Friday, 17 May 2024
บีโอไอ

‘สุริยะ’ ไฟเขียว!! จัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ ช่วยประชาสัมพันธ์ - ดูแลนักลงทุนที่มาลงทุนในไทย

‘บอร์ดเร่งรัดลงทุน อีอีซี’ ไฟเขียวจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์เชื่อมร่วมมือ ‘บีโอไอ-กนอ.’ ดึงลงทุนเข้าประเทศ พร้อมอัปเดต 4 โปรเจกต์หลัก เร่งเคลียร์ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ลุ้นอัยการตีความบัตรส่งเสริมการลงทุน คาดเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จตามแผนในปี 71 ส่วน ‘เมืองการบิน-แหลมฉบังเฟส 3-ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด’ เปิดใช้ปี 70

(11 ธ.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ ในด้านพื้นที่การให้สิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 35 เขต แบ่งเป็นพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม 28 แห่งและพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ 7 แห่ง โดยพื้นที่นอกเหนือเขตส่งเสริมฯ ดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมายของบีโอไอและ กนอ. ด้านผู้รับสิทธิประโยชน์ สกพอ. จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องเป็นโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริมลงทุน และไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกับโครงการจากบีโอไอมาก่อน

นายจุฬา กล่าวต่อว่า กรณีโครงการเคยได้รับส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ สกพอ. จะพิจารณาเฉพาะสิทธินอกเหนือ เช่น สิทธิประโยชน์ถือครองห้องชุด สิทธิประโยชน์ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้านการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมาย สกพอ. ได้มีระบบบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC One Stop Service) รองรับการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต รับแจ้งจดทะเบียนตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายว่าขุดดินถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายคนเข้าเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ จำเป็นต้องร่วมกับบีโอไอ และ กนอ. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน โดยสิทธิประโยชน์ของ สกพอ. จะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สกพอ. บีโอไอ และ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคณะทำงานฯ ร่วมกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจุฬา กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานนั้น ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการลงทุน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซี ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายใน พ.ค. 2567 ส่วนพื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว คงเหลือแต่รอให้เอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ที่จะหมดอายุในวันที่ 22 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ซึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP ระบุไว้ว่าเอกชนคู่สัญญาจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อน เพื่อครบเงื่อนไขเริ่มต้นโครงการที่กำหนดในสัญญา โดย รฟท. จึงได้ยื่นไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานอัยการสูงสุดตีความว่า สามารถส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องรอบีโอไอ โดย รฟท. จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2567 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนในปี 2567

อย่างไรก็ตาม ส่วนปัญหาการพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้น ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. 2566 จะมีการประชุมร่วมกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาอีกครั้ง ก่อนจะเสนอไปยังอัยการสูงสุด หากพิจารณาเห็นชอบก็จะเสนอกลับมายัง กพอ.เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติลงนามสัญญาใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า โครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2571

นายจุฬา กล่าวต่ออีกว่า 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ประชุมมีมติให้เร่งรัดกองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่ง 2 และทางขับ ภายในกลาง ธ.ค. 2566 และเร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา และโครงการสนามบินอู่ตะเภา สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายใน ม.ค. 2567 โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการตามแผนในปี 2570

3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเร่งรัด และกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล (Infrastructure) ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาภายใน พ.ย. 2568 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือ (Superstructure) ในส่วนท่าเรือ F1 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการปลายปี 2570

4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีมติให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ติดตามการถมทะเล (Infrastructure) ของเอกชนคู่สัญญา ให้แล้วเสร็จภายในธ.ค. 2567 โดยในปัจจุบันงานมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.64% และคาดว่าเอกชนคู่สัญญาจะก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือก๊าซเสร็จและเปิดให้บริการต้นปี 2570

‘บีโอไอ’ เผยยอดลงทุนไตรมาสแรก ปี 67 แตะ 2.28 แสน ลบ. 5 อุตฯ มาแรง!! ‘อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-เคมี-ดิจิทัล-การเกษตร’

(2 พ.ค. 67) บีโอไอ เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก ปี 2567 เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อน ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 724 โครงการ เงินลงทุน 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีทองแห่งการลงทุน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน 

โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ของบีโอไอ 

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ เป็นต้น

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาท ตามลำดับ 

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท ตามลำดับ  

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107

“จังหวะเวลานี้มีความสำคัญ และเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรของไฟฟ้าและความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซัปพลายเชนที่แข็งแกร่ง คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจัยที่เอื้อสำหรับการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในไตรมาสแรกนี้ มีการลงทุนสำคัญเกิดขึ้นในไทยหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการผลิตเอนไซม์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการไบโอรีไฟเนอรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความพร้อมของไทยสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถตอบโจทย์การลงทุนในทิศทางใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกได้เป็นอย่างดี” นายนฤตม์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top