คุณมี่ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ | THE STUDY TIMES STORY EP.2

บทสัมภาษณ์ คุณมี่ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และ ผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
เพราะนิสัยรักการอ่าน คือคลังความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้

โดยพื้นฐานแล้ว คุณมี่เป็นคนคลุกคลีหนังสือ หรือตัวอักษรมาตั้งแต่เกิด เพราะคุณพ่อทำสำนักพิมพ์มายาวนานกว่า 40 ปี เรียกได้ว่าวิ่งเล่นอยู่กับกองหนังสือ มีโอกาสได้ใกล้ชิดนักเขียน สัมผัสและอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก

“การอ่านทำให้การพูดและการเขียนเป็นระบบ สวยงาม ใช้ประโยชน์จากวงศัพท์ได้ เป็นประโยชน์ต่อชีวิตในด้านการทำงานอย่างสูง”

คุณมี่เปรียบเทียบให้ฟังว่า หนังสืออยู่กับเราตั้งแต่ก่อนเกิด ไปจนกระทั่งเราหมดลมหายใจ นึกภาพก่อนเราเกิด ในคุณพ่อคุณแม่ที่ใส่ใจเลี้ยงดูบุตรหลาน ก็จะอ่านหนังสือให้ลูกฟังระหว่างที่ตั้งครรภ์ เป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างลูกและพ่อแม่ เมื่อลูกเกิดมา คุณพ่อคุณแม่ก็จะยังเล่านิทาน มีการวิจัยว่า การที่พูดกับลูกในครรภ์ หรือเมื่อลูกเกิดมา แล้วมีการพูดคุย เล่านิทานให้ลูกฟัง จะทำให้การสื่อประสาทของเด็กไวขึ้น การพูดและการใช้ชีวิตของเด็กในช่วง 5 ขวบ การใช้สื่อที่สัมผัสได้ ที่ไม่ใช่เฉพาะดิจิทัล จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม 

ตัวอย่างจากยุโรป อย่างนอร์เวย์และสวีเดน พยายามที่จะปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็น E-Classroom แต่ปรากฎว่าใช้ได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ด้วยการใช้หนังสือที่เป็นเล่มประกอบกับคอนเท้นต์ที่เป็นดิจิทัลร่วมกัน ถึงจะได้ผลสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ อาจจะใช้หนังสือในการอ่าน ค้นคว้า ประกอบกันการอ่านออนไลน์ ใช้มัลติมีเดียเรียนรู้เรื่องเซลล์ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดมากขึ้น การอ่านหนังสือจะทำให้การจดจำของเด็กแม่นยำขึ้น และช่วยให้สารสื่อประสาทเชื่อมโยงกันได้มากขึ้น

งานวิจัยที่ทาง TDRI ได้นำมาพูดคุยกับคนในวงการหนังสือ เผยว่า การเปิดหนังสือสักเล่มแล้วพลิกไปพลิกมา จะทำให้เราเห็นถึงการพลิกหน้าหนังสือ การอ่านแล้วจดจำจากความหนาของหนังสือ เรื่องราวประมาณไหน เป็นบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสมอง ซึ่งดีต่อการพัฒนาของสมอง 

ส่วนในช่วงวัยทำงาน ตัวหนังสือก็มีความจำเป็น อย่างตอนที่เราต้องการพัฒนาตัวเอง หรือต้องการพลิกวิกฤติช่วงเศรษฐกิจตก เช่น ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน แต่แวดวงของหนังสือกลับยอดโตขึ้น คุณมี่เผยว่า เพราะเป็นช่วงที่คนแสวงหาข้อมูลความรู้ใส่ตัวเอง ไม่ว่าจะมีสื่อเกิดขึ้นมากมายแค่ไหน แต่หนังสือก็ยังเป็นตัวเรื่องต้นทาง 

หรือแม้แต่วัยผู้สูงอายุเอง การมีเพื่อนเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะจากการอ่าน หรือ Audio Book หนังสือเสียง ก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้และมีความสุขกับมันได้

แม้กระทั่งในแง่ของการจัดงานอภิธรรมที่วัด ก็พบว่าของชำร่วยมักมาในรูปแบบของหนังสือ ถือเป็นการมอบปัญญาให้แก่กัน จะเห็นได้ว่าหนังสืออยู่กับเราทั้งชีวิต เป็นเพื่อนกับเรา เวลาเกิดเหตุอะไรก็ตาม หลายคนอยากจะผ่อนคลาย พลิกอะไรบางอย่าง ไม่หาเพื่อนคุย ก็มักจะหาหนังสือคุยกับตัวเอง และทั้งหมดนี้ก็พอจะตอบได้ว่าหนังสือมีประโยชน์ต่อชีวิตของเราอย่างมหาศาล นิสัยรักการอ่าน จึงเปรียบเสมือนคลังความรู้ที่ประเมินค่าไม่ได้

.


.

.

.