คุณชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ | THE STUDY TIMES STORY EP.7

บทสัมภาษณ์ คุณชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ประถมศึกษา Hughes School, ออสเตรเลีย ปริญญาโททุน JASSO รัฐบาลญี่ปุ่น The University of Tokyo, ญี่ปุ่น เสน่ห์วัฒนธรรมและระบบการศึกษาประเทศญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นทำงานด้านการศึกษา

คุณชาร์ตเกิดที่เมืองไทย แต่เมื่ออายุได้เพียง 10 เดือน ต้องขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต เดินทางไปอยู่ที่ออสเตรเลีย เนื่องจากตามคุณพ่อไปเรียนต่อปริญญาเอก จึงได้ไปใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบ ถึง 6 ขวบ เข้าศึกษาโรงเรียน Hughes School ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา รวม 6 ปี

เวลาอยู่ที่บ้านจะใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คุณพ่อคุณแม่จะพูดสลับกัน แต่เพราะการเรียนหนังสือที่นั่นทำให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้ตอนที่กลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย ต้องมาเรียนภาษาไทยใหม่กว่าครึ่งปี ถึงจะต่อสายสามัญในไทยได้ตามปกติ 

สิ่งที่คุณชาร์ตประทับใจมากเกี่ยวกับระบบการศึกษาและครูของออสเตรเลีย คือ ในช่วงอนุบาลจะมีการสอนพวก Skills ที่เราสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ตั้งแต่เด็ก ๆ โดย Skill ที่คุณชาร์ตเรียนและมาต่อยอดได้จนถึงปัจจุบันคือ การเรียนทำอาหาร ที่ออสเตรเลียสอนเด็กเข้าครัวตั้งแต่อนุบาล สิ่งนี้ทำให้คุณชาร์ตคุ้นเคยกับการทำอาหาร จนกลายเป็นความชอบ

คุณชาร์ตมองว่า สิ่งสำคัญในสังคมคือ การมีทักษะ การที่คนเรามีทักษะ เสมือนเป็นสมบัติล้ำค่าที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต ยิ่งเรามีทักษะเยอะจะยิ่งทำให้เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทักษะจึงเป็นสิ่งที่ควรจะมี และคนเราสามารถเสริมทักษะได้ตลอดชีวิต 

วิถีชีวิตในออสเตรเลีย สิ่งที่คุณชาร์ตจำได้ฝังใจคือ ตัวเองเป็นเด็กเอเชียตัวเล็กที่โดนบูลลี่หนักมาก โดนเพื่อนแกล้งมาตลอด เข้าใจว่าเป็นสังคมของเด็ก ๆ ที่มีแกล้งมีทะเลาะกันบ้าง ถือเป็นประสบการณ์นึงของชีวิต แต่ไม่ได้มีผลอะไรต่อชีวิตในตอนนี้ 

สิ่งที่คุณชาร์ตสังเกตได้จากการโดนบูลลี่ คือ การบูลลี่ที่ออสเตรเลียแตกต่างจากในไทย โดยของออสเตรเลียเป็นการแกล้งแบบเด็กทั่ว ๆ ไป ส่วนของไทยจะชอบเอาจุดด้อยของคนอื่นมาล้อเลียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าตา พ่อแม่ ครอบครัว ซึ่งมองว่าสิ่งนี้มีผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตค่อนข้างมาก 

คุณชาร์ตเล่าว่าการปรับตัวหลังกลับมาเรียนต่อในไทย ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ตัวเองเข้ามาตอนป.2 เข้ามาสร้างสังคมใหม่ สิ่งที่ยากที่สุดคือภาษาไทย และวิชาทั่วไปที่เรียนในเมืองไทย เช่น วิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษา

คุณชาร์ตมองว่าเรื่องภาษามีความยากง่ายแตกต่างกัน อยู่ที่การใช้ และความคุ้นเคยในภาษาของแต่ละสังคม เรื่องภาษาเป็นการเรียนรู้จากความเคยชินและการใช้งานโดยตรง 

ต่อมา เมื่อถึงชั้นป.4 คุณชาร์ตได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นครั้งแรก ประมาณครึ่งปี เพราะตามคุณพ่อที่เป็นอาจารย์ไปสอนที่เกียวโต อยู่ห้อง international class แต่คนต่างชาติยังไม่เยอะ เพราะอยู่ในเขตเล็ก ๆ ของเมืองเกียวโต
  
การไปญี่ปุ่นรอบแรกทำให้คุณชาร์ตประทับใจจนต่อยอดกลับไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท สิ่งที่ประทับใจคือนิสัยคนญี่ปุ่น ความเป็นระเบียบ การให้ความสำคัญกับทุก ๆ สิ่งที่ทำ ให้ความสำคัญกับคนรอบข้าง และชอบระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ที่นอกจาการเรียนในตำรา ยังเน้นในเรื่อง Skills และประสบการณ์นอกห้องเรียน เช่นในวิชาสังคม ที่นอกจากเรียนในตำรา ยังได้ออกไปศึกษาสังคมจริง ๆ ไปเดินสำรวจตลาด โรงเรียน ห้าง

หลังการไปญี่ปุ่นครั้งแรก คุณชาร์ตกลับมาเรียนต่อที่สาธิตจุฬาฯ จนจบม.6 ได้ไปสอบเข้าม.เกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่ด้วยความที่ชอบการเรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ไม่ชอบทำอะไรแค่อย่างเดียว ต้องหาอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น และได้ไปอ่านไอเดียการใช้ gap year ที่เป็นช่วงพักจากเรียน เพื่อออกไปหาประสบการณ์ จึงไปสอบชิงทุนไปเรียนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยซากะ จังหวัดซากะ ค่อนข้างจะเป็นเมืองชนบทที่สุดของญี่ปุ่น 

คุณชารต์มีวัตถุประสงค์หลักคือการไปเรียนรู้วัฒนธรรม เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนที่นั่น การไปอยู่ในชนบททำให้เห็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ คุณชาร์ตเล่าว่ามีเพื่อนเป็นผู้สูงอายุญี่ปุ่นเยอะมาก ทั้งคุณลุงคุณป้าที่น่ารัก เนื่องจากการไปเดินห้าง ไปทำกิจกรรมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ได้เรียนรู้ทั้งมารยาทบนโต๊ะอาหาร มารยาทในการทำธุรกิจ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเจอได้ในสังคมเมือง

เนื่องจากคุณชาร์ตเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวมาก มองว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าสนใจ สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดู แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดจะมีความน่าสนใจต่างกัน แนะนำให้มือใหม่ควรไปเที่ยวในเมืองใหญ่ ๆ ก่อน แต่เมื่อไรที่คุ้นชินกับญี่ปุ่นแล้ว คุณชาร์ตแนะนำให้ลองไปท่องเที่ยวเมืองเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะจะยังคงความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่

เนื่องจากคุณชาร์ตมีความสนใจเรื่องการศึกษามาก ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมนโยบายด้านการศึกษา พรรคกล้า สิ่งที่อยากผลักดัน คีย์เวิร์ดที่คุณชาร์ตให้คือ การศึกษาเพื่อโลกอนาคต การศึกษาต้องก้าวกระโดด 1 ก้าว 2 ก้าว กว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ การศึกษาต้องเตรียมพร้อมให้กับเด็กในอีก 10 ข้างหน้า โดยสิ่งที่คุณชาร์ตอยากผลักดันมีทั้งหมด 3 เรื่อง คือ

1.) Lean Education ทุกวันนี้เราเป็นการศึกษาแบบมีไขมันส่วนเกิน จากคำพูดเด็กที่ว่า เรียนไปไม่เห็นจะได้ใช้ พบว่ามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นไขมันส่วนเกิน และสมควรได้รับการลีน เหลือเฉพาะในสิ่งที่สำคัญจริง ๆ 

2.) Up-skill Re-skill เพราะทักษะเป็นสมบัติที่จะติดตัวไปได้ตลอดชีวิต การฝึกทักษะไม่ได้มีเฉพาะในโรงเรียนอีกต่อไป การมีทักษะต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการใช้ชีวิต ที่เข้ากับเทรนด์โลกอนาคต จะมีประโยชน์กับเรามาก

3.) การศึกษาที่สามารถสร้างงานได้ เด็กจบมาไม่มีงานทำหลายล้านคน สิ่งที่เป็นปัญหาของเด็กจบใหม่คือ จบมาแล้วยังไม่สามารถทำงานได้ ยังขาดอีกหลาย Skills คุณชารต์จึงอยากผลักดันเรื่องเรียนจบแล้วสามารถสร้างงานได้และทำงานได้ดี โดยอาจเสริมในเรื่องของการฝึกงาน

.

.

.