Sunday, 19 May 2024
ชุดนักเรียน

กทม.ปลดล็อก โรงเรียนในสังกัด ให้อิสระทรงผม-ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ 1 วัน/สัปดาห์

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 แห่ง เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนกำหนดการใส่ ชุดนักเรียน และ ไว้ทรงผม ได้อย่างอิสระ โดยไม่กระทบสิทธิมนุษยชน และริดรอนสิทธิของนักเรียน

กทม. จึงได้มีการออกหนังสือถึงสำนักงานเขต จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการอนุโลมให้นักเรียน สามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลงนามเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 โดย นางวันทรีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และ พ.ศ 2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 ม.ค. พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน จึงให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดฯ ให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ จากนั้นให้นำไปประชาสัมพนธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ โดยในกรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อทำความเช้าใจและตกลงร่วมกัน แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผม ทำให้อับอาย ฯ

แนวทางการแต่งกายของนักเรียน
นอกจากนี้ กทม.ยังได้ออกหนังสือแนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า กทม.จัดทำข้อกำหนดใหม่ให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยอนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งกายชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับจำนวน 1 วันต่อสัปดาห์ หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็สามารถใส่ชุดนักเรียนได้ตามความประสงค์ของนักเรียน โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ ยึดหลักคำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนาและเพศวิถีตามที่ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงความประหยัดและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนไปประกาศใช้โดยในกรณีที่มีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน

ชื่นชม!! ‘นายอำเภอหันคา’ จ.ชัยนาท ไม่รับกระเช้าปีใหม่ ขอเป็นชุดนักเรียน-ของเล่น ไว้แจกเด็กๆ ในวันเด็กแห่งชาติ

เรียกเสียงชื่นชมในโลกออนไลน์จำนวนมาก หลังจากที่ นายอดิศร เกิดโต นายอำเภอหันคา จ.ชัยนาท โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘นายอำเภอเบียร์’ เรื่องการมอบกระเช้าปีใหม่ ขอเป็นชุดนักเรียนหรือของเล่นแทน โดยระบุว่า

“ประกาศ เทศกาลปีใหม่นี้ ท่านใดจะนำกระเช้ามาสวัสดีปีใหม่นายอำเภอ ผมขอเป็นชุดนักเรียนหรือของเล่นเด็ก เช่น จักรยาน, ตุ๊กตาแทนได้ไหมครับ จะได้เอาไปแจกเด็ก ๆ ในวันเด็ก”

ซึ่งเรียกเสียงชื่นชมในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ล่าสุด ทางนายอำเภอเบียร์ ได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมว่า…

“ผมจะพยายามเป็นนายอำเภอที่คนหันคาภาคภูมิใจ

ปกติก็ทำดีมาตลอดอยู่แล้ว ไม่เคยคิดว่าจะได้รับอะไรตอบแทน เพราะความสุขของผมคือการได้เห็นรอยยิ้มของพี่น้องประชาชน ชาวหันคาหรือคนที่เคยสัมผัสกับผมจะทราบดีว่าผมเป็นคนยังไง

แต่ก็ไม่คิดว่าจะมาดังช่วงส่งท้ายปี ขอบพระคุณเพจโหนกระแสและพี่น้องประชาชนทุกๆท่านมาก ๆ ครับ”

ทั้งนี้ มีเสียงชื่นชมจากคนในโลกออนไลน์ เช่น

“ขอชื่นชมในความคิดของท่านค่ะสุดยอดเลยดีใจแทนเด็ก ๆ ในอำเภอหันคาด้วยค่ะ”
“ถ้าทุกอำเภอทำแบบนี้จะดีมากเลยนะครับ”
“ดีเลยครับ มีประโยชน์ต่อเด็กๆมากมาย”
“ดีจังค่ะ บุญต่อบุญกันไปสาธุค่ะ”
“สุดยอดท่านเป็นผู้นำที่น่ายกย่องจ้า”
“นายอำเภอคนนี้น่ารักมากๆเลยค่ะ #ผู้ให้ สุดยอดเลยค่ะ”
“ชื่นชมคะคนชัยนาทเหมือนกันคะ”

“ผมขอชื่นชมในตัวท่านครับที่ท่านเป็นคนเดียวในประเทศไทยหนึ่งเดียวในวงราชการไทยที่มีคุณค่าท่านเป็นบุคนตัวอย่างของข้าราชการในประเทศไทยท่านสุดยอดที่สุดครับผม”

“ความคิดดี เป็นตัวอย่างที่ดี ของข้าราชการไทย”
“ความคิดดีมีน้ำใจ สุดยอดคับท่าน”

‘คนไทยในบรูไน’ เผย วัยรุ่นบรูไนปลื้มชุดนักเรียนไทย หลังเป็นกระแสฮิตที่หลายชาติเริ่มนำมาเป็นแฟชั่น

อย่างที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้เห็นกันมาพักใหญ่แล้วว่า ‘ชุดนักเรียนไทย’ คว้าใจนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นกระแสแต่งชุดนักเรียนไทย ท่องเที่ยวในไทย รวมไปถึงถ่ายรูปและโพสต์อวดโฉมกันผ่านโซเชียล ยิ่งไปกว่านั้น อินฟลูเอนเซอร์ ดารา หรือแม้แต่ซูเปอร์สตาร์ชาวจีนก็ออกมาสลัดลุค แต่งชุดนักเรียนไทยกันมาแล้ว ซึ่งก็ต้องบอกว่า น่ารักน่าเอ็นดูสุด ๆ

แต่ความฮิตฮอตของชุดนักเรียนไทยก็ไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ในจีนเท่านั้น แว่ว ๆ มาว่า นักเรียนเวียดนามก็ชื่นชอบชุดนักเรียนของไทยมากเช่นกัน ถึงขั้นนัดกันใส่ชุดนักเรียนไทยถ่ายรูปในวันจบการศึกษา และลามกลายเป็นธุรกิจรับถ่ายรูปในธีมชุดนักเรียนไทย และถ่ายเลียนแบบซีรีส์ไทยที่ไปโด่งดังในเวียดนามด้วย

ก็กล้าเรียกได้เต็มปากว่า ‘ชุดนักเรียนไทย’ เท่ากับ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่แท้จริง

ล่าสุด (25 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นคนไทยในบรูไนฯ ได้บอกเล่าเกี่ยวกับ ‘ชุดนักเรียนไทย’ ที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นบรูไนฯ โดยระบุว่า…

“ลูกสาวมาเล่าว่า ม่ามีแต่คนอยากใส่ชุดนร.แบบไทยกันใหญ่เลย (ในหมู่วัยรุ่น) ไม่เว้นแม้แต่วัยรุ่นที่บรูไน เป็นเทรนที่กำลังมาแรง Soft Power ของแท้ อย่าให้นายกรู้นะ เดี๋ยวเค้าจะใส่ชุดนร.ไปต่างประเทศโชว์อีก”

เปิด 10 ชุดนักเรียนสวยที่สุดในโลก จะมีประเทศไหนบ้าง มาดูกันเลย!! ✨✨

1. เกาหลีใต้ = ผู้หญิงมักจะสวมกระโปรงกับเสื้อเชิ้ต ส่วนผู้ชายจะเป็นกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ต ผูกเน็คไทหูกระต่าย ให้ดูลูกคุณ ซึ่งโดยรวมการออกแบบนั้นจะพิถีพิถันและสะดุดตามีสไตล์อยู่เสมอ

2. ไทย = การออกแบบไม่ยุ่งยากจุกจิก กับเนื้อผ้าและสีผ้า มีเพียงแค่เชิ้ตสีขาวกับกระโปรง ก็สร้างความประทับใจได้ไม่ต่างกัน จนเป็นกระแสฮิตที่จีนและเวียดนาม

3. ญี่ปุ่น = การสวมเครื่องแบบนักเรียน เป็นข้อบังคับใน ม.ต้น และ ม.ปลายส่วนใหญ่
โดยผู้ชายจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว แจ็คเก็ตสีเข้ม ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อสีขาว แจ็กเก็ตสีเข้ม บวกกับกระโปรงที่มีเน็คไท หรือก็คือชุดทหารเรือ

4. เวียดนาม = ชุดนักเรียนหญิง จะพัฒนามาจากชุดอ่าวหญ่าย ที่เป็นชุดเเต่งกายประจําชาติ ใส่แล้วจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

5. ภูฏาน = จะสวมเครื่องแบบตามชุดประจําชาติของประเทศ

6. อังกฤษ = ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษส่วนใหญ่ จะมีสีหลักเป็นสีเขียวเข้ม สื่อถึงความสงบและเอื้อเฟื้อ

7. ฮ่องกง = ฮ่องกงได้สร้างรูปแบบเพิ่มเติม โดยใช้สีฟ้าหรือสีขาวเป็นสีพื้นฐาน โดยมีการผสมเฉดสีการตัดเย็บและการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันตามแต่ละโรงเรียน

8. จีน = โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงรักษาเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยเด็กประถมจะแต่งเครื่องแบบคล้ายทหาร ใส่เสื้อสีขาวกับผ้าพันคอสีแดง ส่วนนักเรียนหญิงระดับมัธยมปลาย อนุญาตให้สวมชุดจีนโบราณได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเสื้อเชิ้ตที่มีสไตล์จากชุดกี่เพ้า พร้อมสวมคู่กับกระโปรง

9. มาเลเซีย = เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว สวมทับด้วยชุดกระโปรงสีฟ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นชุดนักเรียนที่กลายเป็นแฟชันสําหรับนักท่องเที่ยว ฮิตไม่แพ้ชุดนักเรียนไทยเลย ส่วนเด็กผู้ชายมักสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกับกางเกงสีขาวหรือสีอื่น ๆ

10. ศรีลังกา = เครื่องแบบส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว มีเพียงสีน้ำเงินเท่านั้นที่จะมิกซ์เข้ากัน และเด็กผู้หญิงทุกวัยจะสวมเสื้อผ้าที่มีโทนสีขาวเป็นหลัก ให้ดูเรียบง่าย และสะดุดตา

นักวิชาการ เจ้าของเพจดัง เผย ‘ชุดนักเรียนไทย’ ขายดีมากที่ ‘จีน’ ชี้!! เป็นกระแสจากสื่อบันเทิง ที่ตัวละครหลัก มักเป็น ‘นักเรียน’

(18 พ.ค. 67) อาจารย์ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับเรื่องที่ชุดนักเรียนของไทย กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยได้ระบุว่า ...

เมื่อช่วงมีนาคมปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ทางสื่อที่ไทย เกี่ยวกับการวิเคราะห์กระแสชุดนักเรียนไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน และก็เริ่มเห็นใส่ในเมืองจีนมากขึ้น ซึ่งผมเคยเขียนวิเคราะห์ไว้แล้ว แต่อยากจะขอรีรันวิเคราะห์อีกครั้ง 

1. ทำไมกระแส 'ชุดนักเรียนไทย' ถึงจุดติดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนขนาดนี้? 
นอกจากเรื่องที่ดาราใส่แล้ว มีประเด็นอื่น ๆ เช่น ปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม อะไรพวกนี้หรือไม่?

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนจีนไม่น้อยมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งผ่านสื่อบันเทิงพวกภาพยนตร์ละครที่เข้าไปตีตลาดในจีน โดยเฉพาะภาพยนตร์ละครซีรีส์วัยรุ่น โดยถ้ายุคบุกเบิกเลย ก็อย่างเช่น รักแห่งสยาม สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก ซึ่งล้วนแต่ปรากฏชุดนักเรียนไทยอยู่ในเรื่อง 

โดยเฉพาะหนังไทยเรื่อง 'สิ่งเล็กเล็กที่เรียกว่ารัก' ที่ในสื่อและโลกออนไลน์จีน เมื่อนำเสนอกระแสชุดนักเรียนไทย ก็จะมีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์เรื่องนี้

โดยบันเทิงไทยในยุคหลังจากยุคบุกเบิกในจีน ตามที่ผมระบุไปข้างต้น ก็มีอีกหลายเรื่องที่มีตัวละครหลักเป็นวัยเรียน วัยมัธยม อย่างเช่น ฉลาดเกมส์โกง 

และต้องยอมรับว่าซีรีส์วายหลายเรื่องที่เป็นที่นิยมในจีน ณ ปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องราวของวัยรุ่น ทั้งระดับมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย ซึ่งปรากฏชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา ทำให้คนจีนได้เห็นและรับรู้ว่า นี่คือชุดนักเรียน นักศึกษาของในไทยนะ 

2. ชุดนักเรียนไทย มีความแตกต่างจากในจีนพอสมควร เนื่องจากถ้าในระดับโรงเรียนประถมและมัธยมจีนจะเป็นลักษณะของชุดวอร์ม ภายในชุดวอร์มนั้นจะใส่เป็นเสื้ออะไรก็ได้ทั่ว ๆ ไป 

ส่วนถ้าเป็นมหาวิทยาลัย จะใส่ชุดอะไรก็ได้แบบที่บ้านเราเรียกว่า 'ไปรเวท' ความแตกต่างตรงนี้จึงทำให้เกิดความสนใจ และกลายเป็นภาพจำไปแล้วว่า นั่นคือเครื่องแต่งกายของนักเรียนนักศึกษาไทย

3. หากดูแคปชัน และความคิดเห็นของคนจีนที่โพสต์เรื่องราวชุดนักเรียนไทย ในแพลตฟอร์มโซเชียลจีนหลัก ๆ ที่เป็นกระแส ก็คือ โต่วอิน (Douyin เป็นชื่อ TikTok เวอร์ชันจีน) และรวมถึงใน Xiaohongshu (เทียบเคียงได้กับ Instagram) อีกหนึ่งโซเชียลที่คนจีนนิยม ซึ่งเป็นโซเชียลไลฟ์สไตล์ คนจีนชอบโพสต์แชร์ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ชีวิตไปเที่ยว อะไรต่าง ๆ 

จะพบว่า แคปชันไม่น้อย จะมีอ้างถึงคำว่า JK ซึ่งมาจาก Joshi Kousei ภาษาญี่ปุ่น อันหมายถึง นักเรียนหญิงมัธยมปลาย ซึ่งคำนี้ว่ากันตามตรง ก็ใช้ได้ทั้งแบบกลาง ๆ และด้านมืด 

4. แต่ในความหมายที่คนจีนใช้คู่กับประเด็นชุดนักเรียนไทย ก็คือ เป็นJK เวอร์ชันไทย หมายถึง ชุดนักเรียนไทย นั่นเอง 

สื่อให้เห็นว่า ความเป็นจริงแล้ว "คนจีนรับรู้เกี่ยวกับชุดนักเรียนของประเทศอื่น โดยให้ความสนใจของชุดนักเรียนญี่ปุ่นมาก ในลักษณะของเอามาใส่เป็นชุดทั่วไป ชุดใส่เที่ยว ชุดแฟชั่น หรือชุดคอสเพลย์ (Cosplay)" แม้แต่ในไทยเอง 

"ทำให้พอชุดนักเรียนไทยเป็นกระแส ก็อยากจะใส่ตาม ซึ่งคิดว่าใส่ได้ เหมือนกับชุดนักเรียนญี่ปุ่น"

5. อ้ายจงยังได้วิเคราะห์ข้อมูลจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องบน Baidu ซึ่งยังคงเป็นแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูล (ลักษณะเดียวกับ Google) ที่คนจีนยังนิยมใช้เป็นหลัก ก็พบว่า เมื่อเทียบเวลาเดียวกัน คนจีนค้นหาคำว่า ชุดนักเรียนญี่ปุ่น มากกว่า ชุดนักเรียนไทย ประมาณเท่าตัว และถ้าเทียบกับคำว่า JK制服 ซึ่งหมายถึง ชุดยูนิฟอร์มนักเรียนหญิง มัธยมปลายญี่ปุ่น ที่มีขายทั่วไปบนโลกออนไลน์จีน พบว่าต่างกันหลายสิบเท่า โดยชุดนักเรียนไทย จะค้นหาเพียงหลักร้อยต่อวัน ในขณะที่ JK制服 ค้นหาหลายพันต่อวัน

6. เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมไปอีก ทำให้พบอีกว่า จริง ๆ แล้วคำว่า ชุดนักเรียนไทย มีปริมาณการค้นหาใน Baidu ในหลักหลายพันใน1วัน ในช่วงปลายเดือนตุลาคมปี 2555 (2012) ซึ่งมากที่สุด นับตั้งแต่มีการค้นหาคำนี้ใน Baidu และ มากกว่า ณ ตอนนี้ที่กำลังเป็นกระแสเสียอีก 

เมื่อไล่ตามไปดูข้อมูลที่ปรากฏบน Baidu ในช่วงเวลาดังกล่าว ปี 2555 พบว่า มีคอนเทนต์ที่รีวิวเกี่ยวกับชุดนักเรียนประเทศต่าง ๆ และระบุว่า ชุดนักเรียนชุดนักศึกษาไทยเป็นหนึ่งในชุดที่มีความน่าสนใจที่สุด และยังเป็นช่วงที่หนัง LOST IN THAILAND หนังที่มีการถ่ายทำในไทย ถ่ายทอดเรื่องราวในไทย ที่ดังเป็นพลุแตกในจีน จนเกิดการเที่ยวตามรอยของคนจีนในประเทศไทย 

7. ในช่วงปี 2566 ผมได้ถามทางเพื่อนคนจีน และ นศ.จีน พบว่า จำนวนไม่น้อย รู้สึกว่าเป็นกระแสในโลกออนไลน์เท่านั้น ยังไม่เห็นคนใกล้ตัว หมายถึงในประเทศจีนเอง ในเมืองของที่พวกเขาอยู่มีการเอามาใส่จริงจัง ถ้าเทียบกับชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่น โดยชุดนักเรียนไทย พวกเขาบอกว่า เห็นแต่ในโลกโซเชียล ที่คนจีนไปไทยแล้วไปใส่

แต่ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน 2567 ระยะเวลา 1 ปี ได้เห็นคนจีนในมหาวิทยาลัย และคนใกล้ตัวผม เริ่มใส่ชุดนักเรียนไทยมากขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมไปปักกิ่ง และหนานจิง ก็เห็นมีคนใส่

8. อ้ายจงได้ตรวจสอบบน E-commerce ภายใต้คำถามที่ว่า "ในจีนมีการขายและเริ่มมีการใส่ชุดนักเรียนไทยในจีนบ้างหรือไม่? หรือเกิดขึ้นแค่ในไทย ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ไปไทย"

เมื่อค้นหาคำว่า 泰国 (ไทย) ใน Taobao (เถาเป่า) E-commerce จีน และเลือกเรียงลำดับตามจำนวนยอดขาย

สินค้าชุดนักเรียนไทยของร้านหนึ่ง อยู่ในอันดับต้น ๆ โดยบางร้านที่ขายระบุว่ามียอดขายรายเดือน มากกว่า 8000 ออร์เดอร์ และเริ่มมีรีวิวบนเถาเป่า ว่าซื้อแล้วนำไปใส่ถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในจีน แต่ก็ยังไม่ถือกับเป็นกระแสหลักวงกว้าง สำหรับกรณีใส่ในจีนนะครับ

9. ขอย้ำตามที่เขียนไปข้างบน ๆ แล้วว่า การใส่ชุดนักเรียนไทย หรือชุดนักเรียนของต่างประเทศ สำหรับคนจีนมองเป็นการใส่แบบคอสเพลย์ ใส่แบบแฟชั่น ดังนั้น โดยทั่วไปจึงอาจไม่ถูกระเบียบแบบที่ใส่จริง ๆ ในไทยครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top