Wednesday, 26 June 2024
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์

‘ส้มโอไทย 4 สายพันธุ์’ ยกทัพบุกถิ่นมะกันครั้งแรก ตอกย้ำ!! ‘ขีดความสามารถสินค้าไทย’ ในต่างแดน

(3 ก.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่น ๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล ‘Sawasdee DC Thai Festival’ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรกไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2-4 กรกฎาคม 2566 และเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

นายอนุชา กล่าวว่า การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

นายอนุชา กล่าวว่า ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ" นายอนุชา กล่าว

‘ยานฉางเอ๋อ-6’ กลับถึงโลก พร้อมชิ้นส่วน ‘หิน-ดิน’ จากอีกฟาก ‘ดวงจันทร์’ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ หลังใช้เวลา 53 วันปฏิบัติภารกิจ 

(25 มิ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 ของจีน ได้กลับมาถึงโลกโดยลงจอดในเขตมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน พร้อมตัวอย่างหินและดินจากอีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน จึงถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่มีการเก็บตัวอย่างหินและดินมาจากด้านไกลของดวงจันทร์

จาง เค่อเจี้ยน ผู้อำนวยการองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน แถลงข่าวทางสถานีโทรทัศน์หลังการลงจอดของยานฉางเอ๋อ-6 เพียงไม่นานว่า “ผมขอประกาศว่าภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว”

ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้ส่งข้อความแสดงความยินดีกับทีมนักบินอวกาศของฉางเอ๋อ โดยกล่าวว่านี่คือ “ความสำเร็จครั้งสำคัญในความพยายามของประเทศของจีน ที่จะเป็นมหาอำนาจในด้านเทคโนโลยีและอวกาศ”

ทั้งนี้ด้านใกล้ของดวงจันทร์คือสิ่งที่มองเห็นได้จากโลก ในขณะที่ด้านไกลของดวงจันทร์หันไปทางอวกาศ โดยเป็นที่ทราบกันว่าด้านไกลมีภูเขาและหลุมอุกกาบาต ตรงกันข้ามกับพื้นที่ราบที่มองเห็นได้จากด้านใกล้

ในขณะที่ในอดีต สหรัฐและสหภาพโซเวียตต่างเก็บตัวอย่างมาจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ จึงถือว่าภารกิจของจีนเป็นภารกิจแรกที่เก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์

โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนคาดว่าตัวอย่างที่นำกลับมาจากดวงจันทร์ จะรวมถึงหินภูเขาไฟอายุ 2.5 ล้านปี และวัสดุอื่นๆ ที่นักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับความแตกต่างทางภูมิศาสตร์บนสองด้านของดวงจันทร์

ซงยู เยว่ นักธรณีวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ใน Innovation Monday ซึ่งเป็นวารสารที่ตีพิมพ์ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์จีนว่า “คาดว่ากลุ่มตัวอย่างที่เก็บมาจะตอบคำถามทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของดวงจันทร์ นั่นคือปฏิกริยาทางธรณีวิทยาประเภทใดที่ส่งผลต่อความแตกต่างระหว่างทั้งสองด้านของดวงจันทร์”

ทั้งนี้ จีนยังหวังว่ายานสำรวจจะกลับมาพร้อมกับวัสดุที่มีร่องรอยอุกกาบาตพุ่งชนจากดวงจันทร์ในอดีต เมื่อยานฉางเอ๋อ-6 กลับมาถึงอย่างปลอดภัย นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มศึกษาตัวอย่างเหล่านั้น

ยานสำรวจฉางเอ๋อ 6 ออกจากโลกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา และ ใช้เวลาเดินทาง 53 วันในปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยยานสำรวจสัญชาติจีนได้เจาะเข้าไปในแกนกลางของดวงจันทร์ และตักหินออกจากพื้นผิวของดวงจันทร์กลับมา

โครงการสำรวจดวงจันทร์เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งยังคงเป็นผู้นำด้านการสำรวจอวกาศ รวมไปถึงประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นและอินเดีย โดยจีนได้ส่งสถานีอวกาศของตนเองขึ้นสู่วงโคจรและส่งลูกเรือไปที่นั่นเป็นประจำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนมีภารกิจไปยังดวงจันทร์ที่ประสบความสำเร็จหลายครั้ง รวมถึงการเก็บตัวอย่างจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ด้วยยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ก่อนหน้านี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top