Friday, 4 July 2025
ประเทศไทย

'สื่ออาวุโส' สแกนทิศทางการเมืองไทยจากนี้ ใต้ 17 ความเป็นไปได้จากแรงกระแสธารข่าว

(29 ส.ค. 67) เถกิง สมทรัพย์ สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เขียนตามที่เห็นข่าว...ผมไม่มีข้อมูลอินไซด์อะไรเลยนะครับ…ไม่ต้องอ่านก็ได้

1. ใครบางคน น่าจะกำลังทำให้พรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงจากพรรคอื่น ๆ มาให้มากที่สุดเพื่อเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในรัฐสภา

2. พรรคพลังประชารัฐแม้จะออกไปทั้งพรรค แต่สส.ร่วม ๆ 30 คนน่าจะรอเวลา U-TURN มาร่วมมือกับเพื่อไทย...ถึงขั้นมาร่วมพรรคกันในอนาคต

3. พรรครวมไทยสร้างชาติผนึกกับเพื่อไทยแน่น

4. พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคขนาดเล็กอื่น ๆ น่าจะร่วมเดินทางไปด้วยกันกับเพื่อไทยอีกนาน

5. พรรคประชาชน…น่าจะอยู่ในสภาพอัมพฤกษ์ไปจนกว่าจะชัดเจนเรื่อง 44 สส. (และข่าวเรื่องมีการติดต่อขอตัวย้ายพรรคนั้นยังเชื่อว่าจะจริง ดังนั้นนี่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังของรัฐบาลเพื่อไทย)

6. รัฐบาลเพื่อไทยน่าจะจัดหาจำนวน สส. มาไว้ข้างตัวเองเกือบ ๆ 400 เสียงเพื่อความมั่นคงในช่วงนี้ และเพื่อลงสนามเลือกตั้งคราวหน้า

7. พรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ต้องสร้างผลงานให้ดีเป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน และทำงานการเมืองเพื่อเป็นพรรคเสียงข้างมากอีกสมัย  ด้วยการเอาชนะพรรคประชาชนให้ได้อย่างเด็ดขาด…มันเป็นไฟท์บังคับที่ต้องทำเพราะกติกาการเมืองไทยเป็นแบบนี้

8. พรรคประชาชน จะผ่านการเมืองช่วงนี้ไปถึงไหน…ต้องรอชมบทบาทในสภาฯ ในฐานะฝ่ายค้าน และในฐานะพรรคที่มาแรงที่สุดในปัจจุบัน

9. พลเอกประวิตร ยังสู้ไม่ถอย ยังเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองกับเพื่อไทย โดยที่การเป็นคนมีอำนาจมาก จึงทำให้เพื่อไทยไม่วางใจ เพราะโดนสอยมาหลายครั้งแล้ว

10. คุณชวน หลีกภัย น่าจะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป…เพราะกลุ่มนำของพรรคในปัจจุบันคงจะหาทาง 'ขับ' ท่านออกจากพรรคยาก เพราะคุณชวนไม่ได้ทำอะไร 'ผิดข้อบังคับพรรค' และถ้าจะขับท่านออก ก็ต้องใช้มติของกรรมการบริหารกับสส.ในสภา ที่จะต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 4 ซึ่งยากมาก

11. แต่คุณชวน หลีกภัย ไม่เหมือนพลเอกประวิตร...ถึงแม้คุณชวนจะไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล แต่คุณชวนไม่เคลื่อนไหวล้มรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่สร้างปัญหาให้กับเสถียรภาพของรัฐบาล…คุณชวนมุ่งที่จะสร้างเครดิตให้กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

12.ในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ถ้าจะมีการควบรวมพรรคกับใคร ต้องใช้ชื่อ 'พรรคประชาธิปัตย์' เท่านั้น...อันนี้น่าคิดว่า ถ้ากลุ่มผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันวางมือจากพรรคในคราวหน้า ไม่เอาพรรคไปรวมกับใครหรือรวมแล้วยังใช้ชื่อ ประชาธิปัตย์ เหมือนเดิม...โอกาสที่สมาชิกพรรคที่มีแนวคิดเหมือนเดิมก็จะมีโอกาสมาฟื้นฟูพรรคตามแนวทางเดิม

13. และคงจะไม่มีใครบริหารพรรคประชาธิปัตย์ให้ถูกยื่นยุบพรรคอีก หรือถ้าใครจะไปทำ ก็เห็นได้ชัดว่าคุณชวนก็พูด ๆ เหมือนจะวางแนวทางอะไรบางอย่างไว้แล้วว่าถ้ามีวิกฤตินี้มาจะทำยังไง

14. คุณชวน น่าจะยังอยู่กับประชาธิปัตย์ต่อไป และทำงานในฐานะสมาชิกสภาฯ ต่อไป...แต่น่าจะมีบทบาทให้ข้อคิดกับสังคมมากขึ้น สร้างความหวังให้กับคนที่เคยสนับสนุนประชาธิปัตย์ให้มาร่วมกับกอบกู้พรรค  

15. แม้จะมีคนห่วงท่านว่าท่านอายุมากแล้ว แต่คำพูดของคนอายุจะใกล้ 90 สามารถปลุกพลังผู้คนได้มากกว่าคนอายุน้อย ๆ ที่ไม่คิดจะสู้

16. กำลังกายอ่อนลง กำลังทางการเมืองอ่อนลง แต่คำพูดที่ยึดมั่นในหลักการกลับทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ

17. คุณชวน ต้องอยู่ในสภาฯ เพื่อมีพื้นที่ทำงานทางความคิดต่อไป

แม่นบ่

'ททท.' คาด โค้งสุดท้ายปี 67 นทท.แห่เข้าไทย 12.22 ล้านคน หนุนยอดทั้งปีนี้เฉียด 36 ล้านคน สร้างรายได้ประเทศ 1.8 ลลบ.

(2 ก.ย. 67) ช่วงเวลาที่ผ่านมา นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) เดินทางเข้าประเทศไทย มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 12,226,500 คน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% สร้างรายได้ 652,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนด 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 คิดเป็นสัดส่วน 97% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่รายได้ 673,738 ล้านบาท

สำหรับ คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในช่วง 4 เดือนสุดท้าย ยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดหลักจากเอเชียตะวันออก รองลงมาคือกลุ่มภูมิภาคยุโรป และเอเชียใต้ ส่วนที่เหลือจากตลาดในภูมิภาคอื่นๆ เช่น โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเที่ยวไทยมากที่สุด ได้แก่ จีน 2.03 ล้านคน มาเลเซีย 1.83 ล้านคน อินเดีย 7.07 แสนคน เกาหลีใต้ 7.4 แสนคน รัสเซีย 6.98 แสน ลาว 4.34 แสนคน สิงคโปร์ 4.28 แสนคน ไต้หวัน 3.77 แสนคน ญี่ปุ่น 3.46 แสนคน และสหรัฐ 3.41 แสนคน

“แนวโน้มปี 2567 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 35.99 ล้านคน เพิ่มขึ้น 28% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ ททท. กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน ส่วนรายได้ทางการท่องเที่ยวคาดประมาณ 1.818 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า”

สำหรับปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทย มีทั้งนโยบายผลักดันการเดินทางผ่านมาตรการ Ease of Traveling ของประเทศไทย อาทิ การผ่อนคลายวีซ่าประเภทท่องเที่ยว การขยายเวลาพำนักในไทยนานขึ้น การยกเว้นยื่นใบ ตม.6 บริเวณด่านชายแดนทางบกทั่วประเทศ เพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังวางแผนจะเดินทางให้สามารถตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวไทยง่ายขึ้น
รวมถึงปัจจัยจำนวนที่นั่งโดยสาร (Seat Capacity) เส้นทางระหว่างประเทศ มีจำนวนรวม 46 ล้านที่นั่ง คิดเป็นการฟื้นตัว 82% ของจำนวนที่นั่งโดยสารระหว่างประเทศเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด และเติบโตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีจำนวนที่นั่งโดยสารประมาณ 37 ล้านที่นั่ง

สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเทศกาลและกิจกรรมสำคัญ อาทิ วันชาติจีน (1 ต.ค.) เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยอินฟลูเอนเซอร์ ศิลปินชื่อดังของชาวไทยและต่างชาติ ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ สถานที่ถ่ายทำซีรีส์ คอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติงศิลปินไทยและต่างชาติ

ส่วนปัจจัยท้าทายที่คาดว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย อาทิ การส่งเสริมตลาดเชิงรุกของคู่แข่งในตลาดเอเชียแปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ที่จัดโปรโมชันดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกับไทย รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้แก่ สงครามอิสราเอลกับปาเลสไตน์ อิหร่านกับอิสราเอล รัสเซียกับยูเครน หากยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อราคาบัตรโดยสารเครื่องบินแพงขึ้น

นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากภัยพิบัติธรรมชาติและภัยก่อการร้าย มีแนวโน้มเพิ่มความถี่เกิดบ่อยครั้งหรือรุนแรง โดยเฉพาะอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจากผลของวิกฤติคลื่นความร้อน (เอลนีโญ) แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ จนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน แผนการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวออกต่างประเทศ หรือมาตรการความปลอดภัยในการเดินทาง

นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) มีการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 72.47 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 92% ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายจำนวน 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ที่ตั้งไว้ และมีรายได้รวม 335,240 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 83% ของเป้าหมายรายได้ 4 เดือนสุดท้ายของ ปี 2567 ที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั้งจำนวนและรายได้ตลาดในประเทศปี 2567 จะยังคงเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการกระตุ้นท่องเที่ยวจัดผ่านอีเวนต์ การท่องเที่ยวโดยซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ อาหาร ภาพยนตร์และซีรีส์ แฟชั่น มวยไทย และเฟสติวัล โดยนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศภายใต้แคมเปญ “สุขทันที...ที่เที่ยวไทย” และโครงการ “365 วันมหัศจรรย์เมืองไทย ...เที่ยวได้ทุกวัน” 

🔎ส่อง 10 อันดับประเทศที่มี ‘ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี’ มากที่สุดในโลก

THE STATES TIMES ชวนดู!! ประเทศที่มี ‘ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี’ มากที่สุดในโลก ในส่วน ‘ประเทศไทย’ ของเรา อยู่ในอันที่ 32 ของโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ตามมาด้วย มาเลเซีย อันดับ 33, เวียดนาม อันดับ 35 และฟิลิปปินส์ อันดับ 40

รวมพล 'คนไร้ราก-ลืมเหง้า-ลวงผู้คน-อกตัญญูชาติ' การคงอยู่ใต้ผืนปฐพีไทย ที่แลดูร้ายไม่แพ้ศัตรูต่างแดน

(3 ก.ย. 67) การได้เกิดเป็นคนไทยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสำหรับผมนั้น ถือเป็นเรื่องโชคดีมหาศาล ถ้าไม่โชคดี ผม รวมทั้งคนไทยร่วมชาติอีกหลายสิบล้านคน คงไม่มีโอกาสได้เกิด และเติบโตบนผืนแผ่นดินที่แสนสงบสุขจวบถึงทุกวันนี้  

การได้มีชีวิต มีบ้าน มีถิ่นฐาน มีเชื้อชาติ มีสังคม มีการศึกษา มีหน้าที่การงาน และมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น เมืองขี้ข้า เมืองที่ถูกกดขี่ข่มเหง หรือใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสงครามระหว่างประเทศ การได้อยู่รอดพ้นยาวนานมาทุกกาลสมัย เพียงเท่านี้ก็ถือว่ามีครบองค์ประกอบของประชาชนที่ได้รับโอกาสที่แสนสมบูรณ์พูนสุขมากล้นแล้ว สิ่งแรกที่คนไทยทุกคนจำต้องสำนึกก็คือ 'บุญคุณของสถาบันเบื้องสูง' เพราะถ้าไม่มี 'สถาบันกษัตริย์ไทย' ประเทศชาติเราก็จะแหว่งวิ่น ไม่เดินมาถึงวันนี้ได้อย่างผาสุก

และคงไม่มีผม หรือพวกท่านในแบบที่เป็นอยู่ 

ที่มาของเรา เปรียบราว 'รากชีวิต' ที่ฝังลึกลงแผ่นดินทอง ผูกร้อยโยงเป็นเนื้อเดียวกับความเป็นชาติ ศาสน์ และสถาบันกษัตริย์ ยากที่จะตัดขาดออกจากกัน การได้เกิดมาเป็นคนไทย จึงแตกต่างจากชาติอื่นใดทั้งปวง หาใดเปรียบ หาใดเทียบเคียง มีเพียงหนึ่งเดียวที่ 'แตกต่างอย่างงดงาม' ซ้ำยังอุดมสมบูรณ์ด้วย 'ทรัพย์ในดินสินในน้ำ' จนเป็นที่หมายตาของคนต่างชาติ หรือคนไทยหัวใจคดที่แสนโง่เขลาจำนวนหนึ่งที่ยอมเป็น 'ขี้ข้าคนต่างถิ่น' หวังทำลายความเข้มขลังของสถาบันให้อ่อนแอลง 

คนไทยที่ทำตัวไร้ราก ลืมเหง้า คอยโป้ปดสังคม ปลุกปั่นให้เยาวชน หรือผู้คนที่ 'คิดไม่เป็น' ให้คล้อยไปในทางเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ของตัวเอง เพื่อสนองอาการ 'โรคจิต' และ 'ขี้อิจฉา' ที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด ย่อมเป็นคนไทยที่เป็นภัยอันตรายของสังคมไทยโดยแท้ หากปล่อยไว้ให้เติบโต อนาคตเราอาจจะไม่มีแผ่นดินที่เป็นของตัวเราเอง 

คนไทยที่คิดร้ายต่อสถาบัน เรียก 'คนเนรคุณ' ยังน้อยไป อยู่ไปก็รกปฐพี 

‘ชาวเน็ต’ ฉะ!! ‘สื่อบันเทิงไทย’ ใช้คำหยาบมากเกินจำเป็น บางเรื่องจัดเรท 15 ปีแต่พ่นคำหยาบเพียบ หวั่น!! เยาวชนเลียนแบบ

(3 ก.ย. 67) กำลังเป็นประเด็นถกสนั่นในโลกโซเชียลขณะนี้ เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ชื่อบัญชี Thejui Kesjamras ออกมาตั้งคำถามถึงประเด็น ‘การใช้คำหยาบ’ ในสื่อบันเทิงปัจจุบันนั้น มากเกินความเหมาะสมหรือไม่? หวั่นส่งผลต่อเยาวชน... 

โดยทางเจ้าของโพสต์เล่าว่า ตนดูภาพยนตร์ ‘เธอ ฟอร์ แคช สินเชื่อ..รักแลกเงิน’ ที่นำแสดงโดย ไบรท์ วชิรวิชญ์ และ ญาญ่า อุรัสยา แต่รู้สึกตกใจเป็นอย่างมากกับบทสนทนาของตัวละคร ‘ริซซี่’ ที่แสดงโดย ป๋อมแป๋ม นิติ มีการพูดคำว่า (อวัยวะเพศหญิง) อย่างชัดถ้อยชัดคำถึง 2 ครั้ง

ทำเอาเจ้าของโพสต์ตกใจ เพราะนี่ คือ ภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ พร้อมเสริมว่า “เท่าที่ดูหนังมาในช่วงปี สองปีนี้ ไม่เคยเห็นตัวละครบนจอพูดคำรุนแรงเช่นนี้ในหนังมาก่อนเลยครับ”

ไม่เพียงเท่านี้ ตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องก็ยังคงพูดคำหยาบกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระบบจำแนกประเภทภาพยนตร์ตามอายุ เรื่องนี้ คือ เรท 15 ปีเท่านั้น…

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า ‘คำหยาบ’ ในสื่อบันเทิงนั้น มีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อ แม้จะพยามทำให้ตัวละครมีบทพูดเป็นธรรมชาติ สมจริง แต่ก็อาจส่งผลเสียต่อเยาวชนได้ วอนแพลตฟอร์มต่าง ๆ และ สื่อบันเทิง อย่ามองแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจจนลืมถึงผลกระทบในแง่ลบต่อสังคม

เมื่อโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็มีชาวเน็ตให้ความสนใจอย่างมาก เข้ามากดถูกใจกว่า 4.4 พันครั้ง และกดแชร์กว่า 3.9 พันครั้ง รวมทั้งเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันสนั่น

-เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ไม่อยากให้เยาวชนชินกับการใช้คำหยาบจนชินว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ
-เห็นด้วยค่ะ บางเรื่องก็พูดคำหยาบพร่ำเพรื่อเกิน
-สมัยนี้สบถในช่วงอ่านข่าวก็ยังมีเลย

-พวกฉาบฉวยแหละ พยายามเอาใจวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ชอบแบบนี้ โดยไม่คำนึงถึงความลงตัว ความเหมาะสม และความพอดี

-ตรงใจทุกคำค่ะ เอาคำหยาบมาขายมันง่าย มันไม่ต้องใช้สมอง
-พอเถอะครับคำหยาบ โลกมนุษย์ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสิ่งนั้น
-ละครบางช่อง เดี๋ยวนี้ ก็หยาบคายจนน่าตกใจ
-อยากให้ลูกหลานเราพูดหยาบเหรอ

นอกจากนี้ยังมีคอมเมนต์จากพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ที่วอนให้ยูทูบเบอร์ขวัญใจเด็ก ๆ ระมัดระวังการใช้คำหยาบอีกด้วย 

ชาวเน็ตแดนกิมจิ โบ้ย!! #แบนเกาหลีใต้ ทำยอดคนไทยเที่ยวลดลง เดือด!! ชาวไทยยังย้ำ "อย่าไปเกาหลี ให้ไปญี่ปุ่นกับจีนดีกว่า"

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย. 67) จากเพจ ‘World Forum ข่าวสารต่างประเทศ’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

คำที่ชาวเน็ต เกาหลีใต้โกรธ จากสื่อระบุว่า "สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไทยลดลงมากเพราะมีแคมเปญ แบนเกาหลีใต้"

ในสื่อออนไลน์ ประเทศไทย คำที่ทำให้ชาวเน็ตเกาหลีโกรธ นอกจากแบนเกาหลีแล้ว นักท่องเที่ยวไทยยังบอกว่า "อย่าไปเกาหลีใต้เลย ไม่น่าสนใจ ไป ญี่ปุ่น กับ จีนดีกว่า สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจกว่าเยอะ" 

แน่นอนว่า เรื่องนี้ได้จุดประเด็นถกเถียงในสื่อออนไลน์อีกครั้ง อาทิ...

โดยฟากที่เห็นด้วยกับเกาหลีใต้ มองว่า "ประเทศด้อยพัฒนาแบบไทยคนเกาหลีเขาดีใจด้วยซ้ำที่ไม่ไปบ้านเขา คนไทยไม่ไปประเทศเขาไม่กระทบต่อเงินประเทศเขาด้วยซ้ำแค่ คนไทยไม่ไปสักคน เงินที่คนไทยไปเที่ยวเหมือนเศษเงินบ้านเขาแค่นั้นแหละ รายได้เกาหลีเขามาจากนู้น ผลิตและส่งออก  เรือเดินสมุทร รถยนต์ เครื่องจักร สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร ผลิตชิป รถยนต์ อะไรนู้นประเทศหลังเขาด้อยพัฒนาแบบไทยไม่มีความสำคัญสำหรับเขาอยู่แล้ว"

ขณะที่กลุ่มแอนตี้เกาหลีใต้ มองว่า "ประเทศต้นตอของการ #ชอบบูลลี่ เป็นอาหารหลักคนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ไม่รู้เหรอว่า ก่อนจะขายบันเทิง กับ หมอศัลย์ฯ ได้อย่างวันนี้ ประเทศเคยทำของเล่นสังกะสีก๊อบปี้ เสื้อผ้าก๊อบปี้ ส่งออกพอๆ กับไต้หวัน #ก่อนโดนจีนแดงถล่มตลาดยับ!!"

"เกาหลี ไปเที่ยวมาครั้งเดียว ไม่น่าเที่ยวเลย ญี่ปุ่น ผมไปมาสิบกว่าครั้ง และจะไปเรื่อยๆ จีนได้ไป 1 ครั้ง ชอบมากๆ อยากไปอีก"

นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกมากนับพันคอมเมนต์ในเพจดังกล่าวอีกด้วย

7 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ไทย’ ออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ประกาศใช้ ‘ธนบัตร’ แบบแรกอย่างเป็นทางการ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ‘ประเทศไทย’ ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตรขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่มีการนำเงินกระดาษมาใช้ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ต่อมา ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ติดต่อไปยังบริษัทในประเทศอังกฤษ เพื่อให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444 และใช้ต่อเนื่องมา จนได้มีการออกพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ. 121 อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท

'นักข่าวเกาหลี' แซะไทย หลังมีกระแส #แบนเกาหลี ลั่น!! บอกคนไทยไม่มีเงิน แล้วเข้ามาทำอะไร?

(3 ก.ย. 67) เมื่อไม่นานมานี้ กระแส #แบนเกาหลี เริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังมีประเด็น ตม.เกาหลี ไล่นักท่องเที่ยวไทยกลับประเทศด้วยเหตุผลที่ตอบคำถามที่ทางเจ้าหน้าที่ถามนักท่องเที่ยวว่า “หน้าโรงแรมมีต้นไม้กี่ต้น และห้องพักมีสีอะไร” จุดชนวนให้ชาวเน็ตไทยเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่น

กระทั่งต่อมา มีคนพบว่า นักข่าวสาวรายหนึ่งของเกาหลีใต้ ได้ทำคอนเทนต์แซะชาวไทยถึงกระแสแบนเกาหลี

ในคลิปวิดีโอมีการล้อเลียนกระแสแบนเกาหลีของคนไทย และพูดประมาณว่า “ตอน ตม. ถามคนไทยว่ามาทำอะไร บอกมาเที่ยว แต่พอถามว่ามีเงินเท่าไหร่ ทำไมถึงไม่มีเงินล่ะ?” เป็นการสื่อว่าคนไทยมีนัยบางอย่างแอบแฝงในการเข้าประเทศเกาหลี

คลิปวิดีโอนี้มียอดชมมากกว่าแสนครั้ง และมีคนเข้าไปถล่มคอมเมนต์มากมาย โดยเฉพาะคนไทยที่ได้เห็นถึงกับทนไม่ไหว มองว่าหญิงรายนี้มีอาชีพในงานข่าว ควรทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในการนำเสนอความจริง ตีแผ่ว่าเกิดอะไรขึ้นมากกว่า

จากนั้นก็กลายเป็นสงครามระหว่างชาวเน็ตเกาหลีและชาวเน็ตไทย ชาวเน็ตเกาหลีหลายคนกลับเห็นด้วยกับคลิปวิดีโอนี้ และเข้ามาดูถูกคนไทย ส่วนฝั่งไทยก็ไม่ยอมตอกกลับแบบเจ็บๆ

อย่างไรก็ตามการที่คนไทยจำนวนมากที่ไปแบบถูกกฎหมายกลับโดนปฏิเสธด้วยสาเหตุที่ไร้สาระ ย่อมจำเป็นต้องหาคำตอบ และต้องได้รับการแก้ไขจากรัฐบาลเกาหลี

ชำแหละ!! ข้อเรียกร้องต่างด้าวในระดับเปลี่ยน Bangkok ให้เป็น New Yangon City ถาม? 'คนไทย-ชาติไทย' ได้ประโยชน์อะไร? แล้วต่างด้าวหรือไทยกลุ่มไหนเรียกร้อง?

เมื่อวานเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน ยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ 'นายกรัฐมนตรี' โดยมีเนื้อหาใจความว่า...

ด้วยเครือข่าย ซึ่งประกอบไปด้วยภาคประชาสังคม ภาควิชาการ สื่อมวลชน ชุมชนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในด้านการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายแก่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน บนพื้นฐานของมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของชาติ ความต้องการด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มด้านประชากรในอนาคตของไทย ตลอดจนการมุ่งสร้างสันติภาพในภูมิภาคอาเซียน ทั้งหมดสามระยะ ดังนี้...

>> 1. ระยะเร่งด่วน ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศเมียนมา ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยมีการดำเนินการ ดังนี้...

1.1 ให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดสถานะผู้อพยพลี้ภัยที่อยู่ในไทย ผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมา ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และเร่งกำหนดสถานะให้แก่เด็กกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิด้านการศึกษา สาธารณสุข และการทำงานได้ ตลอดจนพิจารณาปรับเกณฑ์และกลไกเพื่อการมีสัญชาติไทยของเด็กที่เกิดในไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการลดลงของประชากรไทยในสังคมผู้สูงอายุและความต้องการแรงงานของไทย

1.2 ขอให้รัฐบาลได้จัดตั้งกลไกเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และติดตามการเข้าถึงสิทธิของเด็ก ผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่พักพิง ตามที่ประเทศไทยได้ยื่นตราสารถอนข้อสงวนของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ข้อ 22 แล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567

1.3 ให้ยุติการกักขังโดยไม่มีกำหนดเวลาต่อผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม รวมทั้งกำหนดมาตรการทางเลือกแทนการกักขังให้แก่ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยชาวอุยกูรย์มากกว่า 40 คนซึ่งถูกกักตัวอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวมาเป็นเวลานาน 10 ปี และชาวโรฮีนจาจากประเทศเมียนมา

1.4 ขอให้รัฐบาลมีแนวปฏิบัติของการประเมินความเสี่ยงภัยในการส่งกลับคนต่างชาติอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งยุติการส่งตัวผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

1.5 เร่งรัดการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ตามมติคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยเน้นการดำเนินการในประเทศไทย เพื่อป้องกันผลกระทบและอันตรายจากมาตรการการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งผลกระทบจากการสู้รบในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะมีแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาที่จะต้องดำเนินการมากถึงสองล้านคน อันจะเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและผู้ประกอบการชาวไทย

1.6 เร่งรัดหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างและการมีส่วนร่วมภายในศูนย์สั่งการชายแดนในระดับชาติ จังหวัด และอำเภอ การพิจารณาอนุญาตเปิดจุดผ่อนปรนเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพบริเวณชายแดน

1.7 เร่งรัดหน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ได้ดำเนินการตามแนวนโยบายและกฎหมาย โดยบูรณาการการบริหารจัดการผู้อพยพหนีภัยเข้ามาในประเทศไทยกลุ่มต่าง ๆ ดำเนินการคัดกรองและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ลี้ภัย ทบทวนและปรับปรุงแนวทางปฏิบัติกรณีมีผู้อพยพหนีภัยเข้ามาในประเทศ ตลอดจนให้คำมั่นสัญญาในการไม่จับกุม กักขัง และดำเนินการปกป้องคุ้มครองเด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและเด็กผู้ลี้ภัยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และครอบครัว

>> 2. ระยะกลาง ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนเพื่อรองรับกับแนวโน้มของสถานการณ์ในอนาคต โดยมีการดำเนินการ ดังนี้...

2.1 พิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการชายแดนและผู้ที่หนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงลดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

2.2 กำหนดให้ภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือระหว่างชุมชนชายแดน (Township Border Committee: TBC) บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดน เพื่อสร้างเสถียรภาพ สันติภาพ และการแก้ไขปัญหาข้ามชาติต่าง ๆ

2.3 ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการ (SOP) กรณีบุคคลชาวเมียนมาเดินทางเข้าไทยตามแนวชายแดน อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยยึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่ภัยอันตรายต่อชีวิต (non-refoulement) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (GCR) ข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (GCM) ตลอดจนคำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้

2.4 พิจารณาศึกษาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ลี้ภัยหรือบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางอันเนื่องจากภัยประหัตประหาร แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562

2.5 พิจารณาจัดทำมาตรการเพื่อยุติการสร้างความเกลียดชังและทัศนคติในด้านลบของสังคมไทยต่อชุมชนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย และให้มีมาตรการส่งเสริมทัศนคติที่ดีของสังคมไทยและส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนของชุมชน ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

>> 3️. ระยะยาว ให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายด้านการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐาน โดยมีการดำเนินการ ดังนี้...

3.1 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติสามารถเข้าถึงสถานะบุคคลและทะเบียนราษฎร และสถานะการอยู่อาศัย ตลอดจนการคุ้มครองได้

3.2 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดสิทธิและมาตรการคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายลำดับรองให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยยึดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่ภัยอันตรายต่อชีวิต (non-refoulement) การยุติการกักขังเพื่อรอการส่งกลับอย่างไม่มีกำหนด สิทธิในการอยู่ร่วมกันในครอบครัว (family reunification) และการปกป้องคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้ป่วย ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่น

3.3 พิจารณาศึกษาการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

3.4 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และระเบียบเกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม เพื่อปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตทำงาน การรับรองสิทธิการทำงานของบุคคล และการคุ้มครองแรงงานของกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่น โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสำหรับผู้อพยพลี้ภัยจากเมียนมา

3.5 พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้เอื้อต่อการทำประกอบอาชีพที่สุจริตสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย

3.6 พิจารณาจัดตั้ง 'หน่วยงานระดับกรมกิจการคนเข้าเมือง' เพื่อให้การบริหารจัดการประชากรผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการจัดการคนเข้าเมืองเป็นระบบและมีเอกภาพ รวมถึงการให้ความคุ้มครองการทำทะเบียนราษฎร และการผสมผสานระหว่างกันในสังคมไทย

3.7 รัฐบาลควรมีบทบาทนำในการสร้างสันติภาพแก่ภูมิภาคผ่านกลไกของกลุ่มประเทศอาเซียน การมีบทบาทในการเจรจาหยุดยิงเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และพิจารณาทบทวนการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาทั้งในด้านธุรกิจและด้านอื่น ๆ

ประเด็นที่เรียกร้องมาทั้งหมดนี้ ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงสิ่งที่ เอย่า จะกล่าวต่อไปนี้นะคะ...

1. การรับคนต่างชาติเหล่านี้เข้ามา ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง คนเหล่านี้ได้เสียภาษีเงินได้ให้แก่เราหรือไม่ รวมถึงคนไทยได้ประโยชน์อะไรจากคนเหล่านี้ที่เข้ามา

2. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ให้เอื้อต่อการทำประกอบอาชีพที่สุจริตสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย จะเป็นการเปิดช่องทางในการแย่งงานคนไทยหรือไม่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หลายอาชีพก็มีต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยอยู่แล้ว หากท่านนายกลงพื้นที่ไปที่มหาชัยจะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เริ่มย้ายถิ่นฐานออกจากมหาชัยไปหมดแล้วเพราะเขาถูกแย่งงาน แย่งอาชีพ ทำให้ประกอบอาชีพในมหาชัยไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากคนต่างด้าวเข้ามาและทำงานที่คนไทยทำด้วยค่าแรงที่ถูกกว่า

3. การสู้รบเป็นปัญหาในประเทศเมียนมามามากกว่า 70 ปีซึ่งไทยก็รับภาระตรงนี้มาตลอด แม้จะมีการตรวจตราอย่างเข้มแข็งแต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ ปัจจุบันลูกหลานคนเหล่านั้นออกมาตั้งมูลนิธิ สมาคมช่วยเหลือคนของตัวเองโดยใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการ ถามว่าคนไทย และชาติไทยได้ประโยชน์อะไรจากจุดนี้

4. ปัจจุบันทางการไทยพยายามที่จะให้สัญชาติแก่กลุ่มชาติพันธุ์แต่ปรากฏข่าวของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยตามชายแดนได้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ 2 สัญชาติเพื่อหาประโยชน์จากการเป็นประชาชนชาวไทยด้วยเช่นกัน และส่วนใหญ่คนเหล่านี้นำพาปัญหาเข้ามาสู่ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นการค้าอาวุธสงคราม แก๊งมิจฉาชีพ Call Center รวมถึงการค้ายาเสพติดและการค้าบริการทางเพศ  

5. หากดูประวัติศาสตร์จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถามว่าจะเป็นเช่นใดหาก 3-4 อำเภอชายแดนไทยถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดโดยไม่สื่อสารภาษาไทยอีกต่อไป สุดท้ายคนไทยในบริเวณดังกล่าวจะถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมให้ออกจากพื้นที่เอง ถามว่าสุดท้ายจะถูกนำไปสู่ปัญหาการขอแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ในอนาคต

6. หนึ่งในกฎบัตรอาเซียนคือการไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของกันและกัน ถามว่าหากไทยยอมรับการเรียกร้องดังกล่าวนี้ ไทยยังปฏิบัติเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนอยู่หรือไม่

7. การที่พวกคุณพยายามผลักดันคนเหล่านี้ให้ถูกต้องเพื่อจะเป็นการฟอกขาวเพื่อให้คนเหล่านี้หรือลูกหลานได้มีสัญชาติไทยในอนาคตเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่สนับสนุนคุณอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่

บางที เอย่า ก็แปลกใจเหมือนกันว่า คนเหล่านี้เป็นคนไทยหรือเปล่าที่พยายามเข้ามาเรียกร้องให้ไทยเสียประโยชน์ โดยอ้างแค่คำว่ามนุษยธรรม   

เอย่า ว่าประเทศไทยเรานั้น เป็นประเทศที่เปิดกว้างมาก กว้างขนาดให้คนต่างด้าวมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาไทยขั้นต่ำตามระบบได้ ให้โอกาสให้บัตรของพวกเขาเหล่านี้ขอสัญชาติได้ด้วยเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แล้วถามกลับว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากคนกลุ่มนี้บ้าง เราได้รับภาษีแผ่นดินเพิ่มขึ้นไหม เราได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้นไหม เราได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นไหม  

คำถามเหล่านี้หากรัฐบาลไทยจะรับข้อเรียกร้อง ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาให้ได้  

อยุธยาไม่มีวันพ่าย หากไม่ถูกคนไทยทรยศบ้านเมือง ฉันใดก็ฉันนั้น ประเทศไทยจากวันนี้จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นกับผู้นำและคนไทย ณ วันนี้เช่นกัน

หวังว่าลูกหลานเราในวันข้างหน้า คงไม่ได้เรียก Bangkok ว่า New Yangon City นะ

'อินฟลูฯ ต่างชาติ' ยกย่อง!! ประเทศไทยดูแลประชาชนได้ดีจริงๆ ยกเคส 'เติมลมยางรถฟรี' แต่ที่อังกฤษต้องเสียเงินและมีเวลาจำกัด

เมื่อไม่นานมานี้ ‘คุณลูค’ หรือ เจ้าของบัญชีติ๊กต๊อก (TikTok) ที่ใช้ชื่อว่า ‘imlukematthew’ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชาวต่างชาติจากสหราชอาณาจักร ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยจนรู้สึกติดใจและอาศัยอยู่ในประเทศอยู่ยาวมาข้ามปีกว่าแล้ว ได้ลงคลิปความประหลาดใจกับสาธารณูปโภคของไทยที่สะดวกในการใช้บริการแบบที่บ้านเกิดของเขาไม่มี โดยได้มีการยกตัวอย่าง การเติมลมยางรถในปั๊มน้ำมันของไทย ที่ใช้กันได้ฟรี ๆ ว่า…

'Thailand is King ประเทศไทยคือ ราชา'

โดยเนื้อหาในคลิปดังกล่าวจะเห็นคุณลูคอยู่ในปั๊มน้ำมันเชลล์ พร้อมกับพูดถึงว่า ใคร ๆ ต่างก็พูดกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศยากจน แต่สำหรับเขาที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นก็ได้พบว่า ประเทศไทยมีดีกว่าอังกฤษมาก พร้อมกับแพนกล้องไปที่เครื่องเติมลมยางรถในปั๊มเชลล์และเสริมว่า…

“ปกติในอังกฤษนะ เขาจะคิดเงินค่าใช้เครื่องเติมลม ไม่ได้ฟรี แต่ในไทย เราแต่จอดรถตรงนี้ (ที่เครื่องปั๊มลม)”

จากนั้นคุณลูคก็ได้อธิบายเปรียบเทียบความแตกต่างในการใช้บริการเครื่องเติมลมระหว่างปั๊มน้ำมันในไทยและอังกฤษว่า...

“ในอังกฤษมีช่องให้หยอดเหรียญ แล้วพอใส่เหรียญ เครื่องเติมลมก็จะทำงานในเวลาจำกัด แต่ที่ไทยให้ใช้ฟรีไม่จำกัดเวลา”

พร้อมกับย้ำว่า ประเทศไทยนั้นดูแลประชาชนดีจริง ๆ ไม่คิดเงินค่าลมยางรถที่เติมใส่ล้อรถ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า 'ทีมไทยแลนด์!!'

ทางด้านชาวเน็ตต่างก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นกับคลิปของคุณลูค ซึ่งส่วนมากจะเป็นการสนับสนุนความคิดเห็นของเขาเช่นกัน “ไม่ใช่แค่ปั๊มเชลล์ครับ ทุกปั๊มเลยครับ แม้แต่ร้านซ่อมรถข้างทาง เขาก็ให้เติมลมฟรีครับ” 

นอกจากความคิดเห็นสนับสนุนแล้ว ชาวเน็ตคนไทยต่างก็ขอบคุณคุณลูคที่รักประเทศไทยและตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ดูเหมือนธรรมดาสำหรับคนไทยอย่างเรื่องการเติมลมยางในปั๊มน้ำมัน แต่กลับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในสายตาชาวต่างชาติ

ถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในทางอ้อมจริง ๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top