Saturday, 5 July 2025
สงครามการค้า

จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ดิ่งหนักสุดรอบ 5 ปี ค้ากับยุโรป-อาเซียนพุ่งแทนที่ โตแตะแสนล้านดอลล์

(10 มิ.ย. 68) การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม 2025 ลดลงถึง 34.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็ลดลงกว่า 18% ส่งผลให้ดุลการค้าของจีนกับสหรัฐฯ หดตัวลง 41.55% เหลือ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้การค้ากับสหรัฐฯ จะลดลง แต่จีนยังคงรักษาการเติบโตของการส่งออกโดยรวมได้ที่ 4.8% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ขณะที่การนำเข้าลดลง 3.4% จากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ

การค้ากับสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ทำให้จีนเร่งปรับทิศทางการส่งออกไปยังตลาดอื่น โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 15% สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 12% และแอฟริกาเพิ่มขึ้นกว่า 33% ส่งผลให้ดุลการค้ารวมของจีนในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า แตะ 103,200 ล้านดอลลาร์

ภายใต้แรงตึงเครียดทางการค้า จีนและสหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการภาษีตอบโต้ แม้สหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้าจีนจาก 145% เหลือ 51.1% แต่จีนยังเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ อยู่ที่ 32.6% การปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าครั้งนี้สะท้อนยุทธศาสตร์ของจีนที่พึ่งพาตลาดทางเลือกในช่วงวิกฤต

ขณะที่สหรัฐฯ ถอยห่างจากจีน แต่ยุโรปกลับเดินเกมตรงข้าม โดยเพิ่มการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง บริษัทในยุโรปไม่ได้ถูกกดดันให้กระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเท่ากับฝั่งสหรัฐฯ ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับยุโรปยังแน่นแฟ้น ส่งผลให้จีนสามารถชดเชยการส่งออกที่หายไปจากตลาดสหรัฐฯ ได้บางส่วน

‘ทรัมป์’ ประกาศสงครามการค้ากับจีนจบลง แต่ยังตรึงภาษีสินค้านำเข้าไว้ที่ 55%

(12 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ 'จบแล้ว' โดยมีการคงอัตราภาษีสินค้าจีนไว้ที่ 55% โดยไม่ปรับเพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และค้าปลีกเตือนว่า ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจ และผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังไม่สิ้นสุด

อัตราภาษีที่สูงถึง 55% ทำให้บริษัทในสหรัฐฯ หลายพันแห่งเผชิญความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนหรือตั้งราคาขายเพิ่มได้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเป็นฝ่ายรับภาระต้นทุนแทน ซึ่งอาจกระทบต่อราคาสินค้าช่วงเปิดเทอมและเทศกาลปลายปี

ขณะเดียวกัน ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนล่าสุดแสดงการเพิ่มขึ้นของราคาที่ต่ำกว่าคาด แต่ความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีทำให้ผู้ประกอบการยังคงระวังต่อแผนสั่งสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนและสหภาพยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญความลังเลจากผู้นำเข้าสหรัฐฯ

ภาคขนส่งและโลจิสติกส์ยังไม่ฟื้นตัว โดยปริมาณการขนส่งทั้งทางรถบรรทุกและรถไฟลดลงจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ดัชนีการจองตู้คอนเทนเนอร์ทะเล (Ocean TEU Index) แสดงว่าปี 2025 มีปริมาณการขนส่งน้อยกว่าปีก่อนถึง 14% ซึ่งถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าถึงความต้องการผู้บริโภคที่ลดลง

ในขณะที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์พยายามเร่งนำเข้าสินค้าช่วงระยะเวลาชั่วคราวที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเว้นหรือชะลอการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ก่อนหมดเขตกลางเดือนสิงหาคม ปัญหาการสะสมของตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่ท่าเรือลอสแอนเจลิสและลองบีชยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผู้ส่งออกในสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนตู้สำหรับส่งสินค้า

แม้จะมีข้อตกลงเบื้องต้นกับจีน แต่ภาคธุรกิจยังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากทั้งสองผู้นำ และจับตาว่าจะมีการเจรจาใด ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังเลือก 'รอดูท่าที' ก่อนจะเดินหน้าลงทุนหรือสั่งสินค้าเพิ่มเติมจากต่างประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

‘ดร.กอบศักดิ์’ แนะเร่งหามาตรการช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี หลังจีน -สหรัฐฯปิดดีลเจรจาอาจกระทบสินค้าส่งออกไทย

ดร.กอบศักดิ์ เผยจีน-สหรัฐปิดดีลเจรจาภาษี จีนถูกเรียกเก็บภาษี 55% ส่วนจีนเก็บภาษีสหรัฐ 10% กระทบสินค้าส่งออกไทย แนะเตรียมมาตรการช่วยเอสเอ็มอีในประเทศ ลุ้นไทยเจรจาสหรัฐลดภาษีต่ำกว่า 36%

(12 มิ.ย.68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ว่า “ปิดดีลจีน – โดน Tariff สหรัฐที่ 55% !!” โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สรุปข้อตกลงล่าสุดให้โลกฟังว่า หลังเจรจากัน 2 ครั้ง สหรัฐจะได้เข้าถึง rare earths, magnets ส่วนจีนจะได้ชิป และวีซ่าสำหรับนักเรียนจีน โดยสหรัฐคิดภาษีจีน 55% และจีนคิดภาษีสหรัฐ 10%

“ทั้งหมด รอการพิจารณาของท่านประธานาธิบดีสี (จิ้นผิง) ซึ่งจะมีนัยยะกับไทย เพราะจากที่นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เคยบอกไว้เสมอ 36% คืออัตราสูงสุดสำหรับไทย หมายความว่า ต่อให้เราไม่ได้ลดเลย ที่อัตรานี้ เราจะยังได้เปรียบสินค้าจีนประมาณ 20% ถ้าเรามีข้อเสนอที่ดี สหรัฐพอใจ ก็คงจะลดให้จากอัตราดังกล่าวบ้าง”

ซึ่งหากไทยสามารถเจรจา (1) ได้เหลือ 10-20% (2) ไม่ต่างจากคู่แข่งของเรามากนัก ในสงครามการค้าโลกรอบนี้ ประเทศไทยก็ถือว่าพอไปได้ ส่งออกไทยก็น่าจะมีทางออก ในช่วงครึ่งหลังของปี สามารถไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ

“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนโดน 55% China Flooding ก็จะเป็นปัญหาให้ไทยหนักใจ คงต้องเตรียมมาตรการช่วย SMEs ในประเทศรับมือบรรเทาผลกระทบและเร่งหาตลาดใหม่ให้สินค้าไทย เพื่อให้ไทยลดสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐให้เหลือ 10% จากปัจจุบันที่ 18.3% จะได้ไม่ต้องเป็นลูกไล่ของเขา เพราะยังจะวุ่นวายอย่างนี้ไปอีกหลายปี”

เวียดนาม เข้าร่วมเป็น Partner กลุ่ม BRICS แล้ว ส่วน อินโดนีเซีย เป็นสมาชิกเต็มตัว ตั้งแต่ต้นปี

(15 มิ.ย. 68) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ระบุว่า ...

#เวียดนาม ไปต่อไม่ย่ำอยู่กับที่ เน้น diversify ตลาดใหม่ๆ ในยุคสงครามการค้าระอุ ล่าสุด เวียดนามเข้าร่วม BRICS ในฐานะ partner country เรียบร้อยแล้ว

15.06.2025 เวียดนามได้รับการรับรองให้เป็น partner ของกลุ่ม BRICS โดยบราซิลในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ชั่วคราว ประกาศยอมรับเวียดนามอย่างเป็นทางการ “รัฐบาลบราซิลมีความยินดีที่เวียดนามตัดสินใจเข้าร่วมสร้างระเบียบระหว่างประเทศ และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันอย่างยั่งยืน”
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top