Monday, 20 May 2024
ตลาดหุ้น

‘เศรษฐา’ ส่งสัญญาณ!! ผ่าตัดใหญ่ตลาดหลักทรัพย์  ยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีเป้าหมายปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลประชาชนผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น

การปรับโครงสร้างองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ โดยกรรมการตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันมีจำนวน 11 คน เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มาจากการสรรหาและการคัดเลือกของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 คน คือนายภากร ปิตธวัชชัย

อีก 6 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอีก 4 คนเป็นตัวแทนจากบริษัทสมาชิกหรือตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์ โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ
.
โครงสร้างใหม่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายขึ้น โดยมีตัวแทนกระจายในแต่ละกลุ่มอาชีพ รวมทั้งตัวแทนของประชาชนผู้ลงทุน ส่วนตัวแทนของโบรกเกอร์อาจลดจำนวนเหลือเพียง 1 คน เพราะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กระจุกตัวในกลุ่มคนแวดวงตลาดทุนและอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลังหรืออดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ

กรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ขาดความหลากหลาย และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน นำไปสู่ข้อจำกัดแนวความคิดในการแก้ปัญหาตลาดหุ้น และการขาดความกระฉับกระเฉงในมาตรการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน ซึ่งเห็นได้ชัดจากความเสียหายกรณีการแต่งบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘STARK’ ซึ่งถือเป็นความหละหลวม บกพร่องร้ายแรงของตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนั้น เมื่อพฤติกรรมโกงใน STARK ถูกเปิดโปง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับดำเนินการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ทั้งที่มีอำนาจในการกำกับ ควบคุมดูแล และจัดการแก้ปัญหาได้ในทันที เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง

อีกเป้าหมายการจัดโครงสร้างการบริหารงานภายในที่นายเศรษฐา ให้ความสำคัญคือ การรื้อฟื้นบทบาทของฝ่ายกำกับ ซึ่งปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายการตลาด โดยจะยกระดับบทบาทการทำงานของฝ่ายกำกับให้มีความเข้มข้น

แยกเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและมีความคล่องตัวในการทำงาน มุ่งการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญาณการเกิดปัญหา และมีฝ่ายที่จะตรวจสอบงบการเงิน รวมทั้งธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะ โดยเมื่อพบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุนจะเข้าแก้ไขในทันทีตั้งแต่ต้นน้ำ

ไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม จนสร้างความเสียหายให้นักลงทุน และกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดในบริษัทจดทะเบียนหลายกรณี

ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเหมือนองค์กรในแดนสนธยา เพราะสาธารณชนไม่มีโอกาสรับรู้เงินเดือนของกรรมการและผู้จัดการ ไม่รู้อัตราโบนัสพนักงานในแต่ละปี และไม่รู้การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในการดูแลกรรมการทั้ง 11 คน

รายได้ของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมแล้วปีละประมาณ 30 ล้านบาท และกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเดินทางดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเดินทางสายการบินระดับเฟิร์สคลาส พักโรงแรมหรู กินอาหารชั้นดีราคาแพง

และแม้แต่การจัดเลี้ยงงานประชุมกรรมการ ยังสั่งไวน์ราคาแพงๆมาจิบกันเพลิน ทั้งที่การทำงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มักสายเกินไปเสมอ โดยปัญหาเกิดขึ้นลุกลามบานปลายแล้ว ประชาชนผู้ลงทุนได้รับความเสียหายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จึงลงไปแก้ไข

รวมทั้งการใช้มาตรการกำกับหุ้นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังนักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นทำกำไรออกไปก่อนแล้ว และมีกรณีล่าสุดหุ้นในตลาด MAI ที่ราคาถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง ก่อนที่จะถูกถล่มขายจนราคาดิ่งลงหนัก ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรขาดทุนป่นปี้

การรื้อโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ กำลังคืบคลานเข้ามา และเมื่อการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา เข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อาจเกิดขึ้นทันที

แน่นอนว่า กรรมการตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 11 คน จะต้องมีใครไปใครอยู่ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

เป้าหมายในการปกป้องประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไม่ให้เสียหายจากการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากตลอดเกือบ 50 ปีถูกกำหนดไว้แล้ว

และการรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกปล้นจากแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นของรัฐบาลเศรษฐา

มหากาพย์เบี้ยวหนี้ ‘หุ้นกู้’ 3.9 หมื่นลบ. ส่อเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นตลาดหุ้นกู้

ปี 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทยอย่างมาก ทั้งจากกรณีทุจริตทางบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปจนถึงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ที่ทยอยผุดออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปีมาจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ย่อมสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และสร้างความเข็ดขยาดให้กับนักลงทุนรายย่อย รวมไปถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้รายใหญ่ ที่ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เงินคืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า หุ้นกู้ภาคเอกชน คือ “ตราสารหนี้" เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ออกโดยภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอยืมเงินจากคนที่มีเงินเอามาใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับบริษัท

แต่ทว่า หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ส่งต่อสภาพคล่องของบริษัทที่ออกหุ้นกู้อย่างหนัก กระทั่งเกิดสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงคิดเป็นมูลค่ากว่า 39,000 ล้านบาท 

โดยนายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง สงครามความขัดแย้ง และเศรษฐกิจประเทศที่เกี่ยวข้องกับไทยยังมีปัญหา ทำให้ภาพการลงทุนอยู่ในโหมดระมัดระวัง แต่ยอมรับว่าคาดเดายากว่าจะมีหุ้นกู้ที่มีปัญหาหรือเสี่ยงที่จะเป็นหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 6 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท ได้แก่...

- หุ้นกู้ บมจ.ช.ทวี (CHO) 4 รุ่น มูลค่า 409 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ. ออลล์อินสไปร์ (ALL) 7 รุ่น มูลค่า 2,334 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บจ. เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ (DR) 2 รุ่น มูลค่า 1,210 ล้านบาท
- หุ้นกู้ บจ. พี พี ฮอลิเดย์ (PPH) 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท

ส่งผลให้มูลค่าคงค้างที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 39,412 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน เพียงเริ่มต้นปี 2567 ได้เพียงไม่กี่วัน ก็มีข่าวใหญ่ในตลาดทุนไทยออกมาให้นักลงทุนสะท้านกันอีกระลอก เมื่อ หุ้นกู้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทย ส่อแววจะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่าสูงถึง 14,500 ล้านบาท ซึ่งทางบริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 17 มกราคมนี้ เพื่อที่จะเจรจาขอยืดหนี้ 2 ปี

นอกจากนี้ ยังมี บจ.สยามนุวัตร จำกัด (SWD) ได้ขอเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 มูลหนี้รวม 520 ล้านบาท ออกไปเป็นปี 2568

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มเข็ดขยาดและหวาดวิตกต่อการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนพอสมควร จนส่งผลต่อแผนระดมทุนด้วยหุ้นกู้ของหลายบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้หมดตามกรอบวงเงินที่วางไว้

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในปี 2567 จะมีหุ้นกู้เอกชนระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระคืนกว่า 890,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่มีอันดับเครดิตตํ่ากว่า BBB- และหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Non Rating) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% หรือ 89,000 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าอาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม หรือ Rollover Bond ที่จะครบกำหนดได้ จนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท 

หากสถานการณ์เลวร้ายลง คงต้องพึ่งพาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจจะใช้วิธีก่อตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้ขึ้นให้ความช่วยเหลือ เพราะถ้าปล่อยให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนมีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากนี้ จะยิ่งสร้างความหวั่นวิตก และทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบตลาดทุนไทยอย่างแน่นอน

'บังโต' ลุยปั้นแบรนด์ 'เนื้อแท้' โกอินเตอร์ ปักธงกำไรร้อยล้าน ปูทางเข้าตลาดหุ้น

(16 พ.ค. 67) นายวีรชน ศรัทธายิ่ง CEO บริษัท คอมพานี บี จำกัด หรือ ‘โต ซิลลี่ฟูล’ อดีตนักร้องชื่อดัง ที่ผันตัวทำธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ ‘เนื้อแท้’ กล่าวว่า ตลาดร้านอาหารในประเทศมีการแข่งขันที่สูง สาเหตุหลัก ๆ มาจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากร้านอาหารในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลาย ต้องการความสะดวก รวดเร็ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารจะสูง แต่ทางเรามั่นใจในคุณภาพของร้านเนื้อแท้ ด้วยจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เช่น เน้นคุณภาพของเนื้อ และสูตรอาหารเฉพาะ เน้นความอร่อยและคงรสชาติของเนื้อแท้

สำหรับปีนี้ คอมพานี บี มีแผนเปลี่ยนเนื้อวัวรูปแบบเดิมให้กลายเป็น ‘เนื้อแองกัส’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เนื้อแท้, เนื้อแท้ Wok, The Beef Master, เซียนเตี๋ยว และเนื้อแท้บุชเชอรี่ และเนื้อแท้ Wok กะ Steak (เป็นสตรีทฟู้ดโมเดลใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว) ทั้งหมด ภายใน 4-5 เดือนต่อจากนี้ ปัจจุบันบริษัท มีธุรกิจร้านอาหารในเครือ 7 แบรนด์ แบ่งเป็น 21 สาขาใหญ่ 8 สาขาย่อย รวมเป็น 29 สาขา และมีธุรกิจขายเนื้อสดอีก 1 แบรนด์ คือ เนื้อแท้บุชเชอรี่

นาย นภศูล รามบุตร ตำแหน่ง Operating executive บริษัท คอมพานี บี จำกัด กล่าวว่า ปี 2565 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัว 360 ตัน ต่อมา ปี 2566 มีการนำเข้า 400 ตัน และล่าสุดปีนี้คาดว่าจะนำเข้าวัวแองกัส 700 ตัน จากการขยายสาขาอีก 4 สาขาใหญ่ และ 2 สาขาย่อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงการเปิดรับกลุ่มลูกค้าที่สนใจในผลิตภัณฑ์ สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และลูกค้ารายย่อยทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 29 สาขา และจะเปิดให้บริการทั้งสิ้น 35 สาขาในปีนี้

ในอนาคต Wok กะ Steak อาจจะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศด้วยกลยุทธ์ ‘แฟรนไชส์’ โดยเล็งเป้าไปที่ตลาดที่มีศักยภาพอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ตะวันออกกลาง ซึ่งในตลาดเหล่านี้กระตุ้นให้ Wok กะ Steak มองหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา กลยุทธ์นี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกศักยภาพ ของ Wok กะ Steak ผลักดันธุรกิจอาหารไทยก้าวสู่ แบรนด์ระดับภูมิภาค (Regional Brand)

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ทำรายได้แตะ 750-800 ล้านบาท เติบโตจากปี 2566 ที่ทำรายได้ 500 ล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจระยะยาวมุ่งสู่การระดมทุนในตลาดหุ้นไทย โดยตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำ 1,500 ล้านบาท และมีกำไร ‘ร้อยล้านบาท’ ส่วนไตรมาส 1 ที่ผ่านมาทำรายได้ 150 ล้านบาทแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากร้านอาหาร 70% และรายได้จากเนื้อสัตว์ 30%

ส่วนแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีแผนจะลงทุนก่อสร้างโรงงานเพิ่มเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เติบโต อีกทั้งขยายสาขาของร้านอาหาร พัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ และเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top