Wednesday, 8 May 2024
รถไฟ

ส่องแผนลงทุน ระบบรางไทย อีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่า 1.8 ล้านล้าน

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เปิดแผนลงทุนระบบรางของไทย ช่วง 10 ปีข้างหน้า คาดจะลงทุนอีกอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มเส้นทางรถไฟทั่วประเทศอีก 4,746 กม. 

รถไฟ ‘กรุงเทพฯ-หัวหิน’ ลดเวลาวิ่ง เหลือเพียง 3 ชม. ส่วน ‘กรุงเทพ-ชุมพร’ วิ่งฉิว 6 ชม. เร็วเหมือนรถยนต์

(16 ม.ค. 67) คนนั่งรถไฟเฮ!! เว็บไซต์จองตั๋วรถไฟ ได้มีการปรับปรุงเวลาเดินรถสายใต้ทุกขบวน โดยบางขบวนจะปรับเวลาออกไวขึ้น ถึงไวขึ้น ขณะที่บางขบวนออกช้ากว่าเดิม แต่ถึงปลายทางไวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร ทำให้รถไม่ต้องเสียเวลาสับหลีกอีกต่อไปในการเดินรถช่วงเส้นทางดัง 

โดยจากการสังเกตในหน้าจองตั๋วพบว่า รถด่วนดีเซลรางขบวนที่ 43 จากเดิมกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงหัวหิน จะใช้เวลาราว 4 ชั่วโมง แต่เวลาเดินรถใหม่จะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง เทียบเท่าขับรถยนต์ นอกจากนี้ในช่วงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์-ชุมพร จากเดิมเคยใช้ระยะเวลามากถึง 8 ชั่วโมง แต่เวลาใหม่เหลือเพียง 6 ชั่วโมง 20 นาที เท่านั้น ซึ่งใช้เวลาเท่ากับการขับรถยนต์

‘จีน’ ทดสอบ 'รถไฟในเมืองพลังงานไฮโดรเจน' ผลิตเองขบวนแรก วิ่งฉิว!! 160 กม./ชั่วโมง - เติมเชื้อเพลิงครั้งเดียววิ่งไกล 1,000 กม.

(22 มี.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รถไฟในเขตเมือง ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนซึ่งจีนพัฒนาขึ้นขบวนแรก วิ่งทดสอบเสร็จสิ้นด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อวานนี้ 21 มี.ค. ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญในการประยุกต์ใช้พลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งทางรถไฟ

โดยรถไฟดังกล่าวพัฒนาโดยซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮีเคิลส์ จำกัด (CRRC Changchun Railway Vehicles) ในเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยวิ่งทดสอบบนรางทดสอบของบริษัทฯ และผ่านกระบวนการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานแบบเต็มระบบ ครอบคลุมครบฉากสถานการณ์ และหลากหลายระดับ

เมื่อเทียบกับรถไฟแบบดั้งเดิมที่อาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือระบบจ่ายไฟฟ้าแบบสายส่งเหนือหัว รถไฟในเขตเมืองขบวนนี้มีระบบพลังงานไฮโดรเจนในตัวซึ่งสามารถให้แหล่งพลังงานที่เข้มข้นและยาวนาน โดยมีระยะการเดินทางสูงสุดแบบเติมเชื้อเพลิงครั้งเดียวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการทดสอบยังแสดงให้เห็นว่ารถไฟพลังงานไฮโดรเจนดังกล่าว ใช้พลังงานเฉลี่ย 5 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับรถไฟชั้นนำระดับโลก

11 เมษายน พ.ศ. 2436 ‘ในหลวง ร.5’ เสด็จฯ เปิดทางเดินรถไฟสายแรกของสยาม เส้นทาง ‘กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ’ ระยะทาง 21 กิโลเมตร

ครบรอบ 131 ปี เปิดทางเดินรถไฟสายปากน้ำ ระหว่างกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ รถไฟสายแรกในสยามประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429

บริษัทชาวเดนมาร์คสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์คจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน

ต่อมาวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ และจากนั้นวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."

อย่างไรก็ตาม แต่เดิมทางรถไฟสายปากน้ำมีทั้งหมด 10 สถานี ต่อมาจึงเพิ่มเติมเป็น 12 สถานี และหลังสิ้นสุดสัมปทานในเวลา 50 ปี เส้นทางรถไฟดังกล่าวตกอยู่ในการบริหารกิจการของกรมรถไฟต่อ ครั้นในรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยกเลิกเส้นทางรถไฟสายปากน้ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 โดยได้มีการสร้างถนนแทน ปัจจุบัน คือ ถนนพระราม 4 และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ

'ชาวเน็ต' แหกหน้าหนุ่ม หลังโพสต์มั่วเรื่องรถไฟไทย ทั้งขนาดรางไม่เชื่อมจีน-มาเลย์ และ 'ทางคู่' ที่มิใช่ 'รางคู่'

(3 พ.ค. 67) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Chen Tai Shan' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า..."ไม่ใช่ทำไม่ได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ….ประเทศไทยไม่ยอมทำรางรถไฟขนาดมาตรฐานที่สามารถเชื่อมกับโครงข่ายทั้งจีนและมาเลเซีย แต่ไปเอารางคู่แทน (ใช้เงินเยอะกว่าโครงข่ายแบบรถไฟความเร็วสูงด้วยนะ FYI)"

ก็ทำให้มีผู้สันทัดกรณีเข้ามาตอบคำถามเชิงความรู้แก่ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนดังกล่าว อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wanwit Niampan ที่ได้โพสต์ข้อความตอบกลับไปว่า...

คุณไม่มีความเข้าใจเรื่อง Railway 101 เลย ขนาดทางรถไฟในโลกนี้มีมากกว่า 10 ขนาด แต่ขนาดที่มีจำนวน 'ต่อ กม. มากที่สุด' คือ 1.435 เพราะใช้เป็นเครือข่ายหลักในยุโรป และต่อมาประเทศที่มีการวางระบบโดยยุโรป และมีขนาดประเทศกว้างก็ถูกนำมาใช้ เช่น จีน, ออสเตรเลีย, เกาหลีใต้ ซึ่งทางกว้างขนาด 1.435 มีชื่อว่า European Standard Gauge แปลว่า 'ขนาดความกว้างมาตรฐานยุโรป' แต่ไม่ได้หมายความว่ามันคือ มาตรฐานโลก

กรณีรถไฟความเร็วสูง ทำไมไม่ใช้ 1.435?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ใช้รถไฟความเร็วสูงเชิงพาณิชย์ประเทศแรก ซึ่งญี่ปุ่นใช้ทางกว้าง 1.067 (ขนาดที่มีระยะทางเป็นอันดับ 3 ของโลก) และไม่สามารถทำความเร็วได้ ประกอบกับมีทางโค้งและทางภูเขาเยอะ จึงต้องตัดทางใหม่เพื่อ Shinkansen โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จึงมีทางรถไฟทั้ง 1.067 และ 1.435

จากนั้นประเทศที่ผุดรถไฟความเร็วสูงมาใหม่ จึงยึดที่ 1.435 (รวมถึงยุโรปที่ใช้ 1.435 ไปเลย เพราะจะได้อัปเกรดทางเดิมได้โดยไม่ต้องสร้างเพิ่ม แต่รถจะวิ่งสูงสุดแค่ 210-230 บนทางเดิม)

สำหรับต้นทุน รถไฟความเร็วสูง 'สูงกว่ารถไฟทางคู่' ครับ มันคนละเทคโนโลยีกัน

ข้อต่อมา ทำไมต้องทำทางคู่

อันนี้แหละคือ โครงข่ายที่สมบูรณ์ที่สุดในการเข้าถึง 'พื้นที่เล็ก' แบบ INtercity รถไฟความเร็วสูงเป็นแค่ option ที่เสริมมาหลังจากที่โครงข่ายปกติมี capacity ที่สูง (เช่น โตเกียว-โอซาก้า ในยุคนั้นที่มี traffic สูงมาก และทางเดิมไม่พอกับปริมาณความต้องการ ประกอบกับมีการติดต่อกันระหว่างสองเมืองที่มีแบบตลอดแบบ Business ซึ่งกรณีนี้รถไฟความเร็วสูงมันได้ทำหน้าที่ 'เสมือนทางด่วน' ของรถยนต์ และทางรถไฟธรรมดามันคือ ทางหลวงระหว่างเมือง

ถ้าให้คุณเข้าใจง่ายที่สุด...
- รถไฟธรรมดา = ถนนหลวง
- รถไฟความเร็วสูง = ทางด่วน

ถนนหลวงที่มีแค่ 1 เลน มันจะขับคล่องไม่ได้ มันก็ต้องขยายเลน เพราะไม่ใช่ทุกเมืองที่ต้องใช้ทางด่วน ไม่ใช่ทุกปลายทางที่ต้องขึ้นทางด่วน

นอกจากนี้ ยังมีชาวเน็ตจำนวนมาก ที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวของ 'Chen Tai Shan' ต่างก็คอมเมนต์ไปในทิศทางเดียวกันว่า "คนโพสต์ยังแยกไม่ออกระหว่างขนาดความกว้างของราง กับ การทำทางคู่ ไม่ใช่รางคู่ รถไฟมันใช้รางคู่อยู่แล้ว" / "เมื่อคนไม่มีความรู้ไปพูดมั่ว ๆ เรื่องรถไฟ" / "ก่อนมีความเห็นควรมีความรู้ก่อน"

ส่วนเจ้าตัว เมื่อถูกชาวเน็ตท้วงติง ก็ออกมาโพสต์ตอบว่า... "เข้าใจครับและขอบคุณสำหรับความรู้ที่ให้ทุกท่านทราบในที่นี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ผู้บริหารผมไม่ขอพูดอะไรต่อครับ"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top