Friday, 10 May 2024
ตลาดน้ำมัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 20 - 24 พ.ย. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 27 พ.ย. - 1 ธ.ค. 66

ตลาดน้ำมันติดตามการประชุมกลุ่ม OPEC+ วันที่ 30 พ.ย. นี้

-ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุด 20-24 พ.ย. 66 เพิ่มขึ้นกว่า $0.67-1.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนักลงทุนและผู้ค้าที่ลดการถือครองสัญญาน้ำมันดิบในช่วงก่อนหน้า กลับมาเข้าซื้อเพื่อปรับสถานะการลงทุน และทำกำไร (Short Position Covering) ในตลาดล่วงหน้า

ทั้งนี้ ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 21 พ.ย. 66 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลง 15,880 สัญญา จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 155,105 สัญญา ส่วนตลาดนิวยอร์ก CFTC จะเลื่อนมารายงานในวันที่ 28 พ.ย. นี้ เนื่องจากในสัปดาห์ก่อน มีวันหยุด Thanksgiving ในสหรัฐฯ

-ตลาดติดตามการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 30 พ.ย. 66 เลื่อนจากกำหนดการเดิมวันที่ 26 พ.ย. 66 และเปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ หลังประเทศสมาชิกในแอฟริกา อาทิ แองโกลา และไนจีเรีย ไม่ต้องการจะลดการผลิตในปี 2567 

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่า OPEC+ จะสามารถบรรลุข้อตกลง และยังคงมาตรการลดการผลิตรวม 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2567 และซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุด ธ.ค. 66 ไปจนถึงไตรมาส 1/67 หรือกลางปี 67

-สถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่ม Hamas ในฉนวน Gaza ของปาเลสไตน์ ผ่อนคลาย หลัง Hamas ปล่อยตัวประกันตามข้อตกลงหยุดยิง 4 วัน ตั้งแต่ 24 พ.ย. 66 จำนวน 3 รอบ รวม 54 ราย ขณะที่อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์รวม 117 ราย 

ทั้งนี้ตามข้อตกลง Hamas จะปล่อยตัวประกัน 50 ราย แลกกับอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 150 ราย และให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปใน Gaza ทั้งนี้ Hamas แสดงท่าทีต้องการขยายเวลาหยุดยิงออกไป 2-4 วัน ซึ่งอาจทำให้มีการเจรจาเพิ่มเติม

-บันทึกการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) เมื่อ 31 ต.ค.- 1 พ.ย. 66 ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า FOMC จะหยุดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ (วันที่ 12-13 ธ.ค. 66) 

อย่างไรก็ตาม FOMC ยังไม่แสดงท่าทีจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เช่นกัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงเหนือระดับเป้าหมาย ที่ 2% จากปีก่อน

'รสนา' สงสัย!! จดหมายเปิดผนึกของผู้ใหญ่ 3 ท่านถึงนายกฯ สงสัยห่วงใยประชาชน หรือห่วงใยผลประโยชน์ของใครกันแน่

(5 มี.ค. 67) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ดิฉันออกจะผิดหวังกับข้อเสนอของผู้หลักผู้ใหญ่ 3 ท่านที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรี อ้างความห่วงใยในความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติที่เกิดจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลจำนวน 5 ข้อ 

โดยภาพรวมของประเด็นความห่วงใยของพวกท่าน ล้วนเป็นความห่วงใยต่อผลประโยชน์ที่จะกระทบทุนพลังงานเป็นหลัก มิได้ห่วงใยประชาชนที่ต้องแบกรับราคาน้ำมันแพง ค่าไฟแพงและค่าก๊าซหุงต้มที่แพงเกินสมควรตลอดมา ใช่หรือไม่

ข้อที่ 1) ท่านห่วงกรณีเรื่องกองทุนน้ำมันติดลบเพราะรัฐบาลนำไปตรึงราคาดีเซล และลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1บาท/ลิตรในผู้ใช้เบนซิน เพื่อลดภาระบนหลังของผู้ใช้เบนซินลงบ้าง แต่พวกท่านไม่เห็นด้วย โดยอ้าง 'ตรรกะดึกดำบรรพ์' ที่ว่า น้ำมันราคาถูก จะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด ซึ่งเข้าทางตลาดโลกของผู้ประกอบการ ที่หาทางล้วงส่วนต่างค่าน้ำมันที่มีราคาลดลงตามตลาดโลก แต่ไม่ลดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โยกไปไว้ในค่าการตลาดบ้าง ย้ายไปไว้ในน้ำมันเอทานอลให้แพงขึ้นโดยไร้การตรวจสอบ จะได้ไม่ต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ตามราคาตลาดโลก ด้วยข้ออ้าง น้ำมันแพง ประชาชนจะได้ประหยัด ใช่หรือไม่ !?! 

ดิฉันขอย้ำว่ากองทุนน้ำมันตามกฎหมายคือ เงินที่ประชาชนสะสมไว้ช่วยเหลือตัวเองในยามราคาน้ำมันแพงจากตลาดโลก แต่ปัจจุบันน้ำมันแพงไม่ได้มาจากราคาตลาดโลก แต่มาจากกลไกบวกเพิ่มของผู้ประกอบการ ทั้งค่าการตลาด ราคาน้ำมันชีวภาพ และรวมถึงค่าการ กลั่นด้วย โดยมีกองทุนฯ เป็นเงินประกันกำไรให้ผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่

ถ้าพวกท่านห่วงใยประชาชน ไม่อยากเอากองทุนน้ำมันมาตรึงราคาดีเซล ก็ควรเสนอให้ตัดน้ำมันไบโอดีเซลที่เติมในดีเซล 7% ออกไปทำให้ลดราคาน้ำมันลงได้ 2.42 บาท/ลิตร สามารถคงราคาดีเซล 30 บาทโดยไม่ต้องขึ้นราคาดีเซลเป็น 32 บาท ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ราคาน้ำมันลดลงได้อีกถ้าให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลดกำไรส่วนเกินของตนเองลงไปบ้าง เหมือนสมัยที่ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลาค่าการกลั่นพุ่งสูงขึ้นตามความผันผวนตลาดโลก กพช.ก่อนยุคปตท.ถูกแปรรูป เคยมีมติ (การประชุมครั้งที่ 8/2543) ว่า "ในช่วงที่ภาวะตลาดน้ำมันผิดปกติ ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวนมาก ให้ ปตท.และโรงกลั่นไทยออยล์ ใช้หลักการบริหารค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยนำส่วนลดค่าการกลั่นมาช่วยตรึงหรือลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารความผันผวนของตลาด" โดยไม่ได้ใช้กองทุนน้ำมันมารับภาระชดเชยค่าน้ำมันแพงตลอดเวลา ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยด้วย แต่ปัจจุบันล้วนแต่เงินกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินประชาชน ผู้ประกอบการรับแต่กำไร ใช่หรือไม่

ช่วงปี 2566 ที่โรงกลั่นได้กำไรอู้ฟู่จากค่าการกลั่นที่ผันผวนในตลาดโลก กพช.และนายกฯ ในรัฐบาลก่อนไม่หือ ไม่อือ ทั้งที่ควรใช้เครื่องมือของกระทรวงการคลังเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันมาชดเชยให้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลก็ปล่อยให้โรงกลั่นได้กำไรค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 8 - 11 บาท ทั้งที่ค่าการกลั่นบวกกำไรในเวลาปกติ ลิตรละ 1.50 บาทก็ใช้ได้แล้ว พวกท่านก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องสักแอะให้ประชาชนเลย ใช่หรือไม่ 

ประชาชนคงออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน ถ้าท่านจะแนะนำท่านนายกฯ ให้รัฐบาลยกเลิกการคิดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่บวกต้นทุนเทียมเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ (Import Parity) ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นในประเทศไทย 100% ในอดีตรัฐบาลเคยให้แรงจูงใจโรงกลั่นสมัยแรกตั้งโรงกลั่น เพื่อให้มีกำไรมากขึ้นในช่วงเริ่มกิจการ แต่นั่นมันก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว ปัจจุบันควรยกเลิกแรงจูงใจนี้ได้แล้ว จะได้ลดภาระบนหลังของประชาชนลงบ้าง ท่านก็ไม่เรียกร้องให้ประชาชนบ้างเลย ใช่หรือไม่ 

แม้ บมจ.ปตท.เป็นบริษัทเอกชนมหาชน แต่รัฐถือหุ้นเกิน 51% รัฐบาลสามารถสั่งการ บมจ.ปตท.ให้ควบคุมค่าการกลั่น ค่าการตลาดที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ดีเซลลิตรละ 1.50 บาท และเบนซินลิตรละ 2 บาท ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ลิตรละ 2-3 บาทโดยไม่ต้องไปล้วงกองทุนน้ำมันเลยก็ได้ ใช่หรือไม่

ข้อที่ 2) ท่านวิจารณ์การลดค่าไฟ โดยการให้ กฟผ. ยืดหนี้ เป็นวิธีแก้ที่จะสร้างภาระหมักหมมหนี้ในอนาคต ข้อนี้ดิฉันเห็นด้วย 

การแก้ปัญหาค่าไฟแพงสำหรับประชาชน ไม่ควรต้องให้ กฟผ.มาแบกรับภาระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว ท่านก็ควรเสนอวิธีแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้นเหตุคือให้รัฐบาลหยุดทำสัญญาซื้อไฟเพิ่มจากเอกชน เพราะปัจจุบันเรามีสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานมากกว่า 50% แล้ว ทั้งที่ควรมีสำรองไว้แค่ 15% ตามหลักเกณฑ์ทึ่เหมาะสม ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะการสำรองไฟมากเกินไป อุ้มเอกชนมากเกินไป โดยจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตลอดอายุสัญญา 25 ปีให้เอกชน จึงควรเสนอรัฐบาลเจรจาเอกชนที่ได้กำไรคุ้มทุนแล้ว ลดค่าความพร้อมจ่ายลง 

นอกจากนี้ควรสนับสนุนรัฐบาลให้รีบเปิดทางให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาผลิตไฟลดค่าใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ รัฐบาลแค่ลดอุปสรรคให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้สะดวก อนุมัติให้ใช้วิธีหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ กับไฟฟ้าที่ใช้ จ่ายเงินส่วนเกินที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้า เรียกว่าระบบ Net Metering เพียงแค่นี้ประชาชนก็ลดภาระได้มากโขแล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ 

ท่านควรสนับสนุนนายกเศรษฐาให้รีบปฏิบัติตามมติ ครม.สมัยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ควรเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยลดค่าไฟประชาชนด้วยวิธีนี้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเป็นจริง ดีกว่าการบีบให้กฟผ.ชะลอหนี้สินออกไปเพื่อลดค่าไฟให้ประชาชนแบบชั่วคราว ใช่หรือไม่

ข้อ 3 และ ข้อ 4 ที่ท่านผู้ใหญ่แสดงความกังวลห่วงใยคุณภาพอากาศของประเทศ แต่มาสรุปท้ายให้รัฐบาลอนุมัติโรงกลั่น 6 โรงที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 สามารถขึ้นราคาน้ำมันได้นั้น

เป็นข้อเสนอที่ทำให้ผู้ฟังสะดุดกึก และทำให้ประชาชนอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด พวกท่านยอมใช้เครดิตตำแหน่งฐานะทางสังคมมาทวงเงินแทนโรงกลั่นเหล่านี้!? หรือท่านถือหุ้น? รับทุน? หรือเป็นกรรมการ ฯลฯ ในบริษัทเหล่านี้หรือไม่ อย่างใด !?

ในเมื่อพวกท่านเป็นห่วงคุณภาพอากาศจากคุณภาพน้ำมัน ดิฉันก็อยากให้ท่านช่วยสอบถามบริษัทพลังงานที่ขายก๊าซ NGV ว่าปัจจุบันยังเติมก๊าซ CO2 สูงถึง 18% ในก๊าซ NGV อยู่อีกหรือเปล่า? 

สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ 2551-2557) เคยตรวจสอบเรื่องการเติม CO2 ในก๊าซรถยนต์ NGV 18% โดยมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยแต่ละแหล่งมี CO2 สูงต่ำไม่เท่ากันตั้งแต่ 14-16 % และก๊าซบนบกมี CO2 ต่ำประมาณ 2-3% เพื่อไม่ให้ค่าความร้อนแตกต่างเกินไป เลยปรับให้เท่ากัน ด้วยการเติม CO2 ลงไป 18% เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์มีปัญหา หรือเกิดการน็อก แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเอา CO2 ออกจากก๊าซในทะเลออกไป ผู้บริหารในกระทรวงบอกกรรมาธิการว่า ที่ทำแบบนี้เพื่อให้ธุรกิจพอจะอยู่ได้ ?!!!? 

นี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ฝากท่านผู้ใหญ่ช่วยถามว่า ยังใส่ก๊าซขยะ 18% อยู่หรือเปล่า มาตรฐานต่างประเทศให้มี CO2 ในก๊าซ NGV ได้ไม่เกิน 3% และต้องลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือไม่เกิน 1% แต่บริษัทพลังงานของไทยเติม CO2 ถึง 18% โดยกระทรวงพลังงานอนุญาต ดูแล้วก็มีความลักลั่นกับแนวทางปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 หรือไม่?

การเติม Co2 18% นอกจากเอาเปรียบผู้ใช้ ที่จ่ายเงินซื้อก๊าซ NGV 100% แต่ได้เนื้อก๊าซไม่ถึง 100% เพราะคนขายใส่ก๊าซขยะมาให้ 18% และก๊าซขยะพวกนั้นถูกปล่อยเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลในแต่ละปีที่ทำให้โลกร้อน ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้ใหญ่เหล่านี้ ทราบหรือไม่ และผู้กำกับดูแล ได้แก้ไขแล้วหรือยัง?

ประชาชนอดสงสัยมิได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพทั้งที่เลวลง (กรณีเติม CO2 ใน NGV) และที่อ้างว่าดีขึ้น เช่นการปรับคุณภาพเป็นยูโร 5 เป้าประสงค์หลักคือการทำกำไรของผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่?

และการปรับน้ำมันเป็นยูโร 5 เป็นวิธีการกีดกันทางการค้าหรือไม่ เป็นการกีดกันน้ำมันราคาถูกจากที่อื่นด้วยหรือไม่?

ข้อที่ 5) ท่านอ้างว่า “ตั้งแต่ต้นปี 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบ ไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น” นั้น

ดิฉันผิดหวังจริง ๆ ที่ท่านเห็นว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยควรจะเป็นอภิสิทธิ์ของบริษัทปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท.ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกเท่านั้น แล้วประชาชนทั้งประเทศล่ะ ท่านไม่คิดถึงเลยหรือ?

ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของชาติ ประชาชนควรได้ใช้ในการดำรงชีพด้วยราคาในประเทศ ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ควรไปแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี การใช้แต้มต่อต้นทุนก๊าซราคาถูกเพื่อทำกำไร แต่ผลักประชาชนไปใช้ก๊าซหุงต้มราคาแพงตามราคาตลาดโลก เเล้วเอากองทุนมาชดเชย เป็นหนี้สินวน ๆ กันไป ไม่มีวันจบ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนไปทำกำไรให้กลุ่มทุน

แทนการล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนไปใส่กองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก การขายทรัพยากรก๊าซชั้นดีที่เป็นไม้สัก ควรได้ราคาไม้สัก จะได้นำกำไรจากการขายไม้สัก หรือก๊าซชั้นดีมาชดเชยราคาให้ประชาชน เพราะที่แล้วมาการใช้เงินจากกระเป๋าประชาชนในกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม วิธีแบบนั้นไม่ใช่การชดเชยราคา แต่เป็นวิธีหลอกขายก๊าซหุงต้มให้ประชาชนแบบผ่อนส่งราคาเพื่ออำพรางกำไรที่ฉกฉวยจากทรัพยากรก๊าซในประเทศไว้ในมือของคนฝ่ายเดียว ใช่หรือไม่

ด้วยวิธีนี้จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทยที่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ส่วนบริษัทเอกชนก็ขอให้ท่านใช้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดเสรีที่ท่านมักพร่ำพูดอยู่เสมอว่าราคาพลังงานในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี 

การสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่ใช่มาจากบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่เป็นการบริโภคภายในประเทศของประชาชน ซึ่งมีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งคือ 50% ของ GDP เลยทีเดียว การทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ด้วยการลดกำไรส่วนเกินที่ทำให้ราคาพลังงานไม่สูงเกินจริงลงไป จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน 

จึงขอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ และท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศนี้ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top