Monday, 29 April 2024
วิเคราะห์การเมือง

นับถอยหลัง 9 กรกฎา เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รายชื่อแคนดิเดตเริ่มชัด!! เหลือวิสัยทัศน์ที่ต้องงัดมาโชว์

'ตั๊น จิตภัสร์' โพสต์ข้อความเจ็บจี๊ด หยุดเอาชื่อตัวไปคั่วชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่เคยอยู่ในสมอง ซัดคนอยากเป็น 'หยุดวิ่งหาผู้ใหญ่ในพรรค' แนะนำตัวสมาชิกพรรคทั่วไทยดีกว่า ฝากถึงใคร! 'ผู้นำ' เดินคนเดียว ไร้คนเดินตาม ไม่เรียก 'ผู้นำ'

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ในพรรคเกี่ยวกับการแข่งขันเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ มีใจความว่า...

"หยุดเอาชื่อตั๊น ไปร่วมกับแต่ละท่านที่อยากจะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลยค่ะ เรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคไม่เคยอยู่ในความคิดของตั๊นเลย ทุกวันนี้มีความสุขกับการได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอยู่ ไม่ว่าจะในพื้นที่ไหน ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เข้าไปทำงานในสภา แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถรอรัฐบาลชุดใหม่ได้  

"ถ้าตั๊นอยากจะเป็นหัวหน้าพรรค ตั๊นแมนพอที่จะออกตัวลงสมัครมานานแล้วค่ะ สมาชิกที่บอกเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหลาย แต่ละท่านที่อยากเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะมานั่งปล่อยข่าว หรือ วิ่งเข้า วิ่งออก บ้านผู้ใหญ่ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนะนำเอาเวลามาหาเสียงกับสมาชิกพรรคทั่วประเทศน่าจะดีกว่านะคะ (อย่างน้อยไปทำความรู้จักให้สมาชิกได้รู้จักว่า แต่ละท่านเป็นใคร เพราะตอนนี้แต่ละชื่อที่เสนอมาบอกเลย สมาชิกบางท่านยังไม่รู้จักเลยว่าคุณคือใคร)! อยากจะเป็นผู้นำ อย่าลืมลูกพรรคด้วยนะคะ! พรรคเป็นองค์กรที่ใหญ่มีสาขาพรรค สมาชิกหลากหลายในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แต่ใน กทม. ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งนั้น การจะเป็นผู้นำเดินคนเดียว แต่ไม่มีคนเดินตามเค้าไม่เรียกว่าผู้นำหรอกนะคะ"

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (9 กรกฎาคม) สถานการณ์ดูจะเข้มข้นขึ้นมาเรื่อยๆ ขาเชียร์คุณตั๊นก็จบข่าวไป มี 'อลงกรณ์ พลบุตร' ที่ชัดเจนแล้ว

รอการตัดสินใจของ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' และนายกฯ 'ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง' ว่าจะเปิดตัวกันวันไหน 

แต่ #นายหัวไทร ทราบว่า ทั้งนายกฯ ชาย และอภิสิทธิ์ ต่างเดินสาย พร้อมทีมงานผู้สนับสนุน พบปะโหวตเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยขั้วนายกฯ ชายมั่นใจว่า ถ้าลงแข่งเขาจะชนะ เพราะมีโหวตเตอร์สาย ส.ส.อยู่มากถึง 16-17 เสียง และโหวตเตอร์สาย ส.ส.มีน้ำหนักมากถึง 70% ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ว่า ส.ส.สายนี้จะยังอยู่ครบ 16-17 เสียงหรือไม่ เมื่อมีเสียงอันแผ่วเบาไปจากผู้มากบารมี ขอให้เปลี่ยนใจ กลับใจ

ส่วนสายอภิสิทธิ์ มีโหวตเตอร์สาย ส.ส.8-9 คน แต่สายอภิสิทธิ์ก็จะมีเสียงสนับสนุนที่หนาแน่จากสาขาพรรค ตัวแทนจังหวัด อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.และผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.อีกสองเสียง คือ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ถ้าการประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม มีคนเสนอให้ยกเว้นการใช้ข้อบังคับพรรคบางข้อ เกี่ยวกับการให้น้ำหนักกับโหวตเตอร์สาย ส.ส.มากถึง 70% ตามที่ทนายเชาว์ มีขวด เสนอ และให้โหวตเตอร์ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน คือ 1 คน 1 เสียง และผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 3 ใน 4 ขั้วนายกฯ ชายก็จะมั่วเหมือนกัน

การให้ที่ประชุมใหญ่มีมติงดเว้นการบังคับใข้ข้อบังคับพรรคบางข้อเคยมีปฏิบัติกันมาแล้วในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคที่ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' เอา 'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' มาเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปริญญ์เป็นสมาชิกพรรคได้ครบตามข้อบังคับพรรค

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันแล้วจะถึงวันเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ #นายหัวไทร อยากจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนใจจะลงสมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนเปิดเผยตัวออกมา แสดงวิสัยทัศน์ให้สมาชิกพรรคได้รับทราบ โหวตเตอร์จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดตัวออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์เองควรจะตั้งเวทีดีเบต ให้ผู้สมัครทุกคนมาดีเบตกัน ท่ามกลางสมาชิกพรรคจากทั่วทุกทิศ อันเป็นบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย หรือถ้าพรรคไม่จัด สื่ออาจจะจัดก็ได้ ถ้าผู้สมัครเปิดตัวออกมา ก็จะเป็นเวทีที่สนุก สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริงของประชาธิปัตย์

ผมไม่ติดใจว่า คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเป็นคนหนุ่ม คนรุ่นใหม่ เพียงแต่ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิรูปพรรค เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ทันโลก ทันสมัย พร้อมจะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย เพื่อนำพาประชาธิปัตย์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่

ประชาธิปัตย์เคยยิ่งใหญ่ เคยมี ส.ส.เป็น 100 คนมาแล้ว สร้างนักการเมือง สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน แต่ผู้บริหารชุดใหม่จะต้องถอดบทเรียนถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมาให้ออก รับฟังเสียงสะท้อน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เชื่อว่าความเป็นประชาธิปัตย์ ยังไปได้ ประชาธิปัตย์ยังไม่ตาย อุดมการณ์ประชาธิปัตย์ยังฝังอยู่ในจิตใจของแฟนคลับอีกไม่น้อย เพียงแต่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่กับบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป

'เชาว์ มีขวด' ขยับเกม นัดระดมพลคนรัก ปชป. จี้!! งดใช้ข้อบังคับพรรค ใช้สัดส่วน ส.ส.ชี้ชะตา

เมื่อไม่นานมานี้ นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงรอบสาม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Chao Meekhuad’ เรื่อง จากใจ ถึงใจ คนรัก ปชป. วันที่ 8 ก.ค.เจอกันที่ลานพระแม่ธรณีฯ พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า

หลังจากที่ได้เสนอแนวคิดในการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์โดยเรียกร้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของพรรคผ่านเฟซบุ๊กไปแล้วสามครั้ง ปรากฏว่า ได้รับเสียงตอบรับจำนวนมาก จึงขอขอบคุณสมาชิกพรรคทั้งอดีตและปัจจุบันรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกแต่มีความห่วงใยต่อพรรคประชาธิปัตย์ แม้ช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาบางท่านอาจจะไม่เลือกคนของพรรค แต่ก็ยังมีความห่วงใยต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ทุกคนจะได้กลับมาร่วมกันพัฒนาพรรคให้เติบโตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

มีหลายคนประสานมายังผมต้องการให้ช่วยนัดวันพบปะกันระหว่างสมาชิก เพื่อแสดงจุดยืนก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม โดยได้ข้อสรุปว่า จะนัดเจอกันในวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. ณ ลานพระแม่ธรณี พรรคประชาธิปัตย์ โดยเริ่มต้นด้วยการสักการะขอพรพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต่อจากนั้นก็จะเปิดเวทีเสวนาเล็ก ๆ เพื่อให้สมาชิกได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดทั้งวัน จึงประกาศเชิญชวนทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ตามวันเวลาข้างต้นครับ

“ขอยืนยันว่าการพบปะกันในหมู่คนรักพรรค ปรารถนาที่จะเห็นการฟื้นฟูพรรคให้กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองในครั้งนี้ มิได้มีวาระซ่อนเร้นเพื่อผลักดันใครเป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องการเห็นพรรคกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้องในทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทุกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ได้ร่วมชี้ชะตากำหนดอนาคตพรรค ด้วยการงดเว้นการใช้ข้อบังคับที่กำหนดให้ สัดส่วนของ ส.ส.คิดเป็น 70 % ขององค์ประชุมทั้งหมด เป็นทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมเชื่อว่าถ้าลดเพดานความอยากลง หลายคนจะเห็นความจริงตรงหน้ามากขึ้นว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปมีความสำคัญต่อพรรค มากกว่าการเป็นหุ่นเชิดให้ใครใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจเท่านั้น

‘ทนายเชาว์’ ขย่มครั้งที่สองเสนอให้พรรคงดใช้ข้อบังคับพรรคในที่ประชุมใหญ่ ข้อที่กำหนดให้น้ำหนักกับ ส.ส.ถึง 70% ในการลงคะแนน ทนายเชาว์จึงเสนอให้งดใช้ขัอบังคับพรรคข้อนี้ และให้ทุกคนมีเสียงเท่ากับ 1 คน 1 เสียง และเปิดฉากที่สามด้วยการนัดแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์เจอกันวันเสาร์นี้ ก่อนการประชุมใหญ่ 1 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วไป ที่ยังรักพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงพลัง แสดงความคิดเห็นกันทั้งวันบริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม

เกม 'ล้มประชุม' เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เบรกความฮอตขั้ว 'เฉลิมชัย' อีก 1 เดือนวัดกันใหม่

การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มขึ้นเวลา 09.00 น.ของวันที่ 9 กรกฎาคม โดยการกล่าวต้อนรับสมาชิกโดยผู้อำนวยการพรรค จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยดำเนินการไปตามระเบียบวาระ เมื่อจะเข้าวาระ 4 ว่าด้วยเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ที่ประชุมได้เชิญสื่อมวลชนออกจากห้องประชุม

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เสนอให้ยกเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรค ในขณะที่นายสาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรค เสนอให้งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับสัดส่วน-น้ำหนัก ส.ส.กับโหวตเตอร์อื่นๆ 70:30 ทำให้นายจุรินทร์ เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น มีสมาชิกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายองอาจจึงเสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน พี่น้องภายในพรรคไปคุยตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนว่าจะเอาอย่างไร

การประชุมยังเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่ด้านนอกมีกระแสข่าวมาเรื่อยๆ 'อลงกรณ์ พลบุตร' ถอนตัวจากการชิงหัวหน้าพรรคกระทันหัน และไม่เข้าร่วมประชุมด้วย

ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ให้คำตอบในนาทีสุดท้าย ปฏิเสธลงชิงหัวหน้าพรรค เกมเริ่มพลิก ขั้วของเฉลิมชัย ศรีอ่อน ขาดหัวในการชิงหัวหน้าพรรค จึงดึง 'นราพัฒน์ แก้วทอง' จากพิจิตร มาเสนอตัวแทน และ 'ติ่ง-มัลลิกา บุญมีตระกูล' ตัวจี๊ดขันอาสามาสมัครอีกคน

บรรยากาศในห้องประชุมยังดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกับข้อเสนอให้งบใช้ข้อบังคับการประชุม การประชุมลากยาวไปถึงภาคบ่าย และสไตล์ประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็จบลงด้วยการลงมติ ที่ประชุมไม่ให้เลื่อนการประชุมออกไป และยังใช้ข้อบังคับพรรคในสัดส่วน 70:30 ต่อไป

กว่าจะได้พักรับประทานอาหารการประชุมลากยาวมาถึงบ่ายโมง พัก 1 ชั่วโมง นัดประชุมใหม่ 14.00 น. 

ผู้ล้ำลึกในเกมวิเคราะห์ถึงการชิงไหวชิงพริบกันในภาคเช้า ขั้วของเฉลิมชัยยังอยู่ในฐานะได้เปรียบในทุกประตู ทั้งไม่เลื่อนการประชุม และงดใช้สัดส่วน 70:30

แต่หลังรับประทานอาหารเสร็จ ภาพที่เห็นคือ คนที่เป็นองค์ประชุมเริ่มเช็กเอาต์ ลากกระเป๋าออกจากห้องพัก ซึ่งเป็นไปตามกติกา ถ้าไม่พักต่อก็ต้องเช็กเอาต์ก่อนบ่ายสองโมง 

สัญญาณเริ่มได้ยิน "ล้มการประชุม" องค์ประชุมหลายคนจึงลากกระเป๋าออกจากโรงแรม บางคนอ้างจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว จองตั๋วรถทัวร์ไว้แล้วบ้าง

14.00 น.การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้น คนเริ่มโหรงเหรง เหลือครึ่งหนึ่ง จึงมีคนเสนอให้นับองค์ประชุม เป็นไปตามคาด 'ไม่ครบองค์ประชุม'

จริงๆ แล้ว การนับองค์ประชุม เป็นเกมที่ไม่ต้องการให้การประชุมเดินต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงไม่สามารถเดินไปสู่การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อได้นั่นเอง และถ้าดูผลการประชุมในช่วงเช้า ขั้วของเฉลิมชัย ที่ดันนราพัฒน์ ยังเป็นต่ออยู่ เกมล้มการประชุมด้วยการนับองค์ประชุมจึงถูกกำหนดขึ้น และบรรลุเป้าหมาย ยังมีเวลาอีก 1 เดือนในการล็อบบี้ 

งานนี้นักการเมืองหนุ่มขั้วเฉลิมชัยถึงกับส่ายหน้ากับเกมล้มการประชุมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ประเด็นเวลานี้คือ อลงกรณ์มีเหตุผลอะไรถึงถอนตัวจากการลงชิงหัวหน้าพรรค และไม่เข้าร่วมประชุม เกิดอะไรขึ้น 1 วันก่อนการประชุม เช่นเดียวกับ ดร.เอ้ ที่มาปฏิเสธในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูท่าทีดีใจที่ถูกผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามให้ลงชิงหัวหน้าพรรค แต่กลับมาตัดสินใจ และบอกกล่าวในนาทีสุดท้าย จนขั้วเฉลิมชัย เกือบพลิกตัวไม่ทัน ยังดีที่ไปคว้านราพัฒน์ไว้ได้ทัน

ชัดเจนครับว่า การประชุมครั้งหน้า ก็จะเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่จะลงชิงหัวหน้า ไม่ต้องมาหารือ หรือลงมติเรื่องอื่นกันให้เสียเวลาอีก แต่ 1 เดือนที่เหลือ น่าจะเป็นช่วงเวลาของการล็อบบี้-หาคะแนนกันอย่างแท้จริง ทั้งฝ่ายสนับสนุน 'นราพัฒน์ แก้วทอง' และฝ่ายสนับสนุน 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

ส.ว.สายโหวต ‘พิธา’ จี้ กกต. ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ หวั่น!! โหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง

รีบเลย!! ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ ส.ว. ซึ่งมีชื่อว่าจะโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับออกมาจี้ กกต. รีบส่ง #ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ #พิธา โดยเร็ว ก่อน #โหวตนายก 13 ก.ค. กลัวต้องโหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ยันที่ประชุมรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมโหวตได้ 

พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก้าวไกลจะเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำบางคนออกมายืนยันแล้วว่า มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนครบแล้ว ถ้าครบแล้ว หมายถึงได้รับการสนับสนุนจาก สว.แล้วไม่น้อยกว่า 66คน

ต้อง 66เสียง เพราะว่า พรรคก้าวไกลหายไป 1 คน จากเหตุเมาแล้วขับ และ กกต.ยังไม่รับรองในการเลื่อนลำดับถัดมา จึงยังไม่ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ส่วนอีกคน ต้องทำหน้าที่ประธาน จะงดออกเสียงหรือไม่

แต่ประเด็นมาถึงวันนี้ สว.บางคนที่เคยเอ่ยปากสนับสนุน ‘พิธา’ เริ่มลังเลในการโหวต กลัวว่าจะเป็นการรับรองคนผิดเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วจะถูกเล่นงานตลบหลัง ส่วนคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่นแล้วก็ว่ากันไป แต่จำนวนเท่าไหร่แน่ ไม่มีใครยืนยัน

วันนี้ กกต.นัดประชุมสรุปอีกรอบในการดำเนินการตามคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธาว่าเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ซึ่งเมื่อวานได้พิจารณาแล้ว แต่พรรคก้าวไกลทำหนังสือแย้งไปว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง กกต.จึงเลื่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้

'วันนอร์' เคาะเริ่มโหวตเลือกนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค. จับตา 8 ชั่วโมงแห่งการตัดสินชะตานายกฯ คนที่ 30

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยมติที่ประชุม 3 ฝ่ายเตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยสรุป คือ จะมีการอภิปรายและจะโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดย ส.ว. ได้เวลา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลารวม 4 ชั่วโมง

น่าจะสนุก...เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยให้สมาชิกอภิปราย ส.ว.ได้เวลาอภิปราย 2 ชั่วโมง ส.ส.ได้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ให้เวลากับคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีกี่นาที กี่ชั่วโมง

เข้าใจว่า 6 ชั่วโมงที่สมาชิกรัฐสภาได้มาเป็นช่วงเวลาของการซักฟอกยกแรกสำหรับชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' และจะเป็นโอกาสของพิธาในการได้อธิบายนโยบาย หรือแนวทางของพรรคก้าวไกล ที่สังคม และสมาชิกรัฐสภายังกังขาอยู่

เป็น 6 ชั่วโมง บวกกับการชี้แจงของพิธาอีก 2 ชั่วโมง รวมเป็น 8 ชั่วโมง น่าจะเป็น 8 ชั่วโมงที่น่าสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดเป็นอย่างยิ่ง

คอการเมืองไม่ควรพลาดสำหรับ 8 ชั่วโมงนี้ จะได้กระจ่างกันทั้งสองฝ่าย และจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงประเด็น ไม่ต้องถามกันไปมา และทำให้การสื่อสารผิดเพี้ยนไปอีก

ส่องปฏิกิริยา 'พิธา' หลัง กกต.มีมติส่งศาล รธน.ปมไอทีวี ท่าทีเคร่งขรึม รับวันรัฐสภาเดินหน้าโหวตเลือกนายกฯ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รับเดินทางออกจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรทันที หลังทราบข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) 42,000 หุ้น พร้อมให้ฝ่ายสำนักงาน ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญทันที

พิธาเดินออกไปด้วยท่าทีเคร่งขรึม ผิดไปจากแต่ก่อน ซึ่งก็ควรจะเคร่งขรึม เพราะพรุ่งนี้รัฐสภานัดลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอชื่อพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี กำลังจะโหวตอยู่แล้ว แต่กลับมีเรื่องใหญ่มาดักหน้าพอดี

แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า คุณสมบัติของพิธาในเวลานี้ยังครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมา ขบวนการในวันนี้ จะเป็นแค่งานธุรการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็จะรับเรื่องไว้ แต่โดยขั้นตอนยังไม่น่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทันในวันนี้ คงต้องผ่านขั้นตอนปกติในคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ก่อนนำเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยสรุปพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ก็จะเป็นการประชุมตามปกติของรัฐสภา และเดินหน้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.ได้เวลาอภิปราย 4 ชม. สว.ได้เวลา 2 ชม.ส่วนฝ่ายตอบยังไม่ได้จำกัดเวลา ขึ้นกับดุลยพินิจของประธานรัฐสภา

‘นิพนธ์’ ยัน!! ‘วสันต์’ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ทนาย ว่าความคดี ป.ป.ช. ฟ้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ข่าวลอยลมปั่นกระแสผิด ๆ ทำเอา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องออกมาตอบโต้ว่า ‘นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์’ ถอนตัวจากการเป็นทนายความคดีที่ตนตกเป็นผู้ต้องหาคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่ตั้งเรื่องเบิกจ่ายค่ารถอเนกประสงค์ ในการซ่อมบำรุงทางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) 

นิพนธ์ กล่าวยืนยันหนักแน่นว่า “วสันต์ไม่ได้ถอนตัวจากการเป็นทนายความในคดีนี้แน่นอน วันนี้คุณวสันต์ยังมาศาล และยังขึ้นว่าความอยู่ตามปกติ เป็นเจตนาของคนเขียน ที่ต้องการทำลายกันทางการเมือง เวลานี้ผมทำงานการเมืองก็มีคู่แข่งเยอะ บางคนเจตนาร้าย ต้องการทำลายกัน แต่ข้อเท็จจริงมี พิสูจน์กันได้”

วันนี้ ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลย เป็นการนัดสืบพยานต่อเนื่อง 3 วัน (อังคาร-พุธ-พฤหัสบดี) และเป็นการนัดสืบพยานนัดสุดท้ายแล้ว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวก็ได้รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นต้นมานายวสันต์ ได้เดินทางไปยังศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และขึ้นว่าความด้วยตัวเอง ซักพยานด้วยตัวเองตลอด ส่วนข่าวที่บอกว่า ‘วสันต์’ ถอนตัวเป็น fake news (ข่าวปลอม) หรือเรียกง่ายๆ ว่า โกหกทั้งเพ!!

‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ มีแววนั่ง ‘รมช.มหาดไทย’ ประสบการณ์ สส. 5 สมัย ความรู้-ความสามารถพร้อม

การเมืองไทยหลังจากที่ได้นายกฯ ชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นอยู่ทุกวัน ประชาชนคอการเมืองต่างตั้งหน้าตั้งตารอว่า ‘ใคร’ จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใด และหน้าตาครม. เศรษฐา 1 จะคล้ายคลึงของเดิมหรือเปลี่ยนไปมาน้อยเพียงใด

แน่นอนว่าพรรคการเมืองที่คนให้ความสนใจและจับตาดูก็เป็น ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ได้ส่งรายชื่อผู้ที่จะได้เป็นรัฐมนตรีตามโควตาไปยังพรรคเพื่อไทยเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย

-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
-นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ เป็นรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม
-นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย  
-นายอนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท มีชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โควตารัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง เป็นว่าการ 2 ช่วยว่าการ 2 มีปัญหาในการจัดสรรตำแหน่งกันในพรรคอยู่บ้าง อย่างสายใต้ มีหลายคนควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้ง ‘วิทยา แก้วภารดัย’ แต่ในช่วงเลือกตั้งได้นับมอบหมายให้ไปดูแลพื้นที่ภาคอิสาน

‘ชุมพล กาญจนะ’ ที่สุราษฎร์ธานีกวาดมาได้ถึง 6 เสียง แต่ในเชิงลึกพบว่า ใน 6 เสียง เป็นสายชุมพลเพียง 3 เสียง อีก 3 เสียงเป็นสายกำนันศักดิ์-พงศ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่จับทีมกันกับ ‘ชุมพล จุลใส’ (ลูกหมี) แห่งเมืองชุมพร และวิสุทธิ์ ธรรมเพชร แห่งเมืองพัทลุง จึงทำให้ชุมพลชวดตำแหน่งรัฐมนตรี ประกอบกับชุมพลอายุมากแล้วด้วย

เก้าอี้รัฐมนตรีจึงถูกสับโยกไปให้ ‘สุพล จุลใส’ (ลูกช้าง) สส.สมัยสอง อดีตนายกฯ อบจ.ชุมพร แต่สุพลขอสละสิทธิ์ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ การเป็นรัฐมนตรีต้องเสียสละ ทุ่มเท จึงไม่เหมาะ ขอสละให้คนอื่นเป็นแทน

หันซ้ายมองขวาก็เห็น ‘ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ ยืนโดนเด่นอยู่ ปุ้ยจึงได้รับการเคาะให้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแทนสุพล ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสม เพราะปุ้ยผ่านประสบการณ์มามาก เป็น สส.4 สมัย ย่างเข้าสมัยที่ 5 แล้ว ก็ถือว่าส้มหล่น เป็นคนที่ไม่เคยคาดหวัง ไม่เคยวิ่งเต้นอยากจะเป็นรัฐมนตรี แต่ถึงเวลา บุญนำพา วาสนาส่ง มันก็หล่นมาเอง

ทางด้าน ม.ล.ชโยทิต กฤดากร สส.บัญชีรายชื่อ ที่มีชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม แต่ล่าสุด ม.ล.ชโยทิต แจ้งไม่ขอรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ พรรคจึงเปลี่ยนชื่อเป็นนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ นั่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมแทน

กล่าวสำหรับพิมพ์ภัทรา เป็นทายาททางการเมืองของมาโนช วิชัยกุล อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ท่านเพิ่งจากไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา เมื่อมีชื่อ ปุ้ย-พิมพ์ภัทรา นั่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ในฐานะรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย คนนครศรีธรรมราชก็พากันเฮด้วยความดีใจ นอกจากความเหมาะสม ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์แล้ว คนนครศรีธรรมราชดีใจว่า สส.10 คน ควรจะได้มีรัฐมนตรีในจังหวัดนครศรีธรรมราชกับเขาบ้าง หลังจากเป็นจังหวัดที่ว่างเว้นรัฐมนตรีมานานกว่า 10 ปี (ไม่นับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ) ที่เป็นคนนครศรีธรรมราช แต่ไม่ได้เป็น สส.นครศรีธรรมราช เป็น สส.บัญชีรายชื่อ และเคยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คนที่ควรได้เป็นรัฐมนตรีในนามพรรครวมไทยสร้างชาติอีกคนคือ ‘น้อย-วิทยา แก้วภารดัย’ แต่คราวนี้กลับไม่มีชื่อ ช่วงแรก ๆ มีโผจะไปนั่งช่วยว่าการสาธารณสุข แต่วิทยาเคยนั่งว่าการมาก่อนแล้ว จึงไม่เหมาะที่จะไปนั่งช่วยว่าการ ประกอบกับโควตาที่ได้มาเพียง 4 เก้าอี้ จึงต้องเกลี่ยกันไป อีสาน กลาง กรุงเทพ และใต้ให้เท่า ๆ กัน ไม่เอนเอียงไปทางไหนให้คนกังขา

วัดใจ 'ครม.เศรษฐา 1' มุ่งแก้ 'ปากท้อง-ค่าครองชีพ' ทำได้ไว ไม่ติด แต่พันธกิจล้าง 'ผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองตัวดี' ห้ามปล่อยไหล

สำหรับ นายหัวไทร ในนาทีนี้ นโยบายที่อยากให้รัฐบาลทำให้เข้มข้นจริงจัง และ ด่วนที่สุด คือ การปราบปรามยาเสพติด การลักลอบค้าของเถื่อน-หนีภาษี ปราบการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับ (ทั้งระดับนโยบาย-ปฏิบัติการ) ทำอย่างไรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตั้งแต่หน่วยงานเล็ก ๆ ระดับจังหวัด กรม กอง / อบต.เทศบาล อบจ.จะปราศจากการล็อกสเปก เล่นพรรคเล่นพวก / ฮั้วประมูล / เงินทอน ฯลฯ

ยิ่งปัญหาการพนันออนไลน์ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วย นี่แหละที่เป็นที่มาของการสร้างผู้มีอิทธิพล

ไม่ต้องพูดถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนอยู่แล้ว ส่วนน้ำมันแพงก็เป็นปัญหาพื้นฐานที่รัฐจะต้องเข้าไปรื้อโครงสร้างโน้นนี้นั้น เชื่อว่าไม่ยากที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาได้ เช่น โครงสร้างภาษี ค่าการคลั่น การนำเข้า-ส่งออก

เรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นเรื่องที่นักการเมืองไปหาเสียงรับปากกับประชาชนไว้เอง จะตั๋วใบเดียวขึ้นได้ทุกสายหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่จะต้องคิดแก้อยู่แล้ว แต่งานนี้ไม่อยากให้รัฐบาลควักเงินภาษีของคนทั้งประเทศ มาชดเชยการเดินทางของของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ใครกินใครใช้ก็คนนั้นจ่าย แต่ต้องในอัตราที่เป็นธรรม ส่วนจะทำอย่างไร จะคุยกับเอกชนแบบไหน เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพียงแต่ไม่อยากให้เอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศมาจ่ายแทนชดเชยให้เอกชน และรัฐบาลหยิบเอาไปอ้างเป็นผลงาน มันไม่ใช่ฝีมือครับ

เรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่นายกรัฐมนตรี 'เศรษฐา ทวีสิน' พูดเองว่าจะไม่ใช้ประกันรายได้ตามนโยบายประชาธิปัตย์ และจะไม่รับจำนำ เหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะใช้มาตรการอะไร นอกจากพักหนี้พักดอก 'นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้' มันดูหลักลอยไปหน่อยกับการเล่นคำ สินค้าเกษตร 5 ตัวหลัก ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มันสัมปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน คือพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ รัฐบาลจะใช้นวัตกรรมอะไร มาสร้างเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ไม่มีการบอกกล่าว

ปัญหาบางปัญหาเกี่ยวโยงกับนักการเมือง หรือพูดง่าย ๆ ว่า นักการเมืองนั่นแหละคือตัวดี ทำเสียเอง จึงเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข

เอาแค่นี้ก่อน จริง ๆ มีปัญหาอีกมากมายที่คาราคาซังมายาวนาน แต่ขาดการเอาใจใส่ดูแลและแก้ไข เพราะบางปัญหามัน 'หยิกเล็กก็เจ็บเนื้อ'

เปิดตัวแปร ‘สนธิญาณ’ ไขก๊อก!! งัดข้อใคร หรือ บ้านใหม่ไม่เวิร์ก 

การตัดสินใจทิ้ง ท็อปนิวส์ฯ ของ ต้อย-สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถานีข่าวท็อปนิวส์ น่าสนใจยิ่งกับเหตุผล ‘เนื่องด้วยทิศทางธุรกิจผมกับคณะบริหารไม่ตรงกัน’

ฟังดูเหตุผลแล้วดูเรียบง่าย แต่ภายในน่าจะเดือดปุด ๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว จนมาถึงจุดระเบิดในที่สุด

ทิศทางธุรกิจไม่ตรงกันกับคณะผู้บริหาร จนนำมาสู่การทิ้งบ้าน เป็นเรื่องน่าสนใจ แค่ไม่มีใครให้รายละเอียดเพิ่มเติม

พลิกดูข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย, นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล (ภรรยานายกนก รัตน์วงศ์สกุล), นายตระกูล วินิจนัยภาค, นายเอกชัย ชัยเชิดชูกิจ (คนสนิทของสนธิญาณ), นายชยธร ธนวรเจต, นายเอกพันธุ์ แป้นไทย, นางสาวกิ่งการะเกด ชื่นฤทัยในธรรม (บุตรสาวนายสนธิญาณ), นายพงษ์ศักดิ์ ชมสุวรรณ และนางสาวสุธิดา สาริกุล

โดยกรรมการลงชื่อผูกพัน นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หรือ นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย หรือ นายเอกชัย ชัยเชิดชูกิจ หรือ นางลักขณา รัตน์วงศ์สกุล 

ส่วนข้อมูลงบการเงินพบว่า ปี 2564 ซึ่งเป็นปีเริ่มก่อตั้งท็อปนิวส์ฯ มีรายได้รวม 192,067,527.00 บาท กำไรสุทธิ 10,329,294.00 บาท และปี 2565 มีรายได้รวม 224,422,932.00 บาท เพิ่มขึ้น 16.84% กำไรสุทธิ 9,065,781.00 บาท ลดลง 12.23% โดยสรุปสองปีมีกำไร ไม่มีขาดทุน แต่ต้องหารายได้มีใช้จ่ายแบบเดือนต่อเดือน เหนื่อยกันอยู่ไม่น้อย

ท็อปนิวส์ฯ จะเล่นข่าวแนวหวือหวา ดุดัน ซึ่งมีแฟนคลับกลุ่มหนึ่งติดตามชมอยู่แม้นจะอยู่บนทีวีดาวเทียมก็ตาม มีพิธีกรที่เป็นแม่เหล็ก อย่างกนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญญะไพบูลย์, ปอง-อัญชะลี ไพรีรัก, สันติสุข มะโรงศรี, สนธิญาณ เองก็ร่วมจัดรายการแนววิเคราะห์อยู่ด้วย

แต่ปัญหาความไม่ลงรอยน่าจะครุกรุ่นมานาน และขยายวงไปเรื่อย

ก่อนหน้านี้สถานีข่าวท็อปนิวส์ เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตรายการให้กับสถานีโทรทัศน์เจเคเอ็น 18 และยุบช่องทีวีดาวเทียมของตัวเอง แต่ยังใช้สถานที่สถานีท็อปนิวส์ฯ ย่านกิ่งแก้วเป็นที่ทำงาน ส่งสัญญาณมายัง JKN-18 ย่านแบริ่ง หลังจากเข้ามาร่วมผลิตกับ JKN ไม่นาน อัญชะลี ไพรีรัก ผู้ประกาศข่าวตัวแม้ก็โบกมือลาท็อปนิวส์ไปก่อนเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนจะไปรับหน้าที่ผู้อำนวยการข่าว เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่ให้เหตุผลที่แท้จริง แต่ก็มีกระแสข่าวว่า เกิดจากทัศนคติไม่ตรงกันระหว่างนายสนธิญาณ กับ อัญชะลี เรื่องแนวทางการทำงาน

แม้สนธิญาณจะให้เหตุผลชัดว่า ทิศทางการทำธุรกิจไม่ตรงกับคณะผู้บริหาร แต่เมื่อพลิกดูรายชื่อกรรมการบริหารแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคนของสนธิญาณเอง ไม่ว่าจะเป็นฉัตรชัย เอกชัย ที่หอบหิ้วกันมาตั้งแต่ทำทีนิวส์แล้ว หรือปุ้ม ลักขณา รัตน์วงศ์สกุล ภรรยาของกนก ก็หอบหิ้วกันมาจากเนชั่น หรือกิ่ง การะเกด ก็เป็นลูกสาวของสนธิญาณเอง มีบางคนที่ #นายหัวไทร ไม่รู้จัก แต่ถ้าดูรายชื่อคณะผู้บริหารส่วนใหญ่แล้วเป็นคนของสนธิญาณ จึงยังนึกไม่ออกว่า ขัดแย้งกันใครในคณะผู้บริหาร

มาดูรายชื่อผู้หุ้นในท็อปนิวส์ฯ ว่ามีใครบ้าง แน่นอนว่า เมื่อเริ่มก่อตั้งสนธิญาณถือหุ้นอยู่ถึง 95% คนอื่น ๆ อีกคนละเล็กน้อย เช่น ฉัตรชัย, กนก, ลักขณา, ธีระ, อัญชะลี, ชยธร, เอกชัย และอื่นๆ

แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น (น่าจะเพิ่มทุน) ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มชื่นฤทัยในธรรม เหลือแค่ 26% ฉัตรชัยเพิ่มเป็น 26% กนก 5% ลักขณา 5% อัญชะลี 4% ชยธร 4% ธีระ 4% เอกชัย 4% และอื่นๆอีก 21%

แม้กลุ่มสนธิญาณจะยังมีสัดส่วนการถือหุ้นมากเกิน 25% แต่ฉัตรชัยคนเดียวถือหุ้นมากถึง 26% รายอื่น ๆ ก็ 4-5%

ก็ไม่รู้ว่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้สนธิญาณต้องไขก็อกหรือเปล่า กับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ข้อมูลในเชิงลึกให้ข้อมูลน่าสนใจว่า การตัดสินใจเข้าไปร่วมผลิตรายการกับ JKN ก็น่าจะมีส่วนในการตัดสินใจถอยออกมาของสนธิญาณ เพราะโฆษณาไม่ได้เข้ามาตามเป้าที่วางไว้เมื่อเทียบกับงบลงทุน การที่โฆษณาไม่เข้าเป้าส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ทีวีเลือกข้างจึงน่าจะประสบปัญหาในการสนับสนุนการผลิต นายทุนอาจจะถูกบีบโดยผู้มากบารมี ไม่ให้ซื้อโฆษณา หรือสนับสนุนท็อปนิวส์ฯ ก็เป็นได้

มองไปข้างหน้ากับตัวเลขรายได้กับเวลาอายุสัญญาทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ 6 ปี ไม่น่าจะคุ้มกับงบประมาณที่ลงทุนไป

การถอยออกมาเวลานี้จึงน่าจะเป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม เพื่อไปดูแลธุรกิจโรงแรมที่สิชล ซึ่งลงทุนไปเยอะแล้ว หรือจะพลิกตัวไปสู่การเมืองก็ยังไม่สาย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top