Friday, 4 July 2025
คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

เปิดหนี้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เริ่มจ่ายเงินต้น พ.ย. นี้ 140 ล้านบาท คาด!! จะใช้หนี้หมดได้ ภายในปี 2571 กบน. เชื่อ!! ยังตรึงราคาขายไว้ได้

(12 ต.ค. 67) นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ จะครบกำหนดที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องเริ่มทยอยชำระหนี้เงินต้นที่กู้ยืมมาจากสถาบันการเงิน รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2565-2566 ส่วนดอกเบี้ยก็ได้เริ่มจ่ายมาตั้งแต่กู้ยืมเงินครั้งแรกและจ่ายเป็นประจำ จำนวน 250 ล้านบาททุกเดือน

สำหรับยอดหนี้เงินต้นจะทยอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามวงเงินที่ทยอยกู้ยืมในแต่ละครั้ง โดยในเดือน พ.ย. 2567 ต้องเริ่มจ่ายหนี้เงินต้น 140 ล้านบาท และ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ 278 ล้านบาท ส่วนปี 2568 ก็จะยังคงจ่ายสูงขึ้นอีก โดยเริ่มต้นเดือน ม.ค. จำนวน 800 ล้านบาท และทยอยสูงขึ้นไปถึงเดือน พ.ค. ที่ 1,400 ล้านบาท โดยยอดจะพุ่งสูงสุดในเดือน ต.ค. 2568 ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท และจากนั้นจะทยอยลดลงเรื่อย ๆ  ซึ่งคาดว่าการชำระหนี้เงินต้นจะไปสิ้นสุดในปี 2571

ดังนั้นภารกิจสำคัญที่กองทุนฯ จะต้องเตรียมไว้สำหรับการชำระหนี้เงินต้นดังกล่าว ก็คือ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องเร่งเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อให้กองทุนฯ มีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพียงพอที่จะใช้ดูแลราคาน้ำมันและ LPG ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีเงินเพียงพอจ่ายหนี้เงินต้นก้อนนี้ด้วย

ทั้งนี้จะส่งผลให้กองทุนฯ ไม่สามารถกลับไปชดเชยราคาดีเซลได้อีก ยกเว้นกรณีเกิดวิกฤติราคาพลังงานที่รุนแรง ซึ่งหากราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ กองทุนฯ จะลดการเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเพื่อส่งเข้ากองทุนฯ ลง จนอาจเก็บเข้าต่ำสุดเหลือเพียง 50 สตางค์ต่อลิตร (ปัจจุบันเก็บอยู่ 1.66 บาทต่อลิตร) แต่หากราคายังขยับสูงขึ้นไปอีก กบน. อาจจำเป็นต้องขยับขึ้นราคาดีเซล แทนการนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาดีเซล

อย่างไรก็ตามวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้ จะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร ดังนั้น กบน. เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาทบทวนราคาดีเซลอีกครั้งก่อนสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ กบน. ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก ซึ่ง กบน. เชื่อว่ายังดูแลราคาดีเซลในประเทศไทยได้ แต่เป็นห่วงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โลก เนื่องจากในช่วงปลายปีจะเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้หลายประเทศมีความต้องการ LPG จำนวนมากและราคาจะพุ่งสูงขึ้น ซึ่งหากกองทุนฯ ต้องชดเชยราคา LPG สูง จะส่งผลกระทบต่อฐานะกองทุนฯ ได้  

โดยปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าจากผู้ผลิต LPG  5.94 ล้านบาทต่อวัน และเงินไหลเข้าจากผู้ใช้น้ำมัน 331 ล้านบาทต่อวัน รวมมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ ประมาณ 337 ล้านบาทต่อวัน หรือ 10,110 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเพียงพอดูแลเสถียรภาพราคาดีเซลและ LPG  รวมทั้งสามารถเก็บไว้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้สถาบันการเงินได้ แต่หากราคา LPG โลกขยับขึ้นแรงในช่วงปลายปี 2567 นี้ กบน. ก็จะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมกับกองทุนฯ ต่อไป แต่ยืนยันว่าราคา LPG จะยังคงจำหน่ายที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 ธ.ค. 2567 นี้ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

สำหรับสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 8 ต.ค. 2567 เงินกองทุนฯ ติดลบรวม -96,818 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -49,378 ล้านบาท และมาจากบัญชี LPG ติดลบรวม -47,440 ล้านบาท

กบน. ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ กว่าวันละ 74 ล้านบาท ลดผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์ตะวันออกกลาง

(16 มิ.ย. 68) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ทวีความรุนแรง และส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า “การประชุม กบน. วันนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 72.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 85.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 88.02 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล   ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ และค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง 

เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น และไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพในช่วงที่สถานการณ์วิกฤตพลังงานกำลังเกิดขึ้น กบน. จึงมีมติให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยใช้กลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพ และพยุงราคาน้ำมันในประเทศ ไม่ให้กระทบกับความต่อเนื่องในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาว” ดังนี้ (ข้อมูลในตาราง)

สำหรับการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะทำให้รายรับของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันทุกชนิด (รวมถึงน้ำมันเตา) ลดลงประมาณวันละ 74.41 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายรับประมาณวันละ 241.64 ล้านบาท เหลือประมาณวันละ 167.23 ล้านบาท โดยปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 ติดลบอยู่ที่ 36,268 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันบวกอยู่ที่ 8,244 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ 44,512 ล้านบาท

นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินมาตรการครั้งนี้เป็นไปตามบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาพลังงานของประเทศเมื่อเกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยยึดหลักการ “เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้” พร้อมยืนยันว่า กบน.จะติดตามสถานการณ์น้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อดูแลและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนให้มากที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top