Tuesday, 14 May 2024
การศึกษาไทย

‘นักเขียนดัง’ รีวิว หนังสือเรียน ‘ภาษาพาที’ ทั้ง 6 ระดับชั้น เผย เล่มของชั้น ป.5-6 เนื้อหาสุดบ้ง!! ยัดเยียดทัศนคติล้าหลัง

(26 เม.ย. 66) หลังประเด็นดรามาถูกตั้งคำถามในเรื่องเนื้อหาของหนังสือภาษาพาที ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

ล่าสุด น.ส.พนิตชนก ดำเนินธรรม หรือ ‘นิดนก’ นักเขียน และ โฮสต์พอดแคสต์ ‘The Rookie Mom’ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว รีวิวการอ่านหนังสือภาษาพาที โดยระบุว่า…

ได้อ่านหนังสือชุดนี้ครบทั้ง 6 เล่ม 6 ระดับชั้นแล้วเป็นที่เรียบร้อย คิดว่าพยายามอ่านอย่างมี Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) มากแล้ว คือพยายามไม่ตั้งธงในใจ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความเอ๊ะที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดการอ่านได้ คิดว่าการอ่านในตอนที่โตแล้ว เราก็มีภูมิต้านทานประมาณนึง จริงๆ ก็อยากไปนั่งอ่าน หรือไปนั่งดูเด็กๆ อ่านเหมือนกัน ว่าพวกเขาคิดเห็นยังไง รีแอ็คชันเป็นยังไงน่ะนะ

ขอว่าไปเป็นข้อๆ
– เล่ม ป.1 ยังไม่มีอะไรให้ลุ้นมาก เพราะยังเป็นคำโดด เน้นหัดอ่าน ผ่านเรื่องราวของตัวละคร ใบโบก ใบบัว ช้างสองตัวเพื่อนรักของเด็กๆ

– พอขึ้น ป.2 เป็นต้นไป เนื้อหาจะเริ่มยาวขึ้นตามความเหมาะสมของช่วงวัย มีส่วนนึงที่ชอบ คือเห็นความตั้งใจที่จะส่งตัวละครใบโบก ใบบัว ออกจากหนังสือไป ช้างสองตัวนี้เป็นเหมือนตัวแทนความเป็นเด็ก ที่ปรากฏมาตอน ป.1 วัยเริ่มเรียนเขียนอ่าน อ่านออกครั้งแรกก็ได้รู้จักกับเพื่อนสองตัวนี้ ทีนี้พอขึ้น ป.2 หนังสือไม่ตัดฉับ แต่ยังเลี้ยงใบโบกใบบัวเอาไว้ถึงประมาณเทอมหนึ่ง ซึ่งก็เป็นช่วงสิ้นสุดปฐมวัยพอดี มีการปูเรื่องมาให้เห็นเหตุผล ก่อนที่เด็กๆ จะต้องอำลาเพื่อนช้าง และเนื้อเรื่องหลังจากนั้นก็จะเป็นชีวิตของเด็กๆ กับการใช้ชีวิตในสังคมนี้

– ซึ่งความชิบหายวายป่วงก็คือเริ่มต้นหลังจากช้างไปแล้วนั่นแหละ 5555555 สามารถหาจุดเอ๊ะได้ตั้งแต่เล่ม ป.2 เลย

– พีกหนักมากๆ จะอยู่ที่เล่ม ป.5-6 เข้าใจว่าเป็นเพราะมันคือวัยที่อ่านคล่องแล้ว คนเขียนก็เลยมันมือ เขียนเรื่องราวประโลมโลก ยัดเยียดทัศนคติล้าหลังเข้าไปให้อ่านกันด้วยสำนวนนิยายสมัยก่อนสงครามโลก อินสะไปร์บาย ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน แต่ฝีมือไม่ถึงเท่า ดังนั้นเราจึงได้เห็นคอนเทนท์บ้งทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะมาจากสองเล่มนี้แหละ แต่จริงๆ เล่มอื่นก็มีเยอะเหมือนกัน

– ที่น่าแปลกใจสำหรับเราคือเล่ม ป.4 ไม่แน่ใจว่าเป็นฉบับปรับปรุง หรือว่าแยกทีมงานคนละชุด หรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ถือว่าเป็นเล่มที่มีจุดชวนอึดอัดน้อยที่สุดจากทั้งหมด คือเขียนเรื่องราวมาด้วยความตั้งใจที่ต่างจากเล่มอื่นชัดเจนเลยนะ เห็นถึงความพยายามนำเสนอเรื่องราวร่วมสมัยชวนให้พูดคุยต่อ

เช่น มีบทหนึ่งเขียนเรื่องเพื่อนร่วมห้องที่เป็นเด็กพิเศษ ด้วยน้ำเสียงที่สำหรับเราคิดว่าโอเคมากๆ เลยนะถ้าคิดว่ามันคือ ‘ตำราไทย’ เล่มนี้จะแตะไปยังเรื่องรอบตัวรอบโลก เล่าด้วยทัศนคติที่ค่อนข้างไม่ตัดสิน สั่งสอนในระดับกำลังดี ความยาวและยากของเนื้อหาดูเหมือนจะยากกว่าป.6 อีกนะ 555 เลยค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นทีมงานคนละชุดกันแน่ๆ

– ซึ่งพอได้อ่านเล่ม ป.4 เลยทำให้คิดว่า เอาจริงๆ มันมีความเป็นไปได้อยู่ที่จะทำให้มันดี คือป.4 ก็ยังไม่ใช่หนังสือที่ดีที่เราอยากให้ลูกเรียนหรอกนะ แต่มันดีที่สุดในซีรีส์นี้ และสัมผัสได้ถึงความพยายามออกจากกรอบบางอย่าง คิดว่าถ้าได้คุยกับคนทำงานเล่มนี้น่าจะดี

– ตัดมาที่ ป.5-6 เละเทะไม่มีชิ้นดี คือสองชั้นนี้เด็กเข้าสู่วัยรุ่นแล้วเนาะ เค้าเริ่มจะไม่อยากฟังผู้ใหญ่สอนแล้ว แต่หนังสือสอนมาก สอนจนอึดอัด ไม่มีความเป็นเพื่อนที่อยากจะนั่งลงคุยกับเขาเลย ในทางภาษา ชั้นพี่ใหญ่ของระดับประถมนี่เขาคล่องแคล่วทางภาษามากแล้ว แต่หนังสือไม่มีความรุ่มรวยทางภาษาให้เขาเลย มันจืดชืดและอยู่ในกรอบ ไม่มีการทดลอง กลอนก็ไม่เพราะ ไม่ใส่ใจกับพวกสัมผัสในหรือการเล่นคำฉวัดเฉวียน ที่เราว่ามันสำคัญมาก ข้อเขียน บทกวีดีๆ มันจะส่งพลังให้เด็ก โดยเฉพาะกับคนที่เขาชอบภาษา จำได้ว่าตอนเด็กๆ สิ่งที่เราได้อ่านมันท้าทายเรามากกว่านี้ และทำให้อยากสู้ อยากรู้ต่อ จนทำให้ภาษาไทยเป็นวิชาที่ชอบเรียนมากที่สุด

– มีคนถามถึงคนเขียน ซึ่งในเล่มจะไม่ปรากฏ มีแค่ชื่อคณะกรรมการจัดทำยาวเหยียด จากการอ่านแล้วทั้งหมด พอจะจินตนาการคนเขียนได้ว่า เป็นคนอายุมากแล้วที่ชอบอ่านนิยายไทยประโลมโลก จึงได้เก็บเอาชุดคำและสำบัดสำนวนเชือดเฉือนยุคหลังสงครามโลกมาไว้ได้ครบถ้วน และเชื่อเอาแล้วว่าชุดภาษาในยุคนั้นนั่นล่ะคือตัวแทนความเป็นไทย ที่ควรบรรจุไว้ในตำราเรียน เมื่อได้รับโอกาสให้เขียน จึงลงมือตั้งใจเขียนจากประสบการณ์ จากคลังคำที่ตนมีอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างคุ้มภาษีประชาชน

– แต่สำหรับการจัดทำตำราอันเป็นมาตรฐานที่จะส่งไปให้เด็กในประเทศไม่ว่ายากดีมีจนได้เรียน ลำพังมีแค่ความตั้งใจอาจจะไม่พอ ต้องทำงานหนักกว่านั้นมาก ต้องทำงานเป็นทีมให้มาก ทีมที่ว่าต้องไม่ใช่พวกเดียวกันเองด้วย แต่ต้องคัดสรรทีมทำงานที่มีความคิดหลากหลายมาช่วยกันเสนอช่วยกันค้าน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาช่วยรับรองเนื้อหา มิใช่ปล่อยให้อยู่ในมือนักเขียน ที่เราเองก็อาจจะไม่ได้รู้รอบ แถมยังทำการบ้านมาน้อย และอีโก้สูงเสียอีก

– Narrative (เรื่องเล่า-การบรรยาย) ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าจากมุมมองของเด็ก ที่จะตรงกับช่วงวัยในตำราแต่ละระดับชั้น แต่ปัญหาของการใช้วิธีแบบนี้คือ มันเขียนมาแล้วไม่เด็กจริง เป็นเด็กที่ใช้สำนวนภาษาโคตรโบราณ ถ้านึกไม่ออกว่าประมาณไหน ให้ไปอ่านเพจนักเรียนดี เป็นอะไรทำนองนั้นแหละ หรือว่าจริงๆ แล้วคนเขียนตำราเล่มนี้ที่ทุกคนกำลังตามหา อาจจะเป็นคนเดียวกับแอดมินเพจนักเรียนดีก็เป็นไปได้

– อีกปัญหาของวิธีการแบบนี้ นอกจากเรื่องภาษาที่มันปลอมไม่เนียนแล้ว วิธีคิดมันก็ชวนอึดอัดมาก ลองนึกถึงวรรณกรรมเยาวชนที่เด็กอ่านติดกันงอมแงม แฮร์รี พอตเตอร์, ปิ๊บปี้ถุงเท้ายาว, นิโกลา, บรรดาเด็กๆ ในงานของโรอัลด์ ดาห์ล หรือแม้กระทั่งโต๊ะโตะจัง ผู้เขียนที่แม้ไม่ใช่เด็ก เขาเล่าเรื่องผ่านมุมมองวิธีคิดแบบเด็ก ที่สำคัญคือ เข้าไปเป็นพวกเดียวกับเด็กๆ ดังนั้นมันจะไม่มีเลยที่ตัวละครเด็กลุกขึ้นมาพูดว่า “ใช่แล้ว การขโมยนั้นเป็นสิ่งไม่ควรทำ” “เรามาไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองกันเถอะ” คือมันฝืนนนนน มันเป็นคำที่ผู้ใหญ่อยากได้ยิน แต่มันไม่ใช่ธรรมชาติที่เด็กจะพูด

– มนุษย์เราโดยธรรมชาติแล้วก็จะใฝ่ไปในทางดีนั่นแหละไม่ต้องเป็นห่วง แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ใหญ่มั่นใจได้ว่าไอ้พวกนี้มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น ก็เลยยัดเยียดเอาทุกอย่าง ทุกชุดคำที่อยากบอก ใส่เข้าไปในเนื้อเรื่องกันแบบดื้อๆ ฝืนๆ ไปอย่างนั้นแหละ อยากให้ประหยัดไฟก็พูดเลยว่าประหยัดไฟสิ

– ย้อนแย้งไหม ในหนังสือตำราเรียนภาษา ที่ปลายทางเราต้องการสร้างผู้ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์และไม่อับจนหนทาง มีศิลปะในการใช้มันเป็นเครื่องมือรับใช้ความคิดความต้องการของตัวเอง แอดวานซ์ไปกว่านั้นคือมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง สอดแทรกสารที่เราต้องการสื่อเข้าไป อย่างที่งานเขียนดีๆ หลายชิ้นเขาทำกันได้

‘OKMD’ ผนึก ‘ธรรมศาสตร์’ ปั้นโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัป  พัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา ยกระดับไทยเท่าทันสากล

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับ 88 SANDBOX มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการพัฒนา นวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาไทย เพื่อยกระดับความสามารถและศักยภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน ภายใต้ ‘โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา (LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program)’ พร้อมระดมกูรูในระบบนิเวศการศึกษา และเทคโนโลยีร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดไอเดียตั้งแต่เริ่มต้น สู่เป้าหมาย เชื่อมต่อนักลงทุนคู่ค้า ที่มีศักยภาพต่อไป  

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ต้องควบคู่ไปกับการลงมือทำ ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาช่วยให้กระบวนการเรียนรู้สะดวกขึ้น และทำให้ให้การลงมือปฏิบัติสำเร็จง่ายขึ้นอย่าง Education Technology หรือ EdTech หรือนวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญและเหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ในสมัยก่อนเรามี EdTech ในรูปแบบการศึกษาผ่านระบบดาวเทียม ต่อมาเป็นการเรียนรู้ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ผู้คนสามารถเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ถัดมาเป็นเทคโนโลยีใหม่อย่าง Zoom Meeting จนมาถึงตอนนี้นักเรียนนักศึกษาสามารถทำ Report จาก AI กันได้แล้ว OKMD จึงต้องดำเนินงานส่งเสริมและสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ควบคู่ไปกับ EdTech เพื่อช่วยให้การเข้าถึงความรู้และการเรียนรู้เป็นเรื่องง่าย ๆ”  

ดร.ทวารัฐ กล่าวต่อไปว่า “ความร่วมมือระหว่าง OKMD และ 88 SANDBOX ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการบ่มเพาะกลุ่มสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมการเรียนรู้และการศึกษา ให้มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ และเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ รวมทั้งเกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับประเทศไทย และเป็นก้าวที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะในอนาคต รวมทั้งการส่งมอบประสบการณ์และการบูรณาการจุดเด่นของทั้ง 2 หน่วยงาน ในรูปแบบการจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพต้นทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับชาติและนานาชาติต่อไปครับ”

ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึงความคาดหวัง ในการร่วม มือในโครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program ว่า เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงความรู้อย่างกว้างขวางและรอบด้าน ด้วยโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการเรียนรู้และการศึกษาให้กับประเทศไทย โดยการสร้างและส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีการศึกษาที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ และการศึกษาในสังคมให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการบ่มเพาะผู้ประกอบการทุกคนที่ต้องการสร้างไอเดียจากศูนย์สู่ความสำเร็จ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ให้กับประเทศไทย

“ปริญญาในโลกอนาคตไม่ค่อยมีความหมาย องค์กรยุคใหม่ไม่สนใจว่าเราจบอะไรมา เท่ากับทำอะไรเป็น เพราะฉะนั้นเวลาคัดเลือกคนเข้าทำงาน จะพิจารณาจากความสามารถในการแก้ปัญหา การจัดการสถาน การณ์ที่ยากซับซ้อน การทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program จะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทุก ๆ คน ตั้งแต่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา ไปจนถึงนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป ให้ได้รับการสนับสนุนต่อยอดไอเดียธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมและมีศักยภาพในการนำออกสู่ตลาดในระดับนานาชาติต่อไป” รศ.ดร.พิภพ กล่าว

โครงการ LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program จะเริ่มบ่มเพาะธุรกิจด้านการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ในรูปแบบของ 1) Training & Workshop เพื่อพัฒนาธุรกิจ ด้านต่างๆ รวมถึงการเพิ่มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการพัฒนาธุรกิจด้านการศึกษาของตนเอง โดยในกระบวนการจะมี Workshop จากวิทยากรทั้งด้านการศึกษา และด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

2) Education Experts เพื่อเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในด้านการศึกษา ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของครู นักเรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในระบบนิเวศการศึกษา

และ 3) Community Activities เพื่อเชื่อมต่อกับนักลงทุน คู่ค้า และลูกค้าที่มีศักยภาพ ช่วยผู้ประกอบการสร้างความสัมพันธ์และทำให้ธุรกิจเติบโต 

โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 100 ทีม (237 คน) และผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 20 ทีม (76 คน) โดยจะได้รับการบ่มเพาะทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยีและเปิดมุมมองทางด้านการศึกษาอย่างเข้มข้น จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุนกว่า 30 คน อาทิ รศ.ดร.พิภพ อุดร, ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) วรุตม์ นิมิตยนต์ (Co-Founder,Deschooling Game) โตมร ศุขปรีชา (OKMD) และมีเงินรางวัลรวมกว่า 2 แสนบาท มอบให้กับ 5 ทีมสุดท้ายทีได้รับการคัดเลือก

ในวันร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน ‘โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการศึกษา (LEARN LAB: OKMD X 88 Learnovation Program)’ ระหว่าง 88 SANDBOX ภายใต้การดูแลของฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ OKMD ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นที่น่าสนใจมากมาย อาทิ

• DMii, For Future Education Model โมเดลการจัดการเรียนรู้ในยุค ‘ความรู้อายุสั้น แต่คนอายุยาว’ โดย รศ. ดร. พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

• Learnovation to Learnlab จากนวัตกรรมการศึกษา สู่พื้นที่แห่งการสร้างโอกาสด้านการศึกษาแห่งอนาคต โดยโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้, OKMD

• 88 SANDBOX พื้นที่ผลักดันขีดจำกัดการศึกษาไทย ให้มุ่งสู่ Better Life, Better Society

• Discover the Future of Education ค้นหา และค้นพบศักยภาพของการศึกษาแห่งอนาคต

• Innovative Edtech Lab Lab นอกห้องเรียน ที่พาคุณไปทดลอง และทำจริง กับนวัตกรรมการศึกษาแห่งอนาคต

• Integrated Education Platform บูรณาการของ 5 องค์กรนวัตกรรมชั้นนำ เชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับนวัตกรรม

• Master from Failure เชี่ยวชาญให้สุด จาก ‘ความล้มเหลว’ แบบเฮียๆ โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

 

‘แม่มณี’ วิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย ‘ครู-เด็กไทย’ ได้เวลาต้องปรับเปลี่ยน

จากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 23 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณมณีรัตน์ ลิมป์รัตนกาญจน์ หรือ ‘แม่มณี’ อดีตคณะทำงานรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ดีกรีนักกฎหมายจาก King’s College London, นักธุรกิจมากความสามารถ, นักขับเคลื่อนงานด้านประชาสังคม พ่วงบทบาทในแวดวงการเมืองร่วม 10 ปี และอดีตผู้สมัครผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ได้พูดคุยในมุมมองปัญหาการศึกษาไทย กับ การนำสื่อดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า... 

“ปัญหาการศึกษาไทยควรลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาไทย” คุณมณีรัตน์ เริ่มบทสนทนา พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเด็กประถม หรือมัธยม ที่อยู่ในต่างจังหวัดห่างไกล ค่อนข้างเข้าถึงคุณครู หรือแม้แต่เนื้อหาต่างๆ ได้ยากกว่าเด็กที่อยู่กรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ขณะเดียวกันความน่าสนใจในการสอนก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้การซึมซับและเรียนรู้ลดลง ซึ่งถ้าเด็กเหล่านี้ได้เรียนกับครูที่มีสไตล์การสอนที่ดึงดูดอย่างน่าสนใจ เนื้อหาเข้มข้นหลากหลาย จะสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม 

คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยให้ครูหรือติวเตอร์ชื่อดัง สอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนกับครูเก่งๆ แทนที่จะหวังแต่ผลิตครูเก่งๆ ซึ่งเอาจริงๆ ก็สามารถทำควบคู่กันได้ แต่อาจใช้ระยะเวลานานกว่า นี่คือทางแก้ในส่วนของเด็ก

“ขณะเดียวกัน ในส่วนของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูทั้งจำนวนและคุณภาพ ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง โดย คุณมณีรัตน์ มองว่า การสอนของครูในปัจจุบันอาจต้องปรับแนวคิดการสอนให้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของนักเรียน ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลทั้งคุณภาพของนักเรียนและคุณภาพของครูไปพร้อมๆ กัน”

เมื่อถามถึงอีกปัญหาสำคัญของเด็กไทยที่ยังอ่อนภาษาอังกฤษ? คุณมณีรัตน์ ชี้ว่า “เนื่องจากปัจจุบันเราอาจยึดติดกับการสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมๆ (เรียนไปไม่ได้ใช้จริง) ซึ่งหากเรามองตัวอย่างหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างชาติ เขาจะมีหลักสูตรการสอนไม่เหมือนเรา เราอาจะต้องปรับรูปแบบการสอนและหลักสูตรให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น หรือสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาผ่านออนไลน์ โดยใช้ Big Data ที่รวบรวมทุกหลักสูตร แบ่งเป็นวิชา เนื้อหา แล้วให้นักเรียนมีโอกาสได้นำมาศึกษาด้วยตัวเองควบคู่ไปด้วย”

คุณมณีรัตน์ เสริมอีกด้วยว่า “รูปแบบของหลักสูตรต่อจากนี้ ก็อย่ายึดหลักแบบที่เป็นอยู่เท่านั้น แต่ควรมีหลักสูตรอื่นๆ เช่น การฝึกพูดภาษาอังกฤษ, การบริหารธุรกิจ, การเล่นดนตรี, การทำอาหาร ฯลฯ จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 

เมื่อถามถึงการศึกษากับความสอดคล้องต่อตลาดแรงงาน? คุณมณีรัตน์ มองว่า “ควรถึงเวลาส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เรียนจบมาได้ทำงานที่ตรงสายกับที่เรียนมา และสอดคล้องกับตลาดแรงงาน ส่งเสริมการฝึกอาชีพระหว่างเรียน ทำให้เกิดทักษะวิชาชีพ ได้พัฒนาในหลายๆ ด้านและมีรายได้จริง”

เมื่อถามถึงในอนาคต AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น จนทำให้หลายคนกลัวว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์แค่ไหน? คุณมณีรัตน์ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วเราควรมองว่าทำอย่างไรให้แรงงานไทยทำงานร่วมกับ AI ได้ในอนาคต ควรฝึกเด็กทำงานร่วม AI กันตั้งแต่ตอนเรียน เมื่อทำงานจริงก็สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไม่มีรอยต่อ”

คุณมณีรัตน์ ยังให้มุมคิดต่อผู้เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบต่ออนาคตของชาติไว้อย่างน่าสนใจทิ้งท้ายด้วยว่า ควรส่งเสริมให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไป โดยเฉพาะครอบครัวและสถานศึกษาต้องช่วยกันปลูกฝังให้เด็กโตมามีความฉลาดทางอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ควบคุมอารมณ์ได้อย่างมีทิศทางที่ถูกต้องเป็นพลังบวก 

หากเดินหน้ากระบวนทัศน์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน จนกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศชาติได้ต่อไป

‘มูลนิธิเอเชีย-ศธ.’ เปิดตัวเว็บไซต์ ‘Thailand Leadership’ ส่งเสริมการพัฒนาความเป็นผู้นำ ผอ.โรงเรียนทั่วประเทศ

(24 ก.ย. 66) มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเหล่าพันธมิตร จัดงานเปิดตัว www.Thailandleadership.org เว็บไซต์พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรง เรียนทั่วประเทศ นำเสนอทักษะผู้นำทางวิชาการที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาประสบความสำเร็จ ผ่าน 3 เมนูหลักคือลงมือปฎิบัติ, พัฒนาวิชาการ และสร้างสรรค์งานวิจัย ในรูปแบบของข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ จัดทำโดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ตั้งเป้าเป็นคลังความรู้ออนไลน์ด้านการศึกษา ขับเคลื่อนพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัย เชื่อม ต่อชุมชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่าย นำประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ที่เป็นมานานกว่า 20 ปี

นายโทมัส พาร์ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “มูลนิธิเอเชียได้จับมือกับสถาน ทูตออสเตรเลียทำงานร่วมกันมานาน 6 ปีแล้ว ซึ่งโจทย์ที่ทั้งสององค์กรให้ความสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ที่มีมานานนับ 20 ปี โดยสรุปต่างมีความเห็นตรง กันว่าจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษา โดยมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหา 2 ประการคือ 1)การเพิ่มขีดความ สามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการศึกษาไทย ซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างทั้งระบบและเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และ 2)ลดความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ทั้งในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ชนบทและในเมือง”

ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวถึงที่มาของการจัดทำเว็บไซต์ว่า…

“ในปี พ.ศ.2561-2564 ทางมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำ โครงการวิจัยเรื่องจากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ ที่ได้มุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างและบทบาทของ ‘ตัวกลาง’ ระหว่าง ‘ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ’ และ ‘ผลผลิตทางการศึกษา’ นั่นคือ ‘ผู้อำนวยการสถานศึกษา’ ในฐานะ ‘กล่องดำทางการศึกษา’ หรือ ‘แกนหลักผู้สื่อสารถ่ายทอดนโยบาย’ จากภาครัฐออกสู่โรงเรียนทั่วประเทศ

บทสรุปที่ได้คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะต้องมีบทบาท เป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งยากง่ายแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น และนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้เกิดข้อเสนอแนะหลากหลายแนวทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการแก้ไขให้เหมาะสม กับการบริหารจัดการในแต่ละโรงเรียน

ด้วยสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.Thailandleadership.org ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรงเรียน นำเสนอทักษะที่ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ประสบความสำเร็จ และเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำหรับบ่มเพาะ ‘ผู้นำทางวิชาการ’ ในประเทศไทย จัดทำเป็นรูปแบบเว็บไซต์ ที่ประกอบด้วย 3 เมนูหลัก คือ

1.) ลงมือปฎิบัติ
2.) พัฒนาวิชาการ
3.) สร้างสรรค์งานวิจัย

ซึ่งได้เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกรอบด้าน ทั้งข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ จากนักวิชาการด้านการศึกษาผู้มีชื่อเสียง นำโดย ดร.รัตนา แซ่เล้า และผู้ร่วมให้คำแนะนำในการจัดทำเว็บไซต์ นำเสนอทฤษฎี และนานาสาระด้วยตนเอง เช่น ศ.ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์, ดร.สุกรี นาคแย้ม, ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค, ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์, รศ.ดร.ณัฏฐภรณ์ หลาวทอง, รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ, และ รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอานันทมหิดล และทางช่อง 9 MCOT HD

โดยคาดหวังว่าเว็บไซต์นี้ จะเป็นคลังความรู้ออนไลน์ด้านการศึกษา ที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อเชื่อมต่อชุมชนผู้นำทางวิชาการ ให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความคิด เห็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานเชื่อมต่อพัฒนาสู่ความร่วมมือในระดับสากล”

ภายในงานเปิดตัวเว็บไซต์ฯ ได้มี นางพุทธชาต ทองกร รองผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักย ภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEMC) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวง ศึกษาธิการ เดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายให้ความรู้โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ศ.ดร.ฟิลลิป ฮาริงเจอร์ ในหัวข้อ ‘ผู้นำทางวิชาการกับการพัฒนาการศึกษาไทย’, รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ ในหัวข้อ ‘ผู้นำกับความสำเร็จของโรงเรียน’ และการจัดทำวอดแคสต์, รศ.ดร.ธีรภัทร กุโลภาส ในหัวข้อ ‘นโยบายปฎิรูปการศึกษา จากกระทรวงสู่ห้องเรียน’, รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ในหัวข้อ ‘แชร์กลยุทธ์ จุดไอเดียผู้บริหาร’ และ ดร.ชลตวรรณ ขุมเพ็ชร, ดร.ธราธร ตันวิพงษ์ตระกูล และคุณชัญฌัญญ์ ธนันท์ปพัฒน์ ในหัวข้อ ‘การทำสารคดีสั้นเรื่องแรงบันดาลใจจากการทำงาน’ เป็นต้น

โดยผู้อำนวยการโรงเรียน, นักวิชาการด้านการศึกษา และประชาชนที่สนใจ จะสามารถเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ที่ www.Thailandleadership.org ได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 062-7341267 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

'อ.แพท' ห่วง!! โพลชี้นำ 'เด็กไทย' อยากได้อะไรจากการศึกษา เบื้องหน้า 'Rocket Media Lab-แพธทูเฮลท์' เบื้องหลัง NED

(15 ม.ค. 67) 'อ.แพท' พัฒนพงศ์ แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pat Sangtum' ถึงความน่ากังวลต่อกรณีโพลสำรวจ 'เด็กไทย' อยากได้อะไรจากการศึกษาล่าสุด โดยระบุว่า...

จะแก้ไขการศึกษา ด้วยการลงนะที่สมอง หรือแก้ปีชง

การสำรวจของ Rocket Media Lab ร่วมกับ แพธทูเฮลท์ นำความไม่สบายอารมณ์มาสู่ผู้ห่วงคุณภาพการศึกษา และวิตกเรื่องทัศนะของเยาวชนไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่อยากเรียน และสิ่งที่อยากให้ยกเลิก

ก่อนอื่น การวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าเป็นเช่นนั้น ยังขาดทั้งความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity) 

ประการแรกคือ กลุ่มสำรวจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชั้น ป. 1 ไปจนถึงชั้น ม. 6 นั่นหมายถึงช่วงอายุตั้งแต่ 6-7-8-9 ขวบ ในชั้นประถม ไปจนถึงอายุ 15-16-17 ปี ความต้องการของเด็กประถม กับเด็กวัยมัธยมปลาย ก็ต่างกัน โลกทัศน์เกี่ยวกับอาชีพ เด็กประถมก็ไม่มีเท่าเด็กมัธยม 

-  เด็กประถมและมัธยมต้นสนใจเรียน เรื่องการเงินการลงทุน?
-  เด็กกลุ่มไหนอยากเรียนวิชาการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย? 
- เด็กวัยไหน ไม่อยากเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ชอบวิชาศาสนาพุทธ? ... การสำรวจหัวข้อเหล่านี้

ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ขวบ ไปจนถึงวัย 17 ปี ย่อมขาดความตรง (validity) ในการออกแบบงานวิจัย มีผลต่อความเที่ยง

ผลสำรวจเห็นได้ชัดว่าเป็นการสำรวจด้วย 'คำถามปลายปิด' โดยผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกตอบจากคำตอบที่มีไว้ให้แล้ว... เช่น "การเงินการลงทุน" หากเป็นคำถามปลายเปิด ย่อมต้องมีคำตอบตามวัย เช่น "การเปิดร้านกาแฟ-ร้านอาหาร" "การขายสินค้าออนไลน์" ฯลฯ "การผลิตรายการติ๊กต็อกและยูทูบ" เป็นต้น

ในกลุ่มของสิ่งที่อยากให้ปรับปรุง แน่นอน ทั้งประเทศย่อมต้องการให้ปรับปรุงห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าห้องน้ำตามโรงเรียนส่วนใหญ่ สภาพอาจมีแนวสยอง แต่รองลงมาคือห้องเรียน และโรงอาหาร (ต่ำว่า 10%) ไม่มีคำตอบปลายปิด ชี้นำให้ปรับปรุงห้องสมุด-ห้องคอมพิวเตอร์-ห้องแล็บ-โรงยิม ฯลฯ  (แบบสอบถามมองเห็นเท่านี้ ห้องน้ำ-ห้องเรียน-โรงอาหาร)

เรื่องกิจกรรมและวิชา ที่ต้องการให้ยกเลิก ก็สะท้อนช่วงอายุของนักเรียนมัธยมชัดเจน เด็กประถมคงไม่รำคาญวิชาหน้าที่พลเมือง

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่มองเห็นว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว จึงมีวิชาพุทธศาสนา หรือค่ายธรรมะ โดยไม่มองไม่เห็นคริสเตียน มุสลิม ฮินดู ฯลฯ เป็นสิ่งที่เชยและน่าอาย

โรงเรียนสาธิต มธ. (และอาจที่อื่นด้วย) มีวิชาด้าน "การเงิน" สอนให้กับนักเรียน บรรดาผู้รู้ในเน็ตก็โวยวายว่ามันบ้าไปแล้ว ต่อต้านหลักสูตรของ สาธิต มธ. ที่ให้ทางเลิอกในการเรียนรุ้ไว้มากมาย วิชาด้านการเงิน สอนให้เด็กเริ่มมีวินัยทางการเงิน รู้จักจัดการกับเงิน เห็นความสำคัญในการเก็บออม เพื่อลงทุน ฯลฯ เนื้อหาเป็นไปตามช่วงการเรียนรู้... พอผลสำรวจของ Rocket Media ออกมายืนยันว่า นักเรียนสนใจเรื่องการเงิน... ผู้รู้ในเน็ต จะว่ายังไง...

เรื่องการลงโทษ ที่ทำให้อับอาย ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก อายในกลุ่ม อายในชั้นเรียน อายในโรงเรียน อายต่อสังคม.... แต่เมื่อผลสำรวจได้ระบุมาแล้วว่า นักเรียนไม่ชอบโดนลงโทษแบบให้อับอาย ก็ต้องหาวิธีอื่นต่อไป... ส่วนเรื่องเสื้อผ้า ทรงผมนั้น กฎกระทรวงศึกษาได้ปรับเปลี่ยนระเบียบเรื่องทรงผม และประกาศตอกย้ำมาหลายหนแล้ว ถ้าจะทำการวิจัยและเล่นเนื้อหาเดิมๆ ไม่ตรงเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะเป็นการวิจัยรอบวงเวียนไปหน่อย.

ผลสรุปที่ผู้วิจัยทำมาให้ คิดว่ามาจากตัวอย่างสำรวจกลุ่มไหน ประถม มัธยมต้น หรือมัธยมปลาย หรือเกลี่ยได้เท่ากันทุกกลุ่มจริงๆ

***หมายเหตุ: สำหรับการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของทาง Rocket Media Lab นั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจาก National Endowment for Democracy หรือ NED นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2567

'อ.ไชยันต์' ตั้งคำถามถึงโพลวันเด็กจาก Rocket Media Lab เมื่อมีผลลัพธ์ ก็ควรต้องบอกเหตุอธิบายถึงผลด้วยหรือไม่?

เมื่อวานนี้ (14 ม.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘Chaiyan Chaiyaporn’ หรือศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ 5 คำถามถึงระบบการศึกษา หลังโพสต์ภาพผลโพลวันเด็กปีนี้ นักเรียนต้องการอะไรมากที่สุด? ผลสำรวจความเห็นนักเรียน ต้นปี 67
จาก Rocket Media Lab

1. ยกเลิกวิชาลูกเสือ 61.26% (1,216 คน)
2. ลดชั่วโมงเรียน 38.14% (757 คน)
3. ยกเลิกกฎทรงผม 49.87% (990 คน)
4. ปรับปรุงห้องน้ำ 96.92% (388 คน)
5. เลิกลงโทษด้วยการประจาน 39.14% (777 คน)
6. เลิกกิจกรรมหน้าเสาธง 26.8%
(532 คน)

ผลสำรวจจากเด็กทั่วประเทศ 1,985
คนทั้ง ประถม, มัธยม, ปวช.

พร้อมระบุข้อความว่า…

1. ต้องการยกเลิกวิชาลูกเสือ เพราะอะไร?
2. ลดชั่วโมงเรียน แล้วไปทำอะไร?
3. ยกเลิกกฎทรงผม ถ้ารู้จักดูแลความสะอาด และไม่ใช้เงินมากจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปในเรื่องผม ก็เอาเลย
4. ปรับปรุงห้องน้ำ เห็นด้วย เมื่อปรับปรุงแล้ว ก็ต้องรู้จักช่วยกันดูแลความสะอาดด้วย
5. เลิกลงโทษด้วยการประจาน แล้วเปลี่ยนไปลงโทษด้วยวิธีอะไร?
6. เลิกกิจกรรมหน้าเสาธงนี่ หมายถึง เคารพธงชาติตอนเช้า ใช่ไหม ? ถ้าใช่ เลิกเพราะอะไร?”

ทั้งนี้ หลังโพสต์ดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมา มีหลายรายที่เห็นด้วยและมีอีกหลายรายที่ไม่เห็นด้วย ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นร่วมกันจำนวนมาก

'ดร.เอ้' ตั้งกระทู้ถาม "เมื่อมันสมองเวียดนามชั้นยอด กำลังกลับบ้าน" 'รัฐบาลไทย' จะพัฒนาเด็กไทยให้ 'สู้-แข่งขัน' ได้อย่างไรต่อไป

(23 ก.พ.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' ตั้งกระทู้ถาม "เมื่อมันสมองเวียดนามชั้นยอด กำลังกลับบ้าน" เวียดนาม น่ากลัวเกินกว่าที่เราคิด รัฐไทยเราจะสู้ แข่งขันได้อย่างไร? โดยระบุว่า...

6 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งผมทำหน้าที่ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ได้นำทีมอธิการบดีจากหลายมหาวิทยาลัย เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาดูงานวิจัย และสร้างเสริมความสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาระดับโลก

หนึ่งในองค์กรสำคัญที่เราเข้าเยี่ยม คือ สถาบันการศึกษาต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Institute of International Education (IEE) ที่เป็นองค์กรหลักภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอเมริกัน เพื่อดูแลนักศึกษาต่างชาติ และเป็นผู้ดูแลกองทุนฟูลไบร์ทอันโด่งดัง

วันนั้นเจ้าภาพที่มาต้อนรับเรา คือ ดร. อลัน กู๊ดแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ IEE เพื่อนต่างวัยของผม ซึ่งภายหลังกรุณามาช่วยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล หรือ Carnegie Mellon University (Thailand) มหาวิทยาลัยสุดยอดด้านคอมพิวเตอร์ หนึ่งเดียวในเอเชียแปซิฟิกจากอเมริกา ที่ผมก่อตั้งขึ้น 

ดร.อลัน เดินเข้ามาสะกิดผม ชี้ให้เห็นข้อมูลสำคัญที่สุด คือ...

"จำนวนนักศึกษาเวียดนาม ที่มาเรียนในสหรัฐอเมริกา มากกว่า 2 หมื่นคน มากขึ้นแบบก้าวกระโดด และมากกว่าจำนวนนักศึกษาไทย 4-5 เท่าแล้ว" 

"ประเทศคุณยังไม่รู้ ไม่ตื่นเต้นเลยหรือ ที่รู้ว่า เวียดนามกำลังจะมีคนชั้นมันสมองจำนวนมากว่าของคุณมากมาย ที่ได้รับการศึกษาจากประเทศชั้นนำ กลับบ้านเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อแข่งขันกับคุณ..."

ผมหยุดนิ่ง งงไปพักหนึ่ง ยอมรับว่าเป็นข้อมูลตรง ของจริง ตรงหน้า จากคนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดคนหนึ่งในโลก  

ผมตกใจเพราะข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นชัดว่า...

1. เศรษฐกิจเวียดนาม เติบโตไว จนทำให้คนเวียดนามจำนวนมาก มีรายได้สูงขึ้นจนสามารถส่งลูกหลาน เรียนอเมริกาและประเทศชั้นนำได้

2. เด็กเวียดนาม มีศักยภาพสูงขึ้นมาก ทั้งด้านภาษาอังกฤษ และด้านวิชาการที่ยอดเยี่ยม คะแนนวัดผล PISA สูงกว่าเด็กไทยโดยเฉลี่ยทุกด้าน ทำให้นักศึกษาเวียดนามได้ทุนเรียนฟรีจำนวนมาก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณรัฐ

3. รัฐบาลเวียดนาม มีวิสัยทัศน์ มองไกล ไม่ปิดกั้น ส่งเสริมให้เด็กเวียดนามเรียนต่อในต่างประเทศจำนวนมาก รัฐอำนวยความสะดวกทุกอย่าง

4. รัฐบาลอเมริกันและโลกตะวันตก วันนี้มองเวียดนามไม่ใช่ศัตรู แต่มองเป็นพันธมิตรใหม่ในเอเชีย และมั่นใจในอนาคตทางเศรษฐกิจ เพราะเวียดนามมุ่งเป้า 'ยกระดับการศึกษา' จึงรับเด็กเวียดนามให้มาเรียนในมหาวิทยาลัยอเมริกัน ทั้งยังชอบความขยัน อดทน มีวินัยของเด็กเวียดนาม

5. อเมริกาไม่ใช่จุดหมายเดียว ยังมีอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และรัสเซีย คิวบา ที่เป็นมิตรรักของเวียดนามในอดีต ที่มีมหาวิทยาลัยชั้นยอด รับเด็กเวียดนามจำนวนมากต่อปี มากกว่ารับเด็กไทยมากมายนัก

ยิ่งไปกว่านั้น สมัยที่ผมเรียนที่ MIT ผมมีเพื่อนเวียดนามที่เกิดในอเมริกา ที่เรียนเก่งสุดๆ และยังคงผูกพัน สามัคคี มีความรักชาติ บ้านเกิดของบิดามารดา พร้อมกลับไปช่วย หรือพร้อมช่วยเหลือคนเวียดนามด้วยกันเต็มที่

ผมแชร์เรื่อง 'เวียดนามกับไทย' มาหลายครั้ง ตั้งแต่ยังเป็นอธิการบดีพระจอมเกล้าลาดกระบัง จนมาทำงานการเมือง เพื่อกระตุ้นเตือน แต่ไม่เห็นความมุ่งมั่น ไม่เห็นการเอาจริงเอาจัง ของรัฐบาลไทย ในการ 'พัฒนาศักยภาพของเด็กไทย'

ผมจึงขอตั้ง 'กระทู้ถาม' ในฐานะพลเมืองไทย ว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร ให้เด็กไทยได้รับการพัฒนา ยกระดับทักษะ เพื่ออยู่รอดได้ ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์ และจะเป็น 'ปัญหาปากท้อง' คนไทยอาจไม่หลุดพ้นจากวงจรความยากจน เพราะไม่มีทักษะที่โลกอนาคตต้องการ เศรษฐกิจไทยก็ไม่โต

ผมยังมั่นใจ #เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่รัฐต้องมุ่งมั่น ต้องทำงานหนักกว่านี้ ไม่งั้นเรา แพ้เวียดนาม (แน่ ๆ)

ด้วยความห่วงใยครับ

ครู โพสต์เฟซบุ๊ก ระบายความอัดอั้น หลังนร.ไม่ใส่ใจ ใฝ่ศึกษา เพราะคิดว่า ยังไงก็สอบผ่านอยู่แล้ว ไม่มีการเรียนซ้ำชั้น

(3 มี.ค.67) ครูสุชญา ได้ ระบายความอัดอั้น เกี่ยวกับเรื่องที่มีนักเรียนบางคน ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่คิด ไม่อ่าน ไม่มีความเพียร แม้แต่เรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ หรือมารยาทก็ยังไม่มี โดยได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ...

แค่อยากบอกความรู้สึกในมุมของครูผู้สอนบ้าง เมื่อเจอครูใจดี ควรเกรงใจ ไม่ใช่มักง่ายจะทำอะไรก็ได้ แล้วคิดว่ายังไงครูก็ให้ผ่านอยู่แล้ว ใครเคยเรียนกับครูจะรู้ว่าครูสุชญาไม่ใช่คนเรื่องมาก แต่แบบนี้มันเกินจะรับไหว 

รู้มั้ยว่าสิ่งที่นักเรียนบางคนทำ (ย้ำว่าบางคน) มันบั่นทอนความเป็นครูมากแค่ไหน นอกจากไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่คิด ไม่อ่าน ไม่มีความเพียรแล้ว ระเบียบวินัยก็ไม่ผ่าน ความรับผิดชอบก็ไม่มี มารยาทก็ติดลบ แบบนี้จะเรียกตัวเองว่า นักเรียน ได้ยังไง

ในฐานะครูคนหนึ่ง ครูได้ทำหน้าที่ของครูอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่มันคงไม่มากพอที่จะขัดเกลาบางคนให้ฉลาดหลักแหลมได้ แม้แต่ตัวเธอเองเธอยังไม่รัก ไม่พยายามทำเพื่อตัวเอง อย่างอื่นก็คงไม่ต้องพูดถึง

ขอเป็นอีกหนึ่งเสียงสนับสนุนให้โรงเรียนประกาศนโยบาย #เรียนซ้ำชั้น สักทีเถอะ อย่าปล่อยให้เด็กพูดต่อหน้าครูว่า “ไม่ทำ ไม่ส่ง เพราะยังไงก็ผ่านอยู่แล้ว” คนเป็นครูน้ำตาตกใน ดิ่งขั้นสุด ไฟมอดดับลงทุกวัน

เกาให้ถูกที่คัน ไม่ใช่สรรหาแต่คำมาบั่นทอนครูผู้สอน #ผู้ปกครองร้องเรียน บ้างหละ #ครูไม่ใส่ใจ บ้างหละ #ครูไม่ติดตามเด็ก บ้างหละ ยกเด็กขึ้นหิ้ง แล้วเหยียบครูให้จมดิน #การศึกษาไทย     


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top