Friday, 3 May 2024
ธรรมชาติ

‘สวนสมดุล’ พื้นที่เชื่อมคนเมืองกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน

ต้องยอมรับว่าวันนี้สังคมโลกในปัจจุบัน เริ่มตระหนักและพูดถึงเรื่องการให้ความสำคัญกับการต่อสู้/ฝ่าฟันปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกกันตั้งแต่ระดับโลก, ประเทศ มาสู่ชุมชน ภายใต้บริบทแห่งการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล เพื่อทะนุถนอมดูแลโลกใบนี้ให้อยู่กับมนุษยชาติต่อไปอีกนานแสนนานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การฟูมฟักสังคมสีเขียว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคนี้ ยุคที่ทุกอย่างอิงแนบไปกับภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิต และเผาผลาญทรัพยากรมหาศาล เพื่อได้มาซึ่งผลลัพธ์แห่งการแข่งขัน รวมทั้งผู้คนที่ขาดความเข้าอกเข้าใจในธรรมชาติ จนหลงลืมว่าชีวิตควรแนบชิดกับธรรมชาติในบางจังหวะ ที่หากทำได้มากเท่าไร ก็อาจจะเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญในการปลุกจิตสำนึกแห่งความรักในโลกได้อย่างจริงจังขึ้น

การชวนมนุษย์ให้ค่อยๆ หลุดเข้ามาสู่โลกที่เป็นมิตร โลกที่เต็มไปด้วยกลิ่นแห่งอายแห่งชีวิตที่คลอเคล้าบนวิถีธรรมชาติ จึงเป็นบทบาทของผู้ที่พร้อมจะสละตนมาเนรมิตบางสิ่งด้วยความตั้งใจ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของสังคม

ด้วยเหตุนี้ THE STATES TIMES จึงอยากพาผู้คนที่ยังขาดจังหวะชีวิตกับวิถีธรรมชาติ มาเริ่มต้นจากการสูดอากาศที่ ‘สวนสมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ อีกหนึ่งสถานที่ตอบโจทย์ผู้คนที่อยากซึมซับในวิถีแห่งธรรมชาติใกล้กรุง เพื่อปรับความสมดุลให้ชีวิต ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ภายใต้จุดเด่นแห่งการพัฒนาเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

'เอี่ยม' อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Somdul Agroforestry Home’ ได้อธิบายคุณค่าแห่ง 'สวนสมดุล' ไว้อย่างน่าสนใจกับยูทูบช่อง ‘Health Addict’ โดยระบุว่า…

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘วนเกษตร’ เป็นการทําเกษตรที่พึ่งพาอาศัยรวมอยู่กับป่า จุดเริ่มต้นของที่นี่ (สวนสมดุล) เริ่มมาจากกลุ่มคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาทั้งหมดเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ มีความรักในธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และก็เริ่มมองหาธุรกิจ ที่สามารถจะอยู่ร่วมกับป่า ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเขียว ๆ รอบ ๆ ตัวเรา

“บทสรุปที่เลือกปักหมุดใน 'วนเกษตร' เพราะผมอยากทําให้คนอื่นเห็นว่า ใครๆ ก็สามารถทําได้เหมือนกัน และเราสามารถนำผลผลิตเชิงวนเกษตรมาใช้ในเชิงธุรกิจได้” คุณเอี่ยมเกริ่น

คุณเอี่ยม อธิบายนิยามคำว่า ‘สมดุล’ เพิ่มด้วยว่า “ที่มาของคําว่าสมดุล มาจากการสร้างความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ กับ คนที่ใช้ชีวิตในเมือง ที่ยังเดินห้าง กินอาหารทั่วไป ซึ่งผมเชื่อว่าสองฝั่งนี้ ใช่ว่าจะไปด้วยกันไม่ได้ มันสามารถมาบรรจบกัน และสร้างความสมดุลได้ คนเมืองก็สามารถสร้างสีเขียว ๆ สามารถปลูกต้นไม้ สามารถดูแลระบบนิเวศรอบ ๆ เมืองได้เหมือนกัน...

“ยิ่งไปกว่านั้น เราอยากจะสร้างโลกสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังเลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เกิดแรงบันดาลใจ และทําให้เห็นว่าการเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่จําเป็นต้องหนีห่างไปจากธรรมชาติ หรือออกไปจากระบบนิเวศสีเขียว เพราะที่สุดแล้ว มันพึ่งพากันได้”

เมื่อข้ามผ่านคอนเซปต์แห่ง 'สวนสมดุล' ก็ได้เวลาที่คุณเอี่ยม จะอธิบายพื้นที่และหน้าที่ต่าง ๆ ในสวนแห่งนี้ โดยเขาเล่าไอเดียที่สอดแทรกในทุกๆ ส่วนของสวนสมดุลไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

“ที่นี่จะใช้ส่วนที่เป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร เป็นจุดสื่อสาร เพราะเป็นจุดที่จับต้องได้ง่าย ทุกคนที่มาก็ต้องกิน ต้องดื่ม และเราก็จะพูดเกี่ยวกับเรื่องวัตถุดิบจากธรรมชาติ วัตถุดิบออร์แกนิก หรือวัตถุดิบปลอดสารที่เรา (สวนสมดุล) ได้มาจากสิ่งที่เราปลูกเอง โดยข้างนอกรอบ ๆ จะใช้เป็นโชว์รูม ปลูกไม้ใหญ่ ๆ และต้นไม้เล็ก ๆ ร่วมกันกับการทําสวนเกษตรอินทรี...

นอกจากนี้ ก็จะมีเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเรื่องกาแฟ คุณภาพดี, การศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศ, พาเด็กดูนก, เก็บไข่ไก่ ได้ไปสัมผัสกับไก่ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่เคยสัมผัส...

"สำหรับไก่ที่เลี้ยงจะเป็นไก่ไข่ และใช้สำหรับในโซนคาเฟ่ทั้งหมด สิ่งที่สําคัญที่สุดของการเลี้ยงไก่คืออาหาร เราจะใช้เป็นอาหารไก่อินทรีย์ที่ทํามาจากพวกพืชอินทรีย์ทั้งหมด มีข้าวโพดอินทรีย์ ใบข้าว" 

นอกจากในโซนคาเฟ่ สวนปลูกพืช และฟาร์มไก่ไข่แล้ว คุณเอี่ยม ยังได้พูดถึงการเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่ด้วย 

"สำหรับเจ้าผึ้งชันโรง เป็นเหมือนเครื่องตรวจวัดสารเคมี เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความไวต่อสารเคมีมาก หากในพื้นที่รอบ ๆ มีระดับความรุนแรงของสารเคมีมากเกินไป รังผึ้งชันโรงก็จะร่อแร่ และอาจจะตายยกรังได้ ฉะนั้นหากมีรังผึ้งชันโรงที่สมบูรณ์ แข็งแรง ก็หมายความว่า พื้นที่รอบ ๆ ปลอดภัยจากสารเคมีนั่นเอง...

"โดยการเลี้ยงผึ้งชันโรงนั้น ต้องเลี้ยงแบบกระจายตัว ต้องวางห่าง ๆ กันเพื่อให้ได้ผลผลิตที่หลากหลาย อาจจะได้ผลผลิตมากถึง 2-4 เท่าเลย เนื่องจากชันโรงเป็นแมลงตัวเล็ก สามารถตอมดอกไม้เล็ก ๆ หรือสมุนไพร เป็นตัวช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีววิทยา และเมื่อได้ศึกษาลงรายละเอียดแล้ว ก็พบว่าผึ้งชันโรงไม่ได้ดุร้ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ พวกมันน่ารัก และไม่ได้จ้องจะทำร้ายด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ผึ้งชันโรงยังมีประโยชน์มาก ๆ และหากสูญพันธุ์ไป โลกก็จะขาดนักผสมพันธุ์เกสร จะขาดอาหาร และสุดท้ายมนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ตามไปในที่สุด"

เมื่อถามถึงเรื่องผลตอบแทนจากการทำสวนสมดุล? คุณเอี่ยม กล่าวว่า “การที่ทําธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในยุคนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เนื่องจากคนที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม อาจจะยังมีไม่มากพอ ส่งผลให้รายได้ที่จะวนกลับมาเลี้ยงชีพก็ยังไม่ได้เยอะมาก เรียกว่าต้องทนลําบากในช่วงแรกพอสมควร เพื่อหวังผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

คุณเอี่ยม กล่าวเสริมว่า “แต่ในขณะเดียวกันผมรู้สึกว่าผม ‘จําเป็น’ ต้องทํา เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้เป็นต้นแบบ และทําให้คนอื่นเห็นว่าสามารถทําได้จริง ๆ และหากเราสำเร็จและมีเครือข่ายอื่น ๆ ที่ทําไปด้วยกันกับเรา คนที่จะทําตามหลัง ก็จะไม่ยากลำบากอย่างที่เราเป็นแล้ว”

ในช่วงท้าย คุณเอี่ยมได้ตอกย้ำเรื่องความสมดุลไว้อีกว่า “หัวใจหลักของความสมดุลที่ดีในการใช้ชีวิต อยู่ที่ระบบนิเวศ ถ้าเกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์หรือสามารถดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เราก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากระบบนิเวศนั้น ๆ ได้ความร่มเย็นกลับมา ได้อากาศที่ดีกลับมา เป็นผลพลอยได้ที่ทุกคนมักจะลืม เพราะมัวแต่โฟกัสที่ผลกําไรของมันว่าจะเป็นยังไง ให้ผลผลิตแบบไหน ซึ่งผมมองว่าเรื่องระบบนิเวศ เป็นเรื่องผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เห็นชัดเจนรวดเร็ว อาจจะไม่ใช่เพื่อรุ่นเรา แต่เพื่อรุ่นลูกหรือหลานของเราในอนาคต"

***FYI
‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด

‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ หมายถึง การมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิด นานาพันธุ์ในระบบนิเวศอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก หรือกล่าวง่าย ๆ คือ การที่มีชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ และระบบนิเวศ ที่แตกต่างหลากหลายบนโลก อย่างไรก็ตาม ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียที่อยู่อาศัย การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ตลอดจนมลพิษ และการใช้ยาฆ่าแมลง

การจัดอันดับจาก Mongabay คำนวณจากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ภายในประเทศ เช่น พืชมีท่อลำเลียง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และปลา

‘บราซิล’ เป็นที่รู้จักและโดดเด่นในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และมักได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ส่วน ‘ประเทศไทย’ ในปี 2023 ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่อันดับที่ 18 ขยับขึ้นจากอันดับ 20 ในปี 2022

‘ดร.ธรณ์’ เปิดภาพ ‘ปะการังไทย’ ยุคโลกร้อนทะเลเดือด เศร้าใจ!! ภัยทางธรรมชาติทำลายความสวยงามท้องทะเลไทย

(29 เม.ย. 67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Thon Thamrongnawasawat’ ระบุว่า นี่คือปะการังไทยในยุคทะเลเดือด เป็นปะการังหน้าตาประหลาด ทำงานในทะเลมาเกือบ 40 ปี ผมไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน จนมาถึงยุคนี้แหละ

เดิมทีเป็นปะการังก้อนสีสันงดงาม เป็นที่อยู่ของกุ้งน้อยปูเล็ก หอยมือเสือและดอกไม้ทะเล ยังมีปลาพ่อปลาแม่และปลาน้อย อาศัยปะการังเป็นบ้าน เป็นที่คุ้มภัย

เมื่อ 5-6 ปีก่อน ผลของโลกร้อนเริ่มรุนแรง น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำลดต่ำผิดปรกติ แดดแรง ปะการังเริ่มฟอกขาว

แต่พวกเธอพยายามสู้ ฟื้นขึ้นมาได้ แต่บนหัวเริ่มตายเพราะโดนแดดเต็ม ๆ ที่พอมีชีวิตคือด้านข้าง หากเป็นทะเลภาวะปรกติ ฟอกขาวหนหนึ่งแล้วหายไป 7-8 ปี ปะการังด้านข้างจะลามขึ้นมาบนหัว ทำให้ทั้งก้อนกลับมามีชีวิต

แล้วทะเล 5-6 ปีที่ผ่านมาปรกติไหม?

คำตอบคือไม่ น้ำร้อนแทบทุกปี ปะการังฟอกขาวเป็นประจำ มากบ้างน้อยบ้าง แต่พวกเธออ่อนแอลง แทนที่ปะการังด้านข้างจะลามขึ้นมาด้านบน กลับกลายเป็นหดหายเสียพื้นที่ลงไปเรื่อย ๆ จนค่อนก้อนกลายเป็นปะการังตาย ปะการังจิ๋วที่เพิ่งลงเกาะใหม่ เธอยังพยายามสู้ เติบโตเป็นปะการังก้อนน้อยบนซากของรุ่นก่อน แล้วก็มาถึงช่วงนี้ น้ำร้อนจี๋ 32-34 องศาติดต่อกันมา 3-4 สัปดาห์ปะการังที่เหลือเพียงน้อยนิดฟอกจนขาวจั๊วะ โอกาสรอดแทบไม่มี เพราะน้ำยังไม่มีท่าทีว่าจะเย็นลง ฝนยังไม่มา ปะการังก้อนน้อยที่อยู่บนหัว สู้มาหลายปี มาบัดนี้เธอก็ฟอกขาวเช่นกัน

จุดจบปะการังก้อนนี้คือตายทั้งก้อน ก้อนเก่าและก้อนใหม่ ไม่มีกุ้งน้อย ไม่มีปูเล็ก ไม่มีปลาพ่อแม่ลูก ไม่มีชีวิตสุขสันต์ใต้ทะเลไทย ไม่มีความสวยให้คนมาดู ไม่มีบ้านสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเลอีกต่อไป

ตายๆๆ ไม่ใช่ก้อนเดียว แต่เป็นพันก้อน หมื่นก้อน แสนก้อน ล้านก้อน ตำนานหลายล้านปีของระบบนิเวศยิ่งใหญ่ที่สุดในท้องทะเล สวยและหลากหลายที่สุดในโลก มาถึงบทอวสาน ภาพนี้เพื่อนธรณ์ส่งมาจากชุมพร วันนี้ แต่ยังมีอีกหลายที่ ชลบุรี ระยอง เรื่อยไปจนถึงตราด หรือเลยลงไปทางใต้ สมุย พะงัน เราพบปะการังประหลาดได้ทั่วไป

ปะการังที่ร่อแร่ใกล้ตาย มาถึงจุดสุดท้ายในปีที่ทะเลเดือดสุด ตายทั้งก้อน ไม่มีโอกาสฟื้นคืนกลับมา ที่แค้นสุดคือเราได้แค่มองดูเธอตาย ไม่มีทางช่วย ไม่มีหนทางอื่นใด มันคือโลกร้อนทะเลเดือด มันคือภัยพิบัติครั้งใหญ่สุดของท้องทะเล และมันจะแรงยิ่งขึ้น ๆ ในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าปะการังในโลกจะพินาศเกือบหมดสิ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่ทะเลไทยอาจไม่นานขนาดนั้น โดยเฉพาะในอ่าวไทย แค่นี้ก็ตายไปเยอะแล้ว และจะยิ่งตายเยอะ ตราบใดที่อุณหภูมิน้ำยังไม่ลดลง

ตายๆๆ จนหมดท้องทะเล

อ่านถึงประโยคนี้ ผมรู้ดีว่าเพื่อนธรณ์เศร้า แถมเป็นความเศร้าที่แทบไร้หวัง แต่พรุ่งนี้ยังมี แล้วเราจะเบือนหน้าหนีเธอไหม ?

ไม่ต้องโทษคนอื่น ไม่ต้องเหลียวมองคนข้าง ๆ ว่าจะทำหรือไม่ ? ก็แค่ถามใจตัวเอง เราจะทำเช่นไร ? ก็แค่ถามใจตัวเอง…

หมายเหตุ - ทำอย่างไรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ทุกท่านทราบดี ลดขยะ ลดน้ำทิ้ง ไม่กินฉลาม ปลานกแก้ว สัตว์หายาก ไม่ให้อาหารปลา เก็บขยะ ฯลฯ เป็นเรื่องที่พวกเรารู้ดีอยู่แล้ว สนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี ไม่สนับสนุนคนที่เอาเปรียบธรรมชาติ ช่วยคนที่พยายามสู้เพื่อรักษาป่าไม้ ทะเล และโลก ก็แค่ทำต่อไปและทำให้มากขึ้น มากๆๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top