Monday, 29 April 2024
การเมืองไทย

‘ดร.เสรี’ เตือน ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ อย่าคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ชี้!! ตราบใดที่ยังแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่อย่างนี้ จะแพ้เลือกตั้งทุกครั้ง

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยระบุว่า…

“ตราบใดที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมยังแบ่งเป็นหลายพรรคอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ เลือกตั้งอีกกี่ครั้งกี่ทีก็จะพ่ายแพ้กับฝ่ายตรงกันข้าม ที่นำเสนอผลประโยชน์มากมาย

คนกลุ่มหนึ่งก็เสพติดประชานิยม คิดแต่จะเอาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สนใจว่าคนที่นำเสนอนโยบายประชานิยมทำร้ายประเทศชาติแค่ไหน

อีกกลุ่มหนึ่ง ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คิดแต่จะเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่สนใจรายละเอียดว่าจะเปลี่ยนไปทางดีหรือทางร้าย

ประกอบกับคนนำเสนอการเปลี่ยนก็หน้าตาดี พูดเก่ง นำเสนอผลประโยชน์ (ที่ทำจริงไม่ได้) มาหลอกล่อให้คนเลือก คนที่อยากได้สิ่งที่เขานำเสนอก็เลือกคนที่เลือก 2 พรรคนี้ เขาไม่คิดมากหรอกค่ะ เขาตั้งใจจะเลือกของเขา ไม่สนใจว่าพรรคอื่นจะนำเสนออะไร เขาปักใจ ยังไงก็เลือกพรรคที่เสนอผลประโยชน์ที่โดนใจ

ส่วนคนที่ไม่เอา 2 พรรคนี้ มีพรรคให้เลือกหลายพรรค แต่ละพรรคก็มีข้อเสนอดีๆ มีคนดีๆ มานำเสนอเป็นผู้แทน สุดท้ายก็เลือกกันแบบเบี้ยหัวแตก แบ่งคะแนนกันเอง

หลายพื้นที่ เมื่อเอาคะแนนฝ่ายอนุรักษ์นิยมทุกพรรคมารวมกัน คะแนนมากกว่า 2 พรรคที่ได้ ส.ส. มากเป็นที่ 1 และที่ 2 รวมกัน
.
ถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป พรรคการเมืองเสนอจะให้ ประชาชนเชื่อข้อเสนอ พอใจ อยากได้ สื่อช่วยเชียร์ ในที่สุดพวกเขาก็ชนะ และจะชนะตลอดไป

พูดเรื่องแบ่งคะแนนกันมาตั้งแต่ปี 2548 ไม่มีใครฟัง เลือกตั้งทุกครั้ง พรรคประชานิยมชนะถล่มทลาย และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

เมื่อไหร่จะคิดได้กันเสียทีนะ ถ้ายังคิดกันไม่ได้ ทั้งนักการเมืองและประชาชนผู้ลงคะแนนเลือก ก็อย่าหวังว่าจะชนะคนที่เขากล้าสัญญาว่าจะให้สวัสดิการเกินจริงเลยนะคะ”

‘อานนท์’ ลั่น!! ถ้า ‘ก้าวไกล’ ถอยเรื่องแก้โครงสร้างการเมือง เลือกตั้งคราวหน้าก็เตรียมตัวสูญพันธุ์เหมือนกับพรรคอื่นๆ

วันที่ (30 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

“ถ้าก้าวไกลถอยเรื่องการแก้ไขโครงสร้างอำนาจของสถาบันการเมือง ก็ไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองอื่นๆ เลือกตั้งครั้งหน้าก็เตรียมสูญพันธุ์เช่นกัน

การจะแก้ไขโครงสร้างอำนาจมันก็ต้องทำในสภา ถ้าไม่ได้ตำแหน่งประธานสภา ก็ยากที่จะทำได้ สักพักไปเจอการเตะถ่วงร่างกฎหมาย การเบรคไม่ให้อภิปราย ทุกอย่างก็จบ

ถ้าเพื่อไทยเห็นจุดนี้และอยากร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก็ควรถอยเรื่องประธานสภา ให้ก้าวไกลเป็นหัวหอกเรื่องนี้ โดยมีเพื่อไทยเป็นกองหนุนและทำงานด้านปากท้องแบบที่เพื่อไทยอ้างว่าถนัดและทำเป็น แบบนี้สังคมจะได้ประโยชน์กว่า

เว้นเสียแต่ว่าเราไม่มีความฝันร่วมกัน สภาพมันจึงเป็นเช่นที่เราเห็นตอนนี้”
 

‘เสก โลโซ’ ลั่น!! การเมืองมันห่วยแตก ขอมอบเพลง ‘เคยรักฉันบ้างไหม’ ให้คนที่อกหักทางการเมือง

เมื่อคืนวันที่ 19 ก.ค.66 ที่สถานบันเทิงโรงเหล้ามิตรภาพโคราช ศิลปินร็อกรุ่นใหญ่ 'เสก โลโซ' หรือนายเสกสรรค์ ศุขพิมาย ขึ้นแสดงบนเวทีคอนเสิร์ต โดยมีผู้มารอรับชมจำนวนมาก

โดยช่วงก่อนจบการแสดง ร็อกสตาร์ชื่อดังได้กล่าวกับผู้ชมหลากหลายสถานะจำนวนหลาย 100 คนว่า...

“วันนี้เราจะเมานะครับเพื่อน อุทิศให้กับการเมืองที่มันห่วยแตกครับเพื่อน ๆ ครับ พูดมากไม่ได้ เดี๋ยวเขาจับไปขังอีก”

“ผมมีเรื่องที่จะพูดเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าพูดไปก็จะขัดความสนุกของเพื่อน ๆ เปล่า ๆ จะบอกว่า 14 ล้านเสียงของเรานั้น ไม่มีเหตุผลเลย ใช่ไหมครับ 14 ล้านเสียงคือประชาชน พูดต่อไปแม่งก็การเมืองมันห่วยแตก กินส้มตำใส่ปลาแดกเวิร์กกว่า (เป็นทำนองเพลง) จะร้องเพลงนี้ให้กับคนที่อกหักในการเมืองในวันนี้นะครับ เคยรักฉันบ้างไหม เพื่อน ๆ ครับ”

ท่ามกลางเสียงตบมือเป่าปากที่ 'เสก โลโซ' ได้สะท้อนความรู้สึกในภาวะการเมืองที่ไม่ปกติ

6 สิงหา ชี้ชะตา!! 77 ปี ‘ประชาธิปัตย์’ เส้นทางการเมืองที่มาจรดอยู่บนปากเหว

(23 ก.ค. 66) เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จะรอดไหม? ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป (คนที่ 9) เป็นคำถามยอดฮิตที่เข้าใจว่า แฟนคลับยังอาลัยอาวรณ์กับพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว ยืนหยัดผ่านพงหนามมา 77 ปี ย่าง 78 ปี สร้างนักการเมือง สร้าง ส.ส.สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน ประธานรัฐสภาก็มี

“พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ในทางการเมืองไม่ได้อยู่อย่างมั่นคง ราบรื่นตลอด แต่พรรคก็ผ่านมาได้ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหมือนโรงเรียน สถาบันที่สร้างนักการเมือง หลายคนที่ผู้ในพรรคอื่นล้วนแล้วแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา พรรคจึงมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน มีหัวหน้าพรรคมาถึง 8 คน” นายชวน หลีกภัย กล่าวในวันครบ 77 ปี ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นพรรคเก่าแก่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฏร์ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) อันเกิดจากการก่อการของคณะราษฎร มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เข้าร่วมในการบริหารประเทศ

‘ควง อภัยวงค์’ และคณะขึ้นให้กำเนิดก่อเกิด ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ขึ้นมา พร้อมกับเจตนารมณ์ หรืออุดมการณ์ของพรรค 10 ข้อ และถ้าได้นั่งลงพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และจิตใจที่เป็นกลาง จะพบว่าอุดมการณ์ทั้ง 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ยังทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการทุจริต-คอร์รัปชัน ไม่เอาเผด็จการ และการกระจายอำนาจ

พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ซึ่งเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ไม่ครบองค์ประชุม ก็เป็นที่จับตากันว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป และจะนำพาพรรคไปในทิศทางไหน

77 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประชาธิปัตย์เจอขวากหนามมากมาย บนถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เคยตกต่ำถึงขีดสุดๆ  และเฟื่องฟูสูงสุดมาแล้ว ผ่านวิบากกรรมคดียุบพรรคมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความเชี่ยวของคนในประชาธิปัตย์ จึงพารอดมาได้ทุกครั้ง เคยตกต่ำถึงขั้นในกรุงเทพฯ เหลือ ส.ส.อยู่คนเดียว จากที่เคยเฟื่องฟู มี ส.ส.100 กว่าคน

แต่น่าใจหายเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มถดถอยอีกครั้ง เหลือ ส.ส.อยู่เพียง 52 คน รันทดใจมากกว่านั้นในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับ ‘จุดต่ำสุด’ อีกครั้ง ดำดิ่งที่สุดอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะ นำ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้เพียง 25 คน ส.ส.เขตเหลือแค่ 22 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคให้เร่ง ‘กอบกู้’ และ ‘ฟื้นฟู’ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเร็วก่อนถึงจุดจบ ท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในพรรค

เสียงเรียกร้องให้เร่งฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากความห่วงหาอาทร อาลัยรัก พรรคเก่าแก่ พรรคที่เคยรักเคยชอบ เคยให้ความไว้วางใจ เวลานี้ ‘ทั้งรัก ทั้งชัง’

คนที่ยังรัก ปรารถนาดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็มีข้อเสนอมากมาย ที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องนำมาพิจารณาทบทวน กำลังยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ ส่วนคนชังก็ซ้ำเติม “พรรคเอาแต่พูด ไม่เห็นทำอะไร” / “พรรคเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เหล่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ประชาธิปัตย์แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนยากจะสลัดออก จนมาถึงวันนี้ประชาธิปัตย์เหมือนคนที่ยืนอยู่ปากเหว จะกระโดดไปข้างหน้าก็กลัวตกเหว จะถอยหลังก็กลัวเหยียบอุจจาระตัวเองที่ถ่ายทิ้งไว้

6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่าจะเดินลงเหว หรือเดินถอยหลังไปเหยียบอุจจาระตัว หรือนั่งลงตั้งสติ ขบคิดทบทวน แสวงหาแนวร่วมมาช่วยคิด ช่วยทำ #นายหัวไทร เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้คนที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมอง เป็นคนทันสมัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปัตย์ก็ยังไปได้ ยังฟื้นฟูได้ เพียงแค่ให้ตั้งสติ ขบคิด ทบทวน ถอดบทเรียนในอดีต แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใหม่ ร่วมกันเดิน ช่วยกันตี ‘สะตอต้องมารวมฝัก’ เป็น ‘สะตอสามัคคี’ กำหนดยุทธศาสตร์ ‘อีสานประสานใต้’

ถึงมวลสมาชิกประชาธิปัตย์ ลองหลับตานึกผลการเลือกตั้งปี 2500 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 31 คนทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์ประสานเสียงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูป-ฟื้นฟูพรรคไม่แตกต่างจากหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 2566 เสียงอื้ออึงระงมไปทั่วแผ่นดิน เป็นเสียงที่ชาวประชาธิปัตย์ต้องขบคิด และรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะไม่ใช่เสียงกบ เสียงเขียด เสียงอึ่งอ่าง ยามหน้าฝน แต่เป็นเสียงจากคนที่รักประชาธิปัตย์ ยังอยากเห็นชื่อประชาธิปัตย์โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมือง

ลดฐิติ ลดความอยากลงบ้าง แล้วมานั่งตั้งสติว่า จะกระโดดข้ามเหว ถอยหลัง ตั้งสติ อย่าเอาอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ‘หัวหอก หัวขาว หัวดำ’ ก็ต้องรับฟัง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคของเรา

เปิด 8 รายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
1.) พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2489-2511 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4
2.) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2511-2522 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6
3.) พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2522-2525
4.) พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2525-2534
5.) ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2534-2546 เคยเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
6.) บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2546-2548
7.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2548-2562 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
8.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2562-2566

‘ปิยบุตร’ ลั่น!! การเมืองไทยต่อไปไม่ใช่สงคราม ‘สีเสื้อ-ต่อสู้ระหว่างพรรค’ แต่เป็นการต่อสู้ ‘อดีต VS อนาคต’ ที่ปชช.ผู้มีอำนาจสูงสุดร่วมกันกำหนด

(3 ส.ค. 66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ภายหลังพรรคเพื่อไทยประกาศฉีก MOU และไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า

ไม่มีอะไรที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ต้องเสียใจ ต้องเสียหน้า ต้องท้อแท้สิ้นหวัง และไม่มีอะไรที่ต้องคลางแคลงสงสัยว่าตนคิดผิด

นายปิยบุตร ระบุด้วยว่า พวกเขาต่างหากที่ต้องเสียใจที่มองสถานการณ์ระยะสั้น พวกเขาต่างหากที่ต้องเสียหน้า ตอบใครไม่ได้แม้กระทั่งตอบใจตนเอง ต้องแก้ปัญหาในสิ่งที่พูดไปแบบ ‘วัวพันหลัก’ พวกเขาต่างหากที่ต้องท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่รู้ว่าในอนาคตจะชนะก้าวไกลได้ด้วยวิธีไหน จะยุบ-จะตัดสิทธิอย่างไร ก็ฆ่า ‘ความคิด’ ไม่ตาย

สังคมเปลี่ยน ความคิดจิตใจคนเปลี่ยน นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องขยับตาม ถ้าไม่นำมวลชน อย่างน้อยก็ต้องเคียงข้างกับความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป หนทางพิสูจน์ม้าและเวลาพิสูจน์คน ใครถอยและใครทน พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา ดีเสียอีกที่การเมืองไทยได้ขีดเส้นใหม่ แบ่งใหม่ชัดเจน ต่อไปไม่ใช่สงครามสีเสื้อ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรค แต่คือการต่อสู้ระหว่างอดีต vs อนาคต อดีตแบบทศวรรษ 2520 ขยับทีละคืบไปสู่ทศวรรษ 40 กับอนาคตแบบใหม่ที่ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศร่วมกันกำหนด”

เข็มนาฬิกาเดินหน้า ต่อให้ใครหยุดเข็มนาฬิกาไม่ให้เดิน อย่างไรมันก็จะเดินต่อไป ขอจงยืนตรงอย่างทระนงองอาจ เดินหน้าสู้ต่อภัยทั้งปวง ต่อสู้ตามแนวทางของตน ระลึกถึงแววตา เสียงร้อง อ้อมกอด และน้ำตา ของประชาชนที่ฝากความหวังให้กับพรรคก้าวไกล ตระหนักถึงภาระที่ประชาชนส่งมอบให้พรรคก้าวไกลนับแต่วันที่ 14 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สู้จนกว่า…อำนาจสูงสุดจะเป็นของประชาชน

'สุหฤท' โพสต์คอมเมนต์ถึง 4 ฝ่าย "เรามาถึงจุดตกต่ำอะไรได้ขนาดนี้"

(8 ส.ค. 66) นายสุหฤท สยามวาลา นักธุรกิจและนักจัดรายการชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘DJ Suharit Siamwalla’ ระบุว่า...

ความเห็นสามสี่ข้อดังนี้ (มีหลายข้อนะอ่านเพลิน)

แด่กลุ่มทะลุวัง

จะโกรธอะไรแค่ไหนก็ประท้วงแบบคนที่เจริญแล้วก็ได้ มีคนโกรธร่วมด้วยมากมาย ความหยาบคายจะกลบทุกอย่างลงสิ้น ตอนนี้หยาบเกินบรรยายจร้า ไม่มีประโยชน์นะ ลองหาครีเอทีฟสร้างสรรค์เก่ง ๆ ในกลุ่มดู

แด่เพื่อไทย

ไม่รู้ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไรเลย คืองงมาก ๆ งงแบบที่สุด ผมไม่ติดด้วยถ้าจะได้นายกจากเพื่อไทย จริง ๆ นะ ถ้ามันสง่างามมีคลาสกว่านี้ แต่ถ้าทำเพื่อให้ทักษิณกลับบ้านให้ได้ คุณทักษิณก็โหดเหี้ยมเกินเบอร์มากๆ มีอีกกี่ชีวิตในเพื่อไทยหรือคนที่รักที่แบกคุณเขาจะโกรธแค้นอ่ะ งง มากจริง ๆ มึนสุด มันไม่ใช่การพูดหลอกการหาเสียงนะ มันคือคำสัตย์ที่สัญญาไว้

แด่ผู้รักลุง

มีแต่คนด่าเพื่อไทย แต่ถ้าพรรคของลุงมาร่วมกับเพื่อไทยจริง ๆ ผมก็ว่าน่าละอายมาก ๆ มากที่สุด มันไม่มีชัยชนะอะไรเลยนะ เราอยู่บนรัฐบาลที่ตั้งขึ้นด้วยกลอุบายตั้งแต่แรก จะรักกันร่วมกันบริหารเพื่อประเทศอย่างไรอ่ะ งงมาก ๆ อึนสุด ๆ นอกจากจะสะใจที่หลอกเพื่อไทยสำเร็จ การบริหารงานราชการช่างแม่ง

แด่ก้าวไกล

คุณไม่ใช่เทวดามาจากไหนนะ มันไม่มีเทวดาที่จะอยู่ในนรกได้ อยู่ในการเมืองไทยเป็นเทวดาไม่ได้เพราะมันคือนรกที่แฝงอำนาจที่หอมหวน จงเป็นมนุษย์ที่เข้าใจมนุษย์ที่กำลังอยู่ในนรก แบบประชาชน มนุษย์แบบก้าวไกลต้องมีจุดยืนที่น่ายกย่อง สัญญาไว้สามร้อยอย่างถ้าทำสำเร็จ 299 อย่าง พลาดข้อเดียวก็ยังดี น่าจะรู้ว่าข้อไหน และโปรดรังเกียจพรรคที่บอกว่ายังไงกูก็ไม่เอาก้าวไกลแบบเหมารวม มันไร้เหตุเกินไป

ใครไม่งง กูงงครับ ว่าเรามาถึงจุดตกต่ำอะไรได้ขนาดนี้

จากผมที่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในนรกการเมืองไทย ทุกคนอยู่กลุ่มความเชื่อไหนก็ตามจะรู้สึกแย่หมด

สุหฤท สยามการเมืองไทยหมดศักดิ์ศรีสิ้นแล้ว

'อ.ไชยันต์' เปรียบการเมืองเนเธอร์แลนด์ แล้วย้อนดูการเมืองไทย พรรคคะแนนสูง แต่ไม่เกินครึ่งสภา อกหักเป็นเรื่องธรรมดา

(8 ส.ค.66) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ในเนเธอร์แลนด์ พรรคการเมืองอะไรที่พรรคอื่น ๆ ไม่อยากยุ่งด้วย' ว่า...

"ดูการเมืองเนเธอร์แลนด์ แล้วย้อนดูการเมืองเรา"

โดย Luket Chusorn นักศึกษาชาวเนเธอร์แลนด์ เชื้อสายไทย เผยว่า...

หากการทำนายผลเลือกตั้งถูกต้อง พรรค PVV (พรรคเพื่อเสรีภาพ : Partij voor de Vrijheid) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด จะกลายเป็นพรรคที่ได้ สส. มากที่สุด แต่ไม่เกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งที่จะมาถึง 

และนั่นไม่ได้หมายความว่า พรรค PVV จะได้จัดตั้งรัฐบาลโดยอัตโนมัติ 

ตรงกันข้าม โอกาสที่ PPV จะได้จัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลมีน้อยมาก เพราะไม่มีพรรคใหญ่ไหนอยากร่วมงานกับ PVV 

ถึงแม้ ดูเหมือนว่า พรรค VVD (พรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย : Volkspartij voor Vrijheid en Democratie) จะเปิดทางไว้บ้าง เพราะเนื่องจากหลักของพรรค VVD เห็นว่า 'ไม่ควรประกาศล่วงหน้าว่าจะไม่ร่วมมือกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง' ก็ตาม

แต่จริง ๆ แล้ว VVD และพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมอื่น ๆ ต่างพยายามหาทางกำจัด PVV ให้เร็วที่สุด 

ไม่น่าเป็นไปได้ที่ PVV และ VVD จะได้เสียงข้างมากในรัฐสภาร่วมกัน 

เพราะทันทีที่พรรคของ Geert Wilders หรือ PVV ถูกเขี่ยออกไป การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่แท้จริงก็จะเริ่มขึ้น

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศเนเธอร์แลนด์ 

เพราะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้ง พรรค PvdA (พรรคแรงงาน : Partij van de Arbeid) ก็ได้เป็นพรรคที่มี สส. มากที่สุดสองครั้ง แต่ก็ยังต้องลงเอยเป็น 'ฝ่ายค้าน'

แต่กระนั้น พรรค PVV ก็ไม่ได้กังวลอะไรกับการที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

เพราะ Geert Wilders หัวหน้าพรรค PVV เชื่อว่า การที่พรรคของเขาถูกขัดขวางทางการเมือง ก็ยิ่งจะทำให้พรรค PVV ของเขาได้รับความนิยมมากขึ้น

'ดร.สุวินัย' รับ!! ปรากฏการณ์สลายขั้วเหลือง-แดง เป็นสิ่งที่ดี  ให้ความหวังและน่าชื่นชม ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใดก็ตาม

(21 ส.ค. 66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Suvinai Pornavalai’ ระบุว่า…

ปรากฏการณ์สลายขั้วเหลือง-แดง เป็นปรากฏการณ์ที่ดี ที่ให้ความหวังและน่าชื่นชม...ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใดก็ตาม

ทุกข์ของคนไทยตอนนี้ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว โดยเฉพาะทุกข์ทางเศรษฐกิจและทุกข์เรื่องทำมาหากินที่ยังฝืดเคือง

การมีข่าวดี ๆ ออกมา ที่ช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกันเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง จงอย่าใจแคบ ความคิดก็อย่าคับแคบ มองภาพใหญ่ให้ออก มองป่าทั้งป่าให้ได้

ทุก ๆ วัน การดึงตัวเองไปอยู่ในมณฑลแห่งพลัง และโลกของผู้บำเพ็ญในจิตของตนก่อนเมื่อลืมตาตื่น คือกิจวัตรของผม

ฝึกฝนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกเช้าค่ำ จนกระทั่งมันเป็นไปเอง

อย่างการนั่งฟัง (เห็นโพสต์) ‘เสียงทุกข์’ ของสรรพสัตว์ (หรือ กวนอิม 観音) ผ่านจอแท็บเลตของตัวเองทุกวันด้วยจิตผู้รู้…ก็เป็นอีกวิธีภาวนาที่ผมใช้เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ 

คนทั่วไปมักไม่รู้ว่า การรับรู้กับการตีความของเรานั้นเกิดขึ้นเกือบจะพร้อมกัน ทำให้คนเรามักมองโลกด้วย ‘จิตที่กะเกณฑ์’ ไว้ล่วงหน้าเสมอ

ผลก็คือคนเราได้สร้างสิ่งขวางกั้นระหว่างตัวเรากับ ‘ความเป็นจริงอย่างที่มันเป็น’ ขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว

การเห็นอย่างบิดเบือนแล้วปักใจเชื่ออย่างนั้นเลย จึงหมายถึง การยึดมั่นถือมั่น คือหลงไปยึดสิ่งที่เรารับรู้ ซึ่งเข้ากันได้กับประสบการณ์ทางจิตอันจำกัดของเรา ทำให้เกิดการบิดเบือนการรับรู้อย่างตรงไปตรงมาหมายความว่า ตอนนั้นเราไม่มีความรู้ตัว หรือขาดสัมปชัญญะไปแล้ว

อวิชชาหรือความไม่รู้สึกตัว คือที่มาแห่งทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง 

ความทุกข์มากมายจนท่วมโลกขนาดไหน สุดท้ายมันก็มีแค่นี้แหละ คือความไม่รู้ตัว หรือไม่มีสัมปชัญญะ เมื่อฝึกภาวนาเห็นทุกข์ของผู้คนแบบนี้บ่อยเข้า บ่อยเข้า

วิราคะ หรือความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏมันย่อมเกิดขึ้นเอง

ฉากทัศน์สลายขั้ว 'ก๊กแดง' ผนึก 'ก๊กเสื้อหลากสี' เกมที่ต้องทำ!! สกัด 'ก๊กส้ม' ทลายชาติ-ล้างราชวงศ์

มาถึงตอนนี้ การเมืองไทย ได้ก้าวสู่ยุค 'สามก๊ก' โดยสมบูรณ์ไปเป็นที่เรียบร้อย

1. ก๊กส้ม (151 คือ กก.) ก๊กนี้กำลังห้าว รุกทุกพื้นที่ ก้าวร้าวสุดๆ ไม่ยึดคุณธรรม ทำลายทุกคน 

= วุยก๊ก

2. ก๊กแดง (141+7 = 148 คือ พท. และวันนอร์) ก๊กนี้รุ่นพ่อแม่สร้างให้ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์  

= ง่อก๊ก

3. ก๊กหลากสี (71+40+36+25=172 คือ ภท. พปชร. รทสช. ปชป.) นำโดยก๊กเหลือง ก๊กนี้เรียกว่าแนวอนุรักษ์นิยม ยึดประเพณีบรรพบุรุษ ที่ดีงาม หรือพวกผู้ดีเก่า

= จ๊กก๊ก

***การเมืองไทยในอดีตเป็นยุค 2 ก๊ก แต่ปัจจุบัน เกิดก๊กใหม่เป็น 'ก๊กส้ม' ซึ่งกำลังเติบโตสุด ๆ จนกลายเป็น 3 ก๊กเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นไม่ว่า 2 ก๊กไหนได้จับมือกัน ก๊กนั้นก็จะครอบครองอำนาจได้ทันที

ก๊กส้ม ของ โจโฉ อยากเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงหาพันธมิตรไม่ได้ ไม่มีใครคบ

ในอดีตก๊กแดง ของ ซุนกวน และก๊กหลากสี ของเล่าปี่ ขัดแย้งกันหนักเป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี ต้องหันมาจับมือกัน เพื่อต้านทานก๊กส้ม ที่กำลังเติบใหญ่

ยุคสามก๊กปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บ้านเมืองแตกแยกอย่างหนัก 

ตอน #ยุทธศาสตร์หลงจง

ขงเบ้งตกลงร่วมงานกับเล่าปี่ ช่วยฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น โดยเสนอ #ยุทธศาสตร์หลงจง แก่เล่าปี่ ก่อนลงจากเขาโงลังกั๋ง

สาระคือ เล่าปี่ ต้องครอบครอง ดินแดนเกงจิ๋ว ให้ได้ก่อน แล้วไปเป็นพันธมิตรกับซุนกวนที่ครอบครองดินแดนกังตั๋งได้แล้ว เพื่อต้านทานทัพโจโฉ ที่ขยายอิทธิพลยึดดินแดนทางใต้ ถ้าไม่สามัคคีกัน #เกงจิ๋ว ของเล่าปี่ จะพังพินาศพร้อมกับ #กังตั๋ง ของซุนกวน

หลังจากนั้นสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง สะสมเสบียงให้พร้อม แล้วค่อยรวบรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งเดียว อีกรอบ

และกุนซือ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า อย่าเพิ่งทำลายกันเอง เพราะถ้าทำลายกันเอง จะไม่มีกำลังพอที่จะต้านทานทัพโจโฉ ดังนั้นทั้งสองแม้ไม่ใช่เป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่น แต่ต้องรวมกันยามมีภัย

การเมืองไทยยุคนี้ เกิดเป็น 3 ก๊ก ชัดเจนแล้ว และจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี ทางที่ประเทศชาติจะปลอดภัย ก๊กแดงกับก๊กเสื้อหลากสี ที่นำโดยเหลือง จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันเพื่อสกัดก๊กส้ม ให้ได้

ถ้าแย่งอำนาจ ทำลายกันเอง อีก 4 ปีข้างหน้า จะถูก ก๊กส้ม กลืนกิน ทำลายหมดทุกก๊ก นอกจากไม่มีดินแดนให้ครอบครองแล้ว จะยังไม่มีที่นั่งในสภาอีกต่อไป  

ที่นี้แหละ ประชาชนทั้งแผ่นดินที่ไม่ใช่ประชาชนของ ก๊กส้มจะถูกทำลายราบจนสิ้นราชวงศ์ฮั่น

เรื่อง: มิสเตอร์เค

คอลัมน์: เล่าเท่าที่รู้

เหตุไฉน!! นโยบายบางพรรคจากคนรุ่นใหม่ ไม่โดนใจทุกคน "ก็ใหญ่โตมาจากไหน ถึงมองสถาบันกษัตริย์ไทยไม่สำคัญล่ะ"

เด็กรุ่นใหม่ ๆ อายุยี่สิบต้น จนถึงสามสิบกลาง ๆ รวมถึงคนวัยใกล้ ๆ กันที่คิดต่างจากผมบางคน ชอบถามผมว่า เมื่อเห็นว่านโยบายของบางพรรคการเมืองที่มาจากคนรุ่นใหม่ดีถูกใจ ทำไมผมจึงยังไม่เลือกอยู่ดี ถามว่าทำไม? 

ผมมักตอบกลับไปยาว ๆ ว่า… 

การจะอ่านพฤติกรรมของนักการเมืองไทย ต้องอย่าดูแค่ ‘วาทกรรม’ แต่ต้องดู ‘พฤติกรรม’ ดูเจตนาลึก ๆ ที่ผ่าน ๆ มา ถ้าเราไม่ปัญญาเบา หรือมีอคติจนเกินไปก็จะมองออกได้ง่ายมาก ๆ พรรคการเมืองใดก็ตามที่ลึก ๆ กังขาสถาบันในเรื่องต่าง ๆ ไม่รู้สึกผูกพัน มองเป็นส่วนเกิน มองเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ มองไม่เห็นประโยชน์ จนถึงขั้นคิดล้มล้างทำลาย ก็จะแสดงออกถึงความเป็นปฏิปักษ์ให้สังคมเห็นในวิธีต่าง ๆ ส่วนคนที่จะเลือกพรรคการเมืองแบบนี้ ก็ต้องมีเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดตรงกับ ‘แนวคิด’ หรือ ‘อุดมคติ’ ของพรรคการเมืองแบบนี้เท่านั้น 

แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่เลือก บางส่วนก็กลัวคนอื่นจะล่วงรู้ว่าตนเองก็แอบไม่เอาสถาบัน ไม่ได้นึกถึงว่าตนเองเกิด และเติบโตมาบนผืนแผ่นดินไทยนี้ได้อย่างร่มเย็น ผาสุข ส่วนสำคัญก็มาจากสถาบันกษัตริย์ไทย 

คำว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ หาใช่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คือราก คือแก่น คือความสำคัญอันดับต้นในความเป็นชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ด้วยบรรพบุรุษของกษัตริย์ กับคนไทยผู้หวงแหนแผ่นดิน ร่วมกันสร้างชาติจนเป็นชาติ ทำให้คนรุ่นต่อ ๆ มามีแผ่นดินอาศัย มีเอกราช มีเสรี มีความภูมิใจ ทำให้คนไทยที่คิดดีไม่กล้าคิดเนรคุณ หรือหลงลืมบุญคุณ ‘ชาติกษัตริย์ไทย’ เพราะจะมีความเชื่อคล้าย ๆ กันว่า คนที่คิดร้ายทำลายชาติ คิดเนรคุณแผ่นดินเกิดของตนเอง ย่อมนำเคราะห์ร้าย นำความหายนะมาสู่ชีวิตของตนเองในไม่ช้าก็เร็ว

แม้จะเป็นความเชื่อส่วนบุคคลของเหล่าคนรักสถาบันชาติกษัตริย์ไทย แต่ที่ผ่านมาก็มีฉายโชว์ให้เห็นจุดจบของคนคิดล้มล้างทำลายมาโดยตลอด 

ผมเกลียดนักการเมืองน้ำเน่า เกลียดการคอร์รัปชันโกงกินทุกรูปแบบ และฝันอยากได้นักการเมืองรุ่นใหม่ที่คิดดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนคนไทยโดยแท้จริง แต่ที่เห็นและมีอยู่ยังไม่เฉียดใกล้มาตรฐานของคนไทยที่รักสถาบันจริง ๆ เลยแม้แต่น้อย ผมอายตัวเอง ถ้าต้องได้ชื่อว่าเป็นคนไทยที่สนับสนุนการกัดเซาะ ล้มล้าง ทำลายสถาบันเบื้องสูงของตัวเอง เพราะสำหรับผม สถาบันคือความมั่นคงที่คนไทยต้องปกป้อง..รักษา ไม่ใช่สิ่งที่เสมอเทียมคนปกติแบบเรา ๆ

ผมคิดแบบนี้ เขาคิดแบบนั้น ผมและเขาเราจึงคุยกันไม่รู้เรื่อง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top