Sunday, 28 April 2024
ชาวนา

‘ลูกชาวนา’ เปิดใจ!! เล่าความบอบช้ำชาวนาเมื่อปี 57 ยอมรับ!! รอดพ้นวิกฤตต่างๆ มาได้เพราะ ‘รัฐบาลลุงตู่’

(11 พ.ค. 66) ผู้งานติ๊กต็อกชื่อ ‘skincare_by_yammy’ ได้ออกมาพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งปีนี้ และได้เปิดเผยสาเหตุในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ โดยเจ้าของช่องติ๊กต็อกดังกล่าวได้เผยว่า…

“เมื่อคืนที่ผ่านมา ได้ลงคลิปตอนที่ถามกับลูกว่าจะเลือกใครเป็นนายก แล้วลูกได้ตอบว่า “เลือกลุงตู่” ซึ่งเราก็ได้ลงคลิปไปเล่นๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่ก็เกิดดรามาขึ้นจนได้ หลังจากมีชาวเน็ตมาแห่กันคอมเมนต์ในคลิปดังกล่าวที่เราได้โพสต์ลงไป”

เจ้าของช่องติ๊กต็อกดังกล่าวได้เล่าต่อว่า “เราเป็นคนบ้านกง จังหวัดสุโขทัย เป็นลูกชาวนาแทนๆ พ่อแม่ของเราก็เป็นชาวนา พ่อใหญ่แม่ใหญ่ของเราก็เป็นชาวนามาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เราและครอบครัวก็เคยสนับสนุนพรรคการเมืองที่ดูแลในเรื่องของการทำนา การเกษตร จนได้มีจุดเปลี่ยน ในปี 2557 ที่ทำให้เราและครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเราได้ขายข้าวไป แต่ไม่ได้รับเงิน ทำให้ครอบครัวเราต้องแบกรับภาระค่าปุ๋ย ค่ายา ตลอดจนค่าจ้างในการเก็บเกี่ยวข้าวทั้งหมด เป็นเงินร่วมหลายแสนบาท ครอบครัวของเราเครียดเป็นอย่างมาก จากการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ ซึ่งใน ณ ห้วงเวลานั้น ถือเป็นวิกฤตอย่างหนักของชาวนา หากใครย้อนกลับไปมองในช่วงนั้น จะเห็นได้ว่า ‘ลุงกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ได้พาชาวนาไปประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในยุคนั้นเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้ชาวนาโดยด่วน ซึ่งเราไม่ได้ไปร่วมเดินประท้วงด้วย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบตรงนี้จริงๆ”

เจ้าของช่องติ๊กต็อกยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากเกิดการปฏิวัติ โดยกล่าวว่า “แต่หลังเกิดการปฏิวัติ ‘ลุงตู่’ ได้เข้ามาช่วยชำระหนี้สินตรงนี้ทั้งหมด ทำให้หลังจากนั้นเราได้เปลี่ยนความคิดว่า เราอยู่ได้ เพราะยึดราคาต้นทุนต่าง ๆ ตามราคาท้องตลาด หากต้นทุนไม่สูง เราก็พออยู่ได้… แต่เมื่อเกิดสงครามระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซีย ก็ทำให้ราคาปุ๋ยและยาแพงขึ้นมากอีก ส่งผลให้ต้นทุนในการทำนาสูงขึ้น หากไม่ได้รัฐบาลยุคลุงตู่ช่วยเข้าไปเจรจา ราคาปุ๋ยในท้องตลาดของประเทศไทยก็คงจะยังราคาสูงอยู่ ตอนนี้ราคาปุ๋ยลดลงมาแล้ว ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการทำนาเป็นอย่างมาก”

“เราเป็นคนบ้านกงแท้ ๆ เป็นคนสุโขทัยแท้ ๆ ขอยืนยันที่จะสนับสนุนลุงตู่ต่อไป เพราะเรารักสถาบันฯ เราเรียนประวัติศาสตร์มา เราอย่าให้ตัวอักษรที่ถูกบรรจงเขียนไว้ ถูกลบเลือนไป เรายินดีที่จะรักษาความมั่นคงของประเทศชาตินี้ไว้ แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ เราก็ขอยืนยันจริง ๆ ที่จะสนับสนุนต่อไป และขอชื่นชมอีกหลาย ๆ คนที่ออกมาพูดเช่นกัน การออกมาพูดของเราในครั้งนี้ อาจจะทำให้เพื่อนลดลง ก็ไม่เป็นไรค่ะ” เจ้าของช่องติ๊กต็อก กล่าวทิ้งท้าย

นโยบายพัฒนาคุณภาพข้าว หรือแค่แจกเพื่อรักษาฐานเสียง

หลังมีข่าวจากการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ในโครงการชดเชยดอกเบี้ยผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 780 ล้านบาท เฉพาะผู้ประกอบการโรงสีชดเชยดอกเบี้ย 4% เป้าหมาย 4 ล้านตัน ระยะเวลาการรับซื้อ ตั้งแต่ ครม.อนุมัติ - 30 มีนาคม 2567 ส่วนภาคใต้ วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567 กรอบระยะเวลาโครงการ ครม.อนุมัติ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2568

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังได้สอบถามถึงความคืบหน้าในการจ่าย 'เงินช่วยเหลือชาวนา' ตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ โดยผู้แทน ธ.ก.ส. แจ้งว่า จะมีการโอนเงินตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2566 โดยจะจ่าย 5 วันต่อเนื่องพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันแรกจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกดปุ่มโอนจ่ายเงินคิกออฟที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับ โครงการ 'เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท' ใช้วงเงินงบประมาณจ่ายขาดทั้งสิ้น 56,321.07 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร โดยใช้แหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. วงเงิน 54,336.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินการ ธ.ก.ส. วงเงิน 1,984.93 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปในช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2557-2565) หรือในช่วงรัฐบาล คสช. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ รวมถึงปีที่ 1 ของรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พบว่า ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยมีวิธีการ ‘แจกเงิน' 9 ปีการผลิต รวมงบประมาณที่ใช้มากถึง 485,497 ล้านบาท ได้แก่...

>> รัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ)

- ปีการผลิต 2557/58 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.63 ล้านครัวเรือน งบจ่ายขาด 39,506 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2559/60 ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือชาวนา 3.7 ล้านราย งบจ่ายขาด 37,860.25 ล้านบาท

- และมาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ให้แก่ผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ และผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 1 งบจ่ายขาด 32,541.58 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2560/61 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 37,898.11 ล้านบาท

- ปีการผลิต 2561/62 ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี งบจ่ายขาด 62,791.35 ล้านบาท (อนุมัติ กรอบวงเงินงบประมาณ 2 ครั้ง)

>> รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- ปีการผลิต 2562/63 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 28,054.83 ล้านบาท และโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ ไร่ละ 500 บาท งบจ่ายขาด 26,458.89 ล้านบาท หรือใช้งบจ่ายขาดรวม 54,553.72 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์รวม 4.57 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2563/64 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,093.63 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.56 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2564/65 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,567.36 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.69 ล้านครัวเรือน

- ปีการผลิต 2565/66 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 55,364.75 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

>> รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

- ปีการผลิต 2566/67 ครม.อนุมัติโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว งบจ่ายขาด 56,321.07 ล้านบาท มีชาวนาได้ประโยชน์ 4.68 ล้านครัวเรือน

งบประมาณที่ใช้ไปมากกว่า 485,497 ล้านบาท ในรอบ 9 ปี ไม่ได้ทำให้คุณภาพข้าวของไทย มีคุณภาพมากขึ้น ไม่ได้สร้างให้เกิด Productivity ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต จึงเป็นคำถามที่ว่า สิ่งที่ทุกรัฐบาลทำอยู่ เพียงเพื่อเป็นการรักษาฐานเสียง เพราะไม่ได้จูงใจให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพข้าว ตามชื่อของโครงการ 'พัฒนาคุณภาพผลผลิต' ได้อย่างแท้จริง

เมื่อเทียบกับ ประเทศเวียดนาม ที่มีการยกระดับการปลูกข้าวให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งในแง่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ โดยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐลงไปในส่วนการวิจัย การพัฒนาสายพันธุ์ ที่เห็นได้ชัดในปี 2565 การวิจัยพันธุ์ข้าวหอมพื้นนุ่มสายพันธุ์ ST25 ในพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในจีน และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ (ข้าวเปลือก 1,600 กิโลกรัมต่อไร่) ซึ่งมากกว่าผลผลิตต่อไร่ของข้าวหอมมะลิของไทย 

นอกจากนี้ ยังมีการอนุมัติแผนงาน การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2573 วางนโยบายที่มุ่งเน้นการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าสูงทดแทนการส่งออกที่เน้นปริมาณเป็นหลัก

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องกลับมาทบทวนนโยบายการ ‘แจกเงิน’ กับโครงการในลักษณะนี้ ว่าหากจะต้องแจกต่อควรมีเงื่อนไขอย่างไร ในการที่จะควบคุมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง

เรื่อง: The PALM

'โฆษก รทสช.' ขอบคุณ 'นายกฯ' สานต่อนโยบาย 'ลุงตู่' อนุมัติช่วยชาวนาไร่ละ 1 พัน เชื่อ!! ช่วยลดภาระได้มาก

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อราย จะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.66) ว่า ขอขอบคุณรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แทนชาวนาทั้งประเทศ ที่รัฐบาลเห็นชอบจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ดี ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับชาวนา เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย หรือยาฆ่าหญ้า 

ดังนั้น การที่รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาท ต่อไร่ จึงถือเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับชาวนาคลายความเดือดร้อนได้บางส่วน แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยก็ตาม แต่ในปีต่อไปก็อยากจะให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้มากกว่าไร่ละ 1,000 บาท ขอเป็นไร่ละ 2,000 บาท ถือเป็นสิ่งที่ชาวนาเรียกร้องมา จากการที่ตนได้ลงพื้นที่มีเสียงสะท้อนกลับมาขอไร่ละ 2,000 บาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม ในการช่วยเหลือชาวนา เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกร

สำหรับนโยบายดังกล่าวนี้ ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 14 พ.ย.66 ภายหลังจากที่ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือชาวนาค่าเก็บเกี่ยวข้าว ว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในฐานะที่ตนรับผิดชอบ โดยเรื่องข้าวทางคณะกรรมการนโยบายข้าวได้ประชุมและให้ส่วนที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หลังคุยได้สรุปและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ในวันเดียวกัน โดยเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำนวนทั้งหมดไม่เกิน 20 ไร่ ต่อครัวเรือน ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรียบร้อยแล้วให้ดำเนินการนับตั้งแต่มติ ครม.ออก รอเพียงให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมบอร์ด จากนั้นเกษตรกรก็จะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top