Monday, 20 May 2024
นอร์ทไทม์

เชียงใหม่ - โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผ่าคลอดผู้ป่วยโควิด-19 ปลอดภัยทั้งแม่ลูก

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่าคลอดหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 อายุ 33 ปี วันนี้ (23 เมษายน 2564) เวลา 15.00น. เบื้องต้นเป็นทารกเพศหญิง ปลอดภัยทั้งแม่และลูก

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับการประสานว่ามีผู้ป่วยหญิงที่ครบกำหนดคลอด 39 สัปดาห์ อายุ 33 ปี มีอาการปวดท้องรุนแรงจากการที่มดลูกหดตัวเริ่มจะมีอาการใกล้คลอด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้ป่วยรายนี้มีการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ทางโรงพยาบาลต้องวางแแผนการดูแลรักษาและเตรียมการผ่าตัดคลอดอย่างเร่งด่วนตั้งแต่กระบวนการรับผู้ป่วยจากจุดรับเข้าด้วยแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบสำหรับป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จนถึงห้องผ่าตัดเพื่อให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยอย่างสูงสุด ทันทีที่ทราบทางรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ได้ประสานทีมสหวิชาชีพแพทย์และเตรียมความพร้อมร่วมทีมสูตินรีเวชวิทยา ทีมวิสัญญีแพทย์ และทีมกุมารแพทย์ โดยมีรศ.นพ.กิตติภัต เจริญขวัญ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ,ผศ.พญ.ฌานิกา โกษารัตน์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และรศ.พญ.นุชนารถ บุญจึงมงคล หัวหน้าภาควิสัญญีวิทยา และทีมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปิดกั้นพื้นที่ภายในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ป่วยในทันที

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การผ่าตัดครั้งนี้วิสัญญีแพทย์ได้ใช้เทคนิคการฉีดยาชาเข้าสันหลังหรือการบล็อกหลัง วิธีนี้ไม่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ปลอดภัยทั้งผู้ป่วย ลูก และบุคลากรที่ให้การดูแล ทีมแพทย์สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ได้ทำการผ่าคลอดทารกเพศหญิงในเวลา15.00น. แม่และทารกปลอดภัย ซึ่งทีมกุมารแพทย์ได้เข้าไปดูแลเด็กตั้งแต่แรกคลอดและเคลื่อนย้ายมายัง cohort ward หรือหอผู้ป่วยแยกโรคโดยมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งโอกาสที่เด็กติดเชื้อจากในครรภ์มีน้อยมาก ส่วนแม่เข้ารับการรักษาต่อที่ห้องแยกความดันลบสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ณ ตึกโรคปอด อาคารนิมมาน ชุติมา รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ต่อไป”

การผ่าตัดหญิงตั้งครรภ์ป่วยโควิด-19 ในครั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัยทั้งแม่ เด็ก และบุคลากรทางการแพทย์ ภายหลังการผ่าตัดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ทำความสะอาดพื้นที่บริเวณห้องผ่าตัดและจุดเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกจุด บุคลากรทางการแพทย์ได้ตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อบริการประชาชนให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และเราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นภาพร  เชียงใหม่

เชียงราย - ตำรวจสกัดแก๊งค้ายาหลังแหกด่านตรวจ ก่อน 2 ผู้ต้องหาวิ่งหนีเข้าป่า ยึดของกลางยาบ้า 4 แสนเม็ด

เวลา 08.00 น. วันที่ 22 เม.ย. 64 พล.ต.ต.ชินวิช วิชัยธนพัฒน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.พงษ์สวัสดิ์ ไชยบาล รอง ผบก.ภ.จว.เชียงราย ร่วมกับ พ.ต.อ.สุทัศน์​ ชัย​มงคล​ ผกก.สภ.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และชุดปราบปรามยาเสพติด กก.สส.ภ.จว.เชียงราย ได้ร่วมกันสกัดการลำเลียงยาเสพติดของขบวนการค้ายาเสพติด ยึดของกลางเป็นยาบ้า 4 แสนเม็ด พร้อมรถกระบะของกลาง

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ ทางเจ้าหน้าที่ได้สืบทราบว่าจะมีการลักลอบขนยาบ้าจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่ชั้นในของประเทศ โดยใช้เส้นทางผ่านพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ จึงได้สั่งการให้ตั้งจุดสกัดจุดตรวจบ้านแก่น หมู่ 5 ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ ต่อมาเจ้าหน้าที่ประจุำจุดตรวจ พบรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนด์เทา หมายเลขทะเบียน บท 3685 พะเยา ขับมุ่งหน้าจะไปทาง อ.เทิง จ.เชียงราย แต่เมื่อใกล้จุดตรวจกลับเร่งเครื่องยนต์ขับฝ่าด่านไปอย่างรวดเร็ว ทางเจ้าหน้าที่จึงได้นำรถออกไล่ติดตาม

จนกระทั่งไปถึงพื้นที่บ้านเวียงหมอก หมู่ 10 ต.ห้วยซ้อ รถยนต์กระบะคันดังกล่าว ได้เลี้ยวรถหวังจะหลบหนีเพื่อไปหลบซ่อนบริเวณเชิงเขาที่มีสวนมะม่วงของชาวบ้านอยู่ แต่เจ้าหน้าที่ได้ไล่ติดตามจนพบรถคันดังกล่าวจอดที่เชิงเขา เจ้าหน้าที่จึงเข้าควบคุมรถเอาไว้แต่ไม่พบคนขับ และคนในรถคาดว่าเป็นชายรวม 2 คนจากการตรวจในรถยาบ้าซุกซ่อนอยู่ภายในตู้ลำโพงที่แต่งเติมเอาไว้ภายในแคป  และที่ด้่นข้างแม็คไลเนอร์กระบะท้าย จำนวน 68 มัด รวมจำนวนประมาณ 400,000 เม็ด

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ทราบว่าชายทั้ง 2 คนเป็นชาวเขาในพื้นที่ ต.ตับเต่า อ.เทิง และไปรับยาเสพติดมาจากพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ใกล้กับหมู่บ้านม้งเก้าหลัง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จากนั้นขนไปตามถนนสายรอง ขับอ้อมไปทางชายแดนไทย-สปป.ลาว อ.เชียงของ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังออกติดตามจับกุมทั้ง 2 คน แล้ว


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย - สมาคมท่องเที่ยวทั่วภาคเหนือ ยื่นหนังสือ คัดค้านสรรหาประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ

จากกรณีที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสรรหาประธานสภาอุตสาหกรมท่องเที่ยวจังหวัดทั่วประเทศไทย และ ได้มีการแต่งตั้งผู้เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาในส่วนของภาคเหนือเรียบร้อยแล้วนั้น ทางสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง  ฯลฯ ต่างออกมาคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและวิธีการสรรหาดังกล่าว โดยในส่วนของจังหวัดเชียงราย นางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ กรรมการ สทท.ภาคเหนือเขตพื้นที่ 1 และนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย พร้อมด้วยสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหลายราย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท .ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องแล้ว

โดยนางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ กล่าวว่าตนในฐานะสมาชิกสามัญของ สทท.และสมาคมโรงแรม จ.เชียงราย สมาคมมัคคุเทศก์เชียงราย สมาคมเครือข่ายท่องเที่ยวเชียงราย และสมาคมคนยองจันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย รวมทั้งสมาคมด้านการท่องเที่ยวอีกหลายจังหวัดของภาคเหนือโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ที่มีสมาคมด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด ได้ยื่นหนังสือต่อผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว เพื่อคัดค้านรูปแบบการสรรหาประธาน สทท.แต่ละจังหวัดในปีนี้ เนื่องจากมีการงดใช้ขัอบังคับบางจุดและยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยกระทำกันมานาน 10-20 ปี ด้วยการที่คณะกรรมการ สทท.แต่งตั้งคนนอกหรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่แต่ละภาคให้เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด โดยมอบอำนาจให้ประธานแต่งตั้งกรรมการอีก 2 คน รวมประธานเป็น 3 คน ทำการคัดสรรแล้วเสนอชื่อให้ สทท.พิจารณา

ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตที่ให้กรรมการ สทท.ในเขตพื้นที่นั้น ๆ เป็นผู้จัดหาประธานคณะกรรมการสรรหาในจังหวัดที่ตนเองรับผิดชอบ จากนั้นเปิดให้สมาคมด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดเป็นกรรมการสรรรหา ซึ่งก็จะทำให้แต่ละจังหวัดได้ตัวแทนที่เป็นที่ยอมรับและเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจในจังหวัดอย่างแท้จริง แต่รูปแบบใหม่ที่ สทท.นำมาใช้ไม่เปิดโอกาสให้ทุกสมาคมได้มีโอกาสเลือกแต่กลับมอบอำนาจให้บุคคลแค่ 3 คน  เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภูมิภาคที่ต้องอาศัยคนที่สมาชิกคิดว่าดีที่สุดเข้าไปทำงาน โดยเฉพาะเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 เพราะมีตัวอย่างผ่านมา จ.เชียงราย ต้องประสบปัญหาอย่างหนักแต่ทางสมาคมต่าง ๆ ต้องต่อสู้ดิ้นรนแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่มีบทบาทเลย

"ปัจจุบันมีการแต่งตั้งประธานกรรมการสรรหาไปยัง 30 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว ทำให้หลายจังหวัดทำหนังสือคัดค้านเช่นกัน และหลายจังหวัดที่ประธานสภายังอยู่ในวาระ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง  ต่างทำหนังสือค้านด้วยโดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ มีการร่วมกันลงชื่อคัดค้านไม่น้อยกว่า 8 สมาคม เช่น สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือเชียงใหม่ สมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่  เพราะการสรรหาในอนาคตก็จะถูกกระทำเหมือนกัน" กรรมการ สทท.ภาคเหนือเขตพื้นที่ 1 และนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย กล่าว

นายวิโรจน์ ชายา นายกสมาคมโรงแรม จ.เชียงราย กล่าวว่า สทท.มีข้อบังคับเรื่องการตั้งประธานกรรมการสรรหาผู้จะมาเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดว่าให้กรรมการเขตพื้นที่นั้น ๆ หรือคณะกรรมการสภา สทท.แต่งตั้งประธานกรรมการสรรหาได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการแต่งตี่งกรรมการเขตพื้นที่เป็นหลักทำให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่ แต่ปรากฎว่าครั้งนี้กลับให้อำนาจคณะกรรมการสภา สทท.ในการแต่งตั้งคนของตัวเองไปยังจังหวัดต่าง ๆ โดยตรง ทำให้สมาชิกสมาคมส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสคัดสรรซึ่งจะส่งผลกระทบแน่นอน   ตนก็ยังสงสัยว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับหรือไม่เพราะตนเคยเป็นตัวแทนกรรมการเขาร่วมประชุมคณะกรรมการสภา สทท.ก็ไม่เคยได้รับแจ้งรายละเอียดในเรื่องการแต่งตั้งประธานกรรมการสรรหารูปแบบใหม่นี้มาก่อน

ด้านนายบุญเวชย์ ศรีพวงใจ ที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าปัญหาคือสมาชิก สทท.ที่เป็นสมาคมมีอยู่จำนวนมาก ตัวอย่างที่ จ.เชียงราย มีถึง 7 สมาคม จ.เชียงใหม่ มีกว่า 12 สมาคม แต่ทางคณะกรรมการ สทท.กลับให้คนนอกเป็นประธานสรรรหาและตั้งกรรมการสรรรวมทั้งหมด 3 คนเหมือนกันทุกจังหวัด ทั้ง ๆ ที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน จึงกังวลว่าเมื่อพวกเขาสรรหาประธานสภาอุตสาหกรรมของจังหวัดได้แล้วจะเป็นทียอมรับของแต่ละจังหวัดหรือไม่โดยเฉพาะเชียงรายที่ไม่ได้มาจากฉันทามติของทั้ง 7 สมาคม จึงไม่รู้ว่าเหตุใด สทท.จึงทำเช่นนี้เพราะอาจทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดเกิดปัญหา เพราะประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดคนใหม่อาจไม่เป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

เชียงราย - ชุมชนชาวมุสลิมปรับตัวยุคโควิด ปรุงอาหารใส่ปิ่นโตแจกแทนจัดเลี้ยงช่วงถือศีลอด

ที่ชุมชนกกโท้ง เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงราย ซึ่งช่วงนี้เป็นนช่วงการถือศิลอด เนื่องในเดือน รอมฎอนเป็นเวลา 30 วัน  ทางกลุ่มขาวมุสลิมใน จ.เชียงราย นำโดยนายปรีชา อนุรักษ์ กรรมการอิสลามประจำ จ.เชียงราย ได้รวมกลุ่มกันบริจาคทานเพื่อจัดทำอาหารสำหรับให้ชาวมุสลิมที่ถือศิล ได้บริโภคหลังพระอาทิตย์ตกดิน  โดยการปรุงอาหารและแจกจ่ายด้วยปิ่นโตเพื่อให้สมาชิกที่เป็นชาวมุสลิม ผู้ยากไร้  นำไปรับประทานที่บ้านแทนการจัดเลี้ยงด้วยโรงทานตามมัสยิดต่าง ๆ เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 

โดยทางกลุ่มได้จัดสถานที่มอบปิ่นโตที่บริเวณหน้าร้านโรตีป้าใหญ่ตั้งอยู่ที่ชุมชนกกโท้ง เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.ฌชียงราย โดยแต่ละวันจะมีลูกหลานและคนงานร้านโรตีป้าใหญ่ มาช่วยกันปรุงอาหารเป็นเมนูต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และนำบรรจุในปิ่นโต 5 ชั้นโดยมีข้าว 2 ชั้นและอาหารจำนวน 3 ชั้นเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในครอบครัว  โดยผู้ที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มต้องเข้ารับการอบรมด้านการป้องกันไวรัสโควิด-19 จากนั้นมีการลงทะเบียนและมอบหมายเลขปิ่นโตให้เพื่อให้แต่ละคนได้ไปรับปิ่นโตในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.ของทุกวันอย่างถูกต้องและ นำปิ่นโตมาคืนในวันถัดไป

นายปรีชา กล่าวว่าตามปกติพวกเราก็จะมีทำบุญเลี้ยงอาหารเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาพในช่วงเดือนรอมฎอน จะทำกันทุกวัน แต่เนื่องจากช่วง 1-2 ปีนี้เกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาการนั่งรับประทานรวมกลุ่ม จึงได้คิดค้นการนำปิ่นโตมาใช้ประโยชน์และได้รับการสนับสนุนจากร้านโรตีป้าใหญ่ในการรับเป็นสถานที่และคนปรุงให้ จึงทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนมากและมีค่าใช้จ่ายเพียงการจัดหาซื้อวัตถุดิบต่างๆ มาทำการปรุงเท่านั้น  จากการสอบถามไปยังจังหวัดอื่น ๆ รวมถึงกรุงเทพฯ ก็ไม่เคยพบเห็นพื้นที่ใดใช้วิธีการนี้มาก่อนเลย พวกเราจึงถือเป็นกลุ่มบุกเบิกซึ่งทุกพื้นที่สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบได้

"ปัจจุบันมีผู้ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกรับปิ่นโตจำนวน 110 คน  ต้องทำอาหารสำหรับปิ่นโตจำนวน 110 ปิ่นโตต่อวัน รวมระยะเวลาในการจัดทำอาหารใส่ปิ่นโตจำนวน 30 วัน ซึ่งหลังจากดำเนินการมาได้หลายวันพบว่าได้ผลเป็นอย่างดีและผู้ไปรับก็ได้ความรู้เรื่องไวรัสโควิด-19 มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาให้บริการคัดกรองก่อนรับอาหาร และอาหารที่ได้ถือว่าให้มากสามารถนำไปรับประทานร่วมกับคนในครอบครัวได้ซึ่งดีกว่าการจัดเลี้ยงเป็นโต๊ะซึ่งสมาชิกในบ้านบางคนอาจจะไม่เวลาไปรับประทานได้ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นก็มีผู้บริจาคกันเข้าไปอย่างเพียงพอหรือแม้แต่สมาชิกที่ไปรับปิ่นโตก็ร่วมสมทุบทุนไปด้วย เฉลี่ยค่าใช้จ่ายวันละประมาณ 20,000 บาทแต่ก็ถือว่าได้ผลดีเป็นอย่างมากและหลังเดือนรอมฎอนไปแล้วก็คงจะหาโอกาสในการแจกปิ่นโตเช่นนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์

 

แม่ฮ่องสอน - พลังบุญส่งผ่านกิ่งกาชาดแม่สะเรียง สู่ธารน้ำใจ เป็นความห่วงใยมอบแด่บุคคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลแม่สะเรียง และ โรงพยาบาลสบเมย

จากการที่มีการเผยแพร่ข้อมูลความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเปิดรับบริจาคทางเฟซบุ๊ก ในนาม กิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้รับบริจาค ไปจัดซื้อชุด PPE และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยได้ปิดรับบริจาค เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 สรุปยอดเงินบริจาคทั้งหมด อยู่ที่ 100,000 บาท ซึ่งมาจากธารน้ำใจพี่น้องชาวแม่สะเรียงและทั่วประเทศ 

ในเช้าวันนี้ นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอแม่สะเรียง นางวิลาวัณย์ คัดเชียงแสน นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง พร้อมด้วยคณะกรรมการกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง เป็นตัวแทนส่งมอบชุดกาวน์และชุดPPE ชนิดใช้ครั้งเดียว รวม 350 ชุด และ เฟซชิลด์หน้ากากใส 100 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลแม่สะเรียง และ โรงพยาบาลสบเมย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้แทนรับมอบในเบื้องต้นบุคลากรทางการแพทย์ยังคงมีความต้องการ เครื่องวัดความดันแบบมาตรฐานชนิดสอดแขน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนไข้สามารถดำเนินการวัดตรวจสอบได้เอง  ซึ่งวงเงินที่คงเหลือ 28,000 บาท ทางกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง จะนำไปซื้อเครื่องวัดความดันดังกล่าว ให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงพยาบาล

สำหรับผู้ที่บริจาคก่อนหน้านี้ สามารถติดต่อขอรับใบเสร็จรับเงินได้ที่ ห้องเสมียนตรา ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กิ่งกาชาดอำเภอ งานสำนักงานอำเภอ โทรศัพท์ 0-5368-2283 หรือส่งของบริจาคได้ที่ ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง หมู่ที่ 2 ถนนเวียงใหม่ ตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58110


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ลำปาง - มทบ.32 ร่วมแถลงข่าวรวบ 7 ผตห.ขนไอซ์ 600 กก. มูลค่ากว่า 600 ล้านบาท

ตำรวจภูธรภาค 5 บูรณาการร่วมปกครอง ทหาร แถลงผลการปฏิบัติงานการจับกุมเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง

วันนี้ 21 เมษายน 2564 พลตรี อโณทัย ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 ร่วมการแถลงผลการจับกุมยาเสพติดรายสำคัญ สภ.แม่พริก จับกุมผู้ต้องหา 7 คน ของกลาง ไอซ์ จำนวน 600 กิโลกรัม รถยนต์ 3 คัน ตามนโยบายรัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ พ. ศ. 2562 - 2565 ให้เป็นผลอย่างเป็นรูปประธรรมนั้น

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 เวลา 03.30 น. โดยการอำนวยการและสั่งการของ พล.ต.ต.นันทวิทย์  เทียมบุญธง ผบก.ภ.จว.ลำปาง ,พ.ต.อ.ชูวิทย์  กองแก้ว รอง ผบก.ภ.จว.แพร่ ปฏิบัติราชการ ภ.จว.ลำปาง (ปส.) พ.ต.อ.นพดล ใบเรือ ผกก.สภ.แม่พริก พร้อมตำรวจประจำด่านตรวจยาเสพติดอำเภอแม่พริก จ.ลำปาง ร่วมกันจับกุมตัว นายอภิวัฒน์ สุขอำภร อายุ 24 ปี นายภาคิน  เหลี่ยมกำแหง อายุ 24 ปี น.ส.น้ำฝน ธัญญเจริญ  อายุ 23  ปี นายธนากร  มะขันทอง อายุ  37  ปี น.ส.ปิยะวรรณ  ก่วยสกุล อายุ 30 ปี น.ส.ดารารัตน์  สมจิตร์  อายุ 21 ปี ทั้งหมดเป็นชาว ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองสุพรรณบุรี และ นายศักดา งามขำ อายุ 25  ปี ชาว ต.ปลายนา อ.ศรีประจันต์  จ.สุพรรณบุรี รวม 7 คน พร้อมของกลางยาไอซ์ ลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว บรรจุในถุงกระสอบฟางสายรุ้ง ภายในซองชาสีเขียวน้ำหนักประมาณ 600 กิโลกรัม รถยนต์  3 คัน ในข้อหา “ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน หรือยาไอซ์)ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย”นำตัวส่งตำรวจ สภ.แม่พริก จ.ลำปาง ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

สุโขทัย – โควิดระบาดหนัก จัดเรียบง่ายงานประเพณี ‘แห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งง’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ได้จัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งขึ้น โดยภายในงานจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบวงสรวงสักการะเจ้าหมื่นด้ง การปักตุงตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในตำบลบ้านตึก เช่น ศาลหลักเมือง กู่พระครูคีรีบรรพต ศาลเจ้าเขามุ้ง ศาลเจ้าเมืองด้ง และอนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง จัดพิธีทำขวัญช้างและอาหารช้าง จำนวน 5 เชือก แต่ปีนี้ไม่มีขบวนอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของดี จำนวน 14 หมู่บ้าน ไม่มีการแสดงแสง สี เสียง ยกย่องเชิดชูเกียรติเจ้าหมื่นด้งนครเหมือนทุกปี มีเพียงขบวนช้างของผู้นำจำนวน 5 เชือก และขบวนแห่น้ำอบน้ำหอมที่จะนำไปถวายเจ้าหมื่นด้งของคณะเจ้าหน้าที่และสมาชิกสภาฯจำนวน 20 คนเท่านั้น เพนาะเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังลุกลามอย่างหนักจึงไม่สามารถจัดให้ยิ่งใหญ่ให้เหมือนทุกปีได้

นายวินนท์  รุ่งโรจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึกเปิดเผยว่า การจัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง ได้จัดติดต่อกันมานานกว่า 547 ปีแล้ว เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ  ความศรัทธาและแสดงความนับถือเจ้าหมื่นด้ง ผู้สร้างเมืองด้ง ซึงมีความเก่งกล้าทางด้านการสู้รบ เชี่ยวชาญในการใช้ช้างศึก การจัดงานในครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะจัดได้ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกปีเพราะสถานการณ์โรคร้ายโควิด-19กลับมาระบาดหนักอีกระลอก แต่ก็ยังคงวัตถุประสงค์เดิมไว้คือการส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งให้คงอยู่สืบไป เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนในตำบลบ้านตึก ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณีฯและระดมทรัพยากรที่มีอยู่เกิดรายได้เป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย

ลำพูน - มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้นำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือพระราชทาน แจกจ่ายเครือข่ายและประชาชน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย  ได้นำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือพระราชทาน ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราช ที่ได้ทรงห่วงใย ช่วยเหลือนำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือพระราชทาน จำนวน 5 แกลลอน แจกจ่ายให้แก่เครือข่าย และประชาชนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19

โดยในวันนี้ (20 เม.ย. 64) ที่ห้องประชุม ชั้น 3 องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำพูน บ้านน้ำบ่อเหลือง หมู่ที่ 15 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นำโดย นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายก อบจ.ลำพูน เป็นผู้แทนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย นำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือพระราชทาน มอบให้กับ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย เลขที่ 226 หมู่ที่ 2 ตำบลต้นธง อำเภอเมืองลำพูน  โดยมีพระรัฐเวช อุตตมญาโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย รับมอบฯ พร้อมแจกจ่ายให้กับ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลต้นธง และ ตำบลเวียงยอง ร่วมเข้ารับมอบเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้กับประชาชนต่อไป


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน

ชุมพร – ควบคุมการทำประมงในช่วงประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง (ประจวบ ฯ - ชุมพร - สุราษฎร์ธานี)

วันอาทิตย์ ที่ 18 เมษายน 2564 ศรชล.จังหวัดชุมพร บูรณาการร่วมกับ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเล จังหวัดชุมพร ภายใต้การอำนวยการของ นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผวจ./ผอ.ศรชล.จังหวัดชุมพร มอบหมายให้ น.อ.กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดชุมพร บูรณาการร่วมกับ นาย พงศ์รันย์ รัตนพรหม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลจังหวัดชุมพร จัดกิจกรรมควบคุมการทำประมงในช่วงประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลาง(ประจวบ ฯ ชุมพร สุราษฎร์ธานี)

นายนุรัตน์ ขาวสอาด เจ้าพนักงานเดินเรือปฏิบัติงาน หัวหน้าชุดปฏิบัติงาน พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 6 นาย นำเรือตรวจประมง 113 ออกตรวจพื้นที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ในการนี้ตรวจยึดลอบพับหรือไอ้โง่ จำนวน 59 ลูก โดยมีผู้ลักลอบทำการประมงบริเวณชายทะเล อ่าวทุ่งมะขาม อ่าวทุ่งคา และอ่าวสวี โดยที่ลอบพับและลอบพับปูดังกล่าวเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เรื่องห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมือลอบพับได้หรือไอ้โง่ ที่มีช่องทางเข้าของสัตว์น้ำสลับซ้ายขาวอยู่ทางด้านข้างใช้สำหรับดักสัตว์น้ำ มีความผิดตามมาตรา 67 มีโทษตามมาตรา 147 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จาการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ไม่พบผู้กระทำความผิด  เจ้าหน้าที่จึงได้รื้อถอนและทำการยึดเครื่องมือประมงดังกล่าวนำของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำชุมพร อ.เมือง จังหวัดชุมพร จำนวน ลอบพับ (ไอ้โง่ 59 ลูก) ไว้เพื่อเป็นหลักฐาน


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ลำพูน - โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของจังหวัดลำพูน ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สามารถรองรับผู้ป่วย COVID19 ได้จำนวน 100 เตียง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 เวลา 13:30 นาฬิกา กองพลทหารราบที่ 7 โดย กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 ค่ายพระปิ่นเกล้า จัดกำลัง หน่วยละ 1 ชุดปฏิบัติการ (ชป.ๆ ละ 10 นาย) รวม 20 นาย ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดลำพูน (ศปก.จ.ลพ.) , สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) สังกัด ร้อย บก.บร. บก.อส.จ.ลพ. , องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน (อบจ.ลำพูน) ,  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน , ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และ โรงพยาบาลลำพูน ดำเนินการจัดตั้ง โรงพยาบาลสนาม เพิ่มเติมเป็นแห่งที่ 2 ของ จังหวัดลำพูน ณ อาคารหอประชุม อบจ.ลำพูน บ้านน้ำบ่อเหลือง หมู่ที่ 15 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน โดยได้รับเตียงสนาม (แบบกล่องกระดาษ) จำนวน 100 ชุดจากภาคเอกชน

โดยได้ดำเนินการประกอบจนแล้วเสร็จ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ จังหวัดลำพูน โดยสถานการณ์เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น จำนวน 12 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมมีจำนวน จำนวน 141 ราย โรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 1 (โรงพยาบาลลำพูนสาขาเวียงยอง) ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้หมด

ทั้งนี้ จังหวัดลำพูน ได้รับการสนับสนุนเตียงสนาม แบบกระดาษ จากบริษัท SCG Packaging จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 100 ชุด เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม (CSR)


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดลำพูน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top