21 ธันวาคม ‘วันเหมายัน’ วันที่มีกลางคืนยาวนานที่สุดของปี

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญทางดาราศาสตร์ เรียกว่า ‘วันเหมายัน’ (อ่านว่า เห-มา-ยัน) ที่มาของวันนี้ เกิดขึ้นจากโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์มาจนถึงช่วงฤดูหนาว โดยซีกโลกเหนือเอียงห่างจากดวงอาทิตย์ ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์น้อย อากาศจะเย็น ขณะที่ซีกโลกใต้ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ได้รับแสงมาก อากาศจะร้อน

 

ทั้งนี้บริเวณแถบซีกโลกเหนือ เรียกว่าเป็น Winter Solstice หรือ เหมายัน จะมีกลางคืนยาวนานที่สุด และกลางวันสั้นที่สุด ซึ่งถ้าอยู่บริเวณละติจูด 66.5 องศาเหนือขึ้นไป หรือบริเวณขั้วโลกเหนือ จะอยู่ในความมืดตลอด 24 ชั่วโมง

 

ขณะที่บริเวณ 66.5 องศาใต้ลงไป หรือบริเวณขั้วโลกใต้ จะได้รับแสงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า ‘พระอาทิตย์เที่ยงคืน’ โดยทางซีกโลกใต้ จะเรียกว่า Summer Solstice หรือ ครีษมายัน กลางวันจะยาวนานที่สุด และกลางคืนสั้นที่สุด

 

ประเทศไทยอยู่ในแถบซีกโลกเหนือจึงเรียกว่า winter solstice หรือ เหมายัน ซึ่งมาจากคำว่า เหมันต์ ที่แปลว่า ฤดูหนาว สนธิกับคำว่า อายัน ที่แปลว่าการมาถึง เมื่อรวมกันแล้ว อาจมองได้หลายความหมาย เช่น กลางคืนยาวที่สุด หรือเป็นวันแรกของฤดูหนาว หรืออาจเป็นช่วงกลางวันของฤดูหนาว คนไทยบางกลุ่มเรียกวันนี้ว่า ‘ตะวันอ้อมข้าว’ คือมีช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด เพียง 11 ชั่วโมง19 นาทีเท่านั้น