เปิด (ปม) ภาคการศึกษา EP.3 เมื่อโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ความเจ็บปวดในรั้วสถานศึกษาผ่านการถูกกลั่นแกล้ง (Bullying )

ทั้ง ๆ ที่สถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ทำไมปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักมีต้นตอมาจากในรั้วสถานศึกษา?

หากพูดถึงปัญหาในรั้วสถานศึกษา คงแยกย่อยออกมาได้มากมายหลายประเด็น ทั้งระบบการศึกษา คุณครู บุคลากร รวมถึงตัวเด็กนักเรียน หนึ่งในปัญหาที่พบได้มากในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น การบูลลี่ในโรงเรียน 

บูลลี่ (Bully) คือ การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีพละกำลัง หรืออำนาจมากกว่าแสดงออกแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า และมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยการบูลลี่ในโรงเรียนนั้นพบได้มาก นำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

การบูลลี่มี 3 ประเภท ดังนี้ 
•    การกลั่นแกล้งทางวาจา คือ การสื่อสาร เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น, เรียกชื่อ 
•    การกลั่นแกล้งทางสังคม คือ วิธีการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม, กระจายข่าวลือให้เสียหาย, ทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ
•    การกลั่นแกล้งทางกายภาพ คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทุบตี ทำร้าย 

ปัญหาการถูกบูลลี่ หรือการเป็นผู้บูลลี่เองนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติในสังคมทั้งไทยและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ทุกคนพยายามมองว่าเป็นเรื่องปกติ หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า การเมินเฉยต่อประเด็นดังกล่าว สร้างความเจ็บปวดในระยะยาวกับเหยื่อ ปกติแล้วการบูลลี่มักมาในรูปแบบการกลั่นแกล้งในโรงเรียน รังแกตามแบบฉบับเด็ก ๆ แต่การบูลลี่ในปัจจุบัน พบว่าเน้นไปที่การพูดจาทำร้าย บั่นทอน เหยียดหยาม ยกปมด้อยขึ้นมาหยอกล้อ 

เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10 - 15 ปี ใน 15 โรงเรียน พบว่าร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ และวิธีการที่ใช้มากที่สุดคือ การตบหัว ถูกล้อชื่อพ่อชื่อแม่ และถูกเหยียดหยาม และอื่น ๆ เช่น ล้อปมด้อย พูดจาเสียดสี เป็นต้น

การตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ เหยื่อนั้นต้องแบกรับอารมณ์ความรู้สึกด้อยค่า ไม่มั่นใจ กดดัน ส่งผลให้เด็กเก็บกด อับอาย จนอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ดังกรณีข่าวเมื่อช่วงต้นปีที่แล้วของเด็กชายคนหนึ่ง ชื่อ น้องมาร์ค นักเรียนชายวัยมัธยมต้น ที่เจ้าตัวตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยตัวเอง ทั้งที่ยังเด็ก ด้วยการผูกคอตาย โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายของน้องมาร์ค ถูกเปิดเผยเนื่องจากน้องมาร์คได้มีการเขียนข้อความทิ้งเอาไว้ บอกว่าสาเหตุนั้นไม่ใช่เพราะเรื่องเรียน หรือเรื่องอะไร แต่สาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจจบชีวิต เพราะถูกเพื่อนร่วมห้องแกล้งและบูลลี่มาโดยตลอด หรือกรณีของเด็ก ม.1 ที่ก่อเหตุยิงเพื่อนเพราะถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด และข่าวน้อง ป.5 ผูกคอในห้องน้ำโรงเรียน หนีการถูกเหยียด

กรณีที่ยกมาเป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ในรั้วโรงเรียนที่เกิดขึ้นมากมาย โดยที่สังคมหรือผู้ปกครองไม่รับรู้ ในสังคมไทยต้องเลิกมองว่าเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน เรื่องนี้จำเป็นต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน 

หากการบูลลี่ยังคงอยู่ในสังคมไทย และไม่มีการจัดการที่เป็นรูปธรรม อาจนำไปสู่ปัญหาทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อการเรียนและความปลอดภัยของเด็ก การรณรงค์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้ปัญหานี้หมดไป แต่มองว่าผู้ปกครองและสถาบันครอบครัว ควรมีบทบาทในการสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรม อารมณ์ความรู้สึก อบรมสั่งสอน ทั้งสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ไม่ให้ตกป็นเหยื่อของการถูกบูลลี่ รวมถึงการสั่งสอนให้ลูกไม่เป็นผู้กระทำการบูลลี่เอง

 

อ้างอิงข้อมูล

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2034455
https://hilight.kapook.com/view/200921
https://www.thairath.co.th/news/society/1729051

.

.