คุณเน็กส์ ณัฐดนัย องอาจวาจา | THE STUDY TIMES STORY EP.49

บทสัมภาษณ์ คุณเน็กส์ ณัฐดนัย องอาจวาจา นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, นักเรียนทุนฟิสิกส์ พสวท.
นักเรียนทุนฟิสิกส์ พสวท. ที่โดดเด่นทั้งด้านการเรียนและกิจกรรม

คุณเน็กส์จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ได้ทุนจาก พสวท. ปริญญาตรี โท เอก กำลังจะไปศึกษาต่อที่อเมริกา

คุณเน็กส์สอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในห้อง GATE Program หรือ Gifted and Talented education Program ยาวตั้งแต่ระดับมัธยมต้นจนถึงมัธยมปลาย เน้นการเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตอนที่เรียนช่วงแรกๆ คุณเน็กส์ค่อนข้างรู้สึกตื่นเต้น โดยกล่าวว่า ถ้าอยากเรียนที่สวนกุหลาบอยากให้น้องๆ เตรียมตัวและตั้งใจ 

นอกจากเรื่องการเรียนที่เข้มข้นแล้ว โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยยังเน้นการทำกิจกรรมที่เยอะมาก ซึ่งคุณเน็กส์เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น โรงเรียนจะมีงานสมานมิตรจัดในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน เหมือนเป็นการเปิดโรงเรียนให้ศิษย์เก่ามามีส่วนร่วม และมีกิจกรรมจตุรมิตร คือการแข่งขันฟุตบอล 4 โรงเรียน มีการแปรอักษร มีกิจกรรมตามระดับชั้น เช่น การรับน้อง การสันทนาการมีกิจกรรมที่ชื่อว่า ละอ่อน ที่พี่ ม.6 จัดให้น้อง ม.1 

นอกจากนี้ในโรงเรียนจะมีการเลือกประธานนักเรียน คุณเน็กส์ก็ได้เข้าไปทำงานร่วมกับกรรมการนักเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้คุณเน็กส์ได้ฝึกกระบวนการทำงาน งานเอกสาร มีระบบการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน

สำหรับการแบ่งเวลาเรียนและทำกิจกรรมของคุณเน็กส์นั้นมองว่า ถ้าเราอยากทำอะไร เราจะมีเวลาว่างสำหรับมัน เราสนใจในอะไร จะพยายามทำทุกอย่างให้เสร็จเพื่อเอาเวลาไปทำมัน

จุดเริ่มต้นความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ ย้อนไปในช่วงวัยเด็ก ที่บ้านเล่าให้ฟังว่าคุณเน็กส์เป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับทุกอย่าง มีความอยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัย ซึ่งค้นพบว่าสิ่งที่สามารถให้คำตอบได้คือวิทยาศาสตร์ หลายสิ่งสามารถอธิบายและหาคำตอบได้ด้วยหลักการของวิทยาศาสตร์ พอได้มาเรียนตรงนี้ก็ยิ่งตอบโจทย์

คุณเน็กส์มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพสวท. เป็นโครงการของ สสวท.  ต้องการสร้างบุคลากรในการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณเน็กส์ได้เข้าร่วมตอนช่วงม.4 มีนักเรียนจากทั่วประเทศเข้ามาสอบเข้าร่วมโครงการ เมื่อเข้ารอบก็จะมีการเฟ้นหา ทดสอบในด้านวิทยาศาสตร์ลึกยิ่งขึ้น ทั้งการสอบวัดเชิงความคิดสร้างสรรค์ ครั้งหนึ่งโจทย์ที่คุณเน็กส์ได้รับคือ มีแป้งและน้ำหลากหลายชนิด และมีถั่วจำนวนหนึ่ง โจทย์มีอยู่ว่าให้ทำภาชนะใส่ถั่วให้ได้มากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการวัดทักษะทางความคิด ต้องมีทักษะเชิงวิชาการและการประยุกต์ที่ดีด้วย 

เทคนิคการเรียนและการทำคะแนนสอบของคุณเน็กส์ คือ ต้องทำให้การเรียนเป็นสิ่งที่น่าพอใจกับตัวเอง หาวิธีการทำให้วิชาที่เราไม่ชอบเรียน เป็นวิชาที่น่าพอใจกับเรา เช่น เราชื่นชอบศิลปะ ชอบการจดโน้ตสวยๆ อาจพยายามจดโน้ตวิชาที่เราไม่ชอบให้ดูสวยงาม จะทำให้เราอยากกลับมาอ่าน หาสิ่งจูงใจเล็กๆ ที่ทำให้เรายังสนุกกับการเรียนอยู่ได้ ส่วนเรื่องการทำข้อสอบ เป็นเรื่องของการเตรียมตัว 70% ต้องวิเคราะห์ข้อสอบให้ทะลุปรุโปร่ง ดูว่าข้อสอบต้องการวัดอะไร เตรียมตัวหาวิธีการในการทำข้อสอบ ส่วนอีก 30 % คือการทบทวนเนื้อหา จะทำให้เรามีแนวทางและมีเทคนิคในการทำข้อสอบ

นอกจากนี้ ในความสนใจทางด้านดนตรีและกีฬา คุณเน็กส์ชอบเล่นกีฬาบาสเกตบอล มีจุดสนใจมาจากกลุ่มเพื่อนที่มีความชอบเหมือนกันชวนกันไปเล่นช่วงพักกลางวัน จนค้นพบว่าบาสเป็นกีฬาที่ชอบมาก ทำให้ไปศึกษาและฝึกฝนเพิ่มเติม ประกอบกับเป็นช่วงที่โรงเรียนหานักกีฬา ทำให้คุณเน็กส์มีโอกาสเข้าร่วมฝึกซ้อมและแข่งขัน นอกจากนี้กีฬาบาสยังทำให้คุณเน็กส์ปิดมุมมองใหม่ๆ จากที่เคยทำข้อสอบอยู่คนเดียว เป็นการได้ออกมาอยู่ในสังคม รู้จักผู้คนมากขึ้น ได้ฝึกซ้อม ทำงานเป็นทีม 

เรื่องของดนตรี คุณเน็กส์มีความสนใจในกีตาร์ เพราะช่วงเรียนออนไลน์มีเวลาว่างเยอะ ออกไปเล่นกีฬาก็ไม่ได้ เลยหาเครื่องดนตรีมาเล่นคนเดียวที่บ้าน สิ่งที่ทำให้คุณเน็กส์สนใจ คือเบื้องหลังของดนตรี การผลิตกีตาร์ กีตาร์สร้างมาอย่างไร วัสดุที่เขาใช้ทำกีตาร์คืออะไร ถือเป็นการประยุกต์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ด้วย

ปัจจุบันคุณเน็กส์ได้รับทุนจากพสวท. สอบคัดเลือกในสาขาวิชาฟิสิกส์ ได้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรี โท เอก โดยเลือกไปศึกษาที่ประเทศอเมริกา โดยคุณเน็กส์ต้องเดินทางไปเรียนปรับพื้นฐานที่ประเทศอเมริกาก่อน จากนั้นค่อยเลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย 

ในอนาคตคุณเน็กส์มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง ได้ใช้ความสามารถที่ได้จากการศึกษาและการพัฒนาตนเองมาช่วยเหลือผู้อื่น และได้ใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ 

สุดท้ายคุณเน็กส์ฝากทริคในเรื่องการค้นหาตัวเอง สิ่งสำคัญคือ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำหลายๆ อย่าง จะรู้ว่าสิ่งไหนชอบ หรือไม่ชอบ ซื่อสัตย์กับตัวเองให้มากพอ ว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่เราชอบจริงหรือเปล่า เราชอบทำสิ่งนี้เพราะอะไร เหตุผลอะไร อย่าคล้อยตามคนอื่นๆ หรือสภาพสังคม ให้โอกาสกับตัวเองและซื่อสัตย์กับตัวเอง
.

.

.

.