เปิดความหมายที่แท้จริงของคำว่า 'กะลา' ใยจึงกล้าเรียกบ้านเมืองตนว่า 'กะลาแลนด์'

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Pichapong Chusri' ได้โพสต์เรื่องราวขณะสอนออนไลน์นักเรียนโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ระบุว่า...

นักเรียนถามว่า ทำไมวัดพระแก้วกับพระบรมมหาราชวัง ดูเป็นพื้นที่ส่วนตัว ต้องได้รับอนุญาตจึงจะเข้าชมได้ มันมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ไหม ทำไมต้องเป็นพื้นที่กึ่งเปิดกึ่งปิด เหมือนเป็นพื้นที่ของอภิสิทธิ์ชนเลย

ผมตอบไปว่า...

ในโลกนี้ มีสิ่งที่เรียกว่า Time and Place ซึ่งภาษาไทยยืมคำแขกมาใช้ คือ คำว่า 'กาลเทศะ' ซึ่งหมายถึง สถานที่กับเวลาเหมือนกัน

ทุกคนมีเวลาส่วนตัว และมีพื้นที่ส่วนตัวเหมือนกันหมด

หนูนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ไหม? หนูอยากนอนรวมกับคนอื่นๆ ไปหมดไหม? ทำไมครูใหญ่ต้องมีห้องครูใหญ่? ทำไมนักเรียนกับครูไม่นั่งโต๊ะเดียวกัน?  

บางส่วนเราใช้พื้นที่ร่วมกัน บางส่วนเราใช้พื้นที่แยกกัน ทุกคนควรมีสิทธิมีที่ส่วนตัว และมีเวลาส่วนตัว ว่าไหมครับ มันจึงไม่ใช่การแบ่งแยก กีดกัน หรือเป็นอภิสิทธิ์ชนใดๆ เลย

พระบรมมหาราชวัง คือ ที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เหมือนบ้านเรา เราก็ไม่ได้เปิดให้คนอื่นเข้ามาได้เสมอไม่ใช่หรือครับ  

ส่วนวัดพระแก้ว เป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวัง เพิ่งเปิดให้ราษฎรเข้าไปอย่างจริงๆ จังๆ ก็หลังจากรัชกาลที่ 5 ท่านสร้างพระราชวังสวนดุสิตเป็นที่ประทับใหม่ รัชกาลต่อๆ มาก็อยู่วังภายนอกพระบรมมหาราชวัง ดังนั้น จึงเริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าไปกราบพระแก้วมรกตได้ถี่ขึ้น และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยในปัจจุบันนี้

ครูจึงอยากให้พวกเรามองว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปตั้งแง่หรือก่ออคติขึ้นในใจแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เป็นเรื่องของสถานที่เพื่อการใช้งานของบางคน ไม่ใช่ของทุกๆ คน เท่านั้นเองครับ

สิ่งหนึ่งที่บอกกับลูกศิษย์เสมอ คือ อย่าเรียกประเทศตัวเองว่า 'กะลา' หรือ 'กะลาแลนด์' มันเป็นคำถ่อย ที่ไม่น่ารัก สะท้อนวิธีคิดของผู้พูดที่ดูถูกชาติบ้านเมืองตัวเอง ซึ่งเป็นแผ่นดินที่บรรพบุรุษทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ ช่วยกันรักษาและพัฒนาสืบเนื่องกันมา ซึ่งก็ย่อมฉลาดและโง่ ดีงามและไม่ดีงาม เจริญบ้างถดถอยบ้างตามเหตุปัจจัยของแต่ละช่วงเวลา แต่อย่างน้อยมันก็คือบ้านเกิดเมืองนอนของเรา กลบฝังกระดูกบรรพบุรุษไว้ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น อยากให้มันดีกว่า 'กะลา' ก็ช่วยกันพัฒนามันเสีย แต่ไม่ควรตั้งต้นที่การ 'ดูหมิ่นดูแคลน' หรือยึดเอาความปรารถนาของเราเป็นที่สุด

ครูไม่เคยเห็นประเทศนี้เป็นกะลาเลย เพราะครูไม่เคยถูกครอบหรือถูกขัง มันกว้างแสนกว้าง มันดีแสนดี มันงามแสนงาม ใช่, มันไม่ได้สมบูรณ์แบบในความคาดหวังหรอก มันก็เป็นประเทศที่มีปัญหา มีข้อจำกัดของมัน แต่มันไม่ใช่กะลาแน่  

แล้วรู้ไหม 'กะลา' คืออะไร?
'กะลา' คือ 'ทัศนคติ' ที่คุณสร้างขึ้น และ 'ครอบ' วิธีคิดของคุณ ให้วิ่งวน วุ่นวาย อยู่ในพื้นที่แคบๆ ที่เรียกว่า 'กะลา' นั่นแหละ

การจะออกจากกะลาได้ จึงต้องออกจากทัศคติของตัวเอง คุยกับคนอื่นๆ บ้าง คนที่แตกต่างไปจากเรา  ออกไปชนบท ไปตามดอยต่างๆ ไปใต้ คุยกับคนไทยมุสลิม คุยกับชาวเกาะ ชาวประมง ชาวสวน ชาวไร่ พ่อค้าแม่ขาย อ่านหนังสือมาก ๆ ดูคลิปงานสัมมนา พูดคุยกับคน เราจะพบว่า โลกหรือประเทศนี้ มันมีอีกหลายมุมให้มอง มันกว้างแสนกว้าง เกินกว่าคำว่า 'กะลา' จริงๆ

ทุกยามที่ผมออกเดินชมเมือง ผมจะทำให้คนรู้จัก เข้าใจ และรู้ว่า แผ่นดินที่เรากำลังเดินชมกันอยู่นี้ สืบเนื่องต่อมาอย่างไร สำคัญแค่ไหน สวยงามปานใด ทรงคุณค่าเกินกว่าที่จะไปย่ำยีหรือหมิ่นแคลนได้  หากแต่ "ยิ่งรู้ ยิ่งรัก ยิ่งรู้จัก ยิ่งภูมิใจ"

ฉะนั้น ประเทศไทย-ไม่ใช่ 'กะลา'

ต้องเป็นคน 'ใจถ่อย' ขนาดไหน  ถึงจะเรียกบ้านเมืองของตัวเองได้ว่า 'กะลาแลนด์'


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0C7jijJyuyoLCttQw4BQv3qmtM8dpm3DKJTkwdjCWW4A2nqy1YU9BuLUJiepPfdQil&id=100017780771276