Friday, 10 May 2024
นวัตกรรม

‘De-BUGs’ สารกำจัดแมลงจากเปลือกไข่ ไร้อันตรายต่อเด็ก คว้า ‘เหรียญทอง’ จากงานประกวดนวัตกรรมที่ญี่ปุ่น

เป็นหน้าเป็นตาอีกแล้วกับผลงานนวัตกรรมของคนไทยอย่าง ‘De-BUGs’ นวัตกรรมสารกำจัดแมลงอินทรีย์แปรรูปจากเปลือกไข่ ซึ่งคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าของเสียจากภาคอุตสาหกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมรักษ์โลก ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

โดยการเปลี่ยนโปรตีนเยื่อเปลือกไข่ให้เป็นสารออกฤทธิ์กำจัดแมลงศัตรูพืชประสิทธิภาพสูงด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างของเสีย (Zero-waste Process) เป็นสารอินทรีย์ 100% นอกจากจะทำหน้าที่กำจัดศัตรูพืชแล้ว De-BUGs สลายตัวตามธรรมชาติกลายเป็นแคลเซียม ธาตุอาหารรองสำหรับพืชทุกชนิด เป็นนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพป้องกันและกำจัดเพลี้ย ไล่มดและหอยทาก 

ใช้ได้กับผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ผลไม้ และ พืชไร่ ไม่ต้องกังวลเรื่องการตกค้างและอันตรายจากสารเคมีสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากการฉีดพ่นสารแขวนลอย De-BUGs ความเข้มข้น 0.5% สามารถสร้างความเสียหายแก่ protective wax ของเพลี้ยแป้งภายในเวลา 15 นาที และทำให้เพลี้ยแป้งเป็นอัมพาตภายใน 60 นาที หลังจากนั้น 1 วัน เพลี้ยแป้งที่สัมผัส De-BUGs  จะตายทั้งหมด 

คณะนักวิจัยมีความพร้อมเผยแพร่นวัตกรรมนี้สู่การใช้งานจริงกับเกษตรกรและผู้รักสุขภาพที่ปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมกันนี้ นักวิจัยได้ออกแบบระบบการผลิตแบบ Nano-Factory สำหรับการผลิต De-BUGs จากเปลือกไข่ใช้เองในครัวเรือน โดยใช้อุปกรณ์ในห้องครัวเป็นเครื่องมือผลิต นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) และ WIIPA Special Award สาขาการเกษตร ในงานประกวดและแสดงนวัตกรรมระดับนานาชาติ JDIE 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

วิเคราะห์!! กำแพงใหญ่ขวาง 'จีน' ผงาดแซงหน้าสหรัฐฯ ในเร็ววัน 'ค่าเงิน-ตลาด-นวัตกรรม-แรงฉกฉวยจากประเทศที่เคยตีห่าง'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหรัฐอเมริกาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้ว่าจะมีบางช่วงเวลาที่อาจตกต่ำ 

แต่ภายหลังการวางระเบียบโลก Bretton Woods หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และโดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในราวต้น 1990 นั้น สหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้นำเดี่ยวของโลกอย่างแท้จริง 

โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดประมาณ 25% ของ GDP โลก ทิ้งอันดับ 2 อย่างจีนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 18% ตามอัตราแลกเปลี่ยนตลาด

แม้ว่าจีนจะไล่มาเป็นที่ 2 แบบห่าง ๆ แต่โอกาสที่จะตามสหรัฐฯ ทันในอนาคตอันใกล้คงจะเป็นไปได้ยาก หากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ปริมาณและคุณภาพของกำลังแรงงาน ขนาดของตลาดสินค้าบริการและทุน ตลอดจนระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ยังคงล้ำหน้าอยู่หลายช่วงตัว 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ ว่าจะลดความสำคัญลงจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นอาวุธในการคว่ำบาตรฝ่ายตรงข้าม ก็ยังคงเป็นเงินสกุลหลักในทางการค้าการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ 

"ดอลลาร์ยังคงความเป็นเงินสำรอง (Reserve Currency) สกุลหลักของโลก โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังถือเงินสกุลดอลลาร์เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves)" อ.พงษ์ภาณุ กล่าว

วันนี้ หลายประเทศที่เคยตีตัวออกห่างจากสหรัฐอเมริกา เช่น อินเดีย หรือแม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างเวียดนาม, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็กำลังเอนเอียงกลับไปคบหากับสหรัฐฯ อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยเล็งเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะพึงฉกฉวยได้ ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้าย Supply Chains ออกจากจีน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีพลานุภาพ 

แล้วประเทศไทยล่ะจะยอมปล่อยให้โอกาสเหล่านี้หลุดลอยไปได้อย่างไร?

'จีน' จ่อให้บริการ 'แท็กซี่บินได้' ที่แรกของโลก หลัง 'อี้หาง' ผ่านมาตรฐานการบินแดนมังกรแล้ว

แม้แท็กซี่บินได้ (Air Taxi) จะกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการพัฒนาไปสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีหลายบริษัทจากทั่วโลกที่กำลังเร่งก้าวไปสู่การให้บริการจริง 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า 'อี้หาง' (eHang) บริษัทผู้พัฒนาแท็กซี่บินได้จากประเทศจีน อาจจะเป็นผู้บริการรายแรกของโลกที่ทำได้สำเร็จ หลังผ่านการทดสอบตามมาตรฐานการบินของหน่วยงานจีนแล้ว

สำหรับแท็กซี่บินได้ (Air Taxi) ของอี้หาง (eHang) ซึ่งมีชื่อว่า อีเอช 218 (EH218) นั้น เป็นอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้า (eVTOL) แบบ 8 ใบพัด (Octocopter) ที่มีความกว้าง 5.6 เมตร สูง 1.9 เมตร ทำระยะการบินอยู่ที่ 30 กิโลเมตร รองรับผู้โดยสาร 2 คน โดยรับน้ำหนักรวมกับสัมภาระได้ไม่เกิน 220 กิโลกรัม ด้วยความเร็วสูงสุด 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่แบบชาร์จได้

โดย EH128 จะทำการบินด้วยระบบไร้คนขับแบบคลาวด์ (Unmanned Aircraft Cloud System) ที่จัดการการควบคุมและการจราจรทางอากาศบนระบบคอมพิวเตอร์คลาวด์ผ่านเครือข่าย 5G พร้อมทั้งมีการเฝ้าสังเกตการณ์และควบคุมจากระยะไกลในกรณีที่จำเป็น

ทั้งนี้ อี้หาง เป็นหนึ่งในบริษัทที่พร้อมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะโรงผลิตแท็กซี่บินได้ ได้เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2021 และระบบการบินแบบไร้คนขับก็ได้รับใบอนุญาตจากองค์การบริหารการบินพลเรือนของจีน (Civil Aviation Administration of China: CAAC) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังทดสอบการบินอย่างเต็มรูปแบบในจีนกว่า 10,000 รอบ ในเส้นทางที่ครอบคลุมมากกว่า 20 เมืองใหญ่ทั่วจีน

แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยระยะเวลาแผนงานอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่ากระบวนการอนุญาตของ CAAC ที่รวดเร็วกว่าฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่างเอฟเอเอ (FAA: Federal Aviation Administration) หรือฝั่งยุโรป (EASA) อาจจะทำให้อี้หางเปิดตัวเชิงพาณิชย์ได้เป็นรายแรกของโลก แซงหน้าโจบี้ เอวิเอชัน (Joby Aviation) ตัวเก็งจากฝั่งสหรัฐอเมริกาที่จะเปิดตัวในปี 2024 นี้

‘ญี่ปุ่น’ สร้าง ‘Giraffenap’ ตู้งีบหลับแบบยืนคล้ายยีราฟ ตอบโจทย์วัยทำงาน ‘พักสายตา-ร่างกาย’ จากความเหนื่อยล้า

ออฟฟิศสมัยใหม่ในหลาย ๆ ประเทศเริ่มออกแบบให้มีโซนพักผ่อนสำหรับพนักงาน ไว้ใช้แอบงีบหลับพักสายตาสั้น ๆ บริษัทหัวใสแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นจึงได้เอาไอเดียนี้มาทำเป็น ‘Sleeping Pod’ หรือตู้สำหรับนอนงีบหลับที่ไม่ธรรมดา เพราะว่าออกแบบมาให้ผู้ใช้งานต้อง ‘ยืนหลับ’ คล้ายกับวิธีการยืนหลับของยีราฟ โดยให้ชื่อผลงานนี้ว่า ยีราฟแน็ป (Giraffenap)

สำหรับ Giraffenap เป็นตู้แนวตั้ง ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถนอนหลับในท่ายืนได้ ตัวตู้นี้มีขนาดพอ ๆ กับตู้โทรศัพท์สาธารณะขนาดเล็ก โดยความสูงของตู้อยู่ที่ 2.5 เมตร และกว้าง 1.2 เมตร พร้อมกับออกแบบให้ตู้นี้สามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ รวมถึงยังติดตั้งตัวดับเพลิง พัดลมภายใน ไฟแอลอีดี และตะขอที่แขวนเสื้อมาให้ในตู้ด้วย

ถ้ามองจากภายนอก ตู้นอนหลับแบบยืนนี้ อาจจะดูเหมือนตู้เก็บของ ห้องน้ำหรือแม้กระทั่งห้องสำหรับใช้โทรศัพท์ แต่เมื่อเปิดออกมาจะพบว่าภายในได้ออกแบบตัวที่นั่งอย่างประณีต ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทิ้งตัวนอนในท่ายืน แบบไม่ต้องเกร็งร่างกายเพื่อรับน้ำหนักตัวเองแต่อย่างใด โดยภายในตู้ประกอบด้วยแพลตฟอร์มรองรับน้ำหนักส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งโต๊ะรองแขน เก้าอี้รองก้น แท่นรองเข่า รวมถึงพนักเล็ก ๆ ด้านใต้ตู้ สำหรับรองฝ่าเท้า ทำให้เวลานอน เราจะต้องฟุบหน้าไปกับแขนที่วางอยู่บนโต๊ะ ส่วนขาก็จะอยู่ในลักษณะงอเข่า และเอียงตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย

โดยบริษัท Koyoju Plywood Corporation จากจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตตู้นอนยีราฟนี้ กล่าวว่าบริษัทกำลังมุ่งที่จะสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถมีที่สำหรับงีบหลับได้อย่างง่ายดาย และมองว่าผลงานนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยพัฒนาทั้งในแง่ของธุรกิจของบริษัทและสุขภาพของคนทำงานไปพร้อมกัน เนื่องจากบริษัทมองว่าถ้าคนเราได้งีบหลับ ก็จะเหมือนกับได้ฟื้นฟูร่างกายจากความเหนื่อยล้า ไม่ต้องทนกับอาการง่วงนอนในเวลาทำงาน และตื่นมามีแรงเพื่อที่จะลุยงานต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งกับบริษัทและตัวพนักงานเอง

แต่สำหรับใครที่อยากจะใช้ตู้นี้ มีข้อจำกัดนิดคือจะต้องสูงไม่เกิน 198 เซนติเมตร หรือมีน้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม เพราะถ้าสูงเกินหรือน้ำหนักตัวมากไป ก็อาจจะไม่พอดีกับตู้ได้ ส่วนราคาวางจำหน่ายตู้นอนแบบยืนนี้ อยู่ที่ตู้ละประมาณ 3,000,000 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 740,000 บาท

3 การเคลื่อนไหวใหญ่ของญี่ปุ่น ทวงคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

👉การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของญี่ปุ่น ก้าวสู่ยุคใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือ การออกมาตรการล่าสุดภายใต้กฎหมายฉบับสำคัญที่มุ่งส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่

1.เทคโนโลยีคลาวด์
รัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนโครงการคลาวด์ ของ ‘SAKURA internet’ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้าน AI ของญี่ปุ่น รวมทั้งเร่งให้เกิดการวิจัยและพัฒนา generative AI และการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ภายในประเทศ

2.เซมิคอนดักเตอร์ 
รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจให้เงินทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมชิปเซมิคอนดักเตอร์ 8 โครงการ รวมถึงเงินทุนสนับสนุนให้กับ ‘SHINKO Electric Industries’ สูงถึง 17.8 พันล้านเยน หรือประมาณ 4.4 พันล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศที่ครอบคลุมอุปกรณ์การผลิต ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ วัตถุดิบ ตลอดจนการเป็นฐานการผลิต

3.เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม จำนวน 3 หมื่นล้านเยน หรือคิดเป็น 7.5 พันล้านบาท ภายใต้กฎหมายการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรก ซึ่งมุ่งไปยังผู้ผลิตหลักของกลุ่มเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น โดยรัฐบาลต้องการเสริมสร้างขีดความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ควบคุมที่มีผลกับการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม อุปกรณ์ควบคุมนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับญี่ปุ่นซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ สรุปสาระสำคัญงาน CES 2024 แนะ ‘เศรษฐกิจไทย’ ควรเร่งจับ AI มาประยุกต์

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'AI กับการพัฒนาเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 4 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เทคโนโลยี AI กำลังมาแรงและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกสาขาที่มีการประยุกต์ใช้ โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI หากรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวและเตรียมพร้อมในด้านบุคลากร ฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Consumer Electronics Show (CES) ที่ Las Vegas รัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา CES เป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดเป็นประจำทุกปีที่ Las Vegas ปีนี้ CES มีความยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมีผู้แสดงสินค้ากว่า 4,000 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และกิจการ Start Up ที่คิดค้นนวัตกรรมที่เตรียมเข้าสู่ตลาดและมีผู้เข้าชมกว่า 130,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 วันของการแสดงสินค้า 

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ผู้แสดงสินค้าในนามของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และอิสราเอล ซึ่งนำนวัตกรรมไปแสดงอย่างน่าภาคภูมิใจ น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏนวัตกรรมจากประเทศไทยแม้แต่พื้นที่เดียว ผลลัพธ์ที่ได้อยู่ในรูปของการสั่งซื้อสินค้า การร่วมลงทุน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในระดับ B2C และ B2B

ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน CES ในปีนี้ หนีไม่พ้นสินค้าและบริการที่เป็น Applications ของ AI ในสาขาต่าง ๆ ในด้านสุขภาพและสาธารณสุข เครื่องสวมใส่ (Wearables) เช่น แหวนและกำไร ที่ทำหน้าที่ตรวจติดตามและวินิจฉัยสุขภาพของผู้สวมใส่แบบ real time ทั้งในเรื่องไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนสภาพจิตใจและประสาท

ในเรื่อง Smart Home ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น AI applications จำนวนมากมาแสดง ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการการใช้พลังงานในบ้านเพื่อลดโหลดและสร้างสมดุลการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV การใช้แสงสว่าง การใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

ในสาขาการคมนาคมขนส่ง Taxi Drones และรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Autonomous Taxis) เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีการนำมาใช้จริงในหลายเมืองทั่วโลก เครื่องมือติดตั้งรถยนต์ EV เพื่อใช้ควบคุมและพยากรณ์วิสัย (Range) การขับขี่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่อย่างแม่นยำ ที่ได้คำนึงถึงสภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ และสภาพถนนหนทาง เทคโนโลยี AI ยังนำมาใช้ในระบบบริหารจัดการการจราจรที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำอีกด้วย

ยังมีอีกหลายสาขาที่ AI Applications ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการ การประมาณการ และการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำ สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตร, การศึกษา, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แน่นอน นวัตกรรมเทคโนโลยีย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Tech Giants) ของสหรัฐฯ สามารถตักตวงผลประโยชน์ทางการเงินได้เป็นอันดับต้นๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ก็อยู่ในวิสัยที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้เช่นกัน…

- ประการแรกเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลายสาขา 

- ประการที่สอง AI สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่อิงกับ Smart Phone เป็นหลัก ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ไม่แพ้ใคร และไทยมีสัดส่วน Smart Phones ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก 

- และประการสุดท้าย ไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยี AI จะเข้ามาเสริมทักษะแรงงานไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความเพียงพอมากขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของการนำ AI มาใช้ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของภาครัฐ เราได้ยินนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันให้เกิด Big Data ในทุกภาคส่วน มาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรมเสียที ถึงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว ก่อนที่ไทยจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top