Monday, 20 May 2024
ผู้พิการ

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.นครนายก และกลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่ เติมกำลังใจ มอบรถเข็นวีลแชร์และอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้

วันที่ 7 มีนาคม 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.นครนายก พร้อมทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ และ รายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ จำนวน 2 ราย ในพื้นที่ ต.พรหมณี อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้ดิฉันในนามประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.นครนายก  ทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ และ รายการร้องทุกข์ลงป้ายนี้ สถานีข่าวไทยพีบีเอส นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้ยากไร้ ประกอบไปด้วย รถเข็นวีลแชร์ 2คันซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มไทยสมายล์ (รถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า) มามอบให้กับ ผู้สูงอายุและผู้พิการ ตามที่ได้รับการประสานจาก นางสาวทิพวรรณ ธงศรี จัดหางานจังหวัดนครนายก จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายสน ฉิมพลี (อายุ 80 ปี) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ที่ 17 และ น.ส.ชัยชนะ บุญมาถึง (อายุ 78 ปี) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 63/2 หมู่ที่ 15 ซึ่งทั้งสองราย เป็นกลุ่มเปราะบาง มีฐานะยากจน และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้ มามอบในครั้งนี้ 

เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน เติมขวัญและกำลังใจ ให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือดังกล่าวมากกว่าบุคคลทั่วไป ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันจัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวย
ความสะดวกเป็นลำดับแรก

รำลึก 'มณเฑียร บุญตัน' ผู้ขับเคลื่อนโอกาสแก่ 'คนพิการ-ผู้คนในสังคม' เปลี่ยนความเวทนา เป็นความศรัทธาว่า "ทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน"

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 67 ทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งข้อความผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำรัฐสภา ว่า 'มณเฑียร บุญตัน' สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน บรรดาผู้คนในภาคสังคมต่างก็ออกมาร่วมไว้อาลัย เสียใจ ถึงการสูญเสียผู้สร้างคุณูปการขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิความเสมอภาคให้กับคนพิการ และผู้คนในสังคมในสังคมไทยมาโดยตลอด

นั่นก็เพราะ อ.มณเฑียร เป็นผู้ที่มีความชัดเจนในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช่เฉพาะการขับเคลื่อนแค่คนพิการ แต่ทุกคนในสังคมก็ต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ อ.มณเฑียร ขับเคลื่อน ผลักดันร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ป้องกัน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในสังคม 

โดย อ.มณเฑียร ได้เข้ามาทำงานร่วมกับภาคประชาชน และกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้นในช่วงหลังมานี้ เพื่อที่ต้องการอยากเห็นกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นกฎหมายกลางให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน 

และที่ผ่านมา อ.มณเฑียร ได้ตั้งกระทู้ถามสดในสภาฯ หลายครั้งเพื่อให้ทุกส่วนได้เข้าใจ และเห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนี้ อ.มณเฑียร ยังมีส่วนช่วยทำงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง ถึงขั้นที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ได้มอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่อง ในฐานะบุคคลที่เป็นผู้เชื่อมสัมพันธไมตรี และทำคุณประโยชน์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น กันเลยทีเดียว (เมื่อ 22 มี.ค.64 ) 

แม้วันนี้ท่านจะจากไป แต่คุณประโยชน์ที่ท่านทำไว้ต่อคนพิการ และผู้คนอื่น ๆ เป็นพลัง ที่มอบวิถีที่จะให้ผู้สานต่อได้ขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ให้กับสังคมภายใต้ปณิธานต่าง ๆ ที่ท่านวางเอาไว้ก็จะได้รับการสานต่ออย่างแน่นอน

ทุกวันนี้ ท่านได้เปลี่ยนความเวทนาคนพิการ เป็นความเชื่อแห่งสังคมเท่าเทียม ซึ่งเป็นความฝันสำคัญที่ท่านมองว่า สังคมควรจะเลิกมองคนพิการในเชิงเวทนานิยม คือ เลิกสงสารและเลิกเวทนาคนพิการ แต่ให้มองคนพิการเป็นคน ๆ หนึ่งที่มีคุณค่าเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งนี่ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรจะต้องสานต่อความคิด ความเชื่อ และร่วมมือกันเพื่อทำให้สังคมมองคนให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

ในหนังสือพิมพ์สกุลไทย ฉบับที่ 2833 วันที่ 3 ก.พ. 2552 ได้เผยแพร่เรื่องราวน่าประทับของ อ.มณเฑียร บุญตัน ส่วนหนึ่งระบุไว้ว่า…

“ผู้ที่เคยได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-mail จาก มณเทียร บุญตัน ย่อมต้อง เคยเห็นคำลงท้ายใต้ชื่อของเขา ซึ่งไม่ใช่คำว่า ‘สมาชิกวุฒิสภา’ หรือ ‘นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย’ แต่เป็น servant of the blind and the poorest ‘ผู้รับใช้คนตาบอดและผู้ยากไร้ที่สุด’ คำนิยามที่เขาใช้อธิบายสถานภาพของตัวเองในฐานะ ‘ผู้รับใช้’ สะท้อนทัศนคติที่น่าสนใจบางประการของสมาชิกวุฒิสภาผู้พิการทางสายตาท่านนี้ อาจจะมากกว่าตำแหน่งอันทรงเกียรติอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือฉายา ‘คนดีศรีสภา’ ในการตั้งฉายาของผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยคำถามที่ว่าชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในฐานะผู้พิการทางสายตา เหตุใดจึงเลือกที่จะเป็น ‘ผู้รับใช้’ สังคมแทนการเป็น ‘ผู้รับ’ จากสังคม? คำตอบของคำถามนี้ มีอยู่ในเรื่องราวทั้งชีวิตของเขา ทั้งภูมิหลัง แรงบันดาลใจ พลังของการเรียนรู้และสร้างสรรค์อันเต็มเปี่ยมอย่างที่โลกอันมืดมิดไม่อาจตีกรอบไว้ได้”

และในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนั้น อ.มณเฑียร ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องอุปสรรคของผู้พิการทางสายตา และการต่อสู้ไว้ว่า…

“ตั้งแต่เด็ก ๆ มาแล้วผมไม่ชอบคำว่า ‘ผู้ใหญ่’ คำว่าผู้ใหญ่เป็นคำที่ผมแสลงหูมากที่สุด จนถึงทุกวันนี้เลยยนะครับ ตอนเด็ก ๆ ผมมักจะถูกขู่ว่าทำไมไม่เชื่อผู้ใหญ่ เวลาจะทำอะไรผู้ใหญ่ต้องมาก่อน เราเป็นเด็กต้องอ่อนน้อม ผมจะเป็นพวกที่...เฮ่ย ฝากไว้ก่อนเถอะ แล้วผมก็เป็นเด็กที่ชอบแกล้งผู้ใหญ่ด้วย ถ้าผู้ใหญ่ได้รับความอับอาย ผมสนุกมากเลย เป็นพวกรวมตัวกันกบฏต่อผู้ใหญ่เป็นประจำ ทำให้ผู้ใหญ่เสียหน้าเป็นความสุขของผม เพราะผมเป็นคนที่ไม่ชอบอำนาจไง ผมจะต้องอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจเสมอ ใครใช้อำนาจกับผม ผมก็ต้องตอบโต้ ด้วยวิธีแบบใดก็แล้วแต่ แต่ผมต้องเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจอยู่เสมอ”

อ.มณเฑียร กล่าวต่อว่า “ความด้อยโอกาสของคนตาบอดก็เหมือนกับการต่อสู้กับอำนาจ คืออำนาจของคนที่ไม่ต้องดิ้นรนมากก็มีการศึกษา ไม่ต้องดิ้นรนก็มีงานทำ แต่พวกเราต้องดิ้นรนมาก เหมือนกับว่าเราต้องต่อสู้กับฝ่ายที่มีอำนาจเหนือเรา เพราะฉะนั้นแรงขับของผมก็คือต้องเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจ อาจไม่ถึงขนาดล้มล้าง แต่ต้องอยู่ด้วยกันได้ เขาก็ต้องไม่สามารถมาขี่เราได้ ผมทำอย่างนี้ตั้งแต่คนในครอบครัวเลยนะครับ ถ้าใช้อำนาจกับผม ผมจะตอบโต้ทันที”

นอกจากนี้ อ.มณเฑียร บุญตัน ยังได้เล่าถึงแรงขับเคลื่อนในชีวิต และประโยคทองประจำใจของตนไว้ในหนังสือพิมพ์ สกุลไทย ฉบับที่ 2833 วันที่ 3 ก.พ. 2552 หน้าที่ 40 ว่า…

แรงขับเคลื่อนของผมคือครอบครัวของผม ที่ทำให้ผมเป็นนักสู้ พ่อของผมซึ่งเป็นนักสู้ กับคำพูดของแม่ที่ว่า ‘ใต้ฟ้านี้ไม่มีอะไรน่ากลัว’ ต่อมาคือครูของผม ‘คุณครูปราณี สุดเสียงสังข์’ ท่านเป็นคนตาบอด ท่านไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่ต้องไปสอนหนังสือที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2507 แล้วท่านต้องส่งเสียครอบครัวท่านจนถึงเกษียณ มันน่าเอาอย่างไหมล่ะครับ”

อ.มณเฑียร กล่าวต่อว่า “แล้วคนที่ผมได้เรียนรู้ประวัติทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นคนที่จุดประกายให้กับผมทั้งนั้นเลย อย่าง ‘อาจารย์เจเนวีฟ คอลฟิลด์’ ท่านเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งมาตั้งโรงเรียนคนตาบอดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ในช่วงที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับอเมริกา คือความรักอันยิ่งใหญ่ ความไม่ยอมแพ้ของผู้หญิงตาบอดชาวอเมริกัน ซึ่งมาตั้งโรงเรียนในแผ่นดินศัตรู ฟังแล้วขนลุกไหมครับ” 

อ.มณเฑียร เล่าถึงที่มีของประโยคทองที่ใช้ในชีวิตประจำวันว่า “แล้วพอตอนที่ผมมาเรียนที่มงฟอร์ต ผมก็เจอครูอีกท่านหนึ่งชื่อ ‘มาเซอร์จิมมี่’ ท่านเป็นผู้ลี้ภัยชาวพม่า ท่านเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด แต่ท่านต้องมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่เชียงใหม่ ทั้งหมดนี้ก็ให้บทเรียนกับผมว่าคนเรานี่มันต้องไม่ยอมจำนน ตอนผมสอบชิงทุนไปอเมริกาได้ ผมไปหาท่าน ท่านให้โอวาทผมสั้น ๆ ว่า “No Pain No Gain” ผมจำขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ ชีวิตผมมีประโยคทองอยู่สองประโยค ประโยคแรก คือที่มาเซอร์จิมมี่ให้ อันที่สองคือ “I have giving up on giving up” อันนี้ผมคิดขึ้นเอง ก็คือข้าเลิกล้มความคิดที่จะ
เลิกล้มความคิดโดยสิ้นเชิง หรือปฏิเสธการยอมแพ้โดยสิ้นเชิง แต่ไม่ได้หมายความว่าเวลาเราแข่งขัน
เราจะไม่รู้จักแพ้ แต่หมายถึงว่าเราไม่รู้จักการยอมจำนน"

สำหรับ นายมณเฑียร บุญตัน เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2508 ปัจจุบันมีตำแหน่งในวุฒิสภา เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2551 - 2557 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557 - 2562

อีกทั้งยังเป็นผู้แทนคนพิการคนแรกในประเทศไทย และคนแรกในอาเซียนที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ (UN-Committee Convention on the Rights of Persons with Disabilities-CRPD) วาระปี พ.ศ. 2556-2559

นอกจากนี้ ท่านยังเคยได้รับฉายา 'คนดีศรีสภา ปี 2551' จากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาอีกด้วย

'สรวุฒิ' รับฟัง 'ผู้พิการ' หาทางแก้ปัญหาการเดินทาง 'เครื่องบิน-รถสาธารณะ' ส่งสัญญาณสายการบินไม่สามารถปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น

'เลขานุการ รมว.คมนาคม' รับฟังความคิดเห็นกลุ่มคนพิการ พร้อมจัดตั้งคณะทำงานร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาการเดินทางโดยเครื่องบิน-รถสาธารณะ หวังให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเดินทางสัญจรได้สะดวก

(12 มี.ค. 67) นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สายการบินไทยเวียตเจ็ทปฏิเสธกลุ่มคนพิการขึ้นเครื่องบิน ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกหนังสือตักเตือนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้นั้น

ในวันนี้ (12 มี.ค. 67) ได้มีการประชุม และรับฟังความคิดเห็นกับกลุ่มคนพิการ นำโดย นายกฤษนะ ละไล พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น-ยาว โดยขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานกระทรวงคมนาคม จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ซึ่งจะประกอบไปด้วย...

1. บุคลากรระดับสูงจากกระทรวงคมนาคมจำนวน 9 ท่าน 
2. บุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 ท่าน และ ตัวแทนกลุ่มผู้พิการจำนวน 5 ท่าน เพื่อร่วมบูรณาการแผนงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิผลที่ควรจะเป็นในระดับสูงสุด 

ทั้งนี้เตรียมสั่งการให้สายการบินแจ้งรายละเอียดและประชาสัมพันธ์ถึงกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ต่อผู้โดยสารที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางด้านร่างกาย ซึ่งหากกฎมีความก้ำกึ่ง สายการบินไม่สามารถปฏิเสธ ผู้โดยสารได้ไม่ว่าจะกรณีใดทั้งสิ้น แต่หากมีความเข้าข่ายและจะส่งผลกระทบระหว่างการบิน ต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนต่อไป 

นายสรวุฒิ กล่าวต่อว่า โดยแนวทางเบื้องต้นนั้นต้องการให้ทุกสายการบิน เพิ่มช่องทางให้ใส่รายละเอียด ของกลุ่มเปราะบางทางด้านร่างกาย ในการจองตั๋วเดินทาง เพื่อให้สายการบินสามารถเตรียมการได้อย่างเหมาะสม 

ขณะที่ทาง นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากการเพิ่มแนวทางอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้านอากาศ สำหรับกลุ่มผู้เปราะบางแล้ว ยังมองว่าการขนส่งทางบก มีความสำคัญอย่างมาก ต่อกลุ่มดังกล่าวนี้ โดยล่าสุดได้เตรียมหารือกับทางกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อหาแนวทางในการลดหย่อนภาษี รถขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีการดัดแปลงสำหรับผู้พิการ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเดินทางสัญจรได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนั้นยังเตรียมเข้าปรึกษาหารือกับทางหน่วยงาน กทม. เพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้เปราะบางมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน

‘กัลฟ์-ทันตะ จุฬาฯ’ จัดกิจกรรม ‘GULF Sparks Smiles’ ออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อกลุ่มผู้พิการทางสายตา

เนื่องจากปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ฉุกเฉิน หากไม่ได้มีอาการรุนแรง ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องฟันเท่าที่ควร รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของประชาชนยังมีข้อจำกัด อันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

(15 มี.ค. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ กัลฟ์ ร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสานต่อโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ‘GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยออกหน่วยแรกของปีที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการออกหน่วยพิเศษเพื่อผู้พิการทางสายตาเป็นครั้งที่ 2 ยกระดับความช่วยเหลือสู่กลุ่มผู้พิการและผู้มีความต้องการพิเศษ ที่จะต้องได้รับการดูแลเฉพาะทางจากผู้เชี่ยวชาญ โดยกัลฟ์มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนความหลากหลายในสังคม (Diversity) การยอมรับในความแตกต่าง (Inclusion) พร้อมทั้งสร้างโอกาสและความเท่าเทียม (Equity) เพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการสร้างสังคมที่น่าอยู่

นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการฯ นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 กัลฟ์เห็นปัญหาที่คนในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถจะมาหาหมอฟันได้ ซึ่งทางคณะทันตะ จุฬาฯ มีโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่อยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการ ‘GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน’ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรม ได้มารักษาที่หน่วยทันตกรรมของโครงการฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และปีนี้ก็ได้มาออกหน่วยรักษาผู้พิการทางสายตาเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคนเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมาก และในปีนี้กัลฟ์มีความตั้งใจที่จะออกหน่วยฯ ทั้งหมด 4 ครั้ง สามารถติดตามข้อมูลการออกหน่วยครั้งต่อๆ ไปของกัลฟ์ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ GulfSPARK”

รศ.ทพญ.ดร.วลีรัตน์ ศุกรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ในกลุ่มของผู้พิการทางสายตา มีขีดจำกัดในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้พิการทางสายตามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางช่องปาก เช่น การจับแปรงสีฟันไม่ถนัด ทำความสะอาดช่องปากได้ยาก รวมทั้งการเข้าถึงทันตกรรมค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการรักษาผู้พิการทางสายตา ต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์ มีความชำนาญ และเข้าใจความต้องการพิเศษของคนกลุ่มนี้ ผู้พิการทางสายตาจะมีความไวในประสาทสัมผัสด้านอื่น เพื่อทดแทนการมองเห็น การให้บริการทันตกรรมจึงจะต้องอาศัยทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเป็นโอกาสพิเศษที่ได้ให้บริการทันตกรรมกับผู้พิการทางสายตา อีกทั้งยังเป็นการทำที่มีความต่อเนื่อง เพราะการรักษาสุขภาพช่องปากไม่ใช่การทำครั้งเดียวจบ แต่ต้องรักษา และให้ความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างเสริมทัศนคติในการรักษาสุขภาพร่างกาย และช่องปากได้อย่างสมบูรณ์”

โครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ‘GULF Sparks Smiles’ จะให้บริการตรวจรักษาปัญหาสุขภาพช่องปากในเบื้องต้น อาทิ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และเอ็กซเรย์ รวมไปถึงทันตกรรมที่ซับซ้อนอย่างการผ่าฟันคุด และอีกหนึ่งความพิเศษของหน่วยในครั้งนี้ คือการนำหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาช่วยในจุดลงทะเบียน แนะนำคนไข้ไปยังจุดทำฟันจุดต่าง ๆ สอนวิธีการทำความสะอาดฟันและดูแลรักษาฟันเบื้องต้นให้กับผู้ที่เข้ามารับการรักษา รวมถึงสามารถเต้น และร้องเพลงสร้างความสนุกสนานเพื่อให้กลุ่มผู้พิการทางสายตาที่มารอทำฟันรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นอีกด้วย

‘GULF Sparks Smiles มอบรอยยิ้มสดใสให้ชุมชน’ ปี 4 จะเดินทางออกหน่วย อีก 3 ครั้งในปีนี้ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ เพจ Gulf Spark : https://www.facebook.com/GulfSPARK.TH

ส่งมอบพลังใจผ่านรถเข็นวีลแชร์ให้ผู้พิการที่ยากไร้ โดย ตำรวจภูธรภาค 1 ร่วมกับ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์

วันที่ 19 เมษายน 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ และนางสาวนภสร ลำธารทอง รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการสื่อสารแบรนด์และสื่อสารองค์กร พร้อมด้วยทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ณ ห้องรับรองชั้น 1 ตำรวจภูธร ภาค 1 โดยมี พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นผู้รับมอบ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ  นำรถเข็นวีลแชร์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ จำนวน 10 คัน โดยรับการสนับสนุนจาก กลุ่มไทยสมายล์ (รถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า) มามอบผ่านตำรวจภูธรภาค 1 เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้พิการที่มาทำกิจธุระ รวมถึงแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจต่างๆ การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ มามอบผ่านตำรวจภูธรภาค 1 ในครั้งนี้ เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ที่มาติดต่อธุระทางราชการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน

ด้าน พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กล่าวว่า ต้องขอบคุณทางมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ที่ได้มามอบรถเข็นวีลแชร์ให้แก่ตำรวจภูธรภาค 1 ในครั้งนี้ สำหรับรถเข็นวีลแชร์ที่ทางมูลนิธิฯมอบให้ จะถูกจัดสรรไปยังสถานีตำรวจที่อยู่ในความดูแลของเราทั้ง 9 จังหวัด 134 สถานี (ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ อยุธยา สระบุรี อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท) ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top