Sunday, 19 May 2024
กฎหมาย

‘ตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า’ ยื่นหนังสือร้องถึง พปชร. เร่งแก้กฎหมาย - ให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน

(9 มี.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า พร้อมนายศิระ อวยศิลป์ หัวหน้าพรรคไทยเป็นหนึ่ง ยื่นหนังสือต่อ เพื่อให้ทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

นายรัฐภูมิ ระบุว่า พรรคไทยเป็นหนึ่ง ได้ส่งเรื่องให้กับพรรคพลังประชารัฐ ช่วยผลักดันการจำหน่าย และใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เพราะมีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เมื่อใช้แล้วก็ถูกจับ อีกทั้งข้อกฎหมายบางข้อไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน

นายศิระ กล่าวว่า เรากำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องตามกฏหมายตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค และนโยบายของเราได้รับสนับสนุนจากกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เห็นว่านายชัยวุฒิ จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ตนมีนโยบายคล้ายกัน จึงอยากจะร่วมผลักดันให้เรื่องนี้ถูกต้องตามกฏหมาย หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ทำให้ไม่เกิดผลเสียหรือผลกระทบ พรรคพลังประชารัฐและพรรคไทยเป็นหนึ่ง มีจุดยืนร่วมกัน เป็นโอกาสดีที่จะให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาพบกันแล้วคุยกับข้อเรียกร้องต่าง ๆ

แก้กฎหมายไม่เป็นธรรม ‘พีระพันธุ์’ ปูพรมหาเสียง ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ชู 5 นโยบายโดนใจ แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

รทสช. คิกออฟแคมเปญหาเสียง ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ชู 5 นโยบายโดนใจ เพิ่มสิทธิบัตรสวัสดิการพลัส  ตั้งกองทุนฉุกเฉินประชาชน คืนเงินสะสมชราภาพ ปลดหนี้ด้วยงาน  รื้อกฎหมายไม่เป็นธรรม เตรียมเปิดนโยบายชุดใหญ่ ต้นเมษายนนี้  
.
(11 มี.ค.66) ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยนโยบายหาเสียงภายใต้แคมเปญ ‘ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ’ ตามยุทธศาสตร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคว่า นโยบายภายใตแคมเปญนี้ถือเป็นความตั้งใจของพรรคที่จะสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งปรากฏผลชัดเจนว่าทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถช่วยให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนในช่วงวิกฤตไปได้ 
.
 
นายพีระพันธุ์ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะสานงาน “ทำต่อ” ตามยุทธศาสตร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนอีกหลายโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้  ทางพรรคจึงได้นำร่องหาเสียงด้วย 5 นโยบายโดนใจ ที่พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระหนี้ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ชีวิต และขจัดปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ 
.
1. เพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ เป็น 1000 บาท/เดือน และ สิทธิเบิกฉุกเฉิน 10,000 บาท/คน   
2. ตั้ง ‘กองทุนฉุกเฉินประชาชน’ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท     
3. คืน 30% เงินสะสมชราภาพ ให้ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33  
4. โครงการ ‘ปลดหนี้ด้วยงาน’   
5. รื้อกฎหมายที่รังแกประชาชน และเป็นอุปสรรคการทำกิน  
.
นายพีระพันธุ์ กล่าวถึงนโยบายการเพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ ว่า นโยบายนี้เป็นโครงการ “ทำต่อ” จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอยู่แล้ว  โดยให้สิทธิเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจัดสรรจากเงินงบประมาณที่รองรับโครงการนี้อยู่แล้ว  ขณะเดียวกัน ผู้ถือบัตรยังมีสิทธิกู้ฉุกเฉินในวงเงิน 10,000 บาทต่อคน โดยสามารถนำบัตรนี้ไปเป็นหลักประกันเงินกู้กับธนาคารออมสินซึ่งมีโครงการให้สินเชื่อรายย่อยในวงเงิน 10,000 บาทอยู่แล้ว
 .
“บัตรนี้มีความน่าเชื่อถือ เพราะรัฐบาลเป็นคนจ่ายเงิน สามารถใช้เป็นหลักประกันอะไรก็ได้  ขณะที่ทางธนาคารออมสินก็มีโครงการให้เงินกู้แก่ชาวบ้านรายย่อยในวงเงิน 10,000 บาทอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่ค่อยได้ปล่อยกู้ เพราะคนที่มาขอกู้ซึ่งเป็นชาวบ้านระดับฐานรากไม่ค่อยมีหลักประกัน  กลายเป็นว่ามีโครงการให้ มีวงเงินให้ แต่ปล่อยกู้ไม่ได้  ก็สามารถใช้บัตรนี้ซึ่งเป็นบัตรที่รัฐจ่ายเงินแน่นอนทุกเดือนอยู่แล้ว ไปเป็นหลักประกันเงินกู้ให้กับธนาคารออมสิน โดยสามารถหักคืนเงินกู้จากบัญชีของผู้กู้ได้เลย ทำให้บัตรใบเดียวสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง” นายพีระพันธุ์กล่าว 

‘กกต.’ แจงสั่งยุติ 61 คำร้องยุบพรรค ยึดตาม กม. เตือนนักร้อง!! ระวังเจอร้องเท็จ มีโทษหนัก

(17 มี.ค. 66) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีมีความเห็นว่าคำร้องยุบพรรค 61 เรื่องไม่มีมูล จึงสั่งยุติเรื่อง ว่า การพิจารณาการยุบพรรคของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ถือเป็นเรื่องของกฎหมายพูด เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่นายทะเบียนคิดเอาเอง

นายแสวง ยังกล่าวด้วยว่า โดยหลัก เมื่อความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็จะให้สำนักงานดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดให้ต้องให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องได้มีโอกาสชี้แจงเพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

จากนั้นจึงมาพิจารณาว่า การการกระทำนั้น กฎหมายกำหนดเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ หลายคำร้องมีการกระทำตามที่ร้องเกิดขึ้นจริง แต่การกระทำนั้นไม่ใช่เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองก็จะไม่รับไว้พิจารณา หรือสั่งยุติเรื่อง

“แต่ถ้าพิจารณาแล้วการกระทำตามคำร้องนั้นอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ก็จะรับไว้พิจารณาว่า การกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือถึงขนาดให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาพบว่าเป็นคำร้องที่ไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเป็นส่วนมาก”

ศลต.ตร. อบรมให้ความรู้ข้อกฎหมายก่อนการเลือกตั้งให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลการเลือกตั้ง...

เมื่อวานนี้ (28 เม.ย.66) เวลา 09.00 น. ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.สลต.ตร.(3) เป็นประธานในการประชุมเปิดอบรมให้ความรู้กฎหมายเลือกตั้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง และการจัดทดสอบความรู้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ารับฟังการอบรม

วิทยากรที่ให้ความรู้ในวันนี้ มีจำนวน 2 ท่าน คือ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี และ นายวิฑูรย์ อิศรภัคดี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย 2 สำนักกฎหมายและคดี กกต. ณ ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 ตร. พร้อมถ่ายทอดสัญญาณไปยังข้าราชการตำรวจ 110,340 นาย  ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งทั่วประเทศผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ และหลังจากการเข้ารับการอบรมรับฟังความรู้ข้อกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว ผบ.ตร.ได้จัดให้มีการทดสอบความรู้ในครั้งนี้โดยการทำการทดสอบผ่านคลังข้อสอบ ONLINE จำนวน 35 ข้อ (เกณฑ์การผ่านคือ 80 เปอร์เซนต์ หรือ 28 ข้อ) ณ ที่ตั้งของแต่ละสถานีตำรวจ หรือสถานที่ที่แต่ละหน่วยกำหนดให้ข้าราชการตำรวจมาเข้ารับฟังการอบรม

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานการประชุมติดตามการให้ความช่วยเหลือครอบครัว และกำลังพล กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง พร้อมกับเร่งรัดเพื่อให้ได้รับสิทธิกำลังพลและสวัสดิการ อย่างครบถ้วน

วันที่ 28 มิ.ย.66 พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือและประธานกรรมการบูรณาการติดตามเรื่องสิทธิกำลังพล การสวัสดิการ และการช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และครอบครัว กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4 เพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินการ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเน้นย้ำให้คณะกรรมการฯ และหน่วยต้นสังกัดแจ้งความก้าวหน้าตลอดจนสอบถามถึงความเดือดร้อนของครอบครัว และกำลังพลที่ประสบเหตุฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพเรือยังคงห่วงใยครอบครัวของผู้ประสบเหตุฯ และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เสียชีวิตและสูญหาย จำนวน 29 นาย ซึ่งมีความก้าวหน้าประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

- สิทธิกำลังพล ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ประกอบด้วย การเลื่อนชั้นเงินเดือน 3 - 5 ชั้น , การแต่งตั้งยศและการขอพระราชทานยศ (จ่าเอก - พลเรือโท) , และการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย - ตริตาภรณ์ช้างเผือก)

- สวัสดิการต่างๆ ของหน่วย ประกอบด้วย เงินประกันภัยกลุ่มแบบ “เฉพาะกิจกองทัพเรือ” , เงินกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดขอบของกองทัพเรือ , เงินสงเคราะห์กรมสวัสดิการทหารเรือ , เงินฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี และเงินช่วยเหลืออื่นๆ รายละ 1.4 - 3.5 ล้านบาท

- การบรรจุทายาททดแทน ประกอบด้วย การบรรจุรับราชการในกองทัพเรือ จำนวน 11 นาย , เห็นชอบให้พิจารณาบรรจุแล้ว จำนวน 12 นาย (อยู่ในระหว่างการศึกษา) , อยู่ในระหว่างการขอบรรจุ จำนวน 2 นาย และสละสิทธิ์ จำนวน 4 นาย

- ทุนการศึกษาสำหรับบุตร โดยได้รับค่าเล่าเรียนตามระดับการศึกษา ปีละ 5,000 - 15,000 บาท

- การมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติราชการเพื่อชาติ “เหรียญบางระจัน” ให้แก่กำลังพลที่เสียชีวิต และสูญหาย จำนวน 29 นาย เมื่อ 1 มิ.ย.66

- ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 27 นาย ได้รับความช่วยเหลือนายละ 68,000 - 104,000 บาท และได้รับเครื่องแบบใหม่

- ผู้ประสบภัย (ไม่ได้รับบาดเจ็บ) จำนวน 49 นาย ได้รับความช่วยเหลือนายละ 58,000 บาท และได้รับเครื่องแบบใหม่

- การให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทุนการศึกษาสำหรับบุตร (อยู่ในระหว่างการดำเนินการ)

เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการทหารเรือที่ต้องการดูแลกำลังพล และครอบครัวจากกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ในด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลัง และดีที่สุด

เหตุผล สั้น ๆ ที่นักการเมือง 'กลัว' รัฐธรรมนูญ 2560

ถูกปลุกปั่นให้กลายเป็นกฎหมายเผด็จการ แต่หากมองเหตุผลอย่างถ่องแท้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สร้างความ 'หวาดกลัว' ต่อบรรดานักการเมือง จนต้องต้องหาแนวร่วม 'ประชาชน' มาช่วยกัน 'ล้มล้าง' ให้สิ้น

อ้างอิง : ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 

‘ไผ่ ลิกค์’ ชงญัตติเข้าสภาฯ ตั้ง กมธ.พิจารณาบุหรี่ไฟฟ้า ชี้!! ต้องมีกฎหมายรองรับ หลังเยาวชนเริ่มใช้อย่างแพร่หลาย

(1 ส.ค. 66) นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุญัตติด่วนที่ตนเสนอไป เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลประโยชน์ของการมีกฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว โดยตนเห็นว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับและวิธีรับมือกับการบริโภค และการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า แต่สภาพความเป็นจริงเราสามารถพบเห็นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย มีการนำเสนอเพื่อผลกำไรผ่านทางช่องทางสื่ออินเทอร์เน็ต โดยไม่มีการเสียภาษีทำให้รัฐเสียประโยชน์ 

นายไผ่ กล่าวต่อว่า ในส่วนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างได้รับผลกระทบจากปริมาณการรับซื้อลดลงอย่างมาก ทั้งจากมาตรการด้านสุขภาพและการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จนทำให้ราคาใบยาสูบตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งข้อมูลข้อดีข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้า โทษต่อสุขภาพของบุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นที่สงสัยว่าเป็นโทษต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด 

"ผมจึงขอเสนอให้สภาฯ มาศึกษา และวางแนวทางเพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้เด็กและเยาวชนมีการใช้การอย่างแพร่หลาย ทั้งที่แนวทางบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนหรือไม่ มีแต่การกล่าวอ้างว่า ไอของบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องมีการออกมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น" นายไผ่ กล่าว

'ผบ.ตร.' เตือนม็อบทุกคนมีสิทธิชุมนุมได้ แต่ต้องอยู่ใต้กรอบ กม. ชี้!! การดูแลประชุมเอี่ยวตั้งรัฐบาลหนหน้า เข้มงวดมากขึ้น

(8 ส.ค. 66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมไปทำกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ว่า เท่าที่ได้รับรายงานกลุ่มทะลุวังที่ไปกระทรวงวัฒนธรรมผิดหลายข้อหา โดยทางกระทรวงวัฒนธรรมได้มาเป็นผู้กล่าวหาแล้ว ในเรื่องบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ซึ่งมีอัตราโทษสูง ตำรวจได้ดำเนินคดีอยู่ ได้ออกหมายเรียกและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.66) ทราบว่า จะมีการมากล่าวหาดำเนินคดีซึ่งข้อหาก็คงคล้าย ๆ กัน คือบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ใครที่เคยได้รับการประกันตัว หรือทำผิดซ้ำซากก็มีโอกาสที่จะถูกเพิกถอนประกัน จึงอยากจะเตือนว่าสิทธิการชุมนุม ทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุมได้แต่ว่าต้องชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย อย่าถือว่าท่านไม่รับรู้อะไรแล้วมาโวยวายทีหลังว่าอะไรเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ได้ อะไรผิดก็ว่าไปตามผิด จึงอยากเตือนว่าทุกคนมีกรอบกฎหมายเท่ากัน แต่ละครั้งที่ทำเท่ากับความผิด 1 กรรม

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า บางคดีหากเป็นความผิดเสียหายต่อรัฐ ตำรวจก็สามารถดำเนินคดีได้เลย บางข้อหาตำรวจสามารถดำเนินคดีได้อยู่แล้วแต่หน้างานหากเหตุไม่รุนแรงมาก อาจจะหลีกเลี่ยงการจับกุมซึ่งหน้า หากจำเป็นก็ต้องจับกุมซึ่งหน้า เป็นไปตามแนวทางที่เคยดำเนินการไว้ ทุกคดีเราจะดำเนินคดีย้อนหลังจึงอยากจะเตือนว่าทำอะไรให้คิดถึงหลักกฎหมายด้วย

เมื่อถามผู้สื่อข่าวถามถึงการกระทำผิดซ้ำ? พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลหรืออัยการที่จะต้องพิจารณาหลักฐานว่าเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องตำรวจจะทำตามหน้าที่ของตำรวจไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่อยากฝากเตือนน้อง ๆ ว่าความเห็นต่างเป็นสิทธิแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ชุมนุมก็เป็นสิทธิที่จะชุมนุมได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญแต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายหากไปรบกวนหรือเข้าไปปิดกั้นอะไรต่าง ๆ เป็นการเข้าข่ายกระทำผิดฐานบุกรุกหรือการรบกวนการครอบครองสิทธิ์

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผู้ทำกิจกรรมที่ติดเงื่อนไขกับศาลตำรวจจะพิจารณาดำเนินการอย่างไร? พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวตอบว่า จะเสนอต่ออัยการ ซึ่งจะเสนอทั้งหมด เพราะกฎหมายเท่าเทียมกัน ใครที่เคยทำผิดซ้ำก็ต้องพิจารณา หากยังมีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องก็ต้องดำเนินการไปตามวิธีการของเรา 

เมื่อถามถึงมาตรการการดูแลความเรียบร้อยหลังจากนี้? พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวตอบว่า ทุกพื้นที่ทราบอยู่แล้วว่าอะไรมีโอกาสที่จะเกิดเหตุในแต่ละพื้นที่จะต้องมีมาตรการรองรับในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) ทางผบก.น.1 ได้วางกรอบอยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนจะมีม็อบจะต้องมีแผนรองรับไว้ทั้งหมด

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์เมื่อวานนี้ทางบก.น.1 จะต้องประเมินสถานการณ์เพิ่มเติมหากมีการประชุมหรือมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลจะต้องเตรียมมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น ตำรวจทำงานตามการข่าวอยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวก็เป็นกลุ่มที่มีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว 

‘อดีต นร.ไทยในญี่ปุ่น’ ชี้!! คราฟต์เบียร์ไทยต้องใส่ใจมาตรฐาน ยก ‘กม.เหล้าเบียร์ญี่ปุ่น’ ต้องมีใบอนุญาต-ควบคุมอย่างเข้มข้น

(17 ส.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ โดย ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงประเด็นกฎหมายแอลกอฮอล์ในประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า…

จากข่าวรองประธานสภา (คนที่ 1) ได้ทำการโฆษณาเบียร์ผ่านโลกโซเชียล ซึ่งผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตราที่ 32 ว่าด้วย “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักชวนใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” ซึ่งหากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หลังจากนั้น เจ้าตัวก็ออกมาแก้ต่างทั้งในสื่อโซเชียลและทีวีต่างๆ นานา ซึ่งผมไม่เป็นปัญหาหรอก เพราะยังไงเจ้าตัวก็มีสิทธิ์นั้นเวลาสู้คดี แต่มีคำแก้ตัวอยู่ข้อความหนึ่งที่ได้ยินแล้ว ได้แต่มองบนก็คือ “เกาหลีใต้ยังทำได้เลย ให้ดารา นักร้องโฆษณาเหล้าเบียร์” ก็เข้าใจนะครับว่า การเอาข้อดี (รวมถึงคิดว่าเป็นข้อดี) ของต่างประเทศมาเทียบเคียงกับไทยมันก็ช่วยพัฒนาประเทศได้ในบางกรณี แต่ช่วยกรุณายกมาพูดทั้งระบบ ไม่ใช่ดึงแต่ข้อดีที่จะใช้แก้ต่างให้ตัวเอง หรือเพื่อผลประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผมก็ขอยกเอาบางส่วนของระบบที่เขาบอกกันว่ามันจะดีต่อวงการคราฟต์เบียร์ ผลิตเหล้า ถ้าทำแบบต่างประเทศมาให้เห็นภาพครับ

ผมจะยกกรณีของประเทศญี่ปุ่นนะครับ เนื่องจากไม่ได้เคยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งญี่ปุ่นก็อนุญาตให้โฆษณาเหล้าเบียร์ได้ตามสื่อทั่วไป จนบางที่เห็นโฆษณาบางตัวแล้ว ผมยังเปรี้ยวปากเลย เล่นยกดื่มโชว์กันแบบไม่เกรงใจใคร

สิ่งที่อยากให้นำเสนอมากกว่าเรื่องโฆษณาเหล้าเบียร์ คือ ‘มาตรฐานการผลิต’ ครับ การจะเป็นผู้ผลิตเบียร์ หรือเหล้าญี่ปุ่นได้นั้น ไม่ใช่ว่าอยากทำเพื่อขายจะสามารถทำได้เลย ต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานภาษีในเขตที่สถานที่ผลิตของท่านตั้งอยู่ เพื่อขอใบอนุญาตผลิต (製造免許) โดยการยื่นของใบอนุญาตนั้นต้องลงข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เทคโนโลยีการผลิต เครื่องจักรเครื่องมือการผลิต และปริมาณการผลิตเฉลี่ยได้ในหนึ่งปี (มาตรฐานการผลิตน้อยที่สุดที่อนุญาต สำหรับเบียร์คือ 60 กิโลลิตร หรือ 6 หมื่นลิตรต่อปี) ถ้าข้อมูลที่กล่าวข้างต้นผ่าน ก็จะเป็นการตรวจสอบผู้ยื่นขออนุญาต และตรวจสถานที่ผลิต ตามกฎหมายภาษีเหล้ามาตราที่ 10 (酒税法第10条)

หนึ่งคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ วรรค 7-2 ผู้ยื่นจะต้องไม่เป็นบุคคลที่โดนลงโทษภายในสามปี ล่าสุดในข้อหาความผิดกฎหมายห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดื่มเหล้า กฎหมายสถานประกอบการเริงรมย์ (風俗営業) กฎหมายปกป้องกันการรุนแรงที่ไม่เหมาะสม กฎหมายอาญา (หมวดความรุนแรงต่างๆ)

ถ้าผ่านการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ก็จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ก็ใช่ว่าจะสิ้นสุด ผู้ที่ทำการผลิตเบียร์หรือเหล้าเพื่อขาย (ทำเพื่อบริโภคเองไม่จำเป็น) จำเป็นต้องมีใบอนุญาตส่วนบุคคลเพิ่มเติมยกตัวอย่างเช่น (อาจมีมากกว่านี้ แล้วแต่ประเภทแอลกอฮอล์ที่ผลิต)

1.) ใบอนุญาตจัดการวัตถุอันตราย สำหรับผู้ผลิตเบียร์หรือเหล้า ที่ต้องเก็บรักษาแอลกอฮอล์ที่ใช้การหมักในการผลิต จำเป็นต้องมีใบอนุญาตจัดการวัตถุอันตรายซึ่งควบคุมดูแล โดยหน่วยงานสอบขององค์กรดับเพลิงของญี่ปุ่น (一般財団法人消防試験研究センター) โดยจะเป็นการสอบเพื่อวัดความรู้ในเรื่องแอลกอฮอล์ การเก็บรักษาและการขนส่ง นอกจากนี้ แล้วถ้ามีการขนส่งและเก็บรักษาแอลกอฮอล์หมัก ก็จำเป็นต้องส่งเอกสารให้กับสถานีดับเพลิงในพื้นที่ด้วย

2.) ใบมาตรฐานทักษะประเภทเครื่องต้มน้ำ หรือ ‘บอยเลอร์’ ในสถานที่ผลิตแอลกอฮอล์บางประเภท จำเป็นต้องใช้เครื่องต้มน้ำในการผลิต ผู้รับผิดชอบจึงจำเป็นต้องมีใบมาตรฐานทักษะประเภทเครื่องต้มน้ำซึ่งควบคุมดูแลโดยหน่วยงานเฉพาะ (一般社団法人日本ボイラ協会) เนื่องจากเครื่องต้มน้ำต้องใช้ทักษะเฉพาะ มีความอันตรายในการใช้งาน ผู้ใช้จริงต้องมีมาตรฐานและความรู้ที่ได้รับการยอมรับ

จะเห็นว่าภายใต้ข้อดีของต่างประเทศที่ถูกยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ถ้าดูลงลึกไปถึงรายละเอียด จะพบว่ามีอะไรมากกว่าที่เราเห็น ไม่ใช่แค่การอยากทำก็ทำได้เลยตามใจชอบ ทุกอย่างจำเป็นต้องมีมาตรฐานไว้เป็นตัวกำหนดภายใต้ข้อกฎหมายเดียวกัน

จะว่าไปแล้ว เรื่องใบอนุญาตในแต่ละอาชีพของญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรนำมาปรับใช้ในประเทศไทยมาก เนื่องจากคนไทยพูดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำแล้วหยิบเอาญี่ปุ่นมาอ้างก็บ่อยๆ แต่ไม่เคยพูดว่า การจะประกอบอาชีพแต่ละอาชีพของญี่ปุ่น ต้องมีใบอนุญาตในแต่ละอาชีพด้วย เช่น เกษตรกรหรือพ่อครัว บางใบอนุญาตอาจไม่ได้บอกว่าจำเป็นต้องมี แต่มันมีผลเกี่ยวกับค่าแรงที่ได้รับ ยิ่งมีระดับสูงก็ยิ่งได้ค่าแรงเยอะ แสดงถึงความชำนาญที่มี

ปล. ตัวผมก็มีใบอนุญาตประกอบอาชีพที่ญี่ปุ่นอยู่ 3 ใบ ที่กว่าจะสอบผ่านก็รากเลือดอยู่เหมือนกัน คือ
- ใบอนุญาตขับเรือระดับ 3
- ใบอนุญาตใช้วิทยุสื่อสารภาคพื้นดินระดับ 2
- ใบอนุญาตใช้วิทยุในทะเลระดับ 1

‘โบว์ ณัฏฐา’ ถามบางพรรค “คุณกำลังสร้างสังคมแบบไหนขึ้นมา?” ในวันที่บทลงโทษกฎหมายหมิ่น แทบป้องผู้ถูกละเมิดไม่ได้เลย

(20 ก.ย. 66) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ ‘โบว์’ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Bow Nuttaa Mahattana’ ระบุว่า…

“กฎหมายดูหมิ่น-หมิ่นประมาท สำคัญนะคะ

โทษที่กำหนดไว้ ต่ำมากแล้ว และส่วนใหญ่รอลงอาญา แทบไม่สามารถปกป้องผู้ถูกละเมิดได้เลย ใช้กฎหมายจัดการ และอย่าพยายามทำลายกฎหมาย เพื่อให้คนในสังคมไม่ต้องไปเลือกศาลเตี้ย คือหาวิธีจัดการกันเอง

ส่วนตัวยืนยันอย่างหนักแน่นมาตลอด ว่าเราต้องเห็นความสำคัญของกฎหมายที่ใช้ปกป้องผู้ถูกละเมิด และเราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรม ไม่ยอมรับการละเมิด ไม่เอาคำว่า “เสรีภาพในการพูด” มาให้ท้ายการคุกคาม

การหมิ่นประมาท ฆ่าคนได้ค่ะ

สิทธิในการละเมิดผู้อื่น ไม่มี

หวังว่า พรรคการเมืองที่เคยเสนอให้นำกฎหมายหมิ่นประมาทออกจากประมวลกฎหมายอาญา ลดโทษให้เหลือแค่ปรับ น่าจะได้ทบทวนและมองเห็นอย่างชัดเจนในวันนี้… ว่าคุณกำลังสร้างสังคมแบบไหนขึ้นมา”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top