Thursday, 6 June 2024
พิมพ์ภัทรา_วิชัยกุล

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ชวนคนไทยสืบสานประเพณีลอยกระทง วอน!! อุดหนุนสินค้ามาตรฐานชุมชน กระตุ้น ศก.ท้องถิ่น

(24 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ร่วมสืบสานประเพณีไทย วอนเลือกใช้กระทงที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าไทย และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย

“กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสินค้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สำหรับบางพื้นที่ที่มีประเพณีการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ก็ขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ด้วย รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 7 ราย ได้แก่ 

1) กลุ่มแม่บ้านเกาะพิมูลพัฒนา 
2) นางสตรีรัตน์ ชูอินทร์ 
3) กลุ่มกระทงแฟนซีจากเปลือกข้าวโพด 
4) นางเตือนคนึง ราชา 
5) วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก 
6) กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ตกหมู่ที่ 1 
7) นางวิรัตน์ ทวนธง 
และมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางชไมพร วงศ์สถาน 

ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าชุมชน เนื่องจากกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มผช. เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ตัวโคมจะใช้วัสดุจากธรรมชาติ ไม่ติดไฟหรือเกิดการลุกไหม้ มีปริมาณเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ และเมื่อตกลงมาสู่พื้นก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้  มีการยึดตัวโคมด้วยวัสดุที่เป็นเชือกทนไฟ หรือลวดที่มีความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหากโคมลอยตกพาดบนสายไฟ อันเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ 

ทั้งนี้ สามารถเลือกซื้อกระทงและโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. ได้ตามรายละเอียดบนเว็บไซต์ สมอ. หรือจะสั่งซื้อทางแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์ต่างๆ ก็ได้

ปัจจุบัน สมอ. ได้กำหนดมาตรฐาน มผช. แล้วทั้งสิ้น 1,670 มาตรฐาน มีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองรวม 11,071 ราย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร 1,347 ราย เครื่องดื่ม 227 ราย ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3,730 ราย สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 693 ราย และของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก 5,074 ราย สามารถดูรายชื่อผู้ที่ได้รับการรับรองได้ที่ https://tcps.tisi.go.th/public/certificatestandard.aspx หากผู้ผลิตชุมชนต้องการขอการรับรองมาตรฐาน มผช. สามารถยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ นายวันชัยฯ กล่าว

'พิมพ์ภัทรา' เผย!! นายกฯ รับ 'นิคมฯ สระแก้ว' เป็นพื้นที่ศักยภาพสูง เหมาะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เล็งหาแนวทางจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้น

(27 พ.ย.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าจังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก และชื่นชมที่ กนอ.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริม พัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูปสินค้าเกษตรรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรสู่อาเซียน 

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว และมีนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้พื้นที่ที่มีศักยภาพนี้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้มากขึ้นตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2562 มีพื้นที่ 660 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว 64 ไร่ มีพื้นที่ขายเช่า 433 ไร่ สามารถขายได้ 26 ไร่ มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนแล้ว 4 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เสื้อผ้า 3 ราย อุตสาหกรรมทำเบาะรถ ชิ้นส่วนยานยนต์ 1 ราย และที่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ อีก 2 ราย โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสระแก้วมุ่งเน้นกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (EIA) จึงไม่อนุญาตให้โรงงานที่มีปล่องมาตั้งในนิคมฯ ได้ ส่งผลให้ประเภทอุตสาหกรรมที่สามารถตั้งได้นั้นมีจำกัด ซึ่ง กนอ. มีแนวคิดที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วต่อไป เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังพบว่าหากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคที่พบคือ ที่ดินราคาค่าเช่าสูง เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้กำหนดค่าเช่า กนอ.จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ โดยล่าสุดทราบว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทางกรมธนารักษ์แล้ว คาดว่าจะทราบผลการหารือได้ในเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้

"ผมเชื่อว่า หากนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้สำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างมาก" ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย

'พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับ 'ฉางอาน' บิ๊กอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ปักธงสร้างฐานผลิตพวงมาลัยขวาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในกิจกรรมการเปิดตัว 'ฉางอาน' ยานยนต์ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ชื่อดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้ค่ายผู้ผลิตชั้นนำมากมายที่ต่างสนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับค่ายผู้ผลิตในประเทศจีน ถือเป็นผู้เล่นที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างมาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ทั่วโลก จนส่งผลให้ตลาดอีวีขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกใช้ยานยนต์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยในเวลานี้นั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่ยังมีอยู่

"ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขนส่ง, การผลิต, ทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ลำดับ 10 ของโลก ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยเกิดการหมุน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นอนาคตของโลก"

ในโอกาสนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวขอบคุณทางผู้บริหารของ 'ฉางอาน' ด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอชื่นชมและขอบคุณการตัดสินใจของคุณจู หัวหรง และคณะ ผู้บริหาร บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล จำกัด ที่ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลงทุน ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 8,860 ล้าน และยังทราบว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับความต้องการในภูมิภาค และส่งไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศใช้รถพวงมาลัยขวา...

"ดิฉันในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ขอกล่าวคำขอบคุณและขอต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย โดยหนึ่งในย่างก้าวสำคัญนี้จากฉางอานจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยก้าวไปสู่หมายเลข 1 ของภูมิภาคในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทะยานสู่เป้าหมายการเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในโลกต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

ส่องผลงาน ‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ ก.อุตสาหกรรม ดึงทุนนอกปักหมุดฐานผลิตในไทย

ประเทศไทยยังเนื้อหอม!!

อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘ภาคอุตสาหกรรมการผลิต’ ยังคงเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และภายใต้การบริหารงานเชิงรุกของ ‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังรับตำแหน่งช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งดึงกลุ่มทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาปักหมุดตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อผลักดันไทยไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นภาพการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตของไทยชัดเจนมากขึ้น เมื่อกลุ่มทุนจากต่างประเทศ ต่างทุ่มเม็ดเงินก้อนโตปักหมุดลงทุนสร้างโรงงานในไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิต จำหน่ายและส่งออก หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นหลาย ๆ อย่าง ไล่เลียงตั้งแต่ มาตรการอุดหนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้กลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยเป็นฮับในการส่งออก โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมไปถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่สนับสนุนการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในประเทศอย่างต่อเนื่อง

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ สั่ง สมอ. คุมเข้มมาตรฐาน ‘คาร์ซีท’ ย้ำ!! เด็กเล็กต้องได้รับการดูแล ขณะโดยสารในรถยนต์

(1 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการควบคุม ‘คาร์ซีท’ หรือ ‘ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก’ เป็นสินค้าควบคุม เมื่อปี 2565 เพื่อให้เด็กเล็กที่ใช้คาร์ซีทได้รับความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์ โดยควบคุมคาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัยก่อน เพราะคาร์ซีทประเภทนี้สามารถใช้กับรถยนต์รุ่นเก่าได้ จะได้ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 

และจากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ควบคุมคาร์ซีทที่ติดตั้งระบบ ISOFIX เพิ่มด้วย เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้งานในปัจจุบัน จะมีตัวใช้ยึดกับคาร์ซีทที่เรียกว่า ISOFIX กันมากขึ้น ตนจึงสั่งการให้ สมอ. เร่งรัดดำเนินการประกาศบังคับใช้มาตรฐานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อควบคุมคาร์ซีททุกแบบทุกประเภทให้มีความปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กในการโดยสารรถยนต์ 

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ‘คาร์ซีท’ หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่ สมอ. ประกาศเป็นสินค้าควบคุมมี 2 ประเภท คือ 

1) คาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย 

2) คาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX ซึ่งจะบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ 

มาตรฐานคาร์ซีทแบบติดตั้งด้วยระบบเข็มขัดนิรภัย จะมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ แบ่งน้ำหนักของเด็กเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

1) น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม 
2) น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม 
3) น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 
4) น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม 
และ 5) น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม 

โดยคาร์ซีทที่ได้มาตรฐานจะต้องผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยด้วยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ โดยการชนด้านหน้าด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. การชนด้านหลังด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่หุ่นเด็กจำลอง เพื่ออ่านค่าความรุนแรงจากการกระแทก และจะรายงานผลออกมาเป็นความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้ สำหรับคาร์ซีทแบบติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX จะแบ่งขนาดคาร์ซีทตามส่วนสูงของเด็ก และเพิ่มการทดสอบการชนด้านข้าง ที่ความเร็ว 24 กม./ชม. ด้วย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าคาร์ซีทที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นแบบ ISOFIX หรือแบบเข็มขัดนิรภัย ก็จะช่วยคุ้มครองลูกหลานของท่านให้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง โดย สมอ. จะเร่งดำเนินการบังคับใช้ให้ได้ภายในปลายปี 2567 ตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ โปรยข่าวดีรับปีใหม่ ครม. อัดฉีดงบ 8 พันล้าน ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย 140,000 ราย ตัดอ้อยสดคุณภาพดี รับเงินเพิ่มตันละ 120 บาท

(4 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดหนองบัวลำภู กรณีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอวาระพิจารณาเรื่องโครงการเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม.สัญจรวันนี้ โดยในการประชุมพิจารณาที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ คือเกษตรกรพี่น้องชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือการเก็บตัดอ้อยสดมีคุณภาพ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยชุดนี้จะมีชาวไร่อ้อยเข้าร่วมประมาณ 140,000 ราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และเป็นผลสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ตัวแทนสมาพันธ์ สมาคมชาวไร่อ้อยที่ได้ประสานงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเห็นตรงกันคือเกษตรกรต้องควบคุมคุณภาพการตัดอ้อยสดมีคุณภาพดีไม่มีการเผาที่ก่อให้เกิด PM2.5 ต้นตอของปัญหาทางอากาศที่เกิดขึ้นในแทบทุกปี เมื่อเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดจะมีการช่วยเหลือวงเงินสนับสนุนตันละ 120 บาท วงเงินส่วนนี้จะกระจายไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อย ราว 8 พันล้านบาท และยังส่งผลต่อการสร้างสมดุลทางกลไกราคาน้ำตาลทราย ปริมาณน้ำตาลในตลาดภายในประเทศ และตลาดส่งออก ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกพื้นที่ ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ที่ได้กรุณาร่วมกันพิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ การสนับสนุนในกรอบที่ได้มีมติจะทำให้ชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถบรรเทาภาระความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในขั้นตอนการควบคุมคุณภาพให้มีการตัดอ้อยสดคุณภาพดี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยรับปีใหม่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว 

‘รมว.ปุ้ย’ เตรียมชง ครม.ตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล’ เชื่อช่วยดัน GDP ภาคอุตฯ 1.2% ราว 5.5 หมื่นล้าน

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ เตรียมเสนอเรื่องเข้า ครม. ก่อตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล’ เชื่อช่วยสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท พร้อมเผยข้อเสนอกลไกการบริหารงานศูนย์ฯ ระยะสั้น 3 เดือน ลั่น!! ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาลขับเคลื่อนวาระและกำกับดูแลอย่างจริงจัง

(6 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลกว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะทำงาน

ส่วนแนวทางการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลนั้น จะมีข้อเสนอกลไกการบริหารงานศูนย์ฯในระยะสั้น 3 เดือน ได้แก่ จะต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนวาระฮาลาล และทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯ

หลังจากนั้นก็จะมีการขยายบทบาทและยกระดับศักยภาพสถาบันอาหารให้เป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการประสานงานเกี่ยวกับอุตฯฮาลาลของประเทศ (National Focal Point) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (Nation Agenda)

รวมถึงจะต้องมีขอยืมตัวข้าราชการ (Secondment) พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงานในศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลที่จัดตั้งขึ้นในระยะทดลอง 1 ปี และต้องขอรับงบอุดหนุนจากสำนักงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนระยะยาวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการ 1 ปีแรกตามตัวชี้วัดของการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อปรับบทบาทตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ เมื่อตั้งคณะทำงานได้เรียบร้อยแล้วคาดว่าเบื้องต้นน่าจะต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 630 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการใช้ในภารกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่

ขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกา จีน เป็นต้น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 550 ล้านบาท แบ่งเป็น…

- เจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้า และบริการฮาลาล 150 ล้านบาท
- สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network)
- ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมการจัดงาน HaLal Expro 2024/กิจกรรมทางการทูต (งาน Thai Night) เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย 300 ล้านบาท
- ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริหารฮาลาลไทยในภารกิจ MICE เช่น ท่องเที่ยว การบิน การประชุม/นิทรรศการนานาชาติ 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน โดยเป็นการยกระดับการผลิตและพัฒนาต้นแบบสินค้าฮาลาล 75 ล้านบาท แบ่งเป็น…

- พัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม 25 ล้านบาท
- พัฒนา/จัดทำ Role Model เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ 50 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่าภายในระยะเวลา 3 ปีจะสามารถทำให้จีดีพี (GDP) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 55,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรม

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สินค้าเป้าหมายในระยะแรกประกอบด้วย เนื้อสัตว์, อาหารทะเล ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-EAT) และอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ, อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (Snack Bar) อีกทั้งยังมีสินค้าประเภทแฟชั่นฮาลาล, เครื่องสำอาง, ยาสมุนไพร และท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเบื้องต้น ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กรมเจาจรการค้าระหว่างประเทศ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมทรัพย์สินทางปัญญา, สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.), สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย, กรมประมง/กรมปศุสัตว์/กรมวิชาการเกษตร, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก/กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สถาบันอาหาร, ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), สถาบันฮาลาล (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และห้องปฏิบัติการกลาง

“ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลมีหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้น จะต้องรวบรวมทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ”

'1.4 แสนชาวไร่อ้อย' เฮ!! ครม.ไฟเขียว จ่ายเงินหนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท ขอบคุณ 'รมว.ปุ้ย' จัดให้ หวัง!! อยากให้มีของขวัญแบบนี้ในทุกๆ ปี

(7 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเงินสนับสนุนตัดอ้อยสด ในโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น pm 2.5 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยชาวไร่อ้อยจะได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท คาดว่า มีชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 140,000 ราย ทั้งนี้ โครงการฯจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวไร่อ้อย และส่งผลต้นทุนการผลิตอ้อยปรับตัวสูงขึ้น 

จากการคาดการณ์ใน ปี 2567-2568 ถึงแม้อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มที่มีการใช้น้ำตาลในการเป็นวัตถุดิบในการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากแต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล กลับต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องต้นทุนการเพาะปลูกที่สูงขึ้นทั้งด้านพลังงาน ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะอ้อยสด ซึ่งส่งผลต่อรายได้สุทธิและการตัดสินใจเพาะปลูกของเกษตรกร

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นปัญหาต่าง ๆ และได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยเริ่มจากการเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น pm 2.5 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังประชุมได้ มีการอนุมัติโครงการดังกล่าว ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภูที่ทราบข่าวรวมตัวกันเดินทางมาที่รอพบรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีกำหนดการมาดูงานที่โรงงานน้ำตาลเอราวัณ 

เมื่อ น.ส.พิมพ์ภัทรา และคณะได้เดินทางมาถึง นาย สมพร สังข์ศิริ ตัวแทนสมาชิกสมาคมชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภู ได้ขอบคุณเป็นภาษาอีสาน ว่า “ผมขอเป็นตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยหนองบัวลำภู และชาวไร่อ้อยไทย ที่ได้รับของขวัญปีใหม่ได้รับเงินสนับสนุนตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท รวม ๆ แล้วได้เงินเป็นหมื่นที่สร้างรายได้ให้ครอบครับ และหวังว่าจะมีของขวัญแบบนี้ให้ทุก ๆ ปี แล้วชาวเกษตรกรชาวไร่อ้อยก็มีของขวัญปีใหม่คือสัญญาที่จะทำการเก็บเกี่ยวเฉพาะอ้อยสดเท่านั้นมอบให้ ครม. ด้วยเช่นกัน”

จากการอนุมัติโครงการดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 140,000 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท อีกทั้งการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด นั้นมีผลดีหลายอย่าง เช่น จะทำให้อ้อยที่เก็บเกี่ยวมีปริมาณมากขึ้นเพราะไม่สูญเสียจากความร้อนของไฟที่เผาไหม้ หรือสารอาหารแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินก็ไม่เสียหาย และที่สำคัญ ยังลดมลพิษ pm 2.5 ในอากาศ เมื่อไม่มีการเผาไหม้ก็เกิดผลดีทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

'รมว.ปุ้ย' เตรียมชง ครม.พิจารณายกร่างฯ ตั้ง 'อกฮช.' ระดมหัวกะทิ 4 กระทรวง ขับเคลื่อนฮาลาลไทยเชื่อมโลก

(13 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้คณะผู้บริการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เข้าพบ โดยมี นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้บริหาร ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยล่าสุดได้จัดทำร่างข้อเสนอกลไกในการบริหารจัดการ 'องค์การอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ' หรือ อกฮช. ซึ่งมีประเด็นสำคัญ อาทิ การเสนอแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย การกำหนดอำนาจหน้าที่ และบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าฮาลาลระหว่างประเทศ ส่งเสริมการผลิตและการขอรับมาตรฐานฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่ของสถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณจัดตั้ง จำนวน 630 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ เตรียมเสนอขอสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมฮาลาลจาก 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 27 อัตรา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะเริ่มต้น 

ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาความเหมาะสมของการจัดตั้งว่าจะเป็นองค์การมหาชน หรือ หน่วยงานระดับกรม ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เป็นผู้ประเมินต่อไป

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจ การให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการขอรับมาตรฐานฮาลาล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการจัดแสดงสินค้าฮาลาลในธุรกิจอาหาร ธุรกิจบริการ และธุรกิจโรงแรม เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

'รมว.ปุ้ย' เผย!! 'ก.อุตฯ' รับลูกนายกฯ ดันนโยบายสอดรับแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ชี้!! จัดเต็มแก้ไขตั้งแต่ต้นตอปัญหา 'โรงงาน-ควันรถยนต์-เผาไร่อ้อย'

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยภายหลังติดตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน เดลินิวส์ ทอล์ก 2023 (Dailynews Talk 2023) พร้อมฟังเสวนา หัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ ในหลากหลายมิติ ว่า…

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตาม นายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมงาน ‘เดลินิวส์ ทอล์ก 2023’ พร้อมฟังเสวนา ในหัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ โดยมีพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเดลินิวส์ จัดขึ้นอย่างอลังการมาก คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เป็นหัวเรือใหญ่ มีประเด็นที่พูดคุยเสวนากันอย่างครบครันที่ล้วนแต่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าอย่างเต็มสูบ เต็มกำลัง

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา อัตราเงินเดือนขั้นต่ำเงินของผู้จบปริญญาตรี เงินดิจิตอล การแก้ไขหนี้นอกระบบ ปัญหาเรื่องพลังงาน ปัญหาสังคมยาเสพติด อาชญากรรม ฝุ่น PM 2.5 โดยนายกเศรษฐาได้ให้คำมั่นไว้ รัฐบาลยึดถือประชาชนเป็นหลัก ทำงานให้เต็มกำลังแก้ปัญหาให้ทุก ๆ ปัญหา

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม เรากำลังนำนโยบายมาแก้ไขซึ่งสอดรับกับเรื่องฝุ่น เป็นนโยบายที่เร่งด่วนลดผลกระทบกับสภาพอากาศ ต้นตอปัญหาที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งแก้ไขจัดการคือ โรงงานอุตสาหกรรมต้นตอการปล่อยฝุ่นควัน ท่อไอเสียยานยนต์ชนิดต่าง ๆ และที่กำลังรอผลประเมินคือการแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อย โดยมีมาตรการที่เข้าไปจัดการแก้ไขคือทั้งในรูปแบบในการสนับสนุนด้วยวงเงินสนับสนุนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลง และการสนับสนุนและการกำกับตามกฎหมาย ยกระดับมาตรฐาน ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

“เหล่านี้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและภาคอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ มีความสุขและความยั่งยืน ตนกำลังนำพากระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าไปหาจุดนั้น เต็มที่ เต็มกำลังแน่นอน” รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top