Wednesday, 22 May 2024
นักเรียน

‘หยก ธนลภย์’ โวย โรงเรียน นักเรียนจ่ายค่าเทอม แต่ขึ้นลิฟท์ไม่ได้  ชี้ สิ่งอำนวยความสะดวก ควรเข้าถึงทุกคน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 นางสาวธนลภย์ (สงวนนามสกุล) หรือ หยก เยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 นักเรียนโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ย่ายพัฒนาการ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กประกอบภาพข้อความลิฟท์โดยสารของโรงเรียน ที่มีป้ายข้อความกำกับไว้ว่า “ลิฟท์สำหรับครู นักเรียนกรุณาใช้บันได”

ด้านนางสาวธนลภย์ หรือ หยก กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า  นักเรียนจ่ายค่าเทอมแต่ทำไมถึงใช้ไม่ได้?

สิ่งอำนวยความสะดวกควรเข้าถึงทุกคน แต่ทำไมถึงมีแค่คนกลุ่มนึงที่ใช้ได้? ครูเหนื่อยนักเรียนก็เหนื่อยเป็นนะ อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงสิ่งอำนายความสะดวก 

กทม.ปลดล็อก โรงเรียนในสังกัด ให้อิสระทรงผม-ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ 1 วัน/สัปดาห์

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 แห่ง เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนกำหนดการใส่ ชุดนักเรียน และ ไว้ทรงผม ได้อย่างอิสระ โดยไม่กระทบสิทธิมนุษยชน และริดรอนสิทธิของนักเรียน

กทม. จึงได้มีการออกหนังสือถึงสำนักงานเขต จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการอนุโลมให้นักเรียน สามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลงนามเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 โดย นางวันทรีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และ พ.ศ 2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 ม.ค. พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน จึงให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดฯ ให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ จากนั้นให้นำไปประชาสัมพนธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ โดยในกรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อทำความเช้าใจและตกลงร่วมกัน แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผม ทำให้อับอาย ฯ

แนวทางการแต่งกายของนักเรียน
นอกจากนี้ กทม.ยังได้ออกหนังสือแนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า กทม.จัดทำข้อกำหนดใหม่ให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยอนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งกายชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับจำนวน 1 วันต่อสัปดาห์ หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็สามารถใส่ชุดนักเรียนได้ตามความประสงค์ของนักเรียน โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ ยึดหลักคำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนาและเพศวิถีตามที่ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงความประหยัดและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนไปประกาศใช้โดยในกรณีที่มีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน

‘นักเรียนไทย’ ยกพานใส่พวงมาลัย คลานเข่าขอขมาครูฝรั่งแล้ว หลังทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนทัวร์ลง ด้านครูไม่ติดใจ ให้อภัยเด็ก

(18 ก.ค. 66) เพิ่งเป็นกระแสไปไม่นานกับคลิปของนักเรียนมัธยมศึกษา ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านหนองจอกที่ แสดงกิริยาไม่เหมาะสม กับคุณครูภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคนผิวดำระบุแคปชั่นว่า “ไม่อยากเรียนแหละ”

ในคลิปจะเห็นว่ามีนักเรียนหญิงคนหนึ่งยืนข้างหลังครู พร้อม ‘ทำท่าเหมือนจะต่อย’ เวลาครูหันหลังให้ มีกระทั่ง ‘ชูนิ้วกลางให้ครู’ จนกลายเป็นดรามากระฉ่อนไปทั่วโลกออนไลน์ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก่อนคลิปดังกล่าวก็ได้ถูกลบออกไป พร้อมทั้งปิดแอคเคาต์ไปเลย

ล่าสุดหลังจากถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม นักเรียนคนดังกล่าวได้โพสต์ทวิตเตอร์ระบุว่า…

“วันนี้หนูได้เดินทางไปขอโทษขอขมาทิชเชอร์ที่โรงเรียนเมื่อตอนเช้าที่ผ่านมาแล้วค่ะ หนูได้เข้าไปพูดคุยกับทางคุณครูและทิชเชอร์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ขอโทษ ทางทิชเชอร์ได้รับทราบและให้อภัยแล้วค่ะ”

“วันนี้ที่ไปไม่มีคลิปเพราะว่าไม่มีคนถ่ายให้ส่วนพรุ่งนี้ หนูจะเข้าไปขอโทษทีชเชอร์พร้อมเพื่อนๆอีกทีค่ะ หนูจะนำบทเรียนในครั้งนี้ไปปรับตัวเองใหม่ค่ะ” ซึ่งหลังจากโพสต์ไปได้ไม่นาน ก็มีชาวเน็ตมากมายมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้

ตัวอย่างความคิดเห็น

“การให้อภัยมันเป็นเรื่องของครู ไม่ใช่ชาวเน็ต ส่วนเด็กจะสำนึกจริงไหมก็ต้องดูกันไป
เอาจริงป่ะถ้าเกิดว่ามันไม่มีใครเอาคลิปนั้นมาแฉก็คงไม่ขอโทษอ่ะ เพราะคลิปนั้นผ่านมาเป็นเดือนแล้วด้วย”
“ตั้งนานคิดไม่ได้ โดนทัวร์ลงคิดได้ว่าต้องขอโทษ”
“ขอโทษเพราะสังคมบังคับให้ขอโทษ”
“digital footprint ตลอดไปนะคะ แม้จะขอโทษแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ก็จงรับผลของการกระทำตัวเอง”
“ทำผิดแล้วยอมรับผิดจริง ๆ อันนี้ก็ควรชื่นชมค่ะหลังจากนี้คือบทพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทำมันจริงใจไหม”
“นี่ว่าคู่กรณีเขาให้อภัยแล้วก็ควรจบเรื่องได้แล้วอะ”
“ขอให้สำนึกได้จริงๆ และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีนะคะ”

ชื่นชม!! ‘น้องพลอย’ ขายไก่ย่างเลี้ยงดูแม่ป่วยติดเตียง ฝันอยากเรียนพยาบาล ไว้ดูแลแม่ - ช่วยเหลือสังคม

(8 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับทราบข่าวเด็ก นร.ม.4 ขายไก่ย่าง เพื่อดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียง หลังแม่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก่อสร้างจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หวังมีอนาคตได้เรียนต่อพยาบาล

ผู้สื่อข่าวได้ลงไปที่บ้านเลขที่ 138 หมู่ที่ 1 ตำบลกุดจอก อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา พบ นางสาวหฤทัย รักพินิด หรือ น้องพลอย อายุ 16 ปี เด็กนักเรียนชั้น ม.4 กำลังเช็ดตัวให้กับ นางสาวกนกพร ครุฑขุนทด อายุ 36 ปี ผู้เป็นแม่ ที่นอนป่วยติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

โดย น้องพลอย จะคอยดูแล ป้อนข้าว ป้อนน้ำ เช็ดตัวให้กับแม่ และทำงานบ้านทุกอย่าง ไม่ว่าจะล้างจาน หุงข้าว กวาดบ้าน ซักผ้า และสิ่งที่น้องพลอยต้องทำทุกวัน ก็คือ ‘การขายไก่ย่าง’ ในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน เพื่อหาเงินซื้อกับข้าวให้แม่ ซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้กับแม่

น้องพลอย บอกว่า ครอบครัวของตนเอง ปัจจุบันนี้ อยู่ด้วยกัน 4 คน แม่ลูก ซึ่งตนเองมีพี่ชาย อายุ 18 ปี ส่วนตนเองเป็นลูกสาวคนที่สอง และมีน้องสาวคนเล็ก กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล ส่วนพ่อทำงานก่อสร้าง ในต่างจังหวัด นาน ๆ จะส่งเงินมาให้ทางบ้าน ครั้งละ 1,000 บาท

โดยน้องพลอย กล่าวว่า สาเหตุที่แม่ต้องนอนป่วยติดเตียง ก็เพราะว่า แม่ไปทำงานก่อสร้างกับพ่อที่กรุงเทพมหานคร ได้ประสบอุบัติเหตุ แผ่นปูนหล่นลงมาทับบริเวณหลัง ทำให้พิการนอนป่วยติดเตียงมานานกว่า 4 ปี แล้ว ส่วนพี่ชายต้องออกจากโรงเรียนเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ ตนเองสงสารแม่มาก จึงได้นำเงินเก็บไปซื้อไก่ มาย่างขายในช่วงเย็นของทุกวัน ซึ่งบางวันก็ขายได้เพียงวันละ 100-200 บาทเท่านั้น

เงินที่ได้จากการขายไก่ย่าง ก็จะนำไปซื้อผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซื้อกับข้าวมาเลี้ยงแม่ ครอบครัว ซึ่งวันไหนขายไม่ได้ ตนเองก็ไม่มีเงินไปโรงเรียน จำเป็นต้องห่อข้าวไปกินเอง ซึ่งมีเงินไปโรงเรียนมากสุดก็แค่ 50 บาท ซึ่งตนเองอยากเรียนจบชั้น ม.ปลาย เพราะมีความฝันอยากจะเป็นพยาบาล คอยดูแลแม่ และคอยช่วยเหลือสังคม ใครต้องการอยากจะช่วยเหลือครอบครัวของน้องพลอยก็สามารถโทรศัพท์ สอบถามได้ที่เบอร์ 087-0138247 ประธานอสม.หมู่บ้าน หรือ ติดต่อที่เบอร์ 065-0903105 แม่ของน้องพลอย

โซเชียลชื่นชม ‘รร.อนุบาลศรีธาตุ’ ประกาศงดจัดกิจกรรมวันแม่ ชี้ ห่วงความรู้สึกเด็ก-คำนึงถึงความแตกต่างแต่ละครอบครัว

โซเชียลแห่ชื่นชม!! ‘โรงเรียนอนุบาลศรีธาตุ’ งดจัดกิจกรรมวันแม่ในปีนี้ เนื่องจากคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละครอบครัวที่อยู่กับคุณแม่และไม่ได้อยู่ ตลอดจนห่วงใยความรู้สึกของลูกๆ นักเรียนที่คุณแม่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 เฟสบุ๊กแฟนเพจ “โรงเรียนอนุบาลศรีธาตุ” ได้โพสต์ระบุข้อความว่า…

“พิจารณา งดจัดกิจกรรมวันแม่ในปีนี้ จากการออกเยี่ยมบ้านนักเรียน ทำให้ทางโรงเรียนมีข้อมูลนักเรียนที่อยู่กับแม่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ทางโรงเรียนได้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละครอบครัวที่อยู่กับคุณแม่และไม่ได้อยู่ ตลอดจนห่วงใยความรู้สึกของลูกๆ นักเรียนที่คุณแม่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้

โดยปรับรูปแบบเป็นการทำการ์ดอวยพรให้คุณแม่ และประกวดแต่งกลอน และเขียนเรียงความวันแม่ครับ”

ทั้งนี้ หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ ได้มีชาวเน็ตให้ความสนใจในโพสต์ดังกล่าว และร่วมแสดงความคิดเห็นชื่นชมจำนวนมาก เนื่องจากมีหลากหลายครอบครัวที่คุณแม่มีความจำเป็นไม่สามารถเข้าร่วมงานได้ และอาจเป็นการสร้างความทรงจำที่ไม่ดีให้เด็กๆ ที่คุณแม่ไม่พร้อมมาร่วมงานได้

โซเชียลชม!! ‘ครูหนุ่ม’ จ.เชียงใหม่ ขี่รถส่ง นร.หญิงกลับบ้าน ฝ่าดินโคลนขึ้น-ลงเขา คาดใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 66 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ชื่อ ‘Kan mail’ ซึ่งเป็นคุณครูจากโรงเรียนบ้านห้วยไม้หก ตำบลม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกมาโพสต์ภาพพร้อมกับคลิปวิดีโอ เผยให้เห็น ‘ครู’ และ ‘นักเรียน’ กำลังขี่รถ จูงรถ ท่ามกลางถนนที่เป็นดินโคลน พร้อมด้วยข้อความว่า…

“ขี่รถ 4 ชั่วโมง เดินเท้า 4 ชั่วโมง คิดถึงบ้านเหรอ ‘ครู’ ไปส่งเอง ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน”

ทั้งนี้ การเดินทางของนักเรียนหญิงรายนี้ค่อนข้างลำบาก ต้องเดินขึ้นเขา ประกอบกับอยู่ในช่วงหน้าฝนการเดินทางจึงยิ่งลำบากมากขึ้น คาดว่าการเดินทางแต่ละครั้งคงต้องใช้เวลาในการเดินทางหลายชั่วโมง

‘หนูน้อย ป.1’ รีบหอบหนังสือมาอ่านให้คุณครูฟัง หลังรู้ข่าวว่าครูจะย้ายไปสอนที่อื่น ทำครูสาวน้ำตาซึม

สุดซึ้ง!! หนูน้อย ป.1 รีบหอบหนังสือมาอ่านให้ครูฟัง ก่อนครูจะย้ายไปสอนที่อื่น ทำคุณครูน้ำตาซึม ชาวเน็ตแสดงความคิดเห็น “นี่คือผลลัพธ์ของครูครับ”

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 ไวรัลคนดู 1.9 แสนครั้ง ผู้ใช้ Tiktok ชื่อ @w.landaaaaaaaaaaa ได้โพสต์คลิปเรื่องราวทำเอาคุณครูและชาวเน็ตน้ำตาซึม หลังจากที่หนูน้อยชั้น ป.1 เมื่อรู้ว่าคุณครูจะย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่น ได้รีบหอบหนังสือมาอ่านให้คุณครูฟัง โดยรายละเอียดระบุว่า…

“อยากอ่านหนังสือให้คุณครูฟังก่อนคุณครูจะไปอยู่ที่อื่น #มันคือความรู้สึก #ครูประถมศึกษา #ผมอยากอ่านหนังสือให้คุณครูฟังทุกวัน,คุณครูหญิงจะไปบรรจุโรงเรียนอื่นน้องเด็กป.1 อยากอ่านหนังสือให้คุณครูฟังก่อน”

หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปมีชาวเน็ตเข้าชมคลิปแล้วกว่า 1.9 แสนครั้ง พร้อมแสดงความคิดเห็นระบุว่า “ตั้งแต่ดูมา คลิปนี้ทัชใจสุด อะไรจะดีไปมากกว่า ทำให้ครูดูว่าที่ผ่านมา ครูทำได้ดีแค่ไหนและนี่คือผลลัพธ์ ของครูครับ,เป็นเรื่องที่น่าประทับใจมากเลยค่ะ แสดงว่าเด็กๆ รักครูมากเลยค่ะ ขนาดครูจะไป รร. อื่นแล้ว ยังมาอ่านหนังสือให้ฟัง, ครูคือความหวังและเป็นพลังให้เด็กๆหลายต่อหลายคน คุณก็เคยผ่านความรู้สึกนี้มา, แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นความทรงจำที่ดีที่สุด”

‘เพจดัง’ ฉะ!! ‘นโยบายปลอด 0 ร มส’ กัดกินการศึกษาไทย มองผิวเผินดีเลิศ แท้จริงทำเด็กขาดวินัย-ไร้ความรับผิดชอบ

(5 ต.ค. 66) เพจวันนั้นเมื่อฉันสอน ซึ่งเป็นเพจของครูหนุ่มในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีผู้ติดตามกว่า 1.6 แสนคน ได้เขียนบทความเรื่อง ‘นโยบายปลอด 0 ร มส กำลังผลิตเด็กที่ขาดความรับผิดชอบ’ ระบุว่า ดาบสองคมของนโยบายที่แสนดี พูดความจริงได้มั้ยกับการศึกษาไทย ถ้าพูดไม่ได้ทุกอย่างมันก็ดีเลิศประเสิฐศรีมณีเด้ง แต่ถ้าพูดได้คุณจะได้รับฟังความจริงอีกด้าน

นโยบายปลอด 0 ร มส แนวคิดอันแสนดีของระบบการศึกษาที่จะนำพาประเทศเราไปสู่ฝั่งฝัน เพราะเด็กทุกคนตั้งใจเรียนครูเอาใจใส่ช่วยเหลือเด็กให้จบการศึกษาได้ทุกคน

แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นอย่างนั้นเพราะเด็กเกิดความรู้สึกว่า ‘เรียนยังไงก็ผ่าน’ ‘ไม่ส่งงานก็ผ่าน’ ‘ทำยังไงก็ผ่านวันสุดท้ายค่อยไปแก้’

สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบอีกมากมายสู่สังคม คนตั้งใจเรียนก็ท้อใจเพราะคนที่ไม่ตั้งใจก็ผ่านเหมือนกันจนไม่รู้ว่าจะทำดีไปทำไมเพราะไม่เรียนก็ผ่านเหมือนกัน ครูเองก็ถูกบีบให้ตัดสินด้วยผลการเรียนปลอม ๆ ออกมา

ผมเคยคุยกับ ผอ.ของผมท่านหนึ่งเรื่องการรายงานผลอ่านเขียนว่าจะให้รายงานตามความจริงไหม ? ทำไมต้องถามอย่างงั้นล่ะเพราะสถานศึกษาบางแห่งเมกคะแนนสอบจนเป็นเรื่องปกติ ผลการสอบเลิศหรูแต่เด็กก็อ่านไม่ออกก็มี มีการโกงข้อสอบเอาเฉลยมาให้บอก และที่มันเป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายที่บีบลงมาต้องได้ 90 เต็มร้อย จึงจะมีหน้าตาอยู่ได้

ระบบที่ครูพูดความจริงไม่ได้ ระบบที่ครูตัดสินตามความจริงไม่ได้กำลังกัดกินการศึกษาไทย ในชั้นเรียนระดับมัธยมเราจะเจอทั้งเด็กที่อ่านไม่ออกท่องสูตรคูณไม่ได้เป็นเรื่องปกติ ‘เพราะอ่านไม่ออกก็ได้เลื่อนชั้นอยู่ดี’

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องตั้งคำถามว่า สิ่งที่เป็นอยู่มันดีแล้วจริง ๆ ใช่ไหมกับการทำให้เด็กเกิดความคิดว่า ‘เรียนอย่างไรก็ได้ ทำยังไงก็ผ่าน’

ถ้ามันดีจริงก็คงไว้ แต่ถ้ามันไม่ได้ดีอย่างที่คิดก็ควรเกิดการเปลี่ยนแปลงปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาของทุกคนเพราะถ้าเด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพวันหนึ่งเขาอาจจะเป็นภัยของสังคม ลูกคุณเรียนเก่งแล้วเรียนดีแล้ว คุณให้การอบรมสั่งสอนที่ดี แต่วันหนึ่งเขาอาจจะถูกทำร้ายจากเด็กคนอื่นที่ขาดการศึกษาที่ดีของสังคมก็ได้

จงอย่ารอให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น

‘ครูสาว’ เห็นกระเป๋า ‘นร.’ จะขาด เด็กบอกจะทนใช้จนถึง ม.2 ครูเลยซื้อให้ใหม่ ทำเอา นร.ดีใจ กลั้นยิ้มไม่อยู่ สัญญาตั้งใจเรียน

(2 พ.ย. 66) กระแสไวรัลในโลกออนไลน์กำลังอมยิ้มอย่างอบอุ่นหัวใจกับคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ในโลกโซเชียล หลังคุณครูท่านหนึ่งแอบสังเกตเห็นนักเรียนสะพายกระเป๋าที่มีลักษณะใกล้ขาด ไม่ยอมซื้อใหม่เพราะคิดว่ายังใช้งานได้ แต่คุณครูทนไม่ไหว ขอซื้อให้แทน

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่อุดรธานี โดยผู้ใช้ติ๊กต็อก nong_janji4 หรือ ‘ครูน้อง’ ลงคลิปวิดีโอ ระบุว่า “ฉันแพ้อะไรแบบนี้มาก ไปเยี่ยมบ้านบางคนมีชุด นร.ชุดเดียวนี่ก็ไปซื้อมาให้ มันก็คือความสุขของเรานะ”

พร้อมเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดเทอมได้ 2 – 3 วัน ขณะกำลังยืนเวรหน้าโรงเรียนเหลือบไปเห็นสายกระเป๋านักเรียนจึงเข้าแอพฯ เลือกซื้อกระเป๋าให้นักเรียนทันที

กระเป๋ามาถึง ครูน้องจึงเรียกน้องนักเรียนมาคุยด้วย สอบถามเรื่องครอบครัวซึ่งนักเรียนคนดังกล่าวอยู่กับพ่อและย่า แต่พ่อติดยา บางวันเมายามาก็ขี่รถมาตามหาลูกที่โรงเรียน ซึ่งเด็กก็แอบไปหลบกับคุณครู ปัจจุบัน นักเรียนเผยว่าพ่อโดนจับแล้วเลยอยู่กับย่าแค่ 2 คน

นักเรียนคนดังกล่าว เรียนดี เขียนตัวหนังสือสวย ส่งงานตลอด เมื่อถามถึงว่าทำไมกระเป๋าขาดจัง น้องตอบกลับมาว่า อีกเทอมหรือม.2 ค่อยซื้อใหม่มันใช้ได้อยู่ ซึ่งกระเป๋าดังกล่าวซื้อมาตั้งแต่ป.6 ต่อมาวิดีโอแสดงภาพนักเรียนสัญญากับคุณครูว่าจะเข้าเรียนตรงเวลา

และเมื่อลองแกะกล่องพัสดุ น้องก็ยิ้มออกมาด้วยความดีใจพร้อมยกมือไหว้ขอบคุณคุณครูถึง 2 รอบพร้อมระบุว่า ดีใจมาก นับตั้งแต่เรื่องราวดังกล่าวถูกแชร์ก็มีผู้คนเข้ามารับชมวิดีโอถึง 2.3 ล้านวิว รวมถึงมีคนใจดีมากมายติดต่อเข้ามาเพื่อจะขอส่งของให้เด็ก ๆ นักเรียน

'สพฐ.' เดินหน้านโยบาย 'ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้' ย้ำครูช่วยลดปริมาณ หวังให้เด็กๆ ได้เรียนอย่างมีความสุข

(9 ธ.ค.66) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ได้ลงนามประกาศ ‘แนวทางการมอบหมายการบ้าน’ ตามนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) โดยเป็นการประกาศหลักการและแนวปฏิบัติในการมอบหมายการบ้าน ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ ที่มุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ให้การบ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

หลักการ ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ มุ่งเน้นให้ครูลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาในชั้นเรียนให้เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็นทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ให้มีการบูรณาการการบ้าน ซึ่งการบ้านชิ้นงานเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น

“การประกาศแนวทางการมอบหมายการบ้าน ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ ของ สพฐ. เพื่อให้คุณครู รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจร่วมกันว่า หัวใจของการให้การบ้าน คือ การให้เด็กๆ ได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้ได้ฝึกฝนทำซ้ำจนเกิดทักษะ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องการเวลาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนไม่เท่ากัน หรือสำหรับเด็กโต การบ้านที่ให้ได้ค้นคว้าอย่างอิสระ จะยิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยบ่มเพาะความรับผิดชอบในตนเอง จึงขอเน้นย้ำกับคุณครูว่า การให้โจทย์ที่ไม่ยากไม่ง่าย ไม่ใช้เวลามากเกินไป แล้วมีการตรวจการบ้าน อธิบาย ให้ feedback จุดที่ควรพัฒนาอย่างตรงประเด็น จึงจะเป็นการพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งความสุขที่เกิดจากการลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพของการบ้าน เช่น ทำการบ้านหนึ่งชิ้นงานส่งคุณครูเพื่อวัดผลการเรียนรู้ได้หลายวิชา จะสร้างความสุขให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูเองด้วย ซึ่งเชื่อได้ว่าจะทำให้เด็กไทย ‘เรียนดี มีความสุข’ ตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top