Saturday, 4 May 2024
ธนาคาร

World Bank’ คาดเศรษฐกิจโลกปี 66 โตเพิ่มอีก 2.1% เตือน!! นโยบายธนาคารทั่วโลกอาจทำจีดีพีปีหน้าชะลอตัว

ธนาคารโลก (World Bank) ปรับขึ้นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ หลังจากทิศทางเศรษฐกิจอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกฟื้นตัวดีกว่าคาด แต่ได้เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ในปีหน้า

รายงานทิศทางเศรษฐกิจโลกของ World Bank ที่เปิดเผยในวันอังคาร ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาที่ 2.1% ในปีนี้ เพิ่มจากระดับ 1.7% ในการประมาณการณ์เมื่อเดือนมกราคม แต่ยังถือว่าต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2022 ที่ขยายตัว 3.1%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก หั่นคาดการณ์จีดีพีโลกในปีหน้าลงมาที่ 2.4% จากระดับ 2.7% ในเดือนมกราคม โดยอ้างถึงผลกระทบจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการลงทุนในภาคธุรกิจ ก่อนที่เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะกลับมาเติบโตในระดับ 3.0% ในปี 2025

เมื่อมองเป็นรายประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ World Bank ปรับคาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐฯ จะขยายตัว 1.1% ในปีนี้ เพิ่มจาก 0.5% ในเดือนมกราคม และเศรษฐกิจจีนจะโต 5.6% จากระดับ 4.3% ในเดือนมกราคม แต่สำหรับในปีหน้านั้น ธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะโตเพียง 0.8% และหั่นเป้าเศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวที่ 4.6%
 

2 อดีต อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้!! ดอกเบี้ยจะลดหรือไม่ อยู่ที่โครงสร้างตลาด ส่วนการผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่นในตลาดเสมอไป

(4 ก.ค.66) จากเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ได้โพสต์อธิบายความ กรณีแคนดิเดตขุนคลังจากพรรคก้าวไกล ที่โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้ เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน ว่า...

ศิริกัญญา, ทำไมคุณถึงมั่วได้ขนาดนี้

แนวคิดของศิริกัญญาไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใดเลย

- ศิริกัญญาเอาจำนวนธนาคารไปผูกพันกับจำนวนประชากร แล้วสรุปเอาเองอย่าง “สุกเอาเผากิน” ว่า ...ไม่เพียงพอ !!

- ศิริกัญญาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “หวง” ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้  ... เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน 

ผมมึนกระโหลกกับตรรกะและภูมิรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของศิริกัญญามาก

ก่อนอื่นขอเอาประเด็นเรื่อง 'หวง' ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารมาชี้แจงก่อนนะ 

ธนาคารเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ เพราะสามารถ 'สร้าง' เงินได้จากการปล่อยสินเชื่อ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกดอกที่ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในฐานะที่ควบคุมปริมาณเงินจำต้องเข้มงวด เพราะหากมีเงินมากกว่าสินค้า เงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น 

ไม่มีประเทศไหนอยากเป็นแบบซิมบับเว หรือเวเนซูเอลา ที่ธนาคารกลางถูกนักการเมืองสั่งให้พิมพ์เงินออกมาตามที่รัฐบาลต้องการได้หรอก 

ผลคือ มีเงินเฟ้อเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี !! 

แต่ที่สำคัญไปกว่าเงินเฟ้อก็คือเงินฝาก หากไม่ 'ควบคุมให้ดี' ธนาคารก็เจ๊ง 

คนเดือดร้อนคือผู้ฝากเงิน เพราะธนาคารเอาเงินคนอื่นมาปล่อยกู้ไม่ได้ใช้เงินตนเอง 

มีโอกาสที่มันจะลาม Bank Run ไปทั้งระบบสถาบันการเงิน

หากธนาคาร ก. ล้มและไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้ ธนาคาร ข. ค. ง. และทำให้ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจถอนเงินมาเก็บไว้กับตัว 

ในอดีตที่ธนาคารตราดอกบัวเคยเอาเงินสดหลายสิบล้านบาทมากองไว้ที่เคาเตอร์ถอนเงินเมื่อตอนศิริกัญญาอาจจะยังไม่เกิด ก็เพื่อสยบความไม่มั่นใจจากเหตุข้างต้น เคยรู้บ้างไหม?

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะลดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดต่างหาก 

การผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น (คนซื้อคนขาย) ในตลาดเสมอไป 

หากจำนวนธนาคารมีเพิ่มเป็น 20 แห่งตามที่ศิริกัญญาอยากได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลง 

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

ศิริกัญญาเอา 2 เรื่องมาปนกันอย่างไม่น่าให้อภัย สำหรับผู้ที่จะอ้างตัวว่ามีความสามารถ (แต่อายุน้อย) อยากจะเป็นรัฐมนตรีคลัง คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ เงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน

อย่างหลังเกิดเพราะ...

(1) คำโฆษณา เช่น 'เงินด่วน' / 'ไม่ตรวจประวัติ' / 'ไม่ต้องยื่นเอกสาร' ซึ่งอาจจะตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เช่น ไม่มีงานทำที่แน่นอน หรือ มีประวัติเสียทางการเงิน (ติดเครดิตบูโร) 

แต่อีกเหตุก็คือ (2) ความมักง่ายและไร้ซึ่งวินัยทางการเงิน ฟุ้งเฟ้อตามกระแสในโซเชียล เช่น 'ของมันจำเป็นต้องมี'

ผู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบก็คิดเป็นเช่นกันว่าลูกค้าของเขาคือใคร มีลักษณะอย่างข้างต้นหรือไม่ และถ้าเป็นจะปล่อยเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกหรือแพงกว่าละ !! 

ถ้าจะยึดหลักเสรี (ทางเศรษฐกิจ) ให้เท่าเทียมกัน จะไปขัดขวางไม่ให้เขาคิดดอกเบี้ยสูงสำหรับลูกค้าความเสี่ยงสูงกลุ่มนี้ได้อย่างไร 

คิดซิ. . .คิด ศิริกัญญา !!

แต่ผมเชื่อว่าคุณแกล้งโง่ ... เพื่อหลอกพวกคนโง่ที่เป็นสาวกพรรคก้าวไกลของคุณ ที่คิดเองไม่เป็น เรียนรู้เองไม่เป็น และหาข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณเองไม่เป็นมากกว่า

แต่ถ้าศิริกัญญาคิดและเชื่ออย่างที่ศิริกัญญาพูดในคลิป Tik Tok จริงๆ ... ผมคงขนหัวลุกแน่นอน ถ้าวันใดที่ศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีคลังบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

ส่วนอย่างแรกคือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของคนบางกลุ่มนั้น 

Virtual Bank (VB) อย่างที่ศิริกัญญาน่าจะจำขี้ปากหรืออ่านแค่ไม่กี่บรรทัดแล้วนำมาพูดใน Tik Tok 

ขอโทษที่ต้องบอกตามตรงว่าศิริกัญญาไม่รู้จริงเลย มีแต่โวหารล้วนๆ มาดูของจริงก่อนเปนไร

VB หรือที่บางประเทศรู้จักกันในชื่อ Internet Only Bank, Digital Bank หรือ Neobanks ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีแล้วในหลายประเทศ 

ญี่ปุ่นมี Rakuten Bank ซึ่งเป็น Internet Only Bank มาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จีนมี Webank ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556-2557 

คุณลักษณะสำคัญคือ 'ไร้รูปลักษณ์ทางกายภาพ แต่ไม่ไร้ซึ่งบริการ' 

อาจไม่มีเครื่องรับฝาก/ถอนอัตโนมัติ(ATM) เพราะสามารถใช้ร่วมกับธนาคารดั้งเดิม หรือทำผ่านร้านค้าที่เป็นตัวแทน เช่น 7-11 หรือ ไปรษณีย์ ได้ 

ไม่มีสาขาในอาคารห้างร้านและที่สำคัญเปิด 24-7 ไม่มีเวลาปิดเลย 

ลูกค้า VB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากด้วยตนเอง ยื่นเรื่องขอกู้เงิน วางแผนการออมและการลงทุน รวมไปถึงการใช้บริการอื่นๆ ของธนาคารบนแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์มือถือ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยี Biometrics 

ศิริกัญญาจะได้เห็นการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด เช่น บริการสินเชื่อขนาดเล็กแก่ผู้มีรายได้น้อย บัญชีเงินออมเงินหลายสกุลที่ใช้ได้ในหลายประเทศ ออกบัตรเครดิตที่ให้แต้มด้านสิ่งแวดล้อม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็ก รวมไปถึงบัตรเดบิตที่ไม่ต้องใช้ชื่อและเพศตามบัตรประชาชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่พรรคคุณเรียกร้อง 

เอาง่ายๆ แค่นี้ ศิริกัญญาคิดบ้างไหมว่าต้นทุนบริการจะถูกลงกว่าเดิมเยอะมาก เมื่อต้นทุนถูกลงมากจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ไหม 

บริการธนาคารต่างๆ มันจึงอยู่รอบตัวประชาชน 70 ล้านคนอยู่แล้ว 

ใบอนุญาตแค่ 3 ใบที่ออกใหม่ก็แข่งกันแย่แล้ว ไม่ต้องคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชัน 

แต่ละ VB ก็อาจจะเข้ามาเชิญชวนใช้บริการถึงหน้าจอมือถือเลยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ รองรับคนกู้ที่ไม่น่ามีถึง 70 ล้านคนได้อย่างสบาย

ไม่ได้จำเพาะเจาะเฉพาะศิริกัญญา แต่หากใครจะเสนอหน้ามาเป็นรัฐมนตรีคลัง มันต้องมี 'กึ๋น' มากกว่านี้ 

ถ้ามีกึ๋นแค่นี้ ผมไม่ได้ดูถูกหรือกดขี่ทางเพศหรอกนะ แต่บอกตามตรงว่า คุณเป็นได้อย่างมากแค่หน้าห้องรัฐมนตรี คอยยกน้ำชากาแฟเท่านั้น

~ ชวินทร์ ลีนะบรรจง, ศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คลิป Tik Tik ของศิริกัญญา เป็นเรื่องแหกตาระดับชาติ ของคนที่ไม่รู้จริงอะไรเลยในเรื่องการเงิน 

ถ้าศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีการคลังจริงๆ คือ คนทั้งประเทศปล่อยให้ทารกสามขวบเล่นแกะระเบิดมืออยู่โดยไม่ห้ามปราม นั่นเอง

~ สุวินัย ภรณวลัย, รศ.ดร.อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่องผลงานแบงก์พาณิชย์ไทย ไตรมาส 2/66 สินเชื่อหดตัว 0.4%

🔎ผลงานธนาคารพาณิชย์ไทยครึ่งปีแรกยังแข็งแกร่ง!!

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์หดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ หลังมีการขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะการชำระคืนสินเชื่อ SMEs และ Soft loan วงเงิน 138,000 ล้านบาท 

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์บริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing (oan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 2 ปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ 492,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.67

'แบงก์ชาติฯ' ออกเกณฑ์เข้ม!! ห้ามแอปฯ ธนาคารล่ม หากล่ม!! ต้องไม่เกิน 8 ชม.ต่อปี ปรับสูงสุดครั้งละ 5 แสน

(31 ต.ค.66) นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ ธปท.จะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยได้ระบุถึงบทลงโทษหากระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด ซึ่งได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารจะขัดข้อง หรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงภายใน 1 ปี คือการล่มต้องหยุดชะงัก

“ถ้าหากล่มนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี จะมีบทลงโทษตามระดับความรุนแรงเริ่มจากตักเตือน สั่งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จนโทษสูงสุดคือโทษปรับสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะปรับเพิ่ม 5,000 บาทต่อวัน”

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง เมื่อตรวจดูจากข้อมูลพบว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีอัตราการขัดข้อง หรือระบบโมบายแบงก์ล่มลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าการปรับปรุงประกาศการกำกับความเสี่ยงด้านไอทีนั้น จะช่วยให้ธนาคารเร่งพัฒนาระบบและการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้งลดน้อยลงกว่าเดิม

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง ข้อมูลไตรมาส 3/2566 ที่เพิ่งออกมาล่าสุด หากดูโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องรวมกันมี 4 ครั้ง ระยะเวลารวม 4 ชั่วโมง น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไตรมาสก่อนหน้าที่มีการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้ง 6 ครั้ง รวมกันนานถึง 11 ชั่วโมง โดยไตรมาส 3 มีธนาคารโมบายแบงก์กิ้งขัดข้อง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ครั้งนาน 1 ชั่วโมง ธนาคารทหารไทยธนชาต 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง และธนาคารกรุงเทพ 1 ครั้งนานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

นายภิญโญ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบไตรมาส 2 ก่อนหน้านั้น มีระบบโมบายแบงก์กิ้งธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง รวมกัน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ขัดข้อง 2 ครั้ง แต่ล่มนานถึง 5 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงไทย 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง, ธนาคารกสิกรไทย 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง และธนาคารทหารไทยธนชาต ล่ม 1 ครั้ง นานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในไตรมาส 3 ปี 66 มีเพียงสาขาของธนาคารเกียรตินาคินภัทรเท่านั้นที่ขัดข้อง 1 ครั้งนาน 2 ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นทั้งอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและตู้เอทีเอ็มไม่มีการขัดข้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

'รัดเกล้า' เผย!! 6 ธนาคาร ขานรับนโยบายรัฐ พาเหรด!! หั่นดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

(29 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารหลายแห่งร่วมขานรับนโยบายรัฐบาล หลังสมาคมธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป 

โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม อันเป็นผลจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารธนาคารมาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ จากนั้นสมาคมธนาคารก็ได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกฯ ชื่นชมสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนโดยรวม

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ร่วมขานรับนโยบาย อาทิ 

1.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ปรับดอกเบี้ยลง 0.4% เหลือ 6.35% แบงก์แรกของรัฐที่ลดและลดดอกเบี้ยเหลือต่ำที่สุด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.นี้ 

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลูกค้ากู้บ้าน 1.8 ล้านราย 

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 

4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% 

5.ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนนี้ 

และ 6.ธนาคารออมสิน ปรับลดดอกเบี้ย 0.40% เหลือ 6.95% ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และลดให้อัตโนมัติ ไม่ต้องติดต่อธนาคาร เป็นต้น

“ประชาชน และกลุ่ม SMEs ถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การปรับลดดอกเบี้ยแม้เพียงแค่ 6 เดือน แต่ก็ช่วยให้สามารถเอาไปต่อยอดได้ โดยรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าหามาตรการ และแนวทาง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง” นางรัดเกล้า กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top