วยยูเครน เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ (คือจ่ายแล้วอย่าไปคิด) 

เพราะอะไรนะหรือ? เพราะถ้ายูเครนแพ้ นั่นหมายถึงรัสเซียจะได้ครองดินแดนทางฝั่งบอลติก ซึ่งเป็นภัยอย่างยิ่งกับ NATO และจะทำให้สหรัฐสูญเสียความเป็นมหาอำนาจ  และสิ่งที่สหรัฐจะต้องทำอีก คือ ต้องส่งบุตรหลานของพวกท่านลงสนามรบ เหมือนอย่างที่เราได้สละลูกหลานของเราพลีชีพในสมรภูมิไปแล้ว ให้สมกับที่สหรัฐบอกว่าจะยืนเคียงข้างเราเพื่อชัยชนะ มันอาจจะโหดร้าย และพวกเขาอาจต้องตาย แต่สงครามมันก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ 

และนี่เป็นครั้งแรก ที่เซเลนสกี้เอ่ยปากขออย่างอื่นที่ไม่ใช่อาวุธในการทำสงคราม แต่ไอ้ 'อย่างอื่น' นี่มันยากยิ่งกว่าส่งเงินทุน ส่งอาวุธไปให้มากมายนัก ที่ชาวอเมริกันฟังแล้วถึงกับเอามือทาบอก ที่ได้ยินว่า เซเลนสกี้ขอให้ส่งหนุ่มสาวอเมริกันไปรบในประเทศอื่นอีกแล้วหรือ ที่ยูเครนมีทหารไม่พอหรือไง?

แต่ถึงเซเลนสกี้จะไม่พูดออกมาตรง ๆ แต่ดูทรงแล้วมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น

ซึ่งตั้งแต่กองทัพรัสเซียบุกยูเครน ทางรัฐบาลยูเครนได้ประกาศกฎอัยการศึกในสถานการณ์สงคราม ที่จะเรียกระดมพลทหารกองเกิน กองหนุน และอาสาสมัครจากทั่วประเทศมาลงกองทัพ หรือแม้แต่รับสมัครนักรบต่างชาติ บีบให้ฝ่ายรัสเซียต้องประกาศเกณฑ์ทหารเข้ากรมครั้งใหญ่เพิ่มเช่นเดียวกัน 

จนกระทั่งช่วงปลายปี 2022 กองบัญชาการภาคพื้นดินของยูเครนได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ทางรัฐบาลจะยังไม่เรียกระดมพลระลอกใหม่ในเร็ว ๆ นี้ จนกว่าจะมีการประกาศกฤษฎีกาฉบับใหม่ หลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีหน้า (2023) แต่ผู้ที่ชำนาญการรบพิเศษ หน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ยังคงเรียกให้เข้ากองทัพอยู่เรื่อย ๆ

นั่นเป็นคำพูดของฝ่ายกองทัพยูเครนเมื่อปีที่แล้ว แต่ทว่าตั้งแต่ต้นปี ชาวยูเครนที่กลุ่มที่หลุดเงื่อนไขเกณฑ์ทหาร อย่างกลุ่มคนพิการกลับได้รับจดหมายเรียกเข้ากรม เพื่อไปประจำในสนามรบที่ห่างไกล ที่ไม่ใช่บ้านเกิดของพวกเขาด้วยซ้ำ 

สำนักข่าว The Economist ได้ลงเรื่องราวของนายรัสลาน คูเบย์ ชายชาวยูเครนที่สูญเสียมือทั้ง 2 ข้างตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนพิการที่ได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร กลับได้รับหมายเรียกให้เข้าประจำกองทัพในเมือง Drohobych แถมยังระบุชัดว่าร่างกายของเขาเหมาะสมที่จะเข้าประจำการ  

ซึ่งไม่ใช่เคสเดียว เพราะมีกลุ่มคนพิการในยูเครนที่ได้รับหมายเรียกลักษณะเดียวกันจำนวนมาก ที่บ่งชี้ว่ากองทัพยูเครนกำลังยกระดับการเกณฑ์พลเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีแล้ว และมีหน่วยลงทะเบียนย่อย ซ่อนอยู่ตามเมืองต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยูเครนกำลังเรียกระดมพลครั้งใหญ่อยู่ เพียงแค่ไม่ประกาศออกมาตรง ๆ อย่างเป็นทางการเหมือนกับทางรัสเซียเท่านั้นเอง 

ร่ำรวยบนกองเลือด สงครามเป็นเหตุ ดันยอดขายอาวุธชาติมหาอำนาจพุ่ง  มี 'ยูเครน' เป็นผู้นำเข้าอาวุธสงครามอันดับ 3 ของโลก 

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว หลายประเทศกำลังเจอวิกฤติเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง แต่ธุรกิจค้าอาวุธสงครามกลับไปได้สวย และมียอดส่งออกพุ่งสวนกระแส กลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบางประเทศไปแล้ว 

ล่าสุด สถาบัน Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) รายงานข้อมูลว่า ชาติในยุโรปมีอัตราการนำเข้าอาวุธพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในระยะเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา (2018-2022) มียอดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มสูงขึ้นถึง 47% โดยเฉพาะในกลุ่มชาติสมาชิก NATO ได้เพิ่มการนำเข้าอาวุธสงครามในช่วงเวลานี้มากกว่า 67%

นอกจากจะสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาหนักในยุค Covid-19 แล้ว ยังสวนกระแสโลกด้วย ซึ่งตัวเลขจากทั่วโลกมียอดนำเข้าอาวุธลดลง -5.1% แต่ยอดขายกลับไปเติบโตอย่างก้าวกระโดดในโซนยุโรป เพราะสงครามในยูเครนเป็นเหตุ สังเกตง่ายๆ ได้จากการที่ทำให้รัฐบาลหลายชาติในยุโรปเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และนำเข้าอาวุธมาเติมในคลังแสงอย่างเร่งด่วน 

และกับยูเครน ประเทศที่เป็นศูนย์กลางของสงคราม จากเดิมเป็นผู้ผลิตอาวุธส่งออก ตอนนี้กลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธสงครามเป็นอันดับ 3 ของโลกแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาวุธมือสองที่นำเข้ามาจาก สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และ โปแลนด์ 

แต่ในทางกลับกัน สงครามในยูเครนก็ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต และ ผู้ส่งออกอาวุธสงครามรายใหญ่ของโลกเช่นกัน อย่าง รัสเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มียอดส่งออกลดลง จากเดิมที่เคยครองสัดส่วน 22% ลดลงเหลือเพียง 16% ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการอาวุธในประเทศเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่กดดันชาติพันธมิตรไม่ไห้นำเข้าอาวุธจากรัสเซีย 

ด้วยอุปสรรคของการส่งออกอาวุธของรัสเซีย ส่งผลให้ฝรั่งเศสก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหม่ ที่มาแรงมากในวงการนี้แทนที่รัสเซีย 

หากดูตัวเลขย้อนหลังในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกอาวุธของฝรั่งเศสเพิ่มสูงถึง 50% และ ในปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้แย่งดีลใบสั่งซื้อของประเทศอียิปต์ หนึ่งในคู่ค้าอาวุธรายใหญ่ของรัสเซียมาได้ ที่เป็นผลพวงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก และฝรั่งเศสยังขึ้นแท่นอันดับ 2 ของผู้ส่งออกอาวุธให้กับกลุ่มชาติสมาชิก NATO ด้วยกัน เป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น

ส่วนผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ไม่มีใครเทียบได้ก็ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ครองตลาดโลกในสัดส่วนสูงสุดที่ 40% เพิ่มขึ้นจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึง 7% ทีเดียว 

แต่ถึงแม้ยอดการสั่งซื้ออาวุธจากยูเครนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่ยูเครนก็ยังไม่ใช่ลูกค้ารายใหญ่ระดับพรีเมียมของสหรัฐฯ เนื่องจากอาวุธที่ส่งออกให้ยูเครนส่วนมากเป็นอาวุธมือสอง หรือตกรุ่นเหลือค้างสต็อกแล้ว ซึ่งลูกค้าเกรด A ด้านอาวุธของสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศในย่านตะวันออกกลาง อย่าง คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์  ที่นิยมสั่งซื้ออาวุธรุ่นใหม่ ล้ำสมัยที่สุดในตลาด 

นักศึกษารัสเซีย ผุดไอเดียขอรับบริจาคบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อนำชิ้นส่วนภายในไปผลิตเป็นโดรนรบกับยูเครน

โดยทั่วไปแล้ว หลายประเทศมักมีแคมเปญรณรงค์ให้นักศึกษาเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการยกเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งหาก ‘ลด-ละ-เลิก’ ได้ ก็จะส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาว 

แต่ทว่า ที่ ‘รัสเซีย’ กลับมีแคมเปญที่แปลกกว่านั้น คือ ขอบริจาคบุหรี่ไฟฟ้า...เพื่อชาติ!!

แคมเปญดังกล่าวนี้ ถูกจัดขึ้นโดยนักศึกษาจากชมรม Falcon Patriotic Military Club ของ University of Samara ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย ที่ผุดแคมเปญสุดพิสดาร ด้วยการผสมผสานไอเดียที่ใช้รณรงค์ลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เข้ากับแนวคิดชาตินิยม 

โดยจะมีการจัดกลุ่มอาสาสมัคร ถือกล่องตระเวนรับบริจาคบุหรี่ไฟฟ้าจากเพื่อนๆ นักศึกษาในสถาบัน ด้วยเหตุผลจูงใจอย่างการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน

นอกจากนี้ ยังมีการออกใบปลิว และ โปสเตอร์ประกอบแคมเปญด้วยการดัดแปลงภาพสไตล์ย้อนยุคสมัยสหภาพโซเวียต ที่เคยใช้จริงตอนที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ให้ชาวรัสเซียลดการดื่มเหล้าวอดก้า เพียงแต่คราวนี้ เปลี่ยนจากวอดก้า เป็นบุหรี่ไฟฟ้าแทน  พร้อมสโลแกนเท่ๆ ว่า…

“1 e-cigarette = 1 drone attack on the enemy!” หรือ “บุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน = โดรนพิฆาต 1 ลำ สำหรับโจมตีข้าศึกของเรา”

หลายท่านอาจจะงงว่า เป้าหมายสำคัญของการขอรับบริจาคบุหรี่ไฟฟ้าของนักศึกษากลุ่มนี้ จะมีส่วนให้กองทัพรัสเซีย นำไปใช้ผลิตโดรนพิฆาตในการสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน จริงๆ ได้อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้ทางกลุ่มนักศึกษาเจ้าของแคมเปญ ก็อธิบายว่า... 

“อันที่จริงแล้ว ตัวบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธได้ แต่ชิ้นส่วนภายใน เช่น แผงวงจรไมโครและแบตเตอรี สามารถนำไปดัดแปลงใช้ใหม่ในระบบปล่อยกระสุนของโดรนพิฆาตได้”

สำหรับชมรม Falcon Patriotic Military Club ก่อตั้งในปี 2008 มีวัตถุประสงค์ในการปลุกจิตสำนึกรักชาติแก่เยาวชน และ นักศึกษาของรัสเซีย  ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของทหารในโรงเรียน หรือ รับบริจาคสิ่งของ และจัดส่งของจำเป็นให้กับทหารแนวหน้าในสงครามยูเครน อาทิ โทรศัพท์มือถือ, เตาภาคสนาม, เสื้อผ้า อาหาร ฯลฯ และล่าสุดทำแคมเปญบริจาคบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อนำไปผลิตโดรนพิฆาตให้กับกองทัพรัสเซีย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้เล็ดลอดถึงหูสื่อยูเครน ก็ได้มีการรายงานบลัฟอย่างรวดเร็วว่า “ไอเดียการดัดแปลงบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นโดรนโจมตีนั้น ได้มาจากนักศึกษาของยูเครนต่างหาก โดยสถาบัน Chernivtsi Polytechnic College ทางตะวันตกเฉียงใต้ของยูเครนเคยทำมาก่อนแล้ว  นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์สนับสนุนกองทัพที่ล้ำหน้านั้นอีก ด้วยการพัฒนาโครนโจมตีขนาดจิ๋ว Powerbank สุดอึดที่สามารถชาร์ตโทรศัพท์มือถือได้นานถึง 10 วันอีกด้วย” 

ก็ไม่น่าเชื่อว่าจากแคมเปญเลิกบุหรี่ไฟฟ้า จะกลายมาเป็นไอเดียสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เข้าไปช่วยเสริมศักยภาพในสงครามได้ ภายใต้แนวคิดปลุก ‘จิตสำนึกในความรักชาติ’ 

เพียงแต่มันก็ยังไม่รู้สึกถึงแง่มุมดีๆ ที่จะมีต่อโลกใบนี้ยังไงก็ไม่รู้!! 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘ทรัมป์’ เผย ‘ปูติน’ พร้อมยุติสงครามกับยูเครน แต่โยนความผิดให้ ‘ไบเดน’ ทำสถานการณ์เลวร้ายตั้งแต่เริ่มต้น

(30 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความเต็มใจที่จะยุติความขัดแย้งในยูเครน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News ในวาระดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน

ทรัมป์กล่าวว่า ปูตินอาจกำลังส่งสัญญาณบางอย่างเพื่อโน้มน้าวให้ยุติสงคราม และย้ำว่า “เขาเต็มใจที่จะยุติการสู้รบ” พร้อมกันนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์อดีตประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ว่าเป็นผู้ทำให้สงครามปะทุ โดยเชื่อว่าหากตนชนะเลือกตั้งในปี 2020 ปูตินอาจยึดยูเครนได้ทั้งหมด

ผู้นำสหรัฐฯ รายนี้ยังตำหนิคำพูดของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ว่าเป็นการ 'ปลุกระดม' โดยเฉพาะการปฏิเสธที่จะยอมรับไครเมียเป็นของรัสเซีย ซึ่งเขามองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาสันติภาพและทำให้สงครามยืดเยื้อ

ทั้งนี้ในช่วงเมื่อต้นสัปดาห์ ทรัมป์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับเกล็น เบ็ค (Glenn Lee Beck) นักวิจารณ์การเมือง อนุรักษ์นิยมชาวอเมริกัน โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเรียกร้องมากขึ้น ทั้งที่ไม่มีอำนาจต่อรอง พร้อมระบุว่าปูติน “จัดการได้ง่ายกว่าเซเลนสกี” และเปิดกว้างต่อการบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามในภูมิภาคนี้

สงครามยูเครน-รัสเซีย แลกศพทหารอย่างไม่สมดุล สะท้อนความสูญเสียข้างเดียว ของประเทศยูเครน

(17 พ.ค. 68) สงครามยูเครน-รัสเซีย: แลกศพทหารอย่างไม่สมดุลสะท้อนความสูญเสียข้างเดียว แม้การเจรจาทางการทูตยังดำเนินในอิสตันบูล

มีการส่งคืน ศพทหารยูเครน 909 ราย แลกกับ ศพทหารรัสเซียเพียง 34 ราย

สัดส่วนความต่าง เกือบ 27 ต่อ 1 ถือเป็นหนึ่งในการแลกศพที่ไม่สมดุลที่สุดตั้งแต่เกิดสงคราม

รายงานจากกลุ่มอิสระ War Tears ระบุว่า

ทหารยูเครน เสียชีวิตแล้วกว่า 718,909 ราย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เสียชีวิตเพิ่มอีก 893 ราย

มี เชลยศึกยูเครนอย่างน้อย 16,000 ราย

‘เซเลนสกี’ ปัดข้อเสนอหยุดยิงจากรัสเซีย ชี้เป็นแค่ ‘ละครการเมือง’ เรียกร้องเจรจาโดยตรงกับปูติน

(5 มิ.ย. 68)  ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงจากรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้มีการเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อยุติสงครามที่ยืดเยื้อเกือบ 3 ปีครึ่ง โดยระบุว่าการเจรจารอบที่สองในนครอิสตันบูลเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เป็นเพียงการถ่วงเวลาและสร้างภาพว่ารัสเซียต้องการสันติภาพ

เซเลนสกีกล่าวว่า เอกสารที่รัสเซียยื่นเสนอนั้นไม่มีสาระสำคัญและเปรียบเสมือน 'สแปมทางการทูต' ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับการเจรจาล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นของสงคราม พร้อมเสนอแนวคิดหยุดยิงชั่วคราวก่อนการจัดประชุมสุดยอดกับปูติน และอาจรวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลัก

ผู้นำยูเครนย้ำว่า การหยุดยิงควรเป็นเงื่อนไขก่อนการเจรจาผู้นำ เพื่อแสดงความจริงใจของทุกฝ่าย หากไม่มีความพร้อม การหยุดยิงจะสิ้นสุดทันทีหลังการประชุม แต่หากมีท่าทีร่วมมือ ก็สามารถขยายระยะเวลาหยุดยิง พร้อมการรับประกันจากฝ่ายสหรัฐ

ในอีกด้านของสมรภูมิ ยูเครนยังเดินหน้าโจมตีฐานทัพรัสเซีย โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ได้ปฏิบัติการ 'ใยแมงมุม' โจมตีสนามบิน 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียเสียหายราวหนึ่งในสาม ขณะที่รัสเซียยังคงตอบโต้ด้วยการยิงถล่มพื้นที่ชุมชนในยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 28 รายในเมืองซูมือ ใกล้ชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน

‘ยูเครน’ เจอขีปนาวุธ โดรนถล่ม ดับ-เจ็บเพียบ หลังโจมตีฐานทัพ และสนามบินของ ‘รัสเซีย’

(6 มิ.ย. 68) รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนระลอกใหญ่ในช่วงเช้ามืดวันศุกร์ โดยใช้ทั้งโดรนและขีปนาวุธพิสัยไกลพุ่งเป้าหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเคียฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และบาดเจ็บราว 40 คนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยูเครนระบุว่าเป็นการตอบโต้หลังจากที่เคียฟโจมตีฐานทัพทิ้งระเบิดของรัสเซียลึกเข้าไปในแดนศัตรูเมื่อต้นสัปดาห์

การโจมตีสร้างความเสียหายในกรุงเคียฟ โดยมีอาคารที่พักอาศัยหลายหลังถูกไฟไหม้และผนังถล่ม ขณะที่หน่วยกู้ภัยเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพัง รายงานระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 3 นาย ส่วนเมืองเชอร์นีฮิฟใกล้ชายแดนเบลารุสถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธรวม 14 ลูก และเมืองลุตสค์ทางตะวันตกเฉียงเหนือใกล้โปแลนด์มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย

กองทัพอากาศยูเครนระบุว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธครูซอย่างน้อย 38 ลูก ขีปนาวุธพิสัยใกล้ 6 ลูก และโดรนอีกกว่า 400 ลำ ขณะที่ในวันเดียวกัน ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองเอนเกลส์ของรัสเซีย สร้างความเสียหายบริเวณฐานทัพทางใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนยูเครนถึง 460 กิโลเมตร

การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากยูเครนโจมตีสะพานเคิร์ช จุดเชื่อมหลักระหว่างรัสเซียกับแหลมไครเมีย ด้วยวัตถุระเบิดน้ำหนักกว่า 1 ตันที่ซุกไว้ใต้น้ำ ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ และย้ำจุดยืนในสายตรงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีห้ามปรามผู้นำรัสเซีย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เตือนว่ารัสเซียอาจใช้ขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่มีหัวรบหลายลูกโจมตียูเครนอีกในอนาคต โดยที่ผ่านมาเคยใช้อาวุธชนิดนี้ถล่มเมืองดนิโปรมาแล้ว การขยายการผลิตโดรนและขีปนาวุธในรอบปีของรัสเซีย ทำให้สามารถเปิดฉากโจมตีขนาดใหญ่พร้อมกันหลายแนวรบ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ใหม่เพื่อเจาะระบบป้องกันทางอากาศของยูเครนที่ยังพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐฯ เป็นหลัก

รัสเซีย ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 ราย สวนทางยูเครน ส่งคืนให้รัสเซียเพียงแค่ 78 ราย

(18 มิ.ย.68) สื่อต่างประเทศรายงานข่าวว่า ทางการยูเครนได้รับร่างของทหารที่เสียชีวิตในสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีก 1,245 ร่าง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นการส่งมอบร่างผู้เสียชีวิตรอบสุดท้ายตามที่ตกลงไว้ในการเจรจาที่อิสตันบูล ประเทศทูร์เคีย

ขณะที่ทางด้าน วลาดิมีร์ เมดินสกี ผู้ช่วยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายรัสเซีย เผยว่า รัสเซียได้ส่งคืนร่างทหารยูเครน 6,060 นาย และยูเครนได้ส่งร่างทหารรัสเซียกลับคืนมา 78 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่า การแลกเปลี่ยนร่างทหารที่เสียชีวิตครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่สื่อตะวันตก และ ยูเครน อ้างว่าทหารรัสเซีย เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ยูเครนไม่สามารถนำมาแลกกันในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ทำได้เพียงการส่งคืน 78 ร่างเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top