Friday, 10 May 2024
ยิ่งลักษณ์ชินวัตร

'ถวิล' ยื่นเรื่องถึงอัยการสูงสุดให้อุทธรณ์ ฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีโยกย้ายไม่เป็นธรรม

(23 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายถวิล เปลี่ยนศรี สว.อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ทำจดหมายด่วนที่สุดถึงอัยการสูงสุด ลงวันที่ 23 ม.ค. เพื่อขอให้อัยการสูงสุด ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในฐานะจำเลย ในการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อ 26 ธ.ค. 2666

โดยระบุถ้อยคำในจดหมายว่า ตนในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาที่ได้ยกฟ้อง ทั้งที่พยานหลักฐานที่อัยการนำเข้าสืบต่อศาลนั้นมีความชัดเจนว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดจริง รวมถึงตนเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ กระทำความผิดตามฟ้อง

“ข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์ให้ อัยการสูงสุด ฐานะโจทก์ ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าว ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่หากท่านไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันเวลา ก็ขอให้ท่านยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปเพื่อยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย ในอันที่จะให้คดีที่อ้างถึงข้างต้นถึงที่สุดตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป” นายถวิล ระบุ

‘สว.สมชาย‘ หนุน ‘ปู’ กลับสู่ ‘ไทย-กระบวนการยุติธรรม’ แต่อย่าทำซ้ำรอย ‘พี่ชาย’ ไม่เช่นนั้น เกิดวิกฤติศรัทธาแน่

(5 มี.ค. 67) ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจจะได้กลับประเทศ ตามรอยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ปัญหาคือน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีที่ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ประเด็นคือจะใช้เกณฑ์ไหน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนเห็นด้วยกับนักโทษที่หลบหนีคดีแล้วศาลตัดสิน โดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองทึ่เกี่ยวกับคดีทุจริต เมื่อจะกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินแล้ว ก็กลับมาได้ 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นคนไทย ก็สามารถกลับเข้าประเทศได้ตลอดเวลา เพียงแต่เมื่อกลับเข้ามาแล้ว ก็ต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ก็ต้องรับโทษ เว้นแต่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งตนคิดว่าเกณฑ์เรื่องการพักโทษ ก็ยังมีข้อสงสัยและข้อครหา ที่กำลังตรวจสอบกันอยู่ เกี่ยวกับการพักโทษของนายทักษิณ ว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ 

นายสมชาย กล่าวอีกว่า เกณฑ์อายุ 70 ปีนั้น นายทักษิณเข้าเกณฑ์แน่นอน แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ อายุยังไม่ถึง 60 ปีเลย และการพักโทษก็ต้องรวมถึงการเป็นโรคเรื้อรังที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วย ซึ่งจะมีข้อคำถามว่า การประเมินนั้น จะอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ หากดูจากการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่นอกประเทศ ก็ยังแข็งแรงอยู่ เหมือนกับนายทักษิณชกมวยอยู่นอกประเทศ

“วันก่อนยังเห็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ไปชิมอาหารอยู่สิงคโปร์ ยังร่าเริงอยู่ ก็ยังถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขการขอพักโทษ ดังนั้น หากน.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับประเทศ ก็ต้องทำใจไว้ในการเข้ารับโทษในเรือนจำ ผมคิดว่าคนไทยเห็นแล้วว่า กระบวนการท้ายน้ำของระบบยุติธรรมของกรมราชทัณฑ์มีปัญหา เพราะฉะนั้น ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าประเทศมาแล้วไม่รับกระบวนการยุติธรรมแต่ทำซ้ำไปอยู่ชั้น 14 โดยอ้างว่าป่วย เพื่อที่จะพักโทษอีก ผมคิดว่าวิกฤติศรัทธา กระบวนการยุติธรรมจะเยอะขึ้น” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ตนสนับสนุนให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับประเทศ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนเมื่อเข้าเรือนจำแล้ว จะทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อลดโทษ หรืออะไรก็ตาม จะเข้าเรือนจำแล้วอยู่กี่เดือนกี่วัน เลื่อนจากนักโทษชั้นกลาง เป็นชั้นดี ชั้นเยี่ยม ชั้นดีเยี่ยม แล้วได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในปีถัดๆ ไป ตนคิดว่า ก็เหมือนนักโทษทั่วๆ ไปกว่า 210,000 คน ที่ยังค้างอยู่ในเรือนจำ คิดว่าสังคมรับได้ แต่ถ้ามาวิธีพิเศษเหาะเหินเดินอากาศ เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมก็จะวิกฤตซ้ำ 

เมื่อถามว่าเมื่ออ่านเกมแล้ว คิดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับประเทศหรือไม่นั้น นายสมชาย กล่าวว่า ไม่รู้ แต่มีคนพยายามจะสร้างเงื่อนไขศรีธนญชัยทางกฎหมาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อกฎหมาย ปัญหาอยู่ที่เราเลือกใช้ วิธีลอดช่องกฎหมาย ซึ่งวันหน้าคนที่เอื้ออำนวยน่าจะได้รับผลทางกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค สว. ได้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ เพราะฉะนั้น ตนคิดว่าเรื่องนี้ จะมีผลในวันหน้าต่อการประพฤติปฏิบัติมิชอบของฝ่ายข้าราชการ ซึ่งจะเป็นบทเรียนให้กับข้าราชการ เพราะคนที่ได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในอนาคตหากกลับประเทศ เขาคงไม่มารับผิดชอบต่อข้าราชการประจำ ดังนั้น ข้าราชการประจำก็ต้องรับไป

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างคดีของนายวรยุทธ หรือบอส กระทิงแดง ผ่านมา 10 ปีแล้ว ก็ยังดำเนินการฟ้องผู้เกี่ยวข้องที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นการให้ความช่วยเหลือกับนายทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อให้ข้าราชการเกษียณอายุไปแล้ว ก็หนีอาญาแผ่นดินไม่ได้ ถ้ามีข้อมูลเพียงพอที่จะชี้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เวชระเบียน หรือไทม์ไลน์ต่างๆ ข้อเท็จจริงปรากฏไม่เปลี่ยน 

“คนที่คิดว่าลอดช่องกฎหมายได้ ติดคุกมานักต่อนักแล้ว มีคดีที่ข้าราชการติดคุกแทนนักการเมืองก็มาก เห็นชัดเจนคือกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวกับคดีจำนำข้าว ทั้งข้าราชการ กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต ใครอยากได้ตำแหน่ง แล้วไปอาสาทำ ก็ต้องรับความชอบในวันนี้ และความผิดในวันหน้า ซึ่งจะเป็นบทเรียนของการบิดเบี้ยวกฎหมาย“ นายสมชาย กล่าว 

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 'ศาล รธน.' วินิจฉัย ‘ยิ่งลักษณ์’ พ้นเก้าอี้นายกฯ หลังมีส่วนเกี่ยวข้องปมย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ได้พ้นจากเก้าอี้รักษาการนายกฯ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ขัดรัฐธรรมนูญ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ พร้อมกับ 9 รัฐมนตรี ที่ร่วมลงมติเห็นชอบให้ย้ายนาย ถวิล เปลี่ยนศรี  

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาในขณะนั้น ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาแล้วเห็นว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเร่งรีบอย่างผิดสังเกต ซึ่งไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการปกติ ถือเป็นการกระทำที่รวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการที่ย้าย นายถวิล เลขาธิการ สมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างลง เพื่อโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง เพื่อย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ และเป็นเครือญาติของนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน

ดังนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง รวมถึงรัฐมนตรีในขณะนั้นจำนวน 9 คนที่ร่วมมีมติดังกล่าวก็ให้พ้นตำแหน่ง ถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการด้วย

หลังจากนั้นอีก 15 วันต่อมา (วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) ทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ จึงได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top