Sunday, 2 June 2024
มรดกโลก

‘เศรษฐา’ ปลื้ม!! ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ขึ้นแท่นมรดกโลก ชี้!! เป็นสมบัติล้ำค่า หวังใช้ต้อนรับ นทท. เยือนไทย

(19 ก.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวแสดงความยินดีภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 45 มีมติให้ขึ้นทะเบียนแหล่งเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกว่า ประธานคณะกรรมการมรดกโลก สมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยทุกคน ตนขอขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลกและองค์กรที่ปรึกษาอย่างยิ่งที่เล็งเห็นคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของเมืองโบราณศรีเทพ และมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในวันนี้ ซึ่งเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกัน สามารถกำหนดอายุได้ก่อนประวัติศาสตร์ 

นายเศรษฐา กล่าวว่า นอกจากจะเป็นเมืองเก่าแก่ที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสมัยทวารวดีแล้ว ยังมีลักษณะโดดเด่นกว่าเมืองในยุคเดียวกัน มีศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ได้รับการยอมรับ ในชื่อศิลปะสกุลช่างศรีเทพ การขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและปกป้องสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ และเป็นสมบัติอันล้ำค่า ไม่เพียงแต่ต่อคนทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป 

ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านให้เยี่ยมเยือนแหล่งมรดกโลกเมืองศรีเทพ รวมทั้งประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์ และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศร่วมกับประชาชนชาวไทย

'ดร.เสรี' เปิดไทม์ไลน์ 'เมืองโบราณศรีเทพ' หลังได้ขึ้นบัญชีมรดกโลก ถูกเสนอไว้ตั้งแต่ปี 62 ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลประยุทธ์

(20 ก.ย.66) ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร ได้เผยถึงจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เมืองโบราณศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก ไว้ว่า...

เกี่ยวกับ 'เมืองโบราณศรีเทพ' มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย อยากให้พวกเราได้ข้อมูลที่ถูกต้องนะคะ

รัฐบาลไทย (รัฐบาลลุงตู่) ได้เสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกในอนาคต เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562

หลังจากนั้น ได้ทำข้อมูลที่สมบูรณ์ส่งให้คณะกรรมการของ UNESCO เมื่อ 28 กุมภา 2565

คณะกรรมการมาตรวจสอบ กันยายน 2565 เพื่อพิจารณาพื้นที่และองค์ประกอบว่าสอดคล้องกับเอกสารหรือไม่ มีคุณค่าสำหรับชาวโลกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด สมควรที่ชาวโลกจะช่วยกันอนุรักษ์หรือไม่

หลังจากนั้น มาถึงวันนี้ การทำงานของรัฐบาลลุงตู่ก็ประสบความสำเร็จ นั่นคือ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) 

>> ผลงานของลุงตู่ ได้รับการประกาศความสำเร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 (ในสมัยของรัฐบาลเศรษฐา)

จึงเรียนให้ทุกคนทราบนะคะ ว่ากว่าเมืองโบราณศรีเทพจะได้เป็นแหล่งมรดกโลกใช้เวลา 4 ปีกว่านะคะ ไม่ใช่ 2 เดือนนะคะ

งานนี้เริ่มสมัยลุงตู่ เป็นผลงานของรัฐบาลลุงตู่นะคะ FYI สำหรับคนไทยทุกคนที่ดีใจกับการที่ประเทศไทยมีแหล่งมรดกเพิ่มอีก 1 แหล่งนะคะ

ถอดสูตรอิฐยุคก่อนประวัติศาสตร์ จาก ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ พบ!! มีความล้ำลึก ยากเลียนแบบ และหาสิ่งใดทดแทน

(21 ก.ย. 66) นับเป็นอีกความภาคภูมิใจสำหรับชาวไทยเมื่อ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ซึ่งก่อนมีการประกาศข่าวดีนี้ นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมศึกษาก้อนอิฐโบราณเพื่อผลิตอิฐสูตรโบราณสำหรับการบูรณะโบราณสถาน

ดร.วุฒิไกร บุษยาพร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศษสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “เมืองโบราณศรีเทพมีจุดเด่นที่มีความคาบเกี่ยวระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อประมาณเดือน มี.ค.66 คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ พร้อมด้วยนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยศิลปากร และหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งขุดสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และได้พบปัญหาในบูรณะโบราณสถานที่เพิ่งขึ้นทะเบียนมรดกโลกนี้”

“อิฐโบราณศรีเทพเหมือนอิฐโบราณทั่วไป คือเป็นอิฐดินเผาผสมแกลบ แต่ในการบูรณะเราใช้อิฐยุคปัจจุบันไปใช้ ซึ่งพบว่า ก่อปัญหาต่อโบราณสถาน เนื่องจากมีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นยาแนว และปูนซีเมนต์นี้ไปขวางเส้นทางการระบายความร้อนและความชื้น จึงเก็บความชื้นไว้ทำให้วัตถุที่นำไปซ่อมแซมเกิดการผุกร่อน ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลให้อิฐของเก่าในโบราณสถานเสียหายไปด้วย ขณะที่อิฐโบราณจะใช้ยาแนวที่มีส่วนผสมของปูนหมักและดินสอพอง ซึ่งมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นได้ดี แต่เรายังไม่พบสูตรการผลิตอิฐโบราณและยาแนวโบราณของเมืองโบราณศรีเทพ” ดร.วุฒิไกร ระบุ

ทั้งนี้ ดร.วุฒิไกร และทีมวิจัยวางแผนในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์อิฐโบราณ และจะเริ่มศึกษาอิฐของเจดีย์รายที่อยู่ถัดจาก ‘เขาคลังนอก’ โบราณสถานขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์รายที่รอบๆ และอยู่ในมีทิศที่ชี้ตรงไปเขาถมอรัตน์ โดยจะถอดสูตรอิฐโบราณเพื่อผลิตขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และมีสมบัติในการส่งผ่านความร้อนและความชื้นที่ใกล้เคียงของเดิมหรือดีกว่าเดิม ตั้งเป้าใช้ดินเหนียวด่านเกวียนของ จ.นครราชสีมา สำหรับผลิตอิฐสูตรโบราณ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชนด่านเกวียนด้วย

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ แน่น!! นทท.ปักหลักตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด แห่ชมความยิ่งใหญ่อลังการสมเป็น ‘มรดกโลก’ ทางวัฒนธรรม

(23 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และเขาคลังนอก แหล่งโบราณคดีสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีนักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนชาวเพชรบูรณ์พาครอบครัว แห่ไปเที่ยวชมและสัมผัสกับโบราณสถานที่มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 1,000 ปี กันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะรถรางนักท่องเที่ยวถึงกับต่อแถวรอคิวใช้บริการยาว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างงัดมือถือขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปเซลฟี่คู่โบราณสถาน เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ทางยูเนสโกประกาศให้เมืองศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ กล่าวว่า เมื่อเช้านี้หลังจากได้รับรายงานว่านักท่องเที่ยวพากันแห่มาเที่ยวชมโบราณสถานที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพหนาแน่น โดยเฉพาะมีรถนักท่องเที่ยวถึงกับไปจอดรอบริเวณทางเข้าก่อนเวลา 08.00 น. หรือก่อนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะเปิดให้เข้าชม จึงเดินทางไปดูบรรยากาศดังกล่าว พบนักท่องเที่ยวมากันค่อนข้างหนาแน่น

“ในขณะที่ทางอุทยานเปิดให้เข้าชมฟรี โดยนักท่องเที่ยวดูให้ความสนใจเรื่องราวของเมืองโบราณศรีเทพมาก โดยเฉพาะโบราณสถานหลักๆ อาทิ ปรางค์ศรีเทพ, ปรางค์สองพี่น้อง, เขาคลังใน และรูปปั้นคนแคระที่บริเวณส่วนฐาน ซึ่งสังเกตว่านักท่องเที่ยวจะพากันถ่ายรูปเซลฟี่กันถ้วนหน้า”

นายวีระวัฒน์กล่าวว่า ส่วนที่เขาคลังนอกมีท่องเที่ยวหนาตาเช่นเดียวกัน โดยบรรยากาศไม่แตกต่างมากนัก แต่นักท่องเที่ยวยังไม่มากเท่าภายในอุทยานฯ ศรีเทพ อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงบ่ายนักท่องเที่ยวน่าจะเข้าไปชมเขาคลังนอกกันมากขึ้น

ในขณะที่นักท่องเที่ยวสาวจาก กทม.รายหนึ่ง กล่าวว่า เพราะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงวางโปรแกรมพาครอบครัวมาเที่ยวที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะตั้งใจมาชื่นชมเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลก โดยเข้าชมโบราณสถานของเมืองศรีเทพ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก่อน จากนั้นจะเดินทางไปชมเขาคลังนอก แล้วค่อยเดินทางไปที่เขาค้อและพักค้างคืน

“ยอมรับว่าโบราณสถานเมืองศรีเทพน่าตื่นตาตื่นใจและยิ่งใหญ่สมกับเป็นมรดกโลกมาก ในฐานะคนไทย ภาคภูมิใจที่ประเทศเรามีแหล่งโบราณคดีที่มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 1,000 ปี โดยเฉพาะได้รับการยอมรับจากสังคมโลกอีกด้วย” นักท่องเที่ยวรายนี้กล่าว

'กรมศิลป์' ชวน!! นทท. ชม 'วัดไชยฯ' ยามค่ำคืน จัดเต็มแสง-สี-ไฟประดับ เริ่ม!! '13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66'

กรมศิลป์ จัดงาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลกในยามค่ำคืน ผ่านแสง สี ไฟประดับ ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ยังชวนนักท่องเที่ยวร่วมแต่งชุดไทยภายในงานดังกล่าวอีกด้วย

งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยฯ’ จะมีการโชว์แสง สี ไฟประดับ ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ถึง 21.00 น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-242286 ต่อ 101

สำหรับ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด

ภายในวัดมี ‘พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ’ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม โดยมีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

นอกจากนี้วัดไชยวัฒนารามยังมี มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

การประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย  เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ได้สร้างความปลื้มปีติยินดีแก่คนไทยทั้งประเทศ 

โดยความภาคภูมิใจนี้ เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ที่เล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าของเมืองโบราณศรีเทพ จึงได้เสนอขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 

โดยขอขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่อง จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่…

>> เมืองโบราณศรีเทพ
>> โบราณสถานเขาคลังนอก
>> โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้จัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลก หรือ UNESCO 

หลังจากนั้น สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อพิจารณาพื้นที่และองค์ประกอบว่าสอดคล้องกับเอกสารหรือไม่ มีคุณค่าสำหรับชาวโลก มากน้อยเพียงใด และสมควรที่ชาวโลกจะช่วยกันอนุรักษ์หรือไม่ เมื่อเดือนกันยายน 2565

จากความพยายามเมื่อปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน ผลของการทำงานตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ ก็ประสบความสำเร็จ UNESCO ได้ขึ้นทะเบียน ‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ’ เป็นแหล่งมรดกโลกภายใต้ชื่อ ‘เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง’ (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) นับว่าเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 4 ของประเทศไทย

ระยะเวลากว่าที่ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ จะได้รับเลือกเป็น ‘มรดกโลก’ ต้องผ่านห้วงเวลายาวนานถึง 4 ปี

สำหรับประวัติของเมืองโบราณศรีเทพ ก็ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2447 หรือประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา ‘สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า โดยแต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า ‘เมืองอภัยสาลี’ ต่อมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า ‘เมืองท่าโรง’ และ ‘เมืองศรีเทพ’ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้ น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า ‘เมืองศรีเทพ’

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์และพัฒนา จนกระทั่งจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งตลอดเวลาดังกล่าว ได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อีกด้วย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี

ก็หวังว่าจะได้ยินข่าวดีอีกครั้งในเร็ววัน!!

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘วธ.’ ลุ้น!! ‘ภูพระบาท’ เตรียมเข้าสู่วาระบอร์ดมรดกโลกกลางปีนี้ หวัง ‘ยูเนสโก’ ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อเร็วๆ นี้ รับทราบความคืบหน้าการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย ซึ่งได้รับการบรรจุชื่อในบัญชีชั่วคราว (Tentative List) ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยแหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี หลังจากที่กรมศิลปากรจัดส่งเอกสารนำเสนอขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกฉบับสมบูรณ์ ไปยังศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสแล้ว อาจเข้าสู่การพิจารณาในวาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ในช่วงกลางปี 2567

รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวต่อว่า ส่วนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ได้รับการบรรจุชื่อในบัญชีชั่วคราวของยูเนสโก ได้แก่ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช, พระธาตุพนม จ.นครพนม และแหล่งอนุสรณ์สถาน แหล่งและภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ศูนย์กลางล้านนา จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอยู่ในบัญชีเบื้องต้นมากว่า 6-10 ปี ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีข้อแนะนำให้ทั้ง 3 จังหวัดปรับปรุงเนื้อหาของเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน

เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาจจะมีข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่ในบัญชีชั่วคราว ของยูเนสโก หากแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมใดปรับปรุงเอกสารแล้วเสร็จสมบูรณ์ และผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการแล้ว ก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทันที

“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรายงานจากกรมศิลปากร ภายหลัง ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะต้องส่งรายงานการดำเนินงานของเมืองโบราณศรีเทพเสนอต่อยูเนสโก ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง’ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม รวม 4 แห่ง ได้แก่ นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวารศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์” นายเสริมศักดิ์กล่าว

‘ครม.’ ไฟเขียว!! ดัน ‘ชุดไทย-มวยไทย’ เข้าคิวยูเนสโก ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

(26 มี.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม รมว.วธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงวัฒนธรรมในการเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย 2 รายการ คือ ชุดไทย และ มวยไทย

โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอเอกสารข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่งให้ทางสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ของประเทศไทย (Thai National Commission for UNESCO) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งเอกสารให้ยูเนสโก ให้ทันภายในวันที่ 31 มี.ค.67 นี้

เพื่อเข้าสู่ลำดับการพิจารณาต่อจากรายการ ‘ต้มยำกุ้ง’ และ ‘เคบาย่า’ (มรดกร่วม 5 ประเทศ ไทย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ที่ยูเนสโก บรรจุเข้าวาระที่ประชุมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ครั้งที่ 19 ระหว่าง 2-7 ธ.ค.67 ณ สาธารณรัฐปารากวัย และต่อด้วยรายการ ‘ผ้าขาวม้า’ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 แล้ว

นายเสริมศักดิ์ เปิดเผยถึง ความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ ดังนี้ รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่ง และการห่ม มากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าให้คนรุ่นหลัง ได้รับรู้และสืบทอด ในปีพุทธศักราช 2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ

ส่วนของสุภาพบุรุษ มี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าอีกด้วย

รมว.วธ. กล่าวต่อว่า ในส่วน ‘มวยไทย’ (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน ‘จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม’ ซึ่งบันทึก โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère)

มวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์ และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทย มีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรณคดี

รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่าง ๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครู และการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง ปัจจุบัน มวยไทย เป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ด้าน นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ ชุดไทย และ มวยไทย นี้ เป็นการนำเสนอยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภทบัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)

ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย 

1.รายการที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003

2.การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้จะส่งเสริมความประจักษ์ และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ 

3.มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม

4.รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และ 5.เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิกตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดองค์รู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งระดับจังหวัด ระดับชาติ และมนุษยชาติ ได้ในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.culture.go.th หัวข้อ องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาฯ ICH และติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @วัฒนธรรม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top