น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี | THE STUDY TIMES Story EP.1

บทสัมภาษณ์ น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา
สาวน้อยนักเรียนทุน มุ่งมั่นพัฒนาวิทยาศาสตร์ ด้วยฟิสิกส์ผสมผสานดาราศาสตร์

ปัจจุบันน้ำหวานอยู่ในช่วง Prep school ที่ New Hampton School สหรัฐอเมริกา เข้าอาทิตย์ที่สี่เริ่มปรับตัวได้แล้ว Prep school คือโรงเรียนเพื่อเตรียมตัว ปรับตัวรับกับวัฒนธรรมอเมริกา เตรียมพร้อมเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เสริมภาษาอังกฤษ ให้มีมาตรฐานที่ดีในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เป็นเงื่อนไขของเด็กทุน 

เนื่องจากน้ำหวานเคยมีประสบการณ์ในการไปดูงาน ทัศนศึกษาต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง มีการเตรียมตัวมาแล้ว ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยากนัก

ที่โรงเรียนมีกิจกรรม Project week เป็นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถเลือกทำได้ตามความสนใจ ไม่เฉพาะเชิงวิชาการเท่านั้น เช่น ออกไปปีนเขา ทำเส้นทางเดินเขา งาน Art การทำอาหาร โดยน้ำหวานเลือกไปทำอาสาสมัครเกี่ยวกับการศึกษาของยูกันดา ศึกษาวัฒนธรรม การเมือง ว่าส่งผลต่อยูกันดาอย่างไร พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

ในมุมมองความเสมอภาคทางการศึกษา น้ำหวานมองว่า เพราะตัวเองอาจไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมาก แต่เพราะอยู่ในสังคมที่มีโอกาสเข้าถึง น้ำหวานมองว่าโอกาสเหล่านี้คือโชค เพราะไม่ใช่ทุกคนจะได้รับ แต่น้ำหวานโชคดีที่ดันได้รับโอกาสนั้นมา แต่การศึกษาไม่ควรเป็นเรื่องของโชค การศึกษาเป็นพื้นฐานของทุก ๆ อย่าง ปัญหาใดๆ จะแก้ได้ ต้องเริ่มด้วยการศึกษา น้ำหวานเลยอยากให้การศึกษามีความเท่าเทียมกัน 

ก่อนเดินทางมาอเมริกา น้ำหวานย้ายจากกทม. ไปอยู่เชียงใหม่คนเดียว ไปเป็นจิตอาสาพาน้องเดินป่าที่เชียงดาว ที่นั่นน้ำหวานได้พบคำถามและคำตอบสุดเซอร์ไพรส์ของเด็กน้อยในค่ายอาสา เด็กคนหนึ่งมาถามน้ำหวานว่า “ถ้าเราไปดาวอังคาร เราจะหายใจยังไง” น้ำหวานให้ข้อมูลน้องไปว่า “นั่นน่ะสิ บนดาวอังคารมีแต่คาร์บอนไดออกไซด์เต็มไปหมด” ด้วยความคุ้นเคยกับป่าไม้ น้องๆ เลยตอบกลับมาว่า “ปลูกต้นไม้สิ ต้นไม้จะได้เปลี่ยนจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน” สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้ำหวานต่อยอดซื้อกล้องโทรทรรศน์ให้กับน้อง ๆ ที่บ้านเด็กกำพร้า พร้อมทั้งได้สอนดาราศาสตร์เพิ่มเติมให้กับน้อง ๆ อีกด้วย 

น้ำหวานเป็นผู้ที่ได้รับทุนพสวท. ตั้งแต่ระดับม.ปลาย ไปจนถึงระดับปริญญาเอก โดย พสวท. คือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

น้ำหวานแนะนำการเตรียมตัวสอบเข้าพสวท. ไว้ว่า ข้อสอบมีทั้งแบบอัตนัย และปรนัย สามารถเตรียมตัวจากหนังสือสสวท.ได้เลย หมั่นทำโจทย์ แต่สิ่งที่มากกว่าการทำโจทย์ หรือการอ่านหนังสือ คือนิสัยช่างสังเกต กระบวนการคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้จะทำให้เข้าใจโจทย์ สามารถตอบตรงใจกรรมการได้มากขึ้น เพราะนอกจากข้อสอบอัตนัยปรนัย ยังมีข้อสอบเชิงความคิดสร้างสรรค์ ที่คะแนนจะขึ้นอยู่ที่การตอบด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ 

ความสนใจในฟิสิกส์ของน้ำหวานนั้น เริ่มมาจากการขี่จักรยานกับเพื่อนในซอยตอนเด็กๆ ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ ยันค่ำ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสีของท้องฟ้า จากฟ้า เป็นส้ม บางวันก็ออกแดง ชมพู ตอนนั้นตนก็สงสัยว่าทุกเย็นมีใครต่อท่อส่งลาวาขึ้นไปบนฟ้ารึเปล่า บางวันฝนตกก็ได้เห็นสายรุ้ง ช่วงค่ำเวลาเดิมของแต่ละเดือน เกิดคำถามตามมาว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง จินตนาการ และความสนใจ ทำให้มุ่งหน้าสู่วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ 

น้ำหวานอธิบายว่า ฟิสิกส์ เป็นศาสตร์ที่ใช้อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ในจักรวาลของเรา ไม่ใช่ฉพาะเรื่องของสูตรการคำนวณ 

นอกจากนี้ น้ำหวานเล่าให้ฟังว่า ได้รับการตอบรับจาก University of California Santa Cruz หรือ UCSC แล้ว โดยเหตุผลที่เลือก UCSC เนื่องจากน้ำหวานให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตที่สุดและมีความสุขกับการอยู่ในป่าเขา UCSC มีความเป็นธรรมชาติสูง และมีโอกาสในการทำวิจัย 

ตัวน้ำหวานสนใจงานวิจัยเรื่อง Optics ทัศนศาสตร์ การมองเห็น  เรื่องของแสงสี และ UCSC อยู่ใกล้หอดูดาว ตอบโจทย์การพัฒนาในด้านดาราศาสตร์ที่สนใจ 

ในเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในไทย น้ำหวานมองว่า ยังมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนดีกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม อยากให้การศึกษากระจายตัว ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาดีๆ ใกล้บ้าน ไม่ต้องห่างไกลครอบครัว ไม่ต้องเผชิญอยู่ในสังคมที่ต้องแข่งขัน จนไม่มีเวลาสำรวจตัวเองว่าสนใจด้านไหนจริงๆ 

ส่วนในเรื่องของระบบการศึกษา น้ำหวานมองว่า ไม่อยากให้ครูเป็นเพียง Teacher แต่อยากให้ครูเป็น Facilitator สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีตัวตน คือความคิด ความสนใจของเรา เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนมีแก่นที่แตกต่างกันไป อยากให้มีครูที่เป็น Facilitator ที่สามารถดึงศักยภาพนักเรียนและช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาด้านที่ตัวเองสนใจจริง ๆ ออกมาได้

.

.

.

.