Thursday, 3 July 2025
ภัยคุกคาม

จีนพบยานบินลึกลับโผล่เหนือน่านฟ้า ด้านกองทัพพร้อมสอย ไม่ต้องรออ้างอิงสัญชาติ

สื่อจีนได้รายงานว่า พบยานบินปริศนาโผล่เหนือน่านฟ้าจีน บริเวณทะเลปั๋วไห่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือชายฝั่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หนึ่งในท่าเรือขนส่งที่คับคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

หน่วยนาวิกโยธินแห่งนครชิงเต่ารายงานว่าพบยานบินปริศนาไม่ทราบสัญชาติ ลอยอยู่บนฟ้าใกล้เขตสนามบินนานาชาติรื่อจ้าว ในขณะที่กำลังทำการซ้อมรบในบริเวณช่องแคบปั๋วไห่ ที่เชื่อมต่อกับทะเลเหลือง เมื่อวันอาทิตย์ (12 ก.พ. 66) ที่ผ่านมา ด้านฝ่ายกองทัพจีนแถลงว่า พร้อมที่จะส่งเครื่องบินขับไล่ ทำลายยานบินปริศนาลำดังกล่าว ให้ตกลงที่กลางทะเลปั๋วไห่แล้ว 

โดยได้ประกาศแจ้งเตือนชาวประมงที่อยู่ในน่านน้ำทะเลปั๋วไห่ ไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่พบยานบินปริศนาลำนี้ จนกว่าจะมีการยืนยันว่าได้ทำลายยานบินลำดังกล่าวไปแล้ว และหากมีเรือประมงลำใดพบเศษซากของวัตถุปริศนาที่ตกสู่ทะเลนี้ ขอให้ถ่ายภาพ และคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะขอความร่วมมือช่วยกู้ซากนำส่งให้กับทางการจีนต่อไป

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยคุกคามที่เรียกว่า “Slut Shaming” สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญของบุคคลในการแสดงออก แต่ผู้นั้นจะต้องกระทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่ไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งหากปราศจากขอบเขตย่อมเกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือประเทศชาติ

Slut Shaming หรือการประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศ หรือจัดการกับร่างกายตนเองต่างจากที่สังคมส่วนใหญ่คาดหวัง ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการประณาม และตัดสินบุคคลอื่น โดยบางครั้งบุคคลที่ประณามก็เป็นผู้หญิงด้วยกันเอง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการมองผู้หญิงที่แสดงออกถึงอารมณ์ทางเพศว่าเป็นบุคคลที่ไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทางเพศก็ถือเป็นเรื่องปกติ หรือกรณีมองว่าหญิงที่แต่งกายไม่มิดชิด ไม่เรียบร้อย เป็นบุคคลที่ไม่ดี ซึ่งความคิดดังกล่าวอาจนำไปสู่ Victim Blaming หรือการโทษหญิงซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าตนเองเป็นต้นเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ประกอบกับที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีเน็ตไอดอล หรือนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียง ถูกสังคมแสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ” หรือความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าวในส่วนของการเผยแพร่ภาพ หรือคลิปในสื่อสังคมออนไลน์ พนักงานสอบสวน บก.สอท.1 ได้รับคำร้องทุกข์ และสอบสวนปากคำผู้เสียหายไว้แล้ว ทางคดียังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยังต้องรอผลการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของกลางที่สามารถทำการตรวจยึดได้ รวมถึงการพิสูจน์ว่าผู้ใดเป็นผู้เผยแพร่ภาพ หรือคลิปดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหากพบการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ และเผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกฯ ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4), 14(5) อย่างไรก็ตามการ Slut Shaming หรือการประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศแล้ว ยังมีรูปแบบของการประณาม และการตัดสินบุคคลอื่นที่น่าสนใจอีก อาทิ Body Shaming หรือการประณาม วิจารณ์ รูปร่างหน้าตาของบุคคลอื่น Rich Shaming หรือการเสียดสี ประชดประชันบุคคลที่ร่ำรวย หรือการที่ให้ความใส่ใจกับการใช้จ่ายเงินของคนอื่นมากเป็นพิเศษ Toxic Masculinity หรือแนวคิดความเป็นชาย ซึ่งการกระทำ หรือพฤติกรรมที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ควรถูกด้อยค่า ถูกประณาม ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามทั้งนั้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อบุคคลที่ถูกกระทำ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนอาจพัฒนากลายเป็นโรคทางด้านจิตเวชแล้ว ยังอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญาอีกด้วย

‘สหรัฐฯ’ ขายอุปกรณ์หนุน ‘ระบบสารสนเทศเชิงยุทธวิธี’ ให้ไต้หวัน มูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมความมั่นคง-รับมือภัยคุกคาม 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติจำหน่ายอุปกรณ์สนับสนุนระบบสารสนเทศเชิงยุทธวิธี (tactical information systems) มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวัน นับเป็นความช่วยเหลือด้านการป้องกันตนเอง ล่าสุดที่อเมริกามอบให้กับไทเป ตามข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

สหรัฐฯ มีข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องสนับสนุนให้ไต้หวันสามารถป้องกันตนเอง ซึ่งการขายอาวุธให้ไทเปในลักษณะนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ที่ยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน

สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา (Defense Security Cooperation Agency – DSCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเพนตากอน ระบุว่า การจำหน่ายเครื่องมือในครั้งนี้ก็เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพด้านการบัญชาการ ควบคุม สื่อสาร และคอมพิวเตอร์ หรือ C4 ของไต้หวันตามวงรอบอายุการใช้งาน

การสนับสนุนนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพของไต้หวัน ‘ในการรับมือภัยคุกคามทั้งปัจจุบันและอนาคต ด้วยการเสริมความพร้อมด้านการปฏิบัติการ’ และคงไว้ซึ่งศักยภาพ C4 ที่ช่วยให้การส่งข้อมูลทางยุทธวิธีเป็นไปอย่างปลอดภัย

ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จะช่วยให้ไทเปสามารถคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของระบบบัญชาการและการควบคุมร่วม และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในสนามรบ

“ปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนที่เกิดขึ้นรอบเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเรา” กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลง พร้อมกล่าวขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือ และเชื่อว่าการจำหน่ายยุทธภัณฑ์รอบนี้จะมีผลเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน

ด้านทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันระบุว่า ข้อตกลงขายอาวุธซึ่งถือเป็นครั้งที่ 12 แล้วภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นั้นให้ความสำคัญยิ่งกับการสนับสนุนศักยภาพในการป้องกันตนเองของไต้หวัน

รัฐบาลไทเปยืนยันว่า อนาคตของไต้หวันต้องให้ชาวไต้หวันเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งไต้หวันก็กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีในวันที่ 13 ม.ค. ปีหน้า ในความเคลื่อนไหวที่หลายฝ่ายจับตามองว่าน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่

ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความกลัวในอดีต คือเหตุผล ทำไมรัสเซียต้องการเขตกันชน

“Russia is never as strong as she looks; Russia is never as weak as she looks.” เป็นประโยคคลาสสิกของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลรัฐบุรุษและอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่สะท้อนความซับซ้อนของรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง โดยเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลพยายามบอกว่าภาพลักษณ์ของรัสเซียในสายตาชาวโลกนั้นมักจะ “หลอกตา” เสมอ ภายนอกรัสเซียอาจดูเข้มแข็ง แข็งกร้าวและทรงอิทธิพล แต่เมื่อเข้าไปดูภายในอาจพบกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคมและโครงสร้างการเมือง ในทางกลับกันรัสเซียอาจดูอ่อนแอหรือไร้อำนาจในบางช่วงเวลาแต่กลับฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็วและใช้อำนาจในแบบที่คาดไม่ถึง ประโยคนี้จึงบ่งบอกว่าการทำความเข้าใจรัสเซียในฐานะรัฐและคู่แข่งในเวทีโลกจำเป็นต้องมองลึกไปกว่าภาพลักษณ์ภายนอก เพราะความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของรัสเซียอยู่ในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงและซับซ้อน สะท้อนถึงความเป็นรัฐที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ความหวาดระแวงเชิงโครงสร้างและยุทธศาสตร์ที่สร้างสมดุลระหว่างความกลัวและความทะเยอทะยาน

ในสายตาของรัสเซีย “พรมแดน” ไม่ได้เป็นเพียงเส้นแบ่งทางกายภาพระหว่างรัฐหากแต่เป็นแนวปะทะระหว่างอำนาจ ประวัติศาสตร์และความทรงจำเชิงอารยธรรม การที่พรมแดนรัสเซีย–ยูเครนเคยเป็น “พรมแดนภายใน” ของจักรวรรดิโซเวียตยิ่งทำให้การเปลี่ยนสถานะจาก “พรมแดนระหว่างรัฐ” กลายเป็นบาดแผลเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่รัสเซียไม่อาจยอมรับโดยง่าย ความขัดแย้งในยูเครนจึงไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้นแต่เป็นผลสะสมของความตึงเครียดระหว่างแนวคิด “ยูเรเซีย” ของรัสเซียกับการขยายตัวของโลกตะวันตกผ่านนาโต้และอียู การที่ยูเครนเริ่มโน้มเอียงไปทางตะวันตกหลังปี ค.ศ. 2014 ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อ “สนามอิทธิพลเชิงประวัติศาสตร์” ของรัสเซียและอาจนำไปสู่การปรากฏตัวของกองกำลังนาโต้ใกล้พรมแดนตะวันตกของตน พรมแดนยูเครนจึงกลายเป็นพื้นที่ “ไม่เคยนิ่ง” ทั้งทางกายภาพ (ด้วยการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ยึดครอง เช่น ไครเมีย ดอนบาส ฯลฯ) และทางความหมาย (จากพรมแดนแห่งมิตรภาพในอดีตสู่พรมแดนของภัยคุกคามในปัจจุบัน) สิ่งนี้สะท้อนแนวโน้มในประวัติศาสตร์ของรัสเซียที่มักมอง “พรมแดนมั่นคง” ว่าหมายถึง “พรมแดนที่ไกลออกไปจากศัตรู” ไม่ใช่เพียงการป้องกันแต่คือการขยายอิทธิพลไปให้พ้นจากเขตเสี่ยงภัย ในความหมายนี้ เขตกันชน (buffer zone) ที่รัสเซียต้องการจึงไม่ใช่เพียงยุทธวิธีเชิงทหารแต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การนิยามตนเองในโลกหลังสงครามเย็น

ในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียความกลัวไม่ได้เป็นเพียงอารมณ์เชิงปัจเจกหากแต่เป็น “โครงสร้างทางความคิด” (structural fear) ที่ฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกของรัฐ มันคือมรดกของประวัติศาสตร์ การล่มสลายของจักรวรรดิและการถูกรุมล้อมจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง ความกลัวในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์เฉพาะหน้าแต่มาจากประสบการณ์ที่สะสมและกลายเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดนโยบายความมั่นคงของประเทศ นับตั้งแต่ยุคจักรวรรดิรัสเซียรัฐแห่งนี้เผชิญกับภัยจากรอบทิศ ทั้งจากโปแลนด์ ลิทัวเนียในยุคต้น จากฝรั่งเศสในยุคนโปเลียน จากเยอรมนีในสองสงครามโลกและจากสหรัฐและนาโต้ในโลกยุคหลังสงครามเย็น ผลลัพธ์ก็คือแนวโน้มที่จะมองภัยคุกคามเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างและเชื่อว่าการรักษาความมั่นคงต้องไม่พึ่งเพียงการป้องกันแต่ต้อง “สร้างระยะห่าง” ระหว่างศัตรูกับใจกลางอำนาจของตน ความกลัวเชิงโครงสร้างนี้ยังสะท้อนอยู่ในโลกทัศน์ของชนชั้นนำรัสเซียทั้งในคำพูดของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินที่วิจารณ์นาโต้ว่า “หลอกลวง” รัสเซียหลังการล่มสลายของโซเวียตไปจนถึงแนวคิดของนักคิดสายยูเรเซียน เช่น อเล็กซานเดอร์ ดูกิน และเซอร์เกย์ คารากานอฟที่เชื่อว่าโลกตะวันตกมุ่งทำลายรัสเซียจากภายใน ทั้งในเชิงวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และภูมิรัฐศาสตร์ “ความกลัวเชิงโครงสร้าง” นี้จึงไม่ใช่เพียงความวิตกจริตหากคือกลไกแห่งรัฐที่ขับเคลื่อนนโยบาย ตั้งแต่การสร้างเขตกันชน การยึดไครเมีย การควบคุมพื้นที่ดอนบาส ไปจนถึงการพยายามทำลายอิทธิพลตะวันตกในยูเครน รัสเซียมองโลกผ่านแว่นแห่งความระแวดระวัง และเชื่อว่าหากไม่รุกก่อนก็จะตกเป็นฝ่ายถูกรุกรานในที่สุด

เขตกันชน (buffer zone) ไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นขีดกันระหว่างกองกำลังแต่คือหมากตัวสำคัญในกระดานภูมิรัฐศาสตร์ที่รัสเซียกำลังจัดวางอย่างแยบยล มันคือ “พื้นที่หมอก” ที่ผสานอำนาจการทหารกับอิทธิพลทางการเมืองให้กลายเป็นอาวุธเชิงพื้นที่ที่ทรงพลัง ในมิติทางยุทธศาสตร์เขตกันชนทำหน้าที่เป็น “แนวสกัดภัยคุกคาม” จากอาวุธปืนใหญ่และโดรนของยูเครนที่โจมตีลึกเข้ามาในดินแดนรัสเซีย การสร้างแนวกันชนลึกเข้าไปในภูมิภาคซูมีหรือคาร์คิฟไม่ใช่เพียงเพื่อ “หยุดกระสุน” แต่เพื่อ “ขยับแนวสมรภูมิ” ให้ห่างจากหัวใจของรัสเซียทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และจิตวิทยา แต่ในมิติการเมืองเขตกันชนคือเครื่องมือท้าทายอธิปไตยของยูเครนอย่างแยบคาย มันไม่ได้ถูกเรียกว่า “เขตยึดครอง” แต่กลับถูกบรรจุไว้ในกรอบของ “ความมั่นคง” และ “การป้องกันตัวเอง” หากรัสเซียสามารถครอบครองพื้นที่เหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องยึดอย่างเป็นทางการ แต่สามารถควบคุมอิทธิพลและสกัดไม่ให้รัฐบาลยูเครนเข้าไปบริหารได้ มันคือชัยชนะทางการเมืองที่ไม่ต้องใช้คำว่า “ชัยชนะทางทหาร” นี่คือยุทธวิธีของ “ภูมิรัฐศาสตร์เชิงรุก” (offensive geopolitics) ที่รัสเซียใช้เขตกันชนเป็นอาวุธแบบอสมมาตร ไม่ต่างจากการใช้ “พื้นที่เทา” (grey zone) ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นสงครามหรือสันติภาพ เป็นอาณาเขตหรือพื้นที่เป้าหมายของจิตวิทยาการครอบงำ และในเมื่อพื้นที่กันชนสามารถลดแรงกดดันจาก NATO และเปลี่ยนทิศทางของสมรภูมิ มันจึงไม่ใช่แค่ “ระยะห่าง” ทางภูมิศาสตร์แต่คือ “สนามต่อรอง” ทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจ

เขตกันชนไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพียงเพื่อกันกระสุนแต่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อกันอำนาจฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ข้ามเส้น "การควบคุม"ภายใต้สายตาของเครมลินเส้นพรมแดนคือภาพลวงตาหากมันไม่อาจควบคุมได้ด้วยกำลังทหารหรือจิตวิทยา เขตกันชนจึงกลายเป็น “อาณาบริเวณของความเหนือกว่า” มากกว่าแค่ “อาณาบริเวณของความปลอดภัย” ที่นี่คือ “สนามทดสอบความกล้าของยูเครน” และ “เขตปิดล้อมที่บอกกับ NATO ว่า “ถ้ากล้าก็เข้ามา” รัสเซียไม่ได้เพียงแค่ต้องการ “ยืดแนวกันชนออกไป 100 กิโลเมตร” อย่างที่พันเอกอนาโตลี มัตวีชุก (Anatoliy Matviychuk) พันเอกเกษียณอายุและอดีตทหารผ่านศึกของยูเครนเสนอ แต่ต้องการแผ่บารมีลึกเข้าไปในดินแดนศัตรูโดยไม่จำเป็นต้องปักธงยึดครองเพราะอำนาจที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องประกาศตัวมันเพียงแค่การ “แผ่เงา” ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่า “เรากำลังมองอยู่ และเราพร้อมจะบดขยี้ หากคุณเดินพลาด” เขตกันชนในสายตารัสเซียคือการปลูกฝัง “ความกลัวเชิงโครงสร้าง” (structural fear) ลงบนพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ มันคือการขีดเส้นให้ยูเครนรู้ว่าพื้นที่ของคุณอาจยังเป็นของคุณในทางกฎหมายแต่ในทางยุทธศาสตร์ มันเป็น “ของเรา” นี่คือภูมิรัฐศาสตร์เชิงบีบคั้น (coercive geopolitics) ที่เล่นกับ “ระยะห่าง” แต่สร้างผลกระทบเชิง “การครอบงำ” คือการประกาศอย่างเงียบๆ ว่า “รัฐชาติที่ล้อมรัสเซียไว้จะไม่มีวันปลอดภัยหากไม่เลือกอยู่ใต้เงารัสเซีย” ในเชิงทฤษฎีเขตกันชนในบริบทนี้จึงไม่ใช่แค่ ‘defensive depth’ แบบคลาสสิกของ Mackinder หรือแนวคิด Heartland แบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่คือการนำหลักการของ “ภูมิรัฐศาสตร์จิตวิทยา” มาผสานกับทฤษฎีอำนาจเชิงพื้นที่แบบใหม่ที่อเล็กซานเดอร์ ดูกินเรียกว่า “จุดกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์” (geopolitical pressure points) และเยฟเกนี พรีมาคอฟเรียกว่า “บัฟเฟอร์เชิงกลยุทธ์เพื่อเสถียรภาพหลายขั้ว” (strategic buffers for multipolar stability) กล่าวคือเขตกันชนไม่ใช่ “พื้นที่กันภัย” หากแต่เป็น “พื้นที่ขู่เข็ญ” ที่บอกว่ารัสเซียยังมีเขี้ยวเล็บ ไม่ใช่แค่ในสมรภูมิหากแต่ในทุกลมหายใจของภูมิรัฐศาสตร์

พันเอกอนาโตลี มัตวีชุกพันเอกเกษียณอายุและอดีตทหารผ่านศึกของยูเครนได้วิเคราะห์เหตุผลที่รัสเซียต้องการเขตกันชนเอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1) ป้องกันภัยคุกคามจากอาวุธระยะไกลของ NATO
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น การขยายตัวของ NATO เข้ามาใกล้พรมแดนรัสเซียไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่อง “ภูมิรัฐศาสตร์ทั่วไป” หากแต่เป็นการกดทับความมั่นคงแห่งชาติอย่างรุนแรง รัสเซียมองเห็นภัยคุกคามที่แฝงตัวอยู่ในรูปแบบของ “อาวุธระยะไกล” เช่น ขีปนาวุธนำวิถี ระบบป้องกันภัยทางอากาศขั้นสูงและโดรนรบที่สามารถยิงเข้าโจมตีลึกถึงใจกลางรัสเซียได้โดยไม่ต้องส่งทหารเข้ามา พื้นที่ชายแดนกับยูเครนจึงกลายเป็น “แนวหน้าแห่งภัยคุกคาม” ที่รัสเซียต้องปกป้องด้วย “แนวกันชนเชิงยุทธศาสตร์” การมีเขตกันชนที่กว้างขวางกว่าเดิม ไม่ใช่แค่การเพิ่มระยะห่างทางกายภาพจากเป้าหมายที่สำคัญ แต่เป็นการสร้าง “เขตปลอดภัยเชิงยุทธวิธี” ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการโจมตีแบบสายฟ้าแลบ (blitzkrieg) จากอาวุธของ NATO รัสเซียเข้าใจดีว่า อาวุธระยะไกลของ NATO ไม่ใช่แค่ปืนใหญ่ธรรมดาแต่คือ “เครื่องมือทางการเมืองที่มีพลังทำลายสูง” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสมดุลภูมิรัฐศาสตร์ในพริบตา ดังนั้นการสร้างและรักษาเขตกันชนจึงเป็นการลงทุนเพื่อรักษาความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์อย่างถึงที่สุดการขยายแนวกันชนลึกเข้าไปในดินแดนยูเครนจึงไม่ได้เป็นเรื่องแค่ “สงครามพื้นที่” แต่เป็น “สงครามระยะยาวเพื่อการอยู่รอดของรัฐ” รัสเซียไม่อาจยอมรับได้ว่าศัตรูจะนำขีปนาวุธหรือโดรนขั้นสูงมายิงใส่เมืองใหญ่ของตนโดยตรง มันคือ “เส้นตาย” ของความมั่นคงที่ไม่อาจยอมถอย ด้วยเหตุนี้เขตกันชนจึงไม่ใช่แค่พรมแดนที่ขีดเส้นไว้บนแผนที่แต่คือ “เกราะกำบัง” ที่รัสเซียต้องใช้เพื่อป้องกัน “มิติใหม่ของสงคราม” ที่ NATO พยายามสร้างขึ้นในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและยุทธศาสตร์อาวุธไฮเทค พันเอกนาโตลี มัตวีชุก อธิบายว่าการสร้างเขตกันชนลึก 100 กิโลเมตรนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการโจมตีจากอาวุธปืนใหญ่ระยะไกลที่ NATO จัดหาให้ยูเครน ซึ่งสามารถยิงได้ไกลถึง 70 กิโลเมตร การเพิ่มระยะอีก 30 กิโลเมตรเป็นเขตปลอดภัยจะช่วยปกป้องเมืองสำคัญของรัสเซีย เช่น เบลโกรอด คูร์สค์ เบรียนสค์ ไครเมีย ซาโปริชเซีย เคอร์ซอน และดอนบาส

2) ประสบการณ์จากสงครามในอัฟกานิสถาน

สงครามอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นเพียง “บาดแผลทางทหาร” แต่เป็นบทเรียนเลือดและเหล็กที่ฝังลึกในจิตวิญญาณของรัสเซีย (ก่อนหน้านั้นคือสหภาพโซเวียต) มันคือการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของสงครามที่ไม่อาจชนะด้วยกำลังทหารล้วน ๆ และเป็นการตอกย้ำว่า “การปกป้องพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์” ต้องมากกว่าการบุกเข้าไปครอบครอง ในสนามรบอัฟกานิสถานรัสเซียได้เรียนรู้ว่าการบุกทะลวงเข้าลึกในดินแดนที่เป็นเขตกันชนของศัตรู โดยไม่มีการสนับสนุนทางภูมิรัฐศาสตร์และประชากรในพื้นที่จะนำมาซึ่งการขัดแย้งที่ยาวนานและเจ็บปวดไม่มีที่สิ้นสุดเหมือน “สงครามในเขาวงกต” ที่จะกัดกร่อนความเข้มแข็งทางทหารและจิตใจของชาติ บทเรียนนี้ทำให้รัสเซียมีความระแวดระวังมากขึ้นกับการขยายเขตกันชนในยูเครน ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียจะหลีกเลี่ยงการปะทะแต่หมายถึงการพยายามสร้างเขตกันชนที่มี “ความลึกทางยุทธศาสตร์” และ “ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์” ที่มากกว่าแค่การใช้กำลังทางทหารอย่างเดียว สงครามในอัฟกานิสถานสอนให้รัสเซียรู้ว่า“การครอบครองดินแดนโดยไม่มีการสนับสนุนเชิงโครงสร้างและการยอมรับจากประชากรในพื้นที่เป็นเหมือนการแบกรับหายนะที่ยิ่งใหญ่กว่า” ดังนั้นเขตกันชนที่รัสเซียพยายามสร้างขึ้นจึงเป็นมากกว่าพรมแดน มันคือ “แนวป้องกันที่ผสานทั้งกำลังทหาร การเมือง และภูมิปัญญาทางภูมิรัฐศาสตร์” เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักสงครามลัทธิในดินแดนที่ไม่เป็นมิตรและสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำให้ศัตรูไม่สามารถล้ำเส้นเข้ามาง่ายๆประสบการณ์จากอัฟกานิสถานจึงไม่ใช่แค่บทเรียนทางประวัติศาสตร์ แต่คือ “เครื่องเตือนใจ” ที่ทำให้รัสเซียมองเขตกันชนในยูเครนด้วยสายตาที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าเดิมนั่นคือเหตุผลว่าทำไม “เขตกันชน” จึงต้องมีทั้งความยืดหยุ่นทางยุทธศาสตร์ และความเข้มแข็งทางการเมืองควบคู่กันไปอย่างไม่อาจแยกจากกัน โดยเขาเปรียบเทียบแนวคิดนี้กับยุทธศาสตร์ที่สหภาพโซเวียตเคยใช้ในอัฟกานิสถานโดยการสร้างเขตกันชนเพื่อป้องกันการโจมตีจากกลุ่มมูจาฮีดีนซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันในการสร้างระยะห่างจากภัยคุกคาม

3) ควบคุมพื้นที่ชายแดนที่สำคัญ
ในเกมภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย เขตกันชนไม่ได้เป็นแค่แนวรบธรรมดา แต่คือ “เส้นแบ่งชี้ชะตา” ระหว่างความมั่นคงและการถูกล้อมกรอบพื้นที่ชายแดนอย่าง ซูมี เชอร์นีฮิฟ ดนีโปรเปตรอฟสค์ และคาร์คิฟ กลายเป็น “ป้อมปราการยุทธศาสตร์” ที่รัสเซียยอมลงทุนทุกอย่างเพื่อควบคุมและยึดครอง เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียมุ่งเน้นพื้นที่เหล่านี้คือการป้องกัน “การโจมตีจากยูเครน” ที่อาจมุ่งเป้าไปยังเมืองและฐานทัพสำคัญในดินแดนรัสเซียเอง การควบคุมพื้นที่ชายแดนที่กว้างขวางและลึกช่วยให้รัสเซียสามารถตั้ง “แนวป้องกันเชิงลึก” (defense in depth) ซึ่งไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงจากการโจมตีสายฟ้าแลบแต่ยังเปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เขตกันชนยังทำหน้าที่เป็น “ด่านตรวจสอบ” ในการสอดแนมและเก็บข้อมูลการครอบครองพื้นที่ชายแดนสำคัญช่วยให้รัสเซียสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกองกำลังยูเครนและพันธมิตร NATO ได้อย่างใกล้ชิด นี่คือ “ตาข่ายทางข่าวกรอง” ที่ทำให้รัสเซียไม่ถูกจับได้โดยฝ่ายตรงข้าม ในมุมมองภูมิรัฐศาสตร์การควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญยังเป็นการยึด “ทางหลวงยุทธศาสตร์” ที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ เมืองดนีโปรเปตรอฟสค์และคาร์คิฟเป็นศูนย์กลางการขนส่งและอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและกำลังทหาร ดังนั้นการยึดครองพื้นที่เหล่านี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “ป้อมปราการทางทหาร” แต่เป็นการ “ตัดวงจรชีวิต” ของศัตรูในมิติเศรษฐกิจและการสนับสนุนทางการทหารด้วย สรุปง่าย ๆ “การควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญเหล่านี้คือการสร้าง ‘เกราะป้องกัน’ ที่ลึกและแน่นหนาเป็นทั้งด่านหน้าและฐานทัพที่รัสเซียใช้ค้ำยันความมั่นคงและอำนาจในภูมิภาค”

4) จำกัดอำนาจของรัฐบาลเคียฟในพื้นที่
เขตกันชนที่รัสเซียต้องการสร้างขึ้นไม่ได้เป็นเพียงเส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเดียวแต่ยังเป็น “เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อสกัดกั้นและจำกัดอำนาจของรัฐบาลเคียฟโดยตรง ตามบทวิเคราะห์ของพันเอกอนาโตลี มัตวีชุกพื้นที่เหล่านี้จะถูกแยกออกจากการควบคุมโดยรัฐบาลยูเครนอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าในทางปฏิบัติประชาชนยูเครนจะยังคงอาศัยและดำรงชีวิต เช่น การทำเกษตรกรรมหรือกิจกรรมประจำวันอื่น ๆ ความสำคัญอยู่ที่ “อำนาจรัฐ” โดยรัสเซียมุ่งมั่นที่จะตัดขาดความชอบธรรมและการบริหารของเคียฟในเขตนี้ นั่นหมายความว่ารัฐบาลยูเครนจะไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ หรือหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปบริหารจัดการหรือควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ผลที่ตามมาคือการล้างบทบาทของเคียฟในพื้นที่ชายแดนที่รัสเซียตั้งใจจะทำให้กลายเป็น “เขตที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของยูเครน” นี่ไม่ใช่แค่เกมการเมืองธรรมดาแต่เป็น “การตัดวงจรการบริหารและอำนาจ” ของรัฐศัตรู การจำกัดอำนาจเคียฟทำให้ยูเครนสูญเสียการเข้าถึงทรัพยากรและการบริหารจัดการพื้นฐานในพื้นที่สำคัญซึ่งสะท้อนถึงการ “ทำลายความเป็นรัฐ” ในภูมิภาคที่เป็นขอบเขตของความขัดแย้ง แนวทางนี้ยังทำให้รัสเซียสามารถ “ควบคุมทางอ้อม” ผ่านกลุ่มหรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซียในพื้นที่นั้นซึ่งจะช่วยเสริมสร้างอิทธิพลทางการเมืองและความมั่นคงในระยะยาว พร้อมกับบั่นทอนความเป็นเอกภาพของรัฐยูเครน โดยสรุปการจำกัดอำนาจรัฐบาลเคียฟในเขตกันชนคือ “ดาบสองคม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ช่วยรัสเซียสร้างการครอบครองอย่างยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองของยูเครนอย่างลึกซึ้ง โดยที่ยูเครนเองแทบจะไม่สามารถตอบโต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5) ลดความสามารถในการโจมตีของยูเครน
การผลักดันกองทัพยูเครนให้ออกห่างจากชายแดนรัสเซียอย่างน้อย 100 กิโลเมตร ไม่ใช่แค่การ “ถอยร่นเชิงพื้นที่” แต่เป็นการ “ตัดขาดขีดความสามารถทางยุทธศาสตร์” ที่สำคัญของยูเครนอย่างเด็ดขาดโดยเฉพาะในแง่ของการใช้ปืนใหญ่และอาวุธยิงระยะกลางที่ต้องอาศัยระยะยิงใกล้เพื่อทำลายเป้าหมายอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง เมื่อกองกำลังยูเครนถูกบีบให้ถอยห่างออกไป การใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มพื้นที่ชายแดนรัสเซียจะลดลงอย่างมาก การสูญเสีย “ระยะยิงที่ได้เปรียบ” ทำให้รัสเซียมีเวลามากขึ้นในการเตรียมป้องกันและตอบโต้ อีกทั้งยังลดโอกาสที่ยูเครนจะทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ฐานทัพ เส้นทางขนส่ง หรือหมู่บ้านชายแดน แม้ยูเครนจะยังพึ่งพาโดรนสอดแนมและขีปนาวุธระยะไกลเพื่อโจมตีได้ แต่ขีดจำกัดเหล่านี้ยังห่างไกลจากการแทนที่ “การโจมตีระยะใกล้ที่ต่อเนื่องและแม่นยำ” ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์สงครามที่ต้องอาศัยการยิงปืนใหญ่มหาศาลเพื่อเบิกทางหรือกดดันแนวรบฝ่ายตรงข้าม การขยายเขตกันชนจึงเหมือน “การสร้างเขตปลอดภัยเชิงยุทธศาสตร์” ที่ทำให้รัสเซียได้เปรียบอย่างชัดเจนทั้งในแง่การเสริมความมั่นคงและการลดโอกาสการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สรุปได้ว่าการผลักดันยูเครนออกไป 100 กิโลเมตร คือการ “ตัดขาทางยุทธศาสตร์” ของยูเครน ลดความสามารถในการทำลายและบั่นทอนความมั่นคงชายแดนรัสเซียอย่างมีประสิทธิผล

6) ปฏิกิริยาต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากยูเครน
ในวงการการเมืองและสงคราม การประกาศเขตกันชนตามแนวชายแดนรัสเซีย-ยูเครนย่อมก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ร้อนแรง โดยเฉพาะจากฝ่ายยูเครน ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีและรัฐบาลเคียฟคงไม่รั้งรอที่จะตำหนิการดำเนินการนี้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยและเป็นรูปแบบใหม่ของการ “ยึดครอง” ซึ่งแน่นอนว่าเสียงเหล่านี้สะท้อนถึงความสิ้นหวังและความขัดแย้งที่ขยายตัวลุกลาม อย่างไรก็ดีพันเอกอนาโตลี มัตวีชุกชี้ชัดว่ารัสเซียจะไม่หวั่นไหวหรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง เพราะในสายตาของผู้นำมอสโก “ความปลอดภัยของประชาชนรัสเซีย” อยู่เหนือทุกสิ่ง การสร้างเขตกันชนจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การกระทำทางยุทธศาสตร์แต่เป็นพันธกิจที่ไม่อาจถอยหลังได้ เพื่อปกป้อง “ประชากรชาติ” จากภัยคุกคามที่พวกเขาเห็นว่ามีอยู่จริงและใกล้ตัว นี่คือความขัดแย้งของมุมมองที่ลึกซึ้ง ยูเครนมองเป็นการรุกราน ในขณะที่รัสเซียมองเป็น “มาตรการป้องกันสูงสุด” ซึ่งจุดยืนนี้สะท้อนถึงความดื้อรั้นและการไม่ยอมถอยของรัสเซียในสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากยูเครนแม้จะสร้างแรงกดดันทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนทิศทางหรือยุทธศาสตร์ของรัสเซียเพราะสำหรับรัสเซียแล้ว เขตกันชนคือ “เส้นชีวิต” ของความมั่นคงรัฐชาติที่ไม่อาจประนีประนอม

บทสรุป การที่รัสเซียเรียกร้อง “เขตกันชน” ตลอดแนวชายแดนกับยูเครนไม่ใช่เพียงการวางกำลังเพื่อป้องกันการโจมตี แต่เป็นการส่งสัญญาณเชิงยุทธศาสตร์ว่า รัสเซียกำลังวาด "เส้นแดง" ใหม่ในภูมิรัฐศาสตร์ยูเรเชียภายใต้กรอบคิดแบบ “ความกลัวเชิงโครงสร้าง” (structural fear) รัสเซียมองว่าโลกภายนอกโดยเฉพาะ NATO และรัฐบาลเคียฟคือภัยคุกคามที่พร้อมบั่นทอนอธิปไตยและความมั่นคงของรัฐรัสเซียทุกเมื่อ เขตกันชนจึงกลายเป็น “พื้นที่กันกระสุนเชิงอารมณ์” และ “สนามสู้รบทางความคิด” ที่สะท้อนทั้งปมประวัติศาสตร์ ความระแวดระวังและความพยายามควบคุมปริมณฑลความมั่นคงด้วยเงื่อนไขของตนเอง ในมิติเชิงยุทธศาสตร์การผลักดันยูเครนให้ถอยออกจากแนวชายแดนอย่างน้อย 100 กิโลเมตรเท่ากับเป็นการตัดขาดอาวุธหลักของยูเครนอย่างปืนใหญ่และการสอดแนม

ในขณะเดียวกัน เขตกันชนยังทำหน้าที่เป็น “เกราะ” ที่ลดทอนอำนาจการปกครองของรัฐบาลเคียฟในดินแดนของตนเอง กลายเป็น “พื้นที่สีเทา” ที่อยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงทางอำนาจของรัสเซีย และแม้ยูเครนจะกล่าวหาว่านี่คือการ “ยึดครองในคราบความมั่นคง”แต่นักวิเคราะห์สายทหารอย่างพันเอกอนาโตลีย มัตวีชุกยืนยันว่า รัสเซียจะไม่ถอยจากจุดยืนนี้ เพราะนี่คือเรื่องของ “การอยู่รอดของชาติ” ในภาพรวม เขตกันชนไม่ใช่เพียง "แถบพื้นที่ว่าง" ระหว่างสองรัฐแต่เป็น “เส้นแบ่งแห่งความกลัว” ที่ถูกขีดด้วยเลือด ความเชื่อ และการคำนวณทางอำนาจ มันคือตัวแทนของรัสเซียในฐานะรัฐที่ยังไม่ไว้วางใจโลกและยังไม่เลิกล้มภารกิจในการออกแบบระเบียบระหว่างประเทศใหม่ตามแนวคิดของตน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top